http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-19

ความเห็นสาวตรี : "แพะรับบาป", ประวิตร : ม.112 กับการเซ็นเซอร์ฯ

.

"แพะรับบาป"สนทนาว่าด้วยเรื่องแพะ แบร่ๆ เมื่อ"จำนวนแพะ"สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:03 น.


"scapegoat" เป็นภาษาอังกฤษของคำว่า "แพะรับบาป" (และออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า "สเค๊ะ-โปะ-โก๊ะ-โตะ")

เรารู้กันดีว่า "แพะ" เป็นสัตว์ที่ถูกสังเวยเพื่อนำไปบูชายัญ

และเราได้รู้จักแพะดีขึ้นไปอีก หลังจากเมื่อดึกดื่นคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ ได้มานั่งเล่าถึงแนวคิดเรื่องแพะ และ "ปัญหากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาแพะ" ในงาน "เทศกาลหนังแพะ" (Scapegoat Film Festival 2011) ซึ่งจัดโดย Cafe Mes Amis และสำนักพิมพ์หมูหลุม ภายใต้แสงไฟสลัวในคาเฟ่เล็กๆที่ชื่อ Cafe Mes Amis

เอาละ... ได้เวลามาฟังเรื่อง "แพะๆ" กันแล้ว


แนวคิดเรื่องแพะ

"แพะ มีในสังคมตะวันออกมานานแล้ว ส่วนตัวแล้วคิดว่าแพะเกิดขึ้นมาเพื่อ ' ความสบายใจของสังคม ' "


สาวตรีเริ่มเล่าถึงบทบาทของ "แพะ" ในความเห็นของเธอ

"คือในสังคมชนเผ่า เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ต้องหาอะไรสักอย่างมารองรับ อย่างเวลาที่เกิดอาชญากรรมขึ้น เกิดการกระทำความผิดขึ้นในสังคม คนในสังคมก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกถึงความไร้เสถียรภาพ ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังเอาใครสักคนหนึ่งขึ้นมาชี้หน้าแล้วบอกว่า 'คนนี้เป็นคนผิด' ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แพะจึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ"

"จะสังเกตได้ว่าแพะที่เกิดขึ้นเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง มันไม่มีทางที่แพะจะเป็นคนชนชั้นสูงไปได้ แพะต้องเป็นคนที่ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีศักยภาพในการหาอะไรมาสู้ เพราะฉะนั้นมันก็สะท้อนอะไรหลายเรื่อง ว่าสังคมต้องการความปลอดภัย ความสบายใจ ในขณะเดียวกัน คนที่จะมารองรับความสบายใจนั้นได้ก็คือ คนชนชั้นล่างที่จะต้องถูกลงโทษ"


การเยียวยาแพะ

สาวตรี: แพะในประเทศไทยมีมานาน แต่หลักคิดเรื่อง "การเยียวยาแพะ" เพิ่งมามีเมื่อ ปี 2540 (ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ) เพราะเกิดคดีเชอร์รี่แอน "คดีแพะ" นี้มีผลสะเทือนจนต้องทำให้มีการแก้ไขกฏหมาย เพราะคดีนี้มันชัดเจนมาก ว่าคนที่ถูกจับนั้นเป็น 'แพะ' และสุดท้ายก็ต้องตายในคุก ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในกระบวนการยุติธรรม จากการที่เอาคนที่ไม่ได้ทำผิดมาลงโทษ แล้วการลงโทษนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างมาก คือทำให้ถึงขั้นตายได้

คดีเชอร์รี่แอนมีผลทำให้เกิดการเยียวยาสิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีโดยมิชอบด้วยกฏหมาย และสอง ทำให้เกิดการอนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

การอนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ว่า คดีอาญาบางคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว ศาลฎีกาตัดสินสิ้นสุดไปแล้วว่าคุณเป็นคนผิด และต่อมามีพยานหลักฐานอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงๆแล้วคุณไม่ใช่คนผิด ที่ศาลฎีกาตัดสินไปนั้นไม่ถูกต้อง ก็สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งก่อนหน้าปี 2540 มันไม่มี



สาวตรี: คอนเซ็ปต์เรื่องการเยียวยาคนที่ถูกตัดสินโดยไม่ได้กระทำความผิดนั้นเป็นที่ถกเถียงกันเยอะทั่วโลกว่า รัฐจะต้องเอาเงินงบประมาณของคนทุกคนในประเทศเพื่อไปจ่ายให้คนเหล่านี้ด้วยเหรอ แม้ว่าเขาจะไม่ผิดจริงก็ตาม

เถียงกันอยู่นานมาก จนสุดท้ายเกิดทฤษฎีหนึ่งขึ้นมาว่า การที่รัฐจับใครสักคนมาแล้วบอกว่าคนนั้นเป็นคนกระทำความผิด เพื่อทำให้สังคมอยู่รอดปลอดภัย เพื่อให้สังคมสบายใจ แต่ว่าเมื่อสังคมนั้นได้รับประโยชน์จากการจับกุมแล้ว สังคมก็ต้องรับความเสี่ยงอะไรบางอย่างด้วย เช่นถ้าจับคนผิด คุณก็ต้องรับผิดชอบ มันเหมือนทฤษฎีการรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม เพราะการไปจับใครสักคนมามันเป็นไปเพื่อความสบายใจของคุณ เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ถ้าเกิดคนๆนั้นไม่ใช่ผู้กระทำความผิด คือไม่ใช่ผู้ที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะเสีย

คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้น เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเอาเงินของรัฐไปจ่ายให้เขา นี่เหมือนเป็นการประกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

และในที่สุด ทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยอมรับ

สาวตรี: แต่ทั้งนี้ การเยียวยาจากรัฐก็มีเงื่อนไข

สำหรับประเทศไทย เงื่อนไขข้อหนึ่งของการชดเชยความเสียหายให้แพะนั้นมีอยู่ว่า "ต้องปรากฎว่าหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แล้วมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฎว่า คำพิพากษาถึงที่สุดของคดีนั้นฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด


ซึ่งคำพิพากษาส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่า จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด เพราะศาลจะไม่กล้าฟันธงว่าคุณไม่ผิด คือจำเลยคนไหนที่ได้รับการยกฟ้องแต่ศาลไม่ได้ฟันธงว่าคุณไม่ใช่ผู้กระทำผิด มันจะไม่เข้าเงื่อนไขได้รับค่าชดเชยดังกล่าว นี่คือปัญหาของประเทศไทย

สาเหตุหนึ่งที่กฎหมายเขียนล็อกไว้แบบนี้ ที่ว่าถ้าเกิดไม่ชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดก็จะไม่จ่าย ก็เพราะว่า ประเทศไทยมันมีแพะเยอะ

ทั้งนี้จากระบบกลั่นกรองคดี กฏหมายเลยจำเป็นต้องเขียนล็อกเอาไว้หลายชั้น


แต่อย่างในเยอรมันนั้นให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายโดยไม่สนใจว่ายกฟ้องนั้นยกฟ้องด้วยสาเหตุอะไร เขาจ่ายหมด ก็เพราะว่าคนเป็นแพะของเขาไม่มาก ปีๆหนึ่งเขาเสียค่าชดเชยไม่มาก

" จำนวนของแพะจึงสะท้อนให้เห็นกระบวนการกลั่นกรองคดีก่อนขึ้นสู่ศาล "

อ้าว ไปๆมาๆ เรื่องแพะๆนี่มักชักจะไม่ธรรมดาซะแล้วสิ!



++

ม.112 กับการเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์ @PravitR <Twitter>
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38391 . . Mon, 2011-12-19 16:07


หนึ่งในปัญหาสำคัญสืบเนื่องจากการมีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คือการเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยสื่อกระแสหลักและสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักเองไม่กล้าออกมายอมรับ หรือทักท้วงใดๆ ดูเหมือนสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับการเซ็นเซอร์ตนเอง และการไม่ยอมรับว่า มีการปิดหูปิดตา ยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวขนานใหญ่ เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ข่าวและบทความวิเคราะห์เชิงเท่าทันจำนวนมาก ที่เขียนโดยสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ เช่น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ หรือหนังสือพิมพ์อย่างเช่น เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะการ์เดียน เดอะบอสตันโกลบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการแปลและนำเสนอต่อประชาชนคนไทยเลย แม้แต่นิดเดียว ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักกลับผลิตและป้อนข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันเกือบทั้งหมด ด้วยปริมาณและความถี่ที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มขึ้นของความรู้สึกไม่มั่นคงต่ออนาคตของสถาบันฯ

นักข่าว นักวิชาการ และนักคิดที่เห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันฯ มักไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น งานเขียนของนักประวัติศาสตร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งสื่อกระแสหลักไม่สนใจที่จะลงตีพิมพ์ ถึงแม้บทความทั้งหมด น่าจะไม่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่สื่อก็ไม่กล้าที่จะลงข้อเขียนเหล่านั้น ล่าสุด อ.สมศักดิ์ได้เรียกร้องให้ตนเองมีโอกาสได้รับเชิญไปออกรายการ “ตอบโจทย์” ของนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ทางช่องไทยพีบีเอสบ้าง เพื่อถกเรื่องมาตรา 112 ในแง่นี้คนอย่าง อ.สมศักดิ์ ถูกทำเสมือนไม่มีตัวตนและไร้บทบาทในฐานะปัญญาชนสาธารณะ


การเซ็นเซอร์ด้านอื่นๆ รวมถึงการที่นิตยสารอย่างดิ อิโคโนมิสท์ มีอาการ “ผลุบๆ โผล่ๆ” หาซื้อไม่ได้ในราชอาณาจักรไทย ทุกครั้งที่มีข่าวเชิงเท่าทัน วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไทย อีกด้านได้แก่ แรงกดดันอย่างเงียบๆ ไม่ให้มีการจัดเวทีวิชาการถกเรื่อง มาตรา 112 อย่างเช่น ล่าสุด มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแห่งหนึ่ง ได้รับแรงกดดันจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ให้จัดเวทีวิชาการนานาชาติเรื่อง เสรีภาพในการแสดงออก เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

หากปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นการปิดหูปิดตาไม่เพียงพอ มาตรา 112 ก็มีมาตรการทำโทษอย่างชัดเจนต่อผู้ที่พยายามเสนอข้อมูลต่าง ที่อาจไม่ใช่การแสดงอาการดูหมิ่น อาฆาต มาดร้าย อย่างเช่น กรณีการตัดสินจำคุก นายโจ กอร์ดอน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เพียงเพราะนายโจ แปลหนังสือ เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ (The King Never Smiles) และเผยแพร่ลิงก์สู่เนื้อหาคำแปลนั้น

ผู้เขียนได้รับการสอบถามจากผู้จงรักภักดีคนหนึ่งทางทวิตเตอร์ว่า เขาจะหาอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉบับแปล ได้ที่ไหน และอย่างไร และผู้เขียนก็ตอบไปว่า คงบอกอะไรไม่ได้ เพราะการแจ้งข้อมูลอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ มาตรา 112 พร้อมทั้งสำทับไปว่า นี่แหละคือปัญหาของมาตรา 112 กับการเซ็นเซอร์การรับรู้ของสังคม ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อีกตัวอย่างของการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมเซ็นเซอร์ตนเองได้แก่ การจับกุมคนเสื้อแดงคนหนึ่งที่เร่ขายวีซีดีสารคดีสถาบันกษัตริย์และการสืบราชสมบัติของราชวงศ์ไทย จัดทำโดย สำนักข่าว Australian Broadcasting Corporation ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ออกอากาศอย่างเป็นปกติธรรมดา ทั่วประเทศออสเตรเลียในปี 2553



สื่อกระแสหลักมีแรงกดดันอีกด้าน ที่ทำให้ไม่เสนอข่าวที่เท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์ อันได้แก่ แรงกดดันทางการเมืองและกลไกตลาด หากเครือหนังสือพิมพ์และทีวีใหญ่ เสนอข่าวเชิงเท่าทัน ถึงแม้จะไม่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็อาจถูกพวกคลั่งเจ้ามองว่ามีเจตนาล้มเจ้า ขู่ บอยคอต และอาจกระทบถึงราคาหุ้น และธุรกิจของสื่อนั้นอย่างรุนแรงได้ การขู่เช่นนี้เกิดขึ้นล่าสุดโดย นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ออกมาเขียนในเฟซบุ๊กของตัวเอง "ผมขอเรียกร้องให้พวกเราแบนสินค้าแกรมมี่ทุกชนิด เพราะสนับสนุนคนอย่างภิญโญ ที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 "

ส่วนสื่อนอกกระแสที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันเชิงเท่าทันอย่างเว็บข่าวประชาไท หรือนิตยสารฟ้าเดียวกันนั้น ทั้งสององค์กรแทบจะเรียกได้ว่า อยู่นอกระบบการตลาดปกติ เป็นองค์กรชายขอบ ไม่สามารถพึ่งพาโฆษณาจากบริษัทเอกชนทั่วไปได้ และต้องพึ่งรายได้จากการอุดหนุนของสาธารณะและมูลนิธิทั้งในและต่างประเทศในกรณีของประชาไท

การเซ็นเซอร์ยังมิได้ยุติแค่นั้น บุคคลสาธารณะคนใดก็ตาม ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ก็มักจะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกล้มเจ้า หรือเป็นพวกรับเงิน อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ในบางกรณีอาจถูกแจ้งความด้วยซ้ำไป เช่น กรณีล่าสุด ที่มีการฟ้องร้องผู้ใช้นามปากกาว่า นักปรัชญาชายขอบ ซึ่งเขียนข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ลงในพื้นที่แสดงความเห็นท้ายบทความของ อ.สมศักดิ์ ในเว็บประชาไท

การปิดหูปิดตาทั้งหมดนี้ นำไปสู่คำถามที่ว่า เวลาสังคมมีปัญหา เราจะพูดกันได้อย่างไร แล้วหากคิดพูดอย่างเท่าทันในที่สาธารณะ และวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ วุฒิภาวะสังคมจะเหลืออะไร ในเมื่อสังคมต้องอยู่กับข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา และยังไม่รวมถึงการทวงถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ ภายใต้สังคมที่มักหลอกตนเองว่า เป็นประชาธิปไตย


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ปล. จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ทวีพร คุ้มเมธา เธอได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่อง ม.112 ว่า ที่ผ่านมา มีรอยัลลิสท์จำนวนหนึ่งพยายามเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของ ม.112 ว่าตัวกฎหมายเองนั้นไม่เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาที่การถูกนำมาใช้เพื่อ "กลั่นแกล้งทางการเมือง" เป็นหลัก และการที่ ม.112 ถูกใช้ปิดกั้นความเห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้นไม่เป็นปัญหาใดๆ (เพราะคนไทยคิดเหมือนกันเรื่องสถาบันฯ)

ทวีพรวิเคราะห์ว่า การพยายามโปรโมทเรื่อง ม.112 ในแบบดังกล่าว เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นว่า 1. มีคนไทยที่มีความเห็นต่างเรื่องสถาบันอยู่จริง 2. ม.112 ถูกใช้เพื่อกดทับความเห็นต่างต่อสถาบันจริงๆ ดังจะเห็นได้จากประเด็นมากมายที่เราไม่สามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น รัฐประหาร 19 กันยา 2549 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และคนที่พูดความเห็นต่างเรื่องสถาบันฯ ก็ถูกจับ ถูกดำเนินคดี
จริงๆ ส่วนการ “กลั่นแกล้งทางการเมือง” น่าจะเป็นส่วนน้อยมากๆ (ลองนึกตัวอย่างได้ชัดๆ 1 คดี เช่น คดีสนธิ ลิ้มทองกุล) จากคดีทั้งหมด และยังไม่รวมเว็บไซต์ “หมิ่น” หรือวิพากษ์สถาบันที่ถูกบล็อคอีกจำนวนมาก

ทวีพรมองว่าการเบี่ยงเบนประเด็นของรอยัลลิสท์ว่า ปัญหาของ ม.112 คือ การถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นวิธีการทางจิตวิทยา เพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับความจริงว่ามีคนเห็นต่างเรื่องสถาบัน และหลีกเลี่ยงที่จะพูดว่า ม.112 มีปัญหาจริงและควรถูกปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะได้คงไว้ซึ่งกฎหมายนี้ต่อไป



.