http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-27

อยู่ที่คนดูทางบ้านตัดสิน โดย ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ

.
- ประเมินศึกอภิปรายฯยกแรก เอกชนให้“น้ำหนัก”แค่“หมัดฮุก” ใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อยู่ที่คนดูทางบ้านตัดสิน
โดย ทีมข่าวการเมือง . . 27 พฤศจิกายน 2555, 05:00 น.
จาก นสพ.ไทยรัฐ www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/309047


สมราคามวยคู่เอก
ในลีลาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โชว์เดี่ยวไมโครโฟนลากยาวกว่า 2 ชั่วโมงรวด ปล่อยหมัดฮุก หมัดแย็บ ชนิดที่กองเชียร์ไม่ผิดหวัง 
ไม่เสียฟอร์มมวยเก๋าเจนสังเวียนสภา

และก็ผิดหูผิดตากับมาดของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พกความมั่นอกมั่นใจ มาพร้อมกับน้ำเสียงที่ดังฟังชัดพูดจาฉะฉาน ไม่อึกๆอักๆพูดผิดพูดถูกอย่างที่ลุ้นๆกัน ขึ้นชาร์ตโชว์แผนภูมิแจกแจงวิธีบริหารจัดการ เคลียร์ข้อกล่าวหาแบบเน้นๆทีละประเด็น
ไม่มีอาการสั่นเวทีแต่อย่างใด เอาป้ายมือใหม่หัดขับออกได้

อดีตเจ้าสังเวียนจอมเก๋ากับดาวรุ่งฟอร์มสดเจอกัน ในเหลี่ยมทันกัน ตามจังหวะที่ “อภิสิทธิ์” ก็เน้น “จุดเปราะ” กระแทกหมัดตรงทิ่มรัฐบาลที่เลือกปฏิบัติ ละเว้นหน้าที่มุ่งช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริหารงานไม่โปร่งใส เอื้อผลประโยชน์ ให้พวกพ้อง โดยเฉพาะการตอกย้ำตัวละครสำคัญอย่างเจ๊ “ด” ที่เป็น “หลุมดำ” ของรัฐบาล 

ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ก็ตั้งการ์ด สวนกลับ “จุดบอด” ของอดีตรัฐบาลที่ผูกโยงกับทหาร ออกตัวเข้ามาในสถานการณ์ลำบาก จากผลพวงของการรัฐประหารปี 2549 ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้การบริหารไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญปัญหาด้านต่างประเทศที่นานาชาติไม่ยอมรับการเมืองไทย

แลกหมัดกันตามยุทธศาสตร์ชิงกระแส
แต่บรรยากาศโดยรวมถือว่าแรงอยู่ในเกม ผลประโยชน์ตกกับคนดูทางบ้าน


โดยเฉพาะปมเดิมพันโครงการ “รับจำนำข้าว” ที่ต่างฝ่ายต่างอิงฐานข้อมูลมาหักล้างกัน ในมุมของนายอภิสิทธิ์ก็ย้ำว่า นโยบายรับซื้อข้าวนำไปสู่การผูกขาดการซื้อโดยรัฐบาล ทำลายกลไกราคา และเอื้อให้เกิดการทุจริต จากหนังสือของสภาพัฒน์ที่ผ่านมาต้องใช้วงเงินสูงถึง 5.7 แสนล้านบาท และถ้าทำไปเรื่อยๆ 6 ปี จากหนี้สาธารณะจะแตะถึงรายได้ประชาชาติ ทำให้ต่อไปรัฐบาลต้องหันไปเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน และไปลดการใช้จ่ายอื่นๆในโครงการของรัฐบาล 
เบิ้ลบลัฟการขายข้าวแบบจีทูจี ก็คือ จีเจี๊ยะ จีเจ๊ง จีโจ๊ก หรือจี โกสต์ (Ghost) บริษัทผีคืนชีพ

ในมุมที่นายกฯยิ่งลักษณ์ก็ยืนยันนโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายทางเลือกและต้องการสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณสำหรับโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงมันสำปะหลัง และยางพารา รวม 4.1 แสนล้านบาท ถูกใช้ไปแล้ว 3.5 แสนล้านบาท ประเมินรายได้ที่จะเข้ารัฐ ณ สิ้นปี 56 จะมีเงินนำส่งเข้าระบบ 2.4–2.6 แสนล้านบาท 

ส่วนที่บอกว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่โปร่งใส ก็ได้มอบนโยบายให้ทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส และต้องไม่ให้ขาดทุนมากกว่าการทำนโยบายประกันราคาข้าวที่ผ่านมา ส่วนที่กังวลว่าไทยจะเสียแชมป์การส่งออกข้าว ยอมรับว่าช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยอยู่อันดับสาม แต่ราคาเฉลี่ยต่อตันนั้นสูงกว่าประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับแรก ตนเองอยากเห็นจำนวนเงินที่ได้มากกว่าจำนวนตัน

แก้ลำกันนิ่มๆในเชิงของมวยมาตรฐาน
ก็อยู่ที่คนดูทางบ้านจะเทน้ำหนัก ให้คะแนนใครมากกว่า


ท่ามกลางปรากฏการณ์แปลกใหม่ คลิปว่อนสภา พรรคประชาธิปัตย์จัดเต็มในการประจานกันด้วยหลักฐานภาพและเสียง ประกอบการอภิปรายที่ตัดแปะข้อมูลข่าวเก่าจากหน้าหนังสือพิมพ์มาร้อยเรียงความกันใหม่ ตามจังหวะประท้วงของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งแง่เอกสารตามญัตติคำร้องถอดถอนนายกฯ ไม่มีรายละเอียดเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 
ยื้อยุดฉุดกระชากกันตามเกม ไม่ให้ “เข้าเนื้อ” ลึกเกินไป

แต่ถึงที่สุด ว่ากันตามอารมณ์ที่นายกฯยิ่งลักษณ์ตอบคำถามนักข่าวในประเด็นที่มั่นใจว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านจะไม่ทำอะไร ให้สะเทือนได้ใช่หรือไม่ โดยยืนยันว่า ผลจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องอยู่ที่สมาชิกจะลงมติในวันสุดท้าย

และถือเป็นโอกาสดีของทั้งสองฝ่าย เราต้องมีกลไกในการตรวจสอบระหว่างอำนาจทางฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ถือเป็น สิ่งที่ดีที่พี่น้องประชาชนจะได้รับฟังและมีโอกาสในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกันมองว่า เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มีโอกาสชี้แจงว่าตลอดระยะเวลา 1 ปี รัฐบาลได้ทำอะไรบ้าง


เพื่อที่จะให้สมาชิกและสังคมได้รับทราบและประเมินผลเรา 
พลิกเหลี่ยมหนักๆให้เป็นแค่คิวแถลงนโยบายรัฐบาลย่อมๆ.



+++

ประเมินศึกอภิปรายฯยกแรก เอกชนให้"น้ำหนัก"แค่"หมัดฮุก"
ใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ . . updated: 26 พ.ย. 2555 เวลา 10:55:38 น.


หมายเหตุ : จากกรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ 25-27 พฤศจิกายน "มติชน" ได้รวบรวมความเห็นของภาคธุรกิจและนักวิชาการถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้



นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
"การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คงต้องรอดูสถานการณ์ 1-2 วันก่อน จึงจะประเมินได้ว่าจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นยังเป็นการเปิดประเด็นในเรื่องนโยบายที่ไม่ชัดเจน เป็นเพียงการเปิดแผล ที่ยังไม่มีการกล่าวถึงประเด็นที่สาธารณชนเฝ้าติดตาม โดยเฉพาะประเด็นโครงการรับจำนำข้าว และการใช้งบประมาณบริหารจัดการน้ำ แต่เชื่อว่าการอภิปรายจะผ่านพ้นไปด้วยดี และด้วยเสียงสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของรัฐบาลที่มีมากกว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต่อการลงคะแนนหลังการอภิปราย รวมถึงเอกชนก็ยังมีมุมมองถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับที่ยังดีอยู่"


นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
"ต้องติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเชิงลึกกว่าที่นักวิชาการและหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะความวิตกของสาธารณชนต่อเรื่องการบริหารงบประมาณ และการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการเปิดประเด็นใหม่ๆ โดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใสและการคอร์รัปชั่น หากข้อมูลไม่มีอะไรเกินกว่าที่ได้รับรู้จากที่วิพากษ์วิจารณ์ เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลต่อรัฐบาล หรือการใช้จ่ายปลายปีนี้"

ส่วนเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นหลังจากนี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ตัวแปร คือ ตัวแปรภายใน ที่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการนโยบายและการบริหารความขัดแย้งที่ไม่ได้กระทบต่อการทำธุรกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน แม้ภายในประเทศจะเกิดเหตุการณ์ชุมนุม ที่เคยรุนแรงในปี 2553 แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนั้น ในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ 12% และขยายตัว 10.3% ในไตรมาส 2
ตรงข้ามกับตัวแปรภายนอก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งวิกฤตซับไพรม์ หรือ วิกฤตหนี้ยุโรป ก็มีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนใหม่ๆ หรือกำลังซื้อทั่วโลกลดลง มีผลมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแก้ไขได้ยากกว่า
คงไม่อาจระบุได้ว่า ปลายปีนี้หรือปีหน้าจะขยายตัวได้เท่าไหร่ ต้องรอดูในเรื่องการบริหารจัดการภายใน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการดูแลการนำเข้าสินค้าอย่าให้สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 3-4% และไม่เกิดปัจจัยอะไรที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น"


นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย 
"สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า จะมีผลอย่างไรต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ เพราะเป็นการเริ่มต้นของการอภิปราย คงต้องดูเนื้อหาและข้อมูลของฝ่ายค้าน รวมถึงการชี้แจงของรัฐบาลกับเรื่องต่างๆ ที่ถูกอภิปราย ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังว่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี"


นายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า)
"การอภิปรายครั้งนี้ ไม่น่ามีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ทำงานมาประมาณ 1 ปีเท่านั้น"


นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคที ซีมิโก้ จำกัด 
"ต้องติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่าจะมีประเด็นที่มีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งการอภิปรายวันแรกยังไม่มีผลอะไรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือตลาดทุน ทั้งนี้ สิ่งที่ต่างชาติให้ความสำคัญคือ เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลได้ ไม่มีเหตุปัจจัยใดที่น่ากังวล"


นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. ทิสโก้ จำกัด 
"ต้องดูเนื้อหาการอภิปรายของฝ่ายค้านว่า มีข้อมูลอะไรที่มีความสำคัญหรือมีเนื้อหาหนักแน่นพอ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ แต่ถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีอะไรที่เป็นข้อมูลใหม่ ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อรัฐบาลหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นความเสี่ยงต่อตลาดทุน 
อย่างไรก็ตามแนวโน้มความเคลื่อนไหวของดัชนีในวันที่26พฤศจิกายน ต้องติดตามเนื้อหาการอภิปรายก่อน ซึ่งจากภาพรวมในวันแรก เชื่อว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และคงจะไม่มีข้อมูลอะไรที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลได้"


นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์  นายกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) 
"ไม่กังวลต่อสถานการณ์อภิปรายในรัฐสภา เพราะถือว่าเป็นกลไกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือนำข้อมูลมานำเสนอในรัฐสภา เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้น จึงมองว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่น่าจะมีความกังวลจนกระทบภาคการท่องเที่ยว และเห็นว่าสถานการณ์หลังจากนี้ น่าจะเอื้อต่อการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น ซึ่งตัวนักท่องเที่ยวเองจะไม่มีความกังวล เพราะการชุมนุมยุติแล้ว จึงไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรเป็นปัจจัยลบต่อภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม สทท.คาดว่า การท่องเที่ยวไทยปีนี้น่าจะสดใส น่าจะมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 20.5 ล้านคน เติบโตจากปีก่อนประมาณ 7-8% โดยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเติบโตกว่า 17.7% แล้ว ส่วนช่วงสองเดือนที่เหลือน่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเดียวกันด้วย"


นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว(แอตต้า)
"เรื่องการอภิปรายถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามระบอบรัฐสภาจึงไม่น่ามีความกังวลตราบใดที่การอภิปรายยังอยู่ในกติกาและอยู่ในสภาไม่ลุกลามออกมาอยู่ในที่สาธารณะ เพราะหากมีการชุมนุมประท้วงนอกรัฐสภา ถือเป็นสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวกังวลมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สมาคมคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวผ่านสมาชิกแอตต้าปีนี้ น่าจะมีจำนวนถึง 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เพราะแนวโน้มตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการใช้บริการผ่านทัวร์เพิ่มขึ้น 9.68% หรือเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวทัวร์จากจีนเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 7.4 แสนคน หรือตามด้วยรัสเซีย 3.08 แสนคน"



.