http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-20

ความเปลี่ยนแปลงของโลกหนังสือ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
บทความก่อนหน้า - เสพศิลปะในโลกไซเบอร์ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ความเปลี่ยนแปลงของโลกหนังสือ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 100


งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิติ์ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ปรากฏว่ามีสถิติคนเข้าชมงานเกือบ 2 ล้านคน ถือเป็นสถิติที่สูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ด้านหนึ่ง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าปลาบปลื้ม เมื่อได้เห็นคนเกือบสองล้านคนไปเบียดเสียดกันชมและช็อปหนังสือกันในงาน

แต่ในอีกด้าน นี่ก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่ฟ้องให้เห็นปัญหาของอุตสาหกรรมหนังสือด้วยเช่นกัน
ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไรคงสรุปฟันธงกันได้ไม่ง่ายนัก แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คืออุตสาหกรรมหนังสือกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคอินเตอร์เน็ต

ขอหยิบเอาบทสรุปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังสือของต่างประเทศจากงานเขียนของศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา จอห์น ทอมป์สัน ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ พ่อค้าแห่งวัฒนธรรม หรือ เมอร์ชานจ์ ออฟ คัลเจอร์ ที่ เดอะ การ์เดียน เอามาเรียบเรียงลงไว้ในเว็บ


ทอมป์สัน สรุปการเปลี่ยนแปลงเป็นสามระยะ ระยะแรกคือสภาพแวดล้อมด้านการค้าปลีกหนังสือเปลี่ยนแปลง เครือข่ายร้านหนังสือขนาดใหญ่เข้ามาแทนที่ร้านหนังสืออิสระ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่หนังสือปกแข็งกลายเป็นหนังสือสำหรับตลาดในวงกว้างหรือแมสมาร์เก็ต 
ระยะที่สอง เกิดสายพันธุ์ใหม่ของนายหน้างานเขียนที่ทำงานเชิงรุก อาศัยเงินล่วงหน้าจากสำนักพิมพ์เพื่อผลิตผลงานตามสั่งป้อน และระยะสุดท้าย คือสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทมหาชนกลืนกินสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เคยเป็นองค์ประกอบใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือ 
ภายใต้กระบวนการดังกล่าว ทำให้วิธีคิดเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยคิดแบบระยะยาวในฐานะเจ้าของกิจการเอง กลายเป็นคิดระยะสั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ตลาดวอลล์สตรีตต้องการ พลังที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือกลายเป็นหรือถูกครอบงำโดยตลาดหุ้นซึ่งต้องการผลลัพธ์ระยะสั้นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสภาพของตลาดที่มีหนังสือน้อยจำนวนปกที่ขายได้ดีขายได้มาก กับหนังสือที่ขายได้ในปริมาณน้อย ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ของร้านหนังสือซึ่งมีอยู่จำกัดไม่เพียงพอจะรองรับหนังสือได้ทุกปก แต่ละร้านก็อยากจะขายหนังสือที่ขายได้มากๆ มากกว่า 
ชั้นหนังสือจึงกลายเป็นพื้นที่เช่าหากต้องการให้หนังสือขึ้นไปวางขายบนนั้น 

ทว่า อินเตอร์เน็ตเข้ามาขัดขวางกระบวนการดังกล่าวนี้ การเกิดขึ้นของเว็บไซต์ขายหนังสืออย่างอะเมซอนทำให้อุตสาหกรรมหนังสือเดินไปอีกทางหนึ่ง อะเมซอนไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่วางหนังสือบนชั้น ไม่มีปัญหากับหนังสือไม่ว่าจะประเภทพิมพ์มากขายดี พิมพ์น้อยขายไม่ดี 
เท่านั้นยังไม่พอ อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งยังนำมาซึ่งอีบุ๊ก อุตสาหกรรมหนังสือจึงยิ่งเผชิญกับปัญหาอันใหญ่โตกว่าที่เคยเจอมาก่อน ทว่า ก็เป็นปัญหาเดียวกับที่วงการอื่นเจอกันมาแล้ว ทั้งวงการเพลง หนัง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร



ในต่างประเทศเราจะพบกับการเปลี่ยนแปลงอันโกลาหลของวงการเหล่านี้ 

ล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมหนังสือ คือ การรวมตัวกันของสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานคือแรนดอม เฮ้าส์ กับ เพนกวิ้น เพื่อจะปักหลักซัดกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ค่อนข้างช้าอยู่นั่นเอง แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นในวงการอื่นๆ มาแล้ว แทนที่จะเป็นการปรับตัวเพื่อรุกจึงกลายเป็นการปรับเพื่อรับหรือเพื่อให้อยู่รอดได้



+++

เสพศิลปะในโลกไซเบอร์
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 100


ทุกวันนี้ที่เรากลายเป็นมนุษย์ออนไลน์มากขึ้น ใช้เวลาในแต่ละวันท่องผ่านไซเบอร์สเปซ พานพบเรื่องราวต่างๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นที่ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักคือการเสพงานศิลปะ ซึ่งแม้จะไม่เทียบเท่ากับการไปดูของจริงตามแกเลอรี่หรือมิวเซี่ยม แต่มันก็เป็นช่องทางที่ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีเว็บไซต์ใหม่ที่เป็นเว็บไซต์เสนองานศิลปะอีกเว็บไซต์คือ Art.sys เป็นเว็บไซต์ที่ต้องการจะเป็นแหล่งรวบรวมของงานศิลปะเพื่อให้คนเข้าถึงได้ มีระบบที่ทันสมัยแบบเน็ตฟลิกซ์ ในโลกของภาพยนตร์ หรือ แพนดอร่า ในโลกของเสียงเพลง
เป็นแหล่งของการค้นพบ ความอิ่มเอมใจ และการศึกษาในโลกของศิลปะ


ปัจจุบันเว็บ Art.sys มีพันธมิตรที่เป็นแกลเลอรี่ 275 แห่ง กับมิวเซี่ยมและสถาบันต่างๆ อีก 50 แห่ง จัดเก็บภาพงานศิลปะไว้เป็นไฟล์ดิจิตอลในระบบทั้งหมด 20,000 ภาพ ภายใต้โครงการที่เรียกว่า อาร์ต จีโนม โปรเจ็กต์ มีระบบติดตามเพจของศิลปิน และมีผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะที่สนใจ โดยไม่คิดสตางค์ 
ใครก็ตามที่มีอินเตอร์เน็ตจะสามารถเข้าถึงงานพวกนี้ได้ฟรี และมีใหม่มาเพิ่มทุกวัน แต่แน่นอนหากอยากจับจองเป็นเจ้าของผลงานจริงก็ต้องจ่ายเงินซื้อ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกชิ้นที่มีไว้สำหรับขาย 

ความจริงเว็บไซต์เสนองานศิลปะบนอินเตอร์เน็ตนั้นมีอยู่ไม่น้อย แต่ยังไม่มีในแนวแบบที่ Art.sys ที่พยายามจะเชื่อมโยงงานศิลปะกับระบบอัตโนมัติโดยคอมพิวเตอร์ให้เชื่อมโยงกันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจงานศิลปะ 
อีริกต์ ชมิดต์ แห่งกูเกิ้ลก็เป็นผู้ลงทุนคนหนึ่งใน Art.sys แม้ว่ากูเกิ้ลก็ทำ กูเกิ้ล อาร์ต โปรเจ็กต์ ของตัวเองอยู่ (www.googleartproject.com) และมีภาพอยู่มากกว่าที่ Art.sys มีในตอนนี้อีกด้วย แต่เป้าหมายของสองโครงการนี้แตกต่างกัน


กูเกิ้ล อาร์ต โปรเจ็กต์ ปัจจุบันมีภาพงานศิลปะทั้งภาพวาด ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม อยู่กว่า 30,000 ภาพ จาก 151 มิวเซี่ยม ใน 40 ประเทศ 
เป้าหมายก็ชัดเจนมากที่ว่าโลกนี้มีน้อยคนที่จะมีโอกาสเดินทางไปชมงานศิลปะตามมิวเซี่ยมด้วยตัวเอง การเข้าถึงงานศิลปะเหล่านี้ผ่านเว็บขยายช่องทางให้คนได้มีประสบการณ์ศิลปะมากขึ้น 
หรือจะไปที่ devianart.com แหล่งงานศิลปะที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ซึ่งถือเป็นแหล่งปล่อยของชั้นดีเท่าที่มีอยู่บนอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน

งานศิลปะช่วยเติมเต็มชีวิตบางด้านได้ไม่มากก็น้อย

ในช่วงเวลาที่การบ้านการเมืองเต็มไปด้วยวาทกรรมอันน่าเบื่อหน่ายของคนสองฝ่ายที่ตั้งหน้าตั้งตากล่าวหากันมากกว่าการสร้างความเข้าใจกันด้วยข้อเท็จจริงและความรู้ ไม่ว่าในประเด็นใดๆ ก็ตาม หลบไปเสพศิลปะในโลกไซเบอร์ก็ไม่เลวเสียทีเดียว



.