http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-24

เผด็จการเบ็ดเสร็จ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

เผด็จการเบ็ดเสร็จ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1684 หน้า 30


คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยามว่า ไม่มีสัญญาณชัดเจนว่ากลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยได้เคลื่อนไหวอย่างสอดประสานกัน จึงไม่น่าจะนำไปสู่การพลิกกระดานทางการเมือง แต่ก็ประมาทไม่ได้
ผมเห็นด้วยกับคุณณัฐวุฒิทุกประการ โดยเฉพาะเรื่องประมาทไม่ได้นี่แหละครับ แต่ผมไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรแก่การเคลื่อนไหวของตัวตลกเหล่านี้หรอกครับ ที่ไม่ควรประมาทเป็นเรื่องใหญ่กว่านี้ คือแนวโน้มในประเทศไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอาจนำเราไปสู่เผด็จการรูปแบบใหม่ที่ค่อนไปทางเผด็จการเบ็ดเสร็จ

ผมขออธิบายก่อนว่า เผด็จการธรรมดาที่คนไทยเคยชินมาหลายร้อยปี กับเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นแตกต่างกัน เผด็จการธรรมดาคือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้ายึดอำนาจรัฐและปิดพื้นที่แก่ศัตรูทางการเมืองของตนอย่างเด็ดขาด แล้วดำเนินกิจการบ้านเมืองไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือส่วนรวม หรือปนๆ กันไป โดยมีกลุ่มอำนาจต่างๆ หนุนหลัง
ส่วนเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากมวลชน และพยายามกำกับชีวิตประจำวันของคน หรือที่จริงกำกับสมองคือวิธีคิดของมวลชนไปด้วย (จนทำให้นายพลผู้ดีเยอรมันยอมฟังคำสั่งของนายสิบฮิตเลอร์อย่างเซื่องๆ)

ครับ เมืองไทยยังไม่เคยมีเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีเงื่อนไขหลายอย่างที่จะทำให้เมืองไทยมีเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ยาก
เอาง่ายๆ เพียงเราไม่สามารถ "ล้างผลาญ" (liquidate) ประชาชนลงจำนวนมากๆ ได้ อย่างที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว (และอื่นๆ) หรือสตาลินทำกับประชาชนนับล้านในไซบีเรีย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ประชากรของเราไม่มากพอที่จะ depopulate หรือลดทอนประชากรลงได้ขนาดนั้น แม้แต่ฮิตเลอร์ก็ล้างผลาญชาวยิวขนานใหญ่ได้ต่อเมื่อขยายอาณาจักรไรช์ไปกว้างขวางแล้วเท่านั้น
ฉะนั้น โอกาสที่เมืองไทยจะกลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเกิดขึ้นได้ยาก (มากกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้นเสียอีก) แต่มีบางลักษณะเด่นของเผด็จการเบ็ดเสร็จที่อาจเป็นไปได้ในเมืองไทย



ผมอาศัยงานของนักคิดการเมืองคนหนึ่งคือ Hannah Arendt ในเรื่อง The Origins of Totalitarianism (และประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งไม่ช่วยให้ผมฉลาดขึ้นเท่าไรนัก) เพื่ออธิบายแนวโน้มทางการเมืองที่น่าหวาดเสียวในเมืองไทย ซึ่งได้เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาประมาณ 1 ทศวรรษแล้ว และด้วยเหตุดังนั้นแนวโน้มนี้จึงไม่จำกัดอยู่แต่การเคลื่อนไหวของเสื้อเหลือง แต่รวมเสื้อแดง, เสื้อหลากสี และตัวตลกในองค์การพิทักษ์สยามด้วย และอันที่จริงก็รวมไปถึง คุณทักษิณ ชินวัตร หรือแนวโน้มทางการเมืองตั้งแต่ก่อนหน้าคุณทักษิณด้วยซ้ำ

ทฤษฎีกำเนิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณอาเรนท์น่าตื่นเต้นแก่ผมมาก คือเริ่มจากการที่รัฐชาติสูญเสียฐานความผูกพันของชนชั้นลง
ในยุโรป สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้รัฐที่มีฐานอยู่บนชนชั้นแตกสลายไปหมด ผู้คนไม่รู้สึกผูกพันอยู่กับชนชั้นอีกต่อไป กลายเป็น "มวลชน" หรือปัจเจกบุคคลอิสระที่ไม่ผูกพันกับอะไรอีกเลย

สองสามทศวรรษที่ผ่านมาในเมืองไทย ผมคิดว่าความผูกพันตามจารีตที่เคยมีมาถูกบ่อนทำลายลงด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น ครอบครัวเปลี่ยนไปจากความผูกพันที่แผ่ไปตามสายสัมพันธ์ของครอบครัวขยายกลายเป็นความผูกพันเฉพาะในครอบครัวเดี่ยว และแม้แต่ความผูกพันในครอบครัวเดี่ยวก็หาได้แน่นแฟ้นนัก อย่างที่พูดกันอยู่เสมอถึงความอ่อนแอของครอบครัวไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงความผูกพันที่คนไทยเคยมีกับวัด (อุปัชฌาย์), กับเพื่อนฝูง, (ถ้าคนเราต้องย้ายที่ทำกินจะให้ผูกพันกันไปจนตายอย่างแต่ก่อนได้อย่างไร) กับครูบาอาจารย์, กับหมู่บ้าน, กับโรงเรียนเก่า, ฯลฯ 
ถ้าเราจะผูกพันกับอะไรสักอย่าง ก็ดูจะห่างไกลตัวเราจนสุดกู่ทั้งนั้น เช่น ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ หรือพระนเรศวร, คุณหญิงโม หรือปราสาทพระวิหาร เป็นต้น 

"มวลชน" กำลังเกิดหรือได้เกิดในเมืองไทยไปแล้ว
ความเป็นปัจเจกในมวลชนที่กว้างขวาง ทำให้ชีวิตอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และหาความหมายของชีวิตไม่เจอ จึงต้องไขว่คว้าสิ่งที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นมาเกาะยึดเอาไว้
และที่สำคัญกว่านั้นก็คือปัจเจกผู้อ้างว้างเหล่านี้โหยหาการจัดตั้งทางการเมือง เพราะการจัดตั้งให้ความหมายแก่ชีวิตได้เด่นชัดกว่า เช่น ต้องเข้าร่วมชุมนุม ต้องสวมเสื้อสีและรู้สึกเป็นปึกแผ่นร่วมกับคนสวมเสื้อสีเดียวกัน ชีวิตกำลังใช้ไปเพื่อต่อสู้ให้แก่สิ่งที่ถือว่ามีคุณค่าสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นชาติศาสน์กษัตริย์ หรือความยุติธรรมและประชาธิปไตยเป็นต้น

หลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ชุมนุมทั้งเหลืองและแดงโหยหาความเป็นชุมชน ซึ่งผมเห็นด้วยนะครับ แต่ไม่ใช่ชุมชนในความหมายเดิมตามจารีต แต่เป็นชุมชนใหม่ที่เกาะเกี่ยวกันด้วย "อุดมการณ์" ไม่ใช่ชุมชนที่เกาะเกี่ยวกันด้วยระบบเครือญาติและการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างในอดีต
ความเคลื่อนไหวในแนวเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีมวลชนที่โหยหาการจัดตั้งทางการเมืองเช่นนี้แหละครับ ความโหยหานี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ นะครับ คุณอาเรนท์อธิบายว่า มวลชนที่พากันเข้าไปร่วมใน "ม็อบ" (ซึ่งในทัศนะของคุณอาเรนท์คือกลุ่มคนที่ถูกปลุกเร้าขึ้นมาเป็นผู้นำของมวลชนอีกทีหนึ่ง) หรือว่าที่จริงส่วนใหญ่ของมวลชน หาได้เป็นผู้สนใจการเมืองมาก่อน เขาคือคนที่ทำมาหากินไปวันๆ ท่ามกลางความรู้สึกอ้างว้างไร้ค่าในชีวิต และถูกทอดทิ้ง 
ถูกทอดทิ้งจากนักการเมือง, จากข้าราชการ, จากสื่อ, จากทุกอย่างที่ทำให้เขามีตัวตนขึ้นมา คุณอาเรนท์ประกาศเลยว่า เมื่อชนชั้นในยุโรปล่มสลาย พรรคการเมืองก็ล่มสลายไปด้วย เพราะพรรคการเมืองไม่ได้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดอีกต่อไป ในเมืองไทยพรรคการเมืองไม่เคยเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดตลอดมา ข้าราชการไม่เคยเห็นหน้าของมวลชน ทั้งสองพวกนี้ออกกฎเกณฑ์ที่กระทบชีวิตของมวลชนซึ่งไม่เคยมีปากเสียงไปต่อรอง 
สื่อสนใจแต่นักการเมืองและข้าราชการ หรือบุคคลที่ทำอะไรผิดปรกติ เช่น ฆ่าข่มขืน หรือปีนเสาไฟฟ้า




พูดกันอยู่เสมอว่า คนที่มาชุมนุมร่วมกับเสื้อแดงล้วนเป็นผู้ไร้เดียงสาทางการเมือง ซึ่งก็จริงในแง่หนึ่งคือคนเหล่านี้ไม่เคยสนใจการเมืองมากพอที่จะไปร่วมชุมนุมกับใครมาก่อน
แต่คิดอีกที คุณหญิงคุณนายอาซ้ออาเจ๊ที่ไปร่วมกับเสื้อเหลืองก็เหมือนกัน ต่างก็เป็นการชุมนุมของคนที่ถูกทอดทิ้งเหมือนกัน
และในทางตรงกันข้าม สมัชชาคนจนก็ตาม, กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าประจวบก็ตาม, กลุ่มปฏิรูปที่ดินก็ตาม ฯลฯ ต่างวางเฉย ไม่ร่วมกับสีอะไรทั้งนั้น เพราะนั่นคือคนที่สนใจการเมืองและจัดตั้งทางการเมืองของตนเองมาแล้ว เป็นพวกปลุกไม่ขึ้นครับ

คิดย้อนกลับไปให้นาน คนที่พากันเอาผ้าขะม้ามาพันพุงของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, คุณบรรหาร ศิลปอาชา, คุณชวน หลีกภัย และ คุณทักษิณ ชินวัตร ก็คือคนที่ถูกทอดทิ้งเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมประท้วงอะไรกับเขาในตอนนั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับคนเหล่านี้ก็คือ เขามุ่งเข้าหา "ผู้นำ" ไม่ได้จัดตั้งทางการเมืองเอง ไม่ได้วิ่งเข้าไปกดดันพรรคการเมือง ไม่ได้สร้างสื่อของตนเองขึ้นต่อรอง ฯลฯ "ผู้นำ" คือตัวแทนของเขา อย่างเดียวกับที่ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล, คุณจำลอง ศรีเมือง, คุณจตุพร พรหมพันธุ์, และ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นตัวแทนที่เข้าถึงหัวใจอันอ้างว้างเพราะถูกทอดทิ้งของเขา

การที่สังคมเปลี่ยนจากกลุ่มหรือชนชั้นไปสู่สังคมปัจเจกอย่างเดียว ไม่อาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ ปัจเจกในสังคมเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการที่ทำให้กลายเป็นอณูเสียก่อน (atomization) คือเป็นหน่วยย่อยๆ ที่ไม่มีความผูกพันต่อกันหรือต่ออะไรอื่น จึงตัดสินใจอะไรไม่ได้ หมุนไปโดยขาดเจตนารมณ์ของตนเอง ขึ้นอยู่กับม็อบและผู้นำม็อบจะผลักให้หมุนไป

ปัจเจกที่อ้างว้างโดดเดี่ยว, รู้สึกตัวว่าถูกทอดทิ้ง, ไม่สนใจกับส่วนรวม (เช่น การเมือง), และที่สำคัญคือความอึดอัดกับสภาวะที่เป็นอยู่อย่างยิ่ง คือกลุ่มที่พร้อมจะถูกเปลี่ยนให้เป็นอณู
ในโซเวียตสมัยสตาลิน ความผูกพันในเครือญาติหรือเพื่อนฝูงก็อาจนำอันตรายมาได้ ใครที่ถูกรัฐกล่าวหาว่าเป็นปรปักษ์ทางชนชั้น จะไม่มีญาติหรือเพื่อนออกมาช่วย เพราะพวกเขารีบปฏิเสธความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันเสียทันที ใน 1984 แม้แต่ความรักก็เป็นอันตรายต่อรัฐ เพราะเกิดความผูกพันระหว่างอณูสองอณู ที่ไม่สัมพันธ์กับความผูกพันกับรัฐ อณูกำลังจะกลายเป็นปัจเจก

ผมได้ยินเรื่องผัวเมีย, พ่อลูก, แม่ลูก, พี่น้อง ฯลฯ ขัดใจกันอย่างรุนแรงเพราะฝ่ายหนึ่งแดงฝ่ายหนึ่งเหลืองมาหลายครั้ง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงแก่หลายคนในเมืองไทย แม้แต่การคบหาเป็นเพื่อนก็มักเอาสีมาเป็นฐานของความสัมพันธ์ แสดงความเป็นอณูของคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยนะครับ 
แช่แข็งประเทศไทย ก็เพื่อตัดความผูกพันกับอะไรที่ดูเป็นสากลและหลากหลายลง



มาถึงด้านอุดมการณ์ของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ จะว่าไปก็แทบไม่มีหรือไม่เป็นสาระอะไรทั้งนั้น เพราะอณูถูกดึงมารวมกันเป็นม็อบไม่ใช่ด้วยพลังของอุดมการณ์แต่อย่างไร ส่วนใหญ่อุดมการณ์ของเผด็จการเบ็ดเสร็จมักนำเอาแนวคิดที่เฟื่องฟูในยุคสมัยนั้นๆ มาทอนให้ง่าย (และโง่ไปพร้อมกัน) เช่น ปลุกปั่นให้เกลียดชาติพันธุ์ยิว, นำเอาทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินมาทอนลงให้เหลือเพียงการต่อสู้ระหว่างชนชั้น, ชาตินิยมเหลือเพียงปราสาทพระวิหาร, การเมืองไทยพัฒนาไม่ได้เพราะนักการเมืองเลว, หรือ "เรารักในหลวง" ซึ่งไม่ให้ทางออกอะไรแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกปัจจุบันเลย

ม็อบของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้คิดจะเข้าไปถืออำนาจทางการเมือง (อย่างที่ผู้นำม็อบทุกสีประกาศตรงกัน-ส่วนจะจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะเขาเป็นตัวแทนของม็อบซึ่งมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ) เขาคือคนที่ไม่เคยใส่ใจกับการเมืองมาก่อน และจำนวนมากของเขาเป็นคนชั้นกลางจากระดับสูงถึงระดับล่าง ซึ่งเบื่อหน่ายการเมือง เห็นว่าการเมืองมีแต่เรื่องทะเลาะกัน เสียเวลาทำมาหากิน และบ่อนทำลายการทำมาหากินของเขาด้วย ฉะนั้น หากสามารถขจัดกวาดล้างนักการเมืองไปได้แล้ว เขาก็อยากกลับบ้านไปทำมาหากิน ปล่อยให้ "คนดี" ได้บริหารบ้านเมืองไปโดยเขาไม่เกี่ยวข้องด้วย

ผมคิดว่า อะไรต่อมิอะไรที่เกิดในเมืองไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา อาจนำเราไปสู่ประชาธิปไตยก็ได้ นำเราไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างเต็มขั้นได้ทั้งสองอย่าง และล้วนมีอุปสรรคมากมายทั้งสองอย่าง แต่จะดำรงอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ นั้นคงเป็นไปไม่ได้

ที่ผมเห็นว่าไม่ควรประมาทก็ด้วยเหตุนี้



.