http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-27

ปริญญา: ต้นกุ้งก้ามกราม, โอกาสของกบและของนาย

.

ต้นกุ้งก้ามกราม
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 38


ถ้าผู้อ่านที่เป็นสมาชิก ส.ว. (สูงวัย) เหมือนผู้เขียน คงจำภาพถนนวิทยุที่เคยร่มรื่นด้วยต้นจามจุรีใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาคลุมถนนและทางเท้า รวมทั้งต้นจามจุรีที่ปลูกในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตประเทศต่างๆ จนเป็นที่รับรู้ว่า เป็นบริเวณที่สวยงามแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ทุกวันนี้ แม้ว่าต้นจามจุรีจะล้มหายไปบ้าง แต่ถนนวิทยุก็ยังร่มรื่นกว่าถนนสายอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยบนเกาะกลางถนนและทางเท้าทั้งสองข้าง มีการปลูกต้นไม้เสริม อย่างต้นประดู่ เป็นต้น

ในอดีตนั้น ถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ก็ล้วนแต่ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่เหมือนถนนวิทยุ อย่างเช่น ถนนราชดำเนิน ถนนสีลม ถนนสุรวงศ์ และถนนสี่พระยา เฉพาะถนนสายที่มีต้นจามจุรีใหญ่ปกคลุม ได้แก่ ถนนสาทรและถนนพญาไท 
เป็นที่น่าเสียดายว่า มีการขยายผิวจราจรเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นนั้น วิศวกรเลือกวิธีง่าย โดยการถมคลอง



สําหรับต้นจามจุรีที่แม้จะปลูกง่าย โตเร็ว แต่ก็อ่อนแอ เพียงแค่รากถูกตอน ถูกดินถมทับราก ถูกพื้นคอนกรีตปิดผิวดิน ต้นจามจุรีก็จะป่วย ทรุดโทรมตาย 
อย่างเช่น มหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนทำงานอยู่ เดิมทีมีต้นจามจุรีที่เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยโตเต็มสนามข้างหอประชุม ต่อมามีการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการปรับระดับดินและเทคอนกรีต เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน ต้นจามจุรีที่ปลูกมาหลายปี ก็ทยอยป่วยล้มตาย จนต้องรีบปลูกทดแทนใหม่

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนิสิต อาจสงสัยเหมือนกันว่าต้นจามจุรีนั้น มีชื่อเรียกขานอีกอย่างว่า ต้นก้ามปู เช่นเดียวกับที่ผู้เขียนเคยสงสัยว่าชื่อนี้มาจากไหน เพราะทั้งต้น ใบ และดอก ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับปูหรือก้ามปู  
จนเมื่อไม่นานมานี้ ไปค้นเอกสารเก่า จึงได้รู้ว่า ต้นก้ามปูนั้น เดิมทีเรียกขานว่า ต้นกุ้งก้ามกราม ด้วยรูปทรงของใบที่ประกอบด้วยใบย่อยๆ เรียงต่อกันเป็นแนว ใบบนสุดจะมีขนาดใหญ่ แล้วจึงเรียงเล็กลงมาถึงใบล่างสุดท้าย 
รูปร่างนี้จึงไปละม้ายคล้ายกับกุ้งก้ามกราม อาหารราคาแพงในปัจจุบัน 
แต่ด้วยวันเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้กุ้งก้ามกราม กร่อนมาเป็นก้ามกราม และก้ามปูในปัจจุบัน


นอกจากนี้ ยังมีคนรู้อีกว่า ต้นจามจุรีหรือกุ้งก้ามกรามนี้ เข้ามาที่กรุงเทพฯ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคสมัยที่กรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อให้เป็นนครที่เจริญก้าวหน้าเหมือนอารยประเทศ มีการเดินรถไฟ กิจการไปรษณีย์โทรเลข ระบบไฟฟ้า ประปา และสุขาภิบาล 
และที่สำคัญ คือ การตัดถนนสายต่างๆ ทั่วพระนครทำให้การตัดถนน ซึ่งเป็นทางใหม่สำหรับนครหลวง ที่คนส่วนใหญ่เดินทางด้วยเรือในแม่น้ำลำคลอง แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แนวถนนทั้งหมดที่ตัดขึ้นทั่วพระนคร ยังคงเป็นเส้นทางสำคัญ รองรับการจราจรในกรุงเทพฯ ได้จนถึงปัจจุบัน 
การตัดถนนในครั้งนั้น นอกจากจะมีการส่องกล้องให้ถนนเป็นแนวตรงแบบฝรั่งแล้วการก่อสร้างยังใช้วิธีถมดิน ซึ่งได้มาจากการขุดคลองทั้งสองฝั่งอัดแน่น ก่อนที่จะโรยหินหรืออิฐแล้วจึงบดอัดให้แน่น เพื่อความแข็งแรงทนทาน

การพัฒนาเมืองแบบนี้ นอกจากจะมีถนนเพิ่มขึ้น ยังมีคลองใหม่ๆ มากมาย ที่กลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำ เป็นเหตุให้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมเช่นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับทางเท้าบนถนนสายที่มีผู้คนสัญจร มีการตั้งเสาไฟเรียงรายเพื่อให้ความสว่างยามกลางคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยอย่างยิ่งในยุคนั้น

เช่นเดียวกับ การปลูกต้นไม้ทั้งสองฝั่งของถนน และบนเกาะกลางถนน โดยมีการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม จึงมีการนำพันธุ์ไม้ต่างประเทศเข้ามา เหมือนอย่างเช่น ต้นจามจุรี เป็นต้น

ทำให้ถนนในกรุงเทพฯ ทันสมัยและสวยงาม จนมีชื่อเสียงว่าเป็นนครหลวงที่สวยงามแห่งตะวันออกไกล



เสียดายว่า คนรุ่นหลัง ขาดทั้งความรู้และความสามารถ ที่สำคัญ มีวิสัยทัศน์สั้นแคบ จึงเลือกวิธีขยายผิวจราจรโดยการถมคลอง ตัดตอนไม้ข้างทาง นอกจากจะไม่แก้ปัญหาจราจรแล้ว บ้านเมืองยังแห้งแล้ง ร้อนเร่า ส่งผลให้จิตใจของผู้คนทุกข์ร้อน กระวนกระวายตลอดมา

ครั้นพอเปลี่ยนใจนึกถึงต้นไม้ ก็ใช้วิธีโยกย้ายต้นไม้ใหญ่มาปลูก ด้วยหวังผลให้ร่มเงาเย็นทันใจ เหมือนอาหารจานด่วน

ต้นไม้ที่ย้ายมา นอกจากพุ่มใบไม่สวยงาม ยังมีปัญหาโค่นล้มอยู่เสมอ เพราะไร้รากแก้ว



++

โอกาสของกบและของนาย
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 37


โอกาสของกบกรุงเทพฯ จะเลือกนายใกล้เข้ามาอีกครั้ง 
บรรดานายที่จะเสนอตัวให้เลือกยังไม่แน่ชัด ด้วยความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือระหว่างพรรคกับบุคคล
บรรดากบที่จะเป็นผู้เลือกนายก็ยังไม่ตื่นเต้น เพราะป้ายหาเสียงยังไม่ปรากฏ

กบกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อาจไม่สนใจเลือกนาย เพราะกรุงเทพมหานครใหญ่โตเกินนายคนไหนจะแก้ไขได้ 
แม้จะสร้างทางด่วน สร้างรถไฟลอยฟ้าและใต้ดินแล้ว รถรากลับติดขัดมากขึ้น 
แม้จะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยแล้ว กลับเพิ่มจำนวนและระเกะระกะมากขึ้น 
แม้จะจัดสรรงบประมาณปรับปรุงถนนทางเท้ามหาศาล กลับมีสภาพพังพินาศทั่วมหานคร แม้จะประกาศใช้ผังเมืองรวมแล้ว บ้านเมืองกลับสับสนปนเปมากขึ้น 
กบกรุงเทพฯ เลยจำใจและทำใจกับสภาพที่
เป็น อยู่ คือ ต่อไป



มองบ้านมองเมืองไม่อยากให้ด่วนตัดสินใจเช่นนั้น เพราะรู้ว่า นายคนก่อนๆ ที่กบกรุงเทพฯ เคยเลือก ก็ได้สร้างผลงานที่ยังหลงเหลือหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น 
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ทำให้กรุงเทพฯ สะอาดขึ้น ทุกวันนี้ ถนนหน้าบ้านผู้เขียนในเขตสาทร ก็ยังสะอาดสะอ้านตั้งแต่เช้าตรู่ 
นายพิจิตต รัตตกุล ทำให้กรุงเทพฯ เขียวขึ้น จากการระดมปลูกพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้กระถาง และไม้เลื้อย ทั่วทุกแห่งหน
ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ทำให้กรุงเทพฯ สะดวกขึ้น จากการสร้างรถไฟลอยฟ้า นำพาคนกรุงเทพฯ บางคนและนักท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วบนฟ้า ปล่อยให้คนขับรถยนต์คันแรกและคันไหนๆ จอดแช่อยู่ด้านล่าง 
หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นนายจริง แค่เสนอตัว อย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็ยังสร้างสวนสาธารณะเล็กๆ ให้กบที่อยู่แถวสุขุมวิทได้ใช้สอย


ในระหว่างนี้ อยากเสนอแนวคิดหนึ่งในการสร้างเสริมสภาพแวดล้อม เผื่อผู้เสนอตัวเป็นนายคนใหม่ยังไม่มีแผนงานใด จะได้นำไปพิจารณาเป็นนโยบายหาเสียง 
สืบเนื่องมาจาก เดิมทีกบกรุงเทพฯ ล้วนอยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถวบนดินเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ว่างและสวนสาธารณะ ดูจะไม่จำเป็นมากนัก เพราะทุกคนยังมีพื้นที่ว่างในบ้าน หรือพื้นที่ว่างหน้าบ้าน 
มาเดี๋ยวนี้ กบกรุงเทพฯ มากมายที่เลือกอยู่ในห้องชุดพักอาศัยเล็กๆ ในอาคารสูงหลายชั้น ทำให้โอกาสสัมผัสกับที่ว่างหรือธรรมชาติยากลำบาก
จึงไม่แปลกที่บรรดาศูนย์การค้าจะมีผู้คนหนาแน่นในยามเย็นและวันหยุดเสาร์อาทิตย์

เดิมทีเคยอาศัยพื้นที่เปิดโล่งในวัด แต่ปัจจุบันวัดในกรุงเทพฯ ก็เต็มไปด้วยอาคารสิ่งก่อสร้าง สำหรับพระภิกษุที่เข้ามาเล่าเรียนพระธรรม สำหรับนักเรียนที่เล่าเรียนวิชาสามัญ สำหรับคนเป็นทำพิธีคนตาย และสำหรับรถยนต์ที่อาศัยจอดชั่วคราวหรือประจำ
เช่นเดียวกับพื้นที่ว่างในโรงเรียนที่หายไป เนื่องจากจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นตามหลักสูตรหรือตามนโยบาย เช่นเดียวกับสถานที่ราชการ ที่จำนวนข้าราชการ พนักงานเพิ่มมากขึ้นตามภารกิจ

กบกรุงเทพฯ จึงโหยหาที่ว่าง จะเล็กจะใหญ่ไม่สำคัญ ขอให้อยู่ในทำเลที่ไปถึงง่าย


ขณะเดียวกับความใหญ่โตของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ทำให้เกิดระบบโครงสร้างพื้นฐานกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วนพิเศษลอยฟ้า ทางรถไฟยกระดับ และสะพานลอยที่พาดผ่านไปทั่วเมือง 
เช่นเดียวกับสายไฟแรงสูง ที่ประกอบด้วย เสาสูงที่เป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่ปักอยู่เป็นระยะ พาดผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ แม้ว่าพื้นที่ระหว่างเสา จะไม่มีการเวนคืน แต่ก็มีกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ที่ดิน 
ส่งผลให้พื้นที่ใต้โครงสร้างหรือแนวสายไฟฟ้ากลายเป็นที่ว่างกระจายอยู่ทั่วเมือง ทุกวันนี้บางพื้นที่มีผู้บุกรุกไปสร้างที่อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่น บางพื้นที่กลายเป็นที่จอดรถหรือที่กองวัสดุ
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นที่รกร้างไร้การใช้สอย กลายเป็นที่ลุ่มน้ำขังหรือทิ้งขยะ เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่วุ่นวายกับภารกิจอื่น จนไม่มีเวลาใส่ใจ หรือเจ้าหน้าที่ที่หวังผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ

จึงมีข้อเสนอว่า ถ้ากรุงเทพมหานครเจรจากับหน่วยงานหรือเอกชนเจ้าของพื้นที่ ขอเข้าไปปรับปรุงปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือจะปรับพื้นที่เพื่อใช้ในกิจการสาธารณะ อย่างเช่น ที่จอดรถตู้บริการ สนามกีฬา สถานออกกำลังกาย หรือแม้แต่สนามแข่งรถสำหรับเด็กแว้น 
แนวคิดนี้ น่าจะอยู่ในวิสัยและงบประมาณของกรุงเทพมหานครแน่ ที่สำคัญนำไปปฏิบัติได้ง่ายและเห็นเป็นรูปธรรม


อย่างน้อยน่าจะดีกว่าโครงการรถโมโนเรลที่ไม่มีทางปรากฏ หรือโครงการสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลโพ้นของนายคนปัจจุบัน ที่มีท่าว่ายังอยากจะเป็นนายต่อไป (ฮา)



.