http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-14

คลาสสิค กับ ซิมโฟนี โดย วีระ ทรรทรานนท์

.

คลาสสิค กับ ซิมโฟนี
โดย วีระ ทรรทรานนท์
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 84


คลาสสิค (Classic) กับ ซิมโฟนี (Symphony) เป็น 2 คำที่มีความหมายและความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่รวมอยู่ในคำว่า "ดนตรี" (Music) โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีตะวันตก 
หากภาษาของมนุษย์ปราศจากคำ 2 คำดังกล่าวนี้แล้ว ดนตรีที่ดังอยู่ในโลกปัจจุบันก็แทบจะหมดความหมายไปอย่างน่าอาลัยยิ่ง

ลองใช้จินตนาการดูเพียงนิดเดียวว่า หากโลกนี้ว่างเว้นดนตรียุคคลาสสิค คือหมดยุคบาโรก (Baroque) แล้วก้าวข้ามมาถึงยุคโรแมนติก (Romantic) เลย คือดนตรียุคคลาสสิคได้ขาดช่วงหายไป และเราได้ยินได้ฟังแต่โซนาตา (Sonata) กันเท่านั้น โดยไม่มีซิมโฟนี พฤติกรรมบันเทิงเชิงศิลปศาสตร์ได้หดหาย 
หรืออีกนัยหนึ่งมีแต่คีตกวีที่สามารถ ทว่า ปราศจากซิมโฟนี โลกใบนี้จะดูแห้งแล้งและเงียบเหงาสักเพียงใด?


คลาสสิค คืองานศิลปะแบบกรีก-โรมัน งานชั้นสูงหรืองานชั้นมาตรฐาน งานที่มีท่วงทีแบบเก่าชั้นเยี่ยม หรือผลงานที่เป็นต้นแบบหาคนทำเสมอได้ยาก 
สำหรับคลาสสิคในทางดนตรี นักประวัติศาสตร์หมายถึงดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นระหว่าง ค.ศ.1750-1830 คือหลังยุคบาโรกและก่อนยุคโรแมนติก โดย ไฮดิน (Haydn), มทสาร์ต (Mozart), และเบโธเฟิน (Beethoven) บางคนได้รวมเอาดนตรีของ ชูเบิร์ต (Schubert) เข้าไว้ด้วย

ในระยะนี้ถือกันว่า การบรรเลงมีความสำคัญกว่าการขับร้อง รูปแบบที่นิยมกันมาก ได้แก่ ดนตรีประเภทโหมโรง (Overture), การแปรทำนอง (Variations), โซนาตา (Sonata), คอนแชร์โต (Concerto), ซิมโฟนี (Symphony) และดนตรีเชมเบอร์ (Chamber) เช่น trio, quartet, quintet ฯลฯ 
ดนตรีคลาสสิคมีเส้นทางเดินเริ่มตั้งแต่ 600 ปี หลังพระเยซูเกิด หรือ A.D.600 นับจากสมัยสันตะปาปาเกรกอรีที่หนึ่ง (The Great) ที่ได้มีระบบสเกล (scale) ดนตรีเกิดขึ้นในบทขับร้อง "เกรกอเรียน" (Gregorian chant) เป็นต้นมา
ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นต้นตระกูลของดนตรีคลาสสิคเลยทีเดียว


ปีสำคัญๆ ในยุคคลาสสิค ค.ศ.1750-1807 มีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ คือ

ค.ศ.1750 โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค ตาย ดนตรียุคคลาสสิคได้เริ่มต้นขึ้น

ค.ศ.1751 ฮันเดิล ประพันธ์ออราตอรีโอเรื่อง Jephtha ตาข้างซ้ายบอดสนิท

ค.ศ.1756 มทสาร์ต เกิดใน ซาลสบวร์ก, ออสเตรีย

ค.ศ.1760 ไฮดิน ประพันธ์ สตริง ควอร์เต็ต 10 บท เป็น โอปุส.1

ค.ศ.1765 มทสาร์ต ถวายฮาร์ปซิคอร์ดกับไวโอลินโซนาตา โอปุส.3 แด่พระราชินีชาร์ล็อต

ค.ศ.1770 เบโธเฟิน เกิดใน บอนน์, เยอรมนี

ค.ศ.1776 อเมริกาประกาศอิสรภาพ

ค.ศ.1785 มทสาร์ต ประพันธ์เปียโนคอนแชร์โตหมายเลขที่ 22 อี แฟลต เมเจอร์

ค.ศ.1787 เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ The American Constitutional Convention มทสาร์ต ประพันธ์ Don Giovanni

ค.ศ.1789 ปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศศ ยอร์ช วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา

ค.ศ.1791 มทสาร์ต ตายที่เวียนนาเมื่ออายุ 35 หลังจากประพันธ์ เรกวีแอม (Requiem) ไม่จบ ไฮดิน ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลขที่ 94 บทที่ชื่อ Surprise

ค.ศ.1798 ชูเบิร์ต ผู้นำของเพลง Lieder เกิด

ค.ศ.1809 นโปเลียน ประกาศตัวเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศส เบโธเฟิน เข้าใจว่านโปเลียนหลงตัวเอง โกรธมากถึงกับฉีกหน้าปกของ Eroica ซิมโฟนีหมายเลขที่ 3 ซึ่งเดิมตั้งใจเขียนสำหรับนโปเลียน

ดนตรียุคโรแมนติก (Romantic) เริ่มต้น




ในสมัยคลาสสิคนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การนำเปียโนมาใช้แทนฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord), คลาเวียร์ (Clavier) และ ออร์แกน (Organ) บทดนตรีขับร้องต่างๆ มีชื่อเสียงมากถึงขนาดเป็นอมตะ โดยเฉพาะ ออราตอรีโอ (Oratorios) ของ ไฮดิน กับ มาสเซส (Masses) ของ มทสาร์ต 
คลาสสิคเป็นดนตรีที่บรรยายถึงความงดงามและดุลยภาพของธรรมชาติ มากกว่าที่จะแสดงถึงความรู้สึก ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่มีความรู้สึก โดยทั่วไปมีความถาวรยืนยาวซึ่งมิใช่เป็นการชั่วคราว มีความหมายตรงกันข้ามกับเพลงประเภท light music หรือ popular หรือ folk หรือ jazz

บางคนบอกว่าเป็นดนตรีแบบเอาจริงเอาจังขึงขัง (serious music) ไม่ใช่ดนตรีแบบเล่นๆ 
มีอยู่บ่อยๆ ที่หมายถึง "คลาสสิคของเวียนนา" (Viennese classical) ซึ่งขณะนั้นนครเวียนนากำลังเป็นเมืองศูนย์กลางทางดนตรีของยุโรป ที่ใครๆ ก็มุ่งหน้าไปเวียนนากันทั้งนั้น ยกเว้น ชูเบิร์ต คนเดียว เพราะเกิดที่นั่น

สำหรับในประเทศฝรั่งเศส ดนตรีคลาสสิคหมายถึงดนตรีในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.1643-1715 และมีอยู่บ่อยครั้งที่ยังหมายถึงดนตรีของ ฌาง ฟิลิป ราโม (Jean Philippe Rameau) ค.ศ.1683-1764 ที่นับรวมเข้าไว้ด้วยกัน


Symphony มาจากภาษากรีก หมายถึงเสียงที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน (sounding together) เยอรมนีเรียก Sinfonie ฝรั่งเศสเรียก Symphonie อิตาลีเรียก Sinfonia และกรีก-ละติน เรียก Symphonia ซึ่งเป็นคำเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกันตามยุคสมัยและกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปนานกว่า 200 ปี เป็นเพลงใหญ่ที่ใช้นักดนตรีและเครื่องดนตรีจำนวนมาก
คีตกวีเอกของโลกแทบทุกคนได้ประพันธ์ซิมโฟนีกันทั้งนั้น เช่น โย ฮันเนส บราห์มส์ (Johannes Brahms) ประพันธ์ซิมนีไว้ 4 บท, เบโธเฟิน (Beethoven) ประพันธ์ 9 บท, มทสาร์ต (Mozart) ประพันธ์ 41 บท และ โจเซฟ ไฮดิน (Joseph Haydn) ประพันธ์ไว้ 104 บท ฯลฯ เป็นต้น


ในศตวรรษที่ 17-18 Sinfonia หมายความถึงเพลงโหมโรง หรือ Overture ของอุปรากร (Opera) ที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นดนตรีบทสั้นๆ ที่มี 3 ท่อน (movements) ในรูปแบบเร็ว-ช้า-เร็ว ซิมโฟนีมาเริ่มมี 4 ท่อนเมื่อหลังปี ค.ศ.1740 เป็นต้นมา

ปัจจุบันนี้ ซิมโฟนี หมายถึงบทดนตรีโซนาตาที่สำหรับบรรเลงโดยออเคสตรา (A sonata for orchestra) ที่มีหลายท่อน บางทีมีท่อนเดียวแต่หลายตอน (Sections) เยอรมนีเรียก ท่อนหรือ movement ว่า ซัตช์ (Satz) หมายความถึง sentence 
หรืออีกนัยหนึ่ง ออเคสตราที่บรรเลงซิมโฟนี เรียกได้ว่าเป็นวงดนตรีซิมโฟนีออเคสตรา



ซิมโฟนีบทหนึ่งมี 4 ท่อนเป็นมาตรฐาน ท่อนที่หนึ่งมีลักษณะกระฉับกระเฉงกระตือรือร้นอย่างมีชีวิตชีวา โดยปกติมีโครงสร้างเรียกว่า รูปแบบโซนาตา (Sonata form) ซึ่งมีทำนองหลัก (theme หรือ melodies) อยู่ 2 ทำนอง ทำนองแรกดังและมีพลัง ทำนองหลังเบาและนุ่มนวลเก่า เป็นทำนองหลักแบบเพลงร้องสำหรับขับร้องแบบของมทสาร์ตกับชูเบิร์ต บางคนเรียกทำนองหลักทั้งสองนี้ว่า masculine และ feminine melodies ตามลำดับ
บางคนคิดไกลไปถึงเหล็กกับไหม หรือไม่ก็หยางกับหยินไปโน่นก็มี 
อย่างไรก็ตามที โซนาตามีเพียง 2 ทำนองหลักเท่านั้น

ท่อนที่สองของซิมโฟนีมีลักษณะช้าแบบเพลงร้อง คล้ายกับผ่อนคลายจากท่อนแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประพันธ์ได้แสดงความสามารถในการแสดงออกซึ่งท่วงทำนอง มีโครงสร้างเป็นอิสระมากกว่า

ท่อนที่สามคล้ายกับเป็นท่อนเต้นรำ อาจเป็น มินูเอต์ (minuet) ระบำราชสำนัก หรือสแกร์ตโซ (Scherzo) หมายถึงตลก (joke) ที่มีความเร็วและทำนองสบายใจ โดยปกติอยู่ในจังหวะ 3/4 หรือสามจังหวะในหนึ่งห้อง ถ้านับจังหวะจะเป็น หนึ่ง-สอง-สาม, หนึ่ง-สอง-สาม โจเซฟ ไฮดิน (Joseph Haydn) ผู้มีสมัญญานามว่า Papa ของซิมโฟนี เป็นคีตกวีคนแรกที่ใช้ มินูเอต์ เป็นมาตรฐานในซิมโฟนี สังเกตได้จากท่อนที่สามของซิมโฟนีตั้งแต่หมายเลขที่ 31 ไปจนถึงหมายเลขที่ 104

ซิมโฟนีท่อนที่สามนี้ปกติมี 3 ตอน (sections) ตอนแรกจะมีมินูเอต์หรือสแกร์ตโซ ตอนต่อมาต่างกันตรงที่ใช้เครื่องดนตรีจำนวนน้อยกลุ่มกว่า เรียกว่าตอน ตรีโอ (trio) ตอนท้ายสุดจะเป็นมินูเอต์หรือสแกร์ตโซกลับมาให้ได้ยินอีกครั้งหนึ่ง

สรุปได้ว่าท่อนนี้เป็นลีลาของ Minuet-trio-Minuet หรือ Scherzo-trio-Scherzo

ท่อนจบท่อนสุดท้ายเหมือนกับกระโดดโลดเต้นร่าเริง ปกติจะมีความเร็วรุนแรงดุเดือดคล้ายกับโกรธ สำแดงความกล้าหาญฤทธิ์อำนาจของผู้ประพันธ์ของวงออเคสตรา และไม่แสดงออกซึ่งความรู้สึกลึกๆ ส่วนมากมักจะแสดงถึงความรู้สึกในช่วงเวลาที่ดีๆ 
ท่อนจบของซิมโฟนีนี้บ่อยครั้งจบอยู่ในรูปแบบของ รอนโด (rondo หรือ rondeau form) ที่มีสังคีตลักษณ์นำความคิดหลักเดิมกลับมาซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง คล้ายกับเป็นโครงสร้างรองของซิมโฟนี



คีตกวีรุ่นแรกที่ประพันธ์ซิมโฟนีเป็นชาว มิลาน (Milan) ในอิตาลี ชื่อ โซวานนี บัตติสตา ซัมมาร์ตินี (Giovanni Battista Sammartini) ได้ประพันธ์ไว้ 20 บทด้วยกันระหว่างปี ค.ศ.1720-1740 
มีซิมโฟนีหลายบทที่ประพันธ์ขึ้นโดยมีเอกลักษณ์เฉพาะในโอกาสต่างๆ เช่น 
Symphony of a Thousand ซิมโฟนีหมายเลขที่ 8 ของ มาห์เลอร์ (Mahler) ค.ศ.1906-1907 มิได้ใช้โครงสร้าง 4 ท่อน แต่มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นบทขับร้องละติน Veni creator spiritus ส่วนที่สองจาก เฟ้าสต์ (Faust) ของ Goethe ใช้ผู้แสดงมากกว่าพันคน

ถ้าจำไม่ผิด ประเทศไทยเคยใช้ซิมโฟนีบทนี้แสดงในงานพิธีต้อนรับสันตปาปาครามาเยือนเมื่อกว่าสิบปีก่อน

Symphony of Psalms ซิมโฟนีสำหรับขับร้องหมู่กับวงออเคสตรา ประพันธ์โดยสตราวินสกี (Stravinsky) ในโอกาสฉลอง 50 ปี ของ Boston Symphony Orchestra แสดงครั้งแรกในปี ค.ศ.1930 
และ Symphony on a French Mountaineer"s Song ซิมโฟนีแสดงเปียโนกับวงออเคสเตรา ประพันธ์โดย แด็งดี (d"lndy) เมื่อ ค.ศ.1886


ซิมโฟนีบทที่มีชื่อตรงกับชื่อของเรื่องนี้ คือซิมโฟนีที่ประพันธ์โดย โปรโคฟิเยฟ (Prokofiev) ชื่อ Classical Symphony เมื่อ ค.ศ.1916 เป็นซิมโฟนีหมายเลขที่ 1 โอปุส.25 ซึ่งถือกันว่าเป็นคีตนิพนธ์ตัวอย่างของยุค นีโอคลาสสิค (Neoclassicism) ใช้วงดนตรีขนาดเท่ากับของมทสาร์ต และไฮดิน ที่เคยใช้มาก่อน ในสไตล์คลาสสิคที่เป็นสมัยใหม่ (modern) ที่มีเสียงกระด้าง (dissonants) คือเสียงผสมที่เกิดจากโน้ตอย่างน้อย 2 ตัวโดยใช้แนวดนตรีที่เหมาะกับเครื่องดนตรี (music idiom)

หากเผอิญมีใครปุจฉาขึ้นว่า ดนตรีคลาสสิคนั้นเป็นฉันใด? 
คงวิสัชนาได้อย่างสั้นๆ แบบข้างต้น โดยจำกัดความอย่างเข้าข้างตนเองว่า เป็นดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคคลาสสิค
หรือดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันที่ประพันธ์ขึ้นตามรูปแบบโครงสร้างของคลาสสิคทุกประการ
ซิมโฟนีที่เกิดต่างสมัยย่อมถือได้ว่าเป็นดนตรีคลาสสิคด้วยกันทั้งสิ้น




.