โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 80
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มารดาบังเกิดเกล้าของฉันมีดำริในการต่อเติมซ่อมแซมบ้านขึ้นมา (อีกแล้ว) ก็เลยมีการให้ต้องย้ายข้าวของกันเสียยกใหญ่
โดยหนึ่งในจำนวนข้าวของที่ต้องได้รับการขยับที่ทางนั้นได้แก่หนังสือของฉันเอง
ไอ้ปัญหาเรื่องหนังสือของฉันนี่ แม่ฉันถือว่ามันขยายวงกว้างจนบานปลาย เกือบจะเลวร้ายเกินแก้เสียแล้ว ดีว่าเขายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ทัน
แต่ก็ตามประสาของคนที่อยู่กับอะไรมานานๆ จนสบายดีและไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาตรงไหนอย่างฉัน
หนังสือที่ท่วมท้นล้นปรี่ ที่วางอยู่ตรงนั้นตรงนี้ไม่เคยเป็นปัญหาของฉัน ดีเสียอีกที่มีวางไว้ให้หยิบอ่านกันง่ายๆ หันไปทางไหนก็เจอ ไม่ใช่จะอ่านขึ้นมาทีก็ต้องเดินขึ้นบันไดไปหยิบเล่มใหม่มาทีให้เสียจังหวะ การใช้ชีวิตแบบหายใจทิ้งของฉันเป็นยิ่งนัก
แต่ก็อย่างว่า, หนังสือนั้นไม่เคยเป็นปัญหา ปัญหาคือแม่ต่างหาก
ปัญหาใหญ่ด้วย ยอมเสียแต่โดยดีจะง่ายกว่า
ดังนั้น, หลังจากการจำนนต่อนโยบายและโครงการอะไรอะไรของแม่แล้ว แรงงานจากฉันจึงต้องถูกนำมาใช้ไปในการนี้บ้าง ในการขนหนังสือขึ้นไปตามคำบัญชาของแม่
ฉันเลยได้เห็นหนังสือหลายๆ เล่มที่เคยอ่านจบไปแล้วนั่นแหละ แต่ยังไม่มีโอกาสกลับมาอ่านอีกรอบ
แต่สำหรับสภาวะการต้องผุดลุกผุดนั่ง คอยรับคำบัญชาจากแม่ให้หยิบนั่นสิ ยกนี่หน่อย ขยับไอ้นู่นไปตรงนั้น อย่าเอาไอ้นั่นมาวางตรงนี้ ซึ่งไม่เอื้อแก่การจะอ่านอะไรใหม่ๆ ที่ต้องใช้สมาธิสูง เพราะจะถูกขัดจังหวะอยู่ร่ำไป
ทางเลือกของฉันจึงเป็นการหยิบเอาหนังสือเล่มเก่านั่นแหละ
มาอ่านซ้ำอีกครั้งโดยตั้งโจทย์กับตัวเองให้อ่านต่อเนื่องกันเป็นชุด ให้ตัวละครมีความต่อเนื่องกัน
สถานที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรือนักเขียนคนเดียวกันเป็นต้น
หลังจากตั้งโจทย์ให้ตัวเองแล้วก็หยิบหนังสือมาอ่าน
แน่นอน, โดยไม่ลืมที่จะต้องรับคำสั่งจากแม่เสียก่อนว่าอ่านเสร็จแล้วต้องเอามาวางตามที่ที่เธอเพิ่งจัดให้ด้วยนะ
ค่ะ, คุณแม่
แล้วฉันก็อ่าน
การอ่านหนังสือที่เคยอ่านมาแล้วนั้นเป็นความเพลิดเพลินและอุ่นใจอย่างหนึ่ง เหมือนเราเป็นผู้ล่วงรู้อนาคต เราจะรู้ชะตากรรมและรายละเอียดชีวิตของตัวละครที่กระโดดโลดเต้นอยู่บนหน้าหนังสือ
ต่อให้ไม่ได้อ่านมานานแสนนานเราก็ยังมีความรู้สึกคล้ายๆ หมอดูหรือคนทรงที่อาจจะรู้อะไรพอกำกวม ไม่กระจ่างชัดแต่ก็ไม่ได้มืดบอดเสียทีเดียว หลายคนบอกกับฉันว่าอ่านหนังสือซ้ำๆ มันจะไปสนุกอะไร รู้เสียหมดแล้วว่าใครเป็นพระเอกเป็นผู้ร้าย ใครจะต้องตายตอนจบแต่ฉันก็เฉยๆ
ด้วยความรู้สึกว่ารู้แล้วนี่แหละที่ฉันชอบใจ
ยิ่งเป็นหนังสือที่อ้างอิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
หรือตัวละครที่เคยมีชีวิตจริงก็ยิ่งเสริมให้ความรู้สึกการเป็นผู้ล่วงรู้ อนาคตนั้นมากขึ้นไปอีก
เพราะตัวละครที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ ในช่วงเวลาจริงๆ เหมือนอย่างฉันหรือใครๆ ที่หายใจอยู่ในทุกวันนี้ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นความลับ ซ่อนเร้น และมิดชิดดีแล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีหลักฐานเหลือทิ้งไว้มากมายให้นักประวัติศาสตร์ได้สืบค้นและนักเขียนนำเรื่องราวเหล่านั้นมาปะติดปะต่อกันจนเรา, ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ได้ล่วงรู้เรื่องราวและความคิดของพวกเขา ประหนึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เลยทีเดียว
ยิ่งเป็นเรื่องในราชสำนักยิ่งทำให้ความรู้สึกนี้ของฉันแก่กล้า ด้วยว่าราชสำนักนั้นเป็นสถานที่ปิด ลับลี้ ซ่อนเร้น และมีกฎกติกามารยาทต่างๆ มากมายซึ่งคนธรรมดาสามัญอย่างฉันไม่มีวันเข้าใจ
ราชสำนักดูจะขับเคลื่อนชีวิตตัวเองไปด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ที่ไม่ใช่การทำมาหากินธรรมดาๆ อย่างใครๆ
ไม่ใช่การขายก๋วยเตี๋ยว ทำนา เป็นดารา เป็นนักตกแต่งภายใน
หรือเป็นอะไรต่อมิอะไรอย่างพวกเราทั้งหลายที่เดินวนเวียนอยู่ในโลกของสามัญชนภายนอก
บ่อยครั้งกระแสนิยมที่เกิดขึ้นจากในราชสำนักจนกระจายออกมาสู่โลกภายนอกก็เกิดจากความคิดเล่นๆ ชั่วแล่น ความพอใจ หรือการแก้เกมการเมืองของขุนนางหรือองค์เจ้าชีวิตในยุคนั้น
และบางครั้ง, ชะตากรรมของคนบางคนก็เกิดขึ้นจากเหตุเหล่านั้นเช่นกัน
โจทย์ที่ฉันตั้งให้กับตัวเองคืออังกฤษ, ยุคเฮนรี่ที่แปด
ลูกสาวทั้งสองของพระองค์มีชื่อเสียงทั้งคู่
แมรี่ และอลิซาเบธ
ทั้งสองเกิดจากมารดาผู้ที่มีประวัติการสมรสและหย่าร้างที่โด่งดัง เป็นที่กังขา และเป็นที่มาของอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยของพระองค์คือการแยกตัวจากโรม แล้วตั้งลัทธิศาสนาของตนเองขึ้น
โดยจุดประสงค์หลักของพระองค์ก็คือการต้องการจะแต่งงานใหม่ และอยากให้การสมรสเดิมเป็นโมฆะ แถมพระองค์ยังเบื่อหน่ายที่จะต้องจ่ายค่าบำรุงใดๆ ในกิจที่เกี่ยวข้องกับวัดให้แก่โรมอีกด้วย
เรียกว่าไอเดียของพระองค์นั้นผิดทั้งหลักศาสนา และผิดทั้งเรื่องทางโลก
แต่พระองค์ก็ทำ
ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมทำให้เกิดกระแสปั่นป่วนอย่างมากในหมู่ขุนนางและประชาชน
ถ้าเราไม่เชื่อในสิ่งที่พระองค์บอก, เราจะเป็นกบฏ
ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่พระองค์บอก, เราจะต้องละในสิ่งที่เราศรัทธามาตลอด
เป็นปัญหาที่ยากและถึงชีวิตทั้งสิ้น
เมื่อแรกเริ่มยุคของพระองค์, การเผยแผ่ไบเบิลนั้นต้องมาจากพระ และต้องใช้ภาษาละตินเท่านั้น
แปลเป็นอังกฤษถือว่านอกรีต
ถ้าเราแอบคิดอะไรต่างออกไปจากในไบเบิล, เราอาจตกนรก แต่ถ้าเราทำการเผยแผ่อะไรก็ตามที่เราแอบคิดนั้น นอกจากจะเป็นบาปจนต้องตกนรกหมกไหม้แล้วยังอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย
ความแตกต่างเป็นบาป
และความแตกต่างจากสิ่งที่ราชสำนักบอกมาหมายถึงความตาย
ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนั่นฉันอ่านมาจากหนังสือหลายๆ เล่มตามโจทย์ที่ตัวเอง กำหนดขึ้นมา ทั้งนวนิยายและหนังสือสารคดี โดยเล่มที่อ่านอยู่นี่เป็นเรื่องของพระราชินีองค์สุดท้ายของเฮนรี่ที่ 8, พระนางแคธเธอรีน พาร์ ระหว่างอ่านๆ ไปฉันก็นึกไปด้วยว่าโลกในยุคนั้นจะเป็นอย่างไรกันนะ
โลกที่รอให้คนมาสั่งว่าเราต้องทำอะไร เชื่ออะไรได้บ้าง ต้องไม่เชื่ออะไรบ้าง
โลกที่ห้ามเผยแผ่อะไรตามใจ โลกที่ความอยากรู้อยากเห็นอะไรที่ต่างออกไปเป็นเรื่องต้องห้าม
โลกที่มีกติกาซึ่งตั้งขึ้นมาเอาใจคนไม่กี่คน โลกที่ทุกอย่างเหมือนจะแก้ไขได้ด้วยการสั่งห้ามและบทลงโทษอันรุนแรง
ดีเหลือหลายที่ฉันไม่ได้อาศัยอยู่ในโลกใบนั้น
ใช่ไหม?
* * * * * * * * * * * * * * *
* " ราชินีองค์สุดท้าย " ( The Last Wife of Henry VIII ) เขียนโดย Carolly Erickson แปลโดย มนันยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ค, มีนาคม 2554
---------------------------
. . พบความรู้สึกอีกแบบ . . ลองอ่าน
ซูสีไทเฮา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post_13.html
++
อยากเป็นแบบไหน ฉันจะเป็นให้
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1609 หน้า 80
I always thought it would be better, to be a fake somebody... than a real nobody.*
ฉันหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำด้วยความรู้สึกที่เข้มข้นไปด้วยความเป็นส่วนตัว
ทำไมถึงต้องโกหก?
ก็แล้วทำไมถึงจะไม่โกหกล่ะ?
ความคาดหวังนั้นสูงเหลือเกิน อยากให้เราเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นแบบนี้แบบนั้น
ฉันรู้ว่ามันฟังดูโง่เง่าและเข้าข้างตัวเองเวลาอธิบายความหมายว่าทำไมเราถึงต้องโกหกด้วยเหตุผลเช่นนี้
แต่มันก็เป็นเรื่องจริง
เราอยากเป็นตัวเองด้วย และอยากเป็นในสิ่งที่คนคาดหวังได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
เราไม่พร้อมจะมานั่งอธิบายรสนิยมและความรัก ความชอบ ความใช่
เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนอธิบายไม่ได้ และใครที่ไม่ชอบเหมือนกันก็ไม่ใช่ความผิด
เขาเรียกว่ามันคือความแตกต่าง
เรารู้ว่าความจริงนั้นแม้จะดีและถูกเรียกร้องให้นำมาเปิดเผย แต่มันก็ไม่ถูกใจคนฟัง
และที่ร้ายที่สุดนั้นก็คือ, เราโกหกแค่ให้มันผ่านพ้นตัวเราไปเท่านั้นเอง
เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่
ขอโทษด้วยนะหลักศีลธรรม แต่การโกหกใครสักคนมีค่าเพียงเท่านั้นจริงๆ
เพียงเพื่อให้มันผ่านๆ ไป จะได้ไม่เสียเวลาเป็นตัวของตัวเองกัน
อยากให้เป็นแบบไหนเราก็จะเป็นให้
มันก็ง่ายดีไม่ใช่หรือ
ในเมื่อคุณเรียกร้องจะรับฟังความเป็นจริง เราก็บอกความเป็นจริงให้
เมื่อฟังแล้วคุณไม่ชอบ, แล้วมันกลายเป็นความผิดของเราไปตั้งแต่เมื่อไหร่
เรายังโกหกนั้นแปลว่าเราถนอมใจคนฟังอยู่รู้หรือเปล่า
เพราะเรารู้จักคุณดี และเราเป็นห่วงคุณ เรารู้ว่าคุณชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง
และความจริงของเรานั้น เป็นสิ่งที่คุณจะไม่ชอบอย่างแน่นอน
แพทริเซีย ไฮสมิธ เขียนหนังสือเล่มนี้ให้มีความแตกต่างจากขนบทั่วไป โดยดำเนินเรื่องผ่านสายตาของผู้ที่เป็นตัวร้าย และบอกให้ผู้อ่านได้รู้ตั้งแต่แรกว่าเขาเป็นผู้ร้าย เป็นผู้ก่อเหตุ และได้ทำอะไรกับใครไปบ้าง
และระหว่างการเล่านั้นเอง สิ่งที่ไฮสมิธได้มอบให้กับชายผู้ซึ่งเป็นคนร้ายนี้คือเหตุผลและจิตใจ
You know, people always say that you can"t choose your parents, but you can"t choose your children...*
เรามักมองคนร้ายในแง่ที่แย่ที่สุด ไร้ซึ่งศีลธรรม มนุษยธรรม โลภ เปี่ยมไปด้วยกิเลส มักมากในกาม และอีกสารพัด โดยไม่มีใครมองว่าเขาโดนกระทำอะไรมาบ้าง
หรือถึงจะยอมมอง, ก็เป็นไปด้วยอาการเหลือบแลอันแสนเย่อหยิ่ง
หรือการพยักหน้าน้อยๆ ยอมรับสักนิดหนึ่งอย่างเสียไม่ได้
เพื่อให้การกระทำอันสูงส่งของตนนั้นได้รับการกล่าวขานว่าช่างเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจและเปิดกว้างเหลือคณา
ทอม ริปลีย์ ไม่ชอบตัวเอง, ก็ทำไมเขาจะต้องชอบเล่า ความเป็นเขามันไม่ได้มีดีอะไรสักอย่าง
ในขณะที่ชายหนุ่มอีกคนที่ต่างจากเขาเพียงชาติกำเนิดนั้น มีโอกาส มีฐานะ มีชีวิต มีสถานะทางสังคมดีกว่าเขาอย่างมากมายเพียงเพราะเราทุกคนต่างเลือกเกิดไม่ได้ เท่านั้นเอง
ทอมเลยเลือกที่จะไม่พอใจ
และเหตุการณ์ก็ดำเนินไปตามทางของมัน
Well, whatever you do, however terrible, however hurtful, it all makes sense, doesn"t it, in your head. You never meet anybody that thinks they"re a bad person.*
ทำไมฉันจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นมันไม่ดีฉันก็มีเหตุผลของฉัน แต่เมื่อคุณไม่ชอบคุณก็รู้สึกว่ามันไม่เข้าท่าเท่านั้นเอง
ฉันรู้ แต่ฉันก็ทำ มันไม่มีความผิดพลาดอะไรของใคร ฉันแค่ชอบทำมันก็เท่านั้นเอง
ฉันอยากทำตัวให้ทุกคนพอใจ แต่ฉันทำไม่ได้ ความรับผิดชอบแค่การเตรียมตัวและทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปมันไม่เพียงพอเสียแล้ว เสร็จงานกลับมาถึงบ้านฉันยังต้องมีระเบียบ อบอุ่น อ่อนโยน ไม่ขวางโลก สะอาดสะอ้าน ไม่ชอบออกไปข้างนอกยามค่ำคืน รังเกียจปาร์ตี้
ฉันขอโทษ, แต่นั่นมันเกินไปที่ฉันจะสามารถทำให้ได้
ฉันเห็นแก่ตัว ฉันชั่วร้าย ฉันเอาแต่ใจ
อย่าเอานิยายอะไรกับฉันเลย
และเมื่อไม่มีใครถามความต้องการของฉัน หรือถึงถามก็เป็นไปในแนวทางเพียงเพื่อให้รู้ว่าถามแล้วนะ แต่ไม่ได้สนใจในความต้องการของฉันจริงๆ กลับบีบบังคับหนักขึ้นเพื่อให้ฉันเป็นไปตามที่ใจเขาต้องการอยู่ดีก็ได้, อยากได้อย่างนี้ฉันก็ทำให้ เราต่างเป็นไปในแบบที่แต่ละคนต้องการ สุภาพและมีมารยาท ได้เห็นสิ่งที่อยากเห็นกันก็เพียงพอในแง่หนึ่งเราทุกคนก็ล้วนแล้วแต่โกหก
"บอกความจริงมาเถอะ เรารับได้ เราไม่โกรธ เราเข้าใจ"
แล้วนี่หรือคือสิ่งที่ฉันได้รับจากความจริง
นี่หรือคือการรับได้ เข้าใจ ไม่โกรธ
การเกรี้ยวกราดฟูมฟาย เปี่ยมอารมณ์ การลำเลิก การย้ำเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก การขุดหาบาดแผล การเปิดเผยความรู้สึก การลากเอาเรื่องทุกเรื่องในจักรวาลมาทับถมกัน
นี่หรือคือความเข้าใจ?
กระนั้นแล้วก็อย่าถามกันอีกเลย
อยากเป็นแบบไหนฉันจะเป็นให้
ฉันมีฉันอีกคนเอาไว้สนองความต้องการอันสมบูรณ์แบบที่คนคาดหวัง เพื่อให้ทุกคนสบายใจ
และฉันที่เป็นฉันเอาไว้เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจใครนอกจากตัวฉันเอง
* * * * * * * * * * * * * * *
* ข้อความจากในหนังสือ " ริปลีย์ ฆาตกรหลายหน้า " ( The Talented Mr.Ripley ) เขียนโดย แพทริเซีย ไฮสมิท แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2546 โดยสำนักพิมพ์อิมเมจ
+++
บทความปีที่แล้ว ( 2553 )
ฮ่องกงกึ่งสำเร็จรูป
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1582 หน้า 79
1.
นวพลคือใคร?
นวพลเป็นคนเดียวกับที่เขียนบทและกำกับฯ หนังสั้น "เชอรี่เป็นลูกครึ่งเกาหลี" ที่จิกกัดวิถีทางการสร้างความเชื่อของน้องนางเอกยอดนิยมชื่อเชอรี่ (ไม่ได้ อ้างถึงใครเป็นพิเศษ กรุณาอย่าร้อนตัว) ที่ทำท่าว่าหาข้อมูลการแสดงจากคนรอบตัว ทั้งที่แท้แล้วเชอรี่ได้สร้างสร้างความเชื่อและเลือกที่จะเชื่อในแบบของตัว เอง ผ่านคำพูดเก๋ๆ สวยหรูดูดีต่อภาพพจน์ (ที่เธอก็สร้างขึ้นมาเองอีกนั่นแหละ!) ไปวันๆ
หนังสั้นเรื่องนี้ชนะเลิศรางวัลรัตน์ เปสตันยีประจำการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยครั้งล่าสุด
นวพลที่เป็นคนเขียนเรื่องราวของน้องเชอรี่นั้น ก็เป็นคนเดียวกับนวพลที่เขียนบทภาพยนตร์ที่พูดถึงหญิงสาวซึ่งอยู่ในโค้ง สุดท้ายของการมองหาคู่ชีวิต (ฉันไม่ได้หมายถึงตัวเอง) และปริ่มๆ จะตกขบวนเสีย ด้วยซ้ำ แต่แล้ววิถีชีวิตแสนปกติธรรมดาแบบที่สาวออฟฟิศที่ไหนก็ทำกันอยู่ทุกเมื่อ เชื่อวันกลับชักนำให้เธอไปพบกับชายหนุ่มสุดหล่อ จนเธอต้องตัดสินใจว่าจะอยู่เป็นสาวโสดต่อไปหรือจะไม่ยอมเหงาอย่างนี้อีกแล้ว หนังน่ารักใสๆ ที่โดนใจสาวน้อยสาวใหญ่ไปทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดทำเนียบหนังร้อยล้านและส่งให้คริส หอวังเป็นซุปเปอร์สตาร์ไปในชั่วเวลาไม่นานหลังจากภาพยนตร์ออกฉาย
ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ"รถไฟฟ้า...มาหานะเธอ"
มีงานสองชิ้นที่พูดถึงผู้หญิงได้ต่างกันอย่างสุดขั้วซึ่งเขียนโดยนวพล
ตกลงนวพลเป็นคนแบบไหน?
2.
นวพลเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง "ฮ่องกงกึ่งสำเร็จรูป"
ฮ่องกงมีอะไรบ้าง?
ห้างสรรพสินค้าที่ผุดขึ้นแน่นหนาเหมือนเมืองนี้คลอดออกมาจากถุงช้อปปิ้ง สวนสนุกดิสนีย์แลนด์เวอร์ชั่นสวนน้ำ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ให้ไปสักการะบูชา หรือโจ๊กฮ่องกงรสเลิศให้ได้ไปชิม
หลักๆ ที่รู้จักและไปเยี่ยมเยือนกันก็มีเท่านี้
ปัญหามันมีอยู่ว่า, นวพลไม่มีแผนการที่จะย่างกรายไปในจุดยอดนิยมเหล่านั้นเลยแม้แต่ที่เดียว
แล้วมันจะไปทำไมวะ? หลายคนคงคิดอย่างนี้
แต่ฉันว่าฉันเข้าใจ
เวลาไปแล้วไม่ได้กินโจ๊ก ไม่ได้ช้อป ไม่ได้ไหว้พระ คนมักทำหน้างงๆ กึ่งดูแคลนใส่ (นัยว่าไปสายการบินโลว์คอสต์ถูกๆ แต่ไม่มีเงินพอจะไปช้อปล่ะซี้ โฮะๆๆๆ) ว่าแล้วมึงจะไปทำไม
ก็ใครกันเป็นคนกำหนดว่าไปที่นี่แล้วต้องไปเยือนสถานที่นั้นให้ได้นะ ต้องไปกินร้านนี้ให้ได้นะ ไม่งั้นจะเหมือนไปไม่ถึง
ก็มันจะไปไม่ถึงได้ยังไงวะ
ในเมื่อเราเป็นคนเก็บกระเป๋าแล้วลากยักแย่ยักยันเดินทางมาด้วยตัวเองเนี่ย!
เวลาบอกใครว่าเพิ่งกลับจากเมืองนั้นเมืองนี้ก็จะต้องมีคำถามว่าไปที่นั่นมาหรือเปล่า ครั้นบอกว่าไม่ได้ไปก็จะได้รับการทำหน้าตกตะลึงพร้อมส่ายหัวน้อยๆ อย่างอาดูรในความด้อยน้อยหน้าไม่รู้เรื่องรู้ราวของเรา ที่บุญน้อยไม่ได้ไปเยือนสถานที่บันลือโลกนั่นและชักภาพร่วมกันมาเป็นหลักฐาน เช่น ใครๆ ที่เขาไปเดินย่ำกันมาเป็นเทือกแล้ว
เลยกลายเป็นว่าเราต้องรู้สึกผิดไปเสียอีก ที่มีใจเป็นกบฏไม่ยอมมีความสนใจในสิ่งที่ชาวโลกเขากำหนดกันไว้ในไกด์บุ๊กว่าดีงาม
สรุปก็คือ, ไปฮ่องกงต้องช้อปๆๆๆๆๆๆ กินโจ๊กๆๆๆๆๆๆ
ไม่มีใครสงสัยเหมือนที่ฉันสงสัยบ้างหรือว่า ชาวอิตาลีซื้อเสื้อผ้าที่ไหนใส่? เพราะถนนสายหลักของเมืองก็มีแต่บูติคเสื้อผ้าที่แพงบรรลัยโลก คนไทยไม่มีใครมาดูรำไทยกันแล้ว แต่ทำไมยังโชว์รำต้อนรับฝรั่ง? ทำไมไปญี่ปุ่นต้องซื้อเครื่องไฟฟ้า? ทำไมไปจีนต้องไปดูน้ำตกหวังกั่วซู่?
เรียกว่าถ่ายรูปออกมานี่วิวข้างหลังเหมือนเดิม เปลี่ยนแต่คนเท่านั้นเอง
เมืองมันไม่ได้มีแค่นั้นหรอก แค่เดินออกไปอีกหน่อย ถึงไม่เจออะไรน่าสนใจก็ใช่ว่าจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย
อย่างเลวที่สุดเราก็ได้รู้ว่ามันไม่มีอะไร
นวพลก็น่าจะเป็นคนที่มีความสงสัยอย่างเดียวกัน
ในเมื่อเรายังไม่เห็นต้องไปวัดพระเแก้วกันทุกวันเลย ทำไมไปบ้านอื่นเมืองอื่นจะทำตัวเหมือนอยู่เมืองไทยไม่ได้ล่ะ
3.
หนังสือ "ฮ่องกงกึ่งสำเร็จรูป" นี้ จึงบอกถึงสถานที่ซึ่งคุณอาจไม่เคยเหยียบถึงซักครั้งแม้จะไปฮ่องกงมาเป็นสิบๆ รอบ พูดถึงกิจกรรมที่แม้แต่คนฮ่องกงเองก็ยังไม่ทำ ไปมองหาอะไรบางอย่างที่กำหนดขึ้นมาไว้ในใจตัวเองแบบไม่ง้อไกด์บุ๊ค
ใช้ชีวิตอย่างนี้น่าจะสนุกกว่าและฉันเชื่อด้วยว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ทำแบบนี้จะได้สัมผัสความรู้สึกว่าตัวเองเป็นวัยรุ่นอยู่เสมอ กติกาเพียงข้อเดียวสำหรับการไปกิน เดิน เที่ยวในที่ที่ท่านไม่คุ้นเคยก็คือ "หากเจอร้านประหลาด อย่าเดินหนี" *
ขอให้สนุกกับการมองสิ่งใหม่ในโลกใบเดิมๆ ค่ะ
* * * * * * * * * * * * * * *
*ข้อความจากในหนังสือ " ฮ่องกงกึ่งสำเร็จรูป " เขียนโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม, 2553 โดยสำนักพิมพ์ a book
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
www.youtube.com/watch?v=s_BU8YCjV1M
The Calling - Wherever You Will Go (Boyce Avenue acoustic cover) on iTunes
.