- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
บทกวี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:00:00 น.
เพลิงไฟห้ามมีเปลวควัน
ตะวันจันทร์ห้ามแสงส่องหล้า
ลมรำเพยเคยระบัดห้ามพัดพา
แล้วค่อยมาหาญห้ามความคิดคน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ใบตองแห้งออนไลน์ : อังกฤษไม่กลัวล้มเจ้า
เสนอในเวบไซต์ ประชาไท . . Mon, 2011-12-05 13:48
งานอดิเรก (ที่เคยเป็นงานสำรองเลี้ยงชีพ) ของผมคือตามข่าวดาราเซเลบส์ นอกจากเดวิด-วิคตอเรีย เบคแฮม, เลดี้กาก้า, ลินด์เซย์ โลฮาน ฯลฯ ราชวงศ์อังกฤษก็ถือเป็นเซเลบส์ ได้รับความนิยมจากคนที่ชอบติดตามข่าวดาราและช่างภาพปาปาราซซี โดยเฉพาะเคท มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เจ้าหญิงผู้มาจากชนชั้นกลาง ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งเลยทีเดียว
หลังพิธีเสกสมรสบันลือโลก เจ้าชายวิลเลียมกับเคทไม่ได้มีชีวิตสุขสำราญแบบเจ้าชายเจ้าหญิงในเทพนิยาย อย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ปราสาทหลังใหญ่ แต่ประทับอยู่ในบ้านขนาด 2 ห้องนอนชื่อ Nottingham Cottage ในพระราชวังเคนซิงตัน สลับกับประทับอยู่ในบ้านไร่ที่แองเกิลซีย์ ตอนเหนือของเวลส์ ใกล้ฐานทัพอากาศที่เจ้าชายวิลเลียมประจำการอยู่
พระราชวังเคนซิงตันไม่ได้เป็นของราชวงศ์ แต่เป็นสมบัติสาธารณะ เชื้อพระวงศ์ที่มาอาศัยอยู่ ถ้าไม่อยู่ในลำดับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของราชวงศ์ต้องจ่ายค่าเช่า เคยมีกรณีของเจ้าชายไมเคิลแห่งเคนท์ ลูกพี่ลูกน้องของควีน มาพักอยู่ในตำหนักขนาด 5 ห้องนอนตั้งแต่ปี 1979 โดยจ่ายค่าเช่าเพียงสัปดาห์ละ 70 ปอนด์ ตั้งแต่ปี 2002 แต่ถูก ส.ส.เอาไปอภิปรายในสภา ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาต้องจ่ายค่าเช่าปีละ 120,000 ปอนด์ตามราคาตลาด
ล่าสุดมีข่าวว่าควีนอลิซาเบธจะยกพระตำหนักเดิมของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ขนาด 20 ห้อง สูง 4 ชั้น ให้เจ้าชายวิลเลียม โดยต้องใช้เงินบูรณะกว่า 1 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งราชวงศ์ควักกระเป๋าเอง อีกส่วนมาจากกองทุนสาธารณะ แต่ก็ถูกพวก Republic ต่อต้านว่ารัฐบาลยอมให้ควีนยกพระตำหนักให้วิลเลียมได้อย่างไร พร้อมเรียกร้องให้จ่ายค่าเช่าตามจริง ขณะที่องค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร Historic Royal Palaces ที่ดูแลพระราชวังเคนซิงตันอยู่ก็บอกว่าจะต้องเจรจาค่าชดเชยกัน
เวลาเราดูภาพข่าวส่วนใหญ่ มักจะเห็นแต่ภาพวิลเลียมกับเคทแต่งตัวหรูหราออกงานพิธี แต่นั่นคือการทำหน้าที่ของราชวงศ์ พ้นจากหน้าที่แล้วทั้งคู่ก็พยายามใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวนายทหารทั่วไป อย่างเช่น หลังเสกสมรสใหม่ๆ ดยุคกับดัชเชสเดินทางไปเยือนแคนาดาและแคลิฟอร์เนีย มีกองทหารเกียรติยศต้อนรับอย่างใหญ่โตสมพระเกียรติ แต่พอกลับมาอยู่บ้านไร่ซึ่งวิลเลียมจ่ายค่าเช่าเดือนละ 750 ปอนด์ ก็มีภาพปาปาราซซีถ่ายดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ไปซื้อของห้างเทสโก้ เหมือนแม่บ้านธรรมดาๆ เพียงแต่มีบอดี้การ์ด 1 คน (แถมบอดี้การ์ดยังไม่ช่วยยกของอีกต่างหาก)
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงยูยีน พระธิดาของเจ้าชายแอนดรูว์ ก็เคยมาเที่ยวเมืองไทยแบบซำเหมาพเนจร นุ่งบิกินีลงทะเลที่ภูเก็ต แดนซ์กระจายในบาร์ แต่สื่ออังกฤษก็ไม่วายบ่นว่าในขณะที่เจ้าหญิงเที่ยวแบบซำเหมา 6 สัปดาห์ ขึ้นเครื่องบินชั้นประหยัด พักเกสต์เฮาส์ราคาคืนละ 15 ปอนด์กับเพื่อนๆ รัฐบาลอังกฤษต้องจ่ายค่าบอดี้การ์ด 2 คนนับแสนปอนด์ เป็นค่าเครื่องบินชั้นบิสสิเนสและพักโรงแรมชั้นดี พร้อมเบี้ยเลี้ยงวันละ 150 ปอนด์
เจ้าหญิงยูยีนซึ่งมีแฟนเป็นบริกรชื่อ แจค บรูกส์แบงก์ ยังเป็นข่าวเฮฮาเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตอนไปเที่ยวในลอนดอน แล้วปาปาราซซีจับภาพได้ว่าเธอถอดรองเท้าเดิน ใส่แต่ถุงเท้า โบกรถแท็กซี่กับแฟนและบอดี้การ์ด 1 คน
เจ้าหญิงบีทริซกับเจ้าหญิงยูยีนเป็นขวัญใจหนังสือพิมพ์แทบลอยด์อังกฤษ ซึ่งแม้จะลงข่าวเชิงหวือหวาฮือฮา แต่ก็น่ารักน่าเอ็นดูเสียมากกว่า ถ้าจะมีที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายบอดี้การ์ดอย่างที่ว่า เพราะทั้งสองไม่น่าตกเป็นเป้าปองร้าย แต่รัฐบาลก็ยังต้องจ่ายราวปีละ 250,000 ปอนด์ต่อคน
นั่นเป็นภาพสะท้อนด้านหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในแบบอังกฤษ ซึ่งไม่มีกฎหมายหมิ่นราชวงศ์ แถมยังเปิดให้มีพวก Republic ซึ่งก็คือพวกนิยมสาธารณรัฐ ต้องการให้ประมุขมาจากการเลือกตั้ง (พูดง่ายๆว่าพวก “ไม่เอาเจ้า”) เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย มีสิทธิมีเสียงเต็มที่ในระบอบประชาธิปไตย เช่นตอนที่มีพิธีเสกสมรส ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนให้มีปาร์ตี้ปิดถนน พวก Republic ก็จัด “ปาร์ตี้ไม่เอาเจ้า” แข่งกับเขาด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง (นอกจากพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นลอร์ด เป็นเซอร์ เช่นเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน) ทหารเสือราชินี (ควีนสปาร์คแรงเยอร์ เพิ่งขึ้นพรีเมียร์ลีก ฮิฮิ) ก็ไม่ถือเอาความจงรักภักดีเหนือกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในสมเด็จพระราชินี แม้กระทั่งพระราชดำรัสของควีนอลิซาเบธเมื่อเปิดสภา ก็ยังเป็นรัฐบาลร่างให้ (ไม่มีพระบรมราโชวาท นอกจากคำอวยพรสั้นๆ ในวันสำคัญเช่นคริสต์มาส) พวก Republic เคลื่อนไหวให้ตายก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่วิพากษ์วิจารณ์อยู่เรื่องเดียวคือเรื่องงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ซึ่งราชวงศ์ก็พยายามจำกัดค่าใช้จ่ายลงเรื่อยๆ
เช่นเมื่อปีที่แล้ว ค่าใช้จ่ายของราชวงศ์ลดลงจาก 33.9 ล้านปอนด์เหลือ 32.1 ล้านปอนด์ ค่าใช้จ่ายนี้แยกเป็นหลายส่วน เช่น เงินเดือนข้าราชบริพารและค่าใช้จ่ายงานพิธี 13.7 ล้านปอนด์ ค่าดูแลรักษาซ่อมแซมวัง 11.9 ล้านปอนด์ และค่าเสด็จเยือนทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นทางการ 6 ล้านปอนด์ ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งออกกฎหมายใหม่ Sovereign Grant Bill กำหนดค่าใช้จ่ายให้สำนักพระราชวังโดยคิดจากฐานรายได้สำนักงานทรัพย์สินของราชวงศ์ (Crown Estate) ซึ่งมีสินทรัพย์ 6.2 พันล้านปอนด์ และมีกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านปอนด์ (นำรายได้ส่งเข้าคลัง)
อย่างไรก็ดี พวก Republic วิจารณ์ว่า ค่าใช้จ่ายนี้ไม่ใช่ตัวเลขจริง เพราะไม่รวมค่ารักษาความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของจริงน่าจะอยู่ราว 200 ล้านปอนด์ เป็นโสหุ้ยของประเทศแลกกับการยังมีราชวงศ์ (แต่มองมุมกลับที่จริงต่อให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดี ก็ไม่ใช่ว่าค่าใช้จ่ายเท่ากับศูนย์ เพราะต้องมีงานพิธีอยู่ดี และยังไงๆ ก็ต้องดูแลซ่อมแซมวังที่เป็นโบราณสถาน)
พวก Republic เคยคำนวณว่า ค่าใช้จ่ายราชวงศ์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ราว 41 ล้านปอนด์ เป็นภาระประชาชนคนละ 69 เพนนี แต่ผู้สนับสนุนราชวงศ์ก็โต้ว่าคิดแล้วราคาของการมีราชวงศ์ เฉลี่ยต่อหัวประชากรยังน้อยกว่าค่านม 2 ไพพ์
พวก Republic มีเว็บไซต์ของตัวเอง http://www.republic.org.uk/ มีผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันราว 12,000 คนเท่านั้น แม้ผลสำรวจความเห็นตอนงานเสกสมรสวิลเลียม-เคท ระบุว่าคนอังกฤษ 46% ไม่สนใจ มีแค่ 37% ที่สนใจจริงจัง แต่นั่นก็มองได้ว่า ราชวงศ์อังกฤษไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยการที่มีคนรักทั้ง 100% ขอแค่ 37% หรืออาจจะ 40% - 50% ส่วนที่เหลืออาจจะเฉยๆ รู้สึกว่ามีดีกว่าไม่มี รู้สึกว่ามีก็ไม่เดือดร้อนอะไร (แค่ค่านม 2 ไพพ์ แถมยังโบกแท็กซี่เอง) อาจจะไม่รัก แต่ก็ไม่เกลียด ขณะที่มีคน “ไม่เอา” อยู่หยิบมือเดียว ก็ปล่อยให้เคลื่อนไหวไป เพราะถือเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะ “เอาเจ้า” หรือ “ไม่เอาเจ้า” แต่ตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่เขาเอา พวกเสียงส่วนน้อยหยิบมือเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีด้านดีตรงที่การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพวก Republic ทำให้ราชวงศ์ต้องทำตัวให้เหมาะสมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ พยายามปรับตัวเพื่อให้เป็นที่นิยมของคนชั้นกลาง ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่
อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นควีนหรือรัชทายาท แต่ถ้าใครแสดงกิริยาไม่เหมาะสม สังคมก็บอยคอตต์ เช่นเคยมีดีเจวิทยุปิดคำอวยพรวันคริสต์มาสของควีนอลิซาเบธแล้วแสดงปฏิกิริยาไม่ควร ก็โดนคนฟังรุมด่าจนสถานีต้องไล่ออก การหยามหมิ่นไม่ให้เกียรติบุคคลที่คนจำนวนมากเคารพรัก ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการไม่เคารพเสรีภาพในความเชื่อของผู้อื่น ไม่ต่างจากคนนับถือศาสนาหนึ่งลบหลู่ศาสดาของอีกศาสนาหนึ่ง คนที่ไม่รักก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่เขารัก แต่คนที่รักก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่ไม่รัก และเปิดใจกว้างรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
อังกฤษก็เลยไม่มีคนชูป้ายทำหน้าสงสัยเต็มแก่ว่า “ทำไมไม่รักควีนอลิซาเบธ” เพราะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ใครไม่รักก็สามารถอธิบายให้หายสงสัย แต่หายสงสัยแล้วถ้ายังรักอยู่ก็เป็นเสรีภาพของใครของมัน ตราบใดที่ราชวงศ์อังกฤษยังมีคนรักอยู่จำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนมากไม่เดือดร้อนกับการมีพระราชินีทรงเป็นประมุข มีคน “ไม่เอา” แต่ส่วนน้อย ราชวงศ์อังกฤษก็ไม่ต้องกลัวพวก “ล้มเจ้า” และดำรงอยู่อย่างยั่งยืนในระบอบเสรีประชาธิปไตย
ใบตองแห้ง
5 ธ.ค.54
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านต้นฉบับและความคิดเห็นท้ายบทความ ที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38177
ตัวอย่าง เช่น
Submitted by กานดา นาคน้อย (visitor) on Tue, 2011-12-06 04:16.
. . . . . sup wrote:
จริงๆแล้ว ผมไม่คิดว่า จะมีใครคิดจะล้มเจ้า แต่พอบางพวก อ้างเรื่องล้มเจ้า เพื่อเอามาล้มคนอื่น มันจึงเป็นเรื่องขึ้นมา
ก็อย่างเรื่อง โพสต์รูปร.๘ ก็ชวนกันเอะอะ โวยวาย จะให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต แต่พอเรื่องเครื่องบินพระบรมฯ ซึ่งเสียหายใหญ่โต ก็กลับปิดปากเงียบเสียงั้น และพวกที่อ้างว่า จงรักภักดี ก็ไม่เห็นมีใครไปเอาเรื่อง ในความคิดผม แค่เครื่องโดนยึดไป ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายกษิตก็ควรจะละอายแก่ใจลาออกไป และขอพระราชทานอภัยโทษแต่ก็ไม่เห็นมีหน้าไหน สนใจ เอาเรื่องเอาราวแต่อย่างใด
แล้วยังไม่พอ เมื่อจะเอาเงินไปจ่ายค่าอายัด เอาเครื่องฯกลับมา ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายกษิตก็ทำเฉยอีก จนกระทั่งสำนักพระราชวังต้องออกประกาศ ว่า พระบรมฯจะจ่ายเอง ก็ไม่เห็นมีข่าวผู้จงรักภักดีทั้งหลายจะเอาเรื่องกับความไร้ยางอาย ไม่รับผิดชอบของนายอภิสิทธิ์และนายกษิตแต่อย่างใด
เรื่องเจ้าของประเทศไทยเรา จึงกลายเป็นเรื่องการเมืองไป การเอาเรื่อง เจ้า มาพูด จึงดูเหมือน เป็นการพูด เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามเสียงั้นไป
ผมติดใจจริงๆนะครับ เรื่องยึดเครื่องบิน ถ้าผู้จงรักภักดีทั้งหลาย เห็นว่า ผมตกข่าว เพราะท่าน แสดงออกกันแล้ว และนายอภิสิทธิ์ นายกษิต ก็ได้ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ก็ช่วยเอามาโพสต์ให้ดูหน่อยนะครับ ผมจะได้มาขอโทษ เพราะผมไม่เห็นเลยจริงๆ และไม่เข้าใจความเฉยเมยในเรื่องนี้จริงๆ
. . . . .
เห็นด้วยค่ะ เรื่องล้มเจ้าเหมือนเรื่องภูติผีวิญญาณตรงที่ว่าเป็นเรื่อง"ความเชื่อ"ที่พิสูจน์ไม่ได้ คนเชื่อว่ามีก็เชื่อไป คนเชื่อว่าไม่มี ก็เชื่อไป
การเอาเรื่องที่พิสุจน์ไม่ได้มาเป็นประเด็นการเมืองเพื่อปลุกระดมให้คนทะเลาะกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นการถ่วงความเจริญ มีแต่พาให้ประเทศชาติถอยหลังเข้าคลอง ปัญญาชนหรือนักการเมืองที่มีคุณภาพควรหยุดวาทกรรมอันไร้สาระนี้
มีจริงหรือไม่ก็พิสูจน์ไม่ได้ แล้วเอามาเป็นประเด็นทำไม?
ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องมากมายไม่พูดถึง มานั่งจ้อกันเรื่องทีหาสรุปไม่ได้เพื่ออะไร เพื่ออำพรางความไร้สมรรถภาพของผู้พูด?
ฯลฯ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
++
ห้าธันวามหาราช : ข้อกังวลของมุสลิมที่เคร่งครัดต่อการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์
โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38182 . .Mon, 2011-12-05 22:29
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปราณีเสมอ ขอความสันติมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมหมัด และสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี หน่วยงานราชการ จะมีกิจกรรมวันพ่อมหาราชมากมาย เช่น ในภาคเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00น.ทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง จากนั้นเวลา 08.00น.จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และมอบเกียรติบัตรพ่อตัวอย่างดีเด่นของจังหวัด
ส่วนภาคค่ำประกอบพิธีถวายราชสักการะ ถวายพานพุ่มเงิน พุ่มทอง และร่วมจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล
ในขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ การเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การแข่งกีฬาเฉลิมพระเกียรติ การอนุรักษ์สืบสานประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ส่วนการลด ละ เลิกอบายมุข ขอให้งดเว้นการอนุญาตเล่นการพนัน การอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ หรือกิจกรรมอื่นใดอันเป็นการทรมานสัตว์ การงดเว้นเปิดสถานบริการ หรือแหล่งอันเป็นอบายมุข
สำหรับกิจกรรมหลายประการที่เป็นพิธีกรรมนั้นทำให้มุสลิมทั้งชายและหญิงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการที่เคร่งครัดศาสนาอิสลามมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าจะนำไปสู่ชิริก (ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) หากไม่ไปเข้าร่วมก็จะทำให้ถูกมองว่าไม่เคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์
ตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าการเคารพและนับถือ เป็นคุณธรรมที่ดีของมนุษย์ทุกคน อันพึงมีต่อผู้มีพระคุณ เช่น ต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ต่อพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด ต่อคุณครู ในฐานะผู้ให้ความรู้ และอื่นๆ มิใช่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอิสลามถือว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺ (อัลกุรอาน 2 : 255)
ซึ่งหลักการเคารพนับถือต่อพระเจ้านั้น จะต้องผนวกไปกับการกราบนมัสการต่อพระองค์ด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพของมุสลิมต่อสิ่งอื่น หรือบุคคลด้วยการกราบ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด
คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับการเคารพภักดีต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระมหากษัตริย์ของมุสลิมน่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการใช้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติในวันที่ห้าธันวามหาราช
คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามถือเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะข้าราชการนำเป็นคู่มือในการปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความเข้าใจ (โปรดดูคำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามจากการรวบรวมโดย ศอ.บต).
เช่น ปัญหา ที่ ๑๙ ปัญหาเรื่องการทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ การแสดงความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีการต่างๆ จะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น
ท่านอดีตจุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะหมัดได้ตอบไว้ดังนี้
- การยืนตรงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
- การก้มศีรษะไม่ถึงขั้นรุกัวะ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควร (มักรูฮ)
- การก้มศีรษะถึงขั้นรุกัวะ บางทัศนะว่าต้องห้าม (หะรอม) บางทัศนะว่าไม่บังควร (มักรูฮ)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงทราบถึงหลักการของศาสนาอิสลามในข้อนี้ดี เพราะพระองค์ทรงศึกษาหลักการศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขระเบียบที่ขัดกับหลักการอิสลาม สำหรับพสกนิกรมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามก็ไม่ต้องปฏิบัติ
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่า การเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่านก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความจงรักภักดีด้วยการกราบ ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก
ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า "ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง" จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้
กล่าวคือ รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)
เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)
นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)
ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีทั่วประเทศ การปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งต่อหน้าพระมหากษัตริย์ จะไม่มีค่าใดๆ เลย หากการแสดงออกของบุคคลเหล่านั้นไม่ตรงกับใจ
การให้สัมภาษณ์ทางวาจาของรัฐบาลและข้าราชการว่า จะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสแต่ละครั้ง จะไม่มีผลเช่นกัน หากนโยบายและการกระทำยังคงสวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และอื่น ๆ
นี่แหละ คือแก่นแท้ของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นขอบเขตที่มุสลิมจะทำได้และหน่วยงานของรัฐไม่ควรบังคับประชาชนหรือข้าราชการในพื้นที่กระทำการที่เลยขอบเขตนี้
.