http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-28

พระวิหาร 2555: จากกรุงเฮก..ถึงกรุงเทพฯ, +จากหงสาวดี..กระแสประชาธิปไตย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

พระวิหาร 2555 : จากกรุงเฮก...ถึงกรุงเทพฯ
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 37


"พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจะต้องมองการณ์ไกล เวลานี้เราอยู่ในสังคมโลก สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้ ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไปเนื่องจากซากปราสาทพระวิหารคราวนี้แล้ว อีกกี่สิบกี่ร้อยปี เราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับคืนมาได้"
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
คำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
4 กรกฎาคม พ.ศ.2505


ผลของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาในกรณีของปราสาทพระวิหารจนกลายเป็นการสู้รบที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนของประเทศทั้งสองนั้น ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศต้องหันมาให้ความสนใจกับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น

และในที่สุดสหประชาชาติได้ขอให้อาเซียนเข้ามาเป็นผู้จัดการในเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของการตั้งคณะผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจากอินโดนีเซีย ก็ได้รับการปฏิเสธจากไทยในเวลาต่อมา

และผลจากสถานการณ์ความตึงเครียดเช่นนี้ทำให้รัฐบาลกัมพูชาตัดสินในยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ศาลโลก" ตีความคำพิพากษาเดิมที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 (ค.ศ.1962)

คำตัดสินเดิมในปี 2505 มี 3 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

1) ศาลได้ลงคะแนนเสียงเก้าต่อสามว่า "ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา"

2) ศาลได้ลงคะแนนเสียงเก้าต่อสามว่า "ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา"

3) ศาลได้ลงคะแนนเสียงเจ็ดต่อห้าว่า "ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชาบรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะโยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหารนับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ.1954"

ผลของคำตัดสินของศาลโลกดังกล่าว รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างมาก ดังปรากฏจากถ้อยแถลงของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2505 และในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 มิถุนายน 2505 ได้มีการเตรียมแถลงการณ์ของรัฐบาลไทย โดยมีสาระสำคัญว่า

"รัฐบาลได้ใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว แม้จะรู้สึกสลดใจอย่างสุดซึ้งกับความอยุติธรรมนี้ (หมายถึงคำตัดสินของศาลโลก-ผู้เขียน) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ จำต้องปฏิบัติตามพันธกรณี โดยจะประท้วงและสงวนสิทธิ์ประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้ด้วย"

ซึ่งสาระเช่นนี้สอดคล้องกับท่าทีในคำแถลงของจอมพลสฤษดิ์ในวันที่ 4 กรกฎาคม เช่นกัน


กล่าวถึงที่สุดก็คือ รัฐบาลไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลกในกรณีนี้ โดยถือว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่ 94

และต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติกำหนดเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารโดยกำหนดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบบริเวณปราสาท หรือที่เรียกว่า "เส้นเขตแดนตามมติ ครม. ปี พ.ศ.2505" พร้อมทั้งให้จัดทำป้ายไม้แสดงเขตแดนไทย-กัมพูชา และจัดทำรั้วลวดหนามเพิ่มไว้ด้วย เพื่อบ่งบอกถึงเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2505 รัฐบาลไทยกับกัมพูชาก็ได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ซึ่งก็ถือได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองกลับคืนสู่ภาวะปกติ

และในยุคหลังจากปี 2505 แล้ว ปัญหานี้ก็ดูจะจืดจางไปกับสถานการณ์ของสงครามคอมมิวนิสต์

ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคของสงครามดังกล่าวไทยกับกัมพูชาแทบจะไม่เคยมีการกระทบกระทั่งจากปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างกันแต่อย่างใด

หรือในอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยในยุคหลังจากคำพิพากษา 2505 แล้ว ก็ไม่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องทวงคืนปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด



ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาสู่ความสนใจของรัฐบาลไทยอีกครั้งก็เมื่อรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศการปรับเปลี่ยนนโยบายของไทยจาก "สนามรบเป็นสนามการค้า" อันทำให้ความตึงเครียดทางทหารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาขณะนั้น (ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเวียดนาม) ค่อยๆ คลายตัวลง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองก็เดินไปในทิศทางที่ราบรื่นมากขึ้น

ผลที่ตามมาในกรณีของไทยก็คือ การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันที่ 8 เมษายน 2532 ที่จังหวัดขอนแก่น ได้มีข้อเสนอจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ให้มีการขออนุญาตรัฐบาลกัมพูชาให้นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยเข้าชมปราสาทพระวิหาร

ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้สนองตอบด้วยการแสดงท่าทีที่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และประกาศเปิดให้ปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยว

รัฐบาลในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามารับประเด็นนี้ต่อจากรัฐบาลชาติชาย โดยเสนอให้มี "การร่วมพัฒนาปราสาทพระวิหาร" และถือว่าการพัฒนานี้จะไม่กระทบต่อการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองแต่อย่างใด

สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงระยะเวลาเช่นนี้ดูจะเดินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในไทยในเดือนกันยายน 2549

และต่อมาเมื่อเกิดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่นิวซีแลนด์ในปี 2550 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดสินใจขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยได้มีการขอความสนับสนุนจากไทย

จนในที่สุดประเด็นนี้ได้กลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในเวลาต่อมา และเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของความขัดแย้งในการเมืองภายในของไทยด้วย


ประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือ ในที่สุดแล้วความขัดแย้งได้ขยายตัวกลายเป็นสถานการณ์สู้รบ และรัฐบาลกัมพูชาซึ่งถือว่าตนเองมีข้อได้เปรียบในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคำตัดสินเดิมในปี 2505 จึงได้พยายามใช้เวทีระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายไทยมากกว่าจะสู้ด้วยมาตรการทางทหาร หรือการต่อสู้ในเวทีการประชุม 2 ฝ่ายที่เป็นทวิภาคี เพราะตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยในช่วงเวลานั้นมีทัศนะแบบต่อต้านกัมพูชาอย่างสุดโต่ง

และขณะเดียวกันก็มองว่า ผลของการเจรจาแบบ 2 ฝ่ายจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กัมพูชาแต่อย่างใด เพราะกลุ่มการเมืองภายในของไทยที่เป็นพวกชาตินิยม-อนุรักษนิยมนั้น มีท่าทีต่อต้านกัมพูชาอย่างสุดขั้ว อันส่งผลให้เกิด "ปมการเมือง" ในส่วนของไทยเอง จนแทบจะทำความตกลงเชิงนโยบายไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่เป็นมาตรการสำคัญของกัมพูชาในกรณีนี้จึงได้แก่ การยื่นเรื่องคำพิพากษาเดิมกลับไปให้ศาลโลกตีความใหม่

แม้ปัจจุบันศาลโลกจะยังไม่มีการตีความในกรณีนี้ แต่ก็ได้มีการออก "มาตรการชั่วคราว" (Provisional Measures) หรืออาจจะเรียกแบบไทยว่าเป็น "การคุ้มครองชั่วคราว" ในปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยข้อกำหนดในมาตรการชั่วคราวนี้ ได้แก่

1) กำหนดพื้นที่พิพาทให้เป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" (provisional demilitarized zone) ด้วยการลากเส้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขึ้น

2) ให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว พร้อมๆ กับห้ามมีกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่นี้

3) ให้รัฐคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยอมรับคณะผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศที่จะถูกแต่งตั้งโดยอาเซียนเข้ามาในพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราวนี้

4) กัมพูชามีสิทธิที่จะผ่านเข้าออกปราสาทพระวิหารได้อย่างเสรี และสามารถที่จะส่งสิ่งของต่างๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของตนที่ไม่ใช่ทหารที่ประจำการอยู่ที่ปราสาทพระวิหารได้ และไทยจะต้องไม่ขัดขวางต่อการกระทำดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวนี้ รัฐบาลไทยพยายามคัดค้านอย่างเต็มที่ แต่ผลของคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ก็คือ ไม่รับคำร้องคัดค้านของไทยซึ่งได้ยื่นต่อศาลในวันที่ 28 เมษายน 2554

สำหรับผลของการตัดสินในการออกมาตรการชั่วคราวของศาลโลกก็คือ

1) ด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 5 ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวทันที และห้ามไม่ให้มีกำลังทหารและกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

2) ด้วยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 ไทยจะต้องไม่ขัดขวางกัมพูชาในการผ่านอย่างเสรีไปยังปราสาทพระวิหาร

และกัมพูชาสามารถส่งสิ่งของต่างๆ ให้กำลังพลของตนที่ไม่ใช่ทหารที่ประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารได้



ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่กับสาระสำคัญของมาตรการชั่วคราวนี้ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ผูกมัดรัฐบาลคู่กรณีตามพันธะในหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และในกรณีของไทย หลังจากสถานการณ์น้ำลดและก้าวสู่ช่วงเวลาปีใหม่แล้ว รัฐบาลไทยจะต้องแสดงท่าทีต่อปัญหานี้ จะใช้วิธีการแบบ "เก็บเงียบ" และทำตัวนิ่งไปเรื่อยๆ คงเป็นไปได้ยาก

หากจะหวังว่าการนิ่งช่วย "ซื้อเวลา" ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาตินิยมซึ่งมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลอย่างมากนั้น ก็อาจเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก

เพราะประเด็นนี้มีความเกี่ยวโยงกับประเทศคู่กรณีคือกัมพูชา และทั้งยังมีความผูกโยงอยู่กับอาเซียน ที่จะต้องเป็นผู้จัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศที่จะเข้ามาประจำการในพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราวนี้

นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยหนีไม่ได้ที่จะต้องเป็นผู้ออกคำสั่งแก่ฝ่ายทหารในการปรับย้ายกำลังออกจากพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว

และไม่ว่าฝ่ายทหารจะคิดอย่างไรก็ตาม ก็จะต้องตระหนักว่าผลของความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธที่เกิดขึ้นในรัฐบาลก่อน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมาตรการชั่วคราวนี้ และประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องยอมรับต่อมาตรการดังกล่าวทั้งด้วยเงื่อนไขของกฎหมายระหว่างประเทศ และด้วยความเป็นสมาชิกภาพของสหประชาชาติ

ดังนั้น การจะแสดงออกด้วยการปฏิเสธต่อมาตรการชั่วคราวไม่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศแต่อย่างใด

และหากฝ่ายทหารจะแสดงการปฏิเสธเช่นเมื่อครั้งมีการจัดตั้งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย แม้ว่าจะกระทำได้ แต่หากพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นท่าทีที่เป็นคุณแต่อย่างใด


และทั้งยังจะต้องตระหนักเสมอว่า มาตรการชั่วคราวนี้ออกโดยศาลโลกภายใต้กรอบของสหประชาชาติ การจะปฏิเสธและไม่ยอมกระทำตาม ก็ไม่น่าจะเป็นหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมแต่ประการใด ฉะนั้น การจะแสดงตนเป็น "เด็กดื้อ" มีแต่จะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศเสียหายมากขึ้นนั่นเอง

คำถามในท้ายที่สุดจึงเหลือแค่เพียงประการเดียวว่า หลังจากงานฉลองปีใหม่ 2555 สิ้นสุดลง รัฐบาลไทยจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร...

ของขวัญปีใหม่จากกรุงเฮกกล่องนี้กำลังรอให้รัฐบาลกรุงเทพฯ เปิดออก และทั้งจะต้องเตรียมใจรับกับผลที่จะเกิดขึ้นจริงจากการตีความของศาลโลก

เพราะประเด็นข้างต้นทั้งหมดเป็นเพียงการออกมาตรการชั่วคราว ยังไม่ใช่การตีความจริง !



+++

บทความของปีที่แล้ว ( 2553 )

จากหงสาวดี...สู่โยเดีย : ชัยชนะของกระแสประชาธิปไตย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1580 หน้า 37


"รัฐบาลที่ฉลาดรู้ว่าจะใช้มาตรการบังคับด้วยความอดกลั้นอย่างไร หรือไม่ก็รู้ว่าจะใช้การปรองดอง ด้วยความมีเกียรติอย่างไร "
George Grenville
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
(ค.ศ. 1712-1770)


สถานการณ์ในภูมิภาคปัจจุบัน ดูจะไม่มีอะไรเป็นข่าวที่น่ายินดีและน่าตื่นเต้นเท่ากับข่าวการปล่อย นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในการเมืองพม่า หลังจากการถูกจับกุมคุมขังอย่างยาวนานภายใต้ระบอบการปกครองของกองทัพพม่า จนหลายๆ ฝ่ายแทบจะมองไม่เห็นอนาคตว่า โอกาสการได้รับอิสรภาพของนางจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันทำให้หลายๆ คนมีข้อสรุปอย่างเดียวว่า นางจะมีอิสรภาพได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารถูกโค่นล้มลงเท่านั้น!

แต่สถานการณ์การเมืองของพม่าวันนี้กลับพลิกความคาดหมาย รัฐบาลทหารตัดสินใจปล่อย นางอองซาน ซูจี ออกจากการควบคุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าที่เช่นนี้เป็น "สัญญาณบวก" ทันที อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่ผ่อนปรนของฝ่ายทหารมากขึ้น แม้จะมีเสียงเรียกร้องตามมาว่า เมื่อรัฐบาลทหารพม่าปล่อยนางแล้ว ก็ควรที่จะปล่อยบรรดานักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขัง อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย เพราะการกระทำเช่นนี้จะเป็นการส่งสัญญาณถึง "การปรองดอง" ที่รัฐบาลทหารเคยเรียกร้องให้เกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง

แน่นอนว่า สัญญาณเชิงบวกเช่นนี้ ทำให้การพัฒนาการเมืองพม่าเพื่อให้เกิดความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น (หรือที่ภาษาในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า "Liberalization") ดูจะเป็นเรื่องที่เริ่มเห็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านๆ มานั้น การกล่าวถึงโอกาสของการทำให้เกิด "ระยะเปลี่ยนผ่าน" ทางการเมือง ที่หมายถึงการเดินออกจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบเสรีนิยม ดูจะเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นอนาคตเท่าใดนัก

สัญญาณเช่นนี้จึงถูกตีความได้ว่า การเมืองพม่าที่เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างให้เกิดกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยในอนาคต (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า "Democratization") แม้ในความเป็นจริง การเดินทางของกระบวนการดังกล่าวอาจจะต้องใช้ระยะเวลา พร้อมๆ กับความอดทนของทุกฝ่ายเพื่อที่จะทำให้การเดินทางบน "ถนนสายประชาธิปไตย" ไม่ถูกสะดุดล้มลงด้วยการหวนคืนของระบอบอำนาจนิยม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเดินทางสู่ประชาธิปไตยของพม่า ที่มี นางอองซาน ซูจี เป็นสัญลักษณ์สำคัญนั้น ยังคงจะต้องพบกับอุปสรรคหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของทหารในการเมืองและการขยายตัวของบทบาทของฝ่ายค้านในเวทีการเมือง หรือปัญหาเศรษฐกิจที่พม่าถูกพันธนาการอยู่กับระบอบเศรษฐกิจแบบควบคุมจากศูนย์กลางเป็นระยะเวลายาวนาน จนทำให้ขาดการพัฒนาอย่างมากเช่นในปัจจุบัน

หรือปัญหาสังคมประการสำคัญคือ บทบาทของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาความขัดแย้งต่อไปไม่ต่างจากยุคของท่าน นายพลอู อองซาน (บิดาของ นางอองซาน ซูจี)



เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งถูกคาดหวังว่า ได้เริ่มขึ้นแล้วจากสัญญาณการปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี นั้น จะสามารถดำเนินต่อเนื่องไปได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามเรื่องทหารกับการเมืองพม่าเป็น "ปัญหาหัวใจ" ที่ต้องการคำตอบ

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็คือคำถามว่า สัญญาณการปล่อยตัวเช่นนี้ คือการบอกว่า กองทัพกำลังลดบทบาททางการเมืองลงในบางระดับ และเป็นการลดลงโดยการตัดสินใจของผู้นำกองทัพ ไม่ใช่การถูกบังคับโดยตรง และหวังว่าการลดบทบาททางการเมืองลงจะเป็นการประคับประคองกองทัพไม่ให้ต้องถูกแรงกดดันถาโถมอย่างมากจนรับไม่ได้ และต้องพังทลายลงในที่สุด

การลดบทบาทโดยไม่ได้ถูกบังคับโดยตรงในบริบทของทหารกับการเมืองก็คือ รัฐบาลทหารไม่ได้ถูกโค่นล้ม และถูกบังคับให้ต้องลดบทบาททางการเมืองลง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยก็คือ ตัวแบบของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ที่ระบอบอำนาจนิยมพ่ายแพ้ต่อการประท้วงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จนถูกบังคับโดยสถานการณ์การเมืองใหม่ให้ต้องถอยออกจากการเมือง ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้เกิดการถอนตัวของทหารจากการเมืองภายใต้การบังคับ ซึ่งก็จะส่งผลให้อำนาจของทหารในเวทีการเมืองนั้นลดลงอย่างมาก หรือในบางกรณีลดลงอย่างรวดเร็ว

และที่สำคัญก็คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวผู้นำทหารในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงทันที เหตุการณ์ปี 2516 และ 2535 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

แต่การตัดสินใจลดบทบาททางการเมืองลงเอง เท่ากับอำนาจสำคัญในทางการเมืองของฝ่ายทหาร ไม่ได้ถูกทำลายลงแต่อย่างใด กล่าวในทางทฤษฎีก็คือ ผู้นำทหารเป็น "ผู้ควบคุมระยะเปลี่ยนผ่าน" เสียเอง แทนที่พวกเขาจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ระยะเปลี่ยนผ่านบังคับให้พวกเขาต้องออกจากอำนาจ

และผลที่เกิดอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ทหารยังคงมีบทบาททางการเมืองต่อไป แม้บทบาทเช่นนี้จะตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่อำนาจบางส่วนอาจจะลดลงไป และในขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดบางประการเกิดขึ้นในกระบวนการใช้อำนาจของฝ่ายทหาร โดยผู้นำทหารอาจจะไม่สามารถใช้อำนาจบังคับในเวทีการเมืองได้เหมือนเก่าเช่นในยุคก่อนระยะเปลี่ยนผ่าน



ดังนั้น การเมืองในยุคหลังระยะเปลี่ยนผ่านจึงต้องการแนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมือง โดยมีความคาดหวังว่า ระบอบการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านจะต้องไม่สะดุดล้มลง และนำไปสู่การฟื้นตัวของระบอบอำนาจนิยมอีก (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า "Democratic Breakdown")

เพราะหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ก็ย่อมหลีกไม่พ้นการใช้ความรุนแรงของฝ่ายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือรูปแบบของการกวาดล้าง จับกุม และสังหาร ซึ่งเป็นแบบแผนที่ทหารในประเทศโลกที่สามใช้เป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมระบอบการเมืองมาโดยตลอด

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็น่าสนใจว่า พม่าซึ่งเคยเชื่อว่าการปิดประเทศจะเป็นหนทางของการ "ปิดประตูบ้าน" ไม่ให้แรงกดดันจากโลกภายนอกทะลักเข้าถึงการตัดสินใจของผู้นำทหารพม่าได้ แต่ดูเหมือนว่าในยุคโลกาภิวัตน์ ประตูที่เคยถูกปิดอย่างแน่นหนานั้น ก็มีช่องทางให้แรงกดดันในหลายรูปแบบลอดผ่านเข้าไปมีบทบาทในการเมืองพม่าได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ให้คำตอบแก่ผู้นำทหารในโลกที่สามได้เป็นอย่างดีว่า นโยบายปิดประเทศเสมือนหนึ่ง "การปิดประตูบ้าน" นั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพได้เหมือนเช่นในอดีต ไม่ว่าจะอธิบายว่า "โลกเล็กลง" จนประเทศกลายเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ในโลก หรืออธิบายจากการเชื่อมต่อของระบบสารสนเทศสมัยใหม่ ที่สามารถก้าวข้ามพรมแดนและการควบคุมของระบอบการปกครองแบบเผด็จการได้โดยไม่จำเป็นต้องรอคำขออนุญาตผ่าน เป็นต้น

เรื่องราวเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นว่า การควบคุมรัฐแบบเดิมในโลกาภิวัตน์ด้วยความเชื่อว่า ผู้นำทหารสามารถควบคุมระบบการเมืองด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมในมาตรฐานแบบสากลนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว วิธีการดังกล่าวก็คือ การทำลายตัวเอง ดังจะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้นำทหารพม่าไม่สามารถเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในเวทีสากลได้เช่นผู้นำประเทศอื่นๆ

ปรากฏการณ์ปิดประเทศโดยมีความเชื่ออย่างหยาบๆ ว่า พวกเขาสามารถต่อต้านโลกาภิวัตน์ได้ด้วยการ "ปิดประตูบ้าน" นั้นกำลังส่งสัญญาณถึงชนชั้นนำและผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านของพม่าว่า ทฤษฎีปิดประเทศกำลังถูกทำลายลงด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเลยที่ประเทศในปัจจุบันจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องข้องเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก หรือประเทศสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และไม่จำเป็นต้องเปิดประเทศ

ว่าที่จริงก็คือ การปิดประเทศในยุคโลกาภิวัตน์นั้นเป็นไปไม่ได้เลย และยิ่งคิดในทางเศรษฐกิจก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ด้วย


ว่าที่จริง ทฤษฎีนี้ล้มเหลวตั้งแต่ยุคพระนางซูสีไทเฮา ที่หวังจะปิดประเทศ และผลักดันอิทธิพลของตะวันตกออกให้หมดไปจากจีนด้วยการสนับสนุน "กบฏนักมวย" (Boxer Rebellion) ให้ลุกขึ้นต่อต้านกระแสตะวันตก

หรือล้มเหลวเมื่อโชกุนญี่ปุ่นตัดสินใจเปิดประเทศจากการแสดงกำลังของ "เรือปืน" ของสหรัฐอเมริกาที่ปากอ่าวโตเกียว จนนำไปสู่การปฏิรูปเมจิ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาญี่ปุ่นให้มีความก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน

แม้กระทั่งในกรณีของพม่าเองในประวัติศาสตร์ ที่ผลจากการปิดประเทศของกษัตริย์พม่าได้นำไปสู่สงครามระหว่างอังกฤษกับพม่า จนทำให้ต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในเวลาต่อมา ในขณะที่กษัตริย์สยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ตระหนักว่า สยามจำเป็นต้องเปิดรับอิทธิพลภายนอก หรือเราอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "โลกาภิวัตน์ของยุคอาณานิคม" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง "สยามใหม่" ดังที่ปรากฏชัดเจนในยุคของรัชกาลที่ 5

ดังนั้น คงจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงอิทธิพลของกระแสโลก แม้พม่าจะดำเนินนโยบายปิดประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ในที่สุด เมื่อกระแสลมของโลกาภิวัตน์ "พัดแรง" ก็ทำให้หมู่บ้านเล็กๆ ในโลกที่ชื่อพม่า ต้านทานไว้ไม่อยู่ จำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตามบางประการด้วยการปล่อย นางอองซาน ซูจี



โลกโลกาภิวัตน์ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่ แซมมวล ฮันติงตัน นักทฤษฎีรัฐศาสตร์เรียกว่า "กระแสประชาธิปไตย" (Democratic Wave) หรือกล่าวได้ว่า โลกปัจจุบันถือเอาอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นแนวคิดหลัก การปรับตัวของประเทศเข้าสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยจึงเป็นปรากฏการณ์สำคัญในเวทีการเมืองโลก พร้อมๆ กับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมลดลงเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศที่ยังคงมีรัฐบาลทหารปกครองนั้น มีอยู่น้อยมากในเวทีสากล หรือกล่าวได้ว่า รัฐบาลอำนาจนิยมคือความ "ล้าหลัง" ทางการเมืองของยุคสมัยปัจจุบัน

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการเมืองพม่าเช่นนี้ในอีกส่วนหนึ่ง ดูจะเป็นข้อคิดอย่างดีให้แก่ชนชั้นนำและผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านของพม่าเองด้วย ซึ่งก็น่ากังวลว่า ถ้าพม่าพยายามจะก้าวไปสู่ความเป็นเสรีนิยม แต่ไทยจะพยายามถอยออกจากความเป็นเสรีนิยมแล้ว เราจะทำอย่างไรกันดีเอ่ย

ผู้นำของไทยพอที่จะตระหนักหรือไม่ว่า กระแสโลกาภิวัตน์กำลังพัดด้วยแรงขับเคลื่อนของ "ลมประชาธิปไตย" นั้น บ้านเล็กชื่อ "ไทย" จะทานไหวอย่างไรหรือไม่ แล้วหากทานไม่ไหว เราจะสร้างประชาธิปไตยกันใหม่ที่กรุงเทพฯ อย่างไร?



.