http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-17

The Obama Doctrine ขอต้อนรับท่านประธานาธิบดีสู่เอเชีย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

The Obama Doctrine ขอต้อนรับท่านประธานาธิบดีสู่เอเชีย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 36


"ความสนใจของโลกวันนี้อยู่กับวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง
แต่จุดของความขัดแย้งวันพรุ่งนี้อยู่ในเอเชีย"
Sheena C. Greitens
International Herald Tribune
October 24, 2012



การแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมามีประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งสำหรับคนนอกสังคมอเมริกันในเอเชียก็คือ ปัญหานโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคนี้ แม้ในการดีเบต (debate) ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งประธานาธิบดีโอบามาและ นายมิตต์ รอมนีย์ แทบจะไม่ได้กล่าวถึงเอเชียเท่าใดนัก จนมีผู้วิจารณ์ตั้งคำถามถึงการดีเบตดังกล่าวว่า "เอเชียอยู่ที่ไหน" ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในอีก 4 ปีข้างหน้า
แต่ว่าที่จริงแล้ว หากเราติดตามดูนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับเอเชียมาโดยตลอด 
แม้ในบางครั้งจะมีข้อถกเถียงว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับยุโรปมากกว่าเอเชีย แต่ก็จะพบว่า สหรัฐไม่เคยตัดสินใจที่จะถอยออกจากเอเชียแต่อย่างใด

ผู้นำสหรัฐเชื่อเสมอว่า อเมริกาเป็นชาติหนึ่งในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific nation) หรือเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาเรียกสหรัฐ ว่าเป็น "ชาติแปซิฟิก" (Pacific nation) เป็นต้น


ถ้าเราเริ่มพิจารณาจากยุคของประธานาธิบดีโอบามาจะเห็นได้ว่า สัญญาณที่ชัดเจนของนโยบายสหรัฐ ต่อเอเชียมาจากการเดินทางของ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการเยือนญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 (2552)
และในปีดังกล่าวนางคลินตันยังได้เข้าร่วมประชุมเออาร์เอฟ (ARF-ASEAN Regional Forum) ในเดือนกรกฎาคมและการประชุมเอเปค (APEC) ในเดือนพฤศจิกายน 
และที่สำคัญก็คือการเดินทางเยือนญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีนของประธานาธิบดีโอบามาในช่วงเดือนเดียวกัน ซึ่งในการเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวย้ำถึงความเป็น "ชาติแปซิฟิก" ของสหรัฐ

ประธานาธิบดีโอบามาพยายามแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอเมริกันในยุคของเขาให้ความสนใจกับเอเชียมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ของสหรัฐ
และในการนี้ เขาได้ประกาศทิศทางของนโยบายต่อเอเชีย หรือเรียกว่าเป็น "นโยบายต่อเอเชียตะวันออกของโอบามา" (The Obama"s East Asian Policy) ซึ่งวางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ ได้แก่

1. ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นจะคงเป็น "หมุดหมายสำคัญ" ของนโยบายสหรัฐ ต่อเอเชียตะวันออก อีกทั้งการดำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพันธมิตรและมิตรประเทศในภูมิภาค ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนโยบายสหรัฐ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

2. สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ในเอเชีย เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งนโยบายนี้สะท้อนให้เห็นได้จากการเริ่มต้นเปิดการเจรจารอบใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน นอกจากนี้ เวทีการประชุมทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า "การเจรจายุทธศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐ-จีน" (The U.S.-China Strategic Economic Dialogue) ซึ่งเริ่มขึ้นจากสมัยของประธานาธิบดีบุชก็จะถูกยกระดับสูงขึ้น โดยจะรวมเอาประเด็นทางการเมืองและความมั่นคงเข้าสู่เวทีการประชุมนี้ด้วย

3. รัฐบาลโอบามาได้ลดความสำคัญของแนวคิดแบบ "เอกภาคี" (Unilateralism) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีบุชลง และจะเพิ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติให้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอเมริกันจะไม่ถือเอาปัญหาอุดมการณ์เป็นทิศทางหลัก แต่จะประเมินสถานการณ์แบบเป็นทีละกรณี (case-by-case situation assessment) อันจะทำให้รัฐบาลวอชิงตันสามารถเปิดการเจรจาได้โดยตรงกับประเทศที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกรณีพม่าหรือกรณีเกาหลีเหนือก็ตาม

4. รัฐบาลของประธานาธิบดีประกาศถึงความพยายามที่จะสร้าง "โครงสร้างของความร่วมมือ" (structures of cooperation) เพื่อกำหนดทิศทางของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด หรือแม้กระทั่งทิศทางของโลกทั้งหมด เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือกับบรรดาชาติสมาชิกและชาติหุ้นส่วนต่างๆ โดยสหรัฐจะขยายบทบาทในสถาบันพหุภาคีในระดับภูมิภาค เช่น เออาร์เอฟ (ARF) และเอเปค (APEC) และขณะเดียวกันก็แสวงหาข้อยุติปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือโดยผ่านเวทีการเจรจาหกฝ่าย (The Six-Party Talks)

5. รัฐบาลโอบามาจะดำเนินนโยบายอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อแสวงหาทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ ของโลก เช่น ปัญหาการลดอาวุธนิวเคลียร์และการห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ปัญหาการต่อสู้กับการก่อการร้าย ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ตลอดจนถึงปัญหาการแพร่กระจายของโรคระบาด และเพื่อให้เกิดความสำเร็จ

รัฐบาลอเมริกันจะให้ความสำคัญกับบทบาทของชาติในเอเชียตะวันออกมากขึ้นในการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้



นอกจากนี้ ในระยะเวลาต่อมา รัฐบาลโอบามายังได้กำหนดจุดมุ่งหมายในนโยบายต่อเอเชียตะวันออกเพิ่มเติมจากหลัก 5 ประการในข้างต้นว่า รัฐบาลอเมริกันจะดำเนินการในทิศทาง 3 ประการ ได้แก่ 
1. สนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
2. จัดการให้เกิดเสถียรภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาค 
3. ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค


ผลจากการกำหนดทิศทางดังกล่าว รัฐบาลโอบามาได้กำหนดการก้าวสู่อนาคตในเอเชีย-แปซิฟิกด้วยการขยายความร่วมมือที่เป็นพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการภายใต้กรอบที่เป็นพหุภาคีในภูมิภาค ซึ่งก็คือการบ่งบอกถึงทิศทางที่จะลดความสัมพันธ์แบบทวิภาคีลง
เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวถือกันว่าเป็นกรอบของยุคสงครามเย็นที่อาจจะไม่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในเวทีโลกและในเวทีภูมิภาคที่ต้องการการขยายความร่วมมือ มากกว่าจะให้ความร่วมมือเกิดขึ้นกับเพียงสองชาติ

ในบริบทของการปรับทิศทางใหม่ที่เห็นได้ตั้งแต่ยุคของรัฐบาลโอบามาก็คือ ความพยายามที่จะตอกย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับชาติพันธมิตรเดิมของสหรัฐ 5 ชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย 
พร้อมกับแสวงหาลู่ทางในการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาคอย่างในกรณีของจีนกับอินเดีย
และขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

การกำหนดทิศทางเช่นนี้ยังมีนัยโดยตรงถึงการให้ความสำคัญกับองค์กรในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเออาร์เอฟ เอเปค และเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งทำเนียบขาวถือว่ากรอบการประชุมที่เป็นพหุภาคีของภูมิภาคเช่นนี้เป็นกรอบหลักที่สหรัฐ จะต้องเข้ามามีบทบาท
และยังคาดหวังว่าเวทีการประชุมเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้สหรัฐ มีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค
และขณะเดียวกันก็เป็นหนทางของการขยายขีดความสามารถของประเทศในภูมิภาคให้จัดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทของภูมิภาคได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นหนทางโดยตรงของการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วอชิงตันต้องการผลักดันให้เกิดกลไกในระดับภูมิภาคที่จะสามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาท เช่น ในกรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดนให้ได้โดยสันติวิธี

ด้วยทิศทางเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใดว่าในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา เขาจึงกล่าวถึงความสำเร็จของนโยบายต่อเอเชีย โดยเรียกว่า "แกนเอเชีย" (The Asia Pivot) หรืออย่างน้อยก็เพื่อบ่งบอกว่า รัฐบาลและพรรคการเมืองของเขาให้ความสนใจกับเอเชียมากกว่าอีกพรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ ทิศทางที่ชัดเจนก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้(..2555)ก็คือ ในเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาออสเตรเลียว่า ตัวเขาในฐานะประธานาธิบดีได้ตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ต่อบทบาทของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิกแล้วว่า สหรัฐจะมีบทบาทมากขึ้นและระยะยาวขึ้นในการกำหนดทิศทางและอนาคตของภูมิภาคนี้



สิ่งที่กล่าวแล้วในข้างต้นอย่างสังเขปนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น "หลักลัทธิโอบามา" (The Obama Doctrine) หรือเป็นทิศทางของนโยบายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งก็ให้ภาพที่ชัดเจนว่า สหรัฐยังคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ในกรอบที่เป็นพหุภาคีมากขึ้น
และท่าทีเช่นนี้ยังถูกตอกย้ำด้วยการเยือนของผู้นำระดับสูงของรัฐบาลอเมริกันหลายต่อหลายครั้ง


ซึ่งการส่งสัญญาณเช่นนี้ก็คือ การบ่งบอกถึงความพยายามที่จะรื้อฟื้นบทบาทอย่างมีนัยสำคัญของสหรัฐในเอเชีย เพราะในช่วงที่ผ่านมาเห็นภาพคู่ขนานที่ชัดเจนก็คือ การขยายบทบาทของจีนอย่างต่อเนื่องในเอเชีย 
ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากของจีนในระยะเวลาที่ผ่านมา ก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลปักกิ่งขยายขีดความสามารถด้านกำลังรบของตนเองเพิ่มมากขึ้นด้วย 
แน่นอนว่า การเติบใหญ่ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมาพร้อมกับการขยายตัวของสถานะทางทหารเช่นนี้ กลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อบทบาทของสหรัฐในอนาคต แม้จะมีความรู้สึกในทางยุทธศาสตร์มาโดยตลอดว่า มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเสมือน "ทะเลของอเมริกา" (The American Lake) 
แต่วันนี้กองเรือรบจีนที่แต่เดิมเป็นเพียงกองเรือที่มีขีดความสามารถหลักในการป้องกันแนวชายฝั่งทะเลของจีนเท่านั้น ก็เริ่มปรากฏให้เห็นถึงการเป็นกองเรือในทะเลหลวง
แม้สมรรถนะของกองเรือรบจีนจะยังห่างไกลจากขีดความสามารถของกองทัพเรือที่ 7 ในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของกองเรือจีนในมหาสมุทรนี้ ได้กลายเป็นโจทย์ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความท้าทายจากการเติบโตของจีนอาจจะไม่ได้ถูกตัดสินด้วยจำนวนเรือรบอย่างที่ นายมิตต์ รอมนีย์ เสนอ 
แต่คำประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐในช่วงกลางปี 2012 ที่จะให้มีการจัดสัดส่วนของเรือรบใหม่ว่า ในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) กองทัพเรือสหรัฐในแปซิฟิกจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 60 ของกำลังทางเรือของสหรัฐ 
ก็เป็นคำยืนยันถึงการรื้อฟื้นสถานะของ "ทะเลสาบอเมริกัน" นั่นเอง



แม้การนำเสนอนโยบายทางยุทธศาสตร์ของพรรครีพับลิกันในฐานะคู่แข่งขันประธานาธิบดีจะไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็คาดเดาได้ไม่ยากนักว่า ถ้านายรอมนีย์ชนะสหรัฐ ก็ยังจะต้องให้ความสำคัญกับเอเชียไม่เปลี่ยนแปลง
ปรากฏการณ์จากที่กล่าวในข้างต้นเช่นนี้บ่งบอกถึงความจริงในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐต่อเอเชียอย่างมีนัยสำคัญประการหนึ่งว่า ไม่ว่าใครจะไปหรือจะมาที่ทำเนียบขาวหลังจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น อาจจะไม่สำคัญ

เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็ต้องมาเอเชียอย่างแน่นอน...

ขอต้อนรับท่านประธานาธิบดีโอบามาสู่เอเชียอีกครั้ง!



.