http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-03

การเมืองดิจิตอล! Facebook-Twitter-Youtube โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

การเมืองดิจิตอล! Facebook - Twitter - Youtube
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 36


"การปฏิวัติวางแผนบนเฟสบุ๊ค จัดตั้งโดยทวิตเตอร์และกระจายเสียงถึงชาวโลกด้วยยูทูบ"
นักเคลื่อนไหวชาวอียิปต์
Tahrir Square, ไคโร



ถ้าเราติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ หรือที่เรียกว่า "อาหรับสปริง" (Arab Spring) นั้น เห็นได้ชัดถึงบทบาทของปัจจัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในทางการเมืองในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม 
ซึ่งก็คือ "เทคโนโลยีการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ไอซีที" (ICTs-Information and Communication Technologies)

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ที่เป็นดิจิตอล จนทำให้มีผู้ตั้งเป็นข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า "การปฏิวัติอียิปต์ขับเคลื่อนด้วยเฟซบุ๊ก" 
ซึ่งว่าที่จริงความสำเร็จของประชาชนอียิปต์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นนี้ก็คือการตอกย้ำถึงชัยชนะของประชาชนในตูนิเซีย ที่ใช้ระบบสารสนเทศสมัยใหม่เป็นอาวุธในการต่อสู้นั่นเอง

ในโลกสารสนเทศแบบเก่า รัฐเป็นผู้ควบคุมข่าวสาร แต่ในโลกสารสนเทศแบบใหม่ เมื่อข่าวสารกลายเป็นระบบดิจิตอลแล้ว การเป็นผู้ควบคุมในแบบเดิมนั้น เป็นไปได้ยากขึ้น 
แน่นอนว่าความเป็นไอซีทีของโลกร่วมสมัยนั้น ทำให้ข้ออ้างของรัฐในการเป็นผู้ควบคุมข่าวสารภายใต้กรอบของ "ความมั่นคงแห่งชาติ" ถูกท้าทายอย่างมาก 

และขณะเดียวกันจากผลของเทคโนโลยีเช่นนี้ ก็มิได้หมายความว่า รัฐหมดสิ้นขีดความสามารถในการควบคุมข่าวสารแต่อย่างใด
หากแต่ในความเป็นจริงก็คือ รัฐยังคงมีขีดความสามารถในการควบคุมเช่นนี้อยู่ในระดับหนึ่ง แต่การจะทำได้ รัฐอาจจำเป็นต้องปรับองค์กรและวิธีการในการกระทำเช่นนี้
เช่น รัฐสามารถปิดอินเตอร์เน็ตได้ แม้จะไม่ได้ตลอดไปก็ตาม อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถของรัฐในการต่อสู้กับเทคโนโลยีดิจิตอลนี้ยังคงมีความจำกัดอยู่มาก

ในสภาพเช่นนี้ทำให้ระบบสื่อสารดิจิตอลกลายเป็นเครื่องมือชุดใหม่ในทางการเมือง และกลายเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งในโลกศตวรรษที่ 21



ว่าที่จริงแล้ว การทำนายว่า "ข้อมูลข่าวสาร" จะกลายเป็นอาวุธในโลกสมัยใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ผลงานวิชาการของนักอนาคตวิทยาอย่าง อัลวิน ทอฟเลอร์ ก็ได้เคยนำเสนอมาแล้วว่า โลกในอนาคตจะเป็น "ยุคข้อมูลข่าวสาร" (Information Age)
และข่าวสารนี้จะกลายเป็นอาวุธทดแทนต่ออาวุธในแบบเดิม 
และก็ตามมาด้วยงานของนักคิดอีกหลายๆ คน หรือในมุมมองด้านความมั่นคงและทางทหาร ก็ยอมรับว่า สงครามในอนาคตจะมีลักษณะเป็น "สงครามข่าวสาร" (Information Warfare) อันส่งผลให้สงครามแบบเก่าที่ใช้กำลังรบของยุคอุตสาหกรรมกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
ตัวแบบจากการปฏิวัติตูนิเซียและอียิปต์ในปี 2011 เป็นอีกส่วนหนึ่งของการเติมเต็มภาพสะท้อนของผลที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการต่อสู้ทางการเมือง

ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกล่าวว่าวันใดคือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ เพราะในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและล้วนแต่ส่งผลสะเทือนต่อเหตุการณ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเสมือน "ลูกโซ่" ที่ร้อยเรียงกันไป
หากนำเหตุการณ์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของผู้นำทางการเมืองของโลกอาหรับมาเรียงกันแล้ว จะพบว่า ระบอบอำนาจนิยมในตูนิเซียสิ้นสุดด้วยการออกนอกประเทศของประธานาธิบดี เบน อาลี ในวันที่ 14 มกราคม 2011 และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 ระบอบการปกครองของประธานาธิบดีมูบารักในอียิปต์ก็สิ้นสุดลง 
ซึ่งผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงจากตูนิเซีย จนถึงอียิปต์นั้นได้ขยายตัวไปทั่วภูมิภาค ก่อนที่เดือนมกราคมจะสิ้นสุดลง การประท้วงใหญ่ในเยเมนก็เริ่มขึ้นในวันวาเลนไทน์ การประท้วงใหญ่ในบาห์เรนก็เปิดฉากขึ้นในอีกไม่กี่วันถัดมา

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ประชาชนชาวลิเบียก็ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีกาดาฟี 
และต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม การลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของประชาชนในซีเรียก็เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน... 
กระแสการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดและลุกลามไปทั่วโลกอาหรับ



ผลจากความเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวขึ้นในโลกอาหรับเช่นนี้กลายเป็นจุดสนใจใหญ่ของโลก แม้ในช่วงต้นเมื่อการประท้วงก่อตัวขึ้นได้ในตูนิเซีย แต่ก็ดูเหมือนสื่อและนักวิเคราะห์ตะวันตกจะยังมองไม่เห็นผลสะเทือนของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา 
นักวิชาการตะวันตกบางคนถึงกับมองว่า การปฏิวัติตูนิเซียที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะไม่เคลื่อนตัวไปมากกว่านั้น

เช่นเดียวกันแม้การประท้วงใหญ่จะเริ่มขึ้นที่จัตุรัส Tahrir ในวันที่ 25 มกราคม 2011 แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นางฮิลลารี คลินตัน ก็ยังประเมินว่า "รัฐบาลอียิปต์ก็ยังมีเสถียรภาพ" หรือหัวหน้าข่าวกรองอิสราเอลก็เชื่อว่า ประธานาธิบดีมูบารักจะสามารถควบคุมการชุมนุมของฝูงชนได้ และตอบด้วยความเห็นไม่แตกต่างจากรัฐบาลวอชิงตันก็คือ รัฐบาลอียิปต์ยังคงมีเสถียรภาพและจะอยู่ต่อไปได้
ความผิดพลาดของการประเมินข้างต้น ด้านหนึ่งนั้นเกิดจากความเชื่อด้วยการสร้างตัวแบบทางทฤษฎีรองรับว่าการปกครองแบบเผด็จการในอียิปต์มีลักษณะเป็นระบอบ "อำนาจนิยมที่คงทน" (durable authoritarianism) ซึ่งถือว่าเป็นตัวแบบของเผด็จการในโลกสมัยใหม่ที่ผู้ปกครองรู้จักวิธีที่จะทำให้ประชาชนเกิด "ความเชื่อง" ในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้กลุ่มพลังทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมไม่มีความเข้มแข็งจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลเผด็จการ

และในอีกด้านหนึ่งก็มักจะเป็นทัศนคติของชาวตะวันตกที่มักจะมองว่า ระบอบเผด็จการนั้นมีเสถียรภาพและสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้แรงกดดันจากสังคมภายใน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความเชื่อว่าผู้นำที่เข้มแข็งอย่างมูบารักซึ่งสามารถควบคุมกองทัพไว้ในมือได้นั้น จะสามารถควบคุมการประท้วงของฝูงชนได้ 
และที่สำคัญอีกประการก็คือ รัฐบาลอียิปต์เคยต้องประสบกับการประท้วงมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการประท้วงครั้งใดสามารถโค่นล้มรัฐบาลมูบารักได้ และกองทัพก็ไม่เคยแสดงการแตกตัวออกจากรัฐบาล หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน รัฐบาลเป็นระบอบอำนาจนิยมที่เข้มแข็งและทนทาน 
และแม้การประท้วงจะประสบความสำเร็จจนกลายเป็น "การปฏิวัติตูนิเซีย" แต่หลายๆ คนก็คิดในแบบเดิมว่า ไม่น่าจะมีอะไรเกินเลยออกไปจากตูนิเซีย


จากทัศนะเช่นนี้ พวกเขายังเชื่อในอีกมุมหนึ่งด้วยว่า การปฏิวัติ (หรือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่) จะเกิดขึ้นในตะวันออกกลางได้ จะต้องมีปัจจัยภายนอกเข้ามาขับเคลื่อน อันได้แก่ การบุกของกองทัพต่างชาติจากภายนอก 
ทัศนะในลักษณะนี้อาจจะเป็นผลผลิตของสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งสุดท้ายแล้วการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน เกิดขึ้นจากการบุกของกองทัพตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ มิใช่เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนภายใน 
นักวิเคราะห์เหล่านี้จึงมองไม่เห็นเลยว่า หากปราศจากการบุกของกองทัพจากภายนอก ในขณะที่ประชาชนภายในถูกควบคุมอย่างเข้มงวดแล้ว การปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพยังอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล และแสดงบทบาทเป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนเสมอมา ซึ่งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนจะถูก "ล้อมปราบ" ลงได้อย่างรวดเร็ว จนมองไม่เห็นว่ารัฐบาลเผด็จการจะล้มลงได้อย่างไร

แม้ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกจะยอมรับว่าระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมสร้างผลร้ายแก่สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศเหล่านั้น แต่นักวิเคราะห์เหล่านี้ก็มองว่า เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนได้อย่างไร เพราะประชาชนในตะวันออกกลางก็อยู่อย่างชินชากับสิ่งเหล่านี้มาเป็นระยะเวลานาน และไม่เคยลุกขึ้นทวงถามอย่างจริงจัง 
ว่าที่จริงก็คือ พวกเขามองไม่เห็นถึง "พลวัต" ของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นหลังการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จในตูนิเซีย 
ขณะเดียวกันก็ดูจะยังไม่มีใครมองเห็นถึงระบบสารสนเทศดิจิตอลที่กลายเป็นอาวุธของการปฏิวัติในตูนิเซียว่าจะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองอียิปต์ หรือต่อการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวม


ดังเป็นที่ทราบกันว่าการลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลมูบารักได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การลุกขึ้นสู้ในเดือนเมษายน 2008 ที่เมือง Mahalla ซึ่งเกิดจากการประท้วงของคนงานทอผ้าและปัญหาราคาอาหารแพงนั้น "ขบวนการเยาวชน 6 เมษายน" (The April 6th Youth Movement) ได้ก่อตัวขึ้นอันเป็นผลจากการประท้วงดังกล่าว 
และกลไกที่ทำให้เยาวชนรวมตัวกันเป็นขบวนการได้ก็คือ การติดต่อด้วยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และเฟซบุ๊ก 
ส่งผลให้เยาชนจากกลุ่มการเมืองปีกซ้าย ปีกเสรีนิยม และบรรดาประชาคมสิทธิมนุษยชนสามารถเชื่อมต่อกันได้ แต่ก็ดูจะไม่มีใครให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้เท่าใดนัก

ดังนั้น เมื่อการปฏิวัติในตูนีเซียประสบความสำเร็จ ก็เท่ากับการเปิดน่านฟ้าของการปฏิวัติในอียิปต์ด้วย เพราะทวิตเตอร์เริ่มทำงานด้วยข้อความที่เรียกร้องให้มีการรวมตัวกันเพื่อประชาธิปไตยที่จัตุรัส Tahrir กลางกรุงไคโรในวันที่ 25 มกรคม 2011 และเช่นเดียวกันข้อความนี้ถูกส่งผ่านกันในเฟซบุ๊กของนักเคลื่อนไหวหลายๆ คน  
ในวันที่ 17 มกราคม ซึ่งเป็นเวลา 3 วันหลังจากประธานาธิบดีตูนิเซียถูกโค่นล้ม ทนายความชาวอียิปต์วัย 52 ปีตะโกนกลางเมืองไคโรถึงราคาอาหารที่แพงอย่างมาก และจุดไฟเผาตัว... 
ชายในเมืองอเล็กซานเดรียทำเช่นเดียวกัน... 
ชายเจ้าของภัตตาคารก็เผาตัวเองหน้ารัฐสภาหลังจากทะเลาะกับเจ้าหน้าที่เรื่องราคาขนมปังที่ราคาสูงมากขึ้น 
และเรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกส่งขึ้นสู่หน้าจอของเว็บไซต์และขยายตัวออกไปในวงกว้าง

วันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ นักศึกษาหญิงสาขาบริหารธุรกิจวัย 25 ปีทำคลิปวิดีโอของเธอเองลงในยูทูบ และประกาศว่า เธอจะไปถือป้ายประท้วงที่จัตุรัส Tahrir พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้คนเข้าร่วมการประท้วงกับเธอในวันที่ 25... หลังจากคลิปของเธอปรากฏเพียงวันเดียวเท่านั้น กลุ่มบรรดานักเคลื่อนไหวทั้งหลายก็ส่งข้อความซ้ำๆ ในเฟซบุ๊กกันอย่างต่อเนื่อง... "พบกันที่ Tahrir วันที่ 25 มกราคม" 
โดยเฉพาะข้อความนี้ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ Khaled Said เยาวชนที่ถูกตำรวจตีจนเสียชีวิตที่เมืองอเล็กซานเดรีย เพราะส่งหลักฐานการคอร์รัปชั่นของตำรวจผ่านยูทูบ 
และได้กลายเป็นฐานข้อมูลของการเปิดการเรียกร้องอย่างกว้างขวาง... "เจอกันที่ Tahrir"



สําหรับนักเคลื่อนไหวเก่าแล้ว พวกเขาไม่มั่นใจว่าเสียงตอบรับเป็นจำนวนมากในเฟซบุ๊กนั้น จะปรากฏเป็นจริงเพียงใด
จนกระทั่งเมื่อคนหนุ่มสาวจำนวนมากปรากฏตัวที่จัตุรัส พร้อมๆ กับชนชั้นล่างในเมืองอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน แล้วทุกอย่างก็ปรากฏตัวผ่านยูทูบและทวิตเตอร์ พวกเขาส่วนหนึ่งสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เพราะต้องการให้โลกภายนอกรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในอียิปต์ 
นอกจากนี้ ทุกเหตุการณ์ของการชุมนุมถูกบันทึกภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ และโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กอย่างทันท่วงที อันทำให้ผู้รับสารสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วในแบบ "เวลาจริง" (real time)

แม้วันนี้อาหรับสปริงอาจจะเป็นเรื่องเก่า แต่ก็ให้ภาพชัดเจนถึงการที่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย 
ในขณะที่ยูทูบกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ของพวกเขา และเครื่องมือสื่อสารของรัฐแบบเก่ากลายเป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง จนในที่สุดกระแสสังคมโลกเปลี่ยนทิศ ระบอบอำนาจนิยมแบบคงทนในโลกอาหรับถ้าไม่ถูกโค่นล้มลง ก็ถูกสั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกชัดเจนว่าโลกปัจจุบันเป็น "การเมืองดิจิตอล"!



.