http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-24

ม็อบแช่แข็ง 2 วันจบ มีอะไรตามมา? ลุงกับปู่..สู้กันอีกกี่ปี?..ใครชนะ? โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
- มีลิ้งค์นักข่าวการ์เดียนในม็อบ  https://twitter.com/katehodal/status/272254786345267200/photo/1

__________________________________________________________________________________

ม็อบแช่แข็ง 2 วันจบ มีอะไรตามมา? ลุงกับปู่...สู้กันอีกกี่ปี?...ใครชนะ?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1684 หน้า 20


สํานวน...แช่แข็งประเทศไทย...คือการสะท้อนความรู้สึกของกลุ่มอำนาจเก่าที่บอกว่า พวกเขาไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย
ไม่ใช่เพราะเลือกตั้งก็แพ้ทุกครั้ง แต่คนเหล่านี้ ต้องการเป็นผู้ปกครองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง 
ในอดีตบางคนแม้มีโอกาสชนะเลือกตั้งก็ไม่ลงสมัคร

คนกลุ่มนี้เคยเผยแพร่โมเดลการปกครองแบบ เลือกเอง ตั้งเอง ปกครองเอง ผ่านเอกสารที่เขียนว่า ลับมาก แต่แจกไปทั่ว ว่าจะให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 250 คน เลือก ครม. 31 คนขึ้นมาปกครอง โดยไม่ให้ประชาชนเลือก 

เมื่อเทียบกับโลกเมืองไทยเป็นเพียงบ่อน้ำเล็กๆ แต่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนคงไม่ปล่อยให้ใครทำอะไรกับประเทศตามใจชอบได้ เมื่อมีคนคิดไม่เหมือนกันก็ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่

ประเทศไทยมาไกลถึงระดับ 3G คงไม่มีคนไทยคนไหนอยากเปลี่ยนไปอยู่บ้าน อิกลู (Igloo) ของชาวเอสกิโมเพราะสร้างด้วยก้อนน้ำแข็งวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยเจาะรูเข้าไว้ต่ำๆ เพื่อป้องกันลมหนาว 
ถ้าจะอยู่แบบนั้นต้องปั้นน้ำเป็นตัวก่อน จึงจะมุดรูเข้าไปอยู่ในบ้านทรงกะลาได้ 
ที่คนทั่วไปอยากรู้คือ วันนี้คุณลุง คุณปู่ทำอะไรกัน จะสู้กันอีกนานเท่าไร และจะจบแบบไหน?



การชุมนุมของกลุ่ม เสธ.อ้าย ครั้งนี้ ไม่ได้ชี้ขาด แพ้-ชนะ 
...ต้องดูหลังจากนั้น


การนัดชุมนุมวันที่ 24-25 พฤศจิกายน สร้างความแปลกใจให้กับผู้สนใจการเมืองมาก เพราะที่ผ่านมากลุ่มอำนาจเก่า จะชุมนุมใหญ่เมื่อมีเป้าหมายโจมตีต่อเนื่องด้วยอาวุธที่เผด็จศึกได้ เช่น ปี 2548-2549 เริ่มด้วย สนธิ ลิ้มทองกุล พันธมิตรเหลืองปิดด้วยการรัฐประหาร โดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน...ปี 2551-2552 เริ่มด้วยการชุมนุมของพันธมิตรเหลือง ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน เผด็จศึกด้วยการปลดนายกฯ โดยตุลาการภิวัฒน์ ปิดเกมโดยการตั้งรัฐบาล เทพประทาน ในค่ายทหาร 
แต่ครั้งนี้ทำไมฝ่ายตรงข้ามจึงต้องตัดสินใจ ลงทุนชุมนุมใหญ่สวนกระแสที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์กำลังมีความนิยมสูง ซึ่งไม่มีทางกดดันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ 

แล้วหมัดน็อกคืออะไร?
มีจริงหรือไม่?


ที่ว่าต้องลงทุนเพราะการชุมนุมทางการเมืองแม้เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ถ้าไม่ได้มาด้วยใจ คนมากต้องมีค่าใช้จ่ายมาก อย่างน้อยก็ต้องมีรถรับส่ง
แต่งบประมาณที่ทางฝ่ายรัฐบาลออกข่าวมา ว่า 6,000 ล้านก็มากเกินจริง 
ถ้าต้องการ 100,000 คน ก็ไม่เกิน 600 ล้าน ต่อ 2 วัน ถ้าชุมนุมแค่ 2 วันผู้จัดก็ยังพอมีเงินทอน


กลุ่มพันธมิตรฯ ก็มองออกว่าช่วงเวลานี้สถานการณ์ไม่เหมือนปี 2549-2551 การลงทุนแบบนี้ไม่ได้ผล จึงกั๊กไม่เข้าร่วมตรงๆ ปชป. ก็ร่วมแบบอ้อมและก็รู้ว่าความสนใจของประชาชนคงจะไปอยู่ที่ม็อบแช่แข็ง แทนการอภิปรายของฝ่ายค้าน

ฝ่ายเสื้อแดงก็งุนงงอย่างมาก แต่ก็เคยเห็นการล้มรัฐบาลผ่านการกดดันของม็อบมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ไม่ประมาท แม้จะมีข้อสรุปให้มวลชนฟังว่า คนที่คิดการชุมนุมนี้ขึ้นมาในเวลานี้ ถ้าไม่บ้า ก็ต้องเมา

ผู้วิเคราะห์ที่ไม่คิดว่า พวกนี้บ้า พยายามหาเหตุผลต่างๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามทนไม่ไหวจนต้องหาคนมาชุมนุม เช่น เป็นเพราะแรงบีบจากรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายจำนำข้าว การฟื้นหวยบนดิน การเร่งคดีปราบประชาชน 100 ศพ และการฟ้องคดียึดสนามบิน ยึดทำเนียบ

อีกด้านหนึ่งแว่วข่าวว่าลมบนจะเปลี่ยนทาง

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการขู่รัฐบาล ไม่ให้เดินตามกระแสแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ซี่งอาจมีการลุยโหวตวาระ 3 ที่ค้างอยู่ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็คงตอบได้แบบนักธุรกิจ แยกประเด็น 1...2...3 ชี้แจงหลักนโยบาย คงไม่มีสำบัดสำนวนอะไร รายละเอียดบางเรื่องกระทรวงรับผิดชอบคงต้องตอบ ดูแล้วไม่น่ามีปัญหา

อาจต้องรอดูจนปิดการชุมนุมจึงจะได้เห็นเป้าหมายที่พวกอยากแช่แข็งประเทศเตรียมการเอาไว้...ว่า... แกล้งบ้าหรือหลอกเอาเงิน...หรือมีทีเด็ด เชื่อตาม เสธ.อ้ายว่า 2 วันจบ แต่จะมีเงื่อนไขอะไรตามมา?
ไม่ว่าจะมีอะไรตามมาใช้เผด็จศึก วันนี้ไม่ง่ายเหมือนอดีตเพราะมีตีน (ตบ) อีกเป็นล้านง้างรออยู่แล้ว พวกอยากมีเรื่องก็ต้องการให้จบๆ ไปเลย แต่จะจบแบบไหน?



การต่อสู้ปัจจุบันและอนาคตระยะใกล้
ใครจะแพ้ ใครจะชนะ?
วิเคราะห์อย่างไร?


ทีมวิเคราะห์มองว่าการแพ้หรือชนะของการต่อสู้ชิงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มอำนาจใหม่และกลุ่มอำนาจเก่า เข้าใกล้จุดสุดท้ายของสงครามภาค 3 จากปี 2549 ถึงวันนี้ก็ 6 ปี โอกาสตัดสินชี้ขาด เกิดขึ้นทุกปีนับจากนี้ไป ต้องติดตามผลการปะทะในสมรภูมิต่างๆ เพราะไม่มีครั้งเดียวจบ อย่างที่โม้กัน ซึ่งไม่น่าจะเกิน 4-5 ปี 
ถ้าจะวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและให้ใกล้ความจริง ต้องมีหลักการ ที่ศึกษาจากตัวอย่างการปะทะในอดีต 6 ปีที่เพิ่งจบไป ว่าพวกเขาใช้อะไรสู้กัน สรุปและแยกปัจจัยที่มีผลต่อการต่อสู้เหล่านั้น ออกมาสังเคราะห์กับสถานการณ์ปัจจุบันหรืออนาคต ก็จะคาดคะเนผลการต่อสู้ได้

มิติแรก ดูองค์ประกอบที่เป็นกำลังสนับสนุน 
มิติที่สอง ดูเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ 
มิติที่สาม ดูเวลาซึ่งเป็นทั้งตัววัด ตัวถ่วง และตัวเร่ง

ทดลองนำสถานการณ์ปัจจุบันจนถึงการชุมนุมใหญ่ 24-25 พฤศจิกายน ของ เสธ.อ้าย มาพิจารณาเป็น และลองเทียบกับการชุมนุมปี 2551 ที่ล้มรัฐบาลสมัคร ก็พอเดาได้ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่?


พิจารณามิติ ด้านกำลังสนับสนุนทุกแนวรบ

1.อำนาจบริหาร กลุ่มอำนาจใหม่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง 2554 ได้เป็นรัฐบาลจึงมีอำนาจในการบริหารประเทศ สามารถผลักดันนโยบาย และใช้งบประมาณตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ถึงวันนี้สถานการณ์ ดีกว่าสมัยรัฐบาลสมัคร

2. อำนาจนิติบัญญัติ กลุ่มอำนาจใหม่ก็มีเสียงในสภาผู้แทนฯ มากกว่า แม้จะเสียเปรียบที่ในวุฒิสภามี ส.ว. จากกลุ่มอำนาจเก่า ที่แต่งตั้งเข้าไปในสภา แต่ทั้งรัฐสภาก็ยังมีเสียงมากกว่าปี 2551 

3. อำนาจตุลาการ กลุ่มอำนาจเก่ายังได้เปรียบกว่ามาก ถ้าดูจากมาตรฐานการตัดสินที่ผ่านศาลและองค์กรอิสระ ซึ่งทำให้อำนาจจากรัฐบาลและรัฐสภาชะงักงันได้ แต่การใช้ตุลาการภิวัฒน์ยึดอำนาจ เหมือนปี 2550-2551 ทำไม่ได้ง่ายแล้ว และก็ไม่มีคนกล้าเสี่ยง ถ้าปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์แบบนายกฯ สมัคร ต้องมีเรื่องแน่นอน 
ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กลุ่มอำนาจใหม่จะกุมความเหนือกว่าด้วยอำนาจในระบอบประชาธิปไตยทุกด้าน

4. อำนาจจากผู้มีกำลังและอาวุธ
กลุ่มอำนาจเก่ายังมีอิทธิพลต่อกำลังทหารเป็นส่วนใหญ่ แต่กลุ่มอำนาจใหม่สามารถควบคุมระบบบังคับบัญชา ตำรวจได้ แต่วันนี้กลุ่มอำนาจใหม่มีการประนีประนอมกับทหารบางส่วน และต่างฝ่ายก็มีบทเรียนจากการต่อสู้ในปี 2553 ซึ่งจะยังมีคดีที่ต้องขึ้นศาล จึงไม่มีใครอยากยุ่งกับการยึดอำนาจให้คนอื่น แล้วตัวเองอาจต้องกลายเป็นกบฏ โดนประหารชีวิตตามมาตรา 113

5. กำลังสนับสนุนของมวลชน  
ทั้งสองฝ่าย มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมากแต่กลุ่มอำนาจใหม่มีความเหนือกว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ หลังการปราบประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 กำลังคนเสื้อแดงกลายเป็นกำแพงเหล็ก และวันนี้จะเป็นหัวหอกรุกใส่ทุกองค์กร แม้ไม่ติดอาวุธก็เป็นกำลังที่ใหญ่พอที่จะทำลายด่านสำคัญได้

6. อำนาจนอกระบบ  
การสนับสนุนจากผู้มีบารมี มีเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่า แต่ไม่กล้าใช้แบบเปิดเผย โฉ่งฉ่างเหมือนปี 2550-2551 เพราะเห็นบทเรียนที่ทำให้เสื่อมได้อย่างชัดเจน

7. การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ
ทั้งสองกลุ่ม มีการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้พอสมควร แต่ปัจจุบันกลุ่มอำนาจใหม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ผ่านกลไกรัฐ เข้าไปสนับสนุนกลุ่มคนและความคิดทางการเมืองผ่านโครงการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นที่ยอมรับมากกว่า

8. การสนับสนุนจากต่างประเทศ กลุ่มอำนาจใหม่ชูแนวทางประชาธิปไตยตามระบบสากลจึงได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ขัดขวางประชาธิปไตย การเยี่ยมเยือนของผู้นำต่างประเทศ และการเตือนอย่างตรงไปตรงมา ความหมายชัดเจนว่าถ้ามีการล้มรัฐบาลนี้ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทุกชาติจะสนับสนุนรัฐบาลที่ประชาชนเลือก

9. การสนับสนุนที่ผ่านสื่อทุกชนิด น่าจะมีใกล้เคียงกัน แต่คนพูดความจริงจะได้เปรียบกว่า

ถ้าวัดกำลังตาม 9 แนวรบที่บอกไว้ ยังมองไม่ออกว่าวันนี้ กลุ่มอำนาจเก่ามีอะไรที่เหนือกว่าอย่างเด็ดขาด แม้แต่ด้านเดียว ถ้าครั้งนี้จะรุก ไม่ว่าเดินตัวใดใน 9 ตัว แม้แต่หมาก กำลังจะต้องถูกรุกกลับแน่นอน


พิจารณามิติทางอุดมการณ์

อุดมการณ์ แนวคิด ความใฝ่ฝันของผู้คน แม้เป็นเรื่องที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ แต่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของผู้คน 
ไม่มีด้านกว้างยาว มีแต่ด้านลึก ลงในจิตใจ หรือเชิดชูสูงจนจับต้องไม่ได้ 
แต่เป็นแรงผลักดันการต่อสู้ ที่ทำให้คนถึงขั้นเสียสละชีวิตได้

ที่กลุ่มอำนาจใหม่ได้เปรียบคือ อุดมการณ์ที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ให้เสรีภาพแก่คนทุกคน และทำให้คนเสมอภาคกัน 
จึงเป็นฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ



พิจารณามิติด้านเวลา

เนื่องจากการต่อสู้ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้ใช้เวลาเพียงระยะสั้นก็ทำสำเร็จ ดังนั้น เวลาจึงเป็นตัวเชื่อมสำคัญของตัวแปรต่างๆ ที่จะบอกถึงชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในแต่ละช่วง 
แต่ไม่ได้หมายความว่า 5 ปีที่แล้วแพ้ วันนี้ก็ยังจะต้องแพ้อยู่อย่างนั้น

เวลาสามารถเป็นตัวเร่งหรือเป็นตัวเซาะทำลายการโฆษณาชวนเชื่อ การโกหกหลอกลวงให้พังทลายลงไปโดยเฉพาะยุคที่การสื่อสารก้าวหน้าไปไกลเช่นปัจจุบัน 
ดังนั้น อำนาจใดก็ตามที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการโกหกหลอกลวง ก็จะถูกพังทลาย และเซาะกร่อนด้วย เวลา+ความจริง+ระบบสื่อสาร
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อกินเวลานานออกไป ใครรอได้ก็ได้เปรียบ เพราะคนรู้มากขึ้น พวกมากขึ้น



ข้อสรุปและคำเตือน

การต่อสู้ครั้งนี้มีคนที่ได้ประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย และก็มีคนที่เชียร์โดยไม่รู้ว่าตนเองได้หรือเสียประโยชน์อะไร 

เชียร์เพราะความรัก ความเชื่อ และเกลียดเพราะความชังความเชื่อ แม้วันนี้จะเข้าใจบ้าง ถูกหลอกบ้าง แต่ต่อไปคนส่วนใหญ่ก็จะรู้เรื่องจริง และเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีส่วนผสมที่หลากหลายของผู้คน ส่วนหนึ่งทุ่มเทต่อสู้แบบเสี่ยงชีวิต ส่วนหนึ่งก็สนับสนุนตามอุดมการณ์ แต่คนที่คอยเชียร์ห่างๆ มีจำนวนมาก
ผลของการต่อสู้ครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลง ชีวิตของคนทั้งประเทศและนับจากนี้ไปชะตากรรมของประเทศที่เคยถูกกำหนดโดยคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่สิบคน จะต้องถูกกำหนดโดยคนส่วนใหญ่ นี่คือข้อดีของพลังแดงและพลังเหลืองที่มากระตุ้น

ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่โง่จนเกินไปหรือดื้อหัวชนฝา ข่าวการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ได้ยินได้ฟังทุกวันบวกกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้เป็นเพียงคนธรรมดา ก็ต้องวิเคราะห์ออกว่าใน 4-5 ปีข้างหน้าใครจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ อำนาจหดหาย และใน 10 ปีข้างหน้า สังคมจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน 
คนที่ทำความผิดในวันนี้และยังดื้อดึงทำต่อไปจะไม่มีที่ยืนอยู่ในสังคม ลูกหลาน จะต้องได้รับผลสะเทือนจากการกระทำของบรรพบุรุษ

ระบบสื่อสารในยุคใหม่ ไม่มีใครปิดบังใครได้ อย่าคิดว่าจะหลบไปอยู่อย่างลอยนวลในต่างประเทศได้ง่ายๆ ความผิดร้ายแรงมีลักษณะสากล ใครๆ ก็รังเกียจ

วิธีดีที่สุด เจ็บน้อยสุด คือไหลตามกระแสปฏิรูป

ถ้าต่อต้านแบบสันติ แพ้ช้าแต่ยังมีทางรอด
ถ้าใช้ความรุนแรง หรืออาวุธต่อต้าน แพ้เร็วและอาจต้องเสียทุกอย่าง



.