http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-01

'ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ', 'อำนาจกับความรู้แบบไทยๆ กับฝรั่งๆ' โดย เกษียร เตชะพีระ

.


' ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ '
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ไทยชั้นนำหลากรุ่นหลายคน เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ ได้เตือนชนชั้นนำทางอำนาจเดิมให้เร่งปรับตัวปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจเสียใหม่ก่อนจะสายเกินการณ์ (http://thaienews.blogspot.com/2010/10/1_19.html; http://prachatai.com/print/36288; และ ฟ้าเดียวกัน, 9:2, เมษายน-มิถุนายน 2554)

ทว่าจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏชัดว่าเสียงเตือนดังกล่าวได้รับการสดับตรับฟังและตอบสนองจากเครือข่ายอำนาจเดิมแต่อย่างใด

จึงน่าคิดว่าหากการปรับตัวปฏิรูปของชนชั้นนำดังกล่าวไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแต่น้อยไปนิด สายไปหน่อย (too little too late)... แนวโน้มสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปเช่นไร ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เครื่องมือวิเคราะห์คาดการณ์ที่นักรัฐศาสตร์มักใช้ได้แก่แนวคิดทฤษฎีรัฐล้มเหลว/เปราะบาง (failed/fragile state ดู www.isn.ethz.ch/isn/Digital-Library/Publications/ Detail/?&lng=en&id=57427)


ทว่าจุดอ่อนของเครื่องมือชุดนี้คือมองภาพค่อนข้างนิ่งและเป็นนามธรรม ไม่สะท้อนเหตุการณ์ความขัดแย้งที่คลี่คลายขยายตัวไปอย่างมีพลวัตและเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

ข้อจำกัดนี้ชวนให้นึกถึงแนวคิดอีกชุดหนึ่งซึ่งผมเคยอ่านพบตั้งแต่ราวสามสิบปีก่อนสมัยกลับออกจากป่าและคืนสภาพนักศึกษามาเรียนปริญญาตรีต่อแล้วพยายามค้นคิดทำความเข้าใจด้วยแรงกระตุ้นจากประสบการณ์ของตนเองว่าทำไมการปฏิวัติจึงสำเร็จหรือล้มเหลว? ผ่านงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว Isaac Deutscher (The Unfinished Revolution: Russia 1917-1967, 1967) และนักประวัติศาสตร์อเมริกัน Crane Brinton (The Anatomy of Revolution, 1965)

ซึ่งเสนอเรื่องประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ (The Natural History of Revolutions)
Isaac Deutscher & Crane Brinton

แนวคิดนี้มาจากการศึกษาสังเกตการปฏิวัติใหญ่ครั้งต่างๆ ในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ เช่น การปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1640 , การปฏิวัติอเมริกัน ค.ศ.1776 , การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 และการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 แล้วประมวลเสนอว่ามีแบบแผนที่ค่อนข้างซ้ำรอยลงตัวอย่างสม่ำเสมอในกระบวนการคลี่คลายขยายตัวของการปฏิวัติเหล่านั้น จนกระทั่งเราสามารถสังเกตเห็นและคาดการณ์ได้เหมือนเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปของการปฏิวัติ ดุจเดียวกับที่นักชีววิทยาเล็งเห็นและสรุปแบบแผนขั้นตอนประวัติการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างๆ

เช่น ผีเสื้อ [ไข่ผีเสื้อ -> หนอนลอกคราบหลายครั้ง -> ดักแด้ -> ผีเสื้อ], หรือกบ [ไข่กบ -> ตัวอ่อน -> ลูกอ๊อด -> ลูกอ๊อดตัวโต -> ลูกอ๊อดกบ -> ลูกกบสิท -> กบ] ฉันใดฉันนั้น



Jack A. Goldstone นักสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปฏิวัติและขบวนการทางสังคมได้ช่วยสรุปแบบแผนแห่งประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติตามแนวคิดดังกล่าวไว้อย่างกระชับเป็นระบบ 10 ขั้นตอน ("The Comparative and Historical Study of Revolutions," Annual Review of Sociology, Vol.8, 1982, 187-207)

ผมขอปรับปรุงแต่งเติมเพื่อนำมาเล่าต่อดังนี้: -

1) ก่อนเกิดการปฏิวัติใหญ่ ปัญญาชนส่วนมากไม่ว่านักหนังสือพิมพ์, กวี, นักเขียนบท ละคร, ครูบาอาจารย์, พระสงฆ์องค์เจ้า, นักกฎหมาย, ข้าราชการชำนาญการ ฯลฯ ต่างก็พากันเลิกสนับสนุนระบอบการปกครอง, เขียนงานประณามมัน, และเรียกร้องให้ปฏิรูปขนานใหญ่

การที่ปัญญาชนพากันเอาใจออกห่างระบอบปกครองขนานใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันส่อให้เห็นว่าระบอบปกครองล้มเหลวที่จะเสนอสนองบริการสำคัญแก่บรรดาผู้สนับสนุนระบอบเอง จนเกิดความขุ่นเคืองกระด้างกระเดื่องต่อความสามารถในการบริหารบ้านเมืองของระบอบปกครองแผ่กว้างแพร่หลายไปถึงกระทั่งแวดวงคนชั้นสูงในรัฐบาลและสังคมซึ่งปกติน่าจะสนับสนุนระบอบปกครอง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของปัญญาชนดังกล่าวยังบ่งชี้ว่าผู้นำทางการเมืองอาจลังเล ที่จะปราบปรามการลุกฮือของประชาชน, และชนชั้นนำด้วยกันเองอาจก่อกบฏต่อระบอบปกครองก็เป็นได้

2) ในวันสุกดิบก่อนระบอบเก่าจะล่มจม, รัฐจะพยายามสนองตอบต่อคำวิจารณ์ที่แหลมคม ที่สุดโดยดำเนินการปฏิรูปขนานใหญ่

มาตรการปฏิรูปเหล่านี้มุ่งที่จะดูดกลืนกลุ่มพลังใหม่ๆ ให้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกของระบอบปกครองโดยไม่ยอมให้อิทธิพลที่แท้จริงแก่พวกเขาแต่อย่างใด เช่น ก่อตั้งสภาที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการวางแนวทางการปฏิรูปขึ้นให้ตัวแทนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาเป็นสมาชิกโดยไม่มีอำนาจจริงในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เป็นต้น

ทว่า โดยทั่วไปแล้วการปฏิรูปแบบน้อยไปนิดสายไปหน่อยทำนองนี้กลับส่งผลโอละพ่อไป บ่อนทำลายระบอบปกครองหนักขึ้น เพราะเท่ากับยอมรับว่าระบอบเดิมบกพร่องและเป็นการส่งเสริมกลุ่มอื่นๆ ให้เรียกร้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่ไปไกลกว่านี้อีก

สมดังที่มาคีอาเวลลีเคยเตือนเจ้าผู้ปกครองไว้ว่า: "หากแม้นความจำเป็น (ของการปฏิรูป) มาถึงในยามไม่สงบแล้ว ก็สายเกินไปที่ท่านจะใช้มาตรการแข็งกร้าว และมาตรการนุ่มนวลก็จะไม่ช่วยท่านแต่อย่างใด เพราะมันจะถูกถือว่าท่านถูกบีบคั้นให้จำยอมดำเนินมาตรการดังกล่าว และจะไม่มีใครสำนึกว่าติดค้างหนี้บุญคุณท่านที่ออกมาตรการเหล่านี้"

3) อันที่จริงการล่มจมของระบอบเริ่มต้นด้วยวิกฤตคับขันทางการเมืองอันเนื่องมาจากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจ, การทหาร, หรือการเมืองบางอย่างได้ มากกว่าจะเริ่มจากปฏิบัติการของฝ่ายค้านที่ปฏิวัติ

วิกฤตอาจมาในรูปรัฐล้มละลายทางการคลังหรือกองทัพเป็นอัมพาตมิอาจสั่งการบังคับบัญชาได้ เป็นต้น ณ จังหวะนั้นฝ่ายนำการปฏิวัติซึ่งเอาเข้าจริงอาจเคลื่อนไหวมานานแล้ว พลันพบว่าตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบเนื่องจากระบอบเก่าง่อยเปลี้ยทุพพลภาพไป จุดปะทุการปฏิวัติจึงเกิดจากรัฐอ่อนเปลี้ยหรือเป็นอัมพาต, มากกว่าการที่จู่ๆ ฝ่ายปฏิวัติจะพลันเข้มแข็งเพิ่มขึ้นมามหาศาลได้

4) ต่อให้ในกรณีที่ฝ่ายค้านที่ปฏิวัติต่อระบอบเก่าเคยสามัคคีเป็นเอกภาพกันมาก่อน การล่มจมของระบอบเก่าจะเผยให้เห็นความขัดแย้งภายในฝ่ายค้านที่ปฏิวัติในที่สุด

หลังผ่านกระแสคึกคักเคลิบเคลิ้มครึ้มอกครึ้มใจสั้นๆ จากการที่ระบอบเก่าล่มจมลง ขบวนการปฏิวัติจะแบ่งแยกแตกกันเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ อย่างรวดเร็วได้แก่: -

ก) ฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด และสุดท้ายแล้วหลายคนในฝ่ายนี้ก็อาจจะหันกลับไปสนับสนุนระบอบเก่า

ข) ฝ่ายขุดรากถอนโคน ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางรวดเร็ว และ

ค) ฝ่ายเดินสายกลาง ซึ่งต้องการให้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ความแตกแยกขัดแย้งดังกล่าวอาจนำไปสู่รัฐประหารหรือแม้แต่สงครามกลางเมืองขึ้นในระบอบใหม่

5) กลุ่มแรกที่เข้ายึดกุมบังเหียนอำนาจรัฐมักได้แก่พวกนักปฏิรูปสายกลาง

6) ขณะที่พวกเดินสายกลางพยายามจะสร้างระเบียบการปกครองขึ้นมาใหม่บนพื้นฐานการปฏิรูปสายกลางโดยบ่อยครั้งมักอาศัยรูปแบบการจัดตั้งที่ตกค้างหลงเหลือมาจากระบอบเก่านั้น ศูนย์อำนาจทางเลือกที่มุ่งปลุกระดมมวลชนไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนกว่าจะพากันก่อตัวขึ้นด้วยรูปแบบการจัดตั้งใหม่ๆ

7) การเปลี่ยนแปลงรูปการจัดตั้งและอุดมการณ์หลักของสังคมขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นตามหลังการปฏิวัติที่สำเร็จนั้น หาได้บังเกิดขึ้นในตอนแรกที่ระบอบเก่าล่มจมไม่ หากบังเกิดขึ้นเมื่อ องค์การจัดตั้งทางเลือกที่ระดมมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนเข้าแทนที่ฝ่ายเดินสายกลางได้สำเร็จแล้วต่างหาก

กล่าวโดยทั่วไป ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในความพยายามที่ฝ่ายเดินสายกลางจะรักษาความต่อเนื่องกับระบอบเก่า/ระเบียบเดิมไว้นั้น ก็ย่อมพลอยส่งผลให้พวกเขาสืบทอดเอามรดกด้านลบและขีดจำกัดซึ่งเป็นตัวทำให้ระบอบเก่าล่มจมลงมาไว้ด้วย จึงทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจหรือการทหารได้ทันท่วงที

ในทางกลับกัน เนื่องจากฝ่ายขุดรากถอนโคนยินดีจะดำเนินมาตรการสุดขั้วสุดโต่งเพื่อจัดการปัญหาเร่งด่วนและประกันความมั่นคงของอำนาจปกครองของตน จึงมีโอกาสจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่จักต้องเป็นไปเช่นนั้น หากแม้นฝ่ายเดินสายกลางพร้อมจะบอกเลิกและปลีกตัวจากระบอบเก่ามากเพียงไหน พวกเขาก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากเพียงนั้น แม้เป็นการยากที่พวกเขาจะทำเช่นนั้นได้ไกลเท่าฝ่ายขุดรากถอนโคนก็ตาม

น่าสังเกตว่าในกรณีการปฏิวัติประชาชาติเพื่อกู้เอกราชจากระบอบอาณานิคม ฝ่ายเดินสายกลางมักมีโอกาสอยู่รอดในอำนาจได้เมื่อเทียบกับการปฏิวัติทางชนชั้นภายในสังคมเดียวกันเอง

8) ความปั่นป่วนวุ่นวายอันเนื่องมาจากการปฏิวัติและอำนาจกำกับควบคุมโดยฝ่ายขุดรากถอนโคนมักจะส่งผลให้เกิดการปกครองแบบบังคับขับไสที่ใช้กำลังยัดเยียดระเบียบใหม่ลงมา

นี่คือขั้นตอน "ภัยสยอง" (Terror) ที่ฆ่าฟันกวาดล้างกันนองเลือดและรู้จักกันดีภายหลังการปฏิวัติใหญ่ครั้งต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่ายุคสมัยการประหารด้วยกิโยตีนของฝรั่งเศสใต้การนำของโรเบสปีแอร์, การกวาดล้างใหญ่และส่งตัวเข้าค่ายกักกันของรัสเซียใต้การนำของสตาลิน, และการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตง

9) การต่อสู้ระหว่างฝ่ายขุดรากถอนโคนกับฝ่ายเดินสายกลาง, และระหว่างฝ่ายพิทักษ์การปฏิวัติกับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติและศัตรูภายนอก, บ่อยครั้งมักเปิดช่องให้ผู้นำการทหารเลื่อนชั้นยกระดับจากสภาพที่ไม่มีใครรู้จักหน้าค่าตาชื่อเสียงเรียงนามไปสู่ฐานะการนำสูงสุดหรือกระทั่งการนำแบบสิทธิขาดสัมบูรณ์

ตรรกะของสถานการณ์ที่ส่งเสริมบทบาทหลักด้านการทหารเป็นที่มาของนักรบผู้นำการปฏิวัติอย่าง จอร์จ วอชิงตัน, โอลิเวอร์ ครอมเวลล์, นโปเลียน โบนาปาร์ต, มุสตอฟา เคมาล อตาเติร์ก, เลออน ทรอตสกี้, เหมา เจ๋อ ตง, โจเซฟ บรอส ตีโต้, โรเบิร์ต มูกาเบ้, และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น

10) ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคนของการปฏิวัติในที่สุดแล้วจะหลีกทางให้ขั้นตอนปฏิบัตินิยมและการแสวงหาความก้าวหน้าแบบเดินสายกลางในกรอบสภาวะเดิมของระบอบใหม่

ในขั้นตอนนี้ ฝ่ายขุดรากถอนโคนพ่ายแพ้หรือล้มหายตายจากไป เปิดทางให้ฝ่ายเดินสายกลางคืนสู่อำนาจ มีการประณามฝ่ายขุดรากถอนโคนที่ได้ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และกระแสสังคมเปลี่ยนย้ายจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ -> ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในกรอบสถาบันที่มั่นคงแทน

-------------------------------------

ในฐานะคู่มือแนะนำการสังเกตและวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง จึงน่าสนใจที่จะลองนำแบบแผนประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ 10 ขั้นตอนดังกล่าวนี้มาวางเทียบวัดกับสถานการณ์บ้านเรารอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อถกถามว่ามันสอดคล้องต้องกันบ้างหรือไม่อย่างไร ?

แนวโน้มเหตุการณ์ต่อไปข้างหน้าอาจจะเป็นอย่างไร?

จะเป็นไปตามแบบแผนนั้นหรือไม่?

หรือจะผิดแปลกแตกต่างไปเช่นใดบ้าง? เพราะเหตุใด?



++

' อำนาจกับความรู้แบบไทยๆ กับฝรั่งๆ '
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


หนีน้ำพลัดบ้านจากกรุงเทพฯมาอยู่ต่างจังหวัดครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสอ่านร่างบทความวิชาการน่าสนใจบทหนึ่งของศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างรอน้ำท่วมขังแถวบ้านผมทางฝั่งธนบุรีค่อยๆ ลด แทนที่จะเขียนเรื่องน้ำท่วมเลอะเทอะเฉอะแฉะต่อเป็นตอนที่ 5 ผมขอเปลี่ยนบรรยากาศหันไปเขียนเรื่องอื่นที่แห้งๆ บ้างสลับกันไป

สำหรับท่านที่สนใจประวัติและความคิดความอ่านของปัญญาชนคนสำคัญของไทยย่อมทราบว่าอาจารย์สายชลได้ทำงานวิจัยโดดเด่นชิ้นใหญ่เสร็จไปเมื่อไม่นานมานี้และกำลังจัดพิมพ์อยู่เรื่อง "ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535" ซึ่งได้รับรางวัล TRF - CHE - Scopus Researcher Award สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อันทรงเกียรติจากนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี พ.ศ.2552

ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ชอบงานวิจัยชุดนี้เป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะค้นคว้าศึกษาประวัติและผลงานของปัญญาชนกระแสหลักของไทยอย่าง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หลวงวิจิตรวาทการ, พระยาอนุมานราชธน, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ อย่างพิสดารและเจาะลึกถึง 10 คนแล้ว อาจารย์สายชลยังวิเคราะห์วิจารณ์และรวบยอดแก่นความคิด (conceptualize) ของปัญญาชนแต่ละคนรวมทั้งแนวคิด "ความเป็นไทย" อันเป็นผลลัพธ์รวมแห่งงานของคนเหล่านี้ออกมาอย่างแม่นยำ ลึกซึ้ง คมชัดและทรงพลัง ช่วยให้ผมเข้าใจสว่างไสวในเรื่องเหล่านี้แบบทุ่นแรงผ่าน "ครูพักลักจำ" ไม่ต้องไปลำบากลำบนค้นอ่านเอกสารหลักฐานชั้นต้นจำนวนมหาศาลเอง จนผมได้อาศัยอ้างอิงหยิบยืมมาสอนนักศึกษาและเขียนถึงในงานของตัวเองอยู่เนืองๆ

ในบทความชิ้นใหม่นี้ อาจารย์สายชลเขียนพาดพิงถึงหมอประเวศ วะสี ปัญญาชนอาวุโสของขบวนการ NGOs ไทยปัจจุบันไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งจุดประกายสะกิดใจให้ผมคิดถึงอะไรต่อมิอะไรเตลิดเปิดเปิงไปไกลเกี่ยวกับอำนาจกับความรู้

อาจารย์สายชลได้สกัดกลั่นและรวบยอดแนวคิดหลักในการวางกรอบ, วินิจฉัยปัญหาและเสนอทางออกแก่สังคมการเมืองไทยของหมอประเวศออกมาอย่างกระชับคมชัดว่า: -

เหตุแห่งปัญหา = ระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย

ทางออกจากปัญหา = ปัญญานิยม

ปัจจัยไปสู่ทางออก = วิถีไทยและวัฒนธรรมบนฐานความรู้

พอจะสรุปเป็นสมการเพื่อง่ายแก่การเข้าใจได้ว่า: -

[อำนาจนิยม -> ปัญญานิยม ด้วยวิถีไทยและวัฒนธรรมบนฐานความรู้]

ผมสงสัยตงิดๆ มานานแล้วว่าวิธีวิเคราะห์ปัญหาของคุณหมอประเวศออกจะง่ายและเนี้ยบ (neat) เกินไป ในขณะที่โลกความเป็นจริงทั้งยากและยุ่ง จึงอยากถือโอกาสนี้ลองเขย่า เจาะ คว้าน รื้อสร้าง ย่อยสลายแนวคิดของคุณหมอเหล่านี้ให้มันสับสนวุ่นวายซับซ้อนขึ้นบ้าง ไม่ใช่ในเชิงว่ามันถูกหรือผิดนะครับ เพียงแต่อยากเสนอมุมมองทางเลือกที่อาจทำให้เห็นการตั้งปัญหาและคำตอบแบบอื่นต่อโจทย์ทำนองนั้นได้



หมอประเวศนับเป็นนักคิดทางสังคมแบบอิงโมเดลวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและการแพทย์ยุคก่อน มิเชล ฟูโกต์ โดยแท้ (pre-Foucauldian, หมายถึง Michel Foucault, ค.ศ.1926-1984 นักปรัชญาและทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสผู้ลือชื่อ) กล่าวคือคุณหมอคิดและเขียนเกี่ยวกับสังคมและการเมืองราวกับไม่รู้ไม่เห็น ไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือเดียงสาต่อข้อวิเคราะห์อันทรงอิทธิพลต่อวงวิชาการสังคมศาสตร์ทั่วโลกของฟูโกต์เลย !?!

เห็นได้จากคุณหมอขีดเส้นแบ่งแยกชัดเจนระหว่างอำนาจ (นิยม) กับปัญญา (นิยม) ซึ่งผมคิดว่าเป็น false dichotomy หรือการขีดเส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งที่เอาเข้าจริงเกี่ยวข้องกลืนกลายแนบแน่นกันอย่างยิ่ง ดังที่ฟูโกต์เสนอว่าความรู้คืออำนาจ (Le savoir est pouvoir.) ในงานชื่อ Surveiller et punir: Naissance de la prison (การสอดส่องควบคุมและลงทัณฑ์: กำเนิดคุก, ค.ศ.1975) ตอนหนึ่งว่า:

"จำต้องยืนยันว่าอำนาจก่อให้เกิดความรู้, ว่าอำนาจกับความรู้มีนัยเกี่ยวพันสืบเนื่องซึ่งกันและกันโดยตรง, ว่าไม่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจใดๆ ที่ไม่ประกอบส่วนสร้างสาขาวิชาความรู้ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันหนึ่งๆ ขึ้นมา, และในทางกลับกันก็ไม่มีความรู้ใดที่ไม่ตั้งอยู่บนสมมติฐานของหรือประกอบส่วนสร้างขึ้นซึ่งความสัมพันธ์ทางอำนาจด้วยในเวลาเดียวกัน"

(Il faut constater que le pouvoir produit du savoir ; que pouvoir et savoir s?impliquent directement l?un l?autre ; qu?il n?y a pas de relations de pouvoir sans constitution correlative d?un champ de savoir, ni de savoir qui ne suppose et ne constitue en meme temps des relations de pouvoir.)

เขาชี้ว่าระบบระเบียบความรู้ที่สถาปนาขึ้นไว้และดูเหมือนปลอดการเมืองนั้น (เช่น แพทยศาสตร์, จิตเวชศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ศึกษาศาสตร์) เป็นฐานที่มาของสถาบันเชิงอำนาจอย่างหนึ่งในการควบคุมกำกับพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม (คลินิก, โรงพยาบาล, สถาบันจิตเวช, สภาพัฒน์, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย ฯลฯ)


หากเริ่มจากฐานคตินี้ คำถามต่อการวินิจฉัยและทางออกของหมอประเวศก็คือ ปัญญาหรือความรู้แบบไหนกันแน่ที่จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากอำนาจนิยม? ผมสันนิษฐานว่าคงไม่ใช่ความรู้เชิงเทคนิค (technical knowledge) เพราะเป็นเครื่องมือกลางที่ใครก็หยิบไปใช้ได้และผู้มีอำนาจก็ชอบใช้ด้วย

ในประเด็นใกล้เคียงที่ล้อกัน มีข้อเสนอของ Jurgen Habermas นักปรัชญาและทฤษฎีวิพากษ์ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1929-ปัจจุบัน) ที่เคยเสนอว่าในโลกสมัยใหม่ มีวิธีคิดเชิงเหตุผล (reason) ใหญ่ๆ อยู่ 3 แบบ ได้แก่: -

1.Technical/instrumental reason เหตุผลบนฐานคิดว่าหากสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องมือหรือเทคนิคไปบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุนที่สุดก็ถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว ไม่ว่าวัตถุประสงค์นั้นจะมีคุณค่าอย่างไรก็ช่าง สนใจแต่ว่าจะทำมันได้อย่างไร? ไม่ยี่หระว่าจะทำมันไปทำไม? เหตุผลชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เน้นการคาดการณ์และควบคุมเหนือธรรมชาติและสังคม แต่มองข้ามเป้าหมายหรือคุณค่าอย่างอื่นของมนุษย์ไปเสีย

2.Practical/communicative reason เหตุผลบนฐานคิดว่ามีสาส์นที่ต่างฝ่ายต่างต้องการสื่อให้คู่สนทนาเข้าใจ หากสามารถสื่อสารให้คู่สนทนาเข้าใจกันได้ก็ถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว ในเหตุผลแบบนี้การสื่อสารและเข้าใจกันของคนเราจึงสำคัญเหนือการคาดการณ์และควบคุม อีกทั้งเป็นพื้นฐานให้ปฏิบัติการทางสังคมร่วมกันต่อไปได้ ในกรอบเหตุผลแบบนี้ วิธีการหรือกระบวนการไปบรรลุการสื่อสารเข้าใจกันจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย และเรียกร้องให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอื้อเฟื้ออะลุ้มอะล่วยกันระหว่างคู่สื่อสารสนทนาในความสัมพันธ์แบบต่างๆ

3.Emancipatory reason เมื่อการสื่อสารเป็นไปโดยสองฝ่ายสมัครใจยินยอมอย่างแท้จริงและปลอดการควบคุมครอบงำ มันก็จะเป็นพื้นฐานให้คู่สนทนาเข้าร่วมในการสื่อสารแลกเปลี่ยนนั้นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ใช้ความรู้ที่ได้ไปสำรวจตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงขึ้นต่อหรือพึ่งพาแบบใดๆ ที่คงมีอยู่ เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกกันและกันให้มีลักษณะไตร่ตรองใคร่ครวญและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น นำไปสู่เหตุผลที่ปลดปล่อยเป็นอิสระหลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิด


ตามนัยข้างต้นนี้ ความรู้แบบที่เหมาะแก่การช่วยเกื้อกูลให้คนไทยหลุดพ้นจากอำนาจนิยม ก็น่าจะเป็นความรู้เพื่อการปลดปล่อยทางความคิดหรือ emancipatory knowledge (โดยอิงข้อคิดเรื่อง emancipatory reason ของ Habermas) ซึ่งปฏิเสธฐานคติเดิมแบบไทยๆ ที่มักแบ่งคนไทยออกเป็นผู้รู้ กับ ผู้ไม่รู้ และฝ่ายแรกมีสิทธิอำนาจที่จะอบรมดัดแปลงฝ่ายหลังเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่สั่งสอนผู้น้อยในนามของอุดมคติอันดีงามต่างๆ

แต่ตั้งต้นใหม่แบบฝรั่งๆ เลยว่าคนไทยเท่ากัน ความรู้เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสมัครใจและไม่ครอบงำ เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองวิพากษ์วิจารณ์ท้าทายต่อต้านการกำกับควบคุมของบรรดาสถาบันอำนาจนิยมทั้งหลายในสังคมและการเมือง ซึ่งเท่ากับ [อำนาจนิยม -> เสรีนิยม ด้วยการถกเถียงกันอย่างเสมอภาค]

แบบนี้พอจะไหวไหมครับอาจารย์หมอ?



.