หลังบทความหลัก ชม " การ์ตูน คิวคน โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์ มติชน 24 ธันวาคม 2554 "
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
MY WEEK WITH MARILYN "มาริลิน มอนโร"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 87
กำกับการแสดง Simon Curtis
นำแสดง Michelle Williams
Eddie Redmayne, Kenneth Branagh , Judi Dench
Julia Ormand , Emma Watson
My Week with Marilyn สร้างจากบันทึกความทรงจำของ คอลิน คลาร์ก ที่มีโอกาสรู้จักและใกล้ชิดกับดารายอดนิยมของโลกในปี ค.ศ.1956 เมื่อเธอเดินทางไปถ่ายหนังในลอนดอน
ว่ากันว่าผู้ชายทุกคนทั่วโลกไม่ว่าหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ล้วนต้องมนต์เสน่ห์และหลงใหลใฝ่ฝันถึงเธอทั้งนั้น
นี่คือเหตุผลที่ เซอร์ลอเรนซ์ โอลิวิเอร์ ซึ่งขณะนั้นถือได้ว่าเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ เลือก มาริลิน มอนโร ดาราภาพยนต์ที่โด่งดังที่สุดทั่วโลก มาเล่นหนังที่เขากำกับฯ และแสดงนำคู่กับมาริลินในเรื่อง The Prince and the Showgirl
เนื่องจากเป็นบันทึกความทรงจำ My Week with Marilyn จึงเป็นเรื่องเล่าจากมุมมองของ คอลิน คลาร์ก ขณะอายุยี่สิบสามปี อีกหลายสิบปีต่อมา เขาจึงตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับดาราสาวที่โลกยังจดจำได้ไม่ลืมเลือนซึ่งเสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาดในทศวรรษ 1960
คอลิน (เอ็ดดี เรดเมย์น) เป็นหนุ่มที่มีเชื้อสายตระกูลเก่าแก่และร่ำรวย แต่ "แหกคอก" จากขนบธรรมเนียมของผู้ดี เพราะความหลงใหลอย่างฝังใจในวงการภาพยนตร์ เขามาของานทำจากบริษัทสร้างภาพยนตร์ของ เซอร์ลอเรนซ์ โอลิวิเอร์ (เคนเน็ธ บรานาห์) และได้งานเป็นผู้ช่วยคนที่สามของผู้กำกับฯ ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ทั่วไป
มาริลิน มอนโร (มิเชลล์ วิลเลียมส์) เดินทางมาถึงลอนดอนพร้อมสามีสุดที่รักคนที่สามที่เพิ่งแต่งงานกันหมาดๆ คือ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ (สกอต ดูเกรย์)
นักเรียนการละครทุกคนต้องรู้จัก อาร์เธอร์ มิลเลอร์ กันทั้งนั้นในฐานะนักเขียนบทละครสมัยใหม่คนสำคัญของอเมริกา บทละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ Death of a Salesman
นอกจาก อาร์เธอร์ มิลเลอร์ ที่คอยเป็นกำลังใจให้เธอ มาริลินยังมีผู้ติดตามคนสำคัญอีกคนคือ พอลลา สตราสเบิร์ก (โซอี วานาเมกเคอร์) ซึ่งเป็นภรรยาของ ลี สตราสเบิร์ก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการแสดงที่ใช้แนวทางที่เรียกว่า The Method ที่ ลี สตราสเบิร์ก เป็นลูกศิษย์ของบรมครูการแสดงสมัยใหม่ชาวรัสเซีย คือสตานิสลาฟสกี
พอลลาคอยแนะนำ ตีบท วิเคราะห์ตัวละครและช่วยให้กำลังใจแก่มาริลินผู้ที่ต้องการใช้วิธีการนี้อย่างเอาจริงเอาจัง
ในขณะที่ เซอร์ลอเรนซ์ โอลิวิเอร์ นักแสดงชาวอังกฤษผู้เกรียงไกร ดูถูกการแสดงแนวนี้ และเชื่อว่าวินัยและการฝึกฝนเท่านั้นที่จะสร้างนักแสดงที่ดีได้
ความสนุกของ My Week with Marilyn อยู่ที่เหตุการณ์เบื้องหลังการถ่ายทำครั้งนั้น และตัวละครที่มาจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคต้นถึงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ
เซอร์โอลิวิเอร์ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความเจ้าชู้ เขาแต่งงานกับดาราสาวสวยที่สุดคนหนึ่งคือ วิเวียน ลีห์ นางเอกหนังเรื่อง วิมานลอย หรือ Gone With the Wind จูเลีย ออร์มอนด์ เล่นเป็น วิเวียน ลีห์ ที่ยังคอยตามสอดส่องสามีเจ้าชู้ เสียแต่รูปโฉมของเธอยังไกลจาก วิเวียน ลีห์ ตัวจริงอยู่เยอะ
ข่าวว่าแรกทีเดียว แคเธอรีน ซีตา-โจนส์ ได้รับการแคสต์ตัว และต่อมาก็เป็น เรเชล ไวซ์ แต่ทั้งสองปฏิเสธบทนี้ไป ทั้ง ซีตา-โจนส์ และไวซ์น่าจะเหมาะสมมากกว่าเพราะสวยคมผุดผาดเจิดจ้าทั้งคู่
แม้ว่าโอลิวิเอร์จะต้องมนต์เสน่ห์ของมาริลินอยู่ไม่น้อย แต่ในฐานะผู้กำกับหนังและนักแสดงนำชาย เขาก็ทนนิสัยการทำงานของเธอไม่ได้เลย เนื่องจากเธอมาสายเป็นประจำ และบางครั้งก็ไม่มาตามตารางเวลาการถ่ายทำเลย
แถมในการถ่ายทำ ก็ยังจำบทไม่ได้ และมีอาการประสาท ต้องการการพะเน้าพะนอเอาใจอย่างเหลือเกิน
ด้วยความขึ้นกล้องและเป็นโชว์เกิร์ลที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง มาริลินเฉิดฉายเรืองรองจับตาจับใจอยู่บนจอภาพยนตร์ แต่เธอกลับไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย และต้องการความรักและเอาใจใส่จากคนรอบข้างตลอดเวลา
แม้แต่ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ ที่ทั้งรักทั้งหลงเธอ ก็ยังต้องปลีกตัวกลับไปนิวยอร์กก่อนกำหนด บอกว่าเขาคิดอะไรเขียนอะไรไม่ออกเลยเวลาอยู่กับเธอ
บุคคลสำคัญในวงการละครและภาพยนตร์ที่ถูกนำเสนอภาพได้น่ารักมากอีกคนคือ ซิบิล ธอร์นไดค์ (จูดี เดนช์) ทั้ง ซิบิล ธอร์นไดค์ และ จูดี เดนช์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในระดับ "เดม" ของอังกฤษ เดมซิบิลเป็นนักแสดงอาวุโสที่คอยให้กำลังใจแก่มาริลินอย่างมีน้ำใจและมารยาทงดงาม
ขณะที่เขียนนี้ เพิ่งได้ทราบข่าวการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ และไม่น่าประหลาดใจเลยที่ มิเชลล์ วิลเลียมส์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เพราะเธอถ่ายทอดบุคลิกของ มาริลิน มอนโร ได้อย่างละเอียดอ่อนตรึงตราจริงๆ
ผู้เขียนเชื่อว่าเธอต้องอยู่หัวแถวของคนที่จะได้รับรางวัลด้วย และในเวทีออสการ์ เธอก็คงไม่พลาดหรือตกสำรวจไปแน่นอน
นอกจากนั้น เคนเน็ธ บรานาห์ ก็ได้รับการเสนอชื่อในสาขานักแสดงสมทบชาย
ถ้าไม่ดูองค์ประกอบอื่นๆ อีกเลย เพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุผลพอให้ไปดูหนังเรื่องนี้กันแล้ว
แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว รู้สึกตราตรึงกับความเป็นมาริลินอย่างที่เชื่อว่าเธอเป็น การขาดความมั่นใจและความเปราะบางของเธอจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่โลกทั้งโลกต้องตกตะลึงต่อมา เมื่อเธอเสียชีวิตอย่างชวนพิศวงด้วยการเสพยาเกินขนาด
ชีวิตของ มาริลิน มอนโร หรือ นอร์มา จีน เบเกอร์ ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าขาดความอบอุ่นมาตั้งแต่เล็กๆ โหยหาความรักและการพะเน้าพะนออยู่ตลอดเวลา ผู้ชายในชีวิตของเธอส่วนใหญ่เป็นคนเด่นคนดังระดับยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น อาร์เธอร์ มิลเลอร์ โจ ดิมาร์โจ หรือ จอห์น เอฟ. เคนเนดี
ส่วนเรื่องราวความสัมพันธ์ของ คอลิน คลาร์ก กับเธอ ตามที่เจ้าตัวเล่านั้น ไม่ใช่ข้อใหญ่ใจความที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจเลย
สิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบเป็นตัว มาริลิน มอนโร นั่นต่างหากที่ตราตรึงและชวนติดตาม และ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ทำได้อย่างวิเศษจริงๆ
++
"ดวงอาทิตย์สีแดง" และ "คุณซาบซึ้ง"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 85
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะขับรถอยู่บนท้องถนนย่านธนบุรี สายตาผมก็เหลือบไปเห็นกระจกหลังของรถกระบะคันหนึ่ง ซึ่งมีสติ๊กเกอร์ 2 แผ่นแปะอยู่เคียงข้างกัน
แผ่นแรก คือ สติ๊กเกอร์แสดงตนเป็นกองเชียร์ของสโมสร "แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด" (ทหารอากาศเดิม) ในศึกฟุตบอลดิวิชั่น 1
แผ่นหลัง เป็นสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ "วันอาทิตย์สีแดง" รูปตัวการ์ตูนพระอาทิตย์ดวงกลมน่ารักกำลังเปล่งรัศมีร้อนแรง ทว่า กลับมีน้ำตาไหลพรากออกมาจากสองตา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผมพบเห็นสติ๊กเกอร์การเมืองดังกล่าวถูกติดอยู่ตามยานพาหนะต่างๆ ทั้งที่จอดนิ่งข้างทางและวิ่งสัญจรไปมา
ผมเคยเจอ "ดวงอาทิตย์ร้องไห้" บนรถเมล์, กระจกหลังรถแท็กซี่ เรื่อยไปจนถึงกระจกหน้าของรถสองแถวหรือรถตุ๊กตุ๊ก
สติ๊กเกอร์รณรงค์ทางการเมืองชนิดนี้ ถูกประดิษฐ์คิดค้น/ดัดแปลงขึ้นโดย "สมบัติ บุญงามอนงค์" และมิตรสหายกลุ่ม "แกนนอน" เสื้อแดงของเขา ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553
ไม่ว่าตัวของ "บ.ก.ลายจุด" เอง จะมีพลัง/อิทธิพลทางการเมืองมากน้อยเพียงใด หรือมวลชนคนเสื้อแดง/ประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทย จะรู้จักสมบัติและแนวทางการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของเขามากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรูปลอก "พระอาทิตย์มีน้ำตา" จะแผ่พลานุภาพของตนเองออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก ยิ่งกว่าชื่อเสียงและสถานะการนำมวลชนของ "แกนนอนเสื้อแดง" เรียบร้อยแล้ว
ในหมู่กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คงพอจะทราบกันดีว่าสติ๊กเกอร์ "ดวงอาทิตย์สีแดงน้ำตาไหลพราก" นั้น มีที่มาจาก "คุณซาบซึ้ง" ไอคอนยอดฮิตในเว็บบอร์ดการเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกพัฒนากลายเป็นเข็มกลัด ตลอดจนของที่ระลึกอีกมากมายหลายประเภท
"คุณซาบซึ้ง" คือ ตัวการ์ตูนหน้ากลมดิก ซึ่งมีน้ำตาไหลพรากๆ ออกจากดวงตาบ้องแบ๊วคู่กลมโต เพื่อแสดงอาการ "ซาบซึ้ง" ของตนเอง
แต่อาการ "ซาบซึ้ง" ของ "คุณซาบซึ้ง" ก็มิได้หมายความถึงอาการปลื้มปีติ/โศกเศร้าต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างซึมลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งจิตใจ กระทั่งต้องรินไหลออกมาเป็นสายน้ำทางดวงตา
ทว่า เป็นการแสดงนัยตอบโต้/ต่อต้าน/เสียดเย้ย "ปรากฏการณ์" บางอย่างซึ่งเกิดขึ้นกับสังคมไทยร่วมสมัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาต่างหาก
ในแง่ของ "การเมืองเรื่องอารมณ์ความรู้สึก" ไอคอน "คุณซาบซึ้ง" จึงมิได้หมายถึง "ความซาบซึ้ง"
หากมีสถานะเป็น "สัญลักษณ์ทางเลือก" ที่กำลังทำการท้าทาย "โครงสร้างความรู้สึกหลัก" ของสังคมไทย ซึ่งมิได้ดำรงอยู่อย่างสัมบูรณ์หนึ่งเดียวเด็ดขาดอีกต่อไป
เมื่อพิจารณาจากการกระจายตัวเชิงปริมาณ ถือว่าสติ๊กเกอร์ "วันอาทิตย์สีแดง" และเข็มกลัด/ของที่ระลึก "คุณซาบซึ้ง" มีพลานุภาพทาง "การเมือง" มากพอสมควรในระดับชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ดี ผมเพิ่งมาตระหนักถึง "พลังทางความรู้สึก" อันมหาศาลของสัญลักษณ์เหล่านี้ เมื่อได้ดู "ข่าวใหญ่ล่าสุด" จากประเทศเกาหลีเหนือ
ภาพข่าวจากประเทศแห่งนั้นและการเมืองเชิงสัญลักษณ์ในประเทศไทย (ที่เหมือนจะเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน") ช่วยย้ำเตือนให้ผมระลึกว่า "น้ำตา" นั้นมีหลายประเภท
"น้ำตา" ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นชนิดหนึ่ง
"น้ำตา" ของประชาชนคนเกาหลีเหนือจำนวนมากก็เป็นอีกชนิดหนึ่ง
"น้ำตา" อันเกิดจากการถูก "ยาหม่อง" หรือ "หอมหัวใหญ่" ป้ายตา ก็เป็นแบบหนึ่ง
"น้ำตา" ของ "คุณซาบซึ้ง" และ "ดวงอาทิตย์สีแดง" ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งล้วนถูกประกอบสร้างขึ้นมาโดยความหมายทางสังคม ความรู้สึกรวมหมู่ และความรู้สึกของปัจเจกบุคคล ที่แตกต่างกันไป
บางครั้ง "น้ำตาหลากชนิด" ก็สามารถบ่งชี้ถึงอนาคตของสังคมนั้นๆ ได้อย่างคล้ายคลึงกัน
แม้จะไหลพรากออกมาเพราะโลกทัศน์-เรื่องเล่าต่างมุมมองกันก็ตาม
+ + + +
บทความตอนต้นปี 2554
อนาคตของชาติ
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1587 หน้า 85
วันเด็กแห่งชาติปีนี้ น้องมาร์คกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ของท่านนายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ด้วยใบหน้าบอกบุญไม่รับ
ให้ตายเถอะ! น้องมาร์คไม่อยากนั่งเก้าอี้ตัวนี้จริงๆ แต่คุณแม่น่ะสิคอยคะยั้นคะยอแกมบังคับอยู่ได้
"ไม่เห็นอยากนั่งเลย ทำไมต้องมาบังคับให้นั่งด้วย" เด็กน้อยตัดพ้อด้วยน้ำเสียงหงุดหงิด
อย่างไรก็ตาม น้องมาร์คคิดในใจต่อไปว่า แต่การที่ใครๆ จะได้นั่งหรือไม่ได้นั่งบนเก้าอี้นายกฯ ตัวนี้ มันก็มิได้ถูกกำหนดโดยตัวคนที่ต้องการจะนั่งหรือไม่ต้องการนั่งหรอก
ซึ่งกรณีแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับนายกฯ น้อย อย่างน้องมาร์คและเพื่อนเด็กวัยเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณอา คุณลุง นายกรัฐมนตรีตัวจริงทั้งหลายด้วย
เพราะผู้จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ ได้ถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้มีงานการเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือทำเนียบนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด แถมยังมิได้มาจากการเลือกตั้งด้วย
"ถ้าลองเค้าจะให้นั่ง เราก็ได้นั่ง ถึงจะแพ้เลือกตั้งยังไงก็ได้นั่ง แต่ถ้าเค้าจะไม่ให้นั่ง ทำยังไง้ ยังไง มันก็ไม่ได้นั่ง ต่อให้ชนะเลือกตั้งก็เถอะ" น้องมาร์คเผลอพลั้งปากออกมา กระทั่งคุณแม่ยังออกอาการเง็งว่าลูกตัวเองกำลังพร่ำบ่นอะไรอยู่
"น้องมาร์คเบื่อที่นี่รึยังลูก?" คุณแม่ถามและว่า "แม่จะพาไปดูพี่ๆ ทหารเค้าโชว์อาวุธยุทโธปกรณ์ อยากไปมั้ยคะ?"
"ก็โอเคครับ อยากดูให้เห็นกับตาเหมือนกันว่า พี่ๆ ลายพราง เค้าใช้ภาษีเราไปซื้ออาวุธอะไรมาใช้งานบ้าง เพราะเค้าจะมีโอกาสใช้งานอาวุธพวกนี้ไม่บ่อยครั้งนักหรอกครับ ที่ใช้อยู่เป็นประจำก็เห็นจะมีอยู่สามงาน คือ งานวันเด็ก, งานรัฐประหาร แล้วก็งานรักษาความมั่นคง ผ่านการใช้ความรุนแรงกับคนใน "ชุมชนชาติ" เดียวกันเอง" คำตอบของเด็กน้อย ทำเอาคุณแม่ถึงกับอึ้ง
ย้อนกลับไปก่อนจะเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล น้องมาร์คอยากไปเที่ยวงานวันเด็กอีกงานหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนที่โรงเรียนเล่าให้ฟัง เนื่องจากในงานนั้นจะมีการเสวนาหัวข้อเลี้ยงลูกอย่างไรให้ตาสว่าง
แต่คุณแม่ตอบกลับว่า ไม่เห็นต้องไปฟังเสวนาพวกนั้นให้มากความ แค่ฟังเพลงของวงดนตรีรุ่นใกล้ๆ คุณแม่อย่าง "โมเดิร์นด็อก" เราก็ตาสว่างได้แล้ว
"น้องมาร์คไม่ควรหลงผิดนะลูก เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า"
"แล้วผู้ใหญ่ในวันนี้ จะกลายเป็นอะไรในวันข้างหน้าครับ? คุณแม่"
วันรุ่งขึ้น สองแม่ลูกไปซื้อของและกินข้าวที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมือง ช็อปไปช็อปมาก็เริ่มเพลิน มารู้ตัวอีกทีจึงตกเย็นแล้ว
และน้องมาร์คกับแม่ก็เดินทางกลับบ้านไม่ได้ เพราะคนเสื้อแดงมาชุมนุมกันแน่นขนัดบริเวณสี่แยกหน้าห้างสรรพสินค้าดังกล่าว
"โอ้โห! ที่เค้าเรียกกันว่า "มวลมหาประชาชน" มันเป็นหยั่งงี้นี่เอง" น้องมาร์คกล่าว ขณะกำลังมองดูคนเสื้อแดงจากผนังกระจกของห้าง
"มวลมหาประชาชนอะไรกันคะ พวกรับเงินแม้ว กับพวกเผาบ้านเผาเมืองน่ะสิไม่ว่า" คุณแม่ตอบโต้
แต่สุดท้าย คุณแม่ก็อดใจไม่ไหวที่จะเดินออกไปยังท้องถนน เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนซึ่งถูกตนเองเดินไปด่าไปอยู่ตลอดทาง
ดูท่าคนเสื้อแดงจะกลายเป็น "ศัตรูที่รัก" ของคุณแม่น้องมาร์คไปเรียบร้อยแล้ว
"นี่คนมากันแน่นกว่าตอนเค้าเคาต์ดาวน์ปีใหม่ซะอีก" น้องมาร์คยังตื่นตะลึงไม่หยุด คราวนี้แม้แต่คุณแม่เองก็ไม่กล้ากล่าวเถียง
แม่ลูกคู่นี้ค่อยๆ สอดแทรกตัวเองเข้าไปสู่ใจกลางฝูงชน กว่าจะประสบความสำเร็จก็เลยเวลาสองทุ่มมาแล้วเห็นจะได้
หลังจากนั้นไม่นาน อดีตนายกรัฐมนตรีก็โฟนอินมาทักทายกลุ่มคนเสื้อแดง
"แม่ว่าแล้วไง พวกนี้น่ะมันรับเงินทักษิณกันทั้งนั้น ที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ก็เพราะไอ้แม้วคนเดียว ปัญหาต่างๆ รวมศูนย์อยู่ที่มัน ทุกปัญหาเกิดมาจากมัน" คุณแม่โวยวายออกมาอย่างไม่กลัวถูกรุม
ทันใดนั้น น้องมาร์คเหลือบไปเห็นป้ายผ้าประท้วงขนาดใหญ่ผืนหนึ่ง แล้วอ่านออกเสียงข้อความบนป้ายผ้าออกมาว่า
"กูม่ายรุ กู..."
ยังไม่ทันพูดให้จบความ มือขวาของคุณแม่ก็ตบเข้าที่ปากของลูกรัก และเป็นการปิดปากไปในตัว
"อย่าพูดจาหยาบคายอีกนะคะ หัดรอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ ซะบ้าง"
น้องมาร์คได้แต่คิดในใจว่า แล้วการอ่านออกเสียงข้อความดังกล่าวมันเกี่ยวข้องอะไรกับคำขวัญเชยๆ ไร้อารมณ์ขันนี่ด้วย
ขณะที่ฝ่ายคุณแม่ก็กำลังคิดในใจเช่นกันว่า
ดีนะ ที่มือกูไวพอ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
.