http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-20

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (33) (34) คดี “เทปโก้”-ยากูซ่า, ข้อมูลผิด-สาวกิโมโน โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (33) คดี “เทปโก้”-ยากูซ่า
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 39


ผลลัพธ์จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดและแพร่กัมมันตรังสีออกไปทั่วเกาะญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 นั้น ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนดูว่าเรื่องไม่จบลงง่ายๆ 
ล่าสุด มีข่าวออกมาว่าชาวญี่ปุ่นกว่า 1 หมื่นคนทั่วประเทศกำลังหาช่องฟ้องร้องบริษัทโตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือเทปโก้ เจ้าของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา 
เทปโก้ตกเป็นจำเลยสังคมเพราะไม่สามารถป้องกันโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระหว่างเกิดวิกฤตการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 9.0 ริกเตอร์และคลื่นสึนามิซัดชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา 
ทั้งที่ "เทปโก้" รู้ล่วงหน้าว่า ถ้าหากเกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนรุนแรงถึง 9 ริกเตอร์และเกิดคลื่นสึนามิแล้วโรงไฟฟ้าฟุคิชิมาจะได้รับผลกระทบอย่างไร 
แต่เทปโก้ งุบงิบปกปิดข้อมูลนี้และไม่หาวิธีการป้องกัน
แถมแสดงทีท่าเฉยๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับข้อมูลที่ตัวเองถืออยู่ในมือ เพราะด้วยความโลภ ผนวกกับความประมาท

ถ้าเทปโก้ไม่งกเงิน ก็ต้องคิดหาทางป้องกันระบบ "หล่อเย็น" ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายทะเล ไม่ให้คลื่นสึนามิทะลักเข้าใส่ มิฉะนั้นระบบหล่อเย็นพัง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะต้องพินาศตามไปด้วย 
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างหนัก บรรดาท่อเชื่อมระหว่างเตาปฏิกรณ์กับเครื่องทำความเย็น แตกหัก มีรอยรั่วร้าว 
40 นาทีต่อมา คลื่นสึนามิที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก โหมซัดกระหน่ำชายฝั่ง คลื่นถล่มเครื่องเจนเนเรอเตอร์หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับทำระบบหล่อความเย็นส่งไปยังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ได้รับความเสียหายยับเยิน 
อุณหภูมิภายในของเตาปฏิกรณ์สูงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีความเย็นเข้าไปหล่อเลี้ยงและหลอมละลาย จึงระเบิดในที่สุด



"คัตสุโนบุ ออนดะ" เขียนหนังสือชื่อ "เทปโก้ อาณาจักรมืด" (TEPCO : The Dark Empire) เผยแพร่ข้อมูลเรื่องของ "เทปโก้" ที่มีการบริหารงานไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส และออกมาแฉให้สาธารณะรับรู้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนเกิดวิกฤติ "ฟุคุชิมา" 
เวลานั้น "ออนดะ" ตั้งข้อสงสัยถึงระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ "เทปโก้" บริหารจัดการด้วย 
"เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางแห่งมีปัญหาด้านระบบ บรรดาการวางท่อส่งในโรงไฟฟ้าบกพร่อง ไม่มีการตรวจสอบควบคุมความปลอดภัย" ออนดะเขียนในหนังสือ

ส่วน "เคอิ ซุกาโอกะ" วิศวกรที่เคยทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคิชิมา หน่วยที่ 1 บอกกับคณะกรรมการสอบสวนวิกฤตการณ์ "ฟุคุชิมา" ว่า ไม่รู้สึกประหลาดใจเลยว่าทำไมโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา จึงระเบิด เตาปฏิกรณ์หลอมละลาย เพราะระหว่างที่ทำงานในโรงไฟฟ้า เห็นพวกยากูซ่า มีรอยสักเต็มหลัง มาเชื่อมท่อ เป็นพนักงานทำความสะอาดก็มี 
คนเหล่านี้ ไม่เคยเรียนรู้ระบบความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขาดความรู้เรื่องของวิศวกรรม เทคโนโลยี 
การเชื่อมท่อที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้ท่อรั่วร้าวหรือแตกหักฉีกขาดได้ง่าย

เมื่อเทปโก้ ขาดระบบตรวจสอบมาตรฐาน และพนักงานเทปโก้ละเลยเอาใจใส่ ความเสียหายอย่างร้ายแรงตามมา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ชาวญี่ปุ่นหนึ่งหมื่นคน เตรียมยื่นฟ้อง "เทปโก้" เพราะเห็นว่าเทปโก้ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เห็นแก่ได้ เอาแต่ผลกำไรเท่านั้น


ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ชาวฟุคุชิมา 1,324 คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด รวมตัวกันยื่นฟ้อง "เทปโก้" โดยระบุในคำฟ้องว่า พนักงานเทปโก้ 33 คนประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 
พนักงานอัยการของจังหวัดฟุคุชิมาอยู่ระหว่างการไต่สวนคาดว่า ราวๆ วันที่ 15 พฤศจิกายน คงจะมีความคืบหน้า


แต่สำหรับคดีอาญาที่จะฟ้อง "เทปโก้" เป็นคดีใหม่ เป็นการรวมตัวของชาวฮอกไกโด ชาวเกาะโอกินาวา 10,850 คน เป็นโจทก์ โดยอ้างว่า เทปโก้ขาดความรับผิดชอบทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ ประชาชนได้รับอันตรายจากกัมมันตรังสีที่แผ่กระจาย 
ในข้อกล่าวหายังบอกอีกว่า เทปโก้ล้มเหลวในการดูแลมาตรฐานความปลอดภัย และเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ ให้กับสาธารณะ นอกจากนี้ ยังปล่อยให้ประชาชนเสียชีวิตระหว่างอพยพออกจากพื้นที่อันตราย


ส่วนหลักฐานประกอบการยื่นฟ้อง จะมีทั้งการให้ข้อมูลของเทปโก้กับสื่อมวลชน รายงานของเทปโก้ที่ส่งใปให้รัฐบาลญี่ปุ่นก่อนและหลังวิกฤติ "ฟุคุชิมา" การประชุมระหว่างผู้บริหารเทปโก้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น ขณะเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (34) ข้อมูลผิด-สาวกิโมโน
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 40


การโค้งคำนับของนักการเมือง ผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา และบริษัทเทปโก้ เพื่อขอโทษขออภัยชาวญี่ปุ่นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีมานับครั้งไม่ถ้วน และยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่ครั้ง 
ล่าสุด ปรากฏว่าคณะผู้บริหารของหน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบนิวเคลียร์ ก็โค้งคำนับขอโทษประชาชนเหมือนกัน
เป็นการขอโทษเพราะให้ข้อมูลผิดพลาด

หน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบนิวเคลียร์ หรือมีชื่อย่อว่า "เอ็นอาร์เอ" (The Nuclear Regulation Authority) เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แทนสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ 
เอ็นอาร์เอ สร้างแผนที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 16 แห่ง กัมมันตรังสีจะแผ่กระจายไปยังพื้นที่ไหนบ้าง 
แผนที่ที่ว่านี้มีความสำคัญมากกับผู้บริหารท้องถิ่น เพราะต้องเตรียมแผนอพยพประชาชนออกจากเขตที่กัมมันตรังสีแผ่ไปถึง 
อย่างน้อยๆ ก็ต้องกำหนดพื้นที่ต้องห้ามรัศมีโดยรอบ 30 กิโลเมตร

หลังจาก เอ็นอาร์เอ ปล่อยแผนที่ดังกล่าวออกมา พร้อมกับระบุทิศทางความเป็นไปได้ที่กัมมันตรังสีจะแผ่กระจายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "เก็นไก" ในจังหวัดซางะ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนได ในจังหวัดคาโงะชิมา 
 

หลังจากนั้นราว 5 วัน ปรากฏว่าผู้บริหารท้องถิ่นแสดงความสงสัยและตั้งคำถามกับเอ็นอาร์เอ และเมื่อมีการตรวจสอบเพิ่มเติม ทางผู้บริหารยอมรับว่าได้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศผิดพลาดจาก บริษัท กิวชู อิเลคทริก เพาเวอร์
นายฮิเดกะ โมริโมโต รองเลขาธิการเอ็นอาร์เอ บอกนักข่าวว่า ต่อไปจะต้องกรองข้อมูลให้ถี่ถ้วนกว่านี้ และต้องสร้างระบบให้มีความแม่นยำมากขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่ตกต่ำอยู่แล้วหลังโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิด ยิ่งตกต่ำลงไปอีก



อีกข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน เป็นเรื่องของสาว "กิโมโน" ชื่อ "ยูอิ คิมูระ"

"คิมูระ" วัย 60 ปี เป็นเอเย่นต์ขายประกันภัย ติดตามข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของยูเครน ที่ระเบิดเมื่อปี 2529 
เวลานั้นเพิ่งมีลูกสาววัย 2 ปี "คิมูระ" มีความรู้สึกว่านิวเคลียร์คือภัยร้าย 
จากนั้นเธอลุกขึ้นสู้ เริ่มจากการเข้าไปซื้อหุ้นของ บริษัท โตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือ เทปโก้ เมื่อ 20 ปีก่อน
ทุกครั้งที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น เธอจะลุกขึ้นเรียกร้องให้ผู้บริหารเทปโก้ ยกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
แต่ไม่มีใครฟังเสียงเธอ


จนกระทั่ง ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ คลื่นสึนามิกระหน่ำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ที่บริษัทเทปโก้บริหารจัดการนั้น ได้รับผลสะเทือน เตาปฏิกรณ์ร้อนจัด ระเบิดพ่นกัมมันตรังสีไปทั่วพื้นที่  
"คิมูระ" ฉวยโอกาสนี้ระดมเพื่อนๆ ที่ถือหุ้น 42 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริหารระดับสูงของเทปโก้ ทั้งอดีตและปัจจุบัน 27 คน กล่าวหาว่าประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาและทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย 
เธอตั้งใจแน่วแน่กับเรื่องนี้ และเดินทางไปร่วมฟังการพิจารณาคดีทุกครั้งที่ศาลเรียกไต่สวน พร้อมกับเปิดแถลงข่าวในฐานะผู้นำการฟ้องร้องคดี
ถ้าคดีนี้ฝ่ายโจทก์ชนะ จำเลยซึ่งเป็นผู้บริหารของเทปโก้ ต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านล้านบาท ให้กับผู้ถือหุ้นบริษัทเทปโก้


ระหว่างที่มีการชุมนุมต่อต้านนิวเคลียร์หรือการพิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีกับเทปโก้ คนญี่ปุ่นจำภาพของ "คิมูระ" ที่ไปร่วมกิจกรรมเหล่านี้ในชุดกิโมโนที่สวมใส่พร้อมกางร่มสีสะอาดตาได้เป็นอย่างดี 
เธอเล่าให้บรรดาสื่อฟังว่า หุ้นเทปโก้เมื่อปี 2532 ราคาอยู่ที่หุ้นละ 5,900 เยน เธอได้ซื้อไว้ 100 หุ้น เป็นเงิน 590,000 เยน

หลังเกิดเหตุร้ายกับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา หุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดเหลือแค่ 13,000 เยน ถ้าคิดเป็นเงินไทยตกราวๆ 5 พันบาท
"คิมูระ" ไม่สนใจที่หุ้นร่วง และบอกเหตุผลกับนักข่าวว่า

"ฉันมีเป้าหมายซื้อหุ้นเทปโก้เพราะต้องการให้เป็นเครื่องมือต่อต้านนิวเคลียร์"



.