http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-17

จงรักภักดี โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

จงรักภักดี
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 30


ในแง่ภาษา คำ "จงรักภักดี" นี้ก็น่าสนใจนะครับ
พจนานุกรมฉบับมติชนแปลคำว่า "จงรัก" ว่าบอกความตั้งใจหรือปรารถนาที่จะรัก รักอย่างไรหรือครับ ผมคิดถึงเนื้อเพลงจงรักของ ครูจงรักษ์ จันทรคณา "เดี๋ยวนี้รักเธอ และรักตลอดไป" คือความรักของหนุ่มสาวนั่นเอง


ขอให้สังเกตด้วยนะครับว่า ความรู้สึกที่เรียกว่า "รัก" ในเพลงจงรักนั้น เป็นความรู้สึกที่ปัจเจกชนสองคนมีต่อกัน ไม่ใช่ความรู้สึกผูกพันที่มีต่อกันเพราะสถานะทางสังคม, ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ, ระบบครู-ศิษย์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใดๆ และอย่างที่ผมเคยคุยไปแล้ว ความรู้สึกผูกพันกันระหว่างปัจเจกสองคนที่ปลอดจากพันธะทางสังคมใดๆ เช่นนี้เป็นความรู้สึกใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่น่าจะเกิน 200 ปีมานี้เอง

ส่วนคำว่าภักดีนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่าความเลื่อมใส, ความจงรัก, ความนับถือ ทำไมความหมายถึงออกไปทางศาสนาอย่างนั้น ก็เพราะคำสันสกฤตคำนี้มีความหมายในทางศาสนาอยู่แล้ว คือความผูกพันอย่างลึกซึ้งที่บุคคลมีต่อพระเจ้า หรือการอุทิศกายใจจนหมดสิ้นให้แก่พระเจ้า (ลัทธิ "ภักติ" ในศาสนาต่างๆ ของอินเดียนั้น บางทีฝรั่งก็แปลว่า devotional cult)

สิ่งที่น่าสังเกตในคำว่าภักดีก็คือ ความรู้สึกผูกพันต่อวัตถุแห่งความภักดีนั้นมาจาก "อุดมการณ์" ครับ คือไม่ใช่ความรู้สึกแบบจงรักที่กล่าวถึงข้างต้น (เราอาจจงรักอีน้องที่อึ๋มมากๆ โดยไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์อะไรเลย) 
เช่น ชาวฮินดูที่นับถือลัทธิ "ภักติ" ย่อมมีอุดมการณ์เกี่ยวกับพระเจ้าว่า ทรงอยู่ใกล้ชิดมนุษย์และทรงการุณยภาพอันไพศาล ซึ่งเราทุกคนอาจเข้าถึงได้




คําผสม "จงรักภักดี" นี้ไม่ใช่เป็นคำใหม่ในภาษาไทยนะครับ โบราณก็ใช้มาแล้ว เช่น ในคำประกาศแต่งตั้งขุนนางใน ร.1 หลังจากชิงราชสมบัติจากพระเจ้าตากได้แล้ว ก็ยกย่องขุนนางบางคนว่า "ซื่อสัตย์จงรักภักดี" ต่อทูลละอองธุลีพระบาทมาช้านาน แต่ผมคิดว่าความหมายที่โบราณใช้ไม่เหมือนกับที่ใช้ในปัจจุบัน เพราะมักจะเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อนาย คือไม่เป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย 
ดังนั้น นางเพื่อนนางแพงและนายแก้วนายขวัญจึง "จงรักภักดี" ต่อพระลอ เสียยิ่งกว่าต่อเจ้าย่าและต่อนางลักษณาวดี ซึ่งเป็นเมียพระลอ

พูดให้ชัดๆ ไปเลยก็ได้ ความรู้สึกจงรักภักดีที่คนไทยโบราณมี คือความซื่อตรงต่อ "นาย" ของตน ไม่ว่าความเป็นนายนั้นเกิดขึ้นจากราชการมอบหมาย หรือการอุปถัมภ์ปกป้องคุ้มครองที่คาดหวังจากนายก็ตาม ไม่ได้มีให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตลอดชีวิตของตนแทบไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลย ความรู้สึกจงรักภักดีต่อนายนั้น คงตั้งอยู่บนอุดมการณ์แห่งการต่างตอบแทน (reciprocity) และด้วยอุดมการณ์นี้ จึงอาจเปลี่ยนนายเปลี่ยนข้าก็ได้ หากการต่างตอบแทนไม่เป็นไปตามความคาดหวัง

หากคนไทยโบราณโดยทั่วไป (คือไม่นับเจ้านายและขุนนาง) จะมีความรู้สึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คงเป็นความรู้สึกยำเกรง เหมือนยำเกรง "แถน" (กษัตริย์ไทยโบราณสมัยเป็นแว่นแคว้นก็อ้างว่าเป็นแถน และสืบทอดเชื้อสายของแถน) ไม่ใช่ความจงรักภักดี ทั้งในความหมายโบราณและความหมายปัจจุบัน


ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่งกลายเป็นข้อบังคับที่ทุกคนต้องมี ทั้งๆ ที่ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย) ที่คนไทยมีหรืออ้างว่ามีในปัจจุบันจึงเป็นความรู้สึกใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ซึ่งไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน เพิ่งเกิดหรือเพิ่งถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมานี้เอง ไม่ได้เป็นลักษณะถาวรของไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น 
ความรู้สึกใหม่ที่เกิดหรือถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ ร.5 นี้ นับว่าสอดคล้องกับสถานะใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นก็คือพระราชอำนาจแผ่ขยาย (ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ) ไปถึงข้าราษฎรทุกคนโดยเสมอกัน ไม่มีสถาบัน, องค์กร, หรือ "นาย" ใดๆ มาขวางกั้น หรือเป็นตัวกลางระหว่างพระราชอำนาจกับราษฎรอีกแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพระมหากษัตริย์ไทยกลายเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นครั้งแรก

ความจงรักภักดีใหม่นี้ คือความจงรักภักดีที่ข้าราษฎรพึงมีต่อพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง ที่เรารู้สึกว่าความจงรักภักดีของคนไทยไม่เหมือนใครในโลก เทียบกับประเทศที่มีกษัตริย์ในยุโรปไม่ได้ ญี่ปุ่นไม่ได้ แม้แต่กัมพูชาก็ไม่ได้ไปด้วย ทั้งนี้ ก็เพราะเป็นความรู้สึกที่เขาปลูกฝังกันในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบปกครองที่เกือบจะอันตรธานไปหมดแล้วในโลกปัจจุบัน และไม่มีในประเทศต่างๆ ที่เอ่ยถึงนั้นเลย แล้วจะให้เหมือนใครเขาได้อย่างไร
แม้จะผ่านวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาแล้ว ก็พยายามจะดำรงรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะดำรงรักษาความสัมพันธ์นอกระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ ทำได้สำเร็จก็เพราะมีปัจจัยทางสังคมหนุนช่วยอยู่หลายอย่าง

ผมอยากพูดถึงปัจจัยที่เป็นฐานแห่งความสำเร็จในการรักษาให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นสถาบันในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้
เท่าที่ผมนึกออก ผมคิดว่ามีอยู่สี่ประการด้วยกัน

1. รัฐสมัยใหม่ที่ ร.5 ทรงสร้างขึ้น และพัฒนาต่อมาหลัง 24 มิถุนายน สลายคนออกจาก "กลุ่ม" ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชุมชน, ศาสนา, คนในเก๊าผีเดียวกัน, คนในอาชีพเดียวกัน ฯลฯ อย่างน้อยโดยทฤษฎีและโดยกฎหมาย ทุกคนกลายเป็นปัจเจกบุคคล และกลายเป็นข้าราษฎร (หรือพลเมืองในสมัยต่อมา) ของรัฐเท่าเทียมกันหมด

สังคมที่เป็นปัจเจกนั้น เป็นสังคมที่พร้อมจะผูกพันตัวเองกับบุคคลที่เด่นขึ้นมาเหนือคนอื่น คนๆ นั้นจะเป็นนักการเมือง หรือนักปลุกระดม หรือใครก็ได้ ในเมืองไทยสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมมี "บารมี" เดิมของสถาบัน และดึงดูดความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนที่ถูกลิดรอนความผูกพันที่เคยมีกับ "กลุ่ม" ต่างๆ ได้มากที่สุดอยู่แล้ว หลัง 2500 พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีบทบาทนำอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ ทาง

จึงเป็นธรรมดาที่จะเรียกร้องความจงรักภักดีจากประชาชนซึ่งไม่มีอะไรอื่นให้ "จงรักภักดี" ได้อีก


2. ทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ผมคิดว่าหัวใจสำคัญสุดของประชาธิปไตยคืออำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกัน แต่ "กลุ่ม" หรือสถาบันและองค์กรซึ่งเกิดขึ้นหลัง 24 มิถุนายน 2475 ไม่เป็นพื้นที่ต่อรองของประชาชนอย่างเป็นมรรคเป็นผลนัก รัฐสภามีอายุไม่ยั่งยืน, พรรคการเมืองไทยไม่ได้เป็นสะพานเชื่อมต่อให้ประชาชนต่อรองนโยบายสาธารณะได้จริง, สหภาพแรงงานถูกควบคุมอย่างรัดกุมไม่ให้มีบทบาทใดๆ, สมาคมชาวนาเกิดๆ ดับๆ ไปพร้อมกับผู้นำ, สมาคมวิชาชีพส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจต่อรองในเชิงที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนในอาชีพได้จริง ฯลฯ 
สถาบันและองค์กรเหล่านี้ล้มเหลวเอง หรือถูกทำให้เชื่อว่าล้มเหลวก็ตาม แต่ผู้คนพากันสิ้นหวังกับสถาบันหรือองค์กรเหล่านี้

แต่ในทางตรงกันข้าม หลัง 2500 เป็นต้นมา สถาบันพระมหากษัตริย์กลับเป็นพื้นที่สำหรับการต่อรองของคนหลากหลายประเภท เช่น สมัยผมยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ นักศึกษาที่ถูกลงโทษหนักเพราะยกพวกตีกัน แต่เมื่อมีโอกาสถวายฎีกาขอรับพระราชทานอภัยโทษ ก็มักได้รับการเว้นโทษหรือลดโทษจากมหาวิทยาลัยในทันที 
ฉะนั้น อาจพูดสั้นๆ ได้ว่า ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยไทยนั่นแหละ (เพราะเหตุใดก็ตามที) ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นความสัมพันธ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ได้


3. พระมหากษัตริย์เป็นบุคลาธิษฐานของอุดมการณ์แห่งชาติ ข้อนี้ดูเหมือนจะปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ ร.6 แล้ว กล่าวคือชาติและศาสนานั้น เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ในขณะที่พระมหากษัตริย์มีบุคคลจริงในสถาบันนั้น พระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นตัวแทนของชาติ และศาสนาไปโดยปริยาย 
ผู้ต้องหาในคดี 112 มักถูกมองว่าไม่รักชาติ หรือเป็นคนไม่มีศีลธรรมไปโน่นเลย เป็นต้น


4. ผมคิดว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทุกแห่งในโลกนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีสื่อสมัยใหม่ ผมไม่อยากให้คิดถึงแต่หนังสือพิมพ์, วิทยุ, ภาพยนตร์, แต่อยากให้คิดถึงถนนหนทางและการคมนาคมที่ดึงคนเข้ามาดูงานฉลองของพระราชาอย่างล้นหลามด้วย เช่น เมื่อ ร.5 เสด็จนิวัติพระนคร หรือเสด็จเปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือเสด็จประพาสตามที่ต่างๆ หรืองานประจำปีที่วัดเบญจมบพิตร หรือสร้างพระราชวังที่ประทับใหม่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ฯลฯ

สิ่งที่ผมได้เห็นในสมัยเป็นเด็กก็คือพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.5 ซึ่งติดอยู่ตามสถานที่ราชการ (แม้เป็นรัชกาลที่ 8 แล้ว) นั่นคือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวที่แจกจ่ายไปให้ประชาชนได้เห็นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย จึงติดค้างกันมาเรื่อยจนเปลี่ยนรัชกาลไปนานแล้ว นั่นก็เป็นสื่อสมัยใหม่อย่างหนึ่งเหมือนกัน


แน่นอนครับ สื่อเป็นดาบสองคม อาจกลายเป็นเครื่องบั่นรอนความจงรักภักดีของประชาชนก็ได้
แต่สื่อไทยอยู่ในความควบคุมเสมอมา จึงยังเป็นเครื่องมือขยายพระบารมีให้กว้างไกลได้ตลอดมา และในทุกวันนี้ ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเรานั้นเห็นได้ชัดมากในสื่อ


นี่แหละคือความจงรักภักดีของไทยซึ่งไม่เหมือนใครในโลก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เป็นความจงรักภักดีต่อบุคคลหรือต่อสถาบัน

หากเป็นความจงรักภักดีต่อบุคคล ก็ไม่อาจสืบทอดต่อไปได้ หากเป็นความจงรักภักดีต่อสถาบัน ก็อาจสืบทอดต่อไปได้อีกนาน



.