http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-13

ยุคข่าวสาร การประมวลผลแบบก้อนเมฆ พลังงาน และการเมืองอินเตอร์เน็ต โดย อนุช อาภาภิรม

.

ยุคข่าวสาร การประมวลผลแบบก้อนเมฆ พลังงาน และการเมืองอินเตอร์เน็ต
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 38


ยุคข่าวสารได้ก่อรูปมั่นคงในทศวรรษ 1980 ในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว จากนั้นแพร่ไปทั่วโลก
การขยายตัวของยุคข่าวสารนั้นประจวบเข้ากับกระแสเสรีนิยมใหม่ ซึ่งน่าจะมีเหตุปัจจัยต่อกันและกันในระดับหนึ่ง
กล่าวคือ ระบบเสรีนิยมเดิมที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจหนักตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา ได้ขยายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสารอย่างหนัก มีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจที่แท้จริงมีการขยายตัวไป

จนในปี 1995 เศรษฐกิจโลกตะวันตกกลับมาขยายตัวอย่างมั่นคงอีกครั้ง มีการขนานนามเศรษฐกิจนี้ว่า "เศรษฐกิจใหม่"
เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ตั้งบนฐานอุตสาหกรรมที่สกปรก มีปล่องไฟสูงที่ส่งหมอกควันเหมือนแต่ก่อน 
แต่ตั้งอยู่บนฐานการผลิตในโรงงานที่สะอาด เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ และยกย่องว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งภาวะเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานสูงได้ 
จนช่วยผลักดันให้เกิดกระบวนโลกาภิวัตน์-เศรษฐกิจไร้พรมแดน

เศรษฐกิจใหม่นี้ต่างกับเศรษฐกิจแบบเก่าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ผู้บริโภคนั้นไม่ได้เป็นผู้บริโภคแบบเฉื่อยเนือยแบบเดิม หากเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์และระบบ หรือเป็นผู้บริโภคที่เป็นผู้ผลิตพร้อมกัน 
เรียกว่าผู้บริโภคที่ผลิต (Prosumer ศัพท์นี้ อัลวิน ทอฟเลอร์ ใช้ครั้งแรกในปี 1980 ) การเกิดขึ้นของผู้บริโภคที่ผลิตในยุคข่าวสารนี้ ทำให้ผู้บริโภคมีพลังต่อรองมากขึ้นกว่าผู้บริโภคทั่วไปแบบเดิมเป็นอันมาก
และน่าจะเป็นเหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีพลังมากขึ้นในยุคนี้


ยุคข่าวสารเพิ่งเกิดไม่นานนี้ มีผู้แสดงหลัก 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล บรรษัทอุตสาหกรรมข่าวสารข้ามชาติและสังคมต่างพยายามฉวยโอกาสของยุคเพื่อประโยชน์ตน 
ซึ่งในปัจจุบันกำลังขับเคี่ยวกันอยู่ 

โดยฝ่ายรัฐบาลใช้เทคโนโลยีนี้ในการเผยแพร่ผลงานของตน การให้บริการแก่ประชาชนและด้านความมั่นคงตั้งแต่กิจการด้านการทหารไปจนถึงพลเรือน รวมไปถึงการสอดแนมประชาชนที่ต้องสงสัย เป็นต้น

ทางฝ่ายบรรษัทก็พยายามสร้างอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งบริการต่างๆ เพื่อหาประโยชน์กำไร ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ขณะที่สถาบันการเงินตกอับและถูกตำหนิที่เป็นต้นตอวิกฤติ บรรษัททางการสื่อสารยังคงทำกำไรงามและเป็นที่ยอมรับ เช่น แอปเปิ้ล กูเกิล ไมโครซอฟต์

ส่วนทางฝ่ายสังคมก็ได้ใช้การสื่อสารสมัยใหม่ในการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างได้ผล เช่น ขบวนลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ และขบวนยึดครองวอลสตรีต ที่ก่อรูปและพัฒนาไปโดยอาศัยสื่อสังคมออนไลน์
ในความสัมพันธ์ 3 ฝ่ายนี้ ภาครัฐบาลนั้นโดยการสมมุติถือว่าเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติแล้วเอียงข้างหรือเข้าข้างบรรษัทแล้วแต่กรณีและสถานการณ์ ที่ยืนเผชิญหน้ากันอย่างชัดแจ้ง ได้แก่ ฝ่ายบรรษัทและสังคม การเผชิญหน้าอย่างยืดเยื้อมีส่วนช่วยสร้างหลักการปฏิบัติและยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ที่เรียกว่า ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท (Corporate Social Responsibility-CSR ใช้ตามวิกิพีเดีย) ที่มีอยู่หลายมิติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


ในทรรศนะของบรรษัทข้ามชาติทางอุตสาหกรรมข่าวสาร เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1. กลุ่มเมฆ (Cloud ที่เป็นคำอุปมา หรือ Metaphor ราชบัณฑิตใช้อุปลักษณ์) หมายถึงอินเตอร์เน็ต ในความหมายพิเศษ อาจเรียกว่าเป็นอินเตอร์เน็ตรวมศูนย์ หรือฮับทางอินเตอร์เน็ตก็ได้
2. อุปกรณ์มือถือที่พกพาเคลื่อนที่ได้ ซึ่งสามารถทำให้บุคคลจำนวนมากสามารถสื่อสารได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามเวลาจริง 
3. สังคมหรือชุมชนออนไลน์ บางทีเรียกว่าสังคมเสมือนที่เป็นจริงได้แต่ในยุคข่าวสารเท่านั้น เช่น ชาวแอลจีเรียที่เดินทางมาทำงานที่กรุงปารีส ก็ได้สร้างชุมชนออนไลน์ของตนที่ข้ามพรมแดนขึ้น 
4. ข้อมูลมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกที เพราะว่าผู้บริโภคข่าวสารก็ผลิตข่าวสารด้วย

ดูจากลักษณะเฉพาะที่กล่าวแล้ว จะเห็นว่าบรรษัทข้ามชาติทางอุตสาหกรรมข่าวสารค่อนข้างมีภาษีเหนือกว่าภาคสังคม (ทั้งสังคมจริงและสังคมออนไลน์) ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เรื่องของกลุ่มเมฆหรือการประมวลผลระบบคอมพิวเตอร์บนอินเตอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่บรรษัทข่าวสารเป็นผู้พัฒนาขึ้น และเตรียมขยายตัวต่อไปอีก 
สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้น เห็นได้ชัดว่าถูกผูกขาดโดยบรรษัทใหญ่ไม่กี่แห่ง มีแอปเปิ้ลและซัมซุง เป็นต้น 


ในด้านสังคมออนไลน์เกิดขึ้นได้ก็โดยผ่านสื่อหรือเวทีที่บรรษัทข่าวสารตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือ ยูทูบ
ในด้านข้อมูลมหาศาลนั้น ก็กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ตกเป็นของบรรษัทที่สามารถ ประมวล วิเคราะห์ หารจำแนก การทำดรรชนี และอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นข่าวสารที่สามารถดึงมาใช้ได้ทันทีในทุกแห่ง



การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆเป็นอย่างไร

การประมวลผลแบบก้อนเมฆ (Cloud Computing วิกิพีเดียใช้ "กลุ่มเมฆ") สามารถมองได้หลายมิติ ได้แก่ มิติทางความเป็นมาและหลักการ ซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายสิบปี เมื่อถึงทศวรรษ 1960 ก็มีความชัดเจนว่า ระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์นั้น หากได้เชื่อมเข้าด้วยกันเป็นเหมือนตาข่ายสาธารณูปโภคอย่างเช่นไฟฟ้า ก็จะเกิดความได้เปรียบเชิงขนาด และใช้ระบบคอมพิวเตอร์เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง 
ซึ่งก็ได้มีผู้นำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติกันหลายภาคส่วน ได้แก่ รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วได้สร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นก้อนเมฆของตนเอง เพื่อการบริหารปกครองประเทศ 

นอกจากนี้ สถาบันการเงินและบรรษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็สร้างศูนย์ข่าวสารเพื่อช่วยการดำเนินธุรกิจ การผลิตและการกระจายสินค้า การบริหารภายในและการติดต่อกับลูกค้า 
ท้ายสุด ได้แก่ บริษัททางด้านอุตสาหกรรมข่าวสารที่ได้พัฒนาทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และสถาปัตยกรรมโครงสร้าง เพื่อเชื่อมระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้นในระบบอินเตอร์เน็ต เริ่มต้นจากเป็นละอองน้ำจนกระทั่งถึงเป็นก้อนเมฆ

สำหรับเกณฑ์วัดว่าแค่ไหนจึงจะใหญ่เป็นก้อนเมฆ ดูได้จากปริมาณเซิร์ฟเวอร์ (เซิร์ฟกล่าวไปแล้วก็คือคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่ไม่มีจอภาพและแป้นพิมพ์) ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล เช่น ศูนย์ข้อมูลของบรรษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐ มีชั้นเซิร์ฟเวอร์ตั้งเรียงรายแถวแล้วแถวเล่าในอาคารที่มีในพื้นที่หลายแสนตารางฟุต 
การประมวลผลแบบก้อนเมฆยังสามารถมองได้จากมิติทางเทคนิค ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก แต่เมื่อทำเสร็จแล้วเด็กอายุ 3-4 ขวบก็ใช้งานได้

มีข้อสังเกตบางประการคือ เทคโนโลยีนี้เพิ่งอยู่ในระยะตั้งต้น ยังจะพัฒนาไปอีกมาก และคาดหมายว่าคงจะมีการแข่งขันในการออกแบบ การจัดโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม และการบริการอย่างหนักหน่วง บรรษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมก้อนเมฆ ได้แก่ แอมะซอน กูเกิ้ล ยาฮู ไมโครซอฟต์ เป็นต้น ทั้งหมดมีสัญชาติอเมริกัน  

ท้ายสุดยังมองได้จากมิติของธุรกิจ เป็นบริการให้เช่าสมรรถนะทางคอมพิวเตอร์แก่ลูกค้าตามความต้องการ โดยลูกค้าจะได้ประโยชน์ในด้านประหยัดค่าใช้จ่าย เวลาและมีความยืดหยุ่นในการสร้างระบบสารสนเทศในหน่วยงานหรือของส่วนบุคคลเองอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนบรรษัทจะทำกำไรจากการขายซอฟต์แวร์และบริการอื่น การขายผู้บริโภค และการขายสินค้า



โรงงานก้อนเมฆกับการผลาญพลังงานไฟฟ้า

ในเดือนกันยาน 2012 หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ยักษณ์ใหญ่ในสื่อสิ่งพิมพ์ได้เปิดโปงยุคข่าวสารว่าใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองมาก และมีด้านที่โลว์เทค ก่อมลพิษ ไม่ได้สวยหรูอย่างที่วาดกันไว้  

บทความเปิดเผยเรื่องในปี 2006 ณ ที่ทำการเฟซบุ๊ก ซึ่งขณะนั้นมีพื้นที่เช่า 2,400 ตารางฟุต เพื่อวางชั้นเซิร์ฟเวอร์ เพื่อใช้เก็บข้อมูลและประมวลข่าวสารจากผู้ใช้ กระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านคอมพิวเตอร์ทำให้เครื่องร้อนจัด จนอุปกรณ์จะหลอมละลาย 
นายช่างวิศวกรของบริษัทตัดสินใจเร่งด่วนพาคนงานตระเวนซื้อพัดลมทุกตัวในเมืองนั้น เพื่อระบายความร้อน 
ในครั้งกระนั้นเฟซบุ๊กมีสมาชิกเพียง 10 ล้าน แต่ในปัจจุบันเฟซบุ๊กมีสมาชิกถึงเกือบพันล้านคน พื้นที่สำหรับตั้งวางเซิร์ฟเวอร์จึงขยายใหญ่โตเป็นแสนตารางฟุต เป็นศูนย์ข้อมูลหรือโรงงานก้อนเมฆ (Cloud Factory) ใหญ่ พร้อมกับระบบทำความเย็น  
เนื้อหาของบทความอาจสรุปได้ดังนี้ ในปัจจุบันมีศูนย์ข้อมูลเช่นว่านับจำนวนหลายหมื่นศูนย์ และเพิ่มขึ้นรวดเร็วเช่นศูนย์ข้อมูลรัฐบาลกลางสหรัฐเพิ่มจาก 432 ศูนย์ในปี 1998 เป็น 2,094 ในปี 2010 การผลิตข้อมูลก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่น ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กผลิตข้อมูลวันละ 2,000 กิกะไบต์ และต้องเก็บข้อมูลนี้ไว้หลายปี ในปี 2011 ทั่วโลกมีการผลิตข้อมูลถึง 1.8 ล้านล้านกิกะไบต์ ในนี้ 3 ใน 4 มาจากผู้บริโภคธรรมดา

การออกแบบของศูนย์ข้อมูลนั้นทำให้ต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งราวร้อยละ 90 หรือกว่านั้นเสียเปล่า โดยศูนย์ดังกล่าวจะใช้กระแสไฟฟ้าเต็มที่ ไม่ว่าจะมีผู้ใช้มากน้อยเพียงใดก็ตาม เป็นการสำรองไว้ว่าถ้าหากผู้ใช้เกิดใช้งานขึ้นมาพร้อมกันเซิร์ฟเวอร์จะได้ไม่ล่ม และเพื่อป้องกันไฟฟ้าดับ 
ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลหลายตัว มีลักษณะโลว์เทค ยิ่งกว่านั้นจำนวนหนึ่งยังติดตั้งแบตเตอรี คล้ายแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าราคาแพง เพื่อซื้อเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่จะกู้ไม่ให้ระบบล่ม
ทั่วโลกคลังสินค้าดิจิตอลแบบนี้ใช้ไฟฟ้าราว 30 พันล้านวัตต์ เท่ากับผลผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราว 30 โรง ในจำนวนนี้ศูนย์กลางข้อมูลในสหรัฐใช้ราว 1/4-1/3 ของจำนวนทั้งหมด ศูนย์ข้อมูลหนึ่งจะใช้ไฟฟ้ามากกว่าเมืองขนาดกลางเมืองหนึ่ง นี่คือด้านกายภาพของอุตสาหกรรมข่าวสารที่มักเสนอแต่ด้านเสมือนจริง (ดูบทความของ James Glanz ชื่อ The Cloud Factory : Power, Pollution and the Internet ใน nytimes.com, 220912)

บทความของนิวยอร์ก ไทมส์ ได้ถูกค่ายดิจิตอลต่อต้านอย่างหนัก โดยชี้ว่า ศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นความก้าวหน้าทางนวัตกรรม ไม่ใช่มลพิษ เป็นการปฏิวัติเพื่อสร้างความพร้อมใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์ ในท่ามกลางการถกเถียง มีแนวโน้มใหญ่ว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันข้อมูลข่าวสาร และศูนย์ข้อมูลก็จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว


ประเด็นเร่งด่วนอยู่ที่การเมืองอินเตอร์เน็ต

ประเด็นเร่งด่วนไม่น่าอยู่ที่เรื่องโรงงานก้อนเมฆกับการใช้พลังงานมาก หากอยู่ที่การเมืองอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถคุกคามต่อเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตและกระทั่งคุกคามทั้งระบบอินเตอร์เน็ตได้ 
อาจสรุปได้เป็น 2 เรื่อง

เรื่องแรกได้แก่ความพยายามของรัฐบาลต่างๆ ในการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในทางที่เป็นผลดีต่อการบริหารปกครองประเทศ ในนามของผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงของประเทศ เช่น การเข้าปิดเว็บไซต์จำนวนมาก ปิดกั้นการเข้าถึงข่าวสารในบางเรื่อง ออกกฎหมายที่มีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงต่อผู้กระทำความผิดบนเว็บ หรือในยามฉุกเฉิน รัฐบาลก็อาจปิดอินเตอร์เน็ตทั้งระบบ เช่น กรณีลุกขึ้นสู้ของชาวอียิปต์ปี 2011
เรื่องที่สอง ได้แก่ ความไม่สมดุลกันในระหว่างผู้แสดง 3 ฝ่าย นั่นคือภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคสังคม ภาครัฐเข้าควบคุมระบบโดยอาศัยอำนาจรัฐ ธุรกิจเอกชนเข้าควบคุมโดยอาศัยการลงทุนสร้างโรงงานก้อนเมฆ และการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ขึ้นโดยตลอด ขณะที่ภาคสังคมที่เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ถึงราว 2 ใน 3 ในแง่ของผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร กลับมีบทบาทค่อนข้างน้อย

ในประเทศพัฒนาแล้วมีบางกลุ่มเคลื่อนไหวเสนอให้มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ มีกำลังผู้คน และความพร้อมอื่นๆ จัดตั้งการประมวลผลแบบก้อนเมฆขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้คิดหากำไร ซึ่งน่าจะมีการออกแบบระบบที่แตกต่างจากเดิมได้

สำหรับในประเทศกำลังพัฒนา คงต้องฝากงานไว้ที่รัฐบาล ในการที่จะจัดสร้างระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อสังคมขึ้น โดยการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มลูกจ้างคนงานและกลุ่มอาชีพต่างๆ กลุ่มสตรี ชนส่วนน้อย โดยมีเนื้อหาทางด้านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการศึกษาตลอดชีวิต การฝึกอบรมพัฒนาการงานอาชีพ การดูแลสิ่งแวดล้อม การต่อสู้ภัยธรรมชาติ ไปจนถึงเรื่องนโยบายสาธารณะและยุทธศาสตร์ชาติ และการตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐและธุรกิจเอกชน

ในระยะใกล้นี้ กล่าวได้ว่าระบบอินเตอร์เน็ตจะล่มก็เพราะเรื่องการเมือง มากกว่าการใช้พลังงานมากเกินไป



.