http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-14

“สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย” และ“แม่โขง โฮเต็ล” โดย คนมองหนัง

.

“สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย” และ “แม่โขง โฮเต็ล”: หนังอีสานอิสระในระยะเปลี่ยนผ่าน
โดย คนมองหนัง www.facebook.com/konmongnangweekly  คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 84


"สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย" เป็นหนังยาวเรื่องแรกของ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ผู้กำกับฯ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ทำหนังสั้นมาหลายเรื่อง
ขณะที่ "แม่โขง โฮเต็ล" เป็นผลงานความยาว 61 นาที ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 
หนังไทยอิสระทั้งสองเรื่องนี้กำลังเดินทางไปฉายโชว์/ประกวดตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก 
อย่างไรก็ตาม ผลงานของวิชชานนท์และอภิชาติพงศ์ดูคล้ายจะมี "จุดร่วม" กันมากกว่านั้น


"สิ้นเมษาฯ" บอกเล่าเรื่องราวซ้อนทับสลับไปมาระหว่าง "เรื่องจริง" หรือสารคดีอัตชีวประวัติของผู้กำกับฯ และครอบครัว กับ "เรื่องแต่ง" ที่ถูกสร้างขึ้น 
แม้พรมแดนระหว่าง "เรื่องจริง" กับ "เรื่องแต่ง" ในหนังของวิชชานนท์ จะไม่ได้กลมกลืนแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน 
แต่ "เรื่องเล่า" ทั้งสองลักษณะก็มิได้ถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด หากถูกนำมาจัดวางให้ดำรงอยู่เคียงคู่กัน กระทั่งหนังอาจบกพร่องความสมบูรณ์ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้า "เรื่องเล่า" แบบใดแบบหนึ่งปลาสนาการไป

"เรื่องจริง-เรื่องแต่ง" ที่ผสมผสานกันใน "สิ้นเมษาฯ" เล่าเรื่องราวของคนหนุ่มเชื้อสายอีสาน ลูกชายผู้อำนวยการโรงเรียน (ผู้ทำกิจการคอกม้าแข่งเป็นงานอดิเรก) ซึ่งเดินทางมาศึกษาต่อและทำงานใน กทม. เมื่อประสบอุปสรรคกับการเรียน/การทำงานในเมืองหลวง ชายหนุ่มจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปพักใจ/ถ่ายทำหนังส่วนตัวที่บ้านเกิด จังหวัดขอนแก่น 
แล้วทั้งความทรงจำจากอดีตและวิถีชีวิตในปัจจุบันก็พรั่งพรูท่วมทะลักออกมาปนเปกัน ผ่านการไปร่วมงานแต่งงานของแฟนเก่า, การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสกับเพื่อนสาวรุ่นพี่ที่มีครอบครัวแล้ว, ความรู้สึก "บาดแผล" ระหว่างพ่อกับลูก, เรื่องเล่าของบ้านเก่าที่ถูกไฟไหม้, ตำนานปรัมปราท้องถิ่นเกี่ยวกับแม่น้ำชี 
เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 2553 ที่ปรากฏอยู่ในจอโทรทัศน์

จากความกำกวมระหว่าง "เรื่องจริง" กับ "เรื่องแต่ง" พรมแดนของ "สิ้นเมษาฯ" ค่อยๆ ถูกขยายขอบเขตไปพูดถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่อง "ส่วนตัว" กับ "ส่วนรวม" หรือชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคลที่ไปสอดคล้องต้องตรงกับชะตากรรมของประเทศชาติ
องค์ประกอบน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ วิชชานนท์เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านมุมมองและวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลชาวอีสานร่วมสมัย ซึ่งไม่ใช่คน "โง่-จน-เจ็บ" หรือ "ตัวตลก" ที่ไหน 

อย่างไรก็ดี คนอีสานในหนังเรื่องนี้ก็มิได้เป็นแรงงานพลัดถิ่นในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่อพยพเข้ามาเผชิญโชคในเมืองหลวง, เขามิใช่ "ชาวบ้านชนบทผู้เรียนรู้โลกกว้าง" จากการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปขายแรงงานที่ต่างแดน 
นอกจากนี้ เขายังไม่ได้เป็นหนึ่งในมวลมหาประชาชนคนเสื้อแดงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเคลื่อนพลเข้ามาเรียกร้องประชาธิปไตยถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร
ตรงกันข้าม ปัจเจกบุคคลชาวอีสานใน "สิ้นเมษาฯ" เป็นคนชั้นกลางอยู่บ้านทาวน์เฮ้าส์ มีพ่อเป็นข้าราชการระดับกลาง เขาพูดภาษาไทยกรุงเทพฯ กับสมาชิกในครอบครัว (แต่เว้าลาวกับเพื่อน) เขามีโอกาสมากพอที่จะเข้าถึงการศึกษาระดับสูง (คือ เริ่มเรียนปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ก่อนจะลาออกมาเรียนทำภาพยนตร์)
เขามีคนรักลับๆ ผู้อ่านหนังสือของ อัลแบร์ กามูส์ แต่เธอก็ไปร้องคาราโอเกะเพลงของ ศิริพร อำไพพงษ์ พร้อมๆ กับที่ชื่นชอบเพลงของคิดแนปเปอร์ส วงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปในยุคอัลเทอร์เนทีฟเบ่งบานปลายทศวรรษ 2530

ตัวละครนำของ "สิ้นเมษาฯ" ไม่ได้กระตือรือร้นในทางการเมือง เขาเดินสวนทางกับเพื่อนร่วมภูมิภาคจำนวนมาก เพื่อจะมานอนดูข่าวทีวีแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น ณ บ้านเกิด ขณะที่เพื่อนชาวอีสานเหล่านั้นกำลังถูกปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในกรุงเทพฯ 
ทว่าถึงที่สุดแล้ว "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็มิได้สาบสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยจากชีวิตและความทรงจำส่วนบุคคลของคนหนุ่มชาวอีสานในหนัง 
หากร่องรอยบาดแผลทางการเมืองดังกล่าวได้ปรากฏขึ้นอย่างรางๆ ผ่านความเห็นของตัวละครซึ่งรู้สึกว่าดีแล้ว ที่ตนเองไม่ได้เป็นทหารเหมือนกับที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้ในตอนเด็ก 
ตลอดจนภาพสี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์ซึ่งถูก "ชำระล้าง" ให้กลับคืนสู่สภาพปกติในตอนจบของภาพยนตร์ ยามเมื่อคนหนุ่มอีสานรายนี้เดินทางหวนคืนสู่ กทม. อีกครั้งหนึ่ง



"แม่โขง โฮเต็ล" มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับ "สิ้นเมษาฯ" เป็นอย่างยิ่ง หนังเล่าเรื่องราวซ้อนทับระหว่าง "เรื่องแต่ง" กับ "เรื่องจริง" หรือสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นจาก "เรื่องแต่ง" ประเภทแรก 
(อภิชาติพงศ์ถือเป็นผู้แผ้วถางวิธีวิทยาในการทำหนังแนว "กึ่งเรื่องแต่งกึ่งสารคดี" เช่นนี้ มาตั้งแต่ครั้งที่เขาลงมือสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของตนเอง คือ "ดอกฟ้าในมือมาร" เมื่อปี พ.ศ.2543)
"เรื่องเล่า" ทั้งสองลักษณะกลืนกลายเข้าหากันจนแทบไร้รอยตะเข็บ กระทั่งคนดูไม่สามารถแบ่งแยกได้ง่ายๆ ว่าเนื้อหาส่วนใดคือ "เรื่องแต่ง" หรือ "เรื่องจริง" 

หนังเรื่องนี้ถือเป็นงานของอภิชาติพงศ์ที่ดูได้แบบผ่อนคลาย เหมือนผู้ชมกำลังนั่งสังเกตการณ์การเดินทางมาพักผ่อนในโรงแรมริมแม่น้ำโขงของผู้กำกับชื่อดัง ตลอดจนทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์และกลุ่มนักแสดงขาประจำของเขา 
หนังบอกเล่าเรื่องราวของกองถ่ายภาพยนตร์แนว "ผีปอบ" อันเป็นความเชื่อท้องถิ่นในภาคอีสาน, เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีปอบแม่ที่กินตับไตไส้พุงของลูกและคนรักของลูก (หรือส่งมอบ "ความเป็นปอบ" ให้แก่คนรุ่นหลัง), ความเชื่อเรื่องชาติภพ,  การสนทนาว่าด้วยประเด็นที่สามัญชนสามารถพูดคุยกันได้อย่างคล่องปากในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาและเธอ แต่ประเด็นเช่นนั้นกลับถูกนำเสนอออกสู่พื้นที่สาธารณะได้อย่างยากลำบาก 
รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วม กทม. ปี 2554 ซึ่งบรรดาตัวละครในภาพยนตร์ได้รับรู้ผ่านทางข่าวโทรทัศน์

"เรื่องเล่า" หลากหลายเหล่านั้น ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความทรงจำทางการเมืองในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางบริบทสงครามเย็น โดยมีเสียง "เพลงศักดิ์สิทธิ์-ปลุกใจ" ในยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งอภิชาติพงศ์นำมาบิดพลิ้วท่วงทำนองให้กลายเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ของตนเองได้อย่างร้ายกาจ ทรงพลัง ชวนขบคิดตีความ และไม่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาดั้งเดิม ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการร้อยเรียงปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกัน 
ประวัติศาสตร์ความทรงจำเรื่องสงครามประชาชน อันเป็นมรดกตกทอดมาจาก "ลุงบุญมีระลึกชาติ" จึงยังกรุ่นกำจายอยู่อย่างเข้มข้นในผลงานชิ้นใหม่ของคนไทยรายแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำผู้นี้

เช่นกันกับปัจเจกบุคคลชาวอีสานใน "สิ้นเมษาฯ" ป้าเจน นักแสดงคู่บุญของอภิชาติพงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของ "แม่โขง โฮเต็ล" ก็เป็นปัจเจกบุคคลชาวอีสานที่ไม่สามารถถูกจับยัดใส่เข้าไปใน "ภาพเหมารวม" ของ "คนอีสานแบบเดิมๆ" ได้อย่างง่ายดาย
ป้าเจนเป็นคนอีสานที่มีลูกย้ายไปลงหลักปักฐานทำงานในกรุงเทพฯ เธอจึงรู้สึกตื่นตระหนกกลุ้มใจระหว่างนั่งชมข่าวน้ำท่วมเมืองหลวงจากจอทีวี

สตรีวัยกลางคนรายนี้กำลังจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวครั้งใหม่กับชาวต่างชาติ นอกจากนั้น เธอยังเคยมีประสบการณ์ถูกกล่อมเกลาโดยรัฐไทยให้มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เธอกลับรู้สึกไม่พอใจที่คนลาวอพยพได้รับการดูแลจากรัฐบาลไทยและอเมริกาเป็นอย่างดี
ขณะที่คนท้องถิ่นเช่นตัวเองกลับมีฐานะยากจนไม่มีจะกิน




วิชชานนท์และอภิชาติพงศ์ล้วนเป็นคนขอนแก่น พวกเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวคนชั้นกลางที่มีสถานะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมั่นคง (วิชชานนท์เป็นลูกครูใหญ่ ส่วนอภิชาติพงศ์เป็นลูกหมอ)  
คนหนึ่งมีวิถีชีวิตเหมือนกับหนุ่มสาวชาวอีสานอีกหลายราย ซึ่งเดินทางเข้ามาเติบโต เปลี่ยนผ่าน และทำความเข้าใจกับอัตลักษณ์ของตนเองในมุมมองใหม่ที่กรุงเทพฯ 
ส่วนอีกคนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วตัดผ่านข้าม กทม. ไปเผชิญหน้ากับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ชิคาโก กระทั่งกลายเป็นศิลปินไทยผู้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติมากที่สุดรายหนึ่ง

วิชชานนท์และอภิชาติพงศ์จึงไม่ต่างอะไรกับตัวละครของพวกเขา ที่ด้านหนึ่ง ก็มิใช่ชาวอีสานใน "ภาพจำ (ลอง)" ซึ่งคนหรือสื่อมวลชนจากส่วนกลางมักชอบทึกทักและคิดเข้าใจไปเอง 
ยิ่งกว่านั้น ยังดูเหมือนว่าวิถีชีวิตและโลกทัศน์ของทั้งคู่ได้เคลื่อนย้ายขยับขยายไปไกล เกินกว่าที่พวกเขาจะสามารถหวนย้อนกลับมาตั้งรกราก ณ บ้านเกิด 
เหมือนกับที่สุดท้ายแล้ว ตัวละครนำใน "สิ้นเมษาฯ" ต้องเดินทางกลับเข้าไปแสวงหาความก้าวหน้าที่ กทม. ส่วนอภิชาติพงศ์และเพื่อนๆ ก็เป็นเพียงนักท่องเที่ยวผู้เดินทางมาถ่ายหนัง-พักผ่อนที่โรงแรมริมแม่น้ำโขง 

ความซับซ้อนทางอัตลักษณ์ไม่ได้ยุติลงเพียงแค่นั้น เพราะแม้ว่าปัจเจกบุคคลชาวอีสานในหนังทั้งสองเรื่องนี้จะมิได้เป็น "คนอีสานแบบเดิมๆ" ทว่า ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มิได้กลับกลายตนเองเป็น "คนกรุงเทพฯ/คนเมืองหลวง" อย่างเต็มตัว
อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็มีความทรงจำทางการเมืองบางประการอันแตกต่างจากความทรงจำของคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก (แน่นอนว่าในหมู่คนกรุงเทพฯ เอง ก็มีความทรงจำในประเด็นดังกล่าวไม่เหมือนกัน)


ดังได้กล่าวไปแล้วว่าหนังยาวเรื่องแรกของวิชชานนท์และผลงานล่าสุดของอภิชาติพงศ์ ล้วนเล่นกับรูปแบบ "เรื่องเล่า" ที่พร่าเลือนระหว่าง "เรื่องจริง" กับ "เรื่องแต่ง"
พวกเขานำรูปแบบอันลักลั่นกำกวมมาฉายภาพส่องสะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์อันแยกไม่ขาด ระหว่างความทรงจำและวิถีชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล กับบริบททางสังคม-การเมืองที่ก่อรูปและรายล้อมปัจเจกบุคคลเหล่านั้นอยู่

รูปแบบและเรื่องราวอันเลื่อนไหลของหนังอีสานร่วมสมัยทั้งสองเรื่อง อาจมีสถานะเป็นภาพแทนแห่งอัตลักษณ์ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวของคนอีสาน, เป็นภาพแทนของความสัมพันธ์ระหว่าง "ชนบท?" กับเมืองหลวงศูนย์กลางประเทศ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป, เป็นภาพแทนของการเปลี่ยนผ่านจากความทรงจำในอดีตมาสู่เรื่องเล่าและวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

ซึ่งทั้งหมดยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือไม่แน่ชัด ดุจเดียวกันกับอนาคตของสังคมการเมืองไทย?



.