http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-15

งานวิจัยของฝรั่งที่เตือนสติคนไทย โดย พิศณุ นิลกลัด

.
บทความถัดมา - ถ้าเมืองไทยไม่มีไฟฟ้าใช้ อะไรจะเกิดขึ้น? โดย พิศณุ นิลกลัด

___________________________________________________________________________________________________

งานวิจัยของฝรั่งที่เตือนสติคนไทย
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 96


เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกาได้บังคับใช้กฎหมาย ห้ามผู้ขับขี่รถยนต์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยขณะขับรถโดยเด็ดขาด
ห้ามแม้กระทั่งใช้สมอลทอล์ก หรือสปีกเกอร์ 
รัฐวิสคอนซินเป็น 1 ใน 32 รัฐที่บังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งยังมีผลครอบคลุมไปถึงผู้ขับขี่ต่างชาติทุกวัย เพราะถือว่าอาจไม่มีความชำนาญ คุ้นเคยการขับขี่รถในอเมริกา

ดังนั้น นักท่องเที่ยวไทยที่ถือใบขับขี่สากลไปขับรถที่รัฐวิสคอนซินหรือรัฐอื่นๆ ที่บังคับใช้กฎหมายแบบเดียวกันนี้ อาจถูกจับและปรับไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หากใช้สมอลทอล์ก หรือสปีกเกอร์ขณะขับรถ
โดยค่าปรับอยู่ระหว่าง 20-40 ดอลลาร์ หรือ 600-1,200 บาท



จากงานวิจัยพบว่าการพูดคุยโทรศัพท์ขณะขับรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่พูดคุยถึง 4 เท่า 
ตามกฎหมายของรัฐส่วนใหญ่ในอเมริกา อนุญาตให้เด็กอายุ 16 ปี สอบใบขับขี่ได้ และเมื่อสอบผ่านแล้วก็ยังมีข้อห้ามหลายอย่างในการขับรถ
เช่น อนุญาตให้ขับได้ระหว่าง ตี 5 ถึง 5 ทุ่ม ยกเว้นแต่มีผู้ใหญ่อายุ 21 ปีขึ้นไปนั่งคุมอยู่ด้วยที่เบาะหน้า 
วัยรุ่นที่อเมริกาจะมีอิสระขับรถไปไหนมาไหนตามใจชอบ ก็ต่อเมื่ออายุครบ 18 ปี 
ด้วยขั้นตอนการสอบใบขับขี่ที่เข้มงวดและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของวัยรุ่นอายุ 16 ปี ที่ขับขี่รถยนต์มีจำนวนลดลงอย่างมาก
จากปี 1995 มีวัยรุ่นอายุ 16 ปี ขับรถชนเสียชีวิต 508 คน ปี 2010 จำนวนลดลงเหลือ 158 คน



ส่วนกฎหมายห้ามส่ง SMS ขณะขับรถมีผลบังคับใช้กับผู้ขับขี่ทุกวัยแทบทุกรัฐ 
การส่ง SMS หรืออ่าน SMS ขณะขับรถเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่งกว่าการขับรถขณะมึนเมา 
เพราะการส่งหรืออ่าน SMS จะทำให้ผู้ขับขี่รถเสียสมาธิ ตาไม่มองถนนอย่างน้อย 5 วินาที 
ซึ่งจากสถิติในอเมริกาเมื่อปีที่แล้วพบว่าการส่ง SMS เป็นสาเหตุรถชนถึง 1 ล้าน 3 แสนครั้ง คิดเป็น 23% ของอุบัติเหตุรถชนทั้งหมด


จากการศึกษาของสำนักงานบริหารทางหลวงและความปลอดภัยทางการจราจร (National Highway Traffic Safety Administration) ของอเมริกา พบว่า คนที่ส่ง SMS ไปด้วย ขับรถไปด้วย เสี่ยงต่อการก่ออุบัติเหตุมากกว่าที่ไม่ส่ง SMS ถึง 23 เท่า 
แม้แต่การส่ง SMS ขณะเดิน ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุชนคนอื่น หรือหกล้มหกลุก ตกบันได เพราะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาดูแต่จอโทรศัพท์ เป็นอันตรายต่อตัวเองและกับคนเดินสัญจรใกล้ตัว



ปีที่แล้ว ในอเมริกามีคน 1,152 คน ถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะการส่ง SMS หรือพูดโทรศัพท์มือถือ ทั้งจากการเป็นคนชนและถูกชน 
ที่พบเป็นประจำก็คือข้อเท้าแพลง หัวโน 
เชื่อว่าจำนวนตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ เพราะคนที่เจ็บตัวจากการใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนไม่น้อยอายที่จะบอกว่าเกิดจากอะไร


การเดินไปด้วย ส่ง SMS ไปด้วยเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิต จากการศึกษาของ Stony Brooke University ในนิวยอร์กพบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือและการส่ง SMS จะลดประสิทธิภาพในการเดินลงอย่างมาก ทำให้เดินไม่ตรงและช้าลงเมื่อเทียบกับการเดินปกติที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ

โดยทำให้เดินเป๋ไปเป๋มาจากทางเดินถึง 60% และเดินช้าลง 33% ซึ่งเป็นอันตรายมากเวลาข้ามถนน

งานวิจัยของอเมริกาเรื่องนี้เตือนสติเตือนใจคนทั้งโลก รวมทั้งคนไทยด้วย



+++

ถ้าเมืองไทยไม่มีไฟฟ้าใช้ อะไรจะเกิดขึ้น?
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 96


แม้มหาพายุแซนดี้จะพัดผ่านไปแล้วกว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่ขณะนี้คนอเมริกันอีกประมาณ 1 ล้านคน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้  

คนในบริเวณที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เช่น สเท็ตเทน ไอส์แลนด์ (Staten Island) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนิวยอร์กและเจอร์ซีย์ ชอร์ (Jersey Shore) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ อาจจะต้องรอไปอีกหนึ่งสัปดาห์กว่าจะสามารถกู้ไฟฟ้ากลับมาได้ทั้งหมด
มหาพายุแซนดี้ขึ้นฝั่งรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม เคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงสุดถึง 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้หม้อแปลงโรงงานผลิตไฟฟ้าหลายแห่งระเบิด เสาไฟฟ้าโค่น ส่งผลให้ไฟดับเป็นวงกว้างถึง 24 รัฐตั้งแต่รัฐทางตะวันออก ฟลอริด้าไปถึงรัฐเมน รวมถึงมิชิแกน และวิสคอนซิน ส่งผลกระทบกับคนในอเมริกา 8 ล้าน 2 แสนคน ไม่มีไฟฟ้าใช้


อ่านเรื่องคนนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ที่ต้องเจอปัญหาไฟดับติดต่อกันหลายวัน ทำให้เห็นถึงความลำบากของการไม่มีไฟฟ้าใช้ว่า ไม่ใช่แค่ไม่มีโทรทัศน์ดู เล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้ อาหารในตู้เย็นเสีย หรือเปิดแอร์ เปิดพัดลมไม่ได้ 
เราเคยชินกับการมีไฟฟ้าใช้จนลืมไปว่าหากไม่มีไฟฟ้าใช้ขึ้นมา สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันหลายอย่างจะไม่สามารถทำได้
เช่น


ถอนเงินจากตู้ ATM
เมื่อไฟดับ ตู้ ATM ก็ไม่ทำงาน ถอนเงินไม่ได้ 
ส่วนเคาน์เตอร์ธนาคารแม้จะมีพนักงาน แต่ก็ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งก็ใช้ไฟฟ้า ทำให้ถอนเงินไม่ได้เช่นกัน 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ขณะนี้ก็คือบริเวณที่ไฟดับ ตู้ ATM ใช้ไม่ได้
ส่วนบริเวณที่มีไฟฟ้าใช้ ตู้ ATM ใช้ได้ แต่ปรากฏว่าเงินหมดตู้เพราะคนแห่กดเงินตุนไว้ ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติคนมักจะกดเงินจากตู้ ATM เก็บไว้มากกว่าปกติ


รูดบัตรเครดิตไม่ได้ 
เมื่อไฟดับ ส่งผลให้ระบบการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตซึ่งเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ตามไปด้วย 
ทำให้ตอนนี้ ร้านค้า ร้านอาหารจำนวนมากในนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ รับแต่เงินสดในการซื้อขายเท่านั้น 
ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของคนอเมริกันที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพกเงินสดติดตัว โดยเฉลี่ยพกเงินในกระเป๋าสตางค์ 104 ดอลลาร์ หรือ 3,100 บาท เพราะคนอเมริกันใช้บัตรเครติดมากกว่าเงินสด

หากร้านค้าหรือร้านอาหารไหนแปะป้ายว่ารับเงินสดอย่างเดียว หรือ Cash Only คนอเมริกันจะหงุดหงิดมาก 
ซึ่งจากการสำรวจของบัตรเครดิต MasterCard เมื่อเดือนมีนาคม พบว่า คนอเมริกัน 73 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าใช้เงินสดเวลาจับจ่ายซื้อของน้อยกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน แล้วจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตแทน


ระบบสื่อสารล่ม 
เมื่อไฟดับ ระบบโทรศัพท์ และระบบอินเตอร์เน็ตก็ล่มไปด้วย 
แม้โทรศัพท์มือถือของเราจะมีแบตเตอรี่สำรอง 
แต่ก็โทร.ติดต่อใครไม่ได้


เติมน้ำมันที่ปั๊มไม่ได้ 
เมื่อไฟดับ ระบบหัวจ่ายของท่อปั๊มก็ไม่สามารถสูบน้ำมันจากถังเก็บน้ำมัน ปั๊มเปิดให้บริการไม่ได้ 
ซึ่งตอนนี้ปั๊มน้ำมันหลายแห่งเปิดให้บริการไม่ได้เพราะไม่มีไฟฟ้า

คนที่นิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ต้องเข้าแถวยาวหลายกิโล รอนานสี่ถึงห้าชั่วโมงเพื่อซื้อน้ำมันใส่ถังแกลลอนเพื่อไปใช้กับเครื่องปั่นไฟ
ยิ่งตอนนี้เข้าหน้าหนาว อุณหภูมิที่นิวยอร์กลดต่ำไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส บ้านเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ฮีตเตอร์ให้ความร้อนก็ไม่ทำงาน 
นอกจากนี้ การต่อแถวเข้าคิวที่นั่นก็ไม่ราบรื่นเหมือนกับที่ญี่ปุ่นในช่วงเกิดเหตุสึนามิเมื่อปีที่แล้ว
มีการแซงคิวแย่งซื้อน้ำมันทำให้มีเหตุทะเลาะวิวาทหลายแห่ง


สัญญาณจราจรไม่ทำงาน
ซึ่งเป็นอันตรายมากในการขับรถ


โรงพยาบาลต้องอพยพผู้ป่วย 
เมื่อไฟดับต้องอพยพผู้ป่วยไปอยู่โรงพยาบาลอื่นหรือสถานที่อื่นที่มีไฟฟ้าใช้ เพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่างใช้งานไม่ได้ ที่นิวยอร์ก

โรงพยาบาล เบลวิวซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1736 ต้องอพยพคนไข้ทั้งหมด 725 คน ออกจากโรงพยาบาลเพราะระบบไฟฟ้าสำรองขัดข้อง 
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากตึก 25 ชั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากต้องหามผู้ป่วยทางลงบันได เพราะลิฟต์ใช้งานไม่ได้


ยังมีความยากลำบากอีกมากมายที่มนุษย์ต้องเผชิญในกรณีไม่มีไฟฟ้าใช้ หลับตานึกถึงภัยธรรมชาติที่จะทำให้ไฟดับเป็นวงกว้างครึ่งค่อนประเทศหรือทั่วประเทศแล้วน่ากลัวครับ 

โลกของเราในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีภัยพิบัติธรรมชาติระดับรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และเชื่อกันว่าโลกยิ่งเก่าเท่าไหร่ภัยธรรมชาติก็ยิ่งหนักขึ้นเท่านั้น

ไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยมีแผนให้การศึกษาประชาชนทั้งประเทศเพื่อรับมือกับเรื่องนี้อย่างเป็นระบบมากน้อยแค่ไหน



.