http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-12

สุรพศ : ชาวพุทธกับ 'อัตตาผู้ปล่อยวาง', คำแถลงกรณี 'การถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112'

.

สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับ 'อัตตาผู้ปล่อยวาง'
ในเวบไซต์ ประชาไท www.prachatai.com/journal/2011/12/38285 . . Mon, 2011-12-12 00:12


เมื่อสอง-สามวันที่แล้วผมไปเจอคำว่า “มรรคง่าย” อันเป็นธรรมประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของ ว.วชิรเมธี ในหนังชุดสือธรรมะจาก “พระดีร่วมสมัย” อ่านดูคร่าวๆ ก็พอจะเข้าใจว่าผู้ประดิษฐ์คำนี้ต้องการสื่ออะไร ทำให้ผมนึกถึงพระเซ็นรูปหนึ่งคือ ติช นัท ฮันห์ ท่านอธิบายให้เห็นความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งที่เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาว่า เวลาเรามองดูกระดาษแผ่นหนึ่งเราจะเห็นเยื่อไม้ที่เขานำมาทำกระดาษ เห็นต้นไม้ ใบไม้ ดิน น้ำ ปุ๋ย เห็นแสงอาทิตย์ เมฆ ฝนที่หล่อเลี้ยงต้นไม้ เห็นโรงงานทำกระดาษ เห็นคนงานที่เหน็ดเหนื่อย และทุกสรรพสิ่งอันรวมเป็นเหตุปัจจัยก่อเกิดกระดาษแผ่นนี้ หรือเวลาที่เรารับประทานส้มเราจะเห็นสรรพสิ่งที่ก่อให้เกิดผลส้ม เห็นผลส้มในเรา เห็นเราในผลส้ม อะไรประมาณนี้

ผมกำลังจะบอกว่าติช นัท ฮันห์ ไม่ได้กำลังอธิบายศัพท์ธรรมะ ไม่ได้เสนอ “คำประดิษฐ์” แต่ชวนผู้คนให้มองลึกลงไปที่ความเป็นจริงของโลก ชวนเราไตร่ตรองถึงความเป็นไปของสรรพสิ่ง แน่นอนว่าเบื้องหลังชีวิตของติช นัท ฮันห์ ท่านเคยผ่านการต่อสู้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวในช่วงสงครามเวียดนาม และหนีตายออกไปต่างประเทศอย่างทุลักทุเล เคยมีประสบการณ์และซึมซับบาดแผล ความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมชาติ

เช่นเดียวกันเวลาเราอ่านงานของพระทิเบต เช่นทะไลลามะ ตรุงปะ รินโปเช เป็นต้น เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความโศกเศร้า ความพลิกแพลงซับซ้อนของอัตตาตัวตนของเราและความเป็นไปของโลกและชีวิต เราเห็นภาษาที่พูดถึงชีวิตและโลกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ดัดจริต มากกว่าที่จะเห็นคำประดิษฐ์เท่ห์ๆ หรือศัพท์แสงธรรมะหรูๆ ซึงเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไรกันแน่ เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตและโลกแห่งความเป็นจริง


การสอนพุทธศาสนาในบ้านเรานั้นเน้นการถ่ายทอด “ตัวบท” หรือชุดคำสอนสำเร็จรูปมากกว่าที่จะชวนให้เรามองชีวิตและโลกตามความเป็นจริงผ่าน concept ของหลักคิดหรือโลกทัศน์ ชีวทัศน์ทางพุทธศาสนา และการสอนแนวนี้ก็สอนจากสมมุติฐานที่ว่า ธรรมะเป็นของที่เข้าใจยาก (เพราะถ่ายทอดมาจากภาษาคัมภีร์ที่ต้องอาศัยผู้รู้เฉพาะทาง) ชาวบ้านไม่มีความรู้ธรรมะ คนรุ่นใหม่ห่างไกลวัด ห่างไกลศาสนา จึงต้องหาทางสอนให้คนเข้าใจง่ายๆ เช่น ประดิษฐ์คำอย่าง “มรรคง่าย” เป็นต้น หรือทำให้กิจกรรมการสอนธรรมะให้เป็น “กิจกรรมบันเทิง” ตลกขบขันอย่างที่นิยมทำกัน

แต่เมื่อนำธรรมะประดิษฐ์แนวอินเทรนด์ หรือธรรมะบันเทิงที่กำลังนิยมกันนี้ไปเปรียบเทียบกับรายการแสดงธรรมทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ หรือตามวัดทั่วๆ ไปที่แสนน่าเบื่อ ธรรมะอินเทรนด์ หรือธรรมะบันเทิงก็ดูจะเร้าใจกว่า โดนใจ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” มากกว่า จึงไม่แปลกที่ ว.วชิรเมธี จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระนักคิด” แห่งยุคสมัย เนาววัตน์ พงษ์ไพบูลย์ถึงขนาดยกย่องให้เป็น “ปราชญ์สายฟ้า” (คงแปลตามฉายา “วชิรเมธี”)

กระนั้นก็ตาม การสอนธรรมะที่เน้นการถ่ายทอดตัวบท หรือคำสอนสำเร็จรูปให้คนจำและนำไปปฏิบัติ ในแง่หนึ่งมันเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมนกแก้วนกขุนทอง” หรือวัฒนธรรมพึ่งพานักสอนธรรมที่ทำตัวเป็นผู้คิดแทน มากกว่าที่จะท้าทายให้คนคิด และที่คิดกันก็เน้นไปที่การคิดเรื่องตัวบทหรือตัวหลักคำสอนสำเร็จรูปเป็นข้อๆ เป็นชุดๆ เพื่อผลิตธรรมะ how to สู่ผู้บริโภค มากกว่าที่จะทำความเข้าใจโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบพุทธ แล้วใช้โลกทัศน์และชีวทัศน์นั้นมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เป็นจริงอย่างสร้างสรรค์ หรือมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นในเชิงเนื้อหาสาระจริงๆ


จะว่าไปแล้วการสอนพุทธศาสนาในบ้านเราก็ไม่ต่างอะไรกับการสอนประวัติศาสตร์แบบทางการนั่นแหละ เวลามีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กสมัยนี้คิดไม่เป็น มันก็ต้องย้อนถามว่าระบบการศึกษาของบ้านเรามีอะไรท้าทายให้เด็กคิดบ้าง การเรียนรู้สังคมการเมืองภายใต้ “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” ท้าทายให้ผู้เรียนตั้งคำถามอย่างรอบด้านไหมว่า ทำไมประวัติศาสตร์จึงมีแต่เรื่องราวของ “วีรกษัตริย์” ไพร่และทาสมีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมืองอย่างไรบ้าง มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ชวนอภิปรายถกเถียงอย่างรอบด้านไหมว่าทำไมจึงเกิดปฏิวัติ 2475 ทำไมจึงเกิดรัฐประหาร 2490 ให้ถกเถียงเกี่ยวกับ “ความจริงของปัญหา” 14 ตุลา 6 ตุลา อย่างถึงรากหรือไม่ แล้วประวัติศาสตร์พฤษภา 53 จะให้ลูกหลานจดจำว่าอย่างไร เป็นต้น

เมื่อพลเมืองเติบโตมาภายใต้ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการปลูกฝังทางศาสนาที่ไม่ท้าทายให้คนคิดเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีคนที่มีการศึกษาดี มีสถานะทางสังคมดี เป็นถึงสื่อมวลชนมืออาชีพในยุคสมัยของเราตั้งคำถามทำนองว่า “พระองค์ท่านไปทำอะไรให้พวกมึง?” ซึ่งคำถามทำนองนี้ น่าจะเป็นคำถามก่อนยุคปฏิวัติฝรั่งเศสหรืออังกฤษมากกว่า

สิ่งที่เราต้องการได้จากประวัติศาสตร์คือความจริง (แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ควรใกล้เคียงมากที่สุด) บทเรียนและแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ขึ้น ธรรมะก็เป็นเรื่องของความจริงของโลกและชีวิตที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้เข้าใจ มีความคิดเห็นถูกต้อง และดำเนินชีวิตอย่างมีค่า แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเพียงแต่เรียนรู้แค่ตัวบทหรือคำสอนสำเร็จรูป แล้วจะทำให้คนมีคุณธรรมจริยธรรม วิธีนี้อย่างมากก็ไปถึงแค่ธรรมประดิษฐ์คำ การท่องจำซาบซึ้งแบบนกแก้วนกขุนทอง

เวลาเผชิญวิกฤตของบ้านเมืองจริงๆ ธรรมะแบบนี้อย่างมากก็ช่วยได้แค่ให้ “ทำใจ” ไม่ได้ช่วยให้คน “เข้าใจ” ปัญหาที่เป็นจริง บางครั้งยังไปซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปอีก เช่นธรรมประดิษฐ์อย่าง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” เป็นต้น


พุทธศาสนาในบ้านเราเองก็มีการสร้างมายาคติอยู่หลายเรื่อง เช่น เราปฏิเสธเรื่อง “อัตตา” หรือ “ตัวกู-ของกู” แต่ดูเหมือนคนที่แสดงออกว่าเข้าใจเรื่องนี้ดี หรือเข้าถึง “ความเป็นอนัตตา” มักจะมีความโน้มเอียงที่จะปลีกตัวจากความขัดแย้งของสังคม ปล่อยวางปัญหาสังคม หรือไม่ก็เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ก็เข้ามาในบทบาทของผู้ “ลอยตัว” เหนือปัญหา และผลิต “ธรรมะลอยนวล” (สำนวนของวิจักขณ์ พานิช) ประเภทอธิบายว่า ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายเป็นเรื่องของการยึดตัวกู พวกของกู เป็นเรื่องอคติ และความเกลียดชัง เป็นต้น

ต่างจากคนธรรมดาบางคนที่เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องการละอัตตา หรือตัวกู-ของกู แต่การกระทำของเขาแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม การปลดปล่อยอัตตา หรือการละลายตัวตนให้กลายเป็นเนื้อเดียวกับอุดมการณ์เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมของสังคม เช่น กรณี “คำ ผกา เปลือยกาย เปิดใจ ไม่เกลียดชัง” มีแต่คนที่เชื่อมั่นในความถูกต้อง ละลายตัวเองเพื่อให้เกิดความถูกต้องทางสังคม และไม่ให้ความสำคัญกับการมีตัวตนที่ต้องแบกรับคำเหยียดหยามประณามจากผู้คนที่ไม่เข้าใจเท่านั้น ถึงจะกล้าแสดงออกเช่นนี้ได้

แน่นอน อาจมองอีกด้านได้ว่า นั่นเป็นการแสดงตัวตนหรืออีโก้ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ เชื่อมั่นในตนเองสูงจนไม่แคร์สายตาใคร แต่ถ้าตัวตนหรืออีโก้เช่นนี้สะท้อนมโนสำนึกที่รักความยุติธรรม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคม ก็ยังนับว่ามีคุณค่ากว่าความไม่มีตัวตนที่ลอยตัวเหนือโลก เหนือปัญหาอยู่ดี

แต่ไม่ว่าจะมองอย่างไรมันก็ไม่อาจมองได้ดังสื่อเครือผู้จัดการมอง เช่นข้อความบนปกผู้จัดการข้างล่าง

เอามาให้ดู “คั่นรายการ” เพื่อให้เห็นว่าสื่อดังกล่าวป่วยหนักถึงขั้น “โค่ม่า” แล้ว เพราะความล้มเหลวของการปั่นเรื่อง “ล้มเจ้า” กว่า 5 ปี ที่ผ่านมา ข้อความบนปกแสดงให้เห็นว่าพวกเขาหลอกคนอื่นๆ และตนเองมานานจนตกอยู่ในสภาพ “หลอนตัวเอง” อย่างน่าตระหนก!



เข้าเรื่องต่อ มันจึงทำให้ต้องย้อนกลับไปถามว่า คุณค่าของ “ความไม่มีตัวตน” แบบพุทธอยู่ตรงไหน

โอเคว่า “จินตภาพ” ของคนที่ปล่อยวางตัวตนในบริบทสังคมเกษตรกรรมแบบโบราณเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว อาจเป็นจินตภาพที่น่าชื่นชม แต่ในสังคมการเมืองปัจจุบันที่วิถีชีวิตของปัจเจกแต่ละคนมีความสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกับระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อุดมการณ์รัฐ วัฒนธรรมทางความคิดความเชื่ออย่างแยกไม่ออกเช่นนี้ จินตภาพของบุคคลผู้ปล่อยวางตัวตนที่ถูกโปรโมทว่า สูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป อาจเป็นจินตภาพที่ถูกตั้งคำถามได้ว่า ควรเป็นจินตภาพที่เป็นแบบอย่างเชิงอุดมคติในการพัฒนาคนในโลกปัจจุบันหรือไม่?

พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ หากบุคคลผู้ซึ่งปล่อยวางตัวตนเป็นบุคคลที่ชาวพุทธยกย่องว่ามีจิตใจสูงส่ง มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนามากกว่าคนทั่วไป ทว่าบุคคลเช่นนี้มีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติที่จะลอยตัวเหนือปัญหา ไม่เอาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความมีเสรีภาพและมีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของคนมีกิเลส เป็นเรื่องของความยึดมั่นในตัวตน ถามว่า Character ของบุคคลผู้ปล่อยวางตัวตนเช่นนี้มีคุณค่าอะไรแก่สังคม ทำไมสังคมจึงควรยกย่องว่าคนเช่นนี้ดีเลิศกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพียงแค่ดูจากผลงานที่คนผู้มี Character เช่นนี้ “ผลิตคำสอน” ให้คนในสังคมพยายามพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่การมี Character แห่งความเป็นผู้ปล่อยวางตัวตนที่ลอยนวลเหนือปัญหาสังคมเหมือน “ตัวเขา” เท่านั้น

หรือหากจะพูดในทางกลับกัน การปล่อยวางตัวตนในความหมายดังกล่าวก็เป็นเพียงการสร้างตัวตนใหม่ที่เป็นมายาคติ คือ “ตัวตนของผู้ปล่อยวาง” ที่เชื่อว่าตนเองปล่อยวางทางโลก แต่กลับ “ยึดมั่นในความปล่อยวาง” นั้น

ยิ่งตัวตนของผู้ปล่อยวางพยายามสั่งสอนให้ชาวบ้านธรรมดาปล่อยวางตัวตนในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมมากเท่าใด และผู้ปล่อยวางตัวตนนั้นไม่กล้าแตะปัญหาที่แท้จริงของโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงมากเท่าใด จึงยิ่งทำให้เรามองเห็น “อัตตาใหญ่” ตัวตนใหญ่ของ “ผู้ปล่อยวางตัวตน” ลอยเด่นอยู่เหนือโลก หรืออยู่บนความมั่นคงของสถานะและชื่อเสียงเกียรติยศทางสังคมอย่างโดดเด่นเป็นสง่า มากเท่านั้น!



++

สุรพศ ทวีศักดิ์: คำแถลงกรณี 'การถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112'
จาก www.prachatai.com/journal/2011/12/38210 . . Wed, 2011-12-07 15:54


..นายสุรพศ ทวีศักดิ์
..อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554 เวลา 12.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาขอพบผม ณ ที่ทำงาน เพื่อแจ้งหมายเรียกผู้ต้องหาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกโดยตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ลงวันที่ 22 พ.ย.2554 ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ” โดยให้ผู้ต้องหาไป ณ ที่ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด พบ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร หัวหน้าพนักงานสอบสวน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 09.00 น.แต่เนื่องจากได้รับหมายเรียกกระชั้นมากเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอในการเตรียมการ ประกอบกับมีภารกิจจำเป็น ผมจึงขอเลื่อนนัดตามหมายเรียกโดยขอไปพบพนักงานสอบสวนภายในเดือนมกราคม 2555

ข้อเท็จจริงคือ ผมเองเขียนบทความลงประชาไทอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด ปี 2552” โดยใช้ชื่อจริงในการเขียนบทความทางพุทธศาสนาและสังคม และใช้นามปากกา “นักปรัชญาชายขอบ” ในการเขียนบทความทางการเมือง และเป็นธรรมดาของการเขียนบทความในประชาไทที่จะมีการโพสต์แสดงความคิดเห็น หรือถกเถียงโต้ตอบกันอย่างเสรีท้ายบทความ ระหว่างคนอ่านด้วยกันเอง หรือระหว่างคนอ่านกับเจ้าของบทความ ซึ่งผมเองก็ได้โพสต์แสดงความเห็น และถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ทั้งในชื่อจริงและนามปากกาดังกล่าวอยู่บ่อยๆ

ในกรณีที่ถูกแจ้งความ เท่าที่ผมทราบเบื้องต้นจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อความที่ถูกแจ้งหมิ่นฯ คือข้อความที่โพสต์ในชื่อ ‘นักปรัชญาชายขอบ’ ซึ่งโพสต์แสดงความเห็นท้ายบทความชื่อ “จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?” ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เผยแพร่ในประชาไท เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 และเรื่องนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อขอข้อมูลมาทางมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2553 และผมเองก็ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วตั้งแต่นั้น แล้วเรื่องก็เงียบไป

แต่อยู่ๆ ก็มาดำเนินคดีกับผมเอาตอนนี้ ตอนที่เราได้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยการต่อสู้ที่ชู “ธงประชาธิปไตย” และ “ธงความยุติธรรม” ซึ่งมีทั้งนักวิชาการและประชาชนจำนวนมากที่เสี่ยงมากบ้างน้อยบ้าง “ร่วมต่อสู้” ตามกำลังของตนเองภายใต้ “ธง” ดังกล่าว และในกรณีของผมเอง ตำรวจจากส่วนกลางมาขอข้อมูลจากทางมหาวิทยาลัย ผมจึงแปลกใจว่า เหตุใดจึงมาดำเนินคดีเอาตอนนี้ ตอนที่เราเชื่อว่าได้ “รัฐบาลประชาธิปไตย” และทำไมไม่ดำเนินคดีที่สวนกลาง แต่กลับโยนเรื่องกลับไปดำเนินคดีที่ร้อยเอ็ด

ส่วนข้อความที่ถูกแจ้ง ผมคงพูดในรายรายละเอียดไม่ได้ คงพูดเพียงกว้างๆ ได้ว่า เนื้อหาสำคัญของข้อความนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงทางวิชาการที่เป็นสาธารณะอยู่แล้ว แม้สื่อกระแสหลักจะยังไม่ถกเถียงเรื่องนี้แพร่หลาย แต่ก็มีแพร่หลายใน social media อยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้มีความหมายหรือแสดงถึงเจตนาหมิ่นเบื้องสูงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นข้อเสนอในการแลกเปลี่ยนท้ายบทความเชิงวิชาการว่า “กติกา” เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในอนาคตควรเป็นอย่างไร โดยไม่มีคำกล่าวหา หรือคำไม่สุภาพใดๆ ที่พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะ “ตัวบุคคล”


ผมขอพูดในเชิงอุปมาอุปไมยว่า สมมติว่าผมรู้ว่าในทางพุทธศาสนามีศีลห้ามพระสงฆ์รับเงิน แม้ผมจะยอมรับได้ว่า การที่พระสงฆ์ต้องรับเงินในสมัยปัจจุบันเพราะมีความจำเป็นเนื่องจากอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่ต้องใช้เงิน แต่ด้วยความห่วงใยพุทธศาสนาผมจึงเสนอให้องค์กรปกครองสงฆ์ออกกฎของสงฆ์ “ห้ามพระสงฆ์มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว” ต่อมามีผู้ไปแจ้งความว่าผมหมิ่นประมาทพระสงฆ์ว่ามีบัญชีเงินฝากส่วนตัวด้วย “ข้อความอันเป็นเท็จ” และสมมติอีกว่าความผิดตามกฎหมายมาตราที่เขาไปแจ้งความนั้น ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาแสดงข้อเท็จจริงหักล้างว่า ข้อความที่เขากล่าวหาว่าเป็นเท็จนั้น “ไม่เป็นเท็จอย่างไร” ตามตัวอย่างนี้ แค่คิดด้วยสามัญสำนึกธรรมดา เราก็รู้ว่ากฎหมายแบบนี้มันไม่ยุติธรรม หรือไม่แฟร์กับผู้ถูกกล่าวหา

ผมคิดว่ากฎหมายหมิ่นฯ ม.112 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ว่าข้อความของเขา “ไม่เป็นเท็จอย่างไร” ก็เป็นกฎหมายที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังกำหนดอัตราโทษไว้สูงเกินไป กรณี “อากง” ที่ส่งข้อความ 4 ข้อความไปที่โทรศัพท์มือถือส่วนตัวของคนอื่นต้องถูกจำคุกถึง 20 ปี ผมคิดว่ามันอธิบายไม่ได้ว่ายุติธรรมอย่างไร อีกอย่างการที่ให้ใครแจ้งความก็ได้ เราก็พบปัญหานี้มาตลอดมาว่า มันมีการกลั่นแกล้งกัน มีการใช้ ม.112 ทำลายกันในทางการเมือง และคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับแนวทางของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มนักเขียน นักวิชาการอิสระ และคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่แลกเปลี่ยนกันทาง social media เช่น เฟซบุ๊ค สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ยืนยันเหมือนกันว่า สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้ปล่อยอากง ปล่อยนักโทษการเมือง และให้แก้ไข ม.112 ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย

แนวทางนี้คือแนวทางปกป้องสถาบันที่ดีที่สุด เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านสังคมเราให้เป็นประชาธิปไตย คือ “ต้องไม่ให้มีการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร” ได้อีก ไม่มีการใช้ ม.112 ทำลายกันในทางการเมือง ไล่ล่าคนเห็นต่างในทางการเมือง หรือคุกคามเสรีภาพทางวิชาการได้อีก



ผมคิดว่า สิ่งที่ผมโดนตอนนี้คือ “การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ” ในอีกรูปแบบหนึ่ง มันมีคนที่คิดต่างเห็นต่างในเรื่อง “การปกป้องสถาบัน” ไปแจ้งความไว้ที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อให้ผมเสียเวลาเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อันนี้เห็นได้จากที่เขาตามโพสต์ด่าท้ายบทความของผมมาตลอด แล้วก็โพสต์เอกสารแจ้งความขึ้นเว็บประชาไท และเยาะเย้ยทำนองว่า “มึงเตรียมกระเป๋า เตรียมค่ารถเดินทางมาพบตำรวจที่ร้อยเอ็ดหรือยัง” อะไรประมาณนี้ เท่าที่ทราบมา คนเดียวกันนี้ไปแจ้งคดีหมิ่นฯ กับคนอื่นๆ อีกถึง 6 คดี นี่คือปัญหาของ ม.112 ที่ใครจะไปแจ้งความไว้ที่ไหนก็ได้ เขาต้องการให้เรากลัว และหยุดคิด หยุดเขียน หยุดพูด หยุดอภิปรายถกเถียงตามแนวทางที่ผมว่ามา

และสำหรับสังคมไทย ก็มักจะมองว่าผู้ต้องหาในคดีหมิ่นฯ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ถูกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเท่านั้น หากแต่เป็น “ความผิดบาป” ที่ทำให้ครอบครัว คนรอบข้าง ญาติมิตรต่างหวาดกลัวและเครียดไปตามๆ กัน ผู้ต้องหาก็อาจถูกเพื่อนร่วมงาน ถูกสังคมที่เขาสังกัดพิพากษาไม่ต่างอะไรกับ “ไอ้ฟัก” ในนวนิยายเรื่อง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ อันนี้คือข้อเท็จจริงไม่ใช่ “ดราม่า” หรือถ้ามันจะเป็น “ดราม่า” มันก็คือ “ดราม่า” ที่เป็นความจริงเฉพาะของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า สังคมเราจำเป็นต้องเรียนรู้จาก “บทเรียน” ที่ผ่านมาว่า 14 ตุลา 6 ตุลา และ พฤษภา 53 นักศึกษาและประชาชนถูกฆ่าตายมามากเกินไปแล้วด้วย “ข้อกล่าวหาล้มเจ้า” แล้วผลของการต่อสู้นั้น เราก็ได้แกนนำฮีโร่ในยุคต่างๆ ได้การเลือกตั้ง และการเกี้ยเชี้ยของชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม สุดท้ายก็ไม่มีหลักประกันว่า จะเกิดรัฐประหารและการนองเลือดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะเราไปไม่ถึง “การสร้างกติกา” ให้ทุกสถาบันอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

บางคนบอกว่า ถ้าจะพูดหรือเขียนอะไรในเชิงตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิด อุดมการณ์ หรือกติกาเกี่ยวกับเรื่องสถาบันต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าปลอดภัยหรือไม่ อันนี้ผมเองก็เคารพความรู้สึกของแต่ละคน เพราะระบบกฎหมายและวัฒนธรรมทางความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสังคมนี้มันทำให้เราต้องหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพและเหตุผลอย่างถึงที่สุดในการถกเถียงปัญหาระดับรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แต่อยากให้ช่วยกันมองอีกมุมว่า ถ้ามันปลอดภัยแล้วก็ไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก ผมคิดว่าที่ใครๆ เขาเสี่ยงพูดเรื่องสถาบันในเวลานี้ เขาเสี่ยงเพื่อให้สังคมนี้มีกติกาที่ประชาชนมีเสรีภาพสามารถพูดถึงสถาบันในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “บุคคลสาธารณะ” ใน “ระบอบประชาธิปไตย” ได้อย่างปลอดภัย นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามีความจำเป็น แม้จะต้องเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใด นอกจากเพื่อยืนยันความมั่นคงของสถาบันที่ต้องสอดคล้องกับความมั่นคงของประชาธิปไตย

ผมคิดว่าเราต้องไม่ปล่อยให้มันสายเกินไป ต้องช่วยกันปลดล็อกเงื่อนของความความรุนแรงนองเลือดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่สังคมเราควรเลิกหลอกตนเอง ยอมรับความจริงเสียทีว่า เวลานี้สังคมเราเดินมาถึงจุดที่ต้องร่วมกันสร้าง “กติกา” ให้ทุกสถาบันอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นกติกาที่สามารถ “หยุดการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร” ได้ตลอดไป



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ชมภาพชุด การเดินขบวน "อภยยาตรา" รณรงค์ให้สังคมรับรู้ปัญหาของคดี "อากงส่งเอสเอ็มเอส"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323532822&grpid=01&catid=&subcatid=
เช่น ...






.