http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-18

“แช่แข็งประเทศ”เพื่อใคร โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

.
บทความก่อนหน้า - ขึ้นอยู่กับ“ติดวาสนา”หรือเปล่า โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สุชาติ ศรีสุวรรณ : “แช่แข็งประเทศ”เพื่อใคร
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:15:49 น.
( ที่มา:คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป หน้า 3 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย. 2555 )


เอแบคโพลล์ล่าสุดระบุว่า ประชาชนกังวลความวุ่นวาย รุนแรงทางการเมืองจากการชุมนุมของ "ม็อบแช่แข็งประเทศไทย" มากกว่า "การอภิปรายไม่ไว้วางใจ" 
ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น 

ข่าวที่ปล่อยกันออกมาทุกฝ่ายให้น้ำหนัก และเบื้องหลังการชุมนุมกันครึกโครม 
พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ บอกว่า "ม็อบจะมาถึง 1 ล้านคน"
ขณะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ดูแลเรื่องข่าวกรอง สั่งจัดกำลังตำรวจ 5 หมื่นนายมารับมือ 
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับว่าข้อมูลสันติบาล มีนายทุนเตรียมเงินให้การสนับสนุนม็อบ "6,000 ล้านบาท"

ลองว่าบ้ากันได้ขนาดนั้นจริง ย่อมเป็นม็อบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คำประกาศ "แช่แข็งประเทศจากการพัฒนา" ย่อมเป็นไปได้ 
จึงบอกว่าไม่แปลกที่ประชาชนซึ่งติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะ "กังวลว่าประเทศจะตกอยู่ในความวุ่นวายมีความรุนแรง" อีกแล้ว และเที่ยวนี้น่าจะจมอยู่ในปลักยาวนาน เพราะเป็นม็อบที่มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการ "แช่แข็งประเทศไทยไว้ในอำนาจเผด็จการ"



ขณะที่ "การอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ไม่เพียงไม่มีประเด็นอะไรที่กระเซ็นกระสายว่าจะทำให้รัฐบาลซวนเซเท่านั้น แต่กลับมีเรื่องราวที่ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้ฝ่ายค้านอย่างให้ความรู้สึกว่าหนักหน่วงเสียยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นการปลด "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จากราชการ ตามด้วยการหยิบเอาประเด็นจริยธรรมอันมีกรณี "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ขึ้นมาเป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ, คดี 98 ศพ ที่ดีเอสไอกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น ประสานกับความเคลื่อนไหวของศาลระหว่างประเทศที่มีช่องเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ ยังตามด้วยคดีทุจริตการจัดซื้อในกรมอาชีวะศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีจากรัฐบาลที่แล้วเป็นผู้ต้องหา และน่าจะมีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีก 
ความเป็นไปนี้ย่อมทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารใกล้ชิดเกิดความรู้สึกว่า "ไม่น่าจะมีน้ำยาอะไรในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ"

"ม็อบแช่แข็งประเทศ" ของ "เสธ.อ้าย" น่ากลัวกว่า
ความน่าสนใจอยู่ที่ "น่ากลัวอย่างที่ปล่อยข่าว" จริงหรือ


ลองเอาข่าวที่น่าหวาดกังวลนั้นมาพิจารณาให้ละเอียดขึ้นอีกนิด ก็น่าจะมองเห็นแนวโน้มของม็อบ 
เริ่มจากที่มาที่ไปของการระดมม็อบ ถึงวันนี้ข้อมูลค่อนข้างชัดว่าเป็นคนกลุ่มเดียวที่เคยชุมนุมต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงแต่ไม่ได้เคลื่อนในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือ "ม็อบเสื้อเหลือง" เท่านั้น เป็นการรวมตัวของหน้าเดิมๆ ในชื่อใหม่


มีเป้าหมายการชุมนุมในเชิงอุดมการณ์ไม่ชัดเจน แถมก่อความรู้สึกว่าขัดแย้งกันเอง "เสธ.อ้าย" ประกาศจะเอาอำนาจรัฐไปให้ทหาร โดยแช่แข็งประเทศไว้ ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ แกนนำสำคัญอีกคนประกาศว่าจะ "เอาอำนาจไปให้ประชาชนส่วนใหญ่ปกครองกันเอง" ซึ่งไม่รู้ว่าพูดออกมาโดยไม่อายปากได้อย่างไรขณะกำลังแสดงพฤติกรรมล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แถมการวางยุทธศาสตร์การชุมนุมที่ฟังแล้วเข้าใจยาก ทางหนึ่งประกาศว่าจะชุมนุมครั้งสุดท้าย แต่อีกทางหนึ่งก็บอกว่าไม่ยืดเยื้อ ไล่รัฐบาลไม่สำเร็จจะสลายการชุมนุม จะอยู่อย่างมากไม่เกิน 2 วัน

ที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราว แสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังคือแผนระดมคน ที่กระจายไปในทุกกลุ่มทำงานกันอย่างจริงจัง 
แต่ยิ่งฟัง ยิ่งดูเหมือนว่าเป็นม็อบที่ "เน้นปริมาณ" แบบ "มาเร็วไปเร็ว" หรือที่เรียกว่า "ตีหัวเข้าบ้าน" เสียมากกว่า 
ไม่ได้มีเจตนาที่จะ "ล้มรัฐบาลอย่างเอาเป็นเอาตาย"


เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า "เจตนาที่แท้จริงของม็อบที่เริ่มต้นจากสนามม้านี้คืออะไร" 
"มาแสดงให้เห็นปริมาณอย่างยิ่งใหญ่ แล้วก็สลายตัวไป" 
ด้วยแนวโน้มที่น่าจะเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า มาแสดงตัวตนว่า "ข้ายังอยู่"


ยังอยู่ในปริมาณนับล้าน "ให้ใครได้รับรู้" และ "เพื่ออะไร"

แค่ให้ "นายทุน" ยังคิดถึงแค่นั้น
หรือมากกว่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงที่สุดแล้ว "ม็อบที่ต้องการแสดงตัวตนว่ายังอยู่ตามวาระที่จำเป็นแสดง"


คงไม่ถึงขั้นที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้



+++

สุชาติ ศรีสุวรรณ : ขึ้นอยู่กับ“ติดวาสนา”หรือเปล่า 
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 17:10:18 น.
( ที่มา:คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป  นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 04 พ.ย. 2555 )


รัฐบาลชุดใหม่ที่เรียกขานกันว่า ปู 3 เริ่มต้นทำงานแล้ว แม้จะมีสะดุดกันบ้างเล็กน้อย จากความไม่สมใจของสมาชิกร่วมรัฐบาลบางคนบางกลุ่ม 
แต่นั่นเป็นเพียงเรื่องปกติของการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะต้องมีฝ่ายที่พอใจและฝ่ายที่ไม่พอใจ  
ความน่าสนใจอยู่ที่รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยจะทำงานต่อไปให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นยุทธศาสตร์อย่างไรมากกว่า

เรื่องของรัฐบาลคงไม่มีอะไรมากไปกว่าเดิม นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงตั้งหน้าตั้งตาสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำประเทศที่มุ่งมั่นการทำงาน ไม่ให้น้ำหนักกับเกมการเมืองเหมือนกับที่ผ่านมา เพราะท่ามกลางความเบื่อหน่ายของประชาชนต่อการเมืองที่มุ่งแต่การทำลายคู่ต่อสู้ ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ประเทศ
บท นักทำงาน ไม่ใช่นักการเมืองของนายกฯยิ่งลักษณ์สร้างคะแนนนิยมได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เดินมาถูกทางแล้ว

ความน่าสนใจน่าจะอยู่ที่ผลงานของพรรคเพื่อไทยจะเดินเกมรุกอย่างไรมากกว่า  
ปัญหาทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอยู่คือ แม้จะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถบริหารประเทศในทิศทางที่ตัวเองอยากให้เป็นอย่างเต็มร้อย
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการวางโครงสร้างทางการเมืองไว้เป็นจุดสกัดมากมาย 

ที่ชัดๆ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีเนื้อหาลงไปในรายละเอียดเนื้องานของฝ่ายบริหารแทบทุกด้าน
ตามด้วยการให้อำนาจกับองค์กรอิสระไว้อย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะกับศาลรัฐธรรมนูญ
จุดตายอยู่ที่ ผู้ที่ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระล้วนได้รับแต่งตั้งมาจากโครงข่ายอำนาจที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม


แม้พรรคเพื่อไทยจะมีความสามารถในการกำหนดนโยบายขึ้นมาพัฒนาประเทศอย่างเฉียบหรูอย่างไรก็ตาม แต่ทุกเรื่องราวสามารถนำเสนอให้องค์กรอิสระตีความตัดสินได้ทั้งสิ้น 
ชะตากรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคนบางกลุ่มบางพวกที่พรรคเพื่อไทยรู้สึกได้ว่ายืนอยู่คนละฝ่าย
นี่คือปัญหาหลักของพรรคเพื่อไทย

เวลาของรัฐบาล แม้จะยังมีเหลือในวาระอีกพอสมควร แต่มีความอ่อนไหวยิ่งที่จะถูกล้มไปก่อนที่จะหมดวาระ ทั้งจากม็อบฝ่ายต่อต้านที่ถูกปลุกขึ้นมาใหม่อย่างเป็นระบบ หรือจากข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ถูกส่งให้องค์กรอิสระตีความ 
แม้จะได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากประชาชน แต่รัฐบาลมีสภาพเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย ไปเมื่อไรก็ได้ หากมีสถานการณ์สุกงอมพอที่เข้าทางฝ่ายตรงกันข้าม  
รัฐบาลที่ประชาชนให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม กลับเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ เพราะโครงสร้างการเมืองที่ฝ่ายอำนาจเดิมเอามาคลุมระบอบประชาธิปไตยไว้

ภาระสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือ ต้องคลายปมเรื่องนี้ให้ได้
วิธีการมีอยู่ 2 อย่าง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดอาวุธของอำนาจเก่าออก หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจในองค์กรอิสระ
อย่างหลังนั้นยาก และเป็นไปได้น้อย แถมหากทำแล้วจะเกิดข้อกล่าวหาหนักเรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระเป็นรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาขึ้นมาอีก

หนทางที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือ แก้รัฐธรรมนูญ ให้เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยปกติเขา


ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ารอพิจารณาวาระ 3 ในสภาแล้ว 
โดยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ทำประชามติมาเป็นข้อกังวล

การจัดการกับปมเงื่อนสำคัญนี้ขึ้นอยู่กับว่า กล้าพอที่จะเดินหน้า เพื่อคลายปมให้ประชาธิปไตยเป็นอิสระจากการถูกมัดไว้ด้วยกลไกอำนาจเก่า
หรือไม่




.