http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-30

ซักฟอกได้แค่นี้?, นายกฯต้องรับผิดชอบ, คดีที่สอง, สกัด“นองเลือด” ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง - นวนิยาย ปีศาจ ของท่าน เสนีย์ เสาวพงศ์ กับ ‘การอภิปราย’
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม - ภาระยังไม่เสร็จ, ต้องหาเหตุให้ชัดแจ้ง โดย จ่าบ้าน


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ซักฟอกได้แค่นี้หรือ
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
( ภาพการ์ตูนคิวคน โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์ )


โหวตจบลงไปแล้วศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 
ที่ประชุมลงมติให้ความไว้วางใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยคะแนนท่วมท้น 308 ต่อ 159 เสียง
นอกจากนี้ยังมีมติไว้วางใจทั้งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย

คะแนนสนับสนุนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่มีมากถึง 308 เสียงมีนัยยะสำคัญ 
เพราะมีเสียงงอกมากว่า 30 เสียง
ก็ชัดเจนแล้วว่า 34 ส.ส.ภูมิใจ ไทยในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตัดสินใจแล้วว่าจะยืนอยู่ฝั่งไหน
เท่ากับลอยแพพรรคประชาธิปัตย์


ดูจากตัวเลขที่ไว้วางใจนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว สรุปได้ 2-3 ประการ

ข้อมูลหลักฐานการซักฟอกของฝ่ายค้าน 
ไม่ได้เปรี้ยงปร้างถึงขนาดสร้างความสั่นคลอนให้รัฐบาลได้เลย

เรื่องสำคัญการโจมตีนโยบายจำนำข้าวก็ไม่ใช่ข้อมูลลับอะไร 
หาอ่านได้ตามเว็บไซต์ทั่วๆ ไป 
การทุจริตที่นำมาเปิดโปงก็เป็นการทุจริตในระดับล่างที่รอดหูรอดตาเจ้าหน้าที่รัฐ 
ไม่ใช่การทุจริตระดับรัฐบาล
แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งดี เป็นข้อมูลที่รัฐบาลต้องรับไปดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ที่เหลือเนื้อหาของฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องเก่าๆ เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
วนเวียนซ้ำซากตลอด 2-3 วัน
จนวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งบ้านเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจอดีตนายกฯทักษิณ


ส่วนข้อมูลที่กล่าวหานายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ยิ่งพิกล 
นอกจากกล่าวหาว่านโยบาย จำนำข้าวไม่ดีแล้ว 

ที่เหลือแทบเป็นเรื่องที่นายกฯ เคยพูดอะไรผิดพลาดบ้าง 
เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเคยใช้โจมตี
ผสมกับลีลาพูดเสียดสี ดูถูก เหยียดหยาม

ว่ากันจริงๆ แล้ว หากฝ่ายค้านใช้ข้อมูลแค่นี้ 
ก็ดูเหมือนจะเป็นการ "จับผิด" นายกฯยิ่งลักษณ์มากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
น่าจะเป็นแค่การตั้งกระทู้สด สอบถามรัฐบาล มากกว่า !?



++

นายกฯต้องรับผิดชอบ
โดย มันฯ มือเสือ 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ 3 รัฐมนตรีที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือความคาดหมาย 
คือฝ่ายค้านไม่สามารถน็อกรัฐบาลได้เหมือนที่คุยไว้

สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเก่าที่กระจัดกระจายอยู่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าว
ฝ่ายค้านเพียงแค่นำมาเรียบเรียงจัดหมวดหมู่ใหม่ ให้ดูเหมือนทำการบ้านค้นคว้ามาเอง
ทั้งที่ลอกเขามา

อย่างไรก็ดีในห้วงเวลารัฐบาลและฝ่ายค้านโรมรันพันตูกันอยู่ในสภา
ก็ปรากฏศาลอาญามีคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาญณรงค์ พลศรีลา 1 ใน 99 ศพเหยื่อสลายม็อบเดือนพฤษภาคม 2553 
นับเป็นศพที่ 2 ต่อจากนายพัน คำกอง ที่ศาล ชี้ว่า 
สาเหตุการตายเพราะถูกกระสุนปืนจากอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมตามคำสั่งของ ศอฉ.


ขั้นตอนจากนี้ในกรณีนายชาญณรงค์ พลศรีลา จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับกรณีนายพัน คำกอง
คืออัยการจะต้องคัดคำสั่งศาลส่งต่อไปให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการสอบสวนทำสำนวนขึ้นใหม่เป็นคดีฆาตกรรม 
ส่วนใครจะเป็นผู้โชคดีคนแรกถูกแจ้งข้อหาดังกล่าว ข่าวแจ้งว่าไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ คงจะได้เห็นหน้าค่าตากันว่า จะหล่อเหลาหรือดำมะเมื่อมขนาดไหน 

ส่วนที่อดีตผู้อำนวยการศอฉ. เคยให้สัมภาษณ์แอ่นอกรับว่าเป็นคนสั่งการเองทั้งหมด นายกฯ ขณะนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ นั้น
ก็แล้วใครในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งจบสิ้นไป 
บอกว่าถึงนายกฯ ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหาร จะมีคำสั่งมอบหมายงานต่างๆ ให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีไปดำเนินการสิ่งใดก็ตาม

สุดท้ายแล้วนายกฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในทางกฎหมายอยู่ดี



++

คดีที่สอง
โดย คาดเชือก คาถาพัน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เวลา 11.00 น. วันที่ 26 พฤศจิกายน ศาลอาญาอ่านคำสั่งคดีชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.)
โดยระบุ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ใช้มาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นผู้ชุมนุมบริเวณถนนราช ปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนเพชรบุรี และถนนราชวิถี 
กระทั่งวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 15.00 น. นายชาญณรงค์ผู้ตายซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. นำเอายางรถยนต์ไปวางเป็นแนวบังเกอร์บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์ มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นชุดๆ 
และนายชาญณรงค์ ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย

แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรศพผู้ตายเบิกความว่า นายชาญณรงค์ถูกกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ขาดหลายแห่ง 
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจอาวุธปืนตรวจพิสูจน์แล้วยืนยันว่าเป็นหัวกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่ใช้กับปืนความเร็วสูงชนิดเอ็ม 16, เอชเค 33 และทาวอร์-ทาร์ 21 

พยานกลุ่มที่เป็นนักข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ไปถ่ายภาพและรายงานข่าวในที่เกิดเหตุเบิกความว่า กระสุนปืนถูกยิงมาจากทางที่ทหารประจำการอยู่หลังรั้วลวดหนามและกระสอบทราย 
มีการถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้


ขณะที่พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณดังกล่าวเบิกความยอมรับว่า ทำหน้าที่ที่ถนนราชปรารภตามที่ ศอฉ.ส่งไป แต่ไม่มีทหารในสังกัดยิงใส่ผู้ชุมนุม ขัดกับพยานหลักฐานรอยกระสุนปืนที่พบ 
คำเบิกความของพยานกลุ่มนี้จึงมีพิรุธขัดแย้งกับหลักฐานภาพถ่าย
จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ.

นี่คือคดีที่สองต่อจากคดีของนายพัน คำกอง ซึ่งศาลมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันไปแล้ว 
ไม่ต้องแสดงความเห็นเพิ่มเติมให้ยืดยาว 

สาธุชนทั้งหลายตรองได้เอง



++

สกัด“นองเลือด”
โดย สมิงสามผลัด
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


จะมากันเป็นล้านๆ หรือแค่หลักหมื่น
9 โมงเช้าวันนี้ก็คงได้รู้กันชัดว่าม็อบแช่แข็งของเสธ.อ้ายจะขนกันมาเท่าไหร่ 
จะมหาศาลเป็นล้านๆ จนกดดันให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้จริงหรือไม่

แต่รัฐบาลคงจะรอดูจำนวนม็อบไม่ได้ 
แค่ประเมินจากจุดประสงค์ที่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติ-ล้มรัฐบาล 
การข่าวที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดมือที่ 3 ปาระเบิดป่วนม็อบแช่แข็ง 
ให้เกิดความวุ่นวายและความสูญเสีย

แค่เหตุผลที่สุ่มเสี่ยงเกิดการนองเลือด
รัฐบาลจึงประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระยะสั้นตั้งแต่ 22-30 พ.ย. นี้ 
ในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบฯ และเขตดุสิต 
โดยครม.ย่อยร่วมหารือกับผบ.ตร. ตัวแทนกองทัพ สมช. 
จนสรุปว่าให้ใช้พ.ร.บ.มั่นคงฯ ในการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม

ที่เลือกใช้พ.ร.บ.มั่นคง เพราะเป็นกฎหมายที่เบาที่สุดในการควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง 
ไม่รุนแรงเท่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึก 
เน้นการตรวจค้น สกัด และจับกุมอาวุธเป็นหลัก  
ป้องกันไม่ให้มือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์


ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้ใช้กำลังตำรวจไม่ติดอาวุธเข้าดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุม 
ไม่ใช้ทหารพร้อมอาวุธสงคราม ไม่เอารถถังรถหุ้มเกราะ ไม่มีสไนเปอร์บนยอดตึก 
เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือด

พูดถึงความรับผิดชอบก็เลยนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เพิ่งให้สัมภาษณ์เตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เรื่องการดูแลม็อบเสธ.อ้าย ว่า
"ไม่ว่าจะเป็นมือที่ 3 ที่จะมาก่อเหตุ รัฐบาลก็ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง"

ฟังแล้วก็นึกถึงเหตุการณ์สลายม็อบแดง 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคนเมื่อปี"53
และเกิดคำถามขึ้นทันที

รัฐบาลชุดนั้นรับผิดชอบอะไรบ้าง !?



+++

นวนิยาย ปีศาจ ของท่าน เสนีย์ เสาวพงศ์ กับ ‘การอภิปราย’
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง ในข่าวสดออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 เวลา 0:01 น.


 การเผชิญหน้าระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ นางผุสดี ตามไท ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 
 แหลมคม

 อาจไม่มีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา หรือ ก้อนอิฐ ก้อนหิน เหมือนการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับมวลชนบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน
 เพราะเป็นการเผชิญด้วย “วาจา”

 หากใครติดตามการอภิปรายของ นางผุสดี ตามไท ตั้งแต่เริ่มต้นไปตามลำดับจะสัมผัสได้ถึงการไต่ระดับของอารมณ์ 
 จากเรียบๆ เรื่อยๆ เป็นการฉวัดเฉวียนด้วยวาจา

 ท่วงทำนองแบบ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อาจเปรียบได้กับการควงอีโต้เข้าสับฉับๆๆ ขณะที่ท่วงทำนองแบบ นางผุสดี ตามไท เย็นยะเยือกเหมือนใบมีดแช่ด้วยน้ำผึ้ง 
 บาดลึก เจ็บลึก


 กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดกลับเป็นท่าทีและท่วงทำนองการตอบชี้แจงอันมาจากปาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 สุภาพ นุ่มนวล ไม่ปรากฏอารมณ์แค้นเคือง
 “คำว่าภาวะความเป็นผู้นำดิฉันคงไม่ตอบในรายละเอียดเพราะอยู่ที่คนจะตีความและวัดผล คิดว่าควรดูที่ผลงานมากกว่า และภาคประชาชนจะตัดสินใจเองว่าผลงานที่ดิฉันทำมาเป็นอย่างไร
 จึงขอเวลาให้สาธารณชนได้ติดตามตรวจสอบต่อไป”

 คำน้อยก็มิได้ตอบโต้ อารมณ์แค้นเคืองแม้สักนิดก็มิได้สำแดงออก แม้จะถูกประชดประเทียดเสียดสี หยามหมิ่นอย่างหนักหนาสาหัส น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังรักษาความเยือกเย็นสุขุมไว้ได้ไม่แปรเปลี่ยน 
 เป็นผู้อาสา ประชาชนคือผู้ตัดสิน


 เห็นการชี้แจงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วทำให้บังเกิดนัยประหวัดถึงภาพของ สาย สีมา ณ งานเลี้ยงในคฤหาสน์หลังงามท่านเจ้าคุณบิดาของ รัชนี  
 รายละเอียดเรื่องนี้ต้องอ่านในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

 แน่นอน สภาพที่ สาย สีมา ถูกประณามหยามหมิ่นในงานเลี้ยงอันทรงเกียรติ ไม่แตกต่างไปจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกวาจาของ นางผุสดี ตามไท เชือดเฉือน 
 เชือดเฉือนให้ได้รับความอับอาย เชือดเฉือนให้เสียหน้า เสียศักดิ์ศรี 
 กระนั้น การตอบโต้ของ สาย สีมา ก็สุภาพอย่างยิ่ง ในทำนองเมื่อท่านถ่มน้ำลายลงมา ผมก็ทำได้แต่เพียงเช็ดน้ำลายอันเน่าเหม็นนั้นออกไป
 องอาจ สง่างาม

 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจดูเหมือนกับเป็นสมันน้อยท่ามกลางฝูงหมาป่าที่รุมล้อมเข้ามาโดยรอบ

 แต่เมื่อดำรงอยู่อย่างมีสติ เมื่อเก็บรักษาอารมณ์ไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม อาศัยข้อมูลความเป็นจริงชี้แจง อธิบาย และวางความมั่นใจอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน ก็ตีฝ่าวงล้อมไปได้

 สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง



+++

ภาระยังไม่เสร็จ
โดย จ่าบ้าน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


นอกจากการป้องกันควบคุม "ม็อบ" เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ตำรวจก็ยังวางใจไม่ได้ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีขึ้นในวันสองวันนี้
เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อมเป็นที่สนใจของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล 
ฝ่ายค้านไม่ได้มีแต่ "เสื้อเหลือง" เท่านั้น เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้มีแต่ "เสื้อแดง" เช่นกัน

การไปชุมนุมหน้ารัฐสภาระหว่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ยังมีผู้ที่สนับสนุนรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย คนนั้นจำนวนไม่น้อย ทั้งการอภิปรายยังมีการถ่ายทอดเสียงออกมานอกสภา เพราะเป็นการถ่ายทอดสดทั้งเสียงจากวิทยุ และเสียงกับภาพทางโทรทัศน์
โดยเฉพาะผู้ที่ให้ความสนใจกับการอภิปรายของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน หรือผู้มาฟังอภิปรายตอบโต้ของรัฐมนตรีบางคนที่ต้องมีมวลชนของตัวเองเป็น ประจำ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีสมาชิกสภาที่นิยมการประท้วงจะต้องประท้วงเป็นระยะ เมื่อมีผู้ประท้วงผู้อภิปราย ก็ย่อมมีผู้ประท้วงผู้ประท้วง กว่า "ท่านประธาน" จะเกลี้ยกล่อมให้ผู้ประท้วงเลิกประท้วง เพื่อให้ผู้อภิปรายทำหน้าที่ต่อไป ต้องเสียเวลาไปโข

ดังนั้น การอภิปรายและการตอบกลับของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลย่อมเหลือเวลาน้อยลงไปทุกที เพราะเวลาจากนาฬิกาจะเดินไปอย่างสม่ำ เสมอ ไม่มีใครหยุดเวลาได้ แม้นาฬิกาตรงหน้า "ท่านประธาน" ที่เจ้าหน้าที่จะหยุดเวลาซึ่งคำนวณว่า ผู้พูดอภิปรายได้กี่นาทีไว้เพื่อให้ผู้อภิปรายได้เวลาตามกำหนดก็ตาม

แม้ว่าหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือการมีสิทธิอภิปราย หรือประท้วงเมื่อเจ้าตัวยกมือขึ้นเหนือศีรษะ หรือประธานต้องให้พูดทันทีเมื่อผู้ประท้วงยืนขึ้นและยกมือขึ้นเหนือศีรษะ 
แต่การกระทำเช่นนั้น หากไม่มีเหตุอันต้องประท้วง สมาชิกผู้เป็นวิญญูชนพึงตระหนัก และเคารพต่อตัวเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ

เพราะหากประท้วงนอกเรื่องจน "ท่านประธาน" บอกให้หยุดแล้วยังไม่หยุด
ก็เป็นหน้าที่ของ ตำรวจสภาต้องเชิญตัวออกจากห้องประชุม
หรือเชิญดีๆ ยังไม่ออกก็ต้องอุ้มกันออกไปนั่นแหละ พึงสำเหนียกไว้ด้วย



+++

ต้องหาเหตุให้ชัดแจ้ง 
โดย จ่าบ้าน 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เหตุระเบิดทั้งบ้านเรือนราษฎรในจังหวัดยะลา และเหตุระเบิดโบกี้รถไฟขณะผ่านจากจังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่เป็นเรื่องที่มีการวางแผนมาอย่างดี 
ขบวนการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพัฒนาการเหี้ยมโหดขึ้นมาทุกวัน ขณะที่วันก่อการมักเป็นวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์ ซึ่งเข้าใจว่ากำลังของเจ้าหน้าที่จะมีน้อยกว่าวันทำการ
หากเป็นเช่นนั้นจริงการวางกำลังเจ้าหน้าที่ของทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีเท่ากันและเพียงพอในทุกวัน 
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่การข่าว

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมไม่ทราบได้ว่าในสถานการณ์นั้น ความลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร มีความคล่องตัวมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่ต้องผ่านภูมิประเทศเปลี่ยว เวลาในการประกอบภารกิจของผู้ก่อการร้ายย่อมกระทำได้โดยไม่มีผู้รู้เห็น ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้าน
เพราะเส้นทางรถไฟย่อมปราศจากเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอดได้ เพราะแม้ทางถนนรถยนต์เอง เจ้าหน้าที่ก็ยังมีไม่เพียงพอที่จะดูแลตรวจตราได้ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะในยามวิกาล


เรื่องของการก่อการร้ายวันนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่น่าจะประมวลได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของใคร ของผู้ก่อการร้ายที่หวังผลทางการเมือง หรือของกลุ่มอื่นที่หวังผลทางเศรษฐกิจ

เรื่องการก่อการร้ายที่หวังผลทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้นโยบายทางการเมืองนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้องให้บังเกิดผลอันเป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยฝ่ายรัฐอาจต้องเสียประโยชน์บ้าง ขณะที่ประชาชนโดยส่วนรวมต้องยอมรับได้ เช่นในหลายกรณีที่ผ่านมา

แต่ในกรณีนี้ผู้ที่เสียประโยชน์คือประชาชนทั่วไป ทางรัฐต้องเยียวยาให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่ผู้กระทำการนั้น อาจต้องมาพิจารณาว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องเยียวยา 
มิฉะนั้นการกระทำความผิดซึ่งไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางการเมืองจะได้รับนำขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ของบุคคลผู้นั้นแล้วอ้างว่าเป็นเหตุทางการเมืองอยู่เรื่อย



.