.
มีรายงานพิเศษ - นายกฯ ปู-บิ๊กตู่" จูบปาก ละครรักแห่งปี จับตาศึกแก๊ง "อำมาตย์" แห่งสุขุมวิท กับแก๊งแดง แห่ง "ลาดพร้าว"
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
"นารี"ขี่กระแส ประชาธิปไตย
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 9
หากเราจมอยู่กับขัดแย้งภายในประเทศ แบบ เอา-ไม่เอาทักษิณ
ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ภาพที่ นางออง ซาน ซูจี จับมือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกมองอย่าง "ขมุกขมัว" ยิ่ง
เป็นความขมุกขมัว อันสืบเนื่องมาจากคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ว่า ได้เดินทางไปเยือนพม่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตประธานาธิบดีพม่า เพื่อปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พบกับ นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติ ระหว่างไปประชุมผู้นำกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 ที่กรุงเนย์ปิดอว์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา
ตามคำให้สัมภาษณ์นี้ ถูกวิพากษ์จากฝ่ายที่ไม่ชอบทันทีว่า เป็นสิ่งไม่เหมาะสม ก้าวก่ายการทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ตอกย้ำ การครอบงำ และใช้น้องสาวเป็นร่างทรง
และก้าวลึกไปสู่ประเด็นผลประโยชน์ โดยชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคลื่อนไหวครั้งนี้ น่าจะหวังถึงการแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านพลังงานจากพม่า โดยใช้ "กิจการบ้านเมือง" ผ่าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นใบเบิกทาง
ข้อสังเกต และข้อสงสัยเหล่านี้ดูมีน้ำหนัก และน่าเชื่อมากขึ้น หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ที่บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ ซึ่งเป็นของตระกูลชินวัตร ขณะนั้น ได้ให้เช่าบริการดาวเทียม แก่บริษัทบากันไซเบอร์เทค ของบุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรี ขิ่น ยุ้นต์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกล่าวหาว่าได้กดดันเอ็กซิม แบงก์ อนุมัติเงินกู้ 4,000 ล้าน เพื่อให้บริษัทดังกล่าวนำมาซื้อสินค้าบริษัทชินวัตร
และเรื่องนี้เป็นคดีที่ติดตัว พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่
ทุกย่างก้าวเกี่ยวกับพม่าของอดีตผู้นำคนนี้ ดูจะมีเงื่อนงำไปเสียทั้งหมด
แน่นอน ย่อมรวมถึงการปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พบกับนางออง ซาน ซูจี ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมมองนักวิชาการด้านความมั่นคง อย่าง นายสุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ชี้ให้ เห็นท่าทีใหม่ของรัฐบาลวอชิงตันต่อรัฐบาลทหารย่างกุ้ง ที่เป็น "บวก" อย่างยิ่ง หลังจากที่รัฐบาลพม่า ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ได้แสดงท่าทีที่เป็นประชาธิปไตย อย่างที่ไม่ปรากฏมาก่อน
ไม่ว่าการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
การเปิดเจรจา และให้อิสระแก่ นางออง ซาน ซูจี ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งคืบหน้าไปไกลถึงขนาดให้มีการฟื้นคืนพรรคสันนิบาตแห่งชาติ
และเปิดทางให้ นางออง ซาน ซูจี ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้
ที่สำคัญ ยอมให้ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางไปพบ นางออง ซาน ซูจี ได้ถึงย่างกุ้ง
ถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของพม่า
และทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการเมืองระหว่างประเทศครั้งใหม่
มหาอำนาจโลกไม่ว่า จีน ยุโรป ต่างปรับท่าทีกับพม่าครั้งใหญ่
โดยเฉพาะจีน ซึ่งถือเป็น "พันธมิตรเก่าแก่" ตื่นตัวมากที่สุด เพื่อที่ดำรงอิทธิพลของตนเองเอาไว้
พม่า กลายเป็นเวทีแห่งการขับเคี่ยวทางการเมืองระดับโลก
ซึ่ง นายสุรชาติ บำรุงสุข ชี้ว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้องขบคิดให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ตก "ขบวนประวัติศาสตร์"
เพราะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ ปีใหม่ 2555
จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาปัญหาความมั่นคงชุดนี้อย่างจริงจัง
และได้เสนอว่า เมื่อรัฐมนตรีหญิงอเมริกันเยือนแล้ว
ก็น่าที่นายกฯ หญิงของไทยจะไปเยือน และหาโอกาสพบกับว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของพม่าในอนาคตบ้าง
ตามข้อเสนอนี้ เท่ากับเป็นการผลักดันให้ไทยเดินเกมรุก ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศบ้าง
"รุก" หลังจากที่ระยะหลัง เราถูกมองว่า เป็นตัวปัญหาของอาเซียน มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน มาโดยตลอด
แล้วที่สุด ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เราก็ได้เห็นภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บินไปจับมือกับ นางออง ซาน ซูจี
และตามคำแถลงของ น.ส.ฐิติมา ฉายแสง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมในเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของ นางออง ซาน ซูจี ที่มีต่อการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า"
"ทั้งยังเห็นว่าบทบาทของ นางออง ซาน ซูจี ในด้านการต่างประเทศนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับพม่า"
"โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีไทยยังได้แสดงความยินดีกับบทาทของนางซูจีที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ต่อการพัฒนาการเมืองในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจของนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในพม่าที่คาดว่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้"
ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การพบปะกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กับนางซูจีครั้งนี้ โฆษกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยของ นางออง ซาน ซูจี เผยว่าถือเป็นครั้งแรกที่ซูจีได้พบกับผู้นำรัฐบาลของประเทศในภูมิภาค และเป็นการพบกับบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีของมิตรประเทศเป็นครั้งแรกนับจากซูจีถูกปล่อยตัวจากการกักบริเวณในบ้านพักเมื่อราว 1 ปีก่อน
นี่ย่อมถือเป็นภาพ "บวก" ต่อประเทศไทย และต่อนายกรัฐมนตรีหญิงอย่างไม่ต้องสงสัย
และแม้จะมีคำถามมากมาย ต่อบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในกรณีนี้
แต่สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประเมินการพบกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นางออง ซาน ซูจี ก็น่าพิจารณาคือ
1) การที่รัฐบาลพม่า และ นางออง ซาน ซูจี ยอมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าพบ แสดงให้เห็นว่า พม่าให้ความสำคัญกับไทยอย่างมาก
2) ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้นำของไทยเข้าพบกับ นางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า เนื่องจากก่อนหน้านี้พม่าไม่เคยอนุญาตให้ผู้นำประเทศอื่นๆ เข้าพบหารือกับซูจี เช่นนี้มาก่อน
3) ประชาคมโลกจะได้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างมาก ประกอบกับแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า พม่ามองไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญที่สุดชาติหนึ่ง
หากเราก้าวพ้นความขัดแย้งภายในประเทศ อันขมุกขมัว อยู่เพียง เอาหรือไม่เอาทักษิณ
ไปสู่การพิจารณาร่วมกันว่า หากร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อขยายช่องทางสำหรับการมีที่ยืนในเวทีระหว่างประเทศ
ภาพนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย และมาจากการเลือกตั้ง จับมือกับสตรีเหล็กที่ยืนหยัดต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ไม่ย่อท้อ ย่อมเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองอย่างชื่นชม แน่นอน
ถือเป็นความสำเร็จในการเดินเกมระหว่างประเทศไม่น้อย
และเป็นภาพ "บวก" ต่อประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
++
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 8
ข่าวคราวปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถือว่ากระชับมากเข้าทุกขณะ จุดลงตัวน่าจะประมาณกลางเดือนมกราคม 2555 "ปู 2" และไปๆ มาๆ การล้างไพ่ กลับกลายเป็นว่า ทาง "นายใหญ่ดูไบ" ต่างหากเป็นฝ่ายคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการเร่งปรับ ครม. ให้เหตุผลว่า เร็วเกินไป เพิ่งเข้ามาทำงานกันคนละ 3-4 เดือน ยังไม่ได้โชว์ผลงานอะไรเลย วัดฝีมือยาก เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ มัวแต่ยุ่งและวุ่นวายอยู่กับการร่วมแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม
"นายใหญ่" เห็นว่า "ควรจะเปิดโอกาสให้ทำงานกันไปอีกระยะหนึ่ง ไปทำการปรับใหญ่เอาตอนเดือนมิถุนายน หลังประชากรบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษแบนในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเตรียมชื่อ ดันเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแล้ว และเชื่อว่า เมื่อถึงตอนนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะเสริมใยเหล็ก เพิ่มเขี้ยวเล็บได้แหลมคมยิ่งขึ้น
"คนบ้านเลขที่ 111" ชื่อชั้น ชั่วโมงบินสูง ปรับเข้าไปเสริมใยเหล็กให้ "นายกฯ ปู" อยู่ต่อไปได้สบาย สามารถต่อกรกับฝ่ายค้านหรือพรรคประชาธิปัตย์ได้สบายๆ
ปรับในเดือนมกราคมแล้ว เว้นช่วงไปสี่ซ้าห้าเดือนก็ต้องปรับอีกทีอยู่ดี
แต่คนที่อาทรร้อนใจ รุกให้ปรับ ครม. ในเร็ววัน กลับเป็น "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" อ้างว่า แม้บริหารประเทศมา 3-4 เดือน แต่การที่ประเทศประสบภัยน้ำท่วม ทำให้รู้แจ้งแทงทะลุหมดไส้หมดพุงว่า ใครมีความรอบรู้ เสียสละขนาดไหน
"นายกฯ ปู" อ้างกับผู้พี่ว่า ถ้าไม่ปรับไม่มีใครช่วยทำงานให้เลย
จึงเข้าบทสรุปว่า "ปู 1" ถึงเวลาปรับใหญ่ ถูกขึ้นบัญชีดำไว้ราว 7-8 ที่นั่ง มีระนาบว่าการ 2-3 คนที่จะถูกเขี่ยทิ้งกลางอากาศ
ขณะเดียวกัน "ชาว 111" เองก็ไม่อยากให้ "ยิ่งลักษณ์" ปรับ ครม. ในช่วงกลางเดือนหน้า อยากให้ประคับประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ค่อยไปลงมือยำใหญ่หลังพวกตนพ้นโทษแบน
"ทักษิณ" คิดการณ์ไกล ไม่เพียงแต่จะให้เครือข่ายขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญ แต่ยังวางโจทย์เพื่ออนาคต ด้วยแผนดึง "คนบ้านเลขที่ 111" ที่จะได้รับเสรีภาพในพฤษภาคม กลับบ้านเก่าจำนวนหลายคน ดึงมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" สืบทอดอยู่บนศูนย์อำนาจยาวนาน
บุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับแถวหน้า พร้อมที่จะดึงกลับมาประกอบด้วย "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-สุรเกียรติ์ เสถียรไทย-สุวัจน์ ลิปตพัลลภ-สมศักดิ์ เทพสุทิน-ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ-พินิจ จารุสมบัติ-สนธยา คุณปลื้ม"
ซึ่งส่วนใหญ่ยอมจำนนแล้วว่า ถนนสายการเมืองในอนาคต เวทีแคบลง ต่อสู้กันแค่ 2 พรรคระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์
ประจักษ์แล้วว่า หากประชาธิปัตย์ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรคใหม่ ก็ยากที่จะชนะเครือข่ายทักษิณได้
เพราะพื้นที่เข้มแข็ง ปริมาณแตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง กล่าวคือ ภาคใต้ 14 จังหวัด สัดส่วน ส.ส. แค่ 53 เสียง ครึ่งหนึ่งของภาคอีสาน เท่ากับฐานยืนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คนอีสาน-เหนือ ยังเลือกเพื่อไทยไม่เปลี่ยนแปลง คนปักษ์ใต้ กี่สมัยก็ยังเลือกใช้บริการประชาธิปัตย์
แผนรวบรวมคนเก่าคนแก่ "กลับบ้านเก่า" ของ "นายใหญ่ดูไบ" จะค่อยๆ รุกคืบ หลังพ้นโทษแบนในเดือนพฤษภาคม หลายคนเตรียมคืนเวที อาทิ "สุวัจน์" อาจจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง "สนธยา คุณปลื้ม" ค่ายพลังชล กำลังต่อรองแบ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มากำกับดูแลจากชาติไทยพัฒนา
กลุ่มมัชฌิมาของ "สมศักดิ์" ที่ขณะนี้สังกัดภูมิใจไทย ร่วมกับ "เพื่อนเนวิน" แต่มีการบินไปเคลียร์หน้าเสื่อกันที่เกาะฮ่องกงเรียบร้อยแล้ว "นายใหญ่" ไม่รังเกียจในการคัมแบ๊กสู่บ้านหลังเก่า
ขณะที่ฝั่งเพื่อไทย เร่งเสริมใยเหล็กกันเป็นการใหญ่ วางโปรแกรมหลังประชากรบ้านเลขที่ 111 หลุดวงโคจรออกมา จะเติมเต็มทุกพื้นที่ ให้แข็งแกร่งดุจเดียวกับเมื่อครั้งอยู่ไทยรักไทยด้วยกัน
ฟากประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะอ่อนแรงลงไปมากกว่าเดิมหลายเท่า การที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ตัดสินใจทิ้งเก้าอี้เลขาธิการพรรคไปแบบถาวร
ส่งไม้ต่อให้กับ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" ดาวรุ่ง แต่เมื่อเทียบฟอร์มกันแล้ว ฝีไม้ลายมือระหว่าง "สุเทพ-เฉลิมชัย" ห่างกันหลายช่วงตัว
เห็นได้กระจ่างชัดเลยว่า การที่บารมีทางการเมืองยังไม่สุกงอมเพียงพอ การทำงานข้ามห้วย ประสานกับพรรคอื่น จึงเป็นไปด้วยความลำบาก
ประชาธิปัตย์ตอนนี้ต้องยอมหลุดเฟรมออกจากสนามข่าวทีละคืบสองคืบ
มีข่าวว่า "เฉลิมชัย" รู้ตัวเองดีว่า ภารกิจบนเก้าอี้ตัวนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก หลังจากเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคแล้ว กลับเงียบหาย หลุดออกจากสนามข่าว แบบไร้ร่องรอย
เทียบพื้นที่กับช่วงที่ "สุเทพ" ยังเป็นแม่บ้านอยู่ไม่ติดฝุ่น
แต่หลังปีใหม่ไปแล้ว "เฉลิมชัย" เตรียมเดินสายพบปะสื่อ เพื่อโชว์วิสัยทัศน์เสริมสภาพให้กับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในการทำศึก และเชื่อว่าจะกู้ชื่อให้ประชาธิปัตย์ กลับมาชิงดำกับเพื่อไทยได้อีกครั้ง
++
"นายกฯ ปู-บิ๊กตู่" จูบปาก ละครรักแห่งปี จับตาศึกแก๊ง "อำมาตย์" แห่งสุขุมวิท กับแก๊งแดง แห่ง "ลาดพร้าว"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 15
การเหยียบเยือนเข้าเขตทหารของ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมทุกเหล่าทัพที่มีบิ๊กๆ ทหารมายืนตะเบ๊ะต้อนรับ และร่วมโต๊ะประชุมและทานข้าวกันอย่างชื่นมื่น ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า รัฐบาลเพื่อไทย กับ กองทัพ มีความสัมพันธ์อันหวานชื่น เสริมด้วยความอ่อนนุ่ม สวยสง่า ของนายกรัฐมนตรีหญิง
แต่ทว่า นั่นเป็นแค่ละครฉากใหญ่...
ละครที่ต่างฝ่ายต่างสวมบทบาทที่แสนดีต่อกัน พูดจาภาษาดอกไม้ และคำหวาน แต่ทว่าต่างถือมีดไว้ข้างหลัง พร้อมที่จะห้ำหั่น เมื่อมีโอกาสและเงื่อนไข
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เล่นบทตามสคริปต์ แต่งตัวสวยสง่า ยิ้มแย้มแจ่มใส โอภาปราศรัยกับ ผบ.เหล่าทัพและขุนทหาร โดยไม่ใส่ใจว่าในสมองและหัวใจพวกเขาเป็นอย่างไร ขอแค่การแสดงออกให้เกียรติเธอในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้หญิง เท่านั้นเป็นพอ
เธอเองก็พยายามสร้างความคุ้นเคยและเป็นกันเอง ที่ในเวลาทางการจะแทนตัวว่า "ดิฉัน" แต่ในการพูดคุยนอกรอบส่วนตัว ก็จะแทนตัวเองว่า "ปู" และมักมียิ้มหวานเป็นเสน่ห์มัดใจขุนทหาร
พร้อมยาหอมเรื่องงบประมาณและโครงการต่างๆ ที่กองทัพเสนอมา ด้วยคำว่า "เดี๋ยวปูจะดูแลให้นะคะ"
แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการรับปากว่าจะได้ตามนั้นทุกอย่าง เพราะแม้แต่เรือดำน้ำของ ทร. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ผูกมัดตัวเอง ด้วยการระบุว่า เห็นด้วยในหลักการความจำเป็นที่ต้องมี แต่ทว่าก็ต้องดูลำดับความสำคัญเร่งด่วน และไม่รับปากด้วยว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายในกี่ปี
และไม่ยืนยันว่า ทร. จะมีอิสระในการเลือก แบบเลือกประเทศเองหรือไม่ ในเมื่อตอนนี้ โคลัมเบียซื้อเรือดำน้ำเยอรมนีไป 2 ลำแล้ว เหลือแค่ 4 ลำ ที่ ทร. คงไม่สามารถเอามาทำอะไรได้ตามแผน เพราะจำนวน 2 ลำนั้น เอาไว้เป็นอะไหล่ในการซ่อมบำรุง
ทั้งๆ ที่บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. คนนี้ ถือว่ามีพิษสงน้อยที่สุดในบรรดา ผบ.เหล่าทัพ เพราะเป็นทหารเรืออาชีพ และชื่นชมในตัวนายกรัฐมนตรีหญิงไม่น้อย จนเคยถูกมองว่าเป็นแตงโมด้วยซ้ำ แต่เพราะมีการเมืองแทรก กลาโหมดองเรื่องไว้นานจนเลยเดตไลน์ จนทหารเรืออาจต้องถอดใจยอมแพ้
เช่นเดียวกับงบประมาณ 10,563 ล้านบาท ในการฟื้นฟูกองทัพอากาศ ที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ตัดไปกว่า 1,300 ล้าน ถึงเวลาจริงเมื่อบิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. แจงความจำเป็น รวมทั้งการดูแลเขตพระราชฐานในวันไปเยือนทัพฟ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็พูดเหมือนเข้าใจ ทำให้ ผบ.ทอ. เชื่อว่าไม่ต้องตัดงบฯ
ทั้งๆ ที่ พล.อ.อ.อิทธพร นั้นรู้ดีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใกล้ชิดสนิทสนมและฟังข้อมูลจากนายทหารอากาศ ตท.10 ศัตรูของตนเองมาตลอด แต่ก็ต้องยิงยิ้มเข้าใส่กันไปพลาง
หากสังเกตจะเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่พูดอะไรที่เป็นการผูกมัดตัวเองและรัฐบาลในสิ่งที่กองทัพค้างคาใจ ทั้งเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 หรือคดี 91ศพ เสื้อแดง ที่เธอระบุให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112
รวมทั้งการไม่ยืนยันว่าจะโยกย้าย พล.อ.ประยุทธ์ พ้นเก้าอี้ ผบ.ทบ. ในอนาคตหรือไม่ "ตั้งแต่เข้ามาทำงาน ดิฉันยังไม่เคยก้าวก่ายกองทัพ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงทำหน้าที่ตรงนี้อยู่"
นี่จึงทำให้กองทัพเองก็รู้สึกได้ ว่าสิ่งที่ดำเนินอยู่ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ผบ.เหล่าทัพกับนายกรัฐมนตรีหญิง ที่มีเงาดำของพี่ชายอยู่เบื้องหลังนั้น เป็นแค่การแสดง
เพราะในส่วนของกองทัพเอง ใครจะไปเชื่อว่า กองทัพบก ภายใต้การนำของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะยอมจูบปากกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผู้เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เขามีส่วนสำคัญในการปฏิวัติล้มล้างอำนาจ เมื่อ 19 กันยายน 2549 มาแล้ว
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเป็นนายทหารประเภทยอมหักไม่ยอมงอ ไม่ยอมเปลี่ยนจุดยืน เพราะกลัวจะถูกเด้งจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.
ที่สำคัญ เขามีสถานะของทหารเสือราชินีพันธุ์แท้ และภาพพจน์ของการเป็นนายทหารผู้จงรักภักดี ค้ำคออยู่ ไม่อาจเปลี่ยนสี เปลี่ยนหัวใจสีม่วงของเขาได้
แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำได้ในเวลานี้คือ การเล่นละครเพื่อให้รัฐบาล ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง ตายใจว่ายอมสยบต่ออำนาจรัฐ ต่อเสียงของประชาชน ต่อระบอบประชาธิปไตยแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ สุขุมมากขึ้น นิ่งมากขึ้น ไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียวปรากฏให้เห็น หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาล โดยเฉพาะการเลี่ยงวิจารณ์ตรงไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ
"ผมไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ก็ให้ฝ่ายการเมืองว่ากันไปตามกฎหมาย" พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
และไม่ยอมตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะได้กลับประเทศหรือไม่ควรกลับ หากจะเกิดความวุ่นวายขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะปิดบังอำพรางความรู้สึกของตนเองด้วยการไม่พูดได้ แต่ทว่าไม่อาจปกปิดความรู้สึกลึกๆ ในแววตาและสีหน้าของตนเองได้เลย
อีกทั้งเวลาอยู่กับเพื่อนซี้และนายทหารที่สนิทสนมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะพยายามไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ก็อดบ่นไม่ได้ จนบางครั้งก็อดเหน็บแนมกระแหนะกระแหนไม่ได้
จนรู้กันดีใน ทบ. ว่า "ผบ.ทบ.คนนี้ไม่มีเปลี่ยนใจ แต่ต้องแสดงออกเพื่อให้เกียรติผู้หญิง ในฐานะผู้นำ และในฐานะที่เป็นกลไกของรัฐบาล ส่วนในใจจะคิดยังไงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
แต่ต่อหน้าธารกำนัลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามแสดงให้เห็นถึงความหวานชื่นใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดข่าวลือและซุบซิบกันในกองทัพว่า ผบ.ทบ. จูบปากกับนายกฯ แล้ว เสมือนว่าเขาเปลี่ยนจุดยืน
จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเปรยในที่ประชุม ทบ. เพื่อไม่ให้ลูกน้องเข้าใจผิด ว่ายังเป็นคนเดิม เป็นนายทหารที่จงรักภักดี แต่ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ตามคำสั่งของรัฐบาล
เพราะตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จนมาช่วงแก้ปัญหาน้ำท่วมเรื่อยมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกจับตามองว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะเขาร่วมมือกับรัฐในการช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ โดยเฉพาะการออกตรวจพื้นที่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และการโทรศัพท์สายตรงถึงกันตลอดทั้งวี่วัน แม้แต่ในเวลากลางคืนดึกดื่น
"ขอให้มั่นใจใน ผบ.ทบ. คนนี้" บิ๊ก ทบ.รายหนึ่ง การันตี
แม้แต่มีข้อเสนอจากฝ่ายรัฐ ให้ทหารให้ปากคำโยนความผิดให้ ศอฉ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. เพื่อแลกกับการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังแข็ง แม้ปากจะไม่ปฏิเสธ เนื่องจากเป็นความอยู่รอดของลูกน้อง และ ทบ. แต่ในทางลับแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ สะกิดทหารที่ไปให้ปากคำ ให้ช่วยเซฟๆ นายสุเทพด้วย
รวมทั้งให้นายทหารพระธรรมนูญหรือคนที่เกี่ยวข้องไปช่วยดูแลนายสุเทพ ในการต่อสู้คดีนี้ด้วย ในเรื่องข้อมูลเอกสาร
"ใครดีกับเรา เราก็ต้องดีกับเขา" พล.อ.ประยุทธ์ กำชับลูกน้อง
แต่มีรายงานว่าบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ก็คอยชี้แจงแทนน้องตู่ ให้ทางแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รับรู้มาโดยตลอดอีกด้วย
แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะมีขีดจำกัดของตัวเองในการอดทนและแสดงละคร เพราะถ้าฝ่ายตรงข้ามแตะต้องสถาบัน และวิจารณ์กองทัพอย่างไม่มีเหตุผล พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะออกมาคำรามบ้าง
โดยเฉพาะพวกที่อยากแก้ไขมาตรา 112 ที่ใช้คำค่อนข้างแรงว่า "ก็ไปอยู่ต่างประเทศก็แล้วกัน" แค่ประโยคเดียวก็บ่งบอกทุกอย่างชัดเจน
รวมทั้งการเอ่ยปากกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม ให้เอาจริงเรื่องเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน
ฝ่ายแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำเสื้อแดง และนายทหาร ตท.10 เพื่อนทักษิณ และบรรดาแตงโม นั้นก็รู้ดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเยี่ยงไร ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงเขาได้
อีกทั้งกองทัพมีบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ซึ่งเป็นนายทหารที่มีความชัดเจนเรื่องความจงรักภักดีและใกล้ชิดสถาบันด้วยยิ่งแล้ว กองทัพก็ยังถือว่าเป็นกล้ามเนื้อนอกบังคับของรัฐบาล
และยังเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า อำมาตย์ ในการล้มรัฐบาลได้ทุกเมื่อ
จึงไม่แปลกที่ พรรคเพื่อไทย จะมีการปูดบันได 9 ขั้นในการล้มรัฐบาล ซึ่งมีเรื่องการสร้างความขัดแย้งแตกแยกระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ รวมอยู่ด้วย
หลังจากที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แฉขบวนการสร้างสถานการณ์ และนำไปสู่การล้มรัฐบาล ที่อ้างชื่อ "พลเอก พ." ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ กับ 2 ป. ที่เคยเป็นแนวร่วมในการปฏิวัติรัฐประหารล้มระบอบทักษิณ มาแล้ว
ป.ฟันไม่ขาว ถูกระบุว่าเป็นสายตรงจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ และกลุ่มเคลื่อนไหวของสีเหลือง ส่วนอีก ป.สุขุมวิท นั้น เป็นเจ้าของบ้านที่เคยเป็นที่ประชุมวางแผนปฏิวัติมาแล้ว
ประเด็นสำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่าศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในฝั่งอำมาตย์นั้น ยังคงอยู่กันพร้อมหน้า และยังอยู่ในสถานะสำคัญ เพียงแต่ยังไม่ออกอาวุธ แค่ลองเชิงก่อนเท่านั้น เพราะไม่สามารถต้านทานพลังของประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยมาอย่างถล่มถลาย จึงต้องเก็บตัวเงียบไปก่อน
แต่ทว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เพื่อชิงไหวชิงพริบกันในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น
สายข่าวในฝั่งรัฐบาล อ้างว่า มีการนัดประชุมรวมตัวทานข้าวกัน ของแกนนำอำมาตย์หน้าเก่าๆ คนเดิมๆ ที่บ้านสุขุมวิทหลังเดิม ก็ ป. อีกแล้ว
แม้แต่ประตูบ้านสี่เสาเทเวศร์ ก็ปิดสนิทดูเงียบนิ่ง แต่ทว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ในเรือนหลังเล็ก
ไม่แค่นั้น ยังมีก๊วนเสื้อสีน้ำเงิน รวมตัวพบปะวางแผนการต่างๆ กันอีก โดยเปลี่ยนจาก พูลแมน และปริ๊นเซส มาเป็นโรงแรมหรูใจกลางเมืองเป็นกองบัญชาการ
รวมทั้งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางคนยังคงแอบไปพบปะทานข้าวกับอดีตบิ๊กทหาร ที่ล้วนเป็นพี่เลิฟของ พล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่การข่าวกรองของฝ่ายอำมาตย์ ก็ระบุว่า มีคีย์แมนสายรัฐบาลและบิ๊กข้าราชการที่นัดหารือกันเนืองๆ ที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งในลาดพร้าว 18 ที่ถือเป็นวอร์รูมของแก๊งสีแดง
ที่สำคัญ อาคารหลังนี้ เคยตกเป็นข่าวลือหนาหูคนในซอย เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤติน้ำท่วม ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แอบเข้ามาพำนักอยู่ เพื่อดูลู่ทางในการกลับประเทศ และพบปะคนใกล้ชิด และวางแผนให้น้องสาว
ข่าวลืออ้างว่า หน่วยข่าวมีการตรวจสอบความเป็นไปได้และแกะรอย โดยพบว่ามีการนั่งเฮลิคอปเตอร์ตำรวจเข้ามาจากชายแดนกัมพูชา โดยบินในระดับต่ำ เพื่อหลบการจับกุมของเรดาร์ตรวจการณ์ของทหาร และอาศัยในช่วงที่ทหารวุ่นกับการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วม อีกทั้งในเวลานั้น มีการนำ ฮ. ของทุกหน่วยบินขึ้นลงกันมากมายหลายเที่ยวในหลายพื้นที่
แม้ว่าจะเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่น่าจะกล้าเข้ามา แต่ทว่าข่าวลือนี้ก็ยิงตรงถึง บก.ทบ. เลยทีเดียว
ไม่แค่นั้น ยังมีการลือกันอีกว่าอาคารหลังเดียวกันนี้ในซอยนี้ ก็ยังเป็นที่รับรองดูแล พล.ท.ฮุน มาเนต ลูกชาย สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มาพักเงียบๆ ก่อนล่วงหน้าหลายวัน เพื่อรอไปร่วมงานแต่งงาน เอม-พิณทองทา ชินวัตร ท่ามกลางการ รปภ. อย่างเข้มงวด
พร้อมทั้งระบุว่าหน่วยข่าวได้รายงานว่า มีการหารือถึงแผนการสร้างสถานการณ์ เพื่อที่จะโยนความผิดให้ฝ่ายอำมาตย์ หรือกลุ่มอำนาจเก่า ด้วย
จนมีการอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งหน่วยข่าวลับส่วนตัวในการเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น ทั้งระเบิด และความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งมีเงื่อนไขที่พร้อมถูกปลุกให้มีการออกมาเดินถนน แถมมีหลายกลุ่ม และมือที่สาม รวมทั้งหลายก๊วนในพรรคเพื่อไทย ที่อกหักจากการมีอำนาจหรือมีตำแหน่งใน ครม. ที่พร้อมจะเป็นกฐินสามัคคีเขย่ารัฐบาล
นี่เป็นการสะท้อนว่า ทั้งฝ่ายอำมาตย์ที่มีกองทัพเคียงข้าง กับรัฐบาลใต้ร่มเงาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงทำสงครามกันอยู่ในทุกรูปแบบ เพียงแต่รอดูเชิง หยั่งเชิงดูว่าใครจะเหยียบตาปลาใครก่อนเท่านั้น
แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ การยิงกระสุนยิ้มเข้าใส่กัน ทั้งๆ ที่หัวใจปราศจากซึ่งความรัก แต่ในมือถืออาวุธพร้อมจะห้ำหั่นกัน
นี่แหละพิษสงแห่งอำนาจ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย