.
มีโพสต์หลังบทความหลัก " น้ำท่วมและการจัดการแบบรวมศูนย์ บทเรียนล้มเหลวของสังคมไทย โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ "
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ตอกลิ่มต่อ...แผ่นดินแตก ไม่ปรองดอง...ต้องแลกหมัด
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 20
ตอกลิ่มจนแผ่นดินร้าวมานานแล้ว
สถานการณ์วันนี้ชี้ว่า แม้น้ำจะท่วมใหญ่ ไฟไหม้ แผ่นดินแยก ก็ไม่สามารถหยุดความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา 5 ปี นี้ได้
และจากนี้ไปไม่ว่าจะเป็นความตายของคน 1 คน หรือ 100 คน มีแต่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย ความรุนแรงตามมา
กิเลสของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ เป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มากนัก แต่มีทั้ง โลภะ โทสะ และ โมหะ เป็นลิ่มที่ตอกทะลุใจตนเองแล้วไปสร้างรอยร้าวในแผ่นดิน
การรัฐประหารกันยายน 2549 ทำให้รอยแตกร้าวบนแผ่นดินปรากฏชัดขึ้นและแผ่กว้างออกไปเมื่อมีการยึดอำนาจซ้ำสองโดยตุลาการภิวัตน์ในปี 2551 เท่านั้นยังไม่พอ การล้อมปราบผู้ชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้รอยร้าวที่มีอยู่ขยายแยกแตกออกไปทั้งลึกและกว้าง รอยแยกในแผ่นดินลึกจนมองไม่เห็นก้นเหว 91 ชีวิตจมหายในรอยแยกนั้น ทิ้งรอยเลือดคราบน้ำตาไว้บนปากเหว
แม้เวลาผ่านไป 1 ปี มีการเลือกตั้ง เปลี่ยนรัฐบาล แต่ผู้ประท้วงบางส่วนยังถูกจับขังคุก บางคนเพิ่งได้ออกมาหลังจากติดคุกมาปีครึ่ง เมื่อศาลตัดสินว่ามีความผิดหลังฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลงโทษติดคุกหกเดือน (ก็เลยต้องติดคุกเกินไป 1 ปี) บางส่วนก็ยังฟ้องร้องกันอยู่
ผู้ก่อการร้ายชุดดำหายไปเหมือนไม่มีตัวตน แต่ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมยังถูกขังอยู่ในคุกอีกหลายคน
ตลอด 3 เดือนที่เกิดมหาอุทกภัย บางคนเกิดความหวังว่าโอกาสการปรองดองจะมาพร้อมกับสายน้ำเพราะทุกคนต้องร่วมมือกันสู้กับภัยธรรมชาติ
แต่ข่าวสารตลอด 90 วันที่ผ่านมา ไม่มีเรื่องใดที่เป็นโอกาสของการปรองดองเลยแม้แต่นิดเดียว
การโยนหินถามทางเรื่องอภัยโทษเป็นปฏิกิริยาครั้งล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าความเกลียดชังรุนแรงกว่าสายน้ำ
เมื่อน้ำลดจึงรู้ว่าหินก้อนใหญ่ที่โยนลงไปจมหายลงไปในรอยแยกของแผ่นดิน เพราะรอยแยกนั้นไม่เพียงลึกจนไม่อาจหยั่ง แต่ยังขยายกว้างจนผู้คนไม่อาจก้าวข้าม แต่ดูเหมือนจะมีรอยร้าวเดิมที่ถูกขยายพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรอยทาง
มาตรา 112 รอยแตกร้าวทางความคิด
ยังขยายไปเรื่อยๆ
การตัดสินคดี อากง ชายวัย 61 ปีที่ถูกลงโทษจำคุกถึง 20 ปี เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความที่ผิดกฎหมายมาตรา 112 ทาง SMS อากงบอกว่า ไม่ได้ทำ มีเสียงวิจารณ์ว่า ทำจริงหรือไม่? ลงโทษหนักเกินไปหรือไม่? เป็นเรื่องปกติ
แต่ที่ขยายออกไปคือความขัดแย้งเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดการปะทะทางความคิดและจุดยืน ชัดเจนเหมือนแลกหมัดกัน
มีผู้แสดงความเห็นขัดแย้งกันผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ ขยายไปถึงขั้นเปลือยใจเปิดอกประท้วงมาตรา 112 และอีกฝ่ายหนึ่งก็ไปถึงขั้นเสนอให้ปิดเว็บไซต์ยูทูบกับเฟซบุ๊ก
ดูแล้วเรื่องมาตรา 112 คงเป็นรอยร้าวที่มีโอกาสขยายสูงมาก ผู้ต้องหาที่ทำผิดมาตรา 112 ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข่าวแจ้งว่า ถึงวันนี้มีเกิน 600 คนแล้ว ในช่วงปี 2535-2547 มีคดีเกิดขึ้น ไม่ถึง 10 คดี แต่ในช่วงปี 2548-2552 มีถึง 547 คดี และถูกตัดสินว่าผิด 247 คดี ถ้านับถึงปี 2553 ยังมีคดีในชั้นสอบสวนอีก 997 คดี
อาจเป็นเพราะว่าช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก และกฎหมายมาตรานี้ เปิดโอกาสให้ใครเป็นผู้กล่าวหา ฟ้องร้องก็ได้ ในขณะที่คดีหมิ่นประมาทธรรมดา ผู้เสียหายจะเป็นผู้ฟ้องร้องเองเท่านั้น
ถึงจุดนี้จะเห็นว่าผู้ทำผิดมาตรา 112 มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนชรา นักศึกษา ข้าราชการ คนธรรมดา และถ้าพยายามเข้มงวดในการใช้กฎหมายมาตรานี้ให้มีผลทางปฏิบัติ ระดมการจับกุมโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นอีกกี่คน
แต่ก็คงไม่สามารถปราบปรามได้หมด เพราะบางคนอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งประเทศแถบ ยุโรป อเมริกา บางประเทศไม่มีกฎหมายแบบมาตรา 112 เช่น อังกฤษ บางประเทศก็มี แต่บทลงโทษประเทศไทยหนักที่สุด ต้องจำคุก 3-15 ปี (มีการแก้ไขเพิ่มโทษหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519) โทษจำคุกคดีแบบนี้ ในสเปน 6 เดือน - 2 ปี ในนอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ไม่เกิน 5 ปี จอร์แดน ไม่เกิน 3 ปี
เรื่องที่มีผู้เสนอให้แก้ปลายเหตุของปัญหาถึงขั้นให้ปิดเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กเพื่อปิดช่องทางของกลุ่มที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้ทำผิดกฎหมายมาตรา 112 ก็คงเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับที่เราไม่สามารถยกเลิกการใช้ถนน เพื่อป้องกันไม่ให้รถชนคนตาย
การใช้มาตรา 112 มากล่าวหาคู่แข่งทางการเมือง คือการดึงฟ้าต่ำ ทำหินแตก แยกแผ่นดินจะยังคงมีอยู่ตราบใดที่ไม่แก้ไขให้เหมาะสม
วัฒนธรรมทางการเมืองไทย
เล่นการเมือง เหมือนเล่นละคร
ตอกลิ่มด้วยปากและปลายนิ้ว
วัฒนธรรมของนักการเมืองบ้านเรา เป็นแบบเอาดีใส่ตัวไม่มีใครยอมรับผิด ทุกคนอยากเป็นพระเอก ที่ทำถูกต้องเสมอ มีแต่คนชื่นชม วันนี้การต่อสู้ทางการเมืองจึงจะอยู่ในทุกเวทีทั้งในสภาฯ บนหน้าสื่อ บนเว็บไซต์ บนถนน เพื่อทำให้ตนเองเป็นฝ่ายถูกและได้รับความนิยม แต่จะโต้ตอบกันอยู่ในกรอบของกฎหมาย
วัฒนธรรมทางการเมืองของคนทั่วไป ก็ไปกันได้ คือคิดว่าตนเองเป็นแค่คนดู การเมือง คือละครหลังข่าว คนที่ขึ้นมาในเวทีการเมือง จึงถูกมองในบทของ พระเอก นางเอก ผู้ร้าย บุคคลิกของนักการเมืองยอดนิยม ควรจะมี หน้าตาดี ความรู้สูง เป็น ดร.จากมหาวิทยาลัยดังๆ จากต่างประเทศยิ่งดี มีสกุลรุนชาติ มียศ ตำแหน่งนำหน้า ก็ดีกว่าเป็น นาย...ธรรมดา
บทบาทในการแสดงออก ก็ต้องคล้ายพระเอก ควรพูดเพราะ ใจเย็น ถ่อมตัว จะไปประกาศว่ามีความสามารถเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นได้ กระทรวงนี้ไม่ถนัด สังคมไม่ยอมรับ
เป็นผู้หญิง ก็จะต้องดื่มน้ำส้ม ห้ามไปซดเบียร์เด็ดขาด
ส่วนผู้ชายถ้าไปกินเหล้าขาวเขาจะหาว่าติดเหล้า รสนิยมต่ำ แต่ถ้าดื่มไวน์โดยเฉพาะของแพงๆ จากต่างประเทศจะกลายเป็นผู้มีรสนิยมสูง
ดังนั้น การต่อสู้สร้างภาพบนสื่อจึงยังเป็นเวทีสำคัญ แต่ไม่ได้ชี้ขาดแพ้ - ชนะในวันนี้ กลับกลายเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เป็นการตอกลิ่มด้วยปากของนักการเมือง และปลายนิ้วของกองเชียร์
โดยเฉพาะความเห็นที่ผ่านจอทีวีสีต่างๆ ทั้งแดง เหลือง ฟ้า เขียว ฯลฯ
ยังมีอีกสารพัดเว็บไซต์ที่เป็นการโจมตีเข้าใส่กัน ทำให้รอยแยกของแผ่นดินขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ
สถานการณ์วันนี้
ไม่มีปรองดอง
แต่...เปิดหน้าแลกหมัด
เรื่องการปรองดอง จะยังคงอยู่บนโต๊ะ ของ อาจารย์คณิต ณ นคร ไปอีกนาน เพราะช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย แม้จะทำเป็นหรือจำเป็นต้องสนใจปัญหาประชาชน แต่การปะทะทางการเมืองมีตลอดเวลา และดูว่าจะยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปีหน้ามีหลายกรณี
ส่วนใครจะได้เปรียบเสียเปรียบ ต้องดูกัน ยาวๆ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ออกหมัดเข้าใส่กันแล้ว มีผู้วิเคราะห์ไว้หลายกรณี...
น้ำไม่ทันลดทางพรรคเพื่อไทยก็ขยับตัวเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ก้อนหินที่โยนลงไปถามทางถูกกระสุนจากศัตรูทุกเม็ดพุ่งเข้าใส่จากหลายทิศทางจนก้อนหินกระเด็นจมหายไปในรอยแยก
แม้เป็นหมัดแย็ปที่ไม่ได้ผล แต่ก็ทำให้คู่ขัดแย้งทุกระดับรู้ความคิดของฝ่ายตรงข้าม แต่การจะพลิกเกมมาเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังไม่แน่ น่าจะต้องดูสถานการณ์ ตามช่วงเวลา เพราะจะมีคนคัดค้านและเห็นด้วยหลายกลุ่ม
กกต. มีมติ 4 : 1 ในการพิจารณาว่า ส.ส. จตุพร พรหมพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เกมวันข้างหน้าฝ่ายตรงข้ามจะต้องรุก เพื่อหวังกินหมากตัวนี้ เกมนี้มีผู้วิเคราะห์ว่า จตุพรจะไม่ตั้งรับและบางองค์กรต้องเจอศึกหนัก ถ้าจตุพรออกมาทำงานในฐานะเสื้อแดง เกมน่าจะแรงขึ้น ถ้าจะบีบให้เข้าคุกไม่น่าจะง่าย เพราะอีกฝ่ายก็มีคดีมากมายเช่นกัน
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรองนายกรัฐมนตรี ประชา พรหมนอก แต่คงไม่มีผลอะไรในวันนี้ ไม่มีปรับ ครม. แต่การทำงานฟื้นฟู เยียวยาวันหน้า ถ้าพลาดจะต้องมีคนถูกปลด
ศาลตัดสินคดีเสื้อแดง 7 คน มีความผิดจำคุก 6 เดือน 6 คน แต่ติดคุกมาแล้วปีครึ่งจึงต้องปล่อย อีกหนึ่งคนจำคุก 3 ปี คดีเหล่านี้ จะไปส่งผลให้มีการเร่งคดีเสื้อเหลืองที่ค้างคาอยู่ ถ้าระบบยุติธรรมไม่ยอมทำงาน รับรองว่า งานเข้าแบบรับไม่ไหว
ส.ส. สุนัย จุลพงศธร ในฐานะประธานกรรมาธิการระหว่างประเทศเตรียมเข้าหารือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในคดีสังหารผู้ชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่ว่าการหารือจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้คนทั้งโลกจับตาดูระบบยุติธรรมของไทย
รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เร่งดำเนินคดี 91 ศพ ในส่วนที่ทำได้ รวมทั้งคดีสังหารนักข่าวชาวญี่ปุ่นในวันที่ 10 เมษายน อภิสิทธิ์และสุเทพถูกตำรวจเรียกสอบปากคำแล้ว อันนี้จึงเป็นหมากที่จะใช้รุกจริง แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะทุกคนเข้าใจกลไกแห่งอำนาจรู้ว่าควรเร่งเมื่อไร เบรกเมื่อไร
รมว.ต่างประเทศรัฐบาลเก่า ยึดพาสปอร์ตไทยของทักษิณ แต่ รมว.ต่างประเทศคนใหม่คืนให้เหมือนเดิม
คดีปล้นบ้านปลัดกระทรวงคมนาคม ทำให้ ป.ป.ช. ต้องเข้าตรวจสอบทรัพย์สินปลัด และการสอบสวนของตำรวจที่ลงลึกอาจจะเป็นการรุกชนิดที่สร้างความเสียหาย ให้กับผู้รับผิดชอบและรัฐบาลยุคนั้นได้กว้างขวางมาก มีผู้วิเคราะห์ว่า งานใหญ่ ของหนัก เงินเยอะ มีคนเกี่ยวข้องมากมาย คำแนะนำของผู้วิเคราะห์คือหาคนรับผิดชอบเรื่องนี้หลายๆ คน ทุกระดับ ป้องกันการล้มมวย เพราะสาวไปแล้วจะพบว่ามีมากกว่าที่คิด ทั้งคนและเงิน
เมื่อทั้งสองฝ่ายแน่ใจว่า การปรองดองยังไม่เกิด การต่อสู้ก็จะต้องเกิดแทน ไม่มีทางที่สองฝ่ายจะอยู่นิ่ง
การปรองดองจะเกิดเมื่อไร?
จะเกิดขึ้นในสถานการณ์อย่างไร?
มีผู้วิเคราะห์ว่าการปรองดองไม่เกิดแน่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับมาตรฐานความยุติธรรม
แต่มาตรฐานความยุติธรรมบ้านเราเป็นแบบเฉพาะ ใช้กับระบอบที่ผสมระหว่างประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ ไม่เหมือนประเทศประชาธิปไตยทั่วไป ที่อำนาจอธิปไตยของเขามาจากประชาชน เป็นของประชาชน แต่ของประเทศเรามีเฉพาะสภาผู้แทนกับรัฐบาล ส่วนองค์กรอื่นมีพื้นฐานจากอำนาจหลังรัฐประหาร 2549 แม้แต่รัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยที่ใช้อยู่จึงเป็นหลักธรรมชาติ คือ ใครมีอำนาจส่วนไหนก็ใช้ส่วนนั้นสนับสนุนตนเองให้ได้ประโยชน์
มาตรฐานความยุติธรรมวันนี้จึงเป็นแบบผสม เหมือนระบบการปกครอง ถ้าอยากให้ยุติธรรมจริงๆ ไม่อยากให้เป็นแบบ...เอ็งรอลงอาญา ข้าติดคุก... ก็ต้องรู้จักสร้างอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่สมบูรณ์ขึ้นมาให้ได้
เสนอให้ลบผลพวงของการรัฐประหารกันยายน 2549 ของคณะนิติราษฎร์ เป็นช่องทางที่ดีที่สุด เป็นการแลกหมัดแบบสันติ ใช้หลักการกฎหมายล้มอำนาจจากปืน ไม่ว่ารัฐบาลจะกล้าสนับสนุนหรือไม่ ผู้วิเคราะห์เชื่อว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะสนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
++
ขอโพสต์บทความที่ผู้เขียนเป็น "นักชุมชนนิยม" ที่คงมีชุดความเชื่อ,ความคิดเห็นหลากหลายออกไป
น้ำท่วมและการจัดการแบบรวมศูนย์ บทเรียนล้มเหลวของสังคมไทย
โดย เสรี พงศ์พิศ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 38
สังคมไทยใช้อำนาจมากกว่าใช้ความรู้ในการบริหารจัดการประเทศ เห็นได้ชัดจากกรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ การใช้อำนาจแก้ปัญหาไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องแก้ด้วยการปิดถนน โดยชุมชนที่ทนไม่ได้ลุกขึ้นมารื้อกระสอบทราย รื้อบิ๊กแบ๊ก และเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำ จนกำลังกลายเป็นจลาจลที่ขยายวงไปทั่ว
ถ้าใช้ข้อมูลความรู้ ก็จะรู้ว่าฝกตกมากขนาดนี้ พายุเข้ามากมายปานนี้ จะบริหารจัดการเขื่อน การกักเก็บ การปล่อยน้ำอย่างไร จะแก้ตัวแบบไหนก็ฟังได้ยากที่บอกว่าไม่ใช่เทวดาที่จะหยั่งรู้ฟ้าดิน
วันนี้เทคโนโลยีมีมากพอที่จะบริหารจัดการได้ ถ้าย้อนหลังไปดูสถิติในอดีต เรียนรู้จากการมีบทเรียนที่สั่งสมมานานนับร้อยปีก็น่าจะสรุปได้ว่า ควรรับมือกับฝนและพายุที่เข้ามาในปริมาณมากขนาดนี้ได้อย่างไร ถ้าถูกนักการเมืองบีบบังคับไม่ให้ปล่อยน้ำตามที่ควรทำก็เปิดเผยให้สังคมได้รู้
ถ้าใช้ข้อมูลความรู้ ก็จะรู้ว่า มีเวลาเป็นเดือนๆ กว่าน้ำเหนือจำนวนมหาศาลจะไหลมาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้บริหารที่รับผิดชอบตั้งแต่ล่างไปถึงบนไม่ได้ใช้ความรู้ในการเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม ไม่มีการประสานงาน ไม่มีความร่วมมือ ไม่มียุทธศาสตร์ สุดท้ายก็ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)
ชื่อก็บอกว่าตั้งมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ไม่ได้ตั้งมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จึงวิ่งตามปัญหา รอรับโทรศัพท์ ซึ่งคนเป็นแสนๆ ที่ประสบปัญหา โทรศัพท์กี่สายจะรับไหว บางคนโทร.ทั้งวันก็ไม่ได้รับคำตอบ
แล้วใครจะมีเวลาโทร.ทั้งวัน ขณะที่ตัวเองกำลังอยู่ภาวะคับขันขนาดนั้น
การทำงานแบบไม่มียุทธศาสตร์ ทำให้ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ กลายเป็นคนประกาศขอรับบริจาคข้าวปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้บรรเทาสาธารณภัย เอาไปกองไว้ที่ดอนเมือง แล้วไม่รู้จะจัดการอย่างไรก็เอาบรรดานักการเมืองของพรรคและพวกตัวเองมาจัดการ
มีการประกาศขอรับบริจากเครื่องสูบน้ำ เรือ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะนี่คือการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ที่คิดว่าไม่ต้องมียุทธศาสตร์อะไร เพราะมีอำนาจสั่งการได้อยู่แล้ว ปัญหาก็เห็นๆ กันอยู่แล้ว
พอมั่วๆ กันไปพักหนึ่งเห็นว่าไม่ได้การ ไม่ได้ผล ก็เริ่มระดมนักวิชาการ เมื่อนักการเมืองออกมาพูดแล้วไม่มีใครเชื่อ และพูดเวียนไปเวียนมาเพราะไม่รู้จริง ก็เริ่มเอานักวิชาการมาออกทีวีแทน แต่กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ไล่ตามปัญหาไม่ทัน มึนงงกับน้ำที่เริ่มเน่า
แล้วก็มีบิ๊กแบ๊กมาทำตัวเป็นพระเอกอยู่พักหนึ่ง ช่วยชะลอน้ำไม่ให้ท่วมกรุง ให้ กทม. สามารถระบายน้ำออกไปได้อย่าง "สมดุล" มากขึ้น เป็นคำอธิบายที่พอรับฟังได้ แต่นานเข้า คนที่อยู่นอกคันบิ๊กแบ๊กก็เริ่มทนไม่ได้ ไปเรียกร้องให้เสียสละคนเดียว จมน้ำคนเดียว อีกฝั่งหนึ่งแห้ง อดทนไปเพื่ออะไร จุดสมดุลอยู่ที่ไหน ไม่เห็นช่วยเหลือ ชดเชยความเสียสละของพวกเขาบ้าง
ปฏิกิริยาของชุมชนทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังทุกเช้าทุกเย็นทางสื่อต่างๆ เป็นความทุกข์แสนสาหัสของผู้คนที่มาจากความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภัยพิบัติครั้งนี้ เหมือนกับปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม ใครทนไม่ได้ อยากได้อะไรก็ลุกขึ้นมาปิดถนนหรือลงไม้ลงมือจัดการเอาเอง
แปลว่า ชุมชนไหน ถนนไหน ละแวกไหนมีคนเก่งคนกล้าก็พาชาวบ้านลุกฮือขึ้นมาเรียกหาความยุติธรรม ที่ไหนไม่มีผู้นำเข้มแข็งหรือหัวหมอบ้างก็ต้องทำใจ อดทนจนกว่าน้ำจะลด (ลงไปเอง)
ใครมีเส้นมีสาย รู้จักใคร โดยเฉพาะเครือข่ายนักการเมือง ก็เข้าถึงความช่วยเหลือได้เร็วกว่าดีกว่า
ใครไม่มีเส้น ไม่รู้จักใคร ก็อดทนและอดอยาก จนกว่าจะมีเทวดาเห็นใจไปกระซิบบอกคนใจบุญให้ไปช่วยบ้าง เพราะอยู่สุดซอยลึก คนเข้าไปไม่ถึง หรืออยู่ปากซอยแต่คนเมินเพราะไม่มีเส้น
ถ้ามีการบริหารอย่างมียุทธศาสตร์ การป้องกันและแก้ไข ไม่น่าจะออกมาเลวร้ายและไร้ประสิทธิภาพขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด สั่งการได้ว่า ให้มีการทำงานโดยกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งแต่น้ำยังไม่มาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่าจะรับมืออย่างไร โดยการระดมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาชน แต่เพราะการบริหารแบบรวมศูนย์ และแบบใช้อำนาจสั่งการ จึงคิดเรื่องนี้ไม่ออก
ถ้าเข้าใจแค่เรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ คุณหมอประเวศ วะสี ก็จะรู้ว่า แก้ปัญหาวิกฤติครั้งใหญ่นี้ต้องระดมสรรพกำลังจาก 3 ส่วนให้ผนึกพลังกันให้ได้ คือ วิชาการ การเมือง และประชาสังคม รัฐบาลนี้ใช้อีกวิธี เริ่มต้นโดยใช้อำนาจทางการเมือง ใช้ระเบียบ ใช้กฎหมาย ต่อมาจึงเรียกหาวิชาการและกระสอบทราย สุดท้ายก็ปล่อยให้ประชาชนแก้ไขปัญหาด้วยการปิดถนนเอาเอง
เราไม่เคยได้ยิน ไม่เห็นภาพทางสื่อหรือที่ไหนเลยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร มานั่งประชุมเพื่อกำหนดแผนงานหรือยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหาร่วมกัน
เพิ่งมาเห็นข่าวเล็กๆ ตอนปลายเดือนพฤศจิกายนว่าจังหวัดเหล่านี้จะ "ไล่บี้ กทม." มารวมตัวกันเอาหลังจากน้ำท่วมมาได้เกือบ 3 เดือน
ไม่เคยเห็นหรือได้ยินว่า อบจ. จังหวัดเหล่านี้มีการนัดหมายทำงานร่วมกันอย่างผนึกพลัง จังหวัดทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์พื้นที่น้ำท่วม แก้ปัญหาแบบแยกส่วนไม่ได้ เพราะน้ำไม่เคยแยกส่วน แม่น้ำและคลองเชื่อมโยงกันไปหมด
แต่สุดท้ายก็เห็นการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน เสียงดังกว่าอย่างกรุงเทพฯ ก็จัดการกั้นเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน ด้วยเหตุผลเพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ปล่อยให้จังหวัดอื่นๆ ลอยคอ
เป็นเหตุผลที่ฟังได้สำหรับทุนนิยม ซึ่งเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง กลัวว่าจะกระทบต่อบริษัทห้างร้าน แต่เป็นเหตุผลที่ฟังดูแล้วประหลาดอย่างยิ่ง ถามว่าเขตเศรษฐกิจแปลว่าตึก ที่ทำงานหรือ เพราะคนที่ทำงานที่สีลม ราชประสงค์ เพลินจิต เอกมัย ไม่ได้มีบ้านพักอาศัยอยู่แถวนั้น ส่วนใหญ่อยู่บางบัวทอง บางกรวย ลำลูกกา ธัญบุรี มาจากพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ที่ถูกน้ำท่วม
อยากได้หลักฐานให้ดูภาพทางยกระดับยาวหลายสิบกิโลเมตรที่กลายเป็นลานจอดรถของคนที่อยู่ชานเมือง แล้วนั่งแท็กซี่ไปทำงานใน "ย่านธุรกิจ"
คนที่ใช้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิล้วนแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมรอบๆ กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ไปมาด้วยความยากลำบาก
ผู้คนตั้งคำถามว่า ท่วมอีกสักสิบเขต แบ่งเบาภาระน้ำท่วมจากปทุมธานี นนทบุรีบ้างไม่ได้หรือ ทำไมน้ำข้างล่างยังแห้ง ข้างบนเน่าสนิท จะท่วมปากท่วมคออย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร
ปฏิกิริยาของประชาชนที่ทนไม่ได้กับ "ความไม่เป็นธรรม" ในการบริหารจัดการน้ำ มีความรู้สึกว่าเป็นประชาชนชั้นสอง ได้รับความเห็นใจและเข้าใจจากสื่อและสาธารณชนทั่วไป เพราะไม่เข้าใจว่า ปล่อยให้กรุงเทพฯ แห้ง แล้วไม่เหลียวแลคน "ข้างบน" "นอกคันกั้นน้ำ" "นอกบิ๊กแบ๊ก" ที่ถูกน้ำท่วมมาเป็นแรมเดือนได้อย่างไร
ไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะทำให้รู้ว่า น้ำจะท่วมอีกนานเท่าไร จะลดเมื่อไร ก็ไม่มีใครรู้ ก็คงตอบอย่างเจ้าหน้าที่ของรัฐคนหนึ่งทางทีวีว่า "อีกหลายวัน" หรือมาตอบเอาตอนที่น้ำกำลังลดลง ไม่ตอบก็รู้ว่ามันกำลังแห้ง แบบมาแม่นเลขเอาตอนหวยออกแล้ว
การใช้อำนาจโดยไม่ใช้ความรู้ทำให้ทั้งผู้บริหารและประชาชนทั่วไปอยู่ในสภาวะของความไม่รู้ จึงใช้ความรู้สึกมากกว่าความรู้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่เคยได้รับข้อมูล ไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร น้ำมาอย่างไร จะไปทางไหน จะไปเมื่อไร ทำไมต้องกั้น ฯลฯ
ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการทำงานมวลชน งานชุมชน เพราะคิดเอาเองว่ามีสื่อทีวี วิทยุ มีคณะทำงานด้านนี้อยู่แล้ว คิดเอาเองว่า ถ้าได้คนที่สื่อกับประชาชนเป็นจะ "เอาอยู่" ซึ่งเหตุการณ์บานปลายทั้งหลายก็ยืนยันว่า เอาไม่อยู่เช่นเคย เพราะการประกาศทางทีวีไม่ได้ทำให้ผู้คนเข้าใจหรือยอมรับสถานการณ์ได้ ไม่ได้มีการทำงานในพื้นที่จริง
ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลยตั้งแต่ต้น ข้าราชการฝ่ายปกครองก็ปกครองอย่างเดียว นักการเมืองท้องถิ่นเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็ทำงาน "ตามหน้าที่" ไม่ได้มีแผนยุทธศาสตร์อะไร มีแผนงบประมาณ มีงบฯ ก็ทำ ไม่มีงบฯ ก็ไม่ทำ เหมาเอาว่าทั้ง 4-5 จังหวัดในคลัสเตอร์นี้เป็นชุมชนเมือง ต่างคนต่างอยู่ ไม่ต้องทำอะไรมาก
วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพด้วย แม้ว่า "ภาพใหญ่" จะไม่ได้เรื่อง แต่มี "ภาพเล็ก" จำนวนหนึ่งที่ได้เรื่อง อยู่รอด รวมพลังกันป้องกันตนเองได้ อย่างกรณีที่ปากเกร็ด กรณีที่สมุทรสาคร ที่นครสวรรค์ ที่สิงห์บุรี ที่เทศบาลและชุมชนร่วมมือกันจัดการปัญหาได้เป็นอย่างดี
รวมทั้งชุมชนเล็กๆ หลายแห่ง หมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีการจัดการตนเองได้ โดยอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญ อาศัยความรู้และประสบการณ์ในอดีต เรียนรู้ด้วยตนเองจนรู้ว่า น้ำมามากๆ มาทางไหน รู้หมดว่าน้ำเข้ารูไหน ออกรูไหน จะจัดการอย่างไร
การช่วยเหลือผู้อพยพจากบ้านไปอยู่ศูนย์พักพิงต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน มีหลายกรณีอย่างที่โพธารามที่ท้องถิ่นร่วมมือกันต้อนรับผู้หนีภัยน้ำท่วม ช่วยกันให้ที่พัก อาหาร ราชการส่วนหนึ่ง ชุมชนส่วนหนึ่ง จัดหารถพาไปเที่ยวจะได้ไม่หมกมุ่นอยู่แต่ในศูนย์ พาเด็กไปเรียนรู้ ไปโรงเรียน ได้เพื่อน ได้สนุกสนาน เอาข้าวปลาอาหาร ข้าวต้มขนมมาแบ่งปันคนที่กำลังทุกข์เพราะน้ำท่วม ช่วยให้ผ่อนคลายหายเครียดลงไปได้บ้าง
ศูนย์พักพิงที่ราชบุรีมีหลายแห่ง ได้ยินแต่เรื่องราวดีๆ ว่ามีชาวบ้านไปช่วยเหลือ เยี่ยมเยียน เอาข้าวปลาอาหารไปให้ จนผู้สูงอายุจากบางแค และผู้หนีภัยจากที่อื่นๆ กินกันไม่หมด อยู่อย่างอบอุ่น
นอกจากที่เป็นข่าว มีการบริหารจัดการจากหน่วยงานราชการต่างๆ แต่ก็เป็นไปแบบใครคิดอะไรออกก็ทำ กระทรวงไหน กรมไหน กองไหนมีความคิดอะไรดีๆ มีงบประมาณบ้างก็ทำไป กระทรวงมหาดไทยพยายามประสานการจับคู่ความช่วยเหลือจากหัวเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็ยังดี แม้จะออกมาแบบแข็งกระด้างบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
ความจริง คนที่มีจิตอาสามีเต็มแผ่นดิน อยากช่วยด้วยวิธีการต่างๆ แต่ขาดการประสานงานที่ดี สุดท้าย ใครใจบุญใจดีมากๆ ก็พากันเอาข้าวปลาอาหารไปส่งให้คนที่กำลังถูกน้ำท่วม ไปทำอาหาร ไปส่งถุงยังชีพ บางจังหวัดจัดส่งไปเป็นหมื่นเป็นแสนถุง แสนกล่อง
เมื่อผู้คนไม่ไว้วางใจ ศปภ. การบริจาคผ่านหน่วยงานรัฐก็ลดลง คนหันไปบริจาคให้องค์กรอื่นๆ ให้สื่อ ให้ทีวีช่องต่างๆ ที่ประชาสัมพันธ์ตัวเองเก่ง ทำให้คนเชื่อในประสิทธิภาพและความโปร่งใส
เราเห็นการบริหารจัดการแบบใช้อำนาจการสั่งการในหลายๆ เรื่องตั้งแต่ต้น พอน้ำดื่มขาด ไข่ขาด ก็จัดการน้ำเข้าจากต่างประเทศ โดยไม่ได้ขอให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจช่วยกันดูว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ทั้งๆ ที่ศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้มีอยู่เต็มเปี่ยม
พอต้องการเครื่องสูบน้ำก็ประกาศขอบริจาค ไม่ได้มีการกระจายอำนาจ มอบให้ภาคเอกชนไปช่วยดูแลเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ ที่บริษัทรับสัมปทานงานของรัฐเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน มีเครื่องมือมากมาย ขอให้ช่วยในยามน้ำท่วมเช่นนี้บ้างไม่ได้หรือ
เราเห็นการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค หลายคนได้มากเกิน ขณะที่อีกหลายคนอดอยากหลายวัน การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ไม่สามารถตอบสนองปัญหาเหล่านี้ได้ การสั่งการจากศูนย์อย่างเดียวไม่เพียงพอ
ถ้าหากว่ามีการกระจายอำนาจ กระจายความรับผิดชอบลงไปยังท้องถิ่น ให้มีแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน ให้มีการกำหนดวิธีการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ต้น การป้องกันก็ดี การไปช่วยเหลือก็ดี จะดีกว่านี้ คนที่ลำบากจะไปแจ้งไปขอความช่วยเหลือเพียงแต่เดินไปที่ปากซอย ไปที่ศูนย์ช่วยเหลือที่กระจายไปเต็มพื้นที่เหมือนศูนย์เลือกตั้งทั้งหลาย ทำไมศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจึงไม่ไปตั้งในพื้นที่ใกล้บ้านชาวบ้าน
ถ้ามีศูนย์ช่วยเหลือที่แต่ละอำเภอ แต่ละเขตจะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เทศบาล อบต.ไหนไม่ทำ หรือทำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็ให้ร้องเรียนไปยัง ศปภ. หรือจะประสานให้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลืออิสระจากภาคประชาชนที่อยากช่วยเหลือบางแห่งเป็นพิเศษก็ทำได้ อย่างครัวทั้งหลายที่ตั้งขึ้นหลายแห่ง
การกระจายความช่วยเหลือเช่นนี้ จะมีที่ที่จิตอาสาต่างๆ จะจัดการแบ่งกันลงไปช่วยได้โดยง่าย สถาบันการศึกษา องค์กรหน่วยงานต่างๆ ระดมผู้คน อาหาร น้ำ อุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่น เรือ รถ เพื่อขนส่ง นำคนออกมา นำไปส่งโรงพยาบาล ไปส่งศูนย์พักพิง ฯลฯ
จัดการให้ได้แบบกระจายอำนาจ แบบสังคมสวัสดิการ แบบมีการจัดการที่ดี มีการประสานพลังจากทุกภาคส่วนโดยรัฐ ทำให้เกิดความร่วมมือ การช่วยเหลือกันอย่างเป็นระบบ
ไม่ใช่บริหารจัดการแบบทุนนิยม เสรีนิยม ตัวใครตัวมัน ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ใครมีเรือก็เอาเรือมาวิ่ง เรียกเก็บเป็นร้อยเป็นพัน การขึ้นราคาข้าวปลาอาหาร วัสดุเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ ซ้ำเติมความทุกข์ยากของชาวบ้าน ฉวยโอกาส แข่งขันกันหาเงิน ไม่ว่าในยามใดโอกาสไหน ไม่ว่าจะบนความทุกข์แสนสาหัสของใคร
การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ได้ชี้ให้เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีความรู้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีประสบการณ์ บริหารจัดการกันไม่เป็น มีอำนาจสั่งการ แต่คำสั่งก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ที่สุดก็ทะเลาะกันเองระหว่างหน่วยงาน ระหว่างองค์กร ระหว่างพรรค ระหว่างชาวบ้านชุมชนกับรัฐ ระหว่างชุมชนกันเองที่ถูกปล่อยให้แก้ปัญหาตามลำพัง
การรวมศูนย์อำนาจ การใช้อำนาจสั่งการ เป็นการครอบงำประชาชน เช่นเดียวกับการครอบงำทางสังคม ทางเศรษฐกิจ การใช้เงิน ใช้งบ ใช้โครงการประชานิยมต่างๆ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม มีแต่รอรับความช่วยเหลือจากรัฐ เรียกร้องจากรัฐ ทำให้ชุมชนอ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ พึ่งตนเองไม่เป็น
การพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นเพียงลมปาก ที่ปากว่าตาขยิบ ไม่ได้เป็นจริง เพียงแต่พูดให้ดูดีและทันสมัยเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีการครอบงำ ดำเนินงานแบบสั่งการจากข้างบน
รัฐบาลใช้อำนาจแบบรวมศูนย์และสั่งการมานาน พอเกิดวิกฤติและแก้ไขไม่ได้ก็ประกาศกระจายอำนาจ ประกาศให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร เพราะถ้าไม่ทำกันในภาวะปกติ จะเสกให้ทำตอนภาวะไม่ปกติได้อย่างไร เรื่องพรรค์นี้ต้องเรียนรู้ ต้องค่อยๆ พัฒนา ครอบงำจนเขาหลับไหลมานาน อยู่ดีๆ ไปปลุกให้ตื่นทันทีได้อย่างไร
ก่อนนี้ แต่ละจังหวัดก็แก้กันเอง ต่างคนต่างทำมานาน ไม่ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "บูรณาการ" วันที่ 24 พฤศจิกายนเกิดปรากฏการณ์พิสดารขึ้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ อีก 5-6 จังหวัดมาประชุม จับมือกัน ออกข่าวกันไปทั่ว เพื่อประกาศว่าจะทำงานแบบ "บุรณาการ"
ก็เป็นเรื่องแปลก ขณะที่น้ำกำลังลดพอดี น่าจะมาประชุมและจับมือกันตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 24 กรกฎาคม 24 พฤษภาคม เรียนรู้คำว่าบูรณาการให้ถ่องแท้ จับมือกันให้แน่น วิกฤติน้ำท่วมใหญ่คงไม่เกิดหรือไม่ส่งผลเลวร้ายขนาดนี้
ปราชญ์บอกว่า ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุด คือ ผู้ที่ใช้อำนาจน้อยที่สุด คนที่ใช้อำนาจน้อยที่สุด คือ คนที่ใช้ความรู้ ใช้ปัญญามากที่สุด ปัญญาบารมีทำให้คนเชื่อ ทำให้คนฟัง อยากร่วมมือ อยากทำตาม
ถ้าเราเชื่อว่า คนในท้องถิ่น ในจังหวัด อำเภอ เทศบาล อบต. และชุมชนต่างๆ มีพลังยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ ถ้าหากมีการยอมรับ ให้โอกาส พลังนี้จะปรากฏออกมา แสดงตนเอง ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ไม่ว่าใหญ่แค่ไหน
ชูมาเคอร์ คนที่เขียนเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ และเขียน Small is Beautiful พูดถึงเศรษฐศาสตร์ที่เอาคนเป็นศูนย์กลาง ต้องเป็นระบบที่เล็กเพราะจะทำให้จัดการได้ดี การกระจายอำนาจลงไปในขนาดเล็ก จะทำให้มีพลังและมีประสิทธิภาพ
Small is beautiful and powerful เล็กนั้นงามและมีพลัง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย