http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-26

นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเยือนไทยของโอบามา

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเยือนไทยของโอบามา
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:35:49 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ นสพ.มติชนรายวัน 26 พ.ย. 2555 )


ประธานาธิบดีโอบามาเยือนประเทศไทยทำไม? และเมื่อการเยือนผ่านไปแล้ว ได้ทิ้งนัยยะทางการเมืองอะไรไว้บ้าง?
มีการวิเคราะห์ในสื่อไทยและต่างประเทศต่อคำถามแรกหลายอย่าง ซึ่งผมขอนำมาเล่าอย่างย่อๆ ดังนี้

1. ดูเหมือนทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายหลักของการเยือนอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปครั้งนี้ของโอบามา คือพม่า เพราะยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดคือการส่งสัญญาณแก่ประเทศในเอเชียว่า สหรัฐจะหวนมารักษาอิทธิพลของตนในเอเชียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อถ่วงดุลกับมหาอำนาจคู่แข่งสำคัญคือจีน พม่าซึ่งจีนเข้าไปลงทุนหลายโครงการและกำลังอยู่ในระยะที่จะทบทวนความผูกพันที่มีกับจีน หากได้รับความเป็นมิตรจากสหรัฐ ก็จะทำให้อำนาจต่อรองแก่พม่ากับจีนสูงขึ้น พม่าจึงเป็นตัวส่งสัญญาณที่ดีที่สุด
ส่วนกัมพูชาซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิตในปีนี้ อย่างไรเสียประธานาธิบดีสหรัฐก็จะขาดการประชุมนี้ไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องเยือนกัมพูชาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตด้วยว่า กัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนิทสนมกับจีนมาก และจีนเป็นผู้ให้เงินช่วยเหลือแก่กัมพูชาสูงสุด

ถ้าต้องเยือนพม่าและเยือนกัมพูชา โดยไม่เยือนไทยเลย ก็ดูจะหมิ่นน้ำใจไทยมากไปหน่อย ฉะนั้นจึงต้องรวมไทยเอาไว้ด้วย การวิเคราะห์แนวนี้ไม่ได้ให้นัยยะสำคัญใดๆ แก่การเยือนไทยของโอบามา เป็นมารยาทที่ต้องทำแก่พันธมิตรเก่าแก่ของตนเท่านั้น


2. กระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงสักประมาณ 1 สัปดาห์ถึงการเยือนไทยของประธานาธิบดีว่า ต้องการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือในสามด้าน คือ ปัญหายาเสพติด, การค้ามนุษย์หรือสินค้าต้องห้ามอื่นๆ (เช่น อาวุธสงคราม หรือวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาวุธร้ายแรง), และการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยสหรัฐกับมหาวิทยาลัยไทย

แต่น่าประหลาดที่ทั้งสามเรื่องนี้ไม่ปรากฏเป็นข่าวสำคัญหลังการเยือน แสดงว่าถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศเพียงแต่จะกลบเกลื่อนเป้าประสงค์อันแท้จริงของการเยือนเท่านั้น ไม่ว่าเป้าประสงค์นั้นเป็นเพียงเรื่องมารยาท หรืออะไรที่สำคัญจริงๆ


3. ก่อนการมาถึงของประธานาธิบดีสัก 1 สัปดาห์เช่นกัน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐได้เข้ามาเยือนประเทศไทยก่อน และได้พบเจรจากับรัฐมนตรีกลาโหมไทยด้วย ข้อเสนอของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐก็คือ ต้องการให้ทหารสหรัฐและไทยทำงานร่วมกัน โดยสหรัฐจะขยายฐานความร่วมมือทางทหารไปยังประเทศอื่นด้วย ฉะนั้นทั้งสหรัฐและไทยจึงจะเชิญพม่าเข้าร่วมสังเกตการณ์การซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งจัดในประเทศไทยทุกปี 
ดูจากข้อเสนอแล้ว ความต้องการของสหรัฐคงไม่เป็นเพียงการฟื้นฟูความร่วมมือทางทหารกับไทยเท่านั้น แต่อยากใช้ไทยเป็นฐานในการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางทหารไปยังประเทศอื่น ทั้งในและนอกอาเซียน

สอดคล้องกับเป้าประสงค์ดังกล่าว สหรัฐอยากใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นที่ตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและภารกิจด้านมนุษยธรรมประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออก ซึ่งหากไทยตอบตกลง ก็คงต้องมีหน่วยปฏิบัติการทั้งด้านทหาร, กึ่งทหาร และพลเรือนเข้ามาประจำการที่ศูนย์นี้อยู่ไม่น้อย
การกลับสู่อู่ตะเภาของกองกำลังสหรัฐ ย่อมเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแก่จีน และประเทศอื่นในเอเชียว่า สหรัฐยังถือว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สหรัฐมีผลประโยชน์ถึงเป็นถึงตาย (vital interest) ของตนเองอยู่


4. สหรัฐอยากให้ไทยร่วมลงนามใน Trans-Pacific Partnership ซึ่งมีคู่เจรจากับสหรัฐอยู่เวลานี้แล้ว 11 ประเทศ เพราะสหรัฐเชื่อว่าหากไทยร่วมลงนาม ก็จะดึงให้ประเทศอื่นในเอเชียอีกหลายประเทศสนใจพอจะร่วมลงนามด้วย 
ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร หากได้ร่วมเป็นภาคีของ TPP ข้อมูลที่ปรากฏในเวลานี้ล้วนมาจากนักวิชาการสหรัฐเอง หรือสายที่สนับสนุน TPP ว่ากันว่าหากองค์กรนี้มีสมาชิกเอเชียสำคัญๆ ร่วมด้วย เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทยแล้ว ประเมินว่าองค์กรนี้จะทำให้เกิดรายได้ในเศรษฐกิจโลกถึงปีละ 451 พันล้านเหรียญใน พ.ศ.2568 มากกว่าที่องค์การการค้าโลกซึ่งแม้จะบรรลุผลตามข้อตกลงโดฮาโดยสมบูรณ์แล้วจะสามารถทำได้เสียอีก

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ไทยในฐานะส่วนหนึ่งของสายพานการผลิตด้านหัตถอุตสาหกรรมแห่งเอเชีย จะไม่เข้าร่วมด้วยย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยจะตกรถไฟในทันที 
บางคนมองว่า ไทยนั่นแหละจะมีรายได้จากการเข้าร่วมเพิ่มขึ้นถึงปีละ 7.6% มากเป็นที่สองรองจากเวียดนาม อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้นายกรัฐมนตรีไทยยังไม่ได้ผูกมัดอะไรมากไปกว่าแสดงความสนใจที่จะร่วมเจรจา แต่ก็คาดหวังได้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายอย่างแน่นอน ทั้งเรื่อง TPP และการใช้สนามบินอู่ตะเภา เพราะทั้งสองเรื่องล้วนมีฝ่ายได้และฝ่ายเสียในประเทศไทย



ต่อคำถามข้อสองคือ การเยือนของประธานาธิบดีโอบามามีนัยยะทางการเมืองอะไรอีกบ้าง ผมไม่ค่อยได้พบบทวิเคราะห์วิจารณ์ในสื่อมากนัก จึงขอตั้งข้อสังเกตส่วนตัว ซึ่งไม่มีข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรนัก
หากไม่นับการมาเยือนตามมารยาทแล้ว เป้าประสงค์ของสหรัฐต่อประเทศไทยดังที่กล่าวแล้ว ล้วนต้องการเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศไทยระดับหนึ่งทั้งสิ้น เพราะปราศจากเสถียรภาพทางการเมืองเสียเลย จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าตัดสินใจกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับไทยเช่นนั้นได้ อย่างดีก็เพียงผัดผ่อนไปเรื่อยๆ โดยไม่เดินหน้าเลย

สหรัฐนั้นเคยชินกับเสถียรภาพทางการเมืองของไทยตลอดสมัยสงครามเย็น ถ้าทำให้รัฐบาลไทยร่วมมือในเรื่องอะไรแล้วก็เดินหน้าได้เลย ไม่ต้องห่วงว่าไทยจะพลิกผันกลางคัน สหรัฐสนับสนุนกลุ่มคนที่ช่วยเสริมเสถียรภาพทางการเมืองนี้ไว้หลายกลุ่มในเมืองไทย มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายเรื่อง เรียกว่าเป็น "พันธมิตร" ขนานแท้ของสหรัฐประจำไทยก็ว่าได้ นโยบายของสหรัฐที่มีต่อไทยมีฐานอยู่กับคนกลุ่มนี้ 
คนพวกนี้ก็ยังอยู่ แม้ไม่ได้มีอำนาจเท่าเก่า แต่อำนาจที่ยังรักษาไว้ได้ก็ใช่ว่าจะน้อยนิดจนไร้ความหมาย
แต่ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว อย่างที่สหรัฐก็รู้ว่าเปลี่ยนไปแล้ว สหรัฐไม่สามารถใช้เฉพาะพันธมิตรหน้าเดิมเป็นฐานให้แก่นโยบายของตนได้อีกต่อไป และท่าทีของสหรัฐต่อไทยที่เกาะอยู่กับกลุ่มพันธมิตรหน้าเดิมกลุ่มเดียว อาจไม่ให้ผลเหมือนเก่า

ปัญหาอยู่ที่ว่าสหรัฐจะปรับเปลี่ยนท่าทีนี้ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดในไทยหรือไม่
นักวิชาการบางท่านบอกว่ายังมองไม่เห็นสัญญาณ


แต่ผมคิดว่าพอมีสัญญาณนั้นให้เห็นได้ในการเยือนของโอบามาครั้งนี้ ในการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี... และผมขอย้ำว่าในการแถลงข่าว ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะต้องถูกเผยแพร่ ไม่ใช่ในการเจรจาระหว่างสองฝ่าย...โอบามากล่าวว่ามีความยินดีที่ได้ร่วมยืนแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีไทยที่มาจากการเลือกตั้ง และแสดงความชื่นชมความเติบโตของประชาธิปไตยในเมืองไทย

อันที่จริง ประธานาธิบดีสหรัฐเคยยืนเคียงข้างจอมเผด็จการด้วยความยินดีมามากแล้ว ฉะนั้นประโยคนี้ไม่ต้องพูดก็ได้ ชื่นชมนายกรัฐมนตรีไทยที่พยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสหรัฐและไทยไว้ก็พอ หรือชื่นชมประเทศไทยที่ให้โอกาสอันเท่าเทียมแก่ชาวอเมริกันในประเทศไทยก็ได้ ฯลฯ ผมจึงคิดว่าเป็นประโยคที่โอบามาตั้งใจจะพูด เพื่อบอกให้คนไทยรู้ว่า อเมริกันไม่ และจะไม่อยู่เบื้องหลังความพยายามล้มรัฐบาลนี้ด้วยวิถีทางนอกลู่นอกทางประชาธิปไตย และสหรัฐไม่สนับสนุน

แต่การปกป้องรัฐบาลนี้เพียงอย่างเดียว ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองในไทยได้ สหรัฐต้องยอมรับว่าแม้พันธมิตรเก่าจะลดอำนาจลง แต่ก็ยังมีอำนาจอยู่สูง จึงได้ขอเข้าเฝ้าฯประมุขของประเทศเป็นรายการแรกในการเยือนไทย

ผมเดาว่าทางฝ่ายสหรัฐเป็นผู้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯเอง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับความจงรักภักดีอย่างสูงจากพันธมิตรของสหรัฐ

น่าสังเกตด้วยว่า การเข้าเฝ้าฯไม่ใช่พิธีทางการทูตที่ประมุขต่างประเทศจะเข้าเฝ้าฯประมุขของไทย เพราะในกรณีเช่นนั้นอาจเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯแทนก็ได้ และของขวัญที่ถวาย (และพระราชทานตอบแทน) มีลักษณะเป็นส่วนตัวมากกว่าลักษณะทางการ นอกจากนี้โอบามาไม่ได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระสีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา

ปัญหาน่าจะมาอยู่ที่ว่า การวางตัวเป็นกลางที่เอียงข้างประชาธิปไตยของสหรัฐเช่นนี้ จะมีพลังเพียงพอที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในไทยตามความประสงค์ของสหรัฐหรือไม่



.