.
การเมืองเชิงสัญลักษณ์
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 85
หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนเขียนถึงไอคอน "คุณซาบซึ้ง" และสติ๊กเกอร์ "วันอาทิตย์สีแดง" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแบบไทยๆ ที่มีนัยยะเชื่อมโยงกับภาวะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและความโศกเศร้าของมวลชนในประเทศเกาหลีเหนืออย่างน่าสนใจไปแล้ว
ล่าสุด ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ "คู่มือแกนนอน : เปลี่ยนมวลชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน เปลี่ยนสภากาแฟเป็นกลุ่มปฏิบัติการ" จัดพิมพ์โดยกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงร่วมกับสำนักพิมพ์ของเรา
ซึ่ง พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ เรียบเรียงคำสัมภาษณ์ของ "สมบัติ บุญงามอนงค์" (หนูหริ่ง หรือ บ.ก.ลายจุด) ว่าด้วยแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา
ในบทที่ 4 ของหนังสือที่มีชื่อบทว่า "แกนนอน ทำอะไรดี?" มีเนื้อหาย่อยส่วนหนึ่ง ("ใช้สัญลักษณ์ เลี้ยงกระแส ชิงพื้นที่สื่อ") กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเมืองเชิงสัญลักษณ์ไว้อย่างครอบคลุมรอบด้านพอสมควร
จึงขออนุญาตคัดลอกข้อความบางส่วนมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้
"การเคลื่อนไหวในรูปแบบแกนนอนช่วงแรกๆ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นช่องทางการสื่อสาร ทำให้ต้องหาทางออก และพบว่าปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์นั้นปลอดภัยและเหมาะกับเวลา สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือต้องส่ง message (สาร - คนมองหนัง) ที่อยู่ข้างหลังสัญลักษณ์นั้นออกไปให้ได้ สัญลักษณ์บางอย่างเมื่ออยู่ในบริบทสังคมที่สอดคล้องก็ทำให้สัญลักษณ์นั้นทรงพลังขึ้นมา
"ยกตัวอย่างกรณี "ชูนิ้วกลาง" ก็ตีความได้หลากหลาย ในทัศนะหนูหริ่งมันเป็นการแสดงอารมณ์ว่าสุดจะทน ไม่ต้องพูดอะไรกันแล้ว คุยกันไม่ได้แล้ว เป็นการปลดปล่อยความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่อึดอัด ไม่รู้จะทำอย่างไรหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553 ที่ราชประสงค์ บางคนอาจตีความว่าเป็นการด่าทอ เพราะนิ้วกลางในทางสากลคือคำด่า ก็เป็นการตีความอีกแบบ เพราะในสังคมที่ไม่ยอมพูดความจริง หรือหลบเลี่ยงความจริง มันไม่มีอะไรต้องพูด ชูนิ้วกลางเลยดีกว่า
"นี่คือตัวอย่างปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องและลงตัวกับบริบทสถานการณ์ ถ้าไม่พอดีก็สุ่มเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่จะไม่รับสารนี้ กรณีชูนิ้วกลางนั้นหนูหริ่งไม่ได้ชูต่อหน้าสื่อ แต่ว่าสื่อตีพิมพ์ภาพนี้หลังเขาถูกจับกุม (26 มิ.ย.2553 หนูหริ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวขณะทำกิจกรรมผูกผ้าแดงที่ป้ายแยกราชประสงค์ ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 9 ก.ค. ปีเดียวกัน) ทำให้สารนี้ทรงพลังและเรียกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการจับกุมนั้นออกมาจำนวนมาก
"กิจกรรมผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์ก็เช่นกัน เริ่มจากความคิดที่ว่าทำอย่างไรให้คนไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แล้วอะไรคือสัญลักษณ์ของราชประสงค์ ก็คือป้าย จะต้องทำอะไรกับป้าย ในที่สุดก็คิดว่าเอาผ้าแดงไปผูกป้าย เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ไปคนเดียวก็ได้ ปัญหาคือสารนี้คนจะรับได้ไหม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐถึงกับยกป้ายออกแล้วสื่อก็เข้ามาขยายผลอย่างกว้างขวาง ทำให้การผูกผ้าแดงกลายเป็นเรื่องที่มีความหมายขึ้นมา
" "การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์จะไม่มีพลังเลยถ้าสังคมไม่รู้ว่าเราจะสื่ออะไร" สัญลักษณ์มันทำงานระดับจิตใต้สำนึก หมายความว่าถ้าสัญลักษณ์ไหนที่ผู้คนเข้าใจและมีความพิเศษมันก็จะมีพลัง"
"เมื่อสัญลักษณ์ทำงานมันจะต่อยอดไปได้เอง เช่นการตะโกน "ที่นี่มีคนตาย" หรือการแต่งผีไปปรากฏตัวตามที่เกิดเหตุ ก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับปฏิบัติการอื่นๆ เพราะลำพังสัญลักษณ์ก็มีขีดจำกัดของมัน เป็นการสื่อข้อความบางอย่าง เหมาะกับกิจกรรมที่ต้องการส่งสัญญาณเท่านั้น แต่ถ้าใช้สัญลักษณ์เป็น ก็จะกลายเป็นตัวช่วยหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสื่อสารและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการสื่อสารกับคนที่มีอคติต่อกัน ถึงที่สุดต้องสื่อสารข้ามกำแพงความคิด โดยผ่านช่องทางการสื่อสารระดับจิตใต้สำนึกที่เรียกว่า "ใจถึงใจ"
"การทำงานกับสื่อจำเป็นต้องเลี้ยงกระแส "เลี้ยงกระแสก็เหมือนเลี้ยงลูกปิงปอง!" คือค่อยๆ ยกกระแส ถ้าทำแล้วหยุดกว่าจะสร้างกระแสขึ้นมาใหม่ได้ต้องใช้เวลาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น ต้องทำต่อเนื่อง คิดและดูจังหวะ เช่น กิจกรรมปิกนิกที่สวนสาธารณะ ทำบ่อยๆ หลายอาทิตย์สื่อเริ่มไม่เล่นด้วย วันหนึ่งหนูหริ่งจึงตัดสินใจไปหน้าธนาคารกรุงเทพ ไปทำกิจกรรม กดเอทีเอ็ม ปรากฏว่าสื่อเล่นด้วย หรือกิจกรรมจัดกินอาหารไพร่เล่นกับกระแสที่กำลังเป็นข่าวอยู่ (กรณีคนชั้นสูงดื่มเบียร์-คนชั้นไพร่ดื่มไวน์ ระหว่าง "กรณ์ จาติกวณิช" กับ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" - คนมองหนัง) เรียกว่า "ชักใบทัน" เมื่อมีกระแสลมมาเราต้องชักใบเรือโต้กระแส โต้คลื่น เล่นปิงปองกับกระแสนั้นได้ หรือกิจกรรมส่งจดหมายถึงฟ้าก็เล่นพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งได้และเป็นการสื่อสารถึงสังคม การเล่นกับกระแสคือการช่วงชิงพื้นที่ข่าว ชิงพื้นที่สื่อ และสื่อสารวงกว้าง
"ในอนาคตอาจมีการสร้างสถาบันเพื่อการสร้างสรรค์วิธีการประท้วง หรือ political creative มีการศึกษารูปแบบการต่อสู้ของคนทั่วโลก มีการถอดบทเรียน ลองผิดลองถูก ท้าทายและทะลุกรอบคิดของขบวนการเคลื่อนไหวแบบเดิมในอดีต..."
นี่เป็นมุมมองที่มีต่อประเด็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของ สมบัติ บุญงามอนงค์
บุคคลสำคัญคนหนึ่งทางการเมืองไทย ในช่วงรอยต่อระหว่างหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2553 ถึงการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554
++
MIDNIGHT IN PARIS "ถวิลหาอดีต"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 87
กำกับการแสดง Woody Allen
นำแสดง Owen Wilson , Rachel McAdams
Michael Sheen , Kathy Bates
Marion Cotillard , Adrien Brody
วูดดี อัลเลน ยังคงทำหนังตลกในแนวเฉพาะที่เขาเขียนเรื่องเองออกมาปีสองปีเรื่อง และเขาตกหลุมรักกับปารีสอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเสมอมา
ความหลงใหลในนครแห่งแสงสีแห่งนี้ปรากฏบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง
ปารีสเคยเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมโลกในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ บรรดานักปรัชญา นักคิด นักเขียนและศิลปินชื่อดังหลากหลายสาขาจะพากันไปอยู่ที่นั่น แลกเปลี่ยนทัศนะและสร้างสรรค์งานเขียนและงานศิลปะจรรโลงใจคนทั้งโลก ซึ่งยังได้รับยกย่องมาถึงปัจจุบัน
ใน Midnight in Paris อัลเลนเขียนเรื่องที่มีตัวตนของเขาเป็นตัวละครตัวเอกอีกนั่นแหละ (คนที่คุ้นกับ วูดดี อัลเลน จะรู้ดีว่าคาแร็กเตอร์ของอัลเลนจะเป็นคนพูดน้ำท่วมทุ่ง เรื่องมาก ช่างตอแย ชอบต่อล้อต่อเถียง) เพียงแต่ว่าตอนนี้เขาแก่เกินแกงไปเสียแล้ว คราวนี้เลยใช้ตัวตายตัวแทนเป็น โอเวน วิลสัน ในบท "กิล" นักเขียนบทภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดผู้ประสบความสำเร็จ แต่ใฝ่ฝันจะกลายเป็นนักเขียนแท้ๆ ในวงวรรณกรรม ไม่ใช่นักเขียนบทหนังสำหรับโลกบันเทิง
กิลเดินทางมาปารีส พ่วงติดมากับครอบครัวของแฟนสาวอิเนซ (เรเชล แม็กอาดัมส์) พ่อของอิเนซเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่กำลังจะรวมกิจการให้ธุรกิจใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งพ่อแม่และอิเนซไม่เคยเข้าใจว่าทำไมกิลถึงต้องการจะออกจากวงการนักเขียนบทที่ได้รับความสำเร็จแล้วในฮอลลีวู้ดไปเป็นนักประพันธ์ไส้แห้งที่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันด้านเงินทองบ้านช่องอัครฐานในมาลิบู แคลิฟอร์เนีย
แต่กิลเป็นชายหนุ่มผู้ถวิลหาอดีตอันรุ่งเรืองเก่าก่อน นวนิยายที่เขาซุ่มเขียนอยู่และยังไม่ลงตัวนัก เป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ทำงานในร้านที่เรียกว่า ร้านหวนหาอดีต (nostalgia shop) ซึ่งพอบอกใครทุกคนแล้ว ก็ต้องอธิบายตามหลังว่าเป็นร้านขายของจิปาถะที่ชวนให้คิดถึงกาลเวลาที่ล่วงผ่านไป
อิเนซเป็นคนหลงติดอยู่ในความสำเร็จปลอมๆ เธอพบเพื่อนเก่าชื่อพอล (มาร์ติน ชีน) เป็นชายหนุ่มที่เธอทึ่งในความเก่งกาจฉลาดเฉลียวในทุกเรื่อง แต่กิลเห็นว่าเขาเป็น "นักวิชาเกิน" ไม่ใช่นักวิชาการ เพราะดูเหมือนจะเชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง แต่รายละเอียดก็ผิดเพี้ยนไปหมดจากความจริง
เมื่อรสนิยมของคู่รักแยกทางกันไปดังนี้ คืนหนึ่งกิลก็พบตัวเองต้องเดินกลับโรงแรมคนเดียวเพราะอิเนซปลีกตัวไปสนุกสนานต่อกับพอลยามค่ำคืน
กิลหลงทางกลางดึก และขณะกำลังนั่งอยู่ที่ขั้นบันไดกลางเมืองปารีส เขาก็ได้ยินเสียงนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืน ทันใดนั้น ก็มีรถเปอโยต์รุ่นเก๋าเป็นมันปลาบแล่นเข้ามาเทียบ และเขาได้รับการคะยั้นคะยอให้นั่งรถไปด้วยกัน
กิลถูกพาตัวไปพบปะกับผู้คนที่น่าสนใจมากมาย และพบว่าคนเหล่านั้นคือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะและวรรณกรรมในช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเขารู้จักดีจากผลงานอันลือชื่อของพวกเขา
อาทิเช่น นักเขียนนวนิยายชื่อดัง เอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์ (ทอม ฮิดเดลสตัน) กับเซลดา (อลิสัน พิลล์) ภรรยาอารมณ์แปรปรวนของเขา และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (คอรีย์ สตอลล์) นักแต่งเพลงแจ๊ซ โคล พอร์เตอร์ (อีฟ เฮ็ก) นักเขียนและนักวิจารณ์ เกอร์ทรูด สไตน์ (แคธี เบตส์) จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ ปาโบล ปิคัสโซ (ไมเคิล ดิ ฟอนโซ โบ) กับแฟนสาวสวยที่กำลังจะเลิกกับเขา อาเดรียนา (มาริอง โกติยาร์ด)
กิลได้รับคำแนะนำในการเขียนนวนิยายโดยเฉพาะจาก เกอร์ทรูด สไตน์ นักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเปิด "ห้องรับแขก" หรือ "ซาลอง" ให้เป็นที่พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะของนักเขียนและศิลปินของยุค
กิลตื่นขึ้นมาตอนเช้าในกาลเวลาปัจจุบันและใช้ชีวิตปกติในปารีสศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด จนถึงเที่ยงคืนซึ่งเขาไปรอรถโบราณให้มารับเขา ณ จุดเดิมอีกหลายต่อหลายคืน
และได้พบกับจิตรกร กวีและศิลปินด้านต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เขา อาทิ กวีและนักเขียนบทละคร ที. เอส. เอเลียต (เดวิด โลว์) จิตรกรเซอร์แนวเรียลิสต์ ซัลวาดอร์ ดาลี (เอเดรียน โบรดี) ผู้กำกับหนังแนวเซอร์เรียลิสต์ หลุยส์ บุนนูเอล (เอเดรียม เดอ แวน) ซึ่งมีบทสนทนาฮากลิ้งระหว่างเขากับบุนนูเอล ซึ่งพยายามหาเหตุผลให้กับไอเดียเหนือจริง (เซอร์เรียลิสต์) ที่กิลเสนอให้เอาไปทำหนัง เรื่องน่าขันตรงนี้อยู่ที่ว่าบุนนูเอลตั้งคำถามเอาเป็นเอาตายเพื่อหาเหตุผลให้แก่สถานการณ์ที่ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลของความสมจริงเลย
นอกจากนั้น กิลยังเกิดหลงรักสาวสวยในอดีตที่เป็นแฟนกับปิคัสโซ ซึ่งเธอเองก็หวนหากาลเวลาอันรุ่งเรืองในอดีตอยู่ด้วยเหมือนกัน ทำให้ทั้งสองลึกเข้าไปในอดีตใกล้เคียงอีกยุคหนึ่ง ที่มีศิลปินอย่างเช่น อองรี มาติส (อีฟส์ อังตวน สโปโต) ตูลูส-โลเตร็ก (วินเซนต์ เมนจู คอร์เตส) พอล โกแกง (โอลิวิเอร์ ราบูร์แดง) และ เอ็ดการ์ เดกาส์ (ฟรังซัวส์ รอสแตน) เป็นต้น
การหลุดเข้าไปใช้ชีวิตยามราตรีในอดีตกาลทำให้กิลมองเห็นความต้องการของตนได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตจริง
สําหรับคนที่มีภูมิหลังทางด้านศิลปะและวรรณกรรมอยู่บ้างน่าจะสนุกกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละครและชีวิตแสงสีของปารีสในอดีต ซึ่ง วูดดี อัลเลน ปลุกให้กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกอย่างมีสีสันและมีอารมณ์ขัน
ประสบการณ์แปลกประหลาดหลังเที่ยงคืนในหนังเรื่องนี้ วูดดี อัลเลน ไม่ได้พยายามอธิบายถึงที่มาที่ไปในแง่ของเหตุผลในความเป็นจริง นอกจากว่าเป็นเรื่องของมนตร์ขลังของปารีสอันเต็มไปด้วยเสน่ห์ล้ำลึก สำหรับผู้คนที่หลงรักปารีสแล้ว เมืองนี้เป็นความหลังฝังใจที่ไม่อาจถอนตัวได้ขึ้น
Midnight in Paris อาจไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน โดยเฉพาะบางคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับโลกศิลปะและวรรณกรรม
แต่สำหรับบางคนแล้ว หนังเรื่องนี้มีมนต์เสน่ห์และความพิเศษเหลือแสนทีเดียว
+ + + +
บทความของปลายปีที่แล้ว ( 2553 )
FAIR GAME "เบื้องหลังสงครามอิรัก"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1579 หน้า 87
กำกับการแสดง Doug Liman
นำแสดง Naomi Watts , Sean Penn
Ty Burrell , Bruce McGill
David Andrews , Sam Shepard
เมื่อประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวปราศรัยรายงานสถานภาพของประเทศ (state of the union) ต่อหน้ารัฐสภาและประชาชนชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ.2003 เขาให้เหตุผลความจำเป็นว่าจะต้องส่งกองทหารเข้ารุกรานอิรักภายใต้ ซัดดัม ฮุสเซน
เนื่องจากหน่วยข่าวกรองอเมริกันสืบทราบว่าอิรักเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสถียรภาพของโลก ด้วยว่ามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง หรือไม่ก็กำลังพัฒนาศักยภาพของอาวุธร้ายแรง ที่สามารถทำลายล้างคนจำนวนมาก อย่างที่เรียกกันว่า WMD หรือ weapon of mass destruction
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม และจัดการกับอิรักขั้นเด็ดขาด เพื่อไม่ให้สร้างแสนยานุภาพทางทหารเป็นภัยคุกคามต่อโลกต่อไป
อเมริกาประกาศสงครามกับอิรัก
หลังจากคำปราศรัยของประธานาธิบดีบุชไม่นาน อดีตเอกอัครราชทูต โจ วิลสัน ก็เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยว่าตัวเองคือแหล่งข่าวที่ซีไอเอส่งไปยังไนเจียร์ เพื่อสืบหาความเป็นไปได้ของการที่ไนเจียร์ขายแร่ยูเรเนียมให้แก่อิรัก เพื่อนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์
แต่รายงานที่เขาเขียนส่งให้ซีไอเอ บอกว่าเขามองไม่เห็นทางเป็นไปได้ว่าจะมีการค้าขายและขนส่งสินค้าดังกล่าวจากไนเจียร์สู่อิรัก การขนส่งสินค้าที่เป็นแร่กัมมันตภาพรังสีขนาดนั้นผ่านทะเลทราย ย่อมต้องทิ้งร่องรอยให้พบเห็นอยู่บ้าง แต่เขาไม่พบเค้าลางที่ส่อว่ามีการขนส่งแบบนั้นอยู่เลย
แต่อยู่ดีๆ อเมริกากลับประกาศสงครามกับอิรัก โดยอ้างแหล่งข่าวกรองที่สืบทราบความเคลื่อนไหวในไนเจียร์เยี่ยงนี้
พูดง่ายๆ คือ มีคนเอารายงานเขาไปบิดเบือน เพื่อหาเหตุผลกระโจนเข้าสู่สงคราม เพื่อจะเข้าไปจัดการกับ ซัดดัม ฮุสเซน ให้สิ้นฤทธิ์ในฐานที่แข็งข้อกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา
ครั้นพอ โจ วิลสัน เปิดตัวออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ข่าวกรองที่อ้างนั้นเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งเพ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทำเนียบขาวก็ตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวเปิดเผยว่าภรรยาของวิลสัน-แวเลอรี เพลม-เป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ทำให้เธอต้องถูกถอดถอนจากปฏิบัติการลับทั่วโลก แหล่งข่าวของเธอถูกทิ้งให้ตกอยู่ในอันตราย และเธอเองก็ถูกคุกคามต่างๆ นานา
Fair Game สร้างจากบันทึกความทรงจำของ แวเลอรี เพลม และ โจ วิลสัน ซึ่งเล่าถึงชีวิตจริงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่ต้องลงพื้นที่ปัญหาทั่วโลก แม้แต่เพื่อนสนิทของครอบครัวก็ไม่รู้จักตัวตนเบื้องหลังของแวเลอรี (เนโอมี วัตส์) อย่างแท้จริง
แวเลอรีซึ่งทำงานอยู่กับองค์กรข่าวกรองมานาน เป็นคนที่ออกจะเก็บตัวและไม่แสดงออกนัก เธอมีเครือข่ายของปฏิบัติการสำคัญๆ อยู่ทั่วโลก
สามีของแวเลอรีคือ อดีตเอกอัครราชทูต โจ วิลสัน (ฌอน เพนน์) ผู้มีนิสัยเลือดร้อน และขวานผ่าซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อต้านอคติต่อชนชาติโดยไร้เหตุผล
แต่แม้แต่สามีเธอเอง ก็ยังไม่ทราบว่าในช่วงเวลาที่เธอเดินทางไปทำงานหลายๆ วันนั้น เธอไปอยู่ที่ไหน
เรื่องนี้ทำให้นึกขำๆ ย้อนไปถึงหนังที่ อาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ เล่นกับ เจมี ลี เคอร์ติส ชื่อ True Lies ซึ่งอาร์โนลด์เป็นจารชนที่แม้แต่ภรรยาเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นสายลับ แต่ True Lies เป็นหนังแอ๊กชั่น-คอเมดี้-ธริลเลอร์แบบหวือหวาโครมคราม
ขณะที่ Fair Game เป็นดรามาที่เล่าเรื่องจริงของสามีภรรยาสองคนนี้ ที่ต้องถูกเปิดโปงให้ร้ายและต้องต่อสู้เพื่อปกป้องชื่อเสียงของตัวเองกับอำนาจรัฐที่ใช้ในทางที่ผิด
ตัวร้ายในเรื่องคือ สกูเตอร์ ลิบบี (เดวิด แอนดรูส์) ซึ่งเป็นคนของรองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์
หนังใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงของผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องสำคัญๆ เหล่านี้ ประหนึ่งจะท้าทาย โดยไม่กลัวถูกฟ้องหมิ่นประมาท สงสัยจะตั้งใจบอกแก่คนดูว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ฝ่ายที่พูดความจริงจึงไม่สมควรกลัวสิ่งใด ไหนๆ จะต่อสู้กับอำนาจมืดแล้วก็ต้องต่อสู้ด้วยความจริงจะปลอดภัยกว่า เพราะฝ่ายผู้เสียหายย่อมกลัวจะฟ้องร้อง ไม่งั้นจะต้องไปพิสูจน์ความจริงกันในศาล และในศาลนั้นจะเอาเรื่องโกหกพกลมมาพิสูจน์ความจริงก็ไม่ได้
เป็นหนังอเมริกันเรื่องเดียวที่เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา กำกับฯ โดยผู้กำกับฯ ฝีมือดี ดัก ไลแมน ที่กำกับฯ The Bourne Identity อย่างเฉียบคมชวนระทึก
นักแสดงนำสองคน ทั้ง เนโอมี วัตส์ และ ฌอน เพนน์ ก็เล่นอย่างน่าเชื่อ เข้มข้น เหมาะเจาะลงตัวพอดิบพอดี ไม่มีเว่อร์ ไม่มีหลุดสักขณะจิตเดียว แค่ไปดูฝีมือการแสดงกินขาดของสองคนนี่ก็คุ้มสุดคุ้มแล้ว แถมในตอนจบ เมื่อเห็นฟุตเทจของ แวเลอรี เพลม ตัวจริง ทำให้เห็นความคล้ายคลึงของรูปร่างหน้าตาบุคลิกที่เนโอมีสร้างแคแร็กเตอร์ให้เหมือนตัวจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์
ส่วน ฌอน เพนน์ ก็เช่นเคย เป็นนักแสดงที่วิเศษเหลือเกิน จับแก่นของตัวละครได้อยู่หมัดทุกบท
แถมท้ายในสิ่งที่ไม่ได้มาจากหนัง แต่เกี่ยวพันกันอยู่ คือ ได้อ่านคำพูดจากปากของอดีตประธานาธิบดี บุชจากนิตยสารไทม์บอกว่า เขารู้สึกคลื่นเหียนวิงเวียน (sickening) ทุกครั้ง เมื่อมาคิดว่าไม่เคยได้เจออาวุธมหาประลัยใดๆ เลยในอิรัก จากการเข้ารุกรานทำสงครามกับอิรักในครั้งนั้น
ท่าทางว่าบุชจะถูกเชนีย์กับลิ่วล้อแหกตาครั้งใหญ่ซะละมัง
ไม่ว่าอย่างไร เป็นถึงประมุขของประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกขนาดนี้ ถูกเสนาธิการและคนข้างเคียงแหกตาเอาได้ ก็ต้องหน้าแตกไม่มีใครรับเย็บฉะนี้แหละ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย