โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
การต่อสู้ทางการเมืองของสีที่ผ่านมา ไม่ใช่การต่อสู้เชิงนโยบาย เอาเข้าจริง ยังไม่มีฝ่ายใดเสนอนโยบายอะไรสักเรื่องเดียว การเมืองที่เขาต่อสู้กันนั้นสรุปให้เหลือสั้นๆ ได้แค่สองเรื่อง คือการเมืองเรื่องทักษิณ กับการเมืองเรื่องชื่อ
วิเคราะห์ให้ถึงที่สุด "การเมืองเรื่องทักษิณ" ก็คือความขัดแย้งกันด้วยเรื่องอำนาจนำทางการเมือง จะปล่อยไว้ในมือชนชั้นนำเดิม หรือจะเปิดให้แก่ชนชั้นนำรุ่นใหม่ได้เข้าไปถืออำนาจผ่านการเลือกตั้ง "การเมืองเรื่องชื่อ" ก็คือความขัดแย้งกันระหว่างประชาธิปไตยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อื่น
ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปัญหาจริงที่กำลังเกิดในสังคมไทยเลย โดยเฉพาะไม่เกี่ยวอะไรกับ "คนจน"
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "คนจน" เกิดขึ้นก่อนสงครามสีนาน แต่นี่คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์กำหนดขึ้นหรือ คำตอบคือไม่ใช่ ที่เลือกอัตลักษณ์ "คนจน" สำหรับการเคลื่อนไหวก็เพื่อให้เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่อง "ปากท้อง" เมื่อเป็นเรื่อง "ปากท้อง" ก็ย่อมไม่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องแย่งอำนาจ จึงทำให้พื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวขยายขึ้นด้วย นอกจากนี้
สังคมทุกแห่งย่อมให้สิทธิแก่เรื่องของ "ปากท้อง" มากเป็นพิเศษทั้งนั้น รวมทั้งสังคมไทยด้วย
แต่มีอะไรที่เหมือนกันในขบวนการที่เรียกตัวเองว่า "คนจน" เหล่านี้ นั่นคือพวกเขาคือกลุ่มคนที่ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นโดยตรง เช่นใช้ทะเลเพื่อหาปลา ไม่ใช่เพื่อเป็นวิวขายนักท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเพาะปลูก ไม่ใช่เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม หรือเพียงสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย (แล้วเก็บลูกเมียไว้ที่บ้าน ตัวออกไปขายแรงงานหรือขับแท็กซี่) หรือใช้ป่าเพื่อหายาและอาหารในป่า ไม่ใช่เพื่อทำไม้ ฯลฯ
ดังนั้น การเปลี่ยนวิถีการใช้ทรัพยากรด้วยอำนาจรัฐหรือทุน หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน จึงกระทบต่อคนเหล่านี้อย่างมาก เพราะวิถีการใช้ทรัพยากรโดยตรง เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ ในขณะที่วิถีใหม่ของรัฐหรือทุนคือกีดกันเขาออกไปจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรนั่นเอง
การเคลื่อนไหวของ "คนจน" เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนสงครามสีเป็นสิบปี แต่ก็ประสบความสำเร็จในการปกป้องทรัพยากรที่ตัวใช้ประโยชน์อยู่ได้ไม่สู้จะมากนัก
แม้กระนั้นก็ก่อให้เกิดสำนึกบางอย่างที่แพร่หลายในหมู่ "คนจน" ด้วยกัน หรือแม้แต่แพร่กระจายไปยังสังคมในวงกว้าง . . สำนึกที่สำคัญอันควรกล่าวไว้มีสองอย่าง
อย่างแรก คือสิทธิชุมชน แม้ฝรั่งอาจมีสำนึกเรื่องนี้มานานแล้ว แต่การเคลื่อนไหวของ "คนจน" ทำให้สังคมไทยเกิดสำนึกนี้ขึ้นบ้าง ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะเป็นการผลักดันของเอ็นจีโอหรือนักวิชาการ แต่เพราะแรงสนับสนุนเบื้องหลังของ "คนจน" ต่างหาก ที่ทำให้การผลักดันนั้นเป็นผลให้สภาร่างรัฐธรรมนูญยอมรับ
อย่างที่สอง เป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับทรัพยากร อำนาจของขุนนางในสภาพัฒน และกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ถูกถ่วงดุลจากภาคสังคม อย่างน้อยความเชื่อที่ว่าการวางนโยบายเรื่องนี้เป็นอาณาจักรของความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงฝ่ายเดียว ก็ไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการวางนโยบายสาธารณะด้วย ความเชี่ยวชาญซึ่งอ้างขึ้นเพื่อเป็นที่มาแห่งอำนาจนั้น ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงความเห็นหนึ่ง ซึ่งอาจถูกกำกับด้วยอคติ, ความฝัน และผลประโยชน์ส่วนตนได้เท่าๆ กับความเห็นของคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม สำนึกเหล่านี้ แม้มีความสำคัญเพียงไร ก็ไม่ได้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวของ "คนจน" เหล่านี้ให้กลายเป็นพลังทางการเมืองในระบบ แม้ว่าขบวนการเหล่านี้ได้พยายามเชื่อมโยงกันเอง โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะปัญหาการถูกแย่งทรัพยากรในท้องถิ่นของตน จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของ "คนจน" เป็นต้นมา ขบวนการเหล่านี้ไม่เคยเลือก ส.ส.ของตนได้สักคนเดียว ( และนี่อาจเป็นเหตุผลที่แกนนำของขบวนการบางคนหันไปหลงใหลกับทฤษฎี "ยึดอำนาจรัฐ" อันเป็นหลักการพื้นฐานของการเมืองเสื้อสี ) ในขณะเดียวกันก็ไม่มีพรรคการเมืองใดสนใจเข้ามาสร้างฐานเสียงจากกลุ่ม "คนจน" เหล่านี้ เพราะขบวนการกระจายไปตามท้องถิ่นต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนไม่มีคะแนนเป็นกอบเป็นกำในเขตเลือกตั้งใดเลย
ขบวนการเคลื่อนไหวของ"คนจน" หลายแห่งด้วยกัน เริ่มมีสำนึกแล้วว่า หากไม่พัฒนาขบวนการขึ้นเป็นพลังทางการเมืองในระบบ ก็ยากที่จะควบคุมนโยบายสาธารณะได้ ก่อนที่พรรค ทรท.จะได้ "อำนาจรัฐ" มีการพูดถึงการตั้งพรรคการเมืองหรือการเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองกันบ้างในขบวนการ แต่การเกิดขึ้นของพรรค ทรท.ทำให้ความคิดนี้จืดจางลง หันไปหาทางลัดในการ "ยึดอำนาจรัฐ" ผ่าน ทรท. โดยเฉพาะในหมู่เอ็นจีโอ (แล้วก็อกหักกันทั่วหน้า)
แล้วก็เกิดการรัฐประหารและสงครามเสื้อสีใน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา
ดูเผินๆ เหมือน "สี" จะนำไปสู่พลังทางการเมืองที่กำลังมองหาอยู่พอดี แต่ "สี" ก็ติดพันอยู่กับการ "ยึดอำนาจรัฐ" แล้วทุกอย่างจะดีเอง ในความเป็นจริง ไม่เคยมีใครยึดอำนาจรัฐได้เด็ดขาดสักรายเดียว เพราะรัฐไทยซับซ้อนเกินกว่าซ่องโจรมานานแล้ว การได้อำนาจรัฐและถืออำนาจนั้นไว้ จึงหมายถึงการต่อรองกับกลุ่มพลังที่หลากหลายในสังคม ตราบเท่าที่ "คนจน" ยังไม่เป็นกลุ่มพลังที่สำคัญ ส่วนที่ต่อรองมาได้จึงไร้ความหมายเสมอ
อย่างไรก็ตาม สงครามสีทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของ "คนจน" รวนเรไปมาก ในทุกขบวนการล้วนมีทั้งสีเหลืองและแดงปะปนกันอยู่ ญัตติของการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับวิถีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ถูกทั้งสองสีมองด้วยความระแวงว่า ซ่อนญัตติแฝงทาง "การเมืองเรื่องทักษิณ" หรือ "การเมืองเรื่องชื่อ" อยู่เบื้องหลัง ขบวนการจึงเคลื่อนไหวได้ยากมาก เพราะต้องการจะเก็บความเป็นกลุ่มก้อนของขบวนการไว้ซึ่งนับวันก็ยิ่งล้มเหลว เพราะการรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวโดยไม่เคลื่อนไหวนั้นเป็นไปไม่ได้ ต่างฝ่ายจึงต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน หรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสีต่างๆ
เขื่อนปากมูลจึงไม่ได้เปิดถาวรต่อไป, ใต้แผ่นดินอุดรฯ ก็ยังเป็นรูเพื่อตักตวงเอาเกลือมาทำโปแตชต่อไป, โรงไฟฟ้าที่จะนะกำลังขยาย โดยที่ดินวะกัฟฟ์ถูกคาบไปเรียบร้อย ฯลฯ เกิดความแตกแยกในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนเกือบทุกขบวนการ
การเชื่อมต่อกับประเด็นปัญหาต่างถิ่นมีน้อยลง ซึ่งก็เท่ากับว่าขบวนการเคลื่อนไหวหดตัวลงทั้งในแง่เนื้อหา และเครือข่ายพันธมิตร ประเด็นการวางนโยบายสาธารณะกลับไปอยู่ในมือข้าราชการและนักการเมือง โดยมีขุนนางใหม่ซึ่งได้แก่นักวิชาการและเอ็นจีโอระดับชาติ อันไม่ได้อยู่ในสภาพัฒน์ และกระทรวงทบวงกรม เข้ามาถ่วงดุลบ้าง กลายเป็นเวทีต่อสู้ของคนชั้นกลางระดับบนสองกลุ่ม ไม่เกี่ยวอะไรกับ "คนจน" อีกเลย
ในขณะที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีปัญหาของคนจนที่ไม่เหมือน "คนจน" ในขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งมีมาก่อน เช่นปัญหาแรงงานและเศรษฐกิจ-การเลิกจ้าง, ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม, ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ, การรีดไถของ ตร.ทางหลวง, ต้นทุนการศึกษาที่สูงเกินไป, ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ - ถ้าจะเรียกผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ว่าเป็น "คนจน" ก็ไม่เกี่ยวกับวิถีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นโดยตรงอีกแล้ว แม้แต่การทำนาก็ยังใช้ที่ดิน (ซึ่งมักเช่าเขา) ในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรม คือเพื่อผลิตข้าวขายในปริมาณมากๆ
การเปลี่ยนวิถีการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องที่ "คนจน" กลุ่มใหม่เหล่านี้ยอมรับอยู่แล้ว ไม่เอาแม่น้ำมาทำไฟฟ้า เดี๋ยวโรงงานปิด (หรือย้ายฐานฯ ตามสำนวนของคนชั้นกลางระดับบน) กูก็เสร็จล่ะสิ
ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ อนาคตของ "คนจน" ที่วิถีการใช้ทรัพยากร ยังเป็นการใช้โดยตรง จะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้อยู่เพียงสองทาง เท่านั้น
1/ หากขบวนการ "คนจน" เหล่านั้น หันมาสร้างพลังทางการเมืองที่เป็นของตนเองโดยแท้จริงให้ทัน ก่อนที่จะสายเกินไป โอกาสที่จะเข้าไปต่อรองเชิงนโยบายก็เป็นไปได้ แต่ต้องยอมรับว่าความเป็นไปได้ในทางนี้มีน้อยมาก เพียงแต่ในสังคมอื่นบางสังคม "คนจน" ประเภทนี้ประสบความสำเร็จก็มีบ้างเหมือนกัน จนมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับด้วยว่า การ "ยึดอำนาจรัฐ" นั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับ "คนจน" ประเภทนี้ เพียงแค่มีพรรคการเมืองของตนเอง หรือมีพรรคการเมืองที่ใช้ "คนจน" เป็นส่วนหนึ่งของฐานเสียง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ในความเป็นจริงของโลกนี้ จะได้อะไรก็ต้องต่อรอง และจะต่อรองก็ต้องพอมีพลัง และเพราะไม่มีใครมีพลังเด็ดขาด ต่อรองแล้วจึงได้มาไม่เคยเต็มร้อย
2/ "คนจน" ประเภทนี้คือตัวละครที่ถูกลืม การเคลื่อนไหวของเขาคือฉากที่ไม่มีใครจดจำ นอกจากเป็นผู้ผลิตลูกสาวให้พระเอกคาวบอยในหนังอเมริกัน กลายเป็นเชิงอรรถที่ไม่มีใครอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์
++
โอชินกับความเปลี่ยนแปลง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 25
ผมชอบหนังเรื่อง "โอชิน" ซึ่งเคยเป็นซีรี่ส์ญี่ปุ่นที่โด่งดังในอดีต ผมกลับมาดูใหม่อีกครั้ง เพราะเพิ่งได้ดีวีดีครบชุดมาก็ยังน่าดูและน่าติดตามเหมือนเดิม
ที่ประทับใจมากสำหรับผมก็เพราะโอชินเป็นหนังประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องอย่างที่ไม่ค่อยได้ดูในหนังประวัติศาสตร์ไทย ข้อแรกก็เพราะโอชินเป็นเรื่องของคนธรรมดา หรือค่อนข้างไปทางคนไร้สิทธิ์ (disenfranchized) ด้วยซ้ำ เพราะโอชินเกิดในครอบครัวคนยากจนขนาดต้องหาทางขจัดสมาชิกออกไปจากครอบครัวบ้าง เพื่อ "ลดปากท้อง"
ในขณะที่ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ (ร่วมสมัยกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของไทยในสมัย ร.5 ) บางคนในบรรดาคนไร้สิทธิ์เหล่านี้ สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นคนมีอันจะกินได้ในที่สุด
เรื่องทำนองอย่างนี้คงเกิดในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงทุกแห่ง และที่จริงก็เป็นท้องเรื่องของนวนิยายในภาษาต่างๆ หลายภาษาด้วยกัน
ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะมันผกผันชะตาชีวิตของผู้คนอย่างน่าพิศวง ด้วยเหตุที่ไม่มีสูตรตายตัว คนบางกลุ่มอาจขึ้นและคนบางกลุ่มอาจลง แต่บางคนในกลุ่มขึ้น-กลับลง และบางคนในกลุ่มลง-กลับขึ้น มันน่าพิศวงก็ตรงนี้แหละครับ ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดึงดูดทั้งนักประวัติศาสตร์และนักเขียนนวนิยาย
เพียงแต่ว่านักประวัติศาสตร์และนักเขียนสนใจต่างกัน นักประวัติศาสตร์อยากรู้ว่าทำไมกลุ่มนี้จึงขึ้น (หรือลง) ในขณะที่นักเขียนอยากรู้ว่าทำไมอ้ายหมอนั่นจึงขึ้น และอ้ายหมอนี่ลง
แต่ทั้งสองฝ่ายต่างทำงานในทำนองเดียวกัน คืออธิบายด้วยเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนเหมือนกันว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยกำหนดให้กลุ่มคนหรือบุคคลขึ้นๆ ลงๆ
ผมเดาเอาเองว่า หนังเรื่องโอชินติดตรึงใจผมก็เพราะคำอธิบายมากกว่าเนื้อเรื่อง ไม่ได้หมายความว่าคำอธิบาย ชะตาชีวิตของโอชินในหนังถูกต้องตามประวัติศาสตร์นะครับ แต่หมายความว่าผู้เขียนเรื่องโอชินพยายามจะดึงเอาปัจจัยอันสลับซับซ้อนมาอธิบายความแปรผันของชะตาชีวิตโอชิน อย่างเดียวกับที่หากผมศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตอนนี้ ผมคงทำอย่างเดียวกันนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ หนังเรื่องโอชินเล่าประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดในญี่ปุ่นนับตั้งแต่ประมาณช่วงเมจิมาจนถึงหลังสงคราม จนญี่ปุ่นกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในทางเศรษฐกิจ โดยเอาชีวิตของตัวเอกมาเป็นกระจกเงาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงนั้นว่า เมื่อกระทบถึงบุคคลคนหนึ่งซึ่งชื่อโอชินแล้ว จะแปรผันชีวิตของเธออย่างไร
อันที่จริง นิยายประวัติศาสตร์เรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่องก็ล้วนเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งนั้น วิมานลอยก็ใช่ สงครามและสันติภาพก็ใช่ เป็นต้น
แต่น่าแปลกอยู่ที่นิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทยที่เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกลับมีน้อย ที่จริงบางเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยตรงเลย แต่ผู้เขียนไม่พูดถึง จึงไม่รู้ว่าผู้เขียนตั้งใจจะเล่าเรื่องนี้หรือไม่
เช่นเรื่อง "แผลเก่า" นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่สังคมชนบทใกล้กรุงเทพฯ (ทุ่งบางกะปิ, ตลาดพระโขนง ฯลฯ) กำลังเปลี่ยน "ระเบียบ" เดิมของสังคม กำลังสลายตัวลง เงินกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการวัดคุณค่าของคน ทั้งคุณค่าของเพื่อนและคุณค่าของลูกเขย นางเอกเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็เปลี่ยนค่านิยมของตนไปจนแปลกหน้ากับ "นายขวัญ"
มองในแง่นี้ "แผลเก่า" เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจมาก แต่ผู้เขียนตั้งใจจะเล่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจนัก
กลับมาสู่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทยอีกหลายเรื่อง แทบจะไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเอาเลย ดูเหมือนนักเขียนไทยจะสนใจความไม่เปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่า
ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า วิชาประวัติศาสตร์นั้นสนใจอยู่สองอย่างเท่านั้น คือความเปลี่ยนแปลงกับความสืบเนื่อง แต่ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์กันอยู่ เพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เปลี่ยนจากขาวเป็นดำไปร้อยเปอร์เซ็นต์ ในความเปลี่ยนแปลงนั้น มีบางส่วนที่สืบเนื่องมาจากอดีต และมีส่วนกำหนดให้ความเปลี่ยนแปลงในสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่งแตกต่างกัน
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทยให้ความสนใจแต่ความสืบเนื่อง ขนาดตัวละครระลึกชาติได้ว่าเป็นคนโบราณกลับมาเกิดใหม่ เขาก็ยังมีทัศนคติที่เกี่ยวกับการเมือง, สังคม หรือความรักอย่างเดียวกับชาติก่อนเลย ทั้งๆ ที่เวลาได้ล่วงเลยมากว่าศตวรรษแล้ว และเมืองไทยก็ได้เปลี่ยนไปอย่างแทบจะหาอะไรเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว
ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ?
ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญมาจากกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยนั้น (ผ่านห้องเรียน, จอหนัง, จอทีวี, นวนิยาย, ฯลฯ) ค่อนข้างจะเน้นความไม่เปลี่ยนแปลงเป็นหลัก
พ่อขุนรามคำแหงจึงเป็นตั้งแต่นักประชาธิปไตย, เป็นนีโอลิบทางเศรษฐกิจ, เป็นผู้วางอักขรวิธีไทยไว้สำหรับการพิมพ์ซึ่งยังไม่เกิดมีในสมัยของท่าน ฯลฯ และนับตั้งแต่เราได้ "ค้นพบ" พ่อขุนรามคำแหง เป็นต้นมา พระองค์ก็กลายเป็นแบบอย่างชนิดหนึ่งของกษัตริย์ไทยสืบมา ท่านจึงเหมือนกษัตริย์ไทยสมัยหลัง และกษัตริย์ไทยสมัยหลังจึงเหมือนท่าน
เป็นอันว่า เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาเลยในรอบกว่า 700 ปีที่ผ่านมา
อย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่า ประวัติศาสตร์ไทยนั้นตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชนชั้นนำไทย (ทั้งเขียนและเรียน) ชนชั้นนำไทยนั้นมองความเปลี่ยนแปลงด้วยความหวาดระแวง และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ค่อยเน้นความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มากนัก
ยกเว้นแต่ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลจากนโยบายของผู้ปกครองเอง
ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งในเรื่องโอชินซึ่งไม่ค่อยมีในนิยายประวัติศาสตร์แบบไทย คือความเปลี่ยนแปลงภายในของคน ในท่ามกลางความแปรผันนานาชนิดที่สังคมญี่ปุ่นต้องเผชิญ ย่อมกระทบต่อจิตใจของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องโอชินแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของตัวละคร โดยเฉพาะที่ต่าง "เช่น" (generation อย่างสำนวนไทยว่า "รู้เช่นเห็นชาติ") กัน
แต่ตัวละครที่ได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงมายาวนาน เช่น ตัวโอชินเอง, ลุงเคน, สามีของโอชิน ฯลฯ กลับไม่ค่อยถูกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกระทบถึงส่วนลึกของบุคลิกภาพ โอชินได้เคยเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ตนเคยยกย่องมาอย่างไร ก็ยังยึดถือสืบมาจนบั้นปลายชีวิต ความขัดแย้งระหว่างโอชินและลูกชายคนโตคือตัวแทนของความขัดแย้งระหว่างอุดมคติของความสัมพันธ์ทางสังคมสองอย่าง อันหนึ่งถูกเรียกว่า "โบราณ" และอีกอันหนึ่งคือ "สมัยใหม่" หรือ "ก้าวหน้า"
นี่คือจุดอ่อนของนิยายเรื่องโอชิน อุตส่าห์ใช้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นท้องเรื่องหลัก แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นกลับไม่กระทบต่อตัวเอกแต่อย่างไร มนุษย์นะครับไม่ใช่หลักศิลาจารึก จะแข็งทื่ออย่างนั้นได้อย่างไร นวนิยายทั้งเรื่องกลายเป็นนิทานอีสป เพื่อให้ผู้อ่านเลือกเอาระหว่างค่านิยมโบราณกับค่านิยมสมัยใหม่
จุดอ่อนตรงนี้ทำให้ผมคิดถึงนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องดังของไทย ได้แก่ "สี่แผ่นดิน" ทำนองเดียวกันนะครับ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ซึ่งไม่ค่อยมากเท่าไร เพราะเป็นการผลัดแผ่นดินเท่านั้น ยกเว้นเรื่องเดียวที่คาใจทั้งผู้เขียนและผู้อ่านคือ การปฏิวัติ 2475 ) ตัวละครรุ่นแม่พลอยทุกตัวกลายเป็นศิลาจารึกไปหมด
ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนวนิยายญี่ปุ่น แต่ผมรู้สึกว่านวนิยายไทยไม่ค่อยเก่งในเรื่องความเปลี่ยนแปลงภายใน อะไรที่เกิดในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจค่อนข้างดาษ เช่น เศร้า, สนุก, ซาบซึ้ง, รัก, โกรธ ฯลฯ เท่านั้น ทั้งๆ ที่คนไทยก็เหมือนคนชาติอื่นๆ มีความรู้สึกนึกคิดในจิตใจสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก ทั้งโกรธทั้งรักก็ได้ รู้สึกทั้งดูถูกทั้งยกย่องก็ได้
ผมออกจะสงสัยว่าที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะนักเขียนไทยไม่ให้ความสนใจกับความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของตัวละครถี่ถ้วนนัก เนื่องจากในพระพุทธศาสนาท่านสอนว่าพื้นฐานของจิตใจมนุษย์ก็ไม่พ้นกิเลสสามตัว คือโลภ, โกรธ, หลง เท่านั้น นักเขียนไทยจึงเห็นว่า นั่งวิเคราะห์ไปก็เหนื่อยเปล่า อย่างไรเสียก็ไม่อย่างใดอย่างหนึ่งในสามตัวนี้ หรือทั้งสามตัวพร้อมกันเลย
แต่ที่จริงแล้ว แม้ในพระพุทธศาสนาเองท่านก็ละเอียดอ่อนกว่านี้แยะ เช่น โลภเองก็มีหลายลักษณะมาก ไม่จำเป็นต้องโลภแต่วัตถุเพียงอย่างเดียว ตราบเท่าที่ยังยึดมั่นถือมั่นตัวตนอยู่ในรูปแบบใดๆ นับตั้งแต่หยาบถึงละเอียด ก็ยังมีตะกอนความโลภหลงเหลืออยู่ทั้งนั้น
ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงภายในซึ่งนักเขียนไทยไม่สนใจนั้น ที่จริงแล้วเป็นเนื้อหาก้อนมหึมาที่ไม่จำเป็นจะต้องทอดทิ้งไปเลย
และการทอดทิ้งเช่นนี้ทำให้เราแบ่งคนง่ายเกินไป คือเหลือแค่คนดีกับคนชั่ว ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่สุดโต่งขนาดนั้น แต่เป็นคนสีเทาๆ ที่อยู่ระหว่างดีและชั่วต่างหาก นวนิยายไทยมัวแต่บอกให้เรารู้จักเพียงบรรทัดฐานอุดมคติ เลยไม่ทำให้เรารู้จักโลกและคนมากขึ้นนัก เมื่ออ่านนวนิยาย
.