http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-03

นารายณ์ย้ายวัง มังรายย้ายเวียง(1,2), พระอัฏฐารส มีแบบประทับนั่งด้วยหรือ? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.


นารายณ์ย้ายวัง มังรายย้ายเวียง (1)
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 76


ปรากฏการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอีกครั้งว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรเล็งชัยภูมิแห่งใหม่เพื่อวางแผนสร้างเป็นราชธานีสำรองแทนที่กรุงเทพในอนาคตอันใกล้นี้ชนิดรอช้าไม่ได้

อย่าลืมว่าจากการคาดการณ์ของทุกพยากรณ์ ไม่ว่าด้านอุทกศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รวมทั้งโหราศาสตร์ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีหน้าน้ำจะเอ่อนองมหาโหดหนักกว่าปีนี้หลายเท่าตัวห้ามประมาท เข้าทำนองปีหน้าเผาจริง ปีนี้แค่เผาหลอก

แล้วเราจะเตรียมการรับมือกับกระแสน้ำเหนือไหลบ่า คำบัญชาให้ปล่อยน้ำเขื่อน กับน้ำทุ่งน้ำท่าอันหลากหลั่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ของปีหน้าและปีต่อๆ ไปได้อย่างไร

ดิฉันเองได้ผ่านสภาวะของคนที่เกือบเป็นโรคประสาทในทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว ยิ่งสร้างบ้านอยู่เมืองเหนือละแวกสันกำแพง-ดอยสะเก็ดแถวบ่อสร้าง ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือเรียกให้ชัดๆ ก็คือเป็นคนที่อาศัยอยู่ใกล้ต้นน้ำ ผ่านประสบการณ์หัวใจจะวาย ด้วยการวิ่งยกลังหนังสือหนีน้ำขึ้นชั้นบน ซึ่งทางเขื่อนแม่กวง-แม่งัดเขาปล่อยมวลน้ำมหาศาลแบบเฉียบพลันทันด่วน มิทันได้ตั้งตัวอยู่ 6-7 ระลอกในระยะเวลาเพียง 2 เดือน (ระหว่างสิงหาคม-กันยายน) บางครั้งยกลังหนีไม่ทัน หนังสือหนังหาลอยน้ำเท้งเต้ง ต้องลุยน้ำไปตามเก็บ เล่มที่พอจะฉวยได้ก็ขึ้นเชื้อราเปื่อยพังต้องโละทิ้งนับหลายลัง

ดังนั้น ประเด็นที่ว่า "เมืองหลวงใหม่ในอนาคต" ของไทยแลนด์ ที่ทุกคนเพียรเฝ้าถามตัวเองว่าควรตั้งอยู่ที่ใดจึงจะเหมาะสมนั้น คำตอบยังอยู่ในสายลม (รวมทั้งในสายน้ำ)

เพราะขนาดเชียงใหม่เป็นพื้นที่สูงก็ยังหนีไม่พ้นน้ำท่วม เหตุเพราะอยู่ใกล้ต้นน้ำมากเกินไป

ดังเช่นกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่เวียงกุมกาม อันเป็นเหตุให้ต้องย้ายเมืองหลวงใหม่ หรือกรณีคลาสสิกของอดีตราชธานีกรุงเก่าอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถึงขั้นที่ต้องย้ายวังออกไปอยู่ลพบุรี



น้ำท่วมอยุธยา
พระนารายณ์ย้ายวัง

ทําเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นที่ราบต่ำติดทะเล (สมัยโบราณย่านรังสิต กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ยังเป็นวุ้นจมอยู่ใต้ทะเล ยังไม่งอกเป็นแผ่นดิน) ถามว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.1893 แรกสร้างกรุงสมัยพระเจ้าอู่ทอง (รามาธิบดีที่ 1) จนถึงยุคก่อนหน้าสมเด็จพระนารายณ์ ราว พ.ศ.2200 นั้น ชาวกรุงศรีฯ ไม่เคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนักกันหรืออย่างไร

ทำไมไม่เคยมีบูรพกษัตริย์พระองค์ใดดำริที่จะย้ายเวียงหรือวังไปอยู่ที่ีอื่น ไฉนความคิดนี้จึงเริ่มต้นในยุคสมเด็จพระนารายณ์?

เชื่อได้ว่าแผ่นดินที่ราบลุ่มภาคกลางกับเรื่องน้ำท่วมนั้น เป็นของคู่กันมานมนานแล้วตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิจนถึงทวารวดีก่อนสร้างกรุงศรีฯ คนสมัยโบราณถือว่านี่คือเรื่องปกติ เหตุเพราะชาวอุษาคเนย์มิได้ปลูกบ้านบนบก แต่ผูกเป็นเรือนแพลอยน้ำ บ้างยกเสาสูง น้ำจะขึ้นหรือลง เป็นเรื่องของธรรมชาติ ชาวเมืองมิได้รู้สึกรู้สา

ฉะนั้น ในแต่ละปีที่น้ำท่วมกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลายาวนานถึง 6 เดือน ต่อเนื่องมานานหลายศตวรรษนั้น จึงไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสถึงกับทำให้ต้องมีการย้ายเวียงวัง

แล้วเหตุใดเล่า จดหมายเหตุทั้งของไทยและเทศต่างก็ระบุตรงกันว่า การที่สมเด็จพระนารายณ์ได้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ที่ลพบุรีนั้นเกิดจากการหนีน้ำท่วม

ทำราวกับว่าพระองค์ท่านไม่ทรงคุ้นเคยกับประสบการณ์น้ำเจิ่งนองในสยามมาก่อนกระนั้น?

ฤๅรัชสมัยของพระองค์น้ำท่วมหนักกว่ารัชกาลอื่นๆ ดังที่คำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าพระองค์ทรงประกอบ "พระราชพิธีฟันน้ำหรือไล่น้ำ" ด้วยการประทับกลางเรือพระที่นั่งเอกชัย แล้วกวัดแกว่งพระแสงดาบฟาดฟันยังสายน้ำที่เอ่อท้น เป็นสัญลักษณ์ของการตัดไม้ข่มนามมิให้น้ำท่วมสูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ตามความเชื่อทางพราหมณ์-ไสยศาสตร์

นำมาสู่การเลียนแบบพิธีกรรมโบราณนี้ของพ่อเมือง กทม. คนล่าสุด จนกลายเป็นเรื่องโจษขานกันสนั่นเมืองว่าเป็นพิธีงี่เง่างมงาย


เรื่องการย้ายวังจากอยุธยาไปสร้างใหม่ที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรีนั้น แท้ที่จริงคือแรงผลักดันทางด้านการเมืองในราชสำนักอย่างไม่ต้องสงสัย

ย้อนมองเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์นั้น ทรงอยู่ในสถานะที่หมิ่นเหม่เหลือกำลัง เนื่องจากทรงร่วมมือกับเสด็จอาให้สำเร็จโทษพระราชบิดา พระเจ้าปราสาททอง ต่อมาร่วมมือกับพี่ชายให้แย่งบัลลังก์จากอา สุดท้ายก็ลอบสังหารพระเชษฐาเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเสียเอง

พระองค์อยู่ในฐานะผู้ช่วงชิงความชอบธรรมมาโดยตลอด หากยังยึดหัวหาดนิวาสถานเดิมนั่งบัญชาการอยู่ท่ามกลางเสือสิงห์กระทิงแรดในกรุงศรีอยุธยาแล้ว น่าจะเสี่ยงต่อการถูกเลื่อยขาเก้าอี้ ล้มโต๊ะคว่ำกระดาน ทวงสิทธิ์คืนจากพลพรรคฝ่ายสูญเสียอำนาจเอาง่ายๆ

นั่นเป็นสาเหตุหลักของการย้ายพระราชวังหลวงไปอยู่ที่ลพบุรี!


ปัจจัยรองๆ ลงไป ที่นำมาเพิ่มน้ำหนักหว่านล้อมให้การย้ายวังไปอยู่แดนไกลพ้นหูพ้นตาของอำมาตย์อำนาจเก่าชาวกรุงศรีฯ ฟังดูเนียนขึ้น ก็คือเหตุผลข้อที่ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานการเสด็จประพาสป่าโดยเฉพาะการคล้องช้างนั้นชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจ หากทรงประทับอยู่เมืองลพบุรีย่อมสะดวกต่อการเข้าป่าล่าสัตว์ได้บ่อยๆ

อีกมูลเหตุหนึ่งที่ฟังดูแล้วช่วยยกระดับให้กรุงสยามมีความศิวิไลซ์ขึ้นทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ ก็คือการอ้างว่า มาตรฐานของเมืองแถบยุโรปนั้นล้วนแล้วแต่มี "พระราชวังประทับพักผ่อนช่วงฤดูร้อน" ( Villa d'E't'e ) เหมือนดั่งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงมีพระราชวังหลวงอยู่ในกรุงปารีส แล้วยังทรงมีพระราชวังแวร์ซายส์อีกแห่งหนึ่ง

แท้ก็คือการหนีไปสร้างโลกส่วนตัวให้ไกลห่างจาก "อมาตยภัย" ที่คอยรบกวนจิตใจ ในลักษณะหอกข้างแคร่มิรู้ว่าวันใดจะเจอแจ็กพ้อตคว้าเอาหอกมาจ้วงแทง ไม่แตกต่างกันทั้งพระนารายณ์และหลุยส์กาต๊อส

บุคคลที่มีส่วนในการยุยงให้สมเด็จพระนารายณ์ตัดสินพระทัยย้ายวังมาอยู่ที่ลพบุรี ก็คือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน

จะว่าไปแล้วความคิดที่ชิงชังน้ำท่วมนั้นน่าจะเกิดจากมุมมองของชาวตะวันตกมากกว่า ความไม่คุ้นเคยกับการที่ต้องลอยคอนอนในแพอยู่เป็นระยะเวลายาวนานที่กรุงศรีอยุธยา น่าจะเป็นเหตุผลหลักในการเพ็ดทูลให้กษัตริย์สยามเร่งย้ายวังหนีน้ำท่วมด่วนยิ่งขึ้น



ไม่ว่าเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ที่เป็นปัจจัยหลักจริงๆ ที่บีบบังคับให้สมเด็จพระนารายณ์ต้องย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ที่ลพบุรี แต่อย่างน้อยที่สุด ประวัติศาสตร์สยามหน้านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ของพระนครศรีอยุธยานั้นเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่มาแล้วถึงกับมีการย้ายศูนย์บัญชาการหรือที่ประทับของกษัตริย์ให้ออกไปตั้งอยู่นอกราชธานี

กล่าวถึงเมืองลพบุรีเองนั้นเล่า ก็หาใช่เมืองใหม่ถอดด้าม มีศักดิ์ศรีเป็นถึงราชธานีโบราณสมัยทวารวดีตอนปลาย เคยเป็นศูนย์กลางอารยธรรมหลอมรวมชาติพันธุ์ลัวะ มอญและขอม มีฐานะเป็นเมืองแม่ของอยุธยามาก่อนเสียด้วยซ้ำ ในยุคที่ละโว้หรือลวปุระเรืองอำนาจ เมืองอโยธยามีชื่อว่าศรีรามเทพนคร อยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงเมืองหนึ่งของละโว้

ดังนั้น การฟื้นฟูเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หากตัดวาระซ่อนเร้นลับๆ ล่อๆ ทางการเมืองของพระนารายณ์-ฟอลคอนทิ้งไป ก็เห็นได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเฉียบขาดมากทีเดียว

น่าเสียดายที่ว่าฉากอวสานของพระนารายณ์นั้นต้องจบลงอย่างน่าอนาถและเร็วเกินคาด ด้วยการถูกพระเพทราชาย้อนศรจับพระองค์สำเร็จโทษ ทำให้เกิดการย้ายพระราชวังกลับไปรวมศูนย์ที่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทำการฟื้น "วิลล่าเดเต้" วังนารายณ์ราชนิเวศน์อันรกร้างคืนให้เป็นพระราชวังประทับพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนอีกครั้ง เมืองลพบุรีหวนกลับมาเนื้อหอมในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการแอบเล็งหาชัยภูมิสร้างเมืองหลวงสำรองแห่งใหม่แถบลพบุรี-เพชรบูรณ์ไว้ แต่รัฐบาลยุคหลังไม่มีการสานต่อ

ยกเว้นแต่นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ที่ได้เกริ่นๆ เปรยๆ ไว้นิดหน่อยถึงแผนการย้ายเมืองหลวงออกไปอยู่แถบภาคกลางตอนบน


ยังมิทันได้เปรียบเทียบเหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือว่าเหมือนหรือต่างไปจากอยุธยาอย่างไร เขียนไปเขียนมาพื้นที่หมดพอดี

ตอนหน้าจะได้กล่าวถึง "เวียงกุมกามล่มสลาย พระญามังรายย้ายเมืองหลวง" เป็นการย้อนเหตุการณ์กลับไปไกลกว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงสยาม ว่าเมื่อ 700 กว่าปีที่ผ่านมา ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาต้องตัดสินใจย้ายเมืองหลวงใหม่เหตุเพราะน้ำท่วม การย้ายครั้งนั้นเป็นย้ายทั้ังเวียง วัง และผู้คน ทั้งๆ ที่พระญามังรายหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะยึดเวียงกุมกามเป็นมหานครเรือนตายแหล่งสุดท้ายในชีวิต

พระญามังรายมีเบื้องลึกเบื้องหลังอันใดในด้านการเมืองที่เป็นวาระซ่อนเร้นเช่นสมเด็จพระนารายณ์ด้วยหรือไม่ ทำไมกษัตริย์ก่อนถึงกาลกิริยาอวสานถึงต้องย้ายเวียงวัง

โปรดติดตามสัปดาห์หน้า



++

นารายณ์ย้ายวัง มังรายย้ายเวียง (จบ)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 76


ฉบับก่อนได้เล่าถึงการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงย้ายพระราชวังหรือศูนย์บัญชาการจากพระนครศรีอยุธยามาอยู่ที่ลพบุรี กำหนดให้กรุงศรีอยุธยายังคงเป็นราชธานีหลัก ส่วนลพบุรีมีฐานะเป็นแค่ราชธานีสำรองเท่านั้น

ฉบับนี้หันมามองการสร้างเมืองใหม่ของพระญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาบ้าง ว่าตั้งใจที่จะย้ายแค่ "วัง"

หรือทิ้งทั้ง "เวียง"


เมืองเบี้ยบ้ายรายทาง
จากเชียงรายถึงลำพูน

เมืองเป้าหมายหลักที่พระญามังรายต้องการพิชิตขณะที่ทรงครองเมืองเชียงราย จริงๆ แล้วมีอยู่เพียงแห่งเดียวก็คือเมืองลำพูน

ในอดีตเชียงรายมีชื่อว่า "หิรัญนครเงินยาง" เป็นเมืองของชาวลัวะที่ต่อมาได้ผสมกลมกลืนกลายเป็นชาวไทโยน (โยนก) ส่วนลำพูนนั้นมีชื่อว่า "หริภุญไชย" เป็นเมืองเก่าแก่ของชาวมอญที่แผ่ขยายตัวขึ้นมาจากอาณาจักรละโว้

อยู่เชียงรายดีๆ ทำไมถึงอยากย้ายมาลำพูน เรื่องนี้มีมูลเหตุสองข้อ

ข้อแรก พระญามังรายทรงได้ยินกิตติศัพท์ความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งของหริภุญไชยผ่านคำร่ำลือจากพ่อค้าวัวต่าง ว่าชาวหริภุญไชยมีฐานะความเป็นอยู่ขั้นดียิ่ง ผู้คนใส่เงินใส่คำ อีกทั้งยังมีวัดวาอารามมากกว่า 2,000 แห่ง

เหตุผลข้อนี้น่าจะช่วยจุดประกายฝันหวานให้พระญามังรายมีความคิดบรรเจิดปรารถนาลำพูนมาครอบครอง

ข้อสอง กอปรกับภัยสงครามที่ชาวมองโกลค่อยๆ แผ่แสนยานุภาพลงมา ด้วยความเกรียงไกรเก่งกาจของกุบไลข่านที่สามารถโจมตีอาณาจักรอันยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งจีน พุกาม จามปา และนครธม ยิ่งบีบคั้นให้พระญามังรายอกสั่นขวัญแขวน วางแผนเคลื่อนย้ายศูนย์อำนาจของชาวไทโยนหรือโยนกลงสู่ดินแดนตอนล่างอย่างรีบเร่ง

ในระหว่างที่พระญามังรายได้ใช้อุบายมอบหมายให้ "อ้ายฟ้า" จารบุรุษปลอมตัวเข้าไปเป็นหนอนบ่อนไส้ทำลายความมั่นคงจนชาวเมืองหริภุญไชยแตกสามัคคีในสมัยพระญาญีบา (ยี่บา) ที่หลงเชื่อไว้วางใจให้อ้ายฟ้าบริหารดูแลบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ ดุจเดียวกับอุทาหรณ์เรื่อง วัสสการพราหมณ์ นั้น

พระญามังรายได้ใช้เวลา 7 ปี ในการสร้างบ้านแปงเมืองตามเบี้ยบ้ายรายทางจากเชียงรายไปยังลำพูนเป็นว่าเล่น ต้องคิดแบบเผื่อเหนียวไว้ก่อน สมมติว่ากลอุบายของอ้ายฟ้าเป็นหมัน แล้วเกิดต้องหน้าแตกถอยทัพร่นหนีจากลำพูน คงมิอาจกลับถึงเมืองเชียงรายได้ทันท่วงที การหลบพักเลียแผลที่เมืองพร้าว ไชยปราการ หรือเมืองฝาง สักชั่วระยะหนึ่งแล้วค่อยเดินหน้าบัญชาการรบใหม่ตามเมืองผ่านเป็นระยะๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการหนีกลับเชียงราย

เมืองเหล่านี้แม้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ด้วยมีฐานะเป็นเวียงประทับชั่วคราวเพื่อหยั่งเชิงประเมินกำลังข้าศึกก็ตามที แต่เห็นได้ว่าพระญามังรายอุทิศทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างเมืองเหล่านั้นให้มีความวิจิตรไม่น้อย นับแต่การวางผังเมืองเป็นรูปทรงกลมหรือทรงน้ำเต้า การขุดคูเมืองกว้างและลึกสองถึงสามชั้น การก่อกำแพงดินผสมอิฐอย่างแน่นหนารายรอบเมือง ซึ่งไม่ใช่งานง่ายเลยสำหรับเมืองที่มีผังรูปทรงกลมเหมือนวงเวียน

กระทั่งกองทัพของพระญามังรายได้กรีฑาเข้าเผาทำลายเมืองลำพูนในปี พ.ศ.1824 เมื่อได้ลำพูนสมใจปรารถนาแล้วไฉนจึงไม่ประทับอยู่ที่นั่นจนชั่วนิรันดร์ ในเมื่อลำพูนมีทุกอย่างที่พึงประสงค์ ทั้งพระราชวังอลังการ วัดวาอารามอร่ามเรืองรอง

เหตุใดพระญามังรายกลับหันหลังทิ้งมหานครหริภุญไชยอย่างไม่ไยดี ?



เวียงชะแว่
ราชธานีใต้พิภพที่ถูกลืม

"หริภุญไชยเป็นเมืองพระธาตุเจ้า กูอยู่บ่ได้ " วาระที่ซ่อนไว้เบื้องหลังคำประกาศของพระญามังรายภายหลังจากประทับที่ลำพูนได้เพียงสองปี เฉลยอยู่ในทีแล้วว่าพระญามังรายทรงรู้สึกอึดอัดกับเมืองที่สมบูรณ์แบบเกินไป ไม่มีพื้นที่ว่างให้พระองค์ได้ริเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ จัดการวางแผนขยายเมืองหรือกระทำการใดๆ ในนครที่เต็มไปด้วยพระบรมธาตุเจดีย์เช่นลำพูนนี้บ้างเลย

ชักไม่สนุกเสียแล้ว สำหรับคนที่เกิดมาเป็นนักออกแบบ นักวางแผน ชอบคิดค้นนวัตกรรมแปลกใหม่ด้วยตนเอง เช่น พระญามังราย การยึดลำพูนของพระองค์มิได้หมายจะมานั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 51 แห่งราชวงศ์จามเทวี หากแต่ต้องการเป็น "ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรใหม่ชื่อล้านนา (ลานนา)"

พระองค์จึงประกาศย้ายเมืองหลวงใหม่ ไปสร้างที่เวียงชะแว่ หรือเวียงแจ้เจียงกุ๋ม เมืองนี้ถูกลืมเลือนไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป ทั้งยังไม่ได้รับการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลำพูน ปัจจุบันอยู่ใกล้กับเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ บริเวณที่เรียกว่าสบปิงหลิ่งห้า ณ จุดที่แม่น้ำกวงและปิงไหลมาบรรจบกัน

พระญามังรายประทับอยู่ที่นั่นเพียงช่วงสั้นแค่ 2-3 ปี ชื่อของเวียงชะแว่ ย่อมสื่อถึงภาพของเวียงที่แช่อยู่ในน้ำอย่างชัดแจ้ง ความที่ต้องประสบกับปัญหาอุทกภัย

พระญามังรายจึงได้ย้ายเมืองหลวงใหม่อีกครั้งไปสร้างที่เวียงกุมกาม อดีตเวียงบริวารแห่งหนึ่งที่มีมาแล้วตั้งแต่ยุคหริภุญไชย


เมื่อพระญามังราย
เสด็จประพาสต้นที่เวียงกุมกาม

ณ เวียงกุมกามพระญามังรายได้ปลอมพระองค์เพื่อออกดูทุกข์ - สุขของราษฎรทั้งในเมืองและตามป่าเขาอยู่บ่อยๆ เพียงแต่ว่าในสมัยนั้นเรียกว่า "การพลางพระองค์" เพราะยังไม่มีคำว่า "ประพาสต้น"

"ประพาสต้น" เป็นคำเฉพาะ บัญญัติขึ้นเป็นกรณีพิเศษในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ี 5 นี่เอง หมายถึงการเสด็จอย่างลำลองเป็นการส่วนพระองค์ คำว่า "ต้น" แผลงมาจากคำว่า "ผต็อล" ของภาษาเขมร หมายถึง "การกระทำใดๆ อย่างไม่เป็นทางการ"

หากคำว่า "ต้น" ปรากฏอยู่พ่วงท้ายคำใด คำนั้นก็จะมีความหมายว่าส่วนตัว - ลำลองทั้งสิ้น อาทิ "เรือนต้น" (เรือนพักชั่วคราว) "กฐินต้น" (กฐินส่วนพระองค์) "เครื่องต้น" (เครื่องทรงลำลองหลวมๆ) "ม้าต้น" - "ช้างต้น" (ม้า - ช้างที่ใช้ขี่เล่น ไม่ใช่เพื่อใช้ในการพิธีหรือการศึก)

ที่ีเวียงกุมกามพระญามังรายมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการสร้างราชธานีแห่งใหม่ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชนหลากเชื้อชาติพันธุ์ ด้วยสำนึกที่ว่าพระองค์เป็นชาวต่างด้าวท้าวต่างแดนที่ย้ายจากลุ่มน้ำแม่กกมาอาศัยกับชาวพื้นถิ่นแถบแม่ระมิงค์ จึงมัก "ทรงเยี่ยมพระแกลทอดพระเนตรคนเยียะการ (ทำงาน) ทุกวัน"

ทรงให้ตั้งตลาดที่กลางเวียงเรียกว่า "กาดกุมกาม" เพื่อใช้เป็นที่ชุมชนไปมาค้าขายติดต่อกันอย่างคึกคัก โดยที่พระองค์มักพลางตัวออกไปตรวจตลาดอยู่เสมอๆ ด้วยการ

"ทรงนุ่งผ้าผืนค่าควรค่าร้อยคำไว้ภายใน นุ่งผ้าไทปกภายนอกเข้ากาดกุมกามไปประทับนั่งอยู่ริมน้ำปิง บ่ายพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก แล้วทอดพระเนตรผู้คนเข้ากาด แลเห็นคนอาบน้ำ หากใครอาบน้ำแล้วลูบผมลงลุ่ม (ปรกหน้า) แสดงว่าผู้นั้นมีทุกข์ยากหาสมบัติมิได้ จักให้ผ้าผืนควรค่าร้อยคำแก่มัน แต่แล้วหาผู้ใดลูบผมลงลุ่มมิได้สักคน..."

ข้อความตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าแทบไม่มีคนทุกข์คนยากเลยในสมัยพระญามังราย ยังผลให้ "ผ้าผืนควรค่าร้อยคำ" (ผ้านุ่งดิ้นทอง) ผืนนั้นยังคงเคียงติดแนบกายอยู่กับพระญามังรายเรื่อยมา

หรือว่าแท้จริงแล้ว พระญามังรายนั่นแหละคือผู้ที่แบกความทุกข์ของแผ่นดินล้านนาไว้มากที่สุด คำตอบนี้จักเชื่อถือได้ก็ต่อเมื่อมีการพบหลักฐานว่า ขณะที่พระญามังรายสรงน้ำนั้นเส้นพระเกศาได้ลู่ลงลุ่มปรกหน้าปรกตาบ้างหรือเปล่า?

กระทั่งเวียงกุมกามประสบกับอุทกภัยซ้ำรอยเวียงแจ้เจียงกุ๋มอีกจนได้ อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนทางเดินของสายน้ำแม่ปิงหลายระลอก พระญามังรายตัดสินพระทัยย้ายราชธานีอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรก แบกความโศกาดูรมาตั้งบ้านแปงเมือง ณ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่อย่างแน่นหัวอก



เชียงใหม่ VS อยุธยา
จุดอ่อน-จุดแข็ง ที่ต้องย้อนมองกรุงเทพฯ

จากโครงการพระราชดำริที่พระญามังรายลองถูกลองผิดคว้าน้ำเหลวมาหลายหน คราวนี้จึงเลือกพื้นที่ดอนริมเขา มีชัยภูมิที่ผ่านการเลือกสรรแล้วเป็นอย่างดี คือตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างภูเขากับแม่น้ำ

ทิศตะวันตกคือปราการแน่นหนาของดอยสุเทพ

ส่วนทิศตะวันออกคือแม่น้ำปิงสายใหญ่และที่ราบลุ่มล้อมรอบด้วยขุนเขาเป็นปราการ ปรับเปลี่ยนผังเมืองให้มีรูปโฉมใหม่ร่วมสมัยกับเพื่อนบ้าน

ยกเลิกผังทรงกลมหรือผังรูปยาวๆ รีๆ ขนานแม่น้ำตามมีตามเกิด หากแต่เป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่แสดงถึง "อำนาจสิทธิธรรม" ตามอย่างคติสมมติเทวราชาของสุโขทัยที่รับสืบทอดมาจากขอมเมืองอังกอร์อีกต่อหนึ่ง

ตอนแรกพระญามังรายมีความตั้งใจจะสร้างเชียงใหม่ให้ใหญ่โตกว่าสุโขทัยสักสามเท่า แต่ได้ถูกพ่อขุนรามคำแหงทัดทานไว้ก่อนเพื่อมิให้ข้ามหน้าข้ามตา ด้วยข้ออ้างที่ว่า "อย่าเลยสหาย เมืองที่ใหญ่เกินไปนั้น เกรงว่าลูกหลานภายหน้าจะรักษาไว้มิได้" เมืองเก่าเชียงใหม่จึงมีขนาดกะทัดรัดพอประมาณเพียงเท่าที่เราเห็น


เมื่อเทียบกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว เห็นว่าพระญามังรายมหาราชแห่งล้านนาน่าจะเหน็ดเหนื่อยกว่าหลายเท่าตัว เรียกได้ว่าตลอดรัชกาลของพระองค์นั้นต้องอยู่ในสภาพ ทั่งยังไม่หายร้อน ค้อนยังไม่ทันเย็น ก็ต้องลากท่อนไม้ลงตอกเสาเข็มแท่งใหม่อีกแล้ว

เชียงใหม่สร้างเมื่อปี พ.ศ.1839 ส่วนกรุงศรีอยุธยาสร้างปี พ.ศ.1893 น่าสนใจยิ่งที่ศักราชการสร้างเมืองสองแห่งนี้ มีเลขท้ายสองตัวสลับที่กัน เมืองแรกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความพยายามที่จะโบกมืออำลาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างถาวร

ส่วนเมืองหลังจงใจสร้างขึ้นท่ามกลางเกาะที่มีแม่น้ำสามสายโอบล้อมคือเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี เจตนาใช้ธรรมชาติเป็นปราการในการปกป้องภัยจากข้าศึก

ข้อดีของพระนครศรีอยุธยานอกจากจะเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำหรือขุมเสบียงหล่อเลี้ยงพลเมืองได้ชั่วนาตาปีแล้ว ยังมีจุดเด่นในฐานะเมืองท่าชายฝั่งทะเล เหมือนประตูสู่โลกภายนอก ส่งเสริมให้อยุธยาสามารถแลกซื้อปืนใหญ่เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่จากตะวันตกหรือจีนได้ก่อนเมืองในหุบเขา เมื่อชั่งน้ำหนักถึงข้อดี - ข้อเสียแล้ว

เข้าใจว่าชาวอยุธยาเลือกที่จะเผชิญหน้ากับสภาพน้ำท่วมถึงปีละ 6 เดือน ตลอดระยะเวลา 417 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คงมีแต่เพียงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์องค์เดียวเท่านั้นที่พยายามคิดนอกกรอบหาทำเลสร้างเมืองใหม่ แม้จะไม่สำเร็จ

หันมามองกรุงเทพทวารวดีศรีโกสินทร์นี้ดูบ้าง เมื่อตัดสินใจย่ำเดินตามรอยเท้าของอยุธยา ตามความเชื่อว่าเป็นราชวงศ์ที่สืบสายมาจากการอวตารของพระนารายณ์ดุจเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือกรุงเทพฯ ย่อมประสบกับจุดแข็งเรื่องการเป็นศูนย์กลางเมืองท่า และทั้งจุดอ่อนเรื่องเมืองน้ำท่วม อันเป็นมรดกตกทอดมาจากสมมติเทพทวารวดีศรีอยุธยาทุกกระเบียดนิ้ว


จะเอาอย่างไรกันล่ะประเทศไทย หากยังยืนกรานยึดกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรไว้เป็นราชธานี ด้วยเชื่อว่าเป็นเมืองที่สร้างโดยเทวดา หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะไม่ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ดอน เราก็คงเหลือทางเลือกเพียงแค่สองทาง

ทางแรก สร้างเขื่อนล้อมมหานครเหมือนเมืองอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองที่มีระดับต่ำกว่าน้ำทะเล

หรืออีกทางคือหันมาใช้ชีวิตแบบเรือนแพเช่นสมัยอยุธยากันเสียเลย มีภัยธรรมชาติ หรือน้ำท่วมขึ้นมาคราใด ก็อพยพโยกย้ายกันตามอัชฌาสัย ไพร่จะย้ายบ้าน สลิ่มจะอพยพท่องเที่ยว หรือเจ้าจะย้ายวังก็ทำกันได้โดยอัธยาศัยเลียนแบบคนโบราณก็แล้วกัน



++++


พระอัฏฐารส มีแบบประทับนั่งด้วยหรือ?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1616 หน้า 76


โดยทั่วไปเมื่อเอ่ยถึง "พระอัฏฐารส" เรารับรู้กันว่าหมายถึงพระพุทธรูปประทับยืนสูง 18 ศอก ดังที่แพร่หลายในแถบเมืองเก่าสุโขทัยและพิษณุโลก

แต่แล้ว ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน กลับมีการพบพระอัฏฐารสประทับนั่ง สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้สักการะยิ่งนัก

หรือว่าแท้จริงแล้ว พระอัฏฐารสก็มีแบบนั่งได้ด้วย หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานนี้ เห็นทีนักวิชาการต้องเจองานเข้าชิ้นใหญ่ และรื้อทฤษฎีเดิมๆ ทิ้งไม่ทันแน่นอน

ปริศนานี้จุดประเด็นให้ดิฉันเกิดความสงสัย จนต้องต่อยอดไปยังคำถามอื่นๆ

อาทิ พระอัฏฐารสองค์เก่าที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ไหน มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำขึ้นในคติความเชื่อใด และทำไมต้องยืนตระหง่านด้วยความสูงถึง 18 ศอก?



อัฏฐารศ-อัฏฐารส พุทธธรรม 18 สู่องค์พระปฏิมา

คําว่า "พระอัฏฐารส" ตกลงสะกดอย่างไรกันแน่ ทำไมในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัยใช้ "อัฏฐารศ " แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้ "อัฏฐารส"

"อัฏฐารศ" ในจารึกสุโขทัยใช้ตัว "ศ" แบบสันสกฤต ถือเป็นสันสกฤตแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เต็มรูปแบบ ถ้าจะให้ถูกตามหลักสันสกฤตแท้ ก็ต้องเป็น "อัษฎารศ"

หากให้นักวิชาการหัวก้าวหน้ากลุ่มที่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 อธิบายประเด็นนี้ ก็คงต้องบอกว่า "ยังปลอมไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่"

ครั้นเมื่อมาฟังคำอธิบายของนักจารึกวิทยานักภาษาศาสตร์ กลับยืนยันว่าเนื่องจากสมัยสุโขทัยนั้น อิทธิพลของศาสนาพุทธแบบมหายานที่นิยมใช้ภาษาสันสกฤตยังคงตกค้างอยู่ ครั้นเมื่อมีการรับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา ศัพท์หลายคำจึงมีการใช้บาลีปะปนกับสันสกฤต ไม่ใช่แค่เพียง "อัฏฐารศ" เท่านั้น

แม้แต่คำว่า "พระไตรปิฎก" ก็เป็นสันสกฤตผสมบาลี หากให้เป็นบาลีแท้ก็ต้อง "ติปิฎก"

ด้วยเหตุนี้ ในยุคปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาเขียนเป็น "อัฏฐารส" ให้ถูกต้องตามแบบบาลีแท้ๆ

แล้วความหมายเล่า อัฏฐารส หมายถึงอะไร

อัฏฐ = แปด, รศ หรือ รส มีความหมายเดียวกันกับ ทศ = สิบ ฉะนั้น พิจารณาจากรากศัพท์ อัฏฐารส ควรหมายถึง "สิบแปด" เฉยๆ มิได้หมายถึง "สิบแปดศอก"

แต่การที่พระอัฏฐารสถูกตีความหมายว่า เป็นพระพุทธรูปสูง 18 ศอก ก็เพราะถือตามความที่ปรากฏอยู่ใน "คัมภีร์พุทธวงศ์" และ "โสตัตถกีมหานิทาน" ที่กล่าวถึงขนาดพระวรกายของพระพุทธเจ้าว่ามีความสูงถึง 18 ศอก

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอุบายธรรมในพระบาลีข้อหนึ่งชื่อว่า "อัฏฐารสนิเทศก์ 18" อันหมายถึงพุทธธรรม 18 ประการของพระตถาคต

1. ไม่มีกายทุจริต 2. ไม่มีวจีทุจริต 3. ไม่มีมโนทุจริต 4. พุทธญาณไม่มีอะไรติดขัดในอดีต 5. พุทธญาณไม่มีอะไรติดขัดในอนาคต 6. พุทธญาณไม่มีอะไรติดขัดในปัจจุบัน 7. กายกรรมทั้งปวงคล้อยตามพระญาณ 8. วจีกรรมทั้งปวงคล้อยตามพระญาณ 9. มโนกรรมทั้งปวงคล้อยตามพระญาณ 10. ไม่มีความเสื่อมฉันทะ 11. ไม่มีความเสื่อมวิริยะ 12. ไม่มีความเสื่อมสติ 13. ไม่มีการเล่น 14. ไม่มีการวิ่ง 15. ไม่มีความพลาดพลั้ง 16. ไม่มีความผลุนผลัน 17. ไม่มีพระทัยย่อท้อ 18. ไม่มีอกุศลจิต

ฉะนี้แล้ว เมื่อเราก้มกราบพระอัฏฐารส คนในอดีตคงมิได้ตั้งใจให้เราทึ่งกับรูปร่างสูงสง่าใหญ่โตถึง 18 ศอกของพระพุทธเจ้าแต่ประการใด

หากมันคือกุศโลบายให้รำลึกถึง "อัฏฐารสนิเทศก์ 18" หรือ "พุทธธรรม 18" ประการนั่นเอง


ลีลา อัฏฐารส อัจนะ สีหไสยาสน์
: พระสี่อิริยาบถเพื่อความสมดุล

ทําไมสมัยสุโขทัยจึงนิยมสร้างพระอัฏฐารส?

หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า พระอัฏฐารสของสุโขทัยนั้น เป็นหนึ่งในสี่ของพระสี่อิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน อันเป็นความนิยมในงานพุทธศิลป์ลังกาแล้วแพร่เข้ามายังสุโขทัย

สี่อิริยาบถเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากพุทธประวัติตอนที่พระตถาคตทรงชี้ช่องทางสว่างให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เอาแต่นั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาอย่างอุกฤษฏิ์นานเกินกว่าหนึ่งวันโดยไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถใดๆ จนกว่าจะบรรลุธรรมตามรอยพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์จึงทรงตรัสแก่ภิกษุรูปนั้นว่า "การทรมานตนเองด้วยการอยู่ในอิริยาบถเดียวนานเกินไปนั้น หากไม่มีบารมีแก่กล้าที่สั่งสมมาในอดีต ไม่อาจทำให้บรรลุธรรมได้ มนุษย์เราควรรักษาสมดุลของร่างกายด้วยอิริยาบถสี่ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน"

คติความเชื่อเรื่องการรักษาสมดุลของร่างกายให้ครบสี่อิริยาบถนี้ ถูกแปรค่ามาเป็นพระพุทธปฏิมาสี่อิริยาบถ คือพระพุทธรูปลีลา (เดิน) พระอัฏฐารส (ยืน) พระอัจนะ (นั่ง) พระสีหไสยาสน์ (นอน)

ฉะนั้น การทำพระอัฏฐารส นอกจากจะสะท้อนถึงพระพุทธธรรม 18 ประการแล้ว ในอีกมุมยังหมายถึงหนึ่งในสี่อิริยาบถที่ช่วยรักษาสมดุลให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมอีกด้วย



พระอัฏฐารสพบที่ไหน ทำปางอะไร สูง 18 ศอกจริงหรือ

พระอัฏฐารสที่พบในเมืองไทยมีไม่มากนัก องค์ที่รู้จักกันอย่างดีคือ "พระอัฏฐารศ" สององค์ที่สุโขทัย องค์แรกอยู่ที่วัดมหาธาตุ และอีกองค์อยู่วัดตะพานหิน ทั้งสององค์นี้มีข้อความยืนยันในศิลาจารึกสุโขทัยว่า

"กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่" ความตอนนี้กล่าวถึงวัดมหาธาตุ

ส่วนวัดตะพานหิน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกเมืองเก่าสุโขทัยเป็นเขตวัดป่าอรัญญิก มีพระอัฏฐารสประดิษฐานบนเนินเขาขนาดย่อม

"เบื้องวันตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิก...ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราช มีพิหารอันหนึ่งมนใหญ่สูงงาม...มีพระอัฏฐารศอันหนึ่งลุกยืน"

นอกจากนี้แล้ว ยังพบพระอัฏฐารสอีกสององค์สมัยสุโขทัยตอนปลายที่เมืองพิษณุโลก องค์หนึ่งจากวัดวิหารทอง ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารวัดสระเกศ กรุงเทพฯ และต่อมารัชกาลที่ 4 ได้ทรงเฉลิมนามพระอัฏฐารสใหม่ว่า "พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร"

เป็นพระพุทธปฏิมาเมืองเหนืออีกองค์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ ร่วมสมัยและร่วมชะตากรรมเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระศรีศากยมุนี และพระศรีศาสดา ฯลฯ

ส่วนอีกองค์อยู่ที่เนินวิหารเก้าห้อง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก ด้านหลังวิหารพระพุทธชินราช


สมัยอยุธยานั้นไม่ปรากฏการเรียกชื่อพระอัฏฐารสอีกต่อไป แม้จะยังคงมีการทำพระพุทธรูปประทับยืนขนาดสูงใหญ่อยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม เนื่องจากคติความเชื่อในลัทธิสมมติเทวราชาของขอมเข้ามามีอิทธิพลอย่างรุนแรงในราชสำนักอยุธยาแทนที่ลัทธิลังกาวงศ์

ในวัฒนธรรมล้านนา ที่เชียงใหม่พบพระอัฏฐารสหุ้มทองในวิหารที่วัดเจดีย์หลวง หลายท่านสันนิษฐานว่าคงรับคติมาจากสุโขทัย เหตุเพราะไม่เคยเห็นตัวอย่างพระอัฏฐารสในเขตล้านนาเลย แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นการรับอิทธิพลมาจากเมืองลำพูน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

มีข้อน่าสังเกตว่าพระอัฏฐารสเกือบทุกองค์ล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยทั้งสิ้น โดยมากยกพระหัตถ์ข้างขวาขึ้นระดับพระอุระ แต่อาจมีบ้างที่ยกพระหัตถ์ซ้าย ไม่ว่าจะยกพระหัตถ์ใดก็ตามศัพท์ทางวิชาการยังคงเรียกปางประทานอภัย ในขณะที่ชาวบ้านกลับเรียกว่าปางห้ามญาติ

สำหรับความสูงนั้น คงไม่ต้องลงทุนปีนขึ้นไปวัดว่าต้องมีขนาด 18 ศอกเป๊ะทุกองค์หรือไม่ให้เหนื่อยเปล่าๆ ย่อมบ้างใหญ่บ้าง สุดแท้แต่การกำหนดสัดส่วนเชิงสุนทรียศาสตร์ และความสามารถในการคำนวณน้ำหนักวัสดุของช่างในแต่ละสกุล



ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พระครูเทพญาณเวที ผู้ดูแลคณะอัฏฐารส ซึ่งท่านยังเป็นอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 อีกด้วย ก่อนวาระที่ท่านจะมรณภาพเล็กน้อย

ท่านได้ไขปริศนาให้กระจ่างแจ้งว่า แต่เดิมนั้นพระประธานภายในวิหารพระอัฏฐารสเป็นพระพุทธรูปประทับยืนสูง 18 ศอกปิดหุ้มด้วยทองคำเปลวเปล่งปลั่ง กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ใช้ลำพูนเป็นเส้นทางเดินทัพไปยังเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนเพื่อเข้าสู่พม่า

ช่วงนั้นผู้คนอดอยากปากแห้งทั้งชาวไทยและญี่ปุ่น ทางวัดเกรงว่าจะมีคนมาลักลอบขโมยทองจากพระอัฏฐารส จึงได้เอาปูนหุ้มพอกทับองค์เดิมไว้ข้างใน แล้วเปลี่ยนรูปแบบใหม่กลายเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง เนื่องจากสภาวการณ์อันรีบเร่งในขณะนั้นย่อมทำพระนั่งง่ายกว่าพระยืน และเพื่ออำพรางมิให้มิจฉาชีพรู้ว่านี่คือพระอัฏฐารส

อ้าว! สงสัยกันเกือบตาย กลายเป็นเรื่องอุบัติเหตุซะงั้น อย่างนี้ทฤษฎี "พระอัฏฐารสลุกยืนนั่งได้" ก็ต้องเป็นหมันไปโดยปริยาย



.