http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-24

ไปเที่ยวกัน โดย คำ ผกา

.

ไปเที่ยวกัน
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1684 หน้า 89


ใครเขาจะแช่แข็งประเทศอะไรก็ปล่อยๆเขาไปก่อนนะ เกมการเมืองไทยช่วงสาม-สี่ปีมานี้ ทำเหมือนปิดหน้าเล่น แต่เอาเข้าจริงๆ เปิดหน้าออกมากันไม่เกรงใจใครจนชาวบ้านร้านช่องรู้ทันไปหมด
สำหรับฉันมันสะใจดีพิลึกที่วันนี้สนามการเมืองไม่ได้ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มอีกต่อไป แต่ "ประชาชน" หรือที่บรรดา"ชนชั้นนำ" เรียกว่า "ชาวบ้าน" ออกมายึดพื้นที่ทางการเมืองและเข้าประชิดกลุ่มอำนาจเก่าจนหน้ากากที่ใส่ไว้หลุดลุ่ย "เอาไม่อยู่" กันไปหมด

คนจะออกลูกเอย คนจะตายเอย-โบราณว่า สองอย่างนี้ห้ามไม่ได้ นะฮัฟ
ว่าแล้วแอบแพ็กกระเป๋าหนีคนอ่านไปเที่ยวเกาหลี


เหตุที่ไปเพราะเพื่อนชื่อ อ.เวียงรัฐ เนติโพธิ-ต้องขอเท้าความสักนิดว่า อ.เวียงรัฐ กับฉันนั้น ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขในฐานะนักเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโตจนสนิทกันดั่งญาติ 
ระหว่างเรียน เรามีเพื่อนนักเรียนต่างชาติที่ปัจจุบันได้ดิบได้ดีเป็นโปรเฟสเซอร์ เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ นานา ทริปเกาหลีของเราก็เริ่มด้วยอย่างนี้ 
เพื่อนชาวเกาหลีที่ปัจจุบันได้ดิบได้ดีเป็นโปรเฟสเซอร์ เชิญ อ.เวียงรัฐไปบรรยายประวัติศาสตร์การเมืองไทยเบื้องต้นให้นักศึกษาปริญญาตรีในคลาสฟัง เมื่อฉันรู้ก็อาศัยความหน้าด้าน ขอตามไปด้วย อ้างว่าจะไปเช็กข้อมูลประวัติศาสตร์ของ อ.เวียงรัฐว่า "แม่น" หรือเปล่า-ว่าไปนั่น

จากการนั่งฟังการบรรยายของ อ.เวียงรัฐ 3 ชั่วโมง ฉันตกใจมากว่า เออหนอ ทำไมการพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยให้คนต่างชาติฟังมันช่าง "ง่าย" ไม่ต้องทำให้ซับซ้อน กำกวม ไม่ต้องคิดคำเป็น "นัย" ให้เข้าใจเอาเอง ไม่ต้องใช้ทักษะของการพูดถึงสิ่งหนึ่ง เพื่อให้ผู้ฟังโยงได้ถึงอีกสิ่งหนึ่ง ทุกอย่างพูดได้ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม วกวน เต็มไปด้วยรหัสนัย อย่างที่เราพูดอยู่ในประเทศ 
และโดยไม่รู้ตัว ฉันคิดว่าตลอดชีวิตของการเกิดมาเป็นคนไทย เราได้พัฒนาทักษะของการ "ซ่อนนัย" เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ไทย จนทักษะนี้ฝังอยู่ในยีน สามารถส่งทอดยีนนี้สู่ลูกหลานในอนาคตได้

จบการบรรยาย ฉันคิดนักศึกษาในคลาสนี้น่าจะรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยดีกว่า ชัดเจนกว่า 80% ของเด็กไทยในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ



มหาวิทยาลัยที่เราไปชื่อ Khung Hee เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ มีแคมปัสอยู่บนเนินเขา ทัศนียภาพของมหาวิทยาลัยในฤดูใบไม้ร่วงสวยงามจนตื่นตะลึง อาคารเรียนซ่อนตัวอยู่ในพงไม้ชวนฝันเอามากๆ 
นักศึกษาแต่ละคนก็หน้าตาเป็น "เด็กเรียน" ดูมีชีวิตชีวา ดูเป็น "ผู้ใหญ่" มีวุฒิภาวะอันเนื่องมาจากการไม่ต้องกักขังร่างกายของตนเองเอาไว้ในชุดนักศึกษาที่เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่สติปัญญาของพลเมืองให้เชื่องและเซื่องซึม อย่างที่เป็นในประเทศไทยที่ใช้ "เด็ก" เป็น Agent ของการปกป้องอุดมการณ์อนุรักษนิยม ด้วยการสวมเครื่องแบบให้ตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาตรี
จนในที่สุด Agents เหล่านี้ก็กลายมาเป็นมนุษย์พันธุ์ "คลั่ง" ที่ยอมตายได้เพื่อปกป้องกระบวนการกดขี่ทางปัญญานี้เอาไว้


แม้มหาวิทยาลัยจะอยู่บนเนินเขา แม้เกาหลีจะผลิตรถยนต์เองได้และส่งขายทั่วโลก แม้เกาหลีจะผลิตโทรศัพท์มือถือ สามาร์ทโฟนเป็นอันดับต้นของโลกแต่ในมหาวิทยาลัย ไม่มีนักศึกษาที่ขับรถมาเรียนเลย! 
ระหว่างนั่งฟังบรรยาย ไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู! อย่าว่าแต่จะเปิดเสียงเรียกเข้า
เหตุที่นักศึกษาไม่ขับรถมาเรียนคงไม่ใช่เพราะนักศึกษากาหลี "ทุนนิยม" "บริโภคนิยม" น้อยกว่านักศึกษาไทย แต่เป็นเพราะระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสุดๆ ของเกาหลีต่างหาก

ต้อง ป.ล. ไว้อีกด้วยว่า รายได้ของคนเกาหลีนั้นไม่ต่างจากคนญี่ปุ่นนัก แต่ราคาของการใช้บริการขนส่งมวลชนถูกกว่าญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ส่วนการที่นักศึกษาเกาหลีไม่เอาโทรศัพท์ออกมา "เล่น" ระหว่างการบรรยายของอาจารย์ก็คงไม่มีปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรมอะไรมาอธิบายนอกจากจะบอกว่า "เขามีมารยาทดีกว่า" เท่านั้น


ตึกที่เป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัยคือ "หอประชุมอเนกประสงค์" ที่เลียนแบบมาจากโบสถ์แห่งหนึ่งในเบลเยี่ยม เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากอีกคือ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยชอบโบสถ์แห่งนี้มาก เลยก็อบปี้มาสร้างไว้ในแคมปัสเสียเลย แล้วมันก็ยืนเด่นเป็นสง่าของแคมปัสมาหลายทศวรรษ
แน่นอนไม่มีชาวเกาหลีคนใดออกมาตีอกชกหัว เวทนาต่อความเป็น "เกาหลี" ว่ากำลังถูกย่ำยี่จากวัฒนธรรมตะวันตกหรือก่นด่าผู้สร้างตึกนี้ว่าช่างไม่รัก ไม่ภูมิใจในความเป็นเกาหลี 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้อีกว่ามีแต่ "ชาติ" ที่มีปมด้อยในตนเองอย่างเหลือแสนเท่านั้นที่จะกลายเป็นคน "ขี้อวด" กลายมาเป็นพวก "ชอบโชว์" หรือ Exhibisionist จะสร้างตึกราม อาคารสถานที่ก็ต้องกำหนดสเป๊กข้อแรกว่าต้อง "ต้องแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์แห่งความเป็น..."

ขออีกหนึ่ง ป.ล. สนามบินสุวรรณภูมิที่รูปทรงอาคารภายนอกออกจะดูทันสมัย ร่วมสมัย (จนเกือบล้าสมัยเมื่อเทียบกับบริบทโลก) แต่ภายในอาคารกลับเต็มไปด้วย "นิทรรศการ" จัด "โชว์" ความเป็น "ไทย" อันฟูมฟาย เวิ่นเว้อ ไม่ฟังก์ชั่น ทั้งยังกีดขวางการจราจรในสนามบินโดยไม่จำเป็น 
และเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่า เรากำลังจัด "On the bad taste : World Exhibition" ให้นักเดินทางทั่วโลกดู



ก่อนไปถึงกรุงโซล ฉันก็นึกภาพบ้านเมืองนี้ไม่ค่อยออกเหมือนกันเพราะไม่เคยดูซีรี่ส์เกาหลี ไม่ฟังเพลงป๊อปเกาหลี (อันที่จริงฉันก็ไม่รู้จักหนัง ฟังเพลงของทุกชาติ ทุกภาษานั่นแหละ-เป็นพวกในสันดานของคนชอบกลนัก โดยแท้) รู้จักอยู่อย่างเดียวคืออาหารเกาหลี แล้วก็ชอบมากๆ ด้วย  เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์แรกแห่งการไปเกาหลีคือไป "กิน"
ฝันมานานแล้วว่าอยากกินอาหารเกาหลีที่เกาหลี อยากกินเนื้อย่างที่มีกิมจิสามสิบชนิดเสิร์ฟมาเป็นเครื่องเคียงแล้วเสิร์ฟไม่อั้น
กรี๊ดดด แค่คิดก็น้ำลายไหลทั้งยามหลับและยามตื่น
นอกจากอาหารเกาหลีแล้วฉันไม่คิดว่าจะประทับใจอะไรในเกาหลี เครื่องสำอางเกาหลีก็เฉยๆ แฟชั่นเกาหลีก็งั้นๆ
วัด วังก็คงสวยสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ความทันสมัย ตึกรามบ้านช่องก็คงสู้เซี่ยงไฮ้ไม่ได้อีกนั่นแหละ ความเป็นคอสโมโพลิแทนหรือก็น่าจะแพ้ฮ่องกง 

ทั้งหมดนี้คิดเอง เออเอง


แต่พอเท้าแตะสนามบินเท่านั้นแหละ "แม่เจ้าโว้ย" ฉันเหมือนคนบ้านนอกที่ไม่เคยไปไหน (จริงๆ) เห็นสนามบินก็ตกตะลึงแล้ว อันดับแรกคือ ไม่มี Bad Taste World Exhibition ให้เห็น 
สนามบินทันสมัย ไม่มีป้ายระเกะระกะ Logistic ในสนามบินไหลลื่น เข้าใจง่าย รวดเร็ว กระเป๋ามาเร็ว แอร์พอร์ตบัสออกทุกครึ่งชั่วโมง 
ทั้งหมดที่อยากจะบอกคือ นี่คือกลิ่นอายของการ "บริหารจัดการ" แบบประเทศโลกที่หนึ่ง

ออกจากสนามบินเรายังตะลึงได้อีกกับถนนที่ "สวย" งงไหมว่า ถนนที่สวยเป็นอย่างไร ถนนที่สวยคือ ถนนที่เราเห็นแล้วเรารู้ว่ามันมาจากการ "คิด" อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่คิด ทำกันวันต่อวัน สร้างสายนี้มาชนกับสายนั้น ตัดกับแยกนี้ ติดสะพานลอยโน้นไปต่อไม่ได้ ฯลฯ ไม่มีสายไฟระโยงระยาง ไม่มีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ยืนเกาะตามโคมไฟข้างถนน
และที่สำคัญ (เกาหลีชนะฮ่องกงไปเลย) คือไม่มีคัตเอาต์โฆษณาที่สูงใหญ่กว่าตึกสามชั้น
ไม่ทัศนะอุจาดของการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ไม่ว่าจะเป็นป้าย ป่าวให้คนทำความดี ป้ายโตไปไม่โกง ป้ายโฆษณาผลงานของตนของนักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ป้ายคำขวัญ และอีกสารพัดป้ายที่เหมือนจะตะโกนใส่หน้าเราทุกเมื่อเชื่อวันว่า "เห็นชั้นหรือเปล่า?"

ห็นทัศนียภาพของเมืองอื่นที่ไม่ต้องใช้ป้ายมา "ตะโกน" ใส่หน้าประชาชนแล้วฉันเศร้าใจมาก เมื่อไหร่สังคมไทยจะเข้าใจว่า เราไม่อาจปกครองคนได้ด้วย "ป้าย" ด้วย "ภาพ" ด้วย "คำขวัญ" ด้วยคำ "โฆษณา" 
การคอร์รัปชั่นไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการติดป้ายด่านักการเมืองโกงไปทั่วเมือง ไม่นับว่าคนทำป้ายนี้ ก็อาจจะกินหัวคิวค่างบฯ ทำป้ายไปแล้ว

ฉันคิดว่าคนไทยติดนิสัยมักง่าย บ้านสกปรกแทนที่จะกวาด แต่กลับแก้ปัญหาด้วยการไปเขียนป้ายแปะไว้หน้าบ้านว่า "บ้านนี้สะอาด"
ทำแล้วก็สบายว่า เออ กูแก้ปัญหาแระ




จะว่าไปประเทศเกาหลีก็บอบช้ำจากรัฐบาลเผด็จการทหารมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s ไม่ต่างจากไทย อยู่กับการรัฐประหาร การลุกขึ้นสู้ของประชาชน นักศึกษา กรรมกร การปราบ การฆ่า โดยเฉพาะการปราบขบวนการประชาชนที่เมืองกวงจูในทศวรรษที่ 1980s 
ต้นทศวรรษที่ 1990s นี้เองที่จะพูดได้ว่า ขบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีทางที่ทหารจะลุกขึ้นมาทำรัฐประหารได้อีก และหลักการประชาธิปไตยถือเป็นหลักสำคัญสูงสุดของประเทศถูกลงหลักปักฐานในจิตสำนึกของพลเมือง (แต่เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น) 
เพื่อนคนเกาหลียังถามฉันว่า "ที่เมืองไทยทำไมพูดเรื่องคนนั้นคนนี้จะทำรัฐประหารช่วงนั้นช่วงนี้ พูดกันเป็นเรื่องธรรมดา ราวกับพูดเรื่องกินข้าว ซื้อของ พูดโดยไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง อย่าว่าแต่ยอมรับ มันควรเป็นสิ่งที่ไม่แม้แต่จะคิดถึง" 
ฟังแล้วก็อึ้ง-ในสังคมประชาธิปไตย ใครก็ตามที่พูดถึงการรัฐประหารหรือการทำรัฐประหารนั้น มีสถานะเหมือนคนที่บอกว่า กำลังจะไปฆ่าคน เหมือนการประกาศว่าจะไปทำในสิ่งที่ "ไม่มีใครในโลกนี้จะยอมรับได้" เหมือนการประกาศว่าจะทำในสิ่งที่น่าละอายที่สุด รับไม่ได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก

แต่เหตุไฉน คนไทย สื่อมวลชน จึงปฏิบัติต่อการกระทำรัฐประหารราวกับเป็นการกระทำที่มี "เกียรติ" หรืออย่างน้อยเป็นการกระทำที่ "ไม่แปลกอะไร" แถมยังสามารถเคารพนบไหว้คนที่พูดเช่นนั้นอย่างเป็นปกติ
สำหรับฉันนี่ช่างเป็นความผิดปกติอันน่าสะพรึงกลัวของสังคมนี้


ศุกร์หน้าจะพาเที่ยวกรุงโซลต่อ และขอบอกว่า ความประทับใจใดๆ ที่มีต่อกรุงโซล ฉันขอยกคุณงามความดีให้กับขบวนการนักศึกษา กรรมกร ประชาชนเกาหลีที่ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการจนได้ประชาธิปไตยมาในที่สุด



.