http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-03

ความรุนแรงในนามศาสนา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ความรุนแรงในนามศาสนา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 30


ข่าวการฆ่าเผาบ้านเผาเรือนชาวโรฮิงยานำความประหลาดใจมาแก่ชาวพุทธบางกลุ่ม เหตุใด "ศาสนาแห่งสันติ" จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้พุทธศาสนิกใช้ความรุนแรงได้ถึงเพียงนี้ อันที่จริงการใช้ความรุนแรงของชาวพุทธ-ต่อชาวพุทธด้วยกันเองหรือต่างศาสนิก-ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐยะไข่ แต่เกิดขึ้นตลอดมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วในหลายสังคมพุทธ

เสียงเรียกร้องของชาวพุทธให้ขับไล่ชาวมลายูมุสลิมที่ไม่ภักดีต่อรัฐไทยออกไปเสีย... หรือแม้แต่ฆ่าล้างผลาญให้หมด เป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่สุด ผู้สั่งยิงประชาชนชาวพุทธในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม, 6 ตุลาคม, พฤษภามหาโหด และการสังหารหมู่ในปี 2553 ก็ล้วนประกาศตัวเป็นชาวพุทธทั้งสิ้น หรือย้อนถอยหลังไปเมื่อเราประกาศสงครามกับฝ่ายประเทศอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้นำคณะสงฆ์ไทยบางรูปเทศนาว่า การสงคราม (หรือการฆ่า) เพื่อผดุงธรรมะไว้เป็นสิ่งที่ทำได้ในพุทธศาสนา ไม่ต่างอะไรจากคำสอนที่ว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

ผมควรกล่าวด้วยว่า ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของศาสนิกต่างๆ ทุกศาสนา ไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนิก มนุษย์ไม่ว่าจะถือศาสนาอะไร เลือกใช้ความรุนแรงเนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม อันเป็นเงื่อนไขเฉพาะในกาละและเทศะหนึ่งๆ เสมอ บางทีความรุนแรงอาจไม่เกี่ยวอะไรกับคำสอนทางศาสนาเลย เพียงแต่ว่าศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือ (ที่มักมีประสิทธิภาพเสียด้วย) ในการเลือกใช้ความรุนแรงก็เป็นได้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธได้ยากเหมือนกันว่า การที่ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าการใช้ความรุนแรงได้ ก็เพราะมีคำสอนหรือการตีความคำสอนบางอย่าง ที่เอื้อให้ใช้ความรุนแรงอยู่ในศาสนาด้วย


ความเชื่อที่ขยายไปทั่วโลกว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันตินั้น ที่จริงแล้วหาได้มีในคัมภีร์โบราณใดๆ แต่มาจากข้อเขียนของพระภิกษุลังกาชื่อ Walpola Rahula ในหนังสือชื่อ What the Buddha Taught ซึ่งแพร่หลายในโลกตะวันตก และทำให้ความคิดนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เพราะสอดคล้องกับลัทธิ "บุรพทิศนิยม" ของตะวันตกซึ่งกำลังต่อต้านสงครามอยู่พอดี
แต่เมื่อกลับไปตรวจสอบในประวัติศาสตร์ของชาวพุทธในหลายสังคม โดยเฉพาะสังคมพุทธมหายาน เรากลับพบการใช้ความรุนแรงในนามของพุทธศาสนาอยู่มากทีเดียว

ในญี่ปุ่นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10-16 วัดในหลายนิกายมี "ทหารพระ" อยู่ประจำ ยกกำลังออกฆ่าฟันกันกับศัตรูเป็นสงครามกลางเมืองอยู่บ่อยๆ เพื่อประท้วงโชกุนที่ออกคำสั่งอันทำให้วัดเสียประโยชน์บ้าง เพื่อแย่งที่ดินกัลปนากับวัดอื่นบ้าง เพื่อข่มวัดต่างนิกายบ้าง ฯลฯ "ทหารพระ" เป็นกองกำลังที่ก่อความวุ่นวายในสังคมญี่ปุ่นอย่างหนัก และหาใครกำราบไม่ได้
ว่ากันว่า จักรพรรดิชิรากาวาซึ่งมีอานุภาพมากถึงกับดำรัสว่า ในโลกนี้มีอยู่สามสิ่งที่พ้นจากการบังคับควบคุม หนึ่งคือลูกเต๋าที่ทอดลงไปแล้ว สองคือน้ำล้นจากแม่น้ำกาโม (ในเกียวโต) และพระ (ทหาร) จากภูเขาฮิเอะ (ใกล้กรุงเกียวโต)
แม้ในช่วงที่ญี่ปุ่นทำสงครามรุกรานเพื่อนบ้านนับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา พระและนักคิดในพุทธศาสนาของญี่ปุ่นต่างก็เขียนและพูดสนับสนุนรัฐบาลกันอย่างแข็งขัน ถือว่าการสละชีพเพื่อชาติในสงครามคือการผดุงความเป็นธรรมให้ดำรงอยู่ในโลกนี้ (ไม่ต่างจากไทย ที่เจิมรถถังและประพรมพระพุทธมนต์แก่ทหารที่กำลังจะออกศึก) 

ในทิเบต เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จดจำกันต่อมาก็คือการสังหารพระราชาชื่อ (ค) ลังดาร์มาโดยพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์ 
ในจีนและเกาหลีก็คงมีอะไรที่คล้ายๆ กันอย่างนี้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า กองทหารของจักรพรรดิไทวู (คริสต์ศตวรรษที่ 5) ได้ค้นพบคลังอาวุธขนาดใหญ่ ประกอบด้วยธนู, ลูกธนู, หอก และโล่ ในวัดที่ฉางอาน



ฐานทางปรัชญาศาสนาของมหายานที่เอื้อต่อการฆ่านั้น สรุปสั้นๆ ก็คือ พระวินัยแบบเถรวาทถูกลดความสำคัญในมหายานลงเรื่อยๆ ต่อมาได้พัฒนาสุดยอดพระวินัยของตนเอง เรียกว่า "โพธิสัตวศีล" ขึ้น รวมทั้งบัญญัติอะไรอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากพระวินัยของเถรวาทหลายอย่าง เช่น ผู้อาบัติปาราชิก อาจกลับมีความบริสุทธิ์ได้หากสำนึกผิดและอุปสมบทใหม่ หัวใจสำคัญของพระวินัยมหายานก็คือใจ ไม่ใช่การกระทำ การกระทำใดๆ จะผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว (ทวิลักษณะที่มหายานปฏิเสธ แต่ขอใช้ในที่นี้เพื่อให้เข้าใจง่าย) ไม่ได้อยู่ที่ทำหรือไม่ทำ แต่อยู่ที่ใจในขณะที่ทำต่างหาก
แบบเดียวกับนิทานเซนที่ท่านพุทธทาสแปลมานั่นแหละครับ เช่น พระอุ้มผู้หญิงข้ามลำธารได้ เพราะใจไม่ได้นึกเสียวไปตามเนื้อตัวผู้หญิง และเป็นความจำเป็นที่ไม่มีทางเลือกอื่น

แม้แต่การฆ่านั้นเองก็มิได้เป็นความชั่วในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ ที่แวดล้อมการกระทำนั้น เช่น ฆ่าด้วยความกรุณาอย่างบริสุทธิ์ใจ ก็หาได้เป็นความชั่วไม่ ชาดกเรื่องหนึ่งของมหายานเล่าถึงพระมหาการุณิกะ (พระโพธิสัตว์-หากพูดแบบเถรวาท) ในชาติหนึ่งซึ่งเป็นกัปตันเรือ ได้ตัดสินใจสังหารโจรซึ่งลักลอบปะปนมากับผู้โดยสาร เพราะล่วงรู้ในวาระจิตของโจรว่า ตั้งใจจะฆ่าผู้โดยสารทั้ง 500 คนเพื่อชิงทรัพย์ หากบอกผู้โดยสารอื่น พวกเขาก็จะโกรธแค้นและฆ่าโจรนั้นด้วยความโกรธความเกลียด อันเป็นบาปติดตัวต่อไป ในขณะเดียวกันโจรก็จะตายไปในวาระจิตที่ตระหนกกลัวนำไปสู่ทุคติ ดังนั้นจึงตัดสินใจฆ่าโจรนั้นเอง โดยเจริญความกรุณาให้เต็มจิตใจตนเองว่า หากไม่ฆ่าแล้วโจรนั้นก็จะไปบังเกิดในนรกชั่วกาลนาน เพราะเหล่าผู้โดยสารล้วนเป็นมนุษย์ที่กำลังอยู่บนหนทางไปสู่พุทธะทั้งสิ้น
สูตรหนึ่งในมหายานเรียกศัตรูผู้ไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาว่า "อิจฉันติกะ" กล่าวว่า บุคคลย่อมก่อบาปฆาตกรรมเมื่อฆ่ามดตัวหนึ่ง แต่บุคคลหาได้ก่อบาปใดๆ ในการฆ่าอิจฉันติกะ

สรุปก็คือ การฆ่าด้วยความกรุณานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ในมหายาน (ปรากฏในสูตรมหายานที่ชื่อ "อุปายเกาศัลยสูตร"-อุปายโกศลสูตร) แม้แต่ท่านดะไลลามะองค์ปัจจุบันยังดำรัสความว่า หากผู้ใดประกอบกรรมชั่วอย่างที่ไม่มีใครห้ามได้ และเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น การฆ่าบุคคลผู้นั้นด้วยความกรุณา "โดยทฤษฎี" แล้วย่อมเป็นการชอบธรรม
(แต่ท่านก็แนะนำว่าอย่าใช้วิธีนี้ดีกว่า เพราะการฆ่าด้วยความกรุณานั้นมักไม่เป็นที่ยอมรับ)


ตัวอย่างที่ยกมานั้นเป็นส่วนน้อยนิดเดียว ยกมากกว่านี้อีกได้แยะ แต่ก็เป็นสายมหายานหมด ทำให้บางคนอาจนึกว่าในสังคมเถรวาทไม่มีการตีความศาสนาที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงเลย ที่จริงแล้วไม่ใช่ แม้ไม่มีตัวคัมภีร์ให้อ้างได้เหมือนมหายาน แต่สังคมเถรวาทก็ไม่ปลอดจากการใช้ความรุนแรงในนามของศาสนา ไม่ต่างจากมหายาน

พม่าซึ่งตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น เชื่อว่าพระพุทธศาสนาในอยุธยาเสื่อมโทรมจนเหมือนสิ้นพระศาสนาไปแล้ว ส่วนหนึ่งของการทำสงครามกับอยุธยา (อย่างน้อยที่ประกาศให้เป็นที่รู้ทั่วกัน) ก็คือ สถาปนาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องกลับขึ้นมาใหม่ และหากหลักฐานไทยพอเชื่อได้ว่า พม่าได้เผาวัดวาอารามและลอกทองจากพระพุทธรูปกลับไปเป็นจริง ก็มิใช่เพราะพม่าเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่อย่างใด ตรงกันข้ามพม่าไม่ได้คิดว่าพระพุทธรูปหรือวัดในอยุธยาเป็นพระพุทธรูปหรือวัดในพระพุทธศาสนาต่างหาก 
ตรงกันข้าม การกระทำของพม่าทำให้ฝ่ายไทยเห็นว่าพม่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้น ระบอบปกครองของไทยหลังจากนั้น ก็อาศัยความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี่แหละ เป็นเครื่องมือปลุกระดมให้คนไทยทำสงครามกับพม่า เพื่อทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรต่อไป

ในรัชกาลที่สอง มีผู้เผาตัวตายเป็นพุทธบูชาในโบสถ์วิหาร จนมีผู้ปั้นรูปขึ้นบูชา ที่ไม่มีหลักฐานในกรณีอื่นๆ ก็น่าจะมีอีก

ผู้เคยบวชในอีสานท่านหนึ่ง เคยบอกผมว่า ในอีสานมีประเพณี "คว่ำบาตร" คือพระคว่ำบาตรไม่ยอมรับบิณฑบาตจากบางคนหรือบางครอบครัว เพราะถือว่าคนเหล่านั้นประพฤติไม่เหมาะสมที่จะรับเป็นปฏิคาหกได้ ดูเหมือนไม่รุนแรง 
แต่ลองคิดถึงการดูถูกเหยียดหยามของเพื่อนบ้านเนื่องจากโดน "คว่ำบาตร" คงเดือดร้อนน่าดู



ผมขอย้ำว่า ในทุกศาสนาล้วนมีการใช้ความรุนแรงในนามของศาสนาทั้งสิ้น ไม่ใช่เฉพาะศาสนาอิสลามอย่างที่บางคน (ทั้งไทยและฝรั่ง) มีทัศนคติดังกล่าวต่ออิสลาม 
บางคนอธิบายว่า การใช้ความรุนแรงในศาสนานั้นเกิดขึ้นจากความเสื่อมทางศาสนาในสังคมนั้นๆ แต่การพูดอย่างนี้เท่ากับบอกว่า ศาสนาเกิดขึ้นจากบุคคล (ศาสดา) ที่เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากเงื่อนไขทางสังคม แต่ศาสดาอย่างนั้นคงไม่มีในโลก เพราะทุกศาสนาจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่มาถึงทุกวันนี้ได้ ย่อมต้องสอดคล้องกับสังคมในมิติใดมิติหนึ่งอยู่ด้วย และด้วยเหตุดังนั้น ศาสนาทุกศาสนาจึงเปลี่ยนแปลงไม่อยู่นิ่งทั้งนั้น เพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลงย่อมกระทบถึงศาสนา (ทั้งคำสอนและวัตรปฏิบัติ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การตีความศาสนาให้ไม่เอื้อต่อความรุนแรงจึงเป็นเพียงส่วนเดียว ของความพยายามที่จะระงับการใช้ความรุนแรงในโลก อีกส่วนหนึ่งคือเงื่อนไขทางสังคมซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้การใช้ความรุนแรงให้ประโยชน์น้อยที่สุด หรือไม่ได้เลย

ผมคิดว่าหากเราย้อนกลับไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชาวยะไข่ที่นับถือพุทธกับชาวโรฮิงยาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นร้อยปีให้ดี เราก็จะเข้าใจทางเลือกแห่งความรุนแรงที่ชาวพุทธในยะไข่เลือกในครั้งนี้ เข้าใจนะครับไม่ใช่เห็นด้วยสนับสนุน แต่เข้าใจนี้สำคัญกว่าการประณาม เพราะจะทำให้เห็นหนทางแก้ไขได้ 



.