http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-27

นิติราษฎร์เดินหน้า ล้างผลพวงรัฐประหาร แก้ ม.112, blognone: สิทธิผู้บริโภคในโทรคมนาคม

.
มีโพสต์ - " รำลึก 7 ปีสึนามิ ถึงมหาอุทกภัย..บทเรียนที่ควรจดจำ " โดย ไมตรี จงไกรจักร

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
______________________________________________________________
บทกวี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:00:00 น.

คนทอดแหหาปลาเพียงอาหาร
แต่ฝูงพาลเหวี่ยงแหไม่เลือกหัว
สร้างราชอาณาจักรแห่งความกลัว
โดยแอบอ้างเข้าข้างตัวเพื่อตัวเอง

______________________________________________________________


นิติราษฎร์ เดินหน้า ลบล้างผลพวงรัฐประหาร แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
จาก เวบไซต์ ประชาไท . . Sun, 2011-12-25 23:33


นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ประกาศกิจกรรมทางวิชาการใหญ่ รับปีใหม่ 15 ม.ค. 2554 รณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอาทิตย์ที่ 22มกราคม 2555 อภิปราย “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”

ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เผยกับประชาไทถึงเหตุผลในการจัดเสวนาใหญ่ทั้ง 2 ครั้งว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 18 กันยายน ปรากฏว่าข้อเสนอทั้ง 4ประเด็นได้รับความสนใจจากสังคมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นแรก เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เรารับฟังทุกความคิดเห็น รับทราบถึงกำลังใจ แรงสนับสนุน ตลอดจนเสียงตำหนิติเตียน ตั้งใจว่า จะขับเคลื่อนข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็น อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เกิดเหตุการณ์อุทกภัย จึงจำเป็นต้องหยุดพักเรื่องนี้ไปเสียก่อน ในระหว่างนั้น เราก็ได้ยินเสียงถามไถ่ตลอดว่า คณะนิติราษฎร์จะทำอะไรต่อ บางท่านบ่นเสียดายว่าถ้าไม่เกิดน้ำท่วม ก็อาจได้เดินหน้ามากขึ้น ขออนุญาตเรียนว่า เราไม่เคยหยุดคิดเรื่องดังกล่าว นั่งพิจารณา ทบทวน จัดทำข้อเสนอให้เป็นรูปธรรมและละเอียดมากขึ้น และจะขับเคลื่อนทางความคิดนี้ให้สำเร็จจงได้

ปิยบุตรกล่าวถึงรายละเอียดการจัดกิจกรรมทั้ง 2 งานว่า งานแรก 15 มกราคม 2555 เป็นการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 แต่ปรากฏว่าก็ยังไม่มีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวมากเท่าไรนัก ในขณะที่สถานการณ์การใช้มาตรา 112 ก็ไม่ได้ลดความผิดปกติลง ยังคงมี “เหยื่อ” ของมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเขาเห็นว่ากลุ่มนักวิชาการ นักคิด นักเขียน กวี ศิลปิน สื่อมวลชน นักกิจกรรม นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม จำนวนหนึ่ง เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงคิดอ่านรณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 โดยรวมตัวกันเป็น “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112” ชื่อย่อ คือ ครก. 112 เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์รวบรวมรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยใช้ร่างฯตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

งานวันที่ 15 มกราคม 2555 เป็นการเปิดตัว “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ” อย่างเป็นทางการ มีการจัดกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมรณรงค์ กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และการรณรงค์ครั้งนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไป ภายใต้การบริหารจัดการของคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112


งานที่สอง 22 มกราคม 2555 เป็นงานต่อเนื่องจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554

“พอดีว่าปี 2555 เป็นปีครบรอบ 100 ปี คณะ ร.ศ.130 และเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เราจึงถือโอกาสนี้ เดินหน้าจัดกิจกรรมวิชาการที่สนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไปเรื่อยๆตลอดปี โดยเน้นไปที่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19กันยายน 2549

ทั้งนี้ ในวันจัดงาน นอกจากการอภิปรายประเด็น “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง” แล้วก็จะมีการแจกเอกสารแนวคำถาม-คำตอบ เรื่อง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

“เราคิดทำเอกสารนี้ขึ้นก็เพราะตระหนักดีว่า ในข้อเสนอของเรานั้นเป็นภาษากฎหมาย อ่านแล้วอาจเข้าใจยาก จึงลองทำในรูปถาม-ตอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประกอบการโต้แย้งด้วยเหตุผลได้อย่างไม่ยากจนเกินไปนัก นอกจากนี้ จะมีการแจกคู่มือลบล้างผลพวงรัฐประหารด้วย

“ตอนที่เราเผยแพร่ข้อเสนอเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ก็มีคำถาม มีข้อวิจารณ์ตามมาจำนวนมาก ทั้งประเภทที่ไม่เข้าใจจริงๆ ทั้งประเภทที่แกล้งไม่เข้าใจ ทั้งประเภทที่ไม่อ่านแต่ขอด่าไว้ก่อน งานวันที่ 22 มกราคม 2555 เราจะตอบประเด็นเนื้อหาให้หมด พูดง่ายๆ ก็คือ งานวันนั้น เราตั้งใจ “โต้” ปฏิกิริยาที่มีต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานั่นเอง”


ปิยบุตรเพิ่มเติมว่าเพื่อให้สดใหม่ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทางกลุ่มนิติราษฎร์จะเผยแพร่ข้อเสนอวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในข้อเสนอนี้ จะตั้งโมเดลการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามโมเดลนิติราษฎร์ ให้ประชาชนได้พิจารณา

“ขออนุญาตเรียนปิดท้ายว่า กิจกรรมทั้งสองวัน เป็นการทำงานทางความคิด เป็นการขับเคลื่อนทางความคิด และเราจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ” ตามเจตนารมณ์การก่อตั้งคณะนิติราษฎร์” ปิยบุตรกล่าวในที่สุด

สำหรับรายละเอียดของการเสวนาวิชาการ ที่จัดโดยคณะนิติราษฎร์ ทั้ง 2 ครั้ง มีดังนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555
การรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
• เปิดตัว คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม. 112 (ครก. 112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์
• กิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ
ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2555
เนื่องในโอกาสครบรอบ 100ปี คณะ ร.ศ. 130 และโอกาสเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัตน์ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” คณะนิติราษฎร์ จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
• อภิปราย “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”
• แนวคำถาม-คำตอบ เรื่อง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”
• “โต้” ปฏิกิริยาที่มีต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และเผยแพร่คู่มือลบล้างผลพวงรัฐประหาร
• ข้อเสนอวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT 1) และ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ (LT 2) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


* * * * * * * * * * * * * * * * * *
ดูปฏิกิริยาทั้งโปรฯทั้งคอนฯตอนท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38489



++

blognone: จดหมายเปิดผนึกถึงกสทช. เรื่องข้อเสนอสิทธิแห่งผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
ใน . . www.prachatai.com/journal/2011/12/38469 . . Fri, 2011-12-23 22:56


note: วันนี้ผมมาร่วมงาน NBTC Public Forum ที่รับฟังความคาดหวังของภาคประชาสังคมต่อกสทช. ผมและ mk จึงร่างจดหมายเพื่อแสดงความคาดหวังของเราในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อแสดงต่อกสทช. ในงานนี้ครับ


ถึง กสทช. ทุกท่าน

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริการโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อชีวิตประชาชนขึ้นอย่างมาก คนจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีโทรคมนาคม คนจำนวนมากมีชีวิตโดยต้องพึ่งพิงโทรคมนาคมเพื่อการดำรงค์ชีวิต ทั้งการอาชีพและการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมตามอัตภาพ

เป็นเรื่องน่ายินดีที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) โดยที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้ก็ได้มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ เรื่อยมา

แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในช่วงหลัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมของไทยเป็นวงกว้าง แม้สบท. และกสทช. จะออกมาแถลงการเตือนผู้บริโภคต่อเหตุการณ์เหล่านั้น แต่กลับไม่ได้ออกแสดงถึงเจตน์จำนงค์ที่จะยืนยันสิทธิแห่งผู้บริโภค การออกแถลงการณ์เตือนให้ผู้บริโภคต้องระวังตัวเองนั้นแม้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้บริโภคแต่ในทางหนึ่งกลับเป็นการยอมรับให้ผู้บริโภคถูกกระทำ

ทีมงาน Blognone ขอเสนอสิทธิแห่งผู้บริโภค ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งกสทช. และสบท. ควรต้องยืนยันสิทธิเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคทุกคน และเรียกร้องให้มีการสร้างกฏเกณฑ์เพื่อบังคับใช้ในการคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้บริโภคพึงสามารถใช้งานตามปรกติสุขได้โดยไม่ต้องมีกังวล: กรณีคดีอากง SMS เป็นคดีที่สร้างความกังวลต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก การเตือนให้ผู้บริโภคพกเครื่องไม่ห่างตัวไม่ใช่การใช้งานอย่างเป็นปรกติสุขโดยทั่วไป หากการใช้งานโดยทั่วไปมีความเป็นไปได้ที่การกระทำจากตัวเครื่อง กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคต้องให้ความคุ้มครอง และเรียกร้องต่อสิทธิการใช้งานอย่างเป็นปรกติต่อไปโดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ

ผู้บริโภคมีสิทธิกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย: ปัญหาค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ผู้บริโภคคาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากในประเทศ หรือการใช้งานจากต่างประเทศ สร้างปัญหาและเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่องตามประวัติของสบท. และในอนาคตก็คาดว่าจะมีปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ในแนวทางเดียวกันอีก จากความซับซ้อนของระบบการคิดค่าบริการของบริการโทรคมนาคม ผู้บริโภคควรมีสิทธิกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง เช่นหากผู้บริโภคกำหนดความรับผิดชอบไว้ที่ 15,000 บาท เป็นหนัาที่ของผู้ให้บริการ ที่จะต้องไม่ปล่อยให้มีการใช้งานเกินกว่า 15,000 บาท โดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับแจ้งและมีการยินยอมเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบนี้ หากผู้ให้บริการให้บริการเกินกว่าขอบเขต ต้องถือเป็นความผิดของผู้ให้บริการและผู้บริโภคไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกิน

ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้เงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างชัดเจน: เงื่อนไขของการใช้งานบริการต่างๆ ทางโทรคมนาคมนั้นมักมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนหลากหลาย หลายครั้งผู้ให้บริการเลือกที่จะนำข้อดีของบริการในเงื่อนไขหนึ่งๆ มาโฆษณาร่วมกับข้อดีในเงื่อนไขอื่นๆ ผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง และต้องมีการคุ้มครองให้ข้อความในโฆษณานั้นอยู่ภายในเงื่อนไขเดียวกัน เช่นโฆษณา "อินเทอร์เน็ตความเร็ว 7.2Mbps ไม่จำกัด" ที่จริงแล้วกลับเป็น "อินเทอร์เน็ตความเร็ว 7.2Mbps ในปริมาณ 5GB แรก และความเร็ว 512kbps ไม่จำกัด" หากการโฆษณาจำเป็นต้องรวบรัดเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่โฆษณา ผู้บริโภคควรได้รับความคุ้มครองที่จะเห็นโฆษณาในเงื่อนไขเดียวกันเช่น "อินเทอร์เน็ต 7.2Mbps ปริมาณ 5GB" หรือ "อินเทอร์เน็ตไม่จำกัด 512kbps" โดยข้อความทั้งหมดต้องเด่นชัดในระดับเดียวกัน

ผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: บริการต่างๆ ทางด้านโทรคมนาคมนั้น เป็นผู้ให้บริการที่รับผิดชอบต่อข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทั้งข้อมูลทั่วไปเข่น ข้อมูลที่อยู่อาศัย หมายเลขโทรศัพท์ ตลอดจนถึงข้อมูลการสื่อสารระหว่างกัน กสทช. ต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่จะไม่ถูกนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานอย่างไม่เป็นธรรม เช่นการส่งต่อข้อมูลไปยังบริษัทในเครือหรือคู่ค้าเพื่อใช้ส่งโฆษณา จนถึงการส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง

ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกประเภทบริการที่ต้องการใช้งาน: บริการโทรคมนาคมหลายประเภทในตอนนี้มักผูกติดกันหลายต่อหลายประเภทบริการ เช่นบริการเสียงเพลงรอสายที่ผูกมากับบริการโทรศัพท์, หรือบริการอินเทอร์เน็ต ขณะที่มันอำนวยความสะดวกให้คนจำนวนมากเข้าถึงบริการต่างๆ ได้โดยง่าย ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งกลับไม่ได้ใช้บริการเหล่านั้น และไม่ต้องการให้บริการเหล่านั้นมารบกวนการทำงานประจำวัน ผู้บริโภคพึงสิทธิในการตัดบริการใดๆ ออกจากการรับบริการ เช่น บริการโทรศัพท์, บริการ SMS, บริการข่าวสาร, บริการโทรระยะไกล, หรือบริการอื่นๆ ผู้บริโภคทุกคนพึงมีสิทธิในการเลือกรับหรือไม่รับบริการเหล่านี้ตามความต้องการของตนเอง เช่น ผู้ใช้บางรายที่ต้องการใช้งานเฉพาะการโทรศัพท์ พึงมีสิทธิที่จะตัดบริการอื่นออกทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีความกังวลกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ทีมงาน Blognone เชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในสิทธิที่เสนอมาเหล่านี้จะทำให้ปัญหาร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกสทช. และสบท. น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว จากการคุ้มครองสิทธิอย่างสมเหตุผลให้กับผู้บริโภคก่อนที่จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้บริโภคจะสามารถมั่นใจที่จะใช้บริการต่างๆ และสามารถวางใจที่จะใช้บริการโทรคมนาคมได้สืบไป

เราหวังว่า กสทช., สบท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะรับพิจารณาข้อเสนอนี้ และมีการดำเนินการให้ออกมาเป็นข้อบังคับในส่วนที่อยู่ในอำนาจกสทช. และข้อเรียกร้องหรือการดำเนินการอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากอำนาจของกสทช. เพื่อให้มีผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามที่สมควรได้รับต่อไป

วสันต์ ลิ่วลมไพศาล
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ผู้ดูแลเว็บไซต์ Blognone.com



+++


รำลึก 7 ปีสึนามิ ถึงมหาอุทกภัย..บทเรียนที่ควรจดจำ
โดย ไมตรี จงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38496 . . Mon, 2011-12-26 23:15
ที่มา บทความในวาระการจัดงานรำลึกครบรอบ 7 ปีสึนามิ ณ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา วันที่ 26 ธันวาคม 2554


พลันที่เกิดมหาอุทกภัยในภาคกลาง เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิก็เคลื่อนพลเข้าสนับสนุนให้การช่วยเหลือทันที

จุดแรกที่พวกเราเข้าไปคือ ศปภ. ทำให้หวนคิดถึงช่วง 5 วันแรกของสึนามิ เมื่อ 7 ปีก่อน ของบริจาคกองเป็นภูเขา มีคนใจอาสาช่วยเหลือกันมากมาย มีระบบการเบิกจ่ายโดยขั้นตอนการขออนุมัติจากคนๆ เดียว ไม่มีบัตรไม่มีสิทธิได้รับ ไม่มีคนรับรองไม่ได้ของบริจาค ระบบราชการทั้งหมดทุ่มสรรพกำลังไปกับการบริหารจัดการของบริจาค

ภาพเดิมๆ ที่คอยทิ่มแทงหัวใจผู้ประสบภัยอย่างผมตลอดมา 7 ปีเต็มๆ แล้ว ที่มันคอยทิ่มแทงอยู่ทุกครั้งยามเกิดภัยพิบัติ ระบบนี้เมื่อไหร่รัฐไทยถึงจะทบทวนสรุปบทเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเสียที จะตายกันอีกเท่าไหร่ จะเกิดอีกสักกี่หน ถึงจะยอมจำนนต่อธรรมชาติ ยอมกระจายการจัดการ ยอมรับสิทธิชุมชน ยอมรับสิทธิความเป็นมนุษย์ ว่าเขาต้องได้รับการดูแล

เขาประกาศให้เขตผมอพยพแล้ว เขาบอกหากไม่อพยพ เขาจะตัดความช่วยเหลือทั้งหมด เราจะทำอย่างไรกันดี” ชายคนหนึ่งลุกขึ้นถามในที่ประชุมของชุมชนเคหะบางบัว

ป้าไม่ไปหรอก เพราะหลานพาป้าไปแล้วที่ศูนย์พักพิง เขาดูแลเราดี ป้าไม่ใช่ผู้ดี บางครั้งป้านึกว่าป้าเป็นผู้ป่วยด้วยซ้ำ เพราะเช้าตื่นมารอข้าวเช้า กลางวันนั่ง นอน รอข้าวเที่ยง บ่ายนอนพักกลางวันรอข้าวเย็น ป้าก็ว่าป้าไม่ได้ป่วยอยู่ได้ 7 วัน กลับบ้านดีกว่า มีมือมีขาทำอะไรได้อีกเยอะ” ป้าแย่งเล่าให้ฟัง แล้วคำถามก็พรั่งพรูออกมามากมาย

เราไม่ไป เราจะอยู่อย่างไรดี เราจะเตรียมอย่างไร ทำไงดีครับ บทเรียนสึนามิจะแนะนำอะไรเราได้บ้าง” คำถามสุดท้ายที่ออกจากปากแกนนำชุมชน ทำให้ทีมเราชาไปทั้งตัวเหมือนกันว่า ประสบการณ์เราจะช่วยเขาได้แค่ไหน

สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรกในสถานการณ์ที่มาถึงขั้นนี้แล้วนะครับ” (น้ำสูง 10 เซนติเมตร) ผมเริ่มกระบวนการเรียนรู้เลย เมื่อพวกเขาสนใจ และยืนยันที่จะอยู่ให้ได้ภายในชุมชน 1.) เราควรรวมกลุ่มกันเพื่อทำข้อมูลชุมชนเรา หากมีแล้วนะครับก็สำรวจเพิ่มเติม เช่น ตรงไหนพอจะเป็นที่พักรวมได้บ้าง อาจมีหลายจุดก็ได้ตามความเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก ผู้หญิงเปราะบาง 2.) สำรวจเสบียงว่าหากเราจะอยู่ 1 เดือนโดยตัดขาดจากโลกภายนอก เราต้องเตรียมอะไรบ้าง เท่าไหร่ และเรามีอะไรอยู่บ้างแล้ว 3.) แบ่งบทบาทหน้าที่กันในชุมชน ทีมประสานภายนอก ประสานภายใน ความปลอดภัย เวรยาม แม่ครัว ทีมอสม. (พยาบาล) ยารักษาโรค เครื่องครัว ฝ่ายสุขอนามัย 4.) เราต้องมีทีมวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและเฝ้าระวังด้วย ต้องหาอุปกรณ์ เครื่องมืออะไรไว้บ้าง เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น เรื่องน้ำ เรื่องไฟฟ้า เรื่องส้วม เรื่องเรือ อื่นๆ นี่คือเรื่องเบื้องต้นในการเตรียมรับมือในภาวะฉุกเฉินในขณะนี้ เราต้องลงมือเตรียมทันที รอใครไม่ได้


จากสึนามิถึงมหาอุทกภัย บทเรียนทั้งหมดที่มีพวกเราไปช่วยเหลือเฉพาะหน้า ด้านกู้ชีพ กู้ภัย ควบคู่กับการแลกเปลี่ยนช่วยให้เขาดูแลตัวเองได้ด้วย อนาคตเมื่อเข้าช่วงฟื้นฟู พวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องไปหนุนเสริม เรื่องชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อเขาจะได้ช่วยคนอื่นต่อไป

ครบรอบรำลึก 7 ปีสึนามิ บทเรียนที่ควรจำกลับไม่มีใครอยากจดจำมัน ไม่มีใครอยากเอาเป็นบทเรียนในการดำรงอยู่ในประเทศนี้ ที่มีภาวะเสี่ยงภัยพิบัติ

เมื่อคราวครบรอบ 6 ปีสึนามิ รัฐบาลมีนโยบายว่าจะจัดงานรำลึกเป็นปีสุดท้าย อ้างว่าไม่อยากให้ผู้ประสบภัยระลึกถึงความสูญเสียอีก ยังมีแนวนโยบายต่อว่า การซ้อมอพยพก็ไม่ควรต้องซ้อมทุกปี เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะเกิด ตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ไม่มีการซ้อมอพยพหลบภัยเกิดขึ้นใน 6 จังหวัดอันดามันเลย



นักมวยไม่ซ้อมก็ถูกน็อค

สึนามิแผ่นดินไหวจนเกิดความสูญเสีย มีเวลาเตรียมตัวรับมือไม่เกิน 1 ชั่วโมง น้ำท่วมมีเวลากว่า 2 เดือนในการเตรียมตัว มีคนตายมากกว่า 600 คน แล้วเราจะกำหนดอนาคตตนเองให้อยู่ในความเสี่ยงของสังคมไทยภายใต้ระบบรัฐไทยอย่างไรดี

7 ปี บทเรียนสึนามิจากภัยพิบัติในประเทศไทย เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิได้ขยายตัวออกไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองของเครือข่ายประชาชน จนเกิดพื้นที่รูปธรรมในหลากหลายรูปแบบ

พื้นที่ชุมชนเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มีแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และมีอาสาสมัครที่ช่วยเหลือกันกว่า 200 คน ทั้งที่ช่วยกันเอง และช่วยเหลือเพื่อนๆ

เครือข่ายชุมชนกระเบื้องใหญ่ เกิดแผนเตรียมความพร้อม และแผนบริหารจัดการน้ำ แผนฟื้นฟูชุมชนครบวงจร เมื่อภัยเกิดที่ไหนที่นี่จะส่งทรัพยากรไปช่วยเหลือเพื่อนๆ พร้อมส่งกำลังคนไปหนุนช่วยด้วย

เครือข่ายปทุม หลังจากภัยพิบัติที่ผ่านมาบทเรียนได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นเครือข่ายเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ที่มีระบบการจัดการภายใน และช่วยเหลือกันเอง ช่วยเหลือชุมชนเครือข่ายใกล้เคียง ขณะนี้ยกระดับไปสู่แผนฟื้นฟูชุมชน ด้านพันธุ์พืชต่อไป

พื้นที่เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน มีแผนป้องกันภัยพิบัติ ตั้งแต่แผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แผนรับมือน้ำท่วม แผนพาน้ำลงทะเล แผนช่วยเหลือกูชีพ น้ำท่วมครั้งนี้เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยขนสรรพกำลังและเครื่องมือทั้งหมด มาประจำการในกรุงเทพฯ กว่า 2 เดือน

ที่ภาคใต้ ก็มีเครือข่ายเขาพนม จังหวัดกระบี่ เครือข่ายชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่รูปธรรมที่ตำบลท่าหิน ที่ตำบลขอนคลาน จังหวัดสตูล และที่อื่นๆ อีกมากมาย

วันนี้ เครือข่ายประชาชนเดินหน้าไปแล้วในหลากหลายมิติ


7 ปีสึนามิถึงมหาอุทกภัย รัฐควรส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชนหมู่บ้าน และแผนระดับตำบล โดยต้องสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนให้เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการอบรมอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สนับสนุนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ ระบบสื่อสารภายใน ตามแผนชุมชน ภัยพิบัติจัดการรวมศูนย์ล้มเหลว การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการเอง รัฐส่วนกลางมีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรทุกด้าน

ในวาระครบรอบ 7 ปีสึนามิ ซึ่งมีญาติสนิทมิตรสหายเสียชีวิตไปเกือบ 50,000 คน หนึ่งในนั้นคือคุณพ่อของผม เพราะฉะนั้นสึนามิคือบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติ ควรค่าแก่การรำลึกถึง การจัดงานรำลึกขึ้นของคนในหมู่บ้านเล็กๆ บ้านน้ำเค็มที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บทเรียนการต่อสู้ของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เกิดขึ้นเมื่อสูญเสีย

จงเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติก่อนที่จะสาย อย่าคอยให้สูญเสียแล้วค่อยเตรียม



.