http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-18

ก้าวย่างของคนขลาด, นพมาส: HUGO, เดือดวาด: เขาผิดมาแต่กำเนิด

.

ก้าวย่างของคนขลาด
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 85


วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม ผมมีนัด "เดินทางไกล"
เป็นการเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังสี่แยกราชประสงค์

กลุ่มคนผู้มารวมตัวกันเดินทางไกลในครั้งนี้ ต้องการจะบอกใครต่อใครว่า

"เราอย่ากลัวที่จะพูด"

อย่ากลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงหลักการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่แอบซุบซิบนินทาตัวบุคคลอยู่ลับหลัง

เพราะมีเพียงวิถีปฏิบัติประการแรกเท่านั้นที่จะประคับประคองสังคมไทยให้ข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงไปได้โดยมั่นคง มิใช่วิถีปฏิบัติประการหลัง

แต่ผมก็ยัง "กลัว"

จึงเลือกสวมเสื้อต่างสีจาก "นักเดินทาง" เหล่านั้น

พวกเขาเดินบนถนน ผมก็เว้นระยะห่างมาเดินบนฟุตปาธ

ขณะที่กล้องถ่ายรูปซึ่งพกพาติดตัว ก็ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผมเป็นแค่ "ผู้สังเกตการณ์" มิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด


ระหว่างทาง ผมเจอเพื่อนๆ และคนรู้จักจำนวนไม่น้อย

บางคนก็เป็นเพื่อนเรียนกันมาตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย

บางคนเพิ่งมารู้จักและตระหนักว่าเรามีมุมมองทางสังคมการเมืองคล้ายคลึงกัน ในช่วง 4-5 ปีหลัง

บางคนไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน ได้เพียงติดตามอ่านงานเขียน รวมทั้งคลิก "ไลค์" ข้อความซึ่งกันและกัน ทางโลกออนไลน์ หรืออย่างมากก็ส่งหนังสือให้กันทางไปรษณีย์แค่นั้น


เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักข่าวจากเว็บไซต์สื่อทางเลือก เดินมาทักทายว่า ได้ฟังคำปราศรัยของ "ปัญญาชนอาวุโส" ขณะกำลังตั้งขบวนกันตรงอนุสาวรีย์ชัยฯ ไหม?

ผมตอบไปว่า "ไม่ได้ฟัง"

เขาจึงเกริ่นให้ฟังด้วยน้ำเสียงเซ็งๆ ว่า อาจารย์แกโยงว่า "คดีนี้" เป็นแผนการชั่วร้ายซ่อนเงื่อนของทักษิณอีกแล้ว

อีกสิบกว่าชั่วโมงต่อมา ผมจึงมีโอกาสได้ดูคลิปปราศรัยดังกล่าว พร้อมอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "ทฤษฎีสมคบคิด" ที่ปัญญาชนผู้นั้นเสนอ จากสถานะทางเฟซบุ๊กของเพื่อนคนหนึ่ง

หลายคนอาจรู้สึกว่าทฤษฎีสมคบคิดเช่นนั้นช่างเหลวไหล

ส่วนตัวผม แม้จะเชื่อว่ามันมีความเป็นไปได้น้อยมาก ทว่า ความคิดทำนองนี้ก็ช่วยย้ำเตือนให้เราไม่หลงลืมว่า

การต่อสู้ทางการเมืองซึ่งขับเคลื่อนโดยฝ่าย "ประชาชน" นั้น มีสถานะเป็น "กระบวนการ" ที่ดำเนินไปอย่างไม่เคยสิ้นสุดหยุดยั้ง ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหรือผู้ถือครองอำนาจรัฐก็ตาม


ผมใช้เวลาเดินคุยกับเพื่อนเรียนสมัยมหาวิทยาลัยคนหนึ่งอยู่ร่วม 10 นาที

เราตั้งคำถามกันว่า "สาร" ของ "นักเดินทาง" กลุ่มนี้ จะ "สื่อ" ไปถึงประชาชนข้างทางได้มากน้อยแค่ไหน?

เธอจึงเริ่มตั้งคำถามกับผู้คนที่เดินผ่านสัญจรไปมาตามทางเท้าว่า พวกเขารู้จักบุคคลผู้เป็น "สัญลักษณ์" ของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ตลอดจนชะตากรรมของบุคคลผู้นั้นหรือไม่?

น่าแปลกใจที่คนหนุ่มสาว มีบุคลิกการแต่งกายดี ดูท่าทางมีการศึกษาหลายต่อหลายราย ให้คำตอบกลับมาอย่างสั้นกระชับพร้อมแสดงสีหน้างุนงงสงสัยว่า "ไม่รู้จัก"

แต่ผู้ที่แอบแบฝ่ามือ (อันปราศจากข้อความตัวอักษรใดๆ ในเชิงรูปธรรม) และส่งเสียงเชียร์อยู่เบาๆ กลับกลายเป็นคนอย่าง "คุณป้าขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็น" ซึ่งเอ่ยปากถามเราว่า นี่เค้ามาเคลื่อนไหวกันเรื่องของ "คนนั้น" ใช่ไหม?

ก่อนจะบอกอีกว่า "กลับบ้านไปตอนดึก ป้าก็ดูทีวีเจอข่าวเรื่องนี้" (เราไม่ได้ซักต่อว่า แกดูข่าวจากฟรีทีวี หรือ ทีวีดาวเทียม?)

"แล้วก็เห็นจากเว็บไซต์ เดี๋ยวนี้ มีเว็บไซต์บางสำนักที่รายงานข่าวเรื่องพวกนี้นะ" คุณป้าขายก๋วยเตี๋ยวอธิบายให้เราฟัง


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า "ผู้ที่ไม่รู้" ในวันนี้ จะกลายเป็น "ผู้ไม่รู้" ตลอดไป

ผมยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า "เมล็ดพันธุ์แห่งความไม่กลัว" ที่บรรดา "นักเดินทาง" หว่านลงไป มันคงจะผลิดอกออกผลขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

รูปถ่ายชุดหนึ่งที่ผมจับภาพได้ขณะกำลังเดินเท้า และรู้สึกชอบมันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกลับมาดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

ก็คือ ภาพ "นักเดินทางสาว" บางคน นำใบปลิวแผ่นพับที่ชี้แจงเหตุผลของการเคลื่อนไหวและปัญหาของกฎหมายบางมาตรา ไปแจกจ่ายให้แก่น้องๆ วัยไม่เกินมัธยมต้น

ผมไม่แน่ใจว่า เด็กน้อยเหล่านั้นจะ "ใส่ใจ" กับแผ่นพับดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน?

เขาอาจขยำแล้วทิ้งมันลงบนท้องถนนในอีกไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นก็เป็นได้

แต่บางคนก็อาจเก็บแผ่นกระดาษบางๆ ซึ่งตนได้รับกลับไปนอนอ่านที่บ้าน

ผมหวนนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง "Hidden" ของคนทำหนังชาวออสเตรีย "ไมเคิล ฮาเนเก้" ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของปัญญาชนกระฎุมพีผิวขาวชาวฝรั่งเศส ผู้ถูกหลอกหลอนโดยความทรงจำครั้งอดีต ที่เขาเคย "กระทำความผิด" ต่อชาวแอลจีเรียพลัดถิ่นรายหนึ่ง

คนฝรั่งเศสรายนั้นตามหา "เพื่อนแค้น" พลเมืองชั้นสองจนเจอ และนำไปสู่เหตุการณ์ "สะเทือนขวัญสั่นอารมณ์ถึงขีดสุด" ในหนัง

ที่น่าสนใจก็คือในตอนจบ ฮาเนเก้ฉายภาพให้คนดูมองเห็นจากระยะไกลว่า ลูกชายของชาวฝรั่งเศสกับลูกชายของชาวแอลจีเรีย คล้ายจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันฉันมิตร

ทำให้พอจะอนุมานได้ว่า หนึ่งในผู้ที่ร่วมก่อเรื่องเขย่าขวัญจนคุกคามเข้าไปสู่พรมแดนความทรงจำของชายชาวฝรั่งเศส ก็อาจเป็นลูกชายวัย 10 กว่าขวบของเขานั่นเอง


ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยฯ ถึงป้ายสี่แยกราชประสงค์หน้าห้างสรรพสินค้าเกษรพลาซ่า คนที่ถูกผมจับภาพไว้มากที่สุด ก็คือ "กวีซีไรต์"

สองเท้าของเขาก้าวเดินไป ในขณะที่สองมือกำลังถือ "กรอบรูป" อันกลวงว่างเปล่าเปลือย

มันเป็นกรอบรูปที่มีเพียงเค้าโครงของ "กรอบไม้"

มันเป็นกรอบรูปที่ไม่มี "รูปภาพ" ใดๆ ปรากฏอยู่ภายใน

มันเป็นกรอบรูปที่ชวนให้นึกถึง "กรอบไม้สักทองอันเป็นที่สักการะ" ใน "เพียงแต่ยังไม่ได้ทาสี" บทกวีชิ้นสำคัญของเขา

ในคืนต่อมา ผมมีโอกาสได้อ่านบทกวีชิ้นใหม่ชื่อ "ความรักที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้มาจากเสาอากาศทีวี" ของเขา ผ่านทางเว็บไซต์ประชาไท

ดูเหมือนภาพบางภาพจะเริ่มปรากฏอย่างแจ่มชัดมากขึ้นในกรอบรูปว่างเปล่ากรอบนั้น



เมื่อถึงที่หมาย เหล่า "นักเดินทาง" พร้อมใจกันตะโกนถ้อยคำเรียกร้องให้ปล่อย "นักโทษการเมือง" วัย 61 ปีผู้หนึ่ง ซ้ำกัน 5 ครั้ง

หลังบันทึกภาพเสร็จ ผมปลีกตัวจากมาอย่างเงียบๆ

แวะเข้าห้างสรรพสินค้าหาเครื่องดื่มแก้กระหาย แล้วพยายามนึกออกแบบในใจว่า เราจะถ่ายทอดเหตุการณ์ในวันนี้ออกมาอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อตัวเองและหนังสือที่ตีพิมพ์งานเขียนของเรามากที่สุด

ราวหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น ผมเดินกลับมายังสะพานลอยเหนือสี่แยกราชประสงค์

เป็นสี่แยกราชประสงค์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำการมากกว่าปกติ

เป็นสี่แยกราชประสงค์ในวันเสาร์ที่รถราว่างเปล่าจนผิดปกติ

ผมจับสัญญาณบางอย่างได้

"บรรยากาศแห่งความกลัว" เริ่มคลี่คลุมรอบกายผมอีกครั้ง



++

HUGO "คารวะผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 87



กำกับการแสดง Martin Scorsese
นำแสดง Ben Kingsley
Asa Butterfield
Chloe Grace Moritz
Jude Law
Sacha Baron Cohen
Christopher Lee


ข่าวที่ว่า มาร์ติน สกอร์เซซี (The Taxi Driver, The Deer Hunter, The Gangs of New York) หันมาทำหนังที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายกับของเล่นนั้น แทบไม่มีใครอยากเชื่อ ใครๆ ก็รู้ดีว่าหนังในแนวถนัดของสกอร์เซซีจะหนักไปทางอาชญากรรมและชีวิตเลวร้ายของคนธรรมดาสามัญ แม้ว่าเขาจะเคยทำหนังเกี่ยวกับคนชั้นผู้ดีในอเมริกาจากวรรณกรรมคลาสสิก The Age of Innocence ซึ่งเป็นหนังในดวงใจตลอดกาลเรื่องหนึ่งของผู้เขียนก็ตาม

ไม่เพียงแต่ความเป็นหนังที่มีเนื้อหาสำหรับครอบครัวเท่านั้น แต่ Hugo ยังถ่ายทำในระบบสามมิติ ซึ่งมีแต่หนังฟอร์มใหญ่ที่เรียกว่าบล็อกบัสเตอร์ ซึ่งมุ่งตลาดมวลชนเท่านั้นที่จะยอมลงทุนสร้าง

และสกอร์เซซีก็ไม่ได้ทำให้แฟนที่ติดตามผิดหวังด้วยฝีมือฉมังในการสร้างภาพยนตร์มาหลายสิบปี จนหลายคนถือว่าเขาเป็นสถาบันไปแล้วสำหรับวงการภาพยนตร์



สร้างจากหนังสือขายดีเรื่อง The Invention of Hugo Cabret ที่เขียนโดย ไบรอัน เซลส์นิก ผู้เป็นหลานชายของ เดวิด เซลส์นิก อดีตเจ้าพ่อในวงการสร้างหนังของฮอลลีวู้ด มาสู่จอภาพยนตร์ระบบสามมิติอย่างลงตัว

Hugo เล่าเรื่องราวชีวิตรันทดของเด็กกำพร้าคนหนึ่งที่โชคหรือเคราะห์หรือความมุ่งมั่นในตัวเขาเองนำเขาไปสู่การผจญภัยและการสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ในชีวิตของบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ถูกโลกลืมไปแล้ว

ฮิวโก (อาซา บัตเตอร์ฟีลด์) เป็นเด็กชายวัยสิบสามขวบที่หลบซ่อนจากโลกภายนอกและใช้ชีวิตอยู่ในโพรงห้องหับอันสลับซับซ้อนของสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีสในช่วงทศวรรษ 1930

ก่อนหน้านั้นเขาอยู่กับพ่อ (จู๊ด ลอว์) ซึ่งทำงานในพิพิธภัณฑ์ และเก็บหุ่นยนต์ที่ถูกทอดทิ้งตัวหนึ่งมาซ่อมทีละเล็กทีละน้อยเพื่อให้กลับมาใช้การได้และมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง อุบัติเหตุเพลิงไหม้อย่างร้ายแรงที่พิพิธภัณฑ์ทิ้งให้ฮิวโกกลายเป็นเด็กกำพร้า

ญาติคนเดียวที่เขามีคือลุงคล็อดขี้เมา (เรย์ วินสโตน) ที่ไม่มีเยื่อใยมากมายกับหลานคนนี้ นอกจากเอาเลี้ยงดูอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ เพื่อให้ทำงานแทนในสถานีรถไฟ ฮิวโกไม่ได้ไปโรงเรียน แต่อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในสถานีรถไฟ และเรียนรู้วิธีที่จะทำให้นาฬิกาเรือนใหญ่ในสถานีเดินอย่างเที่ยงตรง

สมบัติชิ้นเดียวที่เขาหอบหิ้วติดตัวมาด้วยจากบ้านพ่อคือหุ่นยนต์ขนาดเท่าคนจริง และใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มีพยายามซ่อมหุ่นตัวนี้ให้กลับมาใช้การได้ ด้วยความหวังว่าจะเป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเขากับพ่อที่ตายจากไปโดยไม่ได้สั่งเสีย

ฮิวโกเลี้ยงชีพด้วยการแอบหยิบขนมปังจากร้านรวง และขโมยชิ้นส่วนกลไกต่างๆ จากร้านซ่อมของเล่นในสถานีรถไฟ

ตลอดเวลา เขาต้องเล่น "โปลิศจับขโมย" หรือจะเรียกให้ถูกต้องคือ "ขโมยหนีโปลิศ" กับตำรวจรถไฟผู้เข้มงวด (ซาชา บารอน โคเฮน) กับสุนัขดมกลิ่นตัวโต ที่พยายามจับตัวเด็กจรจัดไปส่งสถานเลี้ยงเด็กอนาถา

วันหนึ่งฮิวโกก็ถูกจอร์จ เจ้าของร้านซ่อมของเล่นผู้เข้มงวด (เบน คิงสลีย์) จับตัวได้ขณะกำลังพยายามขโมยของเล่นชิ้นหนึ่ง เขาต้องยอมมอบของมีค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของตนให้ไปเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกส่งตัวให้ตำรวจรถไฟ นั่นคือสมุดของพ่อที่ขีดเขียนกลไกการซ่อมหุ่นไว้

ไม่ว่าฮิวโกจะอ้อนวอนอย่างไร จอร์จก็ไม่ยอมคืนสมุดให้ แถมยังขู่จะเผาทิ้งให้สิ้นซาก ฮิวโกเดินตามจอร์จไปบ้าน และผูกไมตรีกับลูกสาวบุญธรรมของจอร์จชื่ออิซาแบล (โคลอี เกรซ มอริตซ์) เพื่อให้คอยเฝ้าดูไม่ให้จอร์จทำลายสมุดของเขาทิ้ง

อิซาแบลยอมช่วยฮิวโกเพราะรู้สึกตื่นเต้นกับการผจญภัยสนุกๆ ครั้งนี้ เด็กสองคนผจญภัยด้วยกันสู่โลกของภาพยนตร์ ซึ่งอิซาแบลไม่เคยมีโอกาสได้ดูเลย เพราะพ่อบุญธรรมของเธอไม่สนับสนุน

และในที่สุดด้วยกุญแจดอกสำคัญที่ใช้ไขลานให้หุ่นยนต์กลับมีชีวิตขึ้น ฮิวโกก็ได้พบปริศนาที่นำเขาไปสู่การค้นพบตัวตนที่แท้จริงของจอร์จผู้ฝังอดีตอันขมขื่นไว้เนิ่นนานแล้ว

สิ่งประดิษฐ์ของฮิวโกช่วยแก้ไขหรือ "ซ่อม" อดีตของจอร์จให้กลับมาใช้การได้อีกครั้ง

และอดีตของจอร์จนั้นคือผู้บุกเบิกคนสำคัญของวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส จอร์จ เมลิเอส์



หนังเรื่องนี้จึงเป็นคำคารวะต่อ จอร์จ เมลิเอส์ นักมายากลผู้หันมาหลงใหลในการสร้างภาพลวงของความจริงและบุกเบิกการสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวประดุจมายากล เพียงเมื่อได้เห็นภาพเคลื่อนไหวบนจอเป็นหนังสั้นฝีมือของพี่น้องตระกูลลูมิแอร์

ฉากแฟลชแบ็กนี้เราๆ ท่านๆ หลายคนคงเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของพี่น้องลูมิแอร์มาแล้วว่าเขาสร้างหนังสั้นชื่อเรื่อง "การมาถึงของรถไฟ" ซึ่งรถไฟแล่นเข้าหาคนดู ทำให้ผู้คนที่ดูอยู่สมัยนั้นกรี๊ดกร๊าดหลบกันใหญ่เพื่อไม่ให้รถไฟบนจอแล่นมาชน

เมลิเอส์สร้างหนังหลายร้อยเรื่อง เรื่องที่สำคัญๆ มี อาทิเช่น "การเดินทางไปดวงจันทร์" ที่แสดงภาพจรวดที่เดินทางไปจอดลงตรงตาข้างหนึ่งของผู้ชายบนดวงจันทร์

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วงการสร้างหนังซบเซาลงจนเมลิเอส์ล้มละลาย และม้วนเซลลูลอยด์จำนวนมากของเขาต้องถูกนำมาหลอมละลายเพื่อเอาไปสร้างส้นรองเท้าผู้หญิง นี่แหละที่น่าเจ็บใจนักหนา โลกมายาที่สร้างสรรค์อย่างยากเย็นกลับมีประโยชน์ใช้สอยเพียงแค่นำมาทำของที่ถูกเหยียบย่ำ ซึ่งทำให้เขาเสียใจจนหลบหน้าจากอดีตอันขมขื่นมาเป็นเจ้าของร้านซ่อมของเล่น

สรุปว่านี่ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กทั่วๆ ไป แต่เป็นหนังที่น่าจับใจที่อิงจากเรื่องราวในชีวิตของผู้บุกเบิกภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่ง

และด้วยฝีมือฉกาจของนักมายากลในวงการภาพยนตร์คนหนึ่ง เราจึงได้ดูเรื่องราวน่าซาบซึ้งตรึงใจของเด็กชายผู้ "ซ่อม" ไม่เพียงแต่หุ่นไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิต แต่ยังฟื้นอดีตที่ตายไปเนิ่นนานแล้วของบุคคลผู้ริเริ่มสร้างสรรค์โลกมายาที่พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นสื่อบันเทิงสำคัญของทุกวันนี้


++

เขาผิดมาแต่กำเนิด
โดย เดือดวาด พิมวนา duanwad.july@gmail.com คอลัมน์ กวีกระวาด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 90

เขาผิดมาแต่กำเนิด

ปรากฏเมื่อเดือนมิถุนา 2475
ดำรงอยู่มา 79 ปี
ร่ายรำหน้าเวทีราวกับมีชีวิตอยู่จริง
บอกบทว่า ปวงประชาล้วนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ยาวนานเหมือนชั่วกัปกัลป์

ประชาชนชราผู้นั้นถือกำเนิดเมื่อ 61 ปีก่อน
ตอนเกิดเขามีอาการครบ 32
มิได้พิกลพิการทั้งร่างกายและอารมณ์
มีความสามารถในอันจะรักและเกลียดอย่างปุถุชน

ผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้งหลายหน
ผมขาวโพลนไปทั้งศีรษะ
ถูกสอนมาตลอดชีวิตว่า
ในระบอบประชาธิปไตย - ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

ปลายปีพุทธศักราช 2554
ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินถูกตัดสิน
ผิดแล้ว ที่เขามีอาการครบ 32
ผิดแล้ว ที่เขามิได้พิการทางอารมณ์
ผิดแล้ว ที่เขามีความสามารถในอันจะรักและเกลียดอย่างปุถุชน
ผิดแล้ว ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินทดลองใช้เสรีภาพ


79 ปี - ประชาธิปไตยยังคงเปิดม่านการแสดงอยู่แข็งขัน
บอกบทว่า ปวงประชาต้องเป็นใบ้ในแผ่นดิน--



.