http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-06

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(31) (32) ลิทัวเนีย“ไม่เอานิวเคลียร์”, นิวเคลียร์สิงคโปร์ โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (31) ลิทัวเนีย “ไม่เอานิวเคลียร์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1680 หน้า 40


แม้ “ลิทัวเนีย” จะอยู่ไกลจากขอบประเทศไทย แต่สถานการณ์ของประเทศแห่งนี้ อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบทเรียน “นิวเคลียร์” ที่ให้คนไทยเก็บข้อมูลเป็นการบ้าน
เผื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าถ้ารัฐบาลของบ้านเราเกิดนึกสนุกอยากได้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กับเขามั่ง

"แผนส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สะดุด"
นี่เป็นหัวข้อข่าวจากเว็บไซต์ "ฮาซาฮี" เป็นสำนักข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น หยิบประเด็นนี้มารายงานสถานการณ์ของผู้ผลิตเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในภาวะกระสับกระส่าย ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าไปทางไหนดี
ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว กระแสความเชื่อมั่นของโลกที่มีต่อเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ "ญี่ปุ่น" ลดลงอย่างมาก 


บริษัทฮิตาชิ บริษัทโตชิบา และบริษัทมิตซูบิชิ เป็นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ต้องคิดใหม่ในเรื่องแผนส่งออก หลังจากชาวลิทัวเนียลงประชามติไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และส่งโครงการคืนกลับให้คณะกรรมการนำไปพิจารณากันอีกครั้ง
การลงประชามติดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ผลปรากฏว่า ชาวลิทัวเนียมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เตรียมแผนจะสร้างขึ้นใหม่ 
"ฮิตาชิ" เป็นหนึ่งในบริษัทที่เสนอเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของลิทัวเนีย


เมื่อประชามติ "ไม่เอานิวเคลียร์" บริษัทฮิตาชิ ก็น้ำตาร่วง

เจ้าหน้าที่ของฮิตาชิบอกกับ "ฮาซาฮี" ว่า แม้บริษัทจะยอมรับผลการลงประชามติ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ต้องดูว่า กระบวนการต่อไปของชาวลิทัวเนียจะเอาไงต่อ โดยเฉพาะการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติลิทัวเนียชุดใหม่ 
เจ้าหน้าที่ฮิตาชิประเมินว่า อนาคตค่อนข้างจะริบหรี่ ถึงแม้รัฐบาลใหม่ เมินผลการลงประชามติแล้วเดินหน้าโครงการ แต่ใช่ว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่จะราบรื่น 
"ฮิตาชิ" วาดหวังว่า ในปีงบประมาณ 2563 รายได้จากการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะเพิ่มขึ้นราว 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2554 
รายได้นี้บวกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในลิทัวเนียเข้าไปด้วย 
แต่ฝันเหมือนจะเลือนหายจากความเป็นจริงแล้ว



อย่างที่เคยเล่าสู่กันฟังว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นก้าวล้ำนำหน้า อาจจะเหนือว่าสหรัฐอเมริกาซะด้วยซ้ำไป เพราะช่วงที่โลกนิวเคลียร์กำลังตกต่ำ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัฐเพนน์ซิลวาเนีย สหรัฐ และที่เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน กระแสไม่เอา "นุก" แรงจัด 
แต่ที่ญี่ปุ่น กลับตรงข้าม มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น มีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์
ธุรกิจนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของสหรัฐ เติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว 

แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ภาพเตาปฏิกรณ์ระเบิด กลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นเหนือท้องฟ้า มีข่าวการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในน้ำ บนบกและอากาศ 
รวมถึงข่าวการขนย้ายอพยพผู้คนออกจากพื้นที่และปิดกั้นในรัศมีโดยรอบของโรงไฟฟ้า
ล้วนทำให้ภาพพจน์อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นติดลบในสายตาชาวโลก

มิหนำซ้ำ รัฐบาลของ นายโยชิฮิโกะ โนดะ ยังมีนโยบายเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีอยู่ 50 แห่งภายในปี 2573 ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยิ่งอับเฉาลงไปอีก
บริษัทฮิตาชิ บริษัทโตชิบาและบริษัทมิตซูบิชิ จึงดิ้นรนหาทางส่งออกอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไปยังประเทศอื่นๆ


"ลิทัวเนีย" เป็นหนึ่งในแผนการส่งออก แต่ก็ต้องไปสู้กับกลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้และจีนที่กำลังมาแรง อีกทั้งยังไม่มีภาพลักษณ์เสียหายใดๆ
การแข่งขันระหว่างอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กับคู่แข่งรายใหม่ในลิทัวเนีย จึงเป็นไปอย่างดุเดือด และอาจจะจบลงด้วยความเจ็บช้ำ
เนื่องจากชาวลิทัวเนีย ฝังใจกับ "ฟุคุชิมา" 
กระนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเห็นอกเห็นใจอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของตัวเอง พยายามสนับสนุนการส่งออกอย่างเต็มที่

เมื่อผลประชามติชาวลิทัวเนีย ออกมา "ไม่เอานิวเคลียร์" นายโอซามุ ฟูจิมูระ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีออกมาแถลงข่าวทันทีว่า "ไม่พบความเกี่ยวพันระหว่างผลประชามติกับการประเมินผลเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น" 
ความหมายของนายฟูจิมูระก็คือชาวลิทัวเนีย ลงมติไม่เอานิวเคลียร์ เป็นคนละเรื่องกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
คนลิทัวเนีย อาจจะยังเชื่อถือมาตรฐานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ก็ได้

แต่นายฟูจิมูระ ปิดท้ายของการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า "เราจะหารือและเฝ้ามองอนาคตของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์"

รัฐบาลนายโนดะ มีแผนส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างชัดเจน เพราะเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่สร้างผลกำไรให้กับญี่ปุ่นอย่างมหาศาล 
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลร่างแผนชื่อว่า "กลยุทธ์นวัตกรรมเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม" (Innovative Strategy for Energy and the Environment) พร้อมกับประกาศว่า

"ถ้าประเทศไหนต้องการใช้เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ของเรา เราพร้อมจัดบริการให้ เพราะเทคโนโลยีของเรานั้นมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงที่สุดในโลก"




++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (32) นิวเคลียร์สิงคโปร์
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 39


สิงคโปร์กำลังดิ้นรนแสวงหาพลังงานทางเลือก และคิดว่า "นิวเคลียร์" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประเทศนี้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด ความคิดของผู้นำสิงคโปร์เปลี่ยนไป
เมื่อราวสองปี ก่อนเกิดวิกฤต "ฟุคุชิมา" นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ว่า ได้เล็งเป้าไปที่ "นิวเคลียร์" คิดว่าจะช่วยให้เติมเต็มพลังงานของสิงคโปร์ได้ 

อย่างที่รู้ๆ กัน เกาะสิงคโปร์ไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ทั้งสิ้น พลังงานทุกอย่างล้วนนำเข้าอย่างก๊าซธรรมชาติ นำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย
อนาคตสิงคโปร์จึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย 

ไม่รู้ว่าจะเจอสถานการณ์วิกฤตเมื่อไหร่ 
สิงคโปร์ ไม่กล้าใช้ถ่านหินในปริมาณมากๆ เพราะต้องเจอกับกฎกติกานานาชาติในเรื่องของ "ก๊าซเรือนกระจก" ที่เข้มงวด
ในอนาคตถ้าจะใช้ถ่านหิน ต้องมีเทคโนโลยี "สะอาด" เข้าไปควบคุมการปล่อยก๊าซพิษออกจากแหล่งผลิตพลังงานทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม รัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่า ยังมีต้นทุนสูงอยู่ ทำตอนนี้ก็ไม่คุ้มในเชิงเศรษฐกิจ
นายลี เซียน ลุง จึงมีแนวคิดว่า "นิวเคลียร์" น่าจะเหมาะกับพลังงานทางเลือกในอนาคต




หลายหน่วยงานสนับสนุนแนวคิดนี้ และศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อนำพลังงานมาป้อนให้ชาวเกาะสิงคโปร์ 5.3 ล้านคน
เมื่อปีที่แล้วคณะกรรมการยุทธศาสตร์พลังงานของสิงคโปร์ มีความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์อะไร จึงจะเหมาะสมกับประเทศมากที่สุด 
และประเด็นสำคัญตามมานั่นคือ พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมีเขตปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน
คณะกรรมการยุทธศาสตร์พลังงานบอกว่า เซฟตี้โซนต้องขีดเส้นในรัศมี 20-30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ห้ามประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เซฟตี้โซนเป็นเรื่องยาก เพราะเกาะสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กกระจิ๋วหลิว มีพื้นที่แค่ 700 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น สัดส่วนพอๆ กับกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น


ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางพลังงาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ชื่อ "Hooman Peimani" เสนอไอเดีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก แต่ต้องสร้างใต้พื้นพิภพ เอาเตาปฏิกรณ์ฝังไว้ในชั้นหิน ลึกจากผิวดินประมาณ 30-50 เมตร 
พื้นหินบริเวณด้านใต้ของเกาะสิงคโปร์เหมาะสมที่สุดสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะเป็นหินแกรนิตเป็นเกราะหุ้มเตาปฏิกรณ์ ป้องกันการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีได้เป็นอย่างดี 
ขนาดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ควรจะอยู่ 30-50 เมกะวัตต์ พอเหมาะกับความต้องการของชาวสิงคโปร์ ต้นทุนไม่แพงเท่าใดนัก เทียบกับขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป อัตราส่วน 1 ต่อ 20
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มีขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า "mini reactor" มีบริษัทหลายแห่ง หันมาพัฒนา 
ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกว่า หากเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแนวคิดดังกล่าวมีความปลอดภัยสูงกว่าโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดของ Guanyuan Zhang เสนอผ่านมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา แนะให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนทุ่นลอยและใต้น้ำ ริมชายฝั่ง 
โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะอยู่บนเรือบรรทุกขนาดใหญ่ ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเข้าฝั่ง ขณะนี้รัสเซียกำลังก่อสร้างเรือ 7 ลำ หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า "Akademik Lomomosov" มีเตาปฏิกรณ์ 2 ตัว ขนาด 35 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า

แต่ Zhang บอกว่า สิงคโปร์ไม่เหมาะกับสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนทุ่นลอยเพราะสภาพภูมิอากาศไม่เป็นใจ อาจเป็นเพราะอยู่ในแนวมรสุม คลื่นลมแรงและชายฝั่งของสิงคโปร์เป็นท่าเรือใหญ่มีการจราจรแออัด แถมยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคง 
สิงคโปร์ควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ใต้ทะเล ดีที่สุดไม่ต้องห่วงเรื่องระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ เพราะน้ำทะเลจะช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี แถมไม่ต้องห่วงปัญหาแผ่นดินไหว


แนวคิดดังกล่าวนี้ ยังไม่ทันจะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ปรากฏว่า ล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศ "ไม่เอานิวเคลียร์" ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่วันข้างหน้ายังไม่แน่
นายเอส อิศวรัน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เป็นผู้ตอบกระทู้สมาชิกรัฐสภาเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานนิวเคลียร์ว่า รัฐบาลต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศอย่างมากและกำลังคิดหาทางแก้ปัญหานี้ แต่เมื่อพิจารณาพลังงานนิวเคลียร์แล้ว รัฐบาลเห็นว่ายังมีความเสี่ยงเกินไป ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนไปก่อน 

นายอิศวรันบอกว่า เมื่อชั่งน้ำหนัก ระหว่างผลประโยชน์ของชาติกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บนเกาะสิงคโปร์ ยังเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ยังไม่เหมาะสมกับเกาะสิงคโปร์ 
"เราต้องรอดูความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่อไป"

ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์ "ไม่เอานิวเคลียร์" ณ นาทีนี้ แต่ยังเดินหน้าศึกษาค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมนิวเคลียร์โดยให้ทุนฝึกอบรมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรอช่วงจังหวะและเวลาที่เหมาะสม



.