http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-12

หลงความเป็นไทย ลืมความเป็นลาว โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

.
บทความก่อนหน้า - ไหว้เป็นของแขกอินเดีย ไทยรับมาเหมือนคนอื่นๆ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลงความเป็นไทย ลืมความเป็นลาว
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com
ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2555 หน้า 20
( จาก www.sujitwongthes.com/2012/11/siam12112555/ )


          ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย และผู้พิทักษ์ความเป็นไทย จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ลดท่าทียกตนข่มประเทศเพื่อนบ้าน

          คนไทยส่วนมากจึงยังถูกครอบงำด้วยท่าทีอย่างนั้น แม้คนบางกลุ่มบางรุ่นพยายามทำความเข้าใจ แล้วทำใจยอมรับความจริง แต่ยังหลงเหลือซากเก่าตกค้าง เมื่อไม่ทันระวังย่อมพลั้งปากไปบ้าง

          ดังกรณีนักร้องสาวไทยถูกเข้าใจว่าเหยียดลาว แม้พยายามขอโทษขอโพยกันแล้วก็ตาม ซึ่งควรเห็นใจที่พลั้งเผลอไปโดยไม่เจตนา แต่สะท้อนสำนึกทางสังคมวัฒนธรรมที่มีในไทยได้อย่างชัดเจน

          ลาวเป็นกระแสหลักของความเป็นไทย(บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ผู้มีอำนาจไทยใช้แทนคนไทยทั่วประเทศ)

          เพราะมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าบรรพชนลาว(ที่จะเป็นบรรพชนไทย)เคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำโขง ลงตามเส้นทางการค้าภายใน มาอยู่ปะปนกับกลุ่มชนมอญ-เขมรบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แล้วรับวัฒนธรรมมอญ-เขมร เลยเกิดสำนึกใหม่เรียกตัวเองด้วยชื่อใหม่ว่าไทย แล้วทิ้งความเป็นลาว

          ลาว แปลว่า คน แต่ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป หากหมายถึงคนผู้เป็นนาย, ผู้มีอำนาจ, ผู้เป็นใหญ่ แล้วในที่สุดก็เป็นคำนำหน้านามกษัตริย์และผู้ที่เคารพ

          ต่อมามีคำอื่นมาใช้เรียกนำหน้านามกษัตริย์แทนคำว่าลาว เช่น ขุน, ท้าว, พญา, ฯลฯ นับแต่นั้นคำว่าลาวจึงค่อยๆเสียความหมายอันสูงสุดไป แล้วเลื่อนต่ำลงเป็นคำสรรพนามที่หมายถึง ท่าน

          ลาว มีตำนานกำเนิดจากน้ำเต้าปุง ร่วมกับคนอื่นๆ รวม 5 พวก แล้วแยกย้ายกระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ โดยยังเป็นเครือญาติกันทั้งมวล

          คำว่าลาว เคยใช้เป็นคำนำหน้านามกษัตริย์ เริ่มจากลาวจก มีในลำดับกษัตริย์วงศ์หิรัญนครเงินยาง สืบถึงพญามังราย เชียงใหม่ เช่น (ปู่เจ้า) ลาวจก, ลาวเก๊าแก้ว, ฯลฯ จนถึงลาวมิง, ลาวเมือง, ลาวเมง

          ลูกลาวเมง คือพญามังราย ที่สร้างเมืองเชียงใหม่

          คนยุคอยุธยารู้จักพวกลาวในอีก 2 ชื่อ ว่าไทยใหญ่กับไทยน้อย แล้วบอกยืนยันว่าตัวเองเป็นไทยน้อย ก็คือลาว

          ไทยน้อย เป็นชื่อที่คนในอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาวพุงขาว หรือชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมลาวบริเวณสองฝั่งโขง ทั้งฝั่งขวา (คือบริเวณอีสานในประเทศไทยทุกวันนี้) และฝั่งซ้าย (คือดินแดนลาวปัจจุบัน) ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกถึงกลุ่มชาติพันธุ์พูดตระกูลไทย-ลาว ลุ่มน้ำดำ-แดง (ในเวียดนาม), กวางสี-กวางตุ้ง (ในจีน)

          ลาวสองฝั่งโขง ถูกเรียกสมัยหลังว่า ลาวพุงขาว เพราะไม่สักลายตามตัวเหมือนพวกไทยใหญ่ คนพวกนี้ออกเสียงตรงตามรูปอักษร คือ ท เป็น ท และ พ เป็น พ

          ไทยใหญ่ เป็นชื่อที่คนในอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาวพุงดำ บริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนเหนือ (ในพม่า) ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำพรหมบุตร (ในอัสสัมของอินเดีย)

          ลาวลุ่มน้ำสาละวิน ถูกเรียกสมัยหลังว่า ลาวพุงดำ เพราะสักลายด้วยหมึกสีคล้ำตามตัวตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงแข้ง (ขา) คนพวกนี้ออกเสียง ท เป็น ต และ พ เป็น ป

          ไทยใหญ่ยังถูกเรียกจากชาติพันธุ์อื่นๆอย่างดูถูกเหยียดหยามเป็นสัตว์เลื้อยคลานว่า เงี้ยว แปลว่า งู (เหมือนคำว่า เงือก, งึม)

          ไทย, คนไทย, ความเป็นไทย, และลักษณะไทย แรกมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1700 พร้อมกับวิวัฒนาการอักษรไทย บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางแถบอโยธยา-ละโว้-สุพรรณภูมิ โดยพวกลาวที่เคลื่อนย้ายลงมาอยู่กับมอญและเขมร รับวัฒนธรรมมอญ-เขมร แล้วเรียกตัวเองด้วยคำใหม่ว่าไทย

          แต่ที่เรียกตนเองว่าไทย เพิ่งพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุด อยู่ในวรรณคดียุคต้นอยุธยาเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ หลัง พ.ศ. 2000

          นับแต่นั้นก็หลงความเป็นไทย ลืมความเป็นลาว สืบจนบัดนี้

          นักร้องสาวคนนั้น เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ทำให้เธอพลั้งปากตามความเคยชินที่ถูกครอบงำมานานแล้ว

          แนวทางแก้ไขไม่ใช่กล่าวโทษใครเป็นคนๆ (เช่น โทษนักร้องสาวคนนั้น) แต่ต้องชำระประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยทั้งระบบ ที่ไม่รู้จักและไม่เข้าใจบรรพชนคนไทยของตัวเองจริงๆว่าสายแหรกสำคัญสายหนึ่งคือลาว



+++

ไหว้เป็นของแขกอินเดีย ไทยรับมาเหมือนคนอื่นๆ
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com
ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับประจำวันพุธที่ 17 ตุลาคม 2555
( จาก www.sujitwongthes.com/2012/10/siam17102555/ )


          ไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปในสุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์ จนถึงยุคอยุธยา ยังไม่เคยพบหลักฐานว่ามีประเพณียกมือไหว้ทักทายกันเหมือนปัจจุบัน มีแต่ประนมมือไหว้พระ ไม่ไหว้คน

          สมัยหลังๆเมื่อไหว้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้อาวุโส เพื่อแสดงความนอบน้อมแล้ว บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่รับไหว้ยังให้พรว่า “เออ ไหว้พระเถอะลูกหลานเอ๊ย” แสดงว่าไหว้มีไว้สำหรับพระ

          การแสดงความนอบน้อมทักทายของคนพื้นเมืองดั้งเดิมในสุวรรณภูมิ คือยกมือข้างใดข้างหนึ่งเสมอหู หรือทำท่าคล้ายป้องหู ซึ่งมีร่องรอยเหลืออยู่ในกิริยาก่อนจะว่าเพลงโต้ตอบของบรรดาหมอลำลาวและหมอเพลงโคราช แม้กระทั่งแม่เพลงพ่อเพลงทั่วไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยก่อนๆ

          กิริยาอาการยกมือป้องหู ไม่เกี่ยวกับการเทสต์เสียง หรือทดสอบเสียงตัวเอง อย่างที่เคยมีผู้บอกให้เชื่อต่อๆกันมา เพราะไม่ได้ผลอย่างนั้น

          ไหว้ เป็นวัฒนธรรมฮินดูชมพูทวีป (อินเดีย) เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นที่รับรู้ทั่วโลก (แต่อาจยกเว้นไทยก็ได้ เหมือนเรื่องอื่นๆอีกมาก)

          นักปราชญ์ราชบัณฑิตไทยแต่ก่อนๆหลายท่าน อธิบายคำบาลี-สันสกฤตว่า อัญชลิ หมายถึงการไหว้ (ด้วยมือทั้งสองอันประนม) มีในบทสวดมนต์ตอนสังฆคุณว่า อัญชลีกรณีโย แปลว่า (พระสงฆ์) เป็นผู้ควรได้รับการประนมมือไหว้

          ไหว้ คืออัญชลีในศาสนาพราหมณ์-พุทธ เมื่ออาศัยเรือพ่อค้าจากชมพูทวีปมาถึงสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ราวหลัง พ.ศ. 1000 ก็แพร่หลายสู่ตระกูลคนชั้นนำพื้นเมือง ซึ่งมีทั้งตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไทย-ลาว, และอื่นๆ ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่เคล้าคละปะปนกันทั่วไป ไม่แยกเชื้อชาติ เพราะไม่มีจริงในโลก และยุคนั้นไม่มีรัฐชาติ

          ทุกตระกูลรับประเพณีการไหว้จากศาสนาพราหมณ์-พุทธ ในคราวเดียวกัน ไม่มีกลุ่มนี้รับก่อน กลุ่มนั้นรับหลัง (ถ้าจะเคยมี ก็ไม่มีหลักฐาน)

          ตระกูลคนชั้นนำพื้นเมืองยกย่องศาสนาพราหมณ์-พุทธ เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองให้บ้านเมืองยุคนั้นเติบโตขึ้นเป็นรัฐ

          วัฒนธรรมการไหว้อัญชลี ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองด้วย เพื่อควบคุมอย่างเคร่งครัดต่อผู้อยู่ใต้อำนาจ เช่น ขุนนาง, ข้าราชการ, ฯลฯ โดยกำหนดให้มีแบบแผนการไหว้กราบและหมอบกราบคนชั้นนำซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า

          คนชั้นนำไทยไม่เกิน 100 ปีมานี้ กำหนดประเพณีประดิษฐ์คิดสร้างใหม่ ให้การไหว้มีช่วงชั้นต่างๆด้วยระดับก้มหัวและประนมมือสูงแค่ไหนๆ เพื่อให้ยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจเหนือ

          แล้วทำให้แพร่หลายไปสู่ระดับล่าง ก็โดยผ่านระบบโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้มีประกวดกิริยามารยาท ว่าใครจะยอมจำนนได้เนียนกว่ากัน

          เพิ่งได้อ่านการไหว้เป็นจุดขายสำคัญในปัจจุบัน ( ' คิด' นิตยสารแจกฟรีของ TCDC ตุลาคม 2555) ทำให้เพิ่งรู้ว่าทุกวันนี้ตลาดมีอำนาจเหนือสุด

          จึงไม่ว่าชาติไหนๆในสังกัดพราหมณ์-พุทธ ที่เคยรับการไหว้จากแขกอินเดียมาด้วยกัน ก็พากันไหว้เพื่อการตลาดทั้งนั้น เพราะขายได้ขายดี



.