.
มีโพสต์เป็นควันหลงท้ายบทความ ; รู้สู้ flood ep.8 : รู้ทันน้ำเสีย, รู้สู้ flood ep.9 : ตั้งหลัก หลังน้ำลด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
15 บทเรียนจาก "น้องน้ำ"
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 24
ทุก "วิกฤต" จะมีคุณค่าถ้าเรารู้จักสรุป "บทเรียน"
มหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ก็เช่นกัน
ความเดือดร้อนของคนจำนวนมากและความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมีคุณค่าอย่างยิ่ง
หากทุกฝ่ายนำมาสรุปเป็นบทเรียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
และสร้าง "โอกาส" ใหม่จากวิกฤต
วันก่อน ผมนั่งคิดเล่นๆ เกี่ยวกับ "น้องน้ำ" ที่มาเยี่ยมเยียนถึงประตูบ้าน
เธอบอกอะไรกับเราบ้าง
คิดเล่นๆ ได้ 5 บทเรียนภายในเวลา 1 ชั่วโมง
นำมาลงในเฟซบุ๊ก
จากนั้นก็คิดต่อในวันรุ่งขึ้น
แฮ่ม...วันที่ปิดต้นฉบับ "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ"
ผมสรุปได้ 15 บทเรียนครับ
มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ความรัก และความรู้ทั่วไป
จำนวนบรรทัดพอๆ กับคอลัมน์นี้เลย
และนี่คือ 15 บทเรียนจาก "น้องน้ำ"
...ที่ "ฮาร์วาร์ด" ไม่ได้สอน
บทที่ 1
น้ำ...
ต้องไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ
อยู่นิ่งเมื่อไร เป็นเน่า
"น้ำใจ" ก็เช่นกัน
บทที่ 2
น้ำ...
ทำให้รู้ว่า "ของมีค่า" ไม่ได้วัดด้วย "ราคา"
หรือคุณค่าทางใจ
แต่วัดด้วยระดับความสูง
ของชิ้นใดที่ยกขึ้นสูง
นั่นแหละ...ของมีค่า
บทที่ 3
น้ำ...
สอนให้รู้ว่า "ราคา" ไม่สำคัญเท่ากับ "การใช้งาน"
"รถเบนซ์" รถใหญ่หรูหราราคาแพง
ถูกเรียกว่า "รถเล็ก" ในวันที่น้ำท่วม
เพราะ "คุณค่า" ของรถไม่ได้ขึ้นอยู่กับแบรนด์หรือความแรงของเครื่องยนต์
แต่ขึ้นอยู่กับ "ท้องรถ"
สูงจากพื้นเท่าไร
บทที่ 4
น้ำ...
ใช้ "มาม่า" และ "น้ำดื่ม" เป็นครู
สอนให้รู้ว่า "ของมีค่า"
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "ราคา"
แต่ขึ้นอยู่กับ "ความต้องการ"
บทที่ 5
น้ำ...
ช่วยทำให้ "คนรวย" ที่ไม่เชื่อว่า "สองมาตรฐาน" มีจริง
เข้าใจและซาบซึ้งในคำนี้
เมื่อบ้านของเขาอยู่นอก "บิ๊กแบ๊ก"
บทที่ 6
น้ำ...
ทำให้รู้ว่า "ชื่อ" มีความสำคัญ
ถ้าชื่อ "กรุงเทพมหานคร" น้ำจะแห้งเร็ว
แต่ถ้าชื่อ "ปทุมธานี" และ "นนทบุรี"
ระดับ "เอว" ถือว่า "แห้ง" แล้ว
บทที่ 7
น้ำ...
สอนให้รู้ว่าชื่อเดียวกันแต่เปลี่ยนสถานที่
ความรู้สึกก็แตกต่างกัน
สำหรับคนปทุมธานี-นนทบุรี
"บิ๊กคลีนนิ่ง" ที่นครสวรรค์-อยุธยา
ทุกคนดีใจ
แต่ "บิ๊กคลีนนิ่ง" ในเขต กทม.
ทุกคนเจ็บปวด
บทที่ 8
น้ำ...
คือ "อาจารย์อุ๊" ของวิชา "ภูมิศาสตร์"
เธอใช้เวลาแค่ 2 เดือน
สามารถทำให้คนกรุงเทพฯ รู้จักทุกคลองในเมืองกรุง
บทที่ 9
น้ำ...
เป็น "นักการทูต" ที่เก่งมาก
สามารถเจรจาให้ "รถ" กับ "เรือ" อยู่ร่วมกันได้บนพื้นที่เดียวกัน
บทที่ 10
น้ำ...
สอนให้เรารู้ว่า "อย่าคิดแบบหยุดนิ่ง"
อย่าคิดว่า "ทางด่วน" ต้องเป็น "ทางด่วน" เท่านั้น
เพราะ "ทางด่วน" สามารถเป็น "ที่จอดรถลอยฟ้า" ได้
บทที่ 11
เมื่อ "บ้าน" เจอ "น้ำท่วม"
"น้ำ" จะทำให้รู้ว่า "บ้าน" มี "รอยรั่ว" ที่ใด
เช่นเดียวกับเมื่อ "เรา" เผชิญกับวิกฤติน้ำท่วม
"น้ำ" จะทำให้รู้ว่า "ใจ" ของ "เรา" มี "รอยรั่ว" ตรงไหน
และครอบครัวของเรารักกันเพียงใด
บทที่ 12
น้ำ...
ถ้าตั้งใจแล้ว ต่อให้มีกำแพงขวางกั้น เธอก็จะไป
เข้าทางประตูไม่ได้ ก็จะมุดมาทางท่อระบายน้ำ
"ความรัก" ก็เช่นกัน
บทที่ 13
น้ำ...
สอนให้รู้ว่าอะไรที่สงบ นิ่ง และเย็น
...น่ากลัวเสมอ
"ผู้หญิง" ก็เช่นกัน
บทที่ 14
น้ำ...
สอนให้รู้ว่าอะไรที่ไหลลื่น และแปรเปลี่ยนตลอดเวลา
ไว้ใจไม่ได้
"ผู้ชาย" ก็เช่นกัน
บทที่ 15
"ตาน้ำ" มีจริง!!!
ต่อให้ "น้องน้ำ" ฉลาดเพียงใด
ผ่านมากี่มหาวิทยาลัย
แต่ "น้องน้ำ" ก็ยังดื้อรั้นที่จะเข้ามาหา "พี่กรุง"
ทั้งที่เขาแสดงความรังเกียจอย่างชัดเจน
..."ความรักทำให้น้ำตาบอด "
++
เทอร์มินอล 21
โดย หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 24
รู้จัก "เทอร์มินอล 21" ไหมครับ
"เทอร์มินอล 21" คือศูนย์การค้าที่มาแรงที่สุดในเมืองกรุง
"เทอร์มินอล" คือ "สนามบิน"
"สนามบิน" คือการรวมประเทศต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน
ดังนั้น ดีไซน์ของ "เทอร์มินอล 21" จึงเป็นการนำเอาสัญลักษณ์ของแต่ละประเทศมารวมกันอยู่ในศูนย์การค้าแห่งนี้
ทั้งแคริบเบียน โรม โตเกียว ลอนดอน อิสตันบูล ซานฟรานซิสโก และฮอลลีวู้ด
มีบันไดเลื่อนที่ยาวถึง 36 เมตร คล้ายกับที่เคยเห็นในสนามบิน
มีคนที่ไปเดินศูนย์การค้านี้บ่นว่านอกจากคนจะเยอะแล้ว คนยังหยุดเดินเป็นระยะตลอดทาง
ถ่ายรูปครับ ถ่ายรูป
คนรุ่นใหม่เขาชอบถ่ายรูปและจะมี "จิตอาสา"
คิดถึงคนอื่นด้วยการแชร์รูปในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
ทั้งเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเยาะเย้ยเพื่อนฝูงไปในตัว
จะกินอะไรก็ถ่ายรูป เจออะไรสวยๆ ก็ถ่ายรูป
อย่าแปลกใจที่ "เทอร์มินอล 21" จะเป็นที่รู้จักภายในเวลาแค่ 1 เดือนเศษ
เป็นอิทธิฤทธิ์ของ "จิตอาสา" บนเฟซบุ๊กครับ
"เทอร์มินอล 21" ใช้งบโฆษณาน้อยมาก
ยิงโฆษณาเฉพาะรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น
จากนั้นก็รอให้ "ดีไซน์" และ "จิตอาสา" ทำงาน
การแพร่กระจายทางเฟซบุ๊ก ทำให้เพื่อนๆ ที่เห็นอยากมาเยี่ยมชม
ในอดีตเราเชื่อการตลาดแบบ "บอกต่อ"
คือ "ปากต่อปาก"
แต่ยุคใหม่ "ปาก" หนึ่งสามารถกระจายข่าวได้ได้ละ 100 หรือ 1,000 คน
อยู่ที่ว่าใครจะเพื่อนเยอะแค่ไหน
อย่าแปลกใจที่ใครๆ ก็รู้จัก "เทอร์มินอล 21" ทั้งที่ไม่เคยไป
"เทอร์มินอล 21" ดังที่สุดช่วงน้ำท่วมเมืองกรุง
ผู้ประสบภัยที่ยังอยากหาสีสันในชีวิต ต้องไป "เทอร์มินอล 21"
เพราะเป็นแหล่งบันเทิงใหม่ที่อยู่ติดกับรถไฟฟ้า
เดินทางสะดวก
เท้าไม่ต้องแตะน้ำ
รู้ไหมครับว่า "เทอร์มินอล 21" เริ่มต้นจากอะไร
ดีไซน์...ถ่ายรูป
ไม่ใช่ครับ
ที่ดินแปลงนี้อยู่ถนนสุขุมวิทติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อยู่ระหว่างเซ็นทรัล ชิดลม กับเอ็มโพเรี่ยม ห้างไฮไซของเมืองกรุง
ก่อนหน้านี้เคยเป็นโชว์รูม "วอลโว่" มาก่อน
เจ้าของที่ดินคือตระกูลหวั่งหลี
"อนันต์ อัศวโภคิน" ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เช่าที่ดินแปลงนี้ 30 ปี
ตอนเริ่มต้นคิดที่จะพัฒนาเป็นท่าอากาศยานช็อปปิ้ง และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ด้านหลัง
"อนันต์" เห็นผลการศึกษาประชากรในพื้นที่แล้ว พบว่ามีอาคารสำนักงาน 850 แห่ง โรงแรม 107 แห่ง
ประชากรสัญจร 500,000 คนต่อวัน
ศูนย์การค้าที่มีอยู่อย่างเซ็นทรัล ชิดลม และเอ็มโพเรี่ยม ก็จับกลุ่มเป้าหมายระดับสูง
ไม่มีศูนย์การค้าสำหรับคนทำงาน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่
เขาตั้งใจสร้าง "ความแตกต่าง" และจับกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง
และ "ความแตกต่าง" หนึ่งที่เกิดจากคำถามง่ายๆ ในใจเขา
"อนันต์" ตั้งคำถามว่าพนักงานในบริษัทต่างๆ ที่อยู่สุขุมวิทไปทานข้าวที่ไหน
เพราะอาหารแถบนี้ราคาค่อนข้างสูง
ถ้าถูกหน่อยก็อยู่ข้างถนน
เขาคิดง่ายๆ ว่าถ้ามีร้านอาหารอร่อยๆ อยู่ในศูนย์การค้าที่เดินทางสะดวก ขายแค่จานละ 25-35 บาท
พนักงานบริษัทต่างๆ ต้องมากินอย่างแน่นอน
ที่ "เทอร์มินอล 21" จึงระดมร้านอาหารอร่อยจากเยาวราช และแหล่งต่างๆ ซึ่งเป็นร้านที่ไม่ค่อยได้เห็นในศูนย์การค้าทั่วไป
เช่น สุกี้มาเวอริค บะหมี่อั้งเป็งชุง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อโปวเทียมฮง ข้าวมันไก่ไท้เฮง ฮาวาข้าวหมก ฯลฯ
คออาหารอร่อยจะรู้จักกันดี
ส่วนหนึ่งที่ร้านอร่อยเหล่านี้ไม่ยอมเข้าห้าง เพราะต้องเจอค่า "จีพี" หรือส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 40%
ถ้าขึ้นห้างเมื่อไร ราคาต้องขยับทันที
"อนันต์" ใช้วิธีการเจรจาง่ายๆ คือ ลดค่าจีพีลงจนแทบติดดิน
แล้วถามทุกร้านว่าถ้า "จีพี" แค่นี้
ขาย 25-35 บาท หรือ ขายราคาปกติที่เคยขายในร้านเดิมได้หรือเปล่า
ทุกร้านตอบว่า "ได้"
นี่คือ ที่มาของ PIER 21 Bangkok
"ทำเล" ก็ไม่ธรรมดา
เขาเปลี่ยนทำเลที่ค่อนข้างอับ ให้กลายเป็นจุดเด่น
สำหรับร้านค้าทั่วไปมักชอบอยู่ชั้นล่างๆ ไม่ค่อยมีใครอยากขึ้นไปอยู่ชั้นสูง
ในมุมกลับ ชั้นสูงๆ กับทำเลริมหน้าต่าง เป็น "ทำเลทอง" ของ "คอนโดมิเนียม" เพราะขายทิวทัศน์ริมกระจก
"ร้านอาหาร" หรูๆ ก็เช่นกัน
"อนันต์" จึงนำ PIER 21 Bangkok ไปอยู่ชั้น 5
ลูกค้าต้องขึ้นชั้นสูงหน่อย แค่แลกกับอาหารอร่อย ราคาไม่แพง และวิวกระจกที่มองลงไปเห็นเมืองกรุง
ระเบิดครับ
ขายกันระเบิดเถิดเทิง
จนถึงขั้นมื้อกลางวันบางวัน ลูกค้าต้องยืนกินแล้ว
ของอร่อย ราคาไม่แพง
กินแบบยืนดูวิว ก็ยอม
แต่ที่พลาดไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไป "เทอร์มินอล 21" คือ "ห้องน้ำ"
นอกจากทุกชั้นจะดีไซน์ไม่เหมือนกันแล้ว
ทีเด็ดอยู่ที่โถชักโครกครับ
"อนันต์" เคยเล่าให้ผมฟังนานแล้วเรื่อง "ห้องน้ำ"
ที่แฟชั่นไอส์แลนด์ เขาเริ่มนำอุปกรณ์ชักโครกแบบทันสมัยจากญี่ปุ่นมาใช้ในห้องพักของสมาชิกแฟชั่นไอส์แลนด์
ชนิดที่น้ำพ่นและลมเป่าทำความสะอาด
ราคาประมาณ 60,000 บาท
แต่ที่ "เทอร์มินอล 21" ทุกห้องน้ำ ทุกชั้น มีหมดครับ
สาวๆ จะชอบมาก
ไม่ว่าจะ "เบา" หรือ "หนัก" เธอก็จะเจอกับน้ำพ่นและลมอุ่นๆ
แต่ผู้ชายมีน้อยรายที่จะได้รับบริการพิเศษดังกล่าว
เพราะ "เบา" กับ "หนัก" ของผู้ชายจะแยกส่วนกัน
จะเข้าไปชะโงกดูในห้องส้วมแล้วกดเล่นก็ไม่ได้
ยกเว้นอยากจะล้างหน้าด้วย "น้ำอุ่น"
บอกก่อนว่าไม่ต้องกลัวว่าใบหน้าจะเปียกครับ
เพราะมีบริการเป่าลมอุ่นๆ ให้หน้าแห้งด้วย
ไม่เชื่อ ลองดู!!!
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
รู้สู้ flood ep.8 : รู้ทันน้ำเสีย
www.youtube.com/watch?v=CK9PeajWzaw
รู้สู้ flood ep.9 : ตั้งหลัก หลังน้ำลด
www.youtube.com/watch?v=LsFM0C-t7-A
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย