http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-21

สฤณี แปล: สร้างโลกไร้จน ของ“มูฮัมหมัด ยุนูส”

.
เพิ่มบทความแปล - ค่าของความว่างเปล่า สฤณี อาชวานันทกุล แปล

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

สร้างโลกไร้จน “มูฮัมหมัด ยุนูส”เขียน สฤณี อาชวานันทกุล แปล
โดย ดุษฎี สนเทศ  คอลัมน์ คนกับหนังสือ
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:10:42 น.
( 'จักรวาลวิทยา' หนังสือโดย สฤณี อาชวานันทกุล ณ 15 มี.ค. 2555 
ดูที่ www.fringer.org/wp-content/writings/my-books.html )


"การนิยามคำว่า "ผู้ประกอบการ" ให้กว้างขึ้นกว่าเดิมจะช่วยให้เราเปลี่ยนลักษณะทุนนิยมได้อย่างสุดขั้วและแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ยังแก้ไม่ได้ภายในกรอบของตลาดเสรี"

ในยุคปัจจุบันที่มีระบบทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสูงในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องการกำไรสูงสุด โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทของสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เสื่อมโทรมลงทุกขณะจากการประกอบธุรกิจเหล่านั้น ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม
คนรวยเป็นกระจุก คนจนกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง จะมีใครสนใจปัญหาเหล่านี้หรือไม่?

มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้เขียน นายธนาคารเพื่อคนจน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2006 สนใจปัญหาเหล่านี้
เขาถ่ายทอดการถอดรหัสธุรกิจเพื่อสังคมและอนาคตของทุนนิยมผ่านหนังสือ “สร้างโลกไร้จน” แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล

ความพยายามของยูนุสคือการหาทางแก้ปัญหาความจนให้หมดไปจากโลก เขาเชื่อว่าการคิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่มองว่ากำไรเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดจะช่วยคนจนได้
นั่นคือกำเนิดของ“ธุรกิจเพื่อสังคม”ที่ผสมผสานพลังของตลาดเสรี ศักยภาพของมนุษย์ กับจิตสำนึกของโลกที่เอื้ออาทร เขาแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการต่อสู้กับความจนอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกรามีน (ธนาคารเพื่อคนจน) ที่เขาก่อตั้งขึ้นเจริญรุ่งเรืองทั้งในการพึ่งพาตัวเองด้านการเงิน คืนทุนให้ผู้ลงทุน และช่วยเหลือสังคมตามเป้าหมาย

“สร้างโลกไร้จน”เป็นหนังสือที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เรามองปัญหาความยากจนด้วยมุมมองที่แตกต่าง
เมื่อเรามีความหวัง ความพยายาม และเครื่องมือที่พร้อม โลกไร้จนย่อมเป็นจริงได้อย่างแน่นอน



++

ค่าของความว่างเปล่า
สฤณี อาชวานันทกุล แปล
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 18:35:08 น.


  บทที่ 1
  ข้อบกพร่อง (The Flaw)

  ตอนนี้ในวิสัยทัศน์กำลังสี่
  ที่ข้ามีข้าจะใช้ให้หรรษา
  กำลังสามในความมืดของบิวลาห์
  กำลังสองตลอดมา-ตลอดไป
  ขอพระเจ้าประทานพรในดวงจิต
  อย่าสถิตโลกทัศน์หนึ่งวิสัย
  มองโลกจากหลายมุมหลากความนัย
  นิวตันไซร้อย่าให้ท่านได้นิทรา!
                               - วิลเลี่ยม เบลค, “บทกวีจากอักษร”



ถ้าหากสงครามเป็นวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าสอนภูมิศาสตร์ให้กับชาวอเมริกัน 
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นวิธีที่ท่านสอนวิชาเศรษฐศาสตร์
การล่มสลายของภาคการเงินแสดงให้เห็นว่า มันสมองของพ่อมดคณิตศาสตร์ที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุดในโลก ผู้มีทุนหนุนหลังมหาศาลที่สุด หาได้สร้างเครื่องยนต์แห่งความเจริญถาวรอันโฉบเฉี่ยวที่สุดไม่  หากได้สร้างรถขนตัวตลกแห่งการค้า การแลกเปลี่ยน และคำท้าแบบนักพนันซึ่งวันหนึ่งก็พังทลายลงเป็นชิ้นๆ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้เกิดจากภาวะขาดแคลนองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ แต่เกิดจากภาวะขาดแคลนความรู้ชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือสปิริตหรือจิตวิญญาณแห่งทุนนิยมที่ล้นเกิน


ประกายแห่งตลาดเสรีทำให้เราตาบอดจนไม่เห็นวิธีมองโลกแบบอื่น ดังที่ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) กล่าวไว้เมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนว่า “คนทุกวันนี้รู้ราคาของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่รู้มูลค่าของอะไรเลย”  ราคาแสดงตัวเป็นมัคคุเทศก์ที่เอาแต่ใจ 
การล่มสลายของภาคการเงินปี 2008 เกิดในปีเดียวกันกับวิกฤตอาหารและวิกฤตน้ำมันแต่แล้วเราก็ดูเหมือนจะไม่สามารถมองเห็นหรือตีค่าโลกของเราผ่านเลนส์อื่นที่ไม่ใช่เลนส์ตลาดที่บกพร่อง

ประเด็นหนึ่งซึ่งชัดเจนคือ แนวคิดที่นำเรามาสู่ความยุ่งเหยิงครั้งนี้ไม่น่าจะกอบกู้ชีวิตเราได้ สิ่งที่อาจปลอบใจเราได้เล็กน้อยคือ แม้แต่มันสมองที่ได้รับการยกย่องที่สุดก็ถูกบังคับให้ทบทวนสมมุติฐานที่บกพร่อง
การยอมรับความไม่รู้อันเจ็บปวดที่สุดอาจเกิดในห้องที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน วันที่ 23 ตุลาคม 2008 ต่อหน้าคณะกรรมาธิการการกำกับดูแลและปฏิรูปรัฐ เมื่ออลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) อธิบายความล้มเหลวของมโนทัศน์ของเขา



กรีนสแปนเป็นผู้ควบคุมเศรษฐกิจโลกที่ได้รับการยอมรับสูงสุดคนหนึ่งตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมาในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
เขาเป็นสมาชิกผู้ทรงภูมิของกองพลตลาดเสรี เคยนั่งอยู่แทบเท้าของไอน์ แรนด์ (Ayn Rand) ผู้ยังทรงอิทธิพลเนิ่นนานหลังจากที่เธอล่วงลับในปี 1982  แม้ว่าเธอจะแทบไม่เป็นที่รู้จักนอกอเมริกาเลยก็ตาม  
หนังสือเรื่อง แอตลาส ชรัก (Atlas Shrugged, “ยักษ์ยักไหล่”) ซึ่งตีพิมพ์ปี 1957 ของแรนด์ถ่ายทอดการต่อสู้อย่างห้าวหาญของนักธุรกิจใหญ่ กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำสหภาพแรงงานที่ถูกวาดภาพเป็นมารร้าย  ได้กลับมาไต่อันดับหนังสือขายดีอีกครั้งหนึ่ง
แรนด์มองว่าความไม่เห็นแก่ตัวคือ “การกินคนทางศีลธรรม” (moral cannibalism) เธอเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของสำนักคิดนิยมตลาดเสรีสุดขั้ว ซึ่งเธอขนานนามว่า “วัตถุนิยม” (Objectivism) 


กรีนสแปนถูกปรัชญาน่าเคลิบเคลิ้มของแรนด์ดูดให้เข้าไปอยู่ในวงในของเธอ
บุคลิกที่เคร่งขรึมและรสนิยมการแต่งตัวทำให้เขาได้รับสมญานามว่า “สัปเหร่อ”  ตอนที่กรีนสแปนเลือกทำงานในภาครัฐนั้นเหมือนกับฮิปปี้ไปสมัครเป็นนาวิกโยธิน เป็นความพลาดพลั้งที่อดีตมิตรของเขาจะไม่มีวันให้อภัย 
แต่อย่างไรก็ตาม กรีน-สแปนยังซื่อตรงต่อปรัชญาของแรนด์เสมอมา  เชื่อมั่นว่าการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนจะนำเราไปสู่โลกที่ดีที่สุด และการบังคับทุกรูปแบบจะลงเอยด้วยหายนะ

ปลายปี 2008 กรีนสแปนถูกเรียกไปให้ปากคำเกี่ยวกับวิกฤตการเงินต่อหน้าสภาคองเกรส  ประวัติการทำงานของเขาที่ธนาคารกลางนั้นยืดยาวและมีแต่เสียงชื่นชม แต่สภาคองเกรสอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ขณะที่กรีนสแปนเริ่มอ่านคำให้การ เขาดูอ่อนล้า ผิวหนังเหี่ยวยานราวกับใช้พลังที่ทำให้เต่งตึงไปจนหมดแล้ว แต่กรีนสแปนก็วาดลวดลายอยู่ดี

ในรอบแรกเขาตั้งเป้าไปที่ข้อมูลที่ใช้ในการทำงาน ถ้าเพียงแต่ปัจจัยต่างๆ ถูกต้อง โมเดลเศรษฐกิจก็จะใช้การได้ และการคาดการณ์ต่างๆก็จะดีกว่านี้มาก

กรีนสแปนกล่าวว่า
มีการมอบรางวัลโนเบลสำหรับการค้นพบโมเดลตั้งราคาอันเป็นฐานรากของความก้าวหน้าส่วนใหญ่ในตลาดตราสารอนุพันธ์ กระบวนทัศน์การบริหารความเสี่ยงสมัยใหม่ครอบงำโลกนานหลายทศวรรษ  แต่กระนั้นก็ตาม สถาปัตยกรรมทางปัญญาทั้งหมดก็ล้มครืนลงในฤดูร้อนปีก่อน (ปี 2007-ผู้แปล)  เนื่องจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปในโมเดลบริหารความเสี่ยงนั้น ปกติจะมาจากทศวรรษก่อนหน้า 2ทศวรรษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความลิงโลดฟุ้งเฟ้อ  ถ้าเพียงแต่โมเดลจะนำข้อมูลจากภาวะตึงเครียดในประวัติศาสตร์มาใช้ สถาบันการเงินก็จะต้องกันทุนสำรองมากขึ้น และ
โลกการเงินก็จะดีกว่านี้มากในความเห็นของผม



มุมมองนี้บอกว่า ถ้าเราใส่ขยะเข้าไป เราย่อมได้ขยะออกมา กล่าวคือโมเดลใช้การได้ดีแล้ว เพียงแต่สมมุติฐานเกี่ยวกับความเสี่ยงและข้อมูลที่ป้อนเข้าไปนั้นบกพร่อง เพราะมาจากช่วงที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ดังนั้นผลลัพธ์จึงผิดพลาดตามไปด้วย
เฮนรี่ แว็กซ์แมน (Henry Waxman) คู่ต่อกรของกรีนสแปนในคณะกรรมาธิการกดดันให้เขาไปสู่ข้อสรุปที่ลึกซึ้งกว่าเดิมในการโต้ตอบอันน่าทึ่งต่อไปนี้

แว็กซ์แมน : คำถามที่ผมอยากจะถามคุณคือ คุณมีอุดมการณ์ มีความเชื่อในเสรีภาพและการแข่งขัน  คุณให้การว่า “ผมมีอุดมการณ์ ผมเชื่อว่าตลาดเสรีที่มีการแข่งขันนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดระเบียบเศรษฐกิจ  เราลองกำกับดูแลแล้ว แต่ไม่มีการกำกับดูแลใดที่ใช้การได้ในสาระสำคัญ” นี่คือคำพูดของคุณเอง    คุณมีอำนาจที่จะป้องกันพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่ออย่างไร้ความรับผิดชอบที่นำไปสู่วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์  หลายต่อหลายคนแนะนำให้คุณทำ  แล้วตอนนี้เศรษฐกิจของเราทั้งระบบกำลังจ่ายต้นทุน  คุณรู้สึกหรือเปล่าว่าอุดมการณ์ของคุณผลักดันให้
ตัดสินใจบางอย่างที่ทำให้เสียใจในภายหลัง?

กรีนสแปน : อย่าลืมนะครับว่าอุดมการณ์คืออะไร  มันคือกรอบความคิดที่เราใช้รับมือกับความจริง ทุกคนมีด้วยกันทั้งนั้น  คุณต้องมีอุดมการณ์อะไรสักอย่างเพื่อมีชีวิต  ผมหมายความว่า ใช่ครับ  ผมพบข้อบกพร่อง  ผมไม่รู้ว่ามันสำคัญหรือถาวรขนาดไหน  แต่มันก็ทำให้ผมรู้สึกไม่สบาย
ใจมาก

แว็กซ์แมน : คุณพบข้อบกพร่อง?
กรีนสแปน : ผมพบข้อบกพร่องในโมเดลที่ผมมองว่าเป็นโครงสร้างสำคัญที่นิยามการทำงานของโลก จะว่าอย่างนั้นก็ได้

แว็กซ์แมน : พูดอีกอย่างคือ คุณพบว่าโลกทัศน์ของคุณและอุดมการณ์ของคุณไม่ถูกต้อง มันใช้การไม่ได้
กรีนสแปน : ถูกเผงครับ  นี่คือเหตุผลที่ผมรู้สึกช็อก เพราะผมทำงานมาไม่น้อยกว่า 40 ปีด้วยข้อมูลหลักฐานที่หนักแน่นมากว่ามันใช้การได้ค่อนข้างดีทีเดียว .....



.