http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-28

'ประชาพิจารณ์' ก็สำคัญ, แก้ รธน.ปมร้อน-ข้ามปี, ม.309 แก้หรือไม่แก้ ดีกว่ากัน

.
โพสต์เพิ่มเติมหลังบทความหลัก
- เพื่อไทยขยับแก้ปม รธน.50 สู่เกมเสี่ยง-สู้แนวต้านใน-นอกพรรค
- เกมแก้ มาตรา 309 เพื่อไทย กับ "รูหายใจ" ได้อย่างเสียอย่าง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


'ประชาพิจารณ์' ก็สำคัญ
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


คึกคักปลายปีกับแนวทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ตอนนี้มีผู้เสนอกันมากมายเรื่องขั้นตอนและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มีทั้งคนเสนอให้ประชามติกันเลยว่าประชาชนจะอนุญาตให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันหรือไม่

อีกทางหนึ่งก็บอกว่าเอาไว้ประชามติกันตอนหลังจากรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นว่าประชาชนรับหรือไม่รับ

สำหรับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นดูเหมือนจะมีความเห็นพ้องกันคือ สมควรใช้กลไกของ ส.ส.ร.

ส.ส.ร. คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้วิธีการเลือกตั้ง คัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

สมัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้วิธีการสรรหา คัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ


สำหรับ ส.ส.ร.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะใช้วิธีอะไรก็ต้องลองฟังดู แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันถ้วนทั่ว

เหตุที่ต้องถ้วนทั่วเพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสมควรเป็นกฎหมายที่ประชาชนคนไทยมีส่วนร่วม

การลงประชามติก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่พอ

เพราะการลงประชามติเป็นการตัดสินใจของประชาชน

เลือกว่า "แก้" หรือ "ไม่แก้" รัฐธรรมนูญ

เลือกว่า "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนการทำประชาพิจารณ์อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย แต่หากจัดการได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ


ผลของประชาพิจารณ์จะก่อเกิดประโยชน์ ประชาชนเกิดความหวงแหนรัฐธรรมนูญที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการร่าง ขณะที่สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ประโยชน์ เพราะมีฐานข้อมูลเป็นเหตุและผลจากประชาชนที่แสดงความเห็นกันเข้าไป

ผลของการประชาพิจารณ์มาจบลงตรงที่สภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐสภา

หากยังไม่แน่ใจว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะจัดทำประชามติกันอีกครั้งก็ไม่ว่า

วิธีทำประชาพิจารณ์ จะใช้วิธีกำหนดประเด็นแล้วตั้งกระทู้ทางอินเตอร์เน็ต หรือตั้งโจทย์แล้วเปิดตู้ไปรษณีย์รับฟังความเห็น หรือลงพื้นที่รับฟังเสียงแบบ "โฟกัสกรุ๊ป" ก็สุดแล้วแต่

สุดท้ายขอให้ได้เหตุและผล ได้แนวทางในการร่างบทบัญญัติออกมา

บางมาตราที่ประชาพิจารณ์อาจมีข้อเสนอมากกว่า 1 ข้อ ส่งต่อไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องศาสนาประจำชาติ ฯลฯ

บางมาตราอาจถูกตรวจสอบ สนับสนุน และคัดค้านกันมากหน่อย เช่น มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ฯลฯ

บางมาตราอาจกระทบหน่วยงานสำคัญ เช่น สถานภาพของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ

อีกหลายมาตราผ่านฉลุยโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่น ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ หรือ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฯลฯ



แต่ไม่ว่าจะเป็นมาตราใดๆ หากผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ผลดีที่ได้รับ น่าจะมีมากกว่าผลเสีย

ผลดีที่เห็นกันจะจะคือ ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีความโปร่งใส ประชาชนทุกระดับสามารถสัมผัสได้

กลับมาที่ "มีส่วนร่วม" และ "โปร่งใส" อีกแล้วครับ

แต่การปกครองเพื่อประชาชน ของประชาชน โดยประชาชน ก็ต้องเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ยิ่งสังคมไทยยังมีความขัดแย้ง เกิดความหวาดระแวง กระบวนการทำอะไรสักอย่าง ยิ่งต้อง "โปร่งใส"

วิธีการประชาพิจารณ์นี่แหละที่มีลักษณะตอบสนอง "การมีส่วนร่วม" และ "โปร่งใส" ได้

ที่สำคัญยังสามารถใช้เป็นกลไกสมานฉันท์ได้ หากทุกฝ่ายยึดส่วนรวมเป็นหลัก

ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นอกจากมี "ประชามติ" แล้ว อย่าลืมเรื่อง "ประชาพิจารณ์" ด้วย..คนไทยจะได้มีส่วนร่วมเต็มที่



++

แก้รัฐธรรมนูญ ปมร้อน-ข้ามปี
ใน นสพ.ข่าวสดรายวัน วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7696 หน้า 3


การเมืองปี 2554 เหตุการณ์ใหญ่คือการพลิกกลับขั้วอำนาจ

อันเป็นผลจากพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง 3 ก.ค.อย่างถล่มทลาย 265 เสียง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย โดยใช้เวลาเพียง 49 วันหลังสลัดคราบนักธุรกิจหญิง

ก้าวสู่สนามการเมืองในฐานะผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 สร้างปรากฏการณ์ตื่นตะลึงและสีสันใหม่ให้สังคมไทย

น.ส.ยิ่งลักษณ์นำเพื่อไทยผนึกกำลัง 5 พรรค จัดตั้งรัฐบาล 300 เสียง ผลักไสประชาธิปัตย์กลับไปอยู่ในมุมฝ่ายค้านตามถนัด

หลังผ่านขั้นตอนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาล'ยิ่งลักษณ์ 1'เริ่มเดินหน้าบริหารประเทศวันที่ 25 ส.ค.

นั่งเก้าอี้ก้นไม่ทันร้อน รัฐบาลก็เจอ'อภิมหาอุทกภัย'ในรอบ 50 ปีจู่โจมใส่ไม่ทันตั้งตัว กลายเป็นงานรับน้องมหาโหด

ด้วยเหตุที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นมือใหม่หัดขับ กว่าจะประคองเอาตัวรอดมาได้ก็ตกอยู่ในสภาพสะบักสะบอม

ผลสำรวจโพลพบว่าเหตุน้ำท่วมใหญ่ได้กัดเซาะต้นทุนรัฐบาลละลายหายไปจำนวนมาก

ยกเว้นนายกฯยิ่งลักษณ์ที่กลุ่มตัวอย่างเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ยังให้โอกาสทำงานแก้ไขปัญหา และ 75.0 เปอร์เซ็นต์ ไม่คิดว่ามีนักการเมืองคนใดทำหน้าที่นายกฯ แก้ไขน้ำท่วมได้ดีกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์

การจะรักษาระดับเสียงเชียร์นี้ไว้ได้นานขนาดไหนในปีหน้านั้น มีตัวชี้ขาดหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

การซ่อมแซมฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถูกมวลน้ำโจมตีเสียหายมากกว่าล้านล้านบาท

การกำหนดแผนรับมืออุทกภัยที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาเยือนอีกครั้งในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลว่า จะทำได้ดีเพียงใด

ขณะที่การทุจริตคอร์รัปชั่นยังเป็นข้อต้องห้ามของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ที่นายกฯต้องเอาใจใส่เข้มงวด ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด


อภิมหาอุทกภัยปลายปี 2554 ไม่ได้ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมเท่านั้น

แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อภาคการเมือง เป็นที่มาของข่าว'นายใหญ่'ในต่างประเทศ ไม่พอใจรัฐมนตรีบางคนใส่เกียร์ว่าง ปล่อยให้นายกฯ น้องสาวของตนเองต้อง'ลอยคอ'เพียงลำพัง

นำมาสู่การเปิดไฟเขียวให้มีการปรับครม. 3-4 เก้าอี้ในช่วงเดือนม.ค.ที่ใกล้มาถึง

เชื่อกันว่าการปรับครม.เดือนม.ค. ไม่น่าจะเกิดความวุ่นวายนักเพราะเป็นการ'ปรับเล็ก'

ที่ต้องจับตาน่าจะเป็นการ'ปรับใหญ่'ช่วงกลางปี หลังจากสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นกำหนดโทษเว้นวรรค 5 ปีในเดือนพ.ค.

ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองทางว่า ทั้ง 111 คนจะเป็นตัวเพิ่มความแข็งแกร่งให้รัฐบาล หรือจะเป็นตัวช่วยทำให้รัฐบาลเกิดความวุ่นวายมากขึ้น

จากการทวงอำนาจกันเองภายในพรรคเพื่อไทยระหว่าง'ตัวจริง'กับ'นอมินี' ตรงนี้จะเป็นตัวชี้วัดบารมีของนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่าจะเอาอยู่หรือไม่

ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็น'จานร้อน' ถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะช่วงส่งท้ายปี คาดว่าจะเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องตลอดปีหน้า

ซีกรัฐบาลอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก

ทั้งยังเป็นนโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงสัญญาไว้กับคนเสื้อแดง ที่ต่อสู้เรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนฉบับปี 2550 ในปัจจุบันซึ่งถูกมองเป็น'ผลไม้พิษ'จากการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

แต่การที่รัฐมนตรีบางคนใจร้อนรีบคืนพาสปอร์ตให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือบางคนที่ประกาศเดินหน้าพาพ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมภายใต้ชื่อพ.ร.บ.ปรองดอง

อาจเป็นสาเหตุทำให้งานใหญ่อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเผชิญความยากลำบากกว่าเดิม

เพราะเพียงแค่รัฐบาลหยิบยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพูด โดยยังไม่ทันลงมือทำ ก็ถูกเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามตั้งป้อมโจมตีว่ารัฐบาลต้องการแก้ไขบางมาตราเป็นการเฉพาะ เพื่อลบล้างความผิดให้คนๆ เดียวคือพ.ต.ท.ทักษิณ

ถึงรัฐบาลยืนยันจะไม่ใช้อำนาจเข้าไปบงการชี้นำ

พร้อมเสนอแนวทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.ร.3 ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ เมื่อยกร่างเสร็จยังต้องผ่านกระบวนการทำประชามติ ให้ประชาชนประทับตรารับรองก่อนบังคับใช้

แต่ดูเหมือนฝ่ายค้านและกลุ่มต้านทักษิณจะไม่ยอมจำนนง่ายๆ อ้างว่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า รัฐบาลจะไม่หันมาใช้อำนาจเข้าแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แทน



ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดขึ้นหลายซับหลายซ้อนยังอาจทำให้รัฐบาลมีปัญหากับคนเสื้อแดง ที่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นทันที แทนที่จะซื้อเวลาออกไป จนพลาดโอกาสเหมือนที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เคยโดนมาแล้ว

นอกจากการปรับครม. การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อ'ทักษิณ'เข้าไปแทรกซึมทุกเรื่อง

ที่น่าจับตาในปี 2555 ยังมีกรณีความคืบหน้าคดี 91 ศพจากเหตุการณ์สลายม็อบเม.ย.-พ.ค.2553

ซึ่งล่าสุดเดินมาจุดที่ตำรวจเรียกตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาให้การต่อพนักงานสอบสวน คดีสำนวนชันสูตรพลิกศพ 16 ศพที่คาดว่าตายเพราะฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ

ก่อนส่งสำนวนถึงมืออัยการแล้วครบทั้ง 16 สำนวน และคาดว่าอัยการจะส่งต่อศาลเพื่อเปิดการไต่สวนสาเหตุการตายที่แท้จริงได้ราวต้นเดือนม.ค.นี้

ทั้งยังเตรียมขยายผลต่อไปยังคดีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี และพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง อีกด้วย

คดี 91 ศพนี้เองทำให้ปี 2555 นอกจากจะเป็นปีตัดสินชะตากรรมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

ยังเป็นปีลุ้นระทึก สำหรับคนอยู่เบื้องหลังสั่งการสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อ 2 ปีก่อนอีกด้วย



++

ม.309 แก้หรือไม่แก้ ดีกว่ากัน
รายงานพิเศษใน นสพ.ข่าวสดรายวัน วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7695 ข่าวสดรายวัน หน้า 24


แก้รัฐธรรมนูญยังเป็นประเด็นร้อนส่งท้ายปี

แม้พรรคเพื่อไทยจะประกาศชะลอการแก้ไขไปต้นปีหน้า แต่เสื้อแดงก็ไล่จี้ให้ดำเนินการโดยเร็ว

ขณะเดียวกันการลงรายละเอียดในประเด็นที่จะแก้ไขก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงรายวัน

โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองเจตนาเพื่อล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

มีเสียงสะท้อนจากอดีตผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ? และผู้ที่เคยศึกษาแนวทางการแก้ไข


1.สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
สมาชิกวุฒิสภา และอดีตส.ส.ร.

แท้จริงแล้ว มาตรา 309 จะมีหรือไม่มีนั้นในทางกฎหมายมีค่าเท่ากัน เพราะการกระทำของคมช.ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2549 ไปแล้ว

มาตรา 309 บัญญัติไว้ว่าบรรดาการใดๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐ ธรรมนูญ

รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณี ดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำ นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ พูดง่ายๆ ก็คือเป็น การรองรับรัฐธรรมนูญอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง

ถ้าจะคุยเรื่องนี้กันจริงคงต้องคุยกันยาวไปถึงความเป็นนิติประเพณีของไทย ที่ควรต้องไปรื้อกฎหมายทั้งระบบตั้งแต่ ปี 2475 เพราะเริ่มต้นด้วยการรัฐประหารอยู่หลายครั้ง และทุกครั้งรัฐบาลก็จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดของกลุ่มนิติราษฎร์เพื่อล้างพิษ รัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าถ้าเสนอแก้ไขหรือลบล้าง มาตรา 309 แล้วผลจะเป็นอย่างไร เพราะมีบางฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดคดีทั้งหมด

เพราะสิ่งที่คตส.ทำมาก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ไม่รองรับแล้ว ทำให้การดำเนินคดีที่เคยถูกร้องโดยคตส. ไม่มีบทกฎหมายมารองรับ คดีพ.ต.ท.ทักษิณ จึงหลุดโดยไม่ต้องนิรโทษกรรม

เป้าหมายเช่นนี้กลับไม่มีใครพูดหรือตั้งใจอยากให้เป็นแบบนั้น ฝ่ายที่ต้องการทำเรื่องนี้จึงควรต้องคุยให้หมดเปลือกไม่ใช่มาอ้อมๆ

เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นบ้านเมืองจึงยังมีรายละเอียดที่ยังต้องแลกเปลี่ยนกันอีกมากในมุมมองผลบังคับ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีมุมมองที่แตกต่างกันหลายด้าน

แต่สำหรับผมไม่ได้มองว่าควรแก้หรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่ไปถึงเรื่องความชอบธรรมเพราะผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นต้องมีกระบวนการตรวจสอบและพิสูจน์ความจริงด้วย

หากเขาไม่ผิดจริงจะได้มีจุดยืนในสังคมอย่างสง่างาม แต่ถ้าผิดก็ต้องกล้าที่จะรับโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่ใช้กระบวนการรัฐธรรมนูญล้างคดีเพื่อคนใดคนหนึ่ง

รวมทั้งผู้ที่อาจได้ผลกระทบต่อการแก้ไขว่าจะกลายเป็นคดีย้อนหลังหรือไม่ ถ้ามีผลพวงเกิดขึ้นจริงอาจจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเพิ่มเติมได้ และจะกระทบต่อแนวทางปรองดอง

เพราะไปดำเนินคดีกับคณะคมช. โยงใยถึงองค์กรอิสระต่างๆ ที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เช่น กกต. ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะถ้าหยิบใช้กันผิดๆ ตีความแบบผิดๆ ก็จะสร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมืองได้โดยง่าย

ส่วนตัวเห็นว่าการสังคายนารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะทำให้เกิดความโปร่งใสมากกว่าที่จะมาจับจ้องบางมาตรา แต่เชื่ออีกว่าผู้มีอำนาจก็คงไม่ยอมทำเช่นนี้แน่ เนื่องจากมีการตั้งธงมาแล้วว่าจะเสนอแก้ให้เสร็จเมื่อใด ดังนั้น สิ่งใดที่จะเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้ามากขึ้นคงไม่ต้องการ

สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกกำกับไว้แล้ว จึงเกิดคำถามว่าการตั้งส.ส.ร.3 จะมีความอิสระแท้จริงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากถูกตีกรอบกำหนดประเด็นการแก้ไขและเงื่อนไขระยะเวลาตามไว้แล้ว

แต่ถ้าคิดว่าเราจะปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์บ้านเมืองจริงๆ โดยไม่อิงแอบการเมือง ก็ประเมินทั้งฉบับถือเป็นเรื่องดี

สิ่งใดที่ประเมินแล้วดีก็คงไว้ ส่วนที่บังคับใช้แล้วมีปัญหาค่อยมาแก้ไข



2.ประพันธ์ นัยโกวิท
กกต. อดีต ส.ส.ร.

ภาพรวมการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งตามกฎหมายการแก้ไขเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่เหตุผลที่จะแก้และต้องแก้เรื่องอะไรบ้างเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองพิจารณา

โดยหลักการรัฐธรรมนูญ? บัญญัติให้แก้ไขได้อยู่แล้วและออกแบบให้แก้ได้ไม่ยากถึงใช้เสียงแค่กึ่งหนึ่ง ถ้ามีเจตนาให้คงอยู่นานก็เขียนมาตรา 291 ไว้ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ก็แก้ได้ยากแล้ว และตอนร่างก็มีคนเสนอแต่เราไม่เขียน จึงอยู่ในจุดที่แก้ได้ไม่ยาก

เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่บางประเทศใช้เวลานานพอสมควร บางประเทศต้องใช้เสียง 2 ใน 3 แต่รัฐธรรมนูญ? เราพร้อมให้แก้

ส่วนแก้แล้วจะมีปัญหาหรือไม่เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจต้องหารือกัน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดโดยทั่วไปการแก้ไขต้องดูบรรยากาศของบ้านเมืองด้วยว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ควรจะแก้หรือไม่ แต่ควรเป็นช่วงไหนก็เป็นเรื่องของรัฐสภา

มาตรา 309 ที่รัฐธรรมนูญ? ใส่ไว้ เนื่องจากประกาศคมช.หลายฉบับมีลักษณะเป็นกฎหมาย ถ้าไม่มีมาตรา 309 รองรับเกรงจะมีปัญหาเรื่องการตีความ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องมีเพื่อให้มีจุดรองรับการดำเนินการก่อนหน้านั้น

ที่ต้องกำหนดเช่นนี้เนื่องจากเคยมีปัญหาเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญ? เรื่องคดี เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้พูดถึงของเก่า จึงมีปัญหาว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว ดำเนินการไปแล้วขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีมาตรา 309 ก็จะเสียไปหมด

ถามว่าถ้าวันนี้ยกเลิกมาตรา 309 แล้วจะมีผลทางกฎหมายใดๆ หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของการตีความ ไม่มีใครตอบได้เพราะใครจะตีความอย่างไรก็เป็นเรื่องของความเห็นแต่ละคน

แต่ถ้าไม่มีมาตรา 309 อะไรที่ออกมาเป็นกฎหมายไปแล้ว การกระทำที่มีผลไปแล้วต้องยกเลิกหรือไม่

ส่วนที่วิจารณ์กันว่าจะเป็นการล้างผิด หรือนิรโทษกรรม คิดว่าถ้าจะมีการเขียนเรื่องนี้ อาจอยู่ในบทเฉพาะกาล



3.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
อดีตประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ
ในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ

รัฐธรรมนูญมาจากฉบับรัฐประหารก็สมควรพิจารณาแก้ไข ถือเป็นเรื่องปกติและก็ทำมาหลายครั้งหลายคราว สมัยหลังรสช.ก็แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คราวนี้สมัยเร่งด่วนก็แก้ไปแล้วหลายมาตรา

ทำใจให้เป็นธรรมเพราะถึงเวลาแล้ว รัฐธรรมนูญใช้มาตั้งแต่ปี? ใช้ไป 5 ปี อีก 1 ปี กว่าจะแก้เสร็จ ไม่เห็นเสียหาย

ส่วนมาตรา 309 ที่ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านแสดงความคิดเห็นถึงความเหมาะสมในการแก้ไข คงเป็นการตีกัน ต้องดูว่าฝั่งไหนเพราะคนที่อยู่ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการอภัยโทษก็บอกว่าแก้ 309 อาจทำเพื่อประโยชน์ของคนๆ เดียว

ส่วนที่มองว่าการเรียกร้องให้แก้เพื่อลบล้างผลจากการปฏิวัตินั้น ไม่ใช่ อย่ามองอย่างนั้น ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าไปถึงจุดนั้นจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่าไปตั้งโจทย์ มองว่าแก้เพราะมีเป้าหมายเพื่อคนเดียวเป็นเรื่องของคนคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย บ้านเมืองถึงเป็นอย่างนี้

อย่าเพิ่งไปมองว่ามีการตั้งธง ต้องให้ส.ส.ร.เป็นคนคิดและยังต้องผ่านขั้นตอนการทำประชามติ มีอีกหลายขั้นตอน ใครจะมาตั้งธงตรงนี้ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วถามว่าแล้ววันที่ร่างรัฐธรรมนูญ? มีธงหรือไม่

ผมว่ากระบวนการตั้งส.ส.ร.3 ก็เปิดกว้างเพื่อความโปร่งใส และดีกว่า ส.ส.ร.2 ที่ให้อำนาจคมช.มากในการแต่งตั้งคน เชื่อว่าส.ส.ร.3 หน้าตาต้องดูดีกว่า ส.ส.ร.2 แน่นอน เพราะสังคม ประชาชนรวมทั้งสื่อจับตา

ส่วนตัวผมเห็นว่าการแก้ไขต้องตั้งส.ส.ร. และต้องทำประชามติ เพราะ รัฐธรรมนูญ? เราก็ทำประชามติ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายก็เป็นธรรมดาเพราะบ้านเมืองยังมีความขัดแย้ง ยังมีสองฝักสองฝ่ายที่คิดไม่ตรงกันและต้อง การอำนาจ

ดังนั้นการแก้หรือไม่แก้เป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับประเทศไทย เพราะแต่ละคนยังหวงอำนาจ ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายได้ดิบได้ดีหรือพ้นจากการลงโทษจากรัฐธรรมนูญ จึงเป็นปัญหาคาราคาซังมา 7-8 ปี

แต่ผมไม่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรมนูญจะไม่นำไปสู่ความปรองดอง เรื่องปรองดองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันคนละเรื่อง

ถ้าไม่แก้มีอะไรการันตีว่าจะเกิดความปรองดอง



++++

โพสต์เพิ่มเติมหลังบทความหลัก

เพื่อไทยขยับแก้ปม รธน.50 สู่เกมเสี่ยง-สู้แนวต้านใน-นอกพรรค
ในประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:54:18 น.


ปี 2555 จะเป็นปีแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินคู่กับขาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขยับไปพร้อมกับการออก พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ

เกมในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจึงร้อนแรง ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยไปถึงทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา

ทันทีที่เปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ การเปิดฉากเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจึงครึกโครม

เป็นเหตุผลให้บรรยากาศในห้องประชุมพรรคเพื่อไทยช่วงบ่ายวันที่ 20 ธันวาคมร้อนระอุดุเดือดเต็มไปด้วยการถกเถียง-อภิปราย

จนวงประชุมแตกเป็น 2 ก๊ก 2 เหล่า

ก๊ก 1 แห่ง "บ้านริมคลอง" มี "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีเป็นแกนนำให้ชะลอดึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน ปะทะกับความคิดฝ่ายสีแดง มี "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" และ น.พ.เหวง โตจิราการ-พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ที่ยืนกรานว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้

ทั้ง 2 ฝ่ายปะทะความคิดถึงระดับที่หัวขบวนแนวต้านขอคืนเก้าอี้รัฐมนตรี หากพรรคยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีต้องลงมาหย่าศึก

แม้เสียงส่วนใหญ่ในเพื่อไทยไม่สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปตามแนวทางของ "ร.ต.อ.เฉลิม"

แต่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป) มีมติร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแก้ไข ทั้งฉบับ

โดยมอบหมายให้ "พีรพันธุ์ พาลุสุข" ส.ส.ยโสธร เป็นหัวหอกในการชี้แจงกับสาธารณะ และระดมนักกฎหมายเพื่อกำหนดร่างในการเฟ้นคุณสมบัติของ ส.ส.ร. 99 คนที่มาจาก 2 ส่วนคือ 1.เลือกตั้ง 77 คน 2.นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม 22 คน


ทั้งนี้ วัน-เวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกกำหนดไว้เป็นคู่มือในการขับเคลื่อนพรรคดังนี้

ปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ยื่นญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (แก้ไขมาตรา 291 เพียงมาตราเดียว) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยต้นร่างอาจมีทั้งร่างที่มาจาก ครม. และร่างที่มาจากการเข้าชื่อกันของ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือ 130 คน และร่างที่มาจากการเข้าชื่อกันของภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

กุมภาพันธ์ 2555 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ สมาชิกรัฐสภา หรือ 325 คน จากนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นรายมาตรา พร้อมกำหนดกรอบเวลาในการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญ

ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน 2555 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 ซึ่งใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา จากนั้นทิ้งร่างไว้ 15 วันเพื่อขอความเห็นชอบในวาระที่ 3 ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา

กระบวนการผ่านร่างแก้ไขมาตรา 291 ควรเสร็จก่อนปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 18 เมษายน แต่ถ้าดำเนินการไม่ทันรัฐบาลจะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เพื่อให้กระบวนการสรรหา ส.ส.ร. 3 เริ่มต้นได้

โดยตั้งธงว่า "99 อรหันต์" ที่จะเข้ามาเป็น "มือยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่" ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 77 คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 22 คน ต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2555

จากนั้นคาดว่าจะปล่อยให้ ส.ส.ร. 3 ทำหน้าที่ของตนไป ซึ่งหากเทียบเคียงเวลากับ ส.ส.ร.รุ่นพี่จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 เดือน

เมษายน-พฤษภาคม 2556 คาดว่า จะได้ต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พฤษภาคม-มิถุนายน 2556 เผยแพร่ร่างให้ประชาชนรับทราบก่อนจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

มิถุนายน 2556 นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับมติมหาชนกลับมาที่รัฐสภาเพื่อ รับทราบก่อนประธานรัฐสภาจะนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

หากไม่มีอุบัติเหตุการเมืองขัดขากันเองในพรรคเพื่อไทย ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ในช่วงกลางปี 2556

เพราะแนวร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีครบเครื่องทั้งมวลชนเสื้อแดง แนวร่วมเพื่อไทย และ 3 พรรคร่วมรัฐบาล


นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และทีมนักฎหมายประจำพรรค ที่ร่วมวง "มอร์นิ่งบรีฟ" เหตุผลและหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบบอกว่า หาก "เพื่อไทย" ยังชักช้า-รีรอ ไม่เริ่มเสนอแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญ 2550 ในที่สุดอาจถูกฝ่ายตรงข้ามรุมถล่มจนพ้นกระดานต้องตั้งหลักเลือกตั้งใหม่

"ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำอะไรก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเดินหน้าไปได้ทุกเรื่อง ไม่มีอะไรต้องกลัว เกิดเรื่องก็เกิดกัน เราไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน ถ้าทหารยึดอำนาจเพราะแก้รัฐธรรมนูญ ยึดก็ให้ยึดไป เมื่อมีเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้อีก พรรคเพื่อไทยต้องกล้า ๆ ทำเรื่องที่ควรทำ ถ้าปล่อยไว้โดนเชือดอีก"

คนในฝ่ายเพื่อไทยวิเคราะห์ด้วยว่า หากเกิดเหตุ จตุพร พรหมพันธุ์ ถูกพิพากษาพ้นจากการเป็น ส.ส. จากนั้นปัญหาจะลุกลามบานปลายโยงไปถึงขั้น "ยุบพรรคเพื่อไทย"

นอกจากนี้ ยังมีคดีที่พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นวาระของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ในสำนวน "ซื้อสื่อ" เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญ มีโทษถึงขั้น "ยุบพรรค" ค้างคาอยู่

ข้อเสนอของผู้มีบารมีในเพื่อไทยจึงต้องใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับแนวรบ แนวต้านจากทั้งฝ่ายค้านประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย และฝ่ายอำมาตย์ แกนนำพรรคเพื่อไทยคำนวณว่า

"การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นการวัดดวงครั้งใหญ่ของบ้านเมือง เพราะไม่สามารถคาดการณ์ทำนายผลเรื่ององค์ประกอบ ส.ส.ร.ได้ว่าแต่ละคนจะมีข้อเสนออะไร ในฝ่ายเพื่อไทย 20 เปอร์เซ็นต์อาจเป็นพวกที่คิดจะแก้เพื่อทักษิณอย่างเดียว หรือไม่ให้มี ส.ว.เลย หรือให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งทางตรง มีได้สารพัด "



++++

เกมแก้ มาตรา 309 เพื่อไทย กับ "รูหายใจ" ได้อย่างเสียอย่าง
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:54:53 น.


การที่พรรคเพื่อไทย ออกมาผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550

นอกจากจะเป็น "ผลพวง" ที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว

พรรคเพื่อไทย ยังคงใช้เป็น "กลยุทธ์" ในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย

สาระสำคัญในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 บท บัญญัติสำคัญ คือ

มาตรา 190 เกี่ยวกับสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง จะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

มาตรา 93-98 ที่มาของ ส.ส.

หากแต่นั่นไม่ใช่ "สาระสำคัญ" ที่พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไข

พรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อาจจะแก้ไขเป็นบางส่วน อาทิ

มาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค

มาตรา 265 และ 266 ที่ห้าม ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ รวมถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาขององค์กรอิสระ

ที่สำคัญมาตรา 309 ที่เป็นเหมือนการ "หนามหยอก" ของพรรคเพื่อไทย เพราะเนื้อหาระบุว่า "..บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย.."


รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หมายถึง เนื้อหาที่ร่างขึ้นหลังการรัฐประหาร โดย คมช.ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นแกนนำ

การกระทำที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส.ที่มี "นาม ยิ้มแย้ม" เป็นประธาน

การแก้ไข หรือยกเลิกมาตราดังกล่าว จะส่งผลให้

"..การกระทำการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.."

หมายความว่า คดีความเก่าๆ ที่ คตส.ตั้งขึ้นมาจาก "โจทก์" ของคณะปฏิวัติ ที่ว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีอันต้องเป็น "โมฆะ"

เท่ากับว่า สถานะของ คตส. และสถานะของคณะปฏิวัติ ที่ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนปัจจุบัน ไม่มี "กฎหมายรองรับ"

เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ เท่ากับว่า คดีความต่างๆ ที่ คตส.ดำเนินการทั้งหมด แม้แต่การ "ส่งต่อ" ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สอบต่อ ก็มีอันต้องเป็น "โมฆะ"

นั่นคือความปรารถนาของ พรรคเพื่อไทย

เพราะไม่เพียงแต่จะช่วย "ล้างมลทิน" ให้กับรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องมีคำว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)" ซึ่งหมายความถึง รัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติแล้ว

ยังเป็นการ "ล้างมลทิน" ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยังมีคดีที่ค้างอยู่ใหญ่ๆ อีก 4 คดี ประกอบด้วย

1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ 4,000 ล้านบาท

2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ

4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือซุกหุ้น ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องหลังศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท

ไม่นับคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ถูกศาลตัดสินไปแล้ว ซึ่งจะต้องมีการออก พ.ร.บ.พระราชทานอภัยโทษ อีกส่วนหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังเท่ากับเป็นการ "ล้างภาพลักษณ์" ให้กับนักการเมืองที่ต้องคดีหลังการทำรัฐประหารไปในตัวด้วย



ทั้งนี้ หากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เท่ากับว่า การดำเนินการของ คตส. ภายใต้คณะปฏิวัติทั้งหมด มีอันต้องเป็นโมฆะ ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า จะมีการ "เอาคืนแก้แค้น" หรือไม่

"ผู้เสียหาย" จะฟ้องกลับ คตส.และคณะปฏิวัติได้หรือไม่

ความจริงคือ "ฟ้องได้"

หากแต่ยึดตามหลักการบริหารประเทศของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้ามา "แก้ไข ไม่แก้แค้น" ทำให้การฟ้องกลับ เท่ากับเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่

แกนนำระดับสูงของพรรคเพื่อไทย หารือกันเบื้องต้นว่า หากแก้ไขมาตรา 309 คงต้องมี "บทเฉพาะกาล" เพื่อเปิดรูหายใจ "ไม่เอาผิด" ให้กับ คตส.และคณะปฏิวัติด้วย

เพราะหากไล่บี้ "ฟ้องกลับ" กันไปมา

ปัญหาก็จะกลายเป็นเหมือนการ "พายเรือในอ่าง"

ที่สุดแล้วอาจจะกลายเป็นชนวน "ความขัดแย้ง"

พรรคเพื่อไทย ต้องเข้าใจและยอมรับว่า

เมื่อมีได้ ก็ต้องมีเสีย เพื่อประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง



.