http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-23

เกษียร: "อภัยธรรม", นันทวัฒน์: จุดประเด็น"ไม่เกลียด"กลางสังคมขัดแย้งแตกแยก

.

"อภัยธรรม"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:30:00 น.


น้ำลดไม่ทันแห้งดี ข่าวคราวก็กลับมารุกเร้าร้อนแรง ฝ่ายต่าง ๆ ทำท่าขมีขมัน กระเหี้ยนกระหือรือจะห้ำหั่นตัดตอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเห็นกันวุ่นวายอีก เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียด ผมจึงอยากหันมาชวนคิดอ่านเรื่องอะไรที่มันหน่อมแน้มนุ่มนวลไม่รุนแรงบ้าง

เผื่อจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศรักสามัคคี มีน้ำใจ (คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 4 แปลตรงตัวจับใจว่า water from the heart เรื่อยไหลใสเย็นชุ่มฉ่ำอะไรทำนองนั้น) เมตตา โอนอ่อนผ่อนปรนต่อกันตามแบบฉบับไทยๆ เรา

ผมไปร้านหนังสือเมื่อวาน เห็นหนังสือภาพ Abhaya: Burma"s Fearlessness ของ James Mackay ช่างภาพชาวอังกฤษซึ่งรวมภาพถ่ายและเรื่องราวนักโทษการเมืองในพม่า ตั้งเด่นอยู่หน้าร้าน ปกหนังสือแสดงภาพนางออง ซาน ซูจี แกนนำการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยของพม่า ยกมือข้างขวาที่ในอุ้งมือเขียนชื่อนักโทษการเมืองพม่าคนหนึ่งไว้แบออกด้านหน้า กึ่งเลียนท่าพระพุทธรูปปางประทานอภัย (ที่ว่ากึ่งก็เพราะปกติพระพุทธรูปปางนั้นจะ "ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองเบนไปข้างหน้าเล็กน้อย" ส่วนในภาพ เธอยกมือขวาข้างเดียว ดู www.dhammathai.org/pang/pang12.php?#58) เพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวบรรดานักโทษการเมืองทั้งหลายเป็นอิสระ

ประจวบกับปรากฏรายงานข่าวการเดินขบวน "อภยยาตรา" (Fearlessness Walk) รณรงค์ให้สังคมรับรู้ปัญหาคดี "อากงส่งเอสเอ็มเอส" เมื่อวันรัฐธรรมนูญที่ 10 ธันวาคม ศกนี้ (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323532822&grpid=01&catid=&subcatid=) และเปิดตัวสมุดภาพ "ก้าวข้ามความกลัว" (Thailand"s Fearlessness: Free Akong) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเวลาต่อมา (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid= 1323869789&grpid=01&catid&subcatid=) ตามที่ปรากฏในมติชนออนไลน์เองด้วย

จึงเป็นจังหวะดีที่จะลองหยิบความหมายนัยเชิงลึกของแนวคิด "อภัย" แบบที่ออง ซาน ซูจี นำไปตีความใช้ในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในพม่ามาทบทวนเป็นอนุสติสักเล็กน้อย ประกอบการคลี่คลายหาทางออกจากความแตกต่างขัดแย้งในบ้านเรา



ออง ซาน ซูจีอธิบายแนวคิดเรื่อง "อภัย" ซึ่งอิงพุทธธรรมของเธอไว้ในบทความชื่อ "Freedom from Fear" (อิสรภาพจากความกลัว ดู en.wikiquote.org/wiki/Aung_San_Suu_Kyi#Freedom_from_Fear_.281991.2) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1991 ในโอกาสที่สภายุโรปมอบ "รางวัลซาคารอฟเพื่อเสรีภาพทางความคิด" ให้แก่เธอโดยลูกชายคนรองเป็นผู้รับแทนแม่ เนื่องจากเจ้าตัวถูกรัฐบาลทหารชายอกสามศอกของพม่ากักขังไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1989

ออง ซาน ซูจีเริ่มต้นบทความของเธอว่า: -

"อำนาจไม่ใช่ตัวการทำให้คนเราเสื่อมดอก แต่ความกลัวต่างหากที่ทำให้เราเสื่อม ความกลัวเสียอำนาจทำให้คนกุมอำนาจเสื่อม และความกลัวโทษทัณฑ์จากอำนาจก็ทำให้บรรดาผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจเสื่อมเช่นกัน

"ชาวพม่าส่วนใหญ่คุ้นกับอคติทั้งสี่ หรือความเสื่อมทั้งสี่ประการ คือ

"ฉันทาคติ หรือความเสื่อมอันเกิดแต่กิเลสตัณหา หมายถึงการเบี่ยงเบนออกไปจากที่ชอบที่ควร เพื่อหาสินบนหรือเพื่อคนที่ตนรัก

"โทสาคติ หมายถึงการประพฤติผิดเพื่อเล่นงานผู้ที่ตนถือโทษโกรธเคือง

"และโมหาคติ คือการผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปเนื่องจากอวิชชา

"แต่ที่ร้ายที่สุดในอคติทั้งสี่น่าจะได้แก่ภยาคติ เพราะไม่แต่ภยาหรือความกลัวจะบีบคั้นและค่อยๆ กัดกร่อนทำลายสำนึกผิดชอบชั่วดีให้หมดสิ้นไปเท่านั้น มันยังมักจะเป็นรากเหง้าของความเสื่อมสามประเภทแรกที่กล่าวมาแล้วด้วย

"ดังที่ฉันทาคติในยามที่มันไม่ใช่เป็นผลจากความโลภโมโทสันล้วนๆ ก็อาจเกิดจากความกลัวว่าตัวเองจะขาดแคลน หรือกลัวจะสูญเสียความปรารถนาดีของผู้ที่ตนรักไปฉันใด ความกลัวจะถูกแซงหน้า, เสียหน้าหรือเจ็บช้ำก็อาจกระตุ้นให้เกิดโทสะประสงค์ร้ายขึ้นมาในบางลักษณะได้ฉันนั้น และคงเป็นการยากยิ่งที่จะขจัดปัดเป่าโมหะอวิชชาไปได้ เว้นเสียแต่มีเสรีภาพที่จะแสวงหาสัจธรรมโดยไม่ถูกความกลัวเหนี่ยวรั้ง

"เมื่อความกลัวกับความเสื่อมสัมพันธ์กันแนบชิดเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสังคมใด หากเต็มไปด้วยความกลัวแล้ว ความเสื่อมในทุกรูปแบบย่อมฝังตัวหยั่งลึกยิ่ง"


น่าสังเกตว่าซูจีชี้ว่าความกลัวทำให้เกิดความเสื่อมหรือภยาคติขึ้น 2 ด้าน ได้แก่ 1) ความเสื่อมหรือภยาคติของผู้กุมอำนาจ และ 2) ความเสื่อมหรือภยาคติของผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ ในแง่หลัง เธออธิบายต่อว่า: -

"ในระบบที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้น ความกลัวเป็นเรื่องปกติวิสัยประจำวัน มีตั้งแต่กลัวถูกคุมขัง กลัวถูกทรมาน กลัวตาย กลัวเสียเพื่อน เสียครอบครัว เสียทรัพย์ หรือเสียชีวปัจจัย ไปจนถึงกลัวจน กลัวโดดเดี่ยว กลัวล้มเหลว

"แต่ความกลัวแบบที่มีพิษร้ายที่สุด ได้แก่ แบบที่เที่ยวโพนทะนาตัวเองว่าเป็นสามัญสำนึก หรือกระทั่งภูมิปัญญา และกลับประณามการกระทำอันกล้าหาญเล็กๆ น้อยๆ ทุกเมื่อเชื่อวันของผู้อื่น ซึ่งช่วยรักษาความเคารพตัวเองและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนเราเอาไว้ว่าเป็นความโง่เขลาบ้าง สุ่มเสี่ยงบ้าง ไม่สลักสำคัญอะไรบ้าง หรือเปล่าประโยชน์บ้าง....."

ออง ซาน ซูจีอ้างคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีเนห์รูผู้ล่วงลับของอินเดียว่า: -

"พรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ที่สุดของบุคคลคนหนึ่งหรือชาติหนึ่ง...ได้แก่ 'อภัย' หรือความไม่กลัว ซึ่งมิได้หมายถึงเพียงกายที่กล้าหาญเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจที่ปราศจากความกลัวด้วย"

เธอเสริมว่า: "ประชาชนผู้จะสร้างชาติให้มีสถาบันประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงไว้เป็นหลักประกันต้านทานอำนาจอันมาจากฝ่ายรัฐนั้น ต้องเริ่มด้วยการเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยจิตใจตนเองให้เป็นอิสระจากความเฉื่อยชาและความกลัวเสียก่อน"

ในทางกลับกัน - โดยอิงการตีความของมหาตมะ คานธี - อภัยธรรมก็มีด้านที่มุ่งหมายช่วยขจัดปัดเป่าความกลัวหรือภยาคติ ที่คอยสิงสู่หลอกหลอนพันธนาการจิตใจของผู้กุมอำนาจด้วย

คำว่า "อภัย" ในแง่นี้จึงมุ่งหมายจะบอกกล่าวแก่ผู้กุมอำนาจว่า "อย่ากลัวเลย" หรือ "ไม่ต้องกลัว" เป็นการสื่อสารถึงฝ่ายผู้กุมอำนาจที่อาจกลัวประชาชนผู้ตกอยู่ใต้อำนาจจะทำร้ายหรือล้มล้าง เอา จนลงมือทำร้ายประชาชนก่อนว่า ไม่ต้องกลัวประชาชน ประชาชนจะไม่ทำร้ายหรือล้มล้างคุณหรอก

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่จะเอาชนะและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กุมอำนาจ ก็คือมโนธรรมสำนึกในใจผู้กุมอำนาจเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งย่อมมีธาตุดีอยู่ข้างใน เพียงแต่ ธาตุดี (สติ ปัญญา เหตุผล) ของผู้กุมอำนาจนั้น ได้ถูกความกลัวจะเสียอำนาจ หรือหวาดกลัวผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ มากลบเกลื่อนไปเสีย จนพวกเขาหันไปใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจก่อน


การบอกกล่าวแก่ผู้กุมอำนาจว่า "ไม่ต้องกลัว" ก็คือการเปิดช่องเปิดโอกาสให้สติ ปัญญา เหตุผล (วิชชา) ของพวกเขาขึ้นมาเอาชนะภยาคติ (อคติอันเกิดจากความกลัว) ในใจของพวกเขา เพื่อเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้นั่นเอง

นี่แหละคือแก่นแท้เคล็ดวิชาหรือวิญญาณของกระบวนท่าอารยะขัดขืนตามแนวทางอหิงสา

พลังของอภัยธรรมในการขจัดภยาคติหรือความเสื่อมอันเกิดจากความกลัว จึงมีทั้งด้านที่ 1) เราไม่กลัวท่าน และ 2) ท่านก็ไม่ต้องกลัวเราด้วย ในสังคมอนาคตข้างหน้านั้นจะมีทั้งเรากับท่านอยู่ด้วยกันร่วมกันในสังคมเดียวกัน จากนี้ก็จะได้เปิดปล่อยพลังแห่งสติ ปัญญา เหตุผลในหมู่ประชาชน และผู้ปกครองให้ขึ้นมาเป็นเจ้าเรือนแทน กำกับชักนำสังคมไปสู่เส้นทางแห่งสัจธรรมและศานติธรรมร่วมกัน

แทนที่จะปล่อยให้ความกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจกันและกัน กดดันชักจูงทั้งสังคมไปสู่ อสัตย์อธรรม ความขัดแย้งกล่าวหาให้ร้ายรังแกกดขี่ข่มเหงกันและกันไม่รู้จบและหายนะอันมืดมิด



+++

หมายเหตุ ในโอกาสที่มีการรณรงค์ 'ไม่กลัว' 'ไม่เกลียด' เวบบทความดีๆฯ จึงนำบทความที่เกี่ยวข้องมาเสนอไว้ ..แม้เนื้อหาบางประการจะน่าตั้งข้อสังเกตุ เช่น เมื่อคนเราถูกเอาเปรียบถูกกลั่นแกล้งทำร้าย ถูกหลอกลวง หน้าไหว้หลังหลอกตลอดชาติ ..หรือถูกปลูกฝังว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกำลังถูกมารที่มีกรรมชั่ว(เช่น ยากจน,ใฝ่สูงเกินศักดิ์ ฯลฯ)ซึ่งควรก้มหัวให้ผู้ประเสริฐดันมาเรียกร้องความเท่าเทียม.. ก็จะเกิดการเกลียดกันเป็นธรรมดา..เพียงว่าเมื่อเราเกลียด เราก็ไม่มีสิทธิไปปฎิเสธชีวิต-ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น(ไม่ว่าในฐานะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ) เราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเวทีสะท้อนความต้องการของเขา นั่นคือตราบใดที่ระบบยังให้โอกาสชนชั้นสูงเห็นแก่ตัวกอบโกยโภคทรัพย์ของสังคมทั้งที่ลับที่แจ้งโดยไร้อำนาจตรวจสอบอย่างเท่าเทียม และปัญญาชนกับสื่อก็หลงในผลประโยชน์ที่'พอลงตัว 'ในระบบอภิสิทธิ์ชนนั้น เคยชินปฏิบัติการต่อต้านระบบประชาธิปไตยอย่างสายตาสั้นฯลฯ ความเกลียดชังและการทำลายกันย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นประจำวันอยู่ดี

การรณรงค์ต่อต้านความเกลียด ความกลัว คงเป็นกระบวนการเปิดใจ สร้างบรรยากาศของสปิริตในการเคารพความเป็นคนของทุกชีวิต . . หวังว่าจะก้าวไปหาสิ่งที่ดีคือเปิดให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาไปเพื่อรองรับทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ส่งเสริมเวทีที่สะท้อนความจริงอันหลากหลาย สามารถประสานผลประโยชน์โดยกติกาเท่าเทียมกัน และสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้นโดยลำดับ ...

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ศ.ดร.นันทวัฒน์ จุดประเด็น"ไม่เกลียด"กลางสังคมขัดแย้งแตกแยก...นี่คือของขวัญที่ดีที่สุด
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:51 น.


วันที่ 5 ธันวาคม 2554 เวปไซต์ www.pub-law.net อันเป็นเว๊ปกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้นำเสนอ บทบรรณาธิการเรื่อง "ไม่เกลียด" เขียนโดย ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
บทบรรณาธิการ ดังกล่าว นำเสนอสาระสำคัญและเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทย
"มติชนออนไลน์"นำมาเสนอต่อดังนี้


เมื่อภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย การเมืองก็เริ่มเข้าสู่ความร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง เริ่มต้นจากข่าวของพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษที่ทำให้เกิดความวุ่นวายพอสมควรเพราะคนส่วนหนึ่งคิดว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเพื่อช่วยเหลือ “คนเพียงคนเดียว” จึงทำให้เกิดการประท้วงตามมามากมาย ไปไกลจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

จริง ๆ แล้ว เรื่องที่เป็น “จุดอ่อน” ที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของรัฐบาลนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐบาล” กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ก็อย่างที่ทราบว่า แม้จะมี “คนรัก” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากมายเหลือเกิน แต่ก็มี “คนเกลียด” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากมายเหลือเกินเช่นกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นและสามารถถูกนำไปเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ เรื่องเหล่านั้นก็จะกลายเป็นข้อขัดแย้งทางสังคมไปได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ใด ๆ ทั้งนั้น

ความเกลียดชังของผู้คนจำนวนหนึ่งได้ฝังรากลึกเกินไปเสียแล้ว

ความแตกแยกในสังคมไทยกลายเป็นสิ่งที่กระทบกับภาพลักษณ์และภาพรวมของประเทศอย่างชัดเจนในวันนี้และไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ แม้จะมีหลายฝ่ายพยายามเสนอทางออกที่จะแก้ปัญหาความแตกแยกและความขัดแย้งภายในชาติ แต่ดู ๆ ไปแล้วก็มองไม่เห็นแสงสว่างเพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งเสนออีกฝ่ายหนึ่งก็โต้ ขนาดคณะกรรมการที่รัฐบาลชุดที่แล้วเป็นคนตั้งและรัฐบาลชุดนี้ก็ยอมรับให้ทำงานต่อคือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอข้อเสนอออกมาหลายอย่างก็ยังถูกโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในที่ลับและที่แจ้งว่าคงไม่สามารถทำการปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะความเกลียดชังของผู้คนจำนวนหนึ่งได้ฝังรากลึกเกินไปเสียแล้ว

ถ้าจะถามว่าจุดเริ่มต้นของ “ความปรองดอง” อยู่ที่ไหน ? คำตอบ “น่าจะ” อยู่ตรงที่ว่า ความปรองดองควรเริ่มต้นจากบรรดา “ตัวละคร” ทั้งหลายที่มีบทบาทในสังคมเวลานี้ “หยุดเล่นไม่เลิก” กันเสียก่อนเพราะที่พบเห็นและเป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันทุกฝ่ายต่างก็หาเรื่องกันทุกจังหวะเวลาที่แต่ละฝ่ายต่างมีโอกาส จองล้างจองผลาญ จองเวรจองกรรมกันทุกเรื่อง บรรยากาศแบบนี้คงเกิดการปรองดองขึ้นได้ยากเพราะการปรองดองตามแนวทางที่เสนอกันมานั้นไม่มีวิธีการใดเลยที่จะเข้าไปแก้สิ่งซึ่งมีที่มาจากพฤติกรรมของคน ไม่ว่าจะออกกฎหมายมากี่ฉบับ ไม่ว่าจะนิรโทษกรรม อภัยโทษ ล้มเลิก ยกเลิก ลบล้าง หรืออะไร ๆ ก็ตามก็คงไม่สามารถทำให้เกิดการปรองดองขึ้นได้

โจทย์สำคัญของการปรองดองจึงอยู่ที่การละลายพฤติกรรมของตัวละครทั้งหมด

ถ้าบรรดา “ตัวละคร” ทั้งหลายยังจองล้างจองผลาญกันเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ โจทย์สำคัญของการปรองดองจึงอยู่ที่การละลายพฤติกรรมของตัวละครทั้งหมด เมื่อตัวละครเหล่านั้นหันหน้าเข้าหากันได้ ยอมรับกันได้ และรับฟังกันได้ เมื่อนั้นการนิรโทษกรรม การอภัยโทษ การล้มเลิก ยกเลิกหรือลบล้างต่าง ๆ ที่หลายฝ่ายเสนอกันมาก็คงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้อย่างไม่ยาก

ไม่ใช่บ้านเราเท่านั้นที่ “คนเกลียดกัน” มากมาย ในต่างประเทศก็มี ล่าสุด ภาคเอกชนใจกล้ารายหนึ่งลุกขึ้นมาทำการรณรงค์ให้พลเมืองของโลกไม่เกลียดกัน การรณรงค์ครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่มีใครทราบ แต่อย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายให้กับโลกได้รับรู้ทั่วกันว่า ความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม ความเชื่อและการเมืองไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้คนเกลียดกัน


Benetton รณรงค์ภายใต้หัวข้อ Unhate หรือ ไม่เกลียด

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆ ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลกว่า วาติกันประท้วงต่อต้านป้ายรณรงค์ขนาดใหญ่ของกิจการค้าเสื้อผ้า Benetton ของอิตาลีที่นำเอารูปภาพของพระสันตะปาปา Benedict ที่ 15 กำลังจูบปากกับ Ahmed el Tayeb ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญคนหนึ่งของโลก โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพที่เกิดจากการตัดต่อรูปภาพ

Benetton เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าสัญชาติอิตาเลียนที่มีความเป็นมายาวนาน เริ่มผลิตเสื้อผ้าสีสันสดใสออกจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 เป็นต้นมา และในช่วงปี ค.ศ. 1990 ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ต่อมาในปี ค.ศ. 1991 บริษัท Benetton ได้ออกหนังสือชื่อ Colors วางขาย 40 ประเทศทั่วโลกพิมพ์ถึง 4 ภาษาด้วยกัน หนังสือ Colors ทุกเล่มจะมีการกำหนดประเด็นหลักในแต่ละเล่มที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาร่วมกันของประชาคมโลก เช่น โรคเอดส์ ชาติพันธุ์ การขนส่ง หรือขยะ เป็นต้น


หนังสือ Colors ใช้วิธีการนำเสนอด้วยภาพถ่ายที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา จนในบางครั้งดูอนาจาร รุนแรง หรือน่าขยะแขยง บริษัท Benetton ได้เอาภาพถ่ายจากหนังสือ Colors บางภาพมาทำเป็นแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วง 10 ปีหลังภาพถ่ายเหล่านั้นก็เริ่ม “รุนแรง” มากขึ้นจนในบางครั้งก็สร้างความตกใจให้กับผู้ที่เห็น เช่นภาพหัวใจจริง ๆ ของคนผิวสีต่าง ๆ หรือภาพมารดาผิวดำให้นมกับทารกผิวขาว เป็นต้น

ล่าสุด Benetton ได้ออกมารณรงค์ภายใต้หัวข้อ Unhate หรือ ไม่เกลียด Unhate เกิดมาจากแนวความคิดของคนที่มองเห็นคนในบางสังคมที่อยู่อย่างเกลียดชังกันและไม่พอใจกัน จึงต้องการรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบหน้ากันหันมาเข้าใจกัน รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ใกล้ชิดกันและอยู่กันอย่างมีความสุข เพื่อการนี้ บริษัท Benetton ได้จัดตั้งมูลนิธิไม่เกลียด (Unhate Foundation) ขึ้นมารณรงค์เพื่อให้คนเลิกเกลียดกันโดยเฉพาะ

การรณรงค์เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ร้าน Benetton สาขาใหญ่กลางกรุง Paris มีการนำรูปภาพของบุคคลสำคัญที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งกำลังจูบปากกันมาทำเป็นป้ายรณรงค์ นอกจากป้ายของสันตะปาปากับอิหม่ามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีภาพของประธานาธิบดีเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกับเยอรมัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับเวเนซุเอลา และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับจีน ทุกภาพเป็นรูปผู้นำกำลังจูบปากกัน และทุกภาพมาจากการตัดต่อภาพ


ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทันทีที่ภาพดังกล่าวออกเผยแพร่ วาติกันก็ออกมาประท้วง ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา การประท้วงไม่ได้เป็นการประท้วงสาระสำคัญของการรณรงค์แต่เป็นการประท้วงการนำภาพของบุคคลสำคัญมาใช้ในการรณรงค์ที่“สุ่มเสี่ยง” กับภาพลักษณ์ของคนเหล่านั้นและอาจทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาได้


“การจูบ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ความรัก”

เห็นไหมครับว่า ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเราเท่านั้นที่จะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งหรือความเกลียดชัง สิ่งที่ Benetton นำเสนอเป็นปัญหาสำคัญของคนในโลกที่เกิดขึ้นมานานและยืดเยื้ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด “การจูบ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ความรัก” ของฝรั่งจึงถูกนำมาใช้กับ “การปรองดองแบบฝรั่ง” ที่มองว่า ควรเริ่มต้นมาจากการไม่เกลียดกันก่อน

ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า สังคมไทยปัจจุบันมีความแตกแยกสูงมาก ความแตกแยกเหล่านี้ไม่สามารถสมานได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกกฎหมาย ด้วยการลบล้างทุกอย่างที่ไม่ถูกต้อง เพราะความแตกแยกเกิดจากภายในจิตใจของเรา จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าขนาดน้ำท่วมจนจะวิบัติกันทั้งประเทศ เราก็ยังมีแดงมีเหลืองกันอยู่เหมือนเดิม เกลียดชังกันเหมือนเดิม หาเรื่องกันเหมือนเดิม โจทย์ใหญ่ของการปรองดองของไทยเราจึงควรอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรคนไทยถึงจะเลิกเกลียดกันมากกว่า !!

ดูการรณรงค์ของ Benetton ครั้งนี้แล้วรู้สึกชอบใจในหลาย ๆ ส่วน ส่วนแรก คือ การจับจุดที่ถูกต้องของปัญหาบนโลกที่คนเกลียดกันเนื่องมาจากมีการปกครองคนละระบบ นับถือคนละศาสนา มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างเหล่านี้แยกคนให้ออกห่างจากกันจนกระทั่งกลายเป็นความไม่พอใจและกลายมาเป็นศัตรูกันในที่สุด

ทางแก้ปัญหาก็คือ ต้องทำให้คนที่เกลียดกันเลิกเกลียดกันก่อน เมื่อคนเลิกเกลียดกันก็จะมีความเป็นกลางมากขึ้น คนที่เป็นกลางทำอะไรโดยปราศจากอคติก็จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นกลาง ไม่สองมาตรฐาน ไม่ลำเอียง เลิกทะเลาะเบาะแว้ง เลิกเป็นศัตรู เลิกต่อสู้ ความสงบก็จะกลับคืนมาสู่สังคมในที่สุด

ส่วนที่สอง ที่ผมรู้สึกประทับใจก็คือ ความเป็นภาคเอกชนในประเทศขนาดกลาง ที่ใจกล้าคิดการใหญ่ระดับโลก แม้จะมีรายได้เป็นอย่างมากจากการขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง การโฆษณาสินค้าก็ยังแฝงไว้ด้วยปัญหาของโลกและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นซึ่งผมเห็นว่าเป็นความกล้าอย่างมากที่ต้องยกย่อง ส่วนสุดท้ายที่ผมชอบก็คือ ความบ้าในการตัดสินใจนำเอารูป “คู่ขัดแย้ง” แห่งโลกมาใช้ในอากัปกิริยาที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมานำเสนอจนทำให้เรามองเห็นรูปภาพเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในสายตาของผู้มองภาพ


ของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุดที่พลเมืองของประเทศไทย

บทบรรณาธิการครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้เราเห็นภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จูบปากกับบรรดาศัตรูทั้งหลายที่มีอยู่ แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขความแตกแยกซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ความพยายามที่จะให้คนในโลกรับรู้รับทราบถึงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความแตกแยกด้วยวิธีการที่ง่ายสุดก็คือ ต้องเลิกเกลียดกัน ก่อนครับ

ของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุดที่พลเมืองของประเทศไทยจะให้กับประเทศไทยได้หลังจากที่เราต้องเจอกับความบอบช้ำมาแล้วหลาย ๆ เรื่องก็คือ คนในชาติเลิกเกลียดกันแล้วก็หันหน้าเข้าหากันครับ

. . การปรองดองที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นคงไม่ได้มาจากผลงานของคณะกรรมการ ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากกฎหมาย แต่มาจากภายในตัวของเราเองครับ ! . .



.