http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-17

ยุทธศาสตร์..ข้าวไทย(อีกครั้ง) โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

.

บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ : ยุทธศาสตร์...ข้าวไทย(อีกครั้ง)
ในมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 15:47:20 น.
( ที่มา : คอลัมน์ กระแสทรรศน์ นสพ.มติชนรายวัน  ประจำวันศุกร์ 15 พ.ย. 2555 )


ได้มีผู้คนจำนวนมากเป็นห่วงกลัวว่าข้าวไทยจะเสียแชมป์การส่งออกให้กับเวียดนาม ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะใครๆ ก็รักชาติประเทศของตนทั้งนั้น แม้แต่กรมการข้าวเอง ตัวท่านอธิบดีก็มีท่าทีขึงขังในเรื่องนี้ ได้เห็นความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองของคนไทยแล้วก็ใจชื้นขึ้นมาอีกกองหนึ่ง ท่ามกลางความแตกแยกชนิดยากที่จะเผาผีของปวงชนชาวสยาม

อันที่จริงเรื่อง "แชมป์ส่งออกข้าว" นี้ ผมกลับเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ "ท่านประธานฯ" แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ให้ข้อคิดแก่สังคมไทยอยู่หลายครั้งว่า ไม่น่าจะต้องไปยึดติดกับตัวเลขการส่งออกประมาณปีละ 10 ล้านตัน ที่ทำให้ไทยครองอันดับ 1 ของโลกมานับได้หลายสิบปี 
นัยยะก็คือ...อย่าไปยึดติดกับตัวเลขจำนวน "ตัน" ในการส่งออก หากควรให้ความสำคัญตรง "มูลค่าเพิ่ม" จะดีกว่า

ประเด็นอันเฉียบคมนี้ต่างหากที่ผู้รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยเรื่องข้าว ควรนำไปเป็นกรอบอ้างอิงในการบริหารงานต่อไป
ตัวชี้วัดของแนวคิดนี้คือ "ผลประโยชน์โดยรวมที่ประเทศไทยจะได้รับจากธุรกิจข้าว" เป็นอย่างไร 
ขายได้ 10 ล้านตัน แต่ขาดทุน กับขายได้ 5 ล้านตัน แต่กำไรมากมาย อันไหนจะดีกว่า


และแน่นอน "กำไรมากมาย" ที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Value Creation นี้ย่อมต้องตกทอดกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดทั้งกระบวนสายแห่งธุรกิจข้าว

คนไทยจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมองเรื่องข้าวเป็นห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม (Value Added Chain) ที่มีชาวนาเป็นต้นทาง และนักธุรกิจมืออาชีพเป็นปลายทาง 
สมาชิกตลอดทั้งห่วงโซ่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันวางแผนและดำเนินการเป็น ประหนึ่งอินทรีย์ร่างเดียวกัน เพื่อสร้าง Value Creation ที่ปลายทางให้ได้ก้อนใหญ่สุด 
แล้วนำมาแบ่งปันกันตามสัดส่วนที่สมาชิกและฝ่ายในข้อต่อของห่วงโซ่ได้พากันทุ่มเทร่วมทุนร่วมแรง

ทุกฝ่ายต้องได้ผลตอบแทน (Return on Investment) ที่คุ้มค่า 
ไม่ใช่มาเบียดบังกันเอง "โง่" ถูก "ฉลาด" หลอก
"ฉลาด" ถูก "ฉลาดกว่า" บีบ ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้!


Value Creation จะมีขนาดใหญ่ได้ก็ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจข้าวตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ยันสายพันธุ์ข้าวที่ต้นน้ำ
ภายใต้แนวคิดนี้ การเป็นแชมป์ส่งออกข้าวจึงไม่มีความหมาย หาก 10 ล้านตันที่ขายไปนั้นเป็นข้าวเกรดต่ำ ไม่มีราคา 
ถ้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิเกรด A หมด ...นี่คือวิเศษสุด

ที่ดินปลูกข้าวเกรดต่ำนั้น เอาไปปลูกพืชที่ให้มูลค่าเพิ่มอย่างอื่น เช่น ยางพารา ปาล์ม ฯลฯ จะดีกว่าไหม 
พร้อมกับเน้นธุรกิจแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าว ด้วยการรับซื้อข้าวราคาถูกจากแชมป์ส่งออก (หน้าใหม่) อย่างเวียดนาม มา "เพิ่มมูลค่า" ในประเทศไทย แล้วส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง 
ทำนองเดียวกับมาเลเซียที่เลิกปลูกยางแล้วสั่งยางดิบจากไทยไปแปรรูป เมื่อเป็นเช่นนี้ การเป็นแชมป์ข้าวที่มีจำนวนตันสูงสุดก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป


ถึงเวลาที่ยุทธศาสตร์ชาติจะต้องเบนเข็มมาทางนี้กันแล้ว พลันที่วิสัยทัศน์เปลี่ยนตัวชี้วัดเปลี่ยนยุทธศาสตร์ก็ต้องปรับให้เหมาะสมอย่างชาญฉลาด 
แชมป์ส่งออกขวัญใจคนยากนั้นยกให้พม่ากับเวียดนามเขาแย่งกันไปเถิด

ว่าแต่เราต้องรีบเดินให้ถูกทาง เร่งวิจัยหาทางเพิ่มมูลค่าและเน้นแต่ข้าวที่ให้ Premium มากๆ
ชาวนาจะได้หายจนเสียที


รัฐบาลก็จะได้ไม่ต้องมาสาละวนกับการ "รับจำนำ" หรือ "ประกันราคา" จนหน้าดำคร่ำเครียด ซึ่งเป็นงาน Ad hoc มากกว่างานยุทธศาสตร์



.