http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-20

ข่าวสารล้นเกิน กับพัฒนาการของอารยธรรม โดย อนุช อาภาภิรม

.

ข่าวสารล้นเกิน กับพัฒนาการของอารยธรรม
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 39


อารยธรรมมนุษย์พัฒนาขึ้นโดยการสร้างข่าวสารมากขึ้นทุกที
ข่าวสารความรู้เหล่านี้ที่สำคัญเกิดจากการปฏิบัติทางสังคม มีการไหลเวียน การแลกเปลี่ยนแบ่งปันภายในสมาชิกของสังคมอย่างเข้มข้น และมีหลายระดับด้วยกัน
ที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ ด้านการผลิตและการผลิตซ้ำทางวัตถุหรือด้านเศรษฐกิจที่ช่วยธำรงและพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ให้ซับซ้อนขึ้นโดยลำดับ

ความรู้ทางการผลิตนี้ประกอบด้วยหลายมิติ 
ได้แก่ มิติทางด้านอัตวิสัยของผู้คน ประกอบด้วยความแข็งแรงทางกายภาพ ความรู้และประสบการณ์ เป็นต้น ไปจนถึงด้านภววิสัยได้แก่เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดการองค์กรและกระบวนการผลิต รวมถึงสถาบันทางสังคมต่างๆ 
และท้ายสุด ได้แก่ ธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นทรัพยากรในการผลิต


ดังนั้น จะเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่ใหญ่มาก การศึกษาและการส่งข่าวสารภายในสังคมส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้คือ มนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

ระดับถัดไปเป็นความรู้ทางการเมือง มีวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ เป็นต้น เป็นความรู้เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะและการตัดสินใจทางการเมือง
ความรู้ในปริมณฑลนี้มักมีการถกเถียงเข้าข้างกันอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นความรู้เพื่อชิงอำนาจและผลประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มันงอกออกจากความขัดแย้งในกระบวนการผลิตและการแบ่งปันความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ท้ายสุดเป็นความรู้ทางด้านวัฒนธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับปทัสถานและคุณค่าหรือค่านิยม ที่ฝังอยู่ในรูปของความเคยชินในการดำเนินชีวิตประจำวัน ข่าวสารความรู้ทางด้านวัฒนธรรมดูเหมือนเป็นเรื่องทางจิตใจ แต่แท้จริงมีรากฐานจากการผลิต และ "ธรรมชาติ" ของมนุษย์ ทั้งยังสามารถพัฒนาไปอย่างเป็นอิสระในระดับหนึ่ง ก่อตัวเป็น รูปการจิตสำนึกที่ค่อนข้างคงทนต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ความเชื่อทางศาสนา การยึดมั่นในอุดมการณ์ และความเคยชินต่างๆ ดังนั้น แม้แต่ชีวิตในสังคมออนไลน์ก็สามารถแสดงบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากทีเดียว 
ควบคู่กับข่าวสารความรู้ของสังคม ยังมีข่าวสารความรู้จำนวนมากที่มีลักษณะเป็นส่วนบุคคล ที่กล่าวได้ว่ามีความเข้มข้นน้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้ถูกนำมาไหลเวียนหรือนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันอย่างกว้างขวาง
ความรู้ส่วนบุคคลนี้บางอย่างอาจกลายเป็นความรู้ทางสังคมได้


ข่าวสารล้นเกินมีลักษณะอย่างไร

เรื่องข่าวสารล้นเกิน (Information Overload) นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มอารยธรรมมนุษย์ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย จนในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าถึงจุดวิกฤติ นั่นคือการเพิ่มพูนข่าวสารขึ้นอีกย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและตัวมนุษย์เองอย่างรุนแรงยิ่ง ด้านหนึ่งก่อขีดจำกัดแก่อารยธรรมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน อีกด้านหนึ่งกระทบต่อกระบวนวิวัฒน์ของมนุษย์เอง 
ลักษณะของภาวะข่าวสารล้นเกินมีที่สำคัญดังนี้คือ

1. ข่าวสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงาน และการเติบของประชากรอย่างรวดเร็ว ถ้าหากย้อนไปในช่วงประวัติศาสตร์ 2 พันปี จะพบว่าในยุคที่ผู้คนยังใช้แรงงานคนแรงงานสัตว์อยู่ รายได้ต่อหัวของประชากรโลกนั้นโตขึ้นน้อยมาก เรียกได้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะคงตัว 
เพิ่งมาถึงปลายศตวรรษที่ 18 ที่มีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำและใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่เศรษฐกิจของประเทศตะวันตกได้ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาตินั้น แท้จริงเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 20 นี้เอง เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและน้ำมันเป็นเชื้องเพลิง 
ซึ่งเราได้เห็น "การระเบิด" ในหลายด้าน ได้แก่ การระเบิดทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี การระเบิดของประชากร และการระเบิดของข่าวสาร ข่าวสารที่ขึ้นอยู่กับพลังงานเชิงกลและพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เช่น ที่รัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีของสหรัฐที่เผชิญเคราะห์กรรมอันน่าเศร้าจากมหาเฮอร์ริเคนแซนดี อาคารบ้านเรือนหลายล้านแห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ 
ในช่วงเวลานี้ก็คาดหมายได้ว่าการผลิตข่าวสารและการสื่อสารในชุมชนดังกล่าวจะลดน้อยลงเป็นอันมาก


2. การเพิ่มพูนของข่าวสารนั้นขึ้นอยู่กับการประดิษฐ์และความพร้อมทางสังคม ที่ขับเคลื่อนสังคมให้มีความซับซ้อนขึ้น การเพิ่มพูนทางข่าวสารนี้อาจแบ่งเป็นยุคต่างๆ 4 ยุคใหญ่
ยุคแรกเป็นระยะเริ่มต้นมีการประดิษฐ์ที่สำคัญอยู่ในกลุ่มการสร้างตัวอักษรและตัวเลข กระดาษและการพิมพ์ เป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่เมื่อราว 6 พันปีมาแล้วจนถึงศตวรรษที่ 18 การประดิษฐ์อักษรทำให้ข่าวสารความรู้ไม่ต้องถูกจำไว้แต่ในสมอง แต่สามารถจดบันทึกไว้นอกกายได้ 
กระดาษช่วยให้สะดวกในการบันทึก เก็บรักษาและกระจายข่าวสาร พกพาเคลื่อนที่ได้ง่าย
การพิมพ์ช่วยให้ทำสำเนาได้มากขึ้น 
ในช่วงโบราณนี้มีจุดเด่นที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ การจัดตั้งห้องสมุดอเล็กซานเดรียในอียิปต์ สร้างขึ้นศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล

การพัฒนาสื่อและอุปกรณ์ในช่วงเริ่มแรกได้ขึ้นสู่กระแสสูง การประดิษฐ์แท่นพิมพ์เคลื่อนที่ได้ในยุโรปช่วงกลางศตวรรษที่ 15 ได้ทำให้เกิดการระเบิดของข่าวสารครั้งแรก 
ก่อนหน้านั้นหนังสือทุกเล่มใช้การเขียนและคัดลอกด้วยมือ หนังสือเล่มหนึ่ง ผู้คัดอาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปีหรือกว่านั้นจึงเสร็จ ทำให้หนังสือราคาแพงมาก และไม่ได้เข้าถึงโดยคนทั่วไป 
แต่หลังจากมีแท่นพิมพ์เคลื่อนที่ได้แล้ว เกิดการพิมพ์หนังสือขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งมีโฆษณาในหนังสือด้วย ต่อมามีหนังสือพิมพ์ (ค.ศ.1609 ในยุโรป)

การปฏิวัติทางข่าวสารนี้น่าจะมีบทบาทให้ยุโรปพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตไปอย่างรวดเร็ว และเดินทางไปสำรวจโลก ตั้งอาณานิคมในที่ต่างๆ และได้นำการสื่อสารแบบใหม่นี้ขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกา ระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ยุโรปได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย
 ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มขึ้นของข่าวสารและการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดขึ้นของศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ อุดมการณ์และการปฏิวัติประชาธิปไตย การเกิดรัฐชาติและสาธารณรัฐแบบใหม่ และยุโรปได้กลายเป็นศูนย์กลางโลก

ยุคที่ 2 อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นการเริ่มต้นของยุคโทรคมนาคม โดยมีโทรเลขเป็นหลัก ต่อมามีโทรศัพท์ รวมทั้งกล้องถ่ายภาพ และเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งค่อยๆ ขยายตัวไปอย่างช้าๆ เป็นที่เห็นชัดว่าการโทรเลขได้ช่วยให้เกิดโลกาภิวัตน์ครั้งแรกขึ้นในศตวรรษที่ 19 

ยุคที่ 3 อยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นการสื่อสารทางไกลที่ไร้สาย ได้แก่ วิทยุ และโทรทัศน์ นอกจากนี้ ยังได้พบการเติบใหญ่ของสื่อภาพยนตร์ ที่ได้กลายเป็นแหล่งของความบันเทิงใหม่ และที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอวกาศ

ยุคสุดท้ายนับแต่ปี 1960 ถึงปัจจุบัน เป็นก้าวสู่ยุคดิจิตัล อุปกรณ์การสื่อสารทั้งหลายที่กล่าวมารวมอยู่ในโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว 
ความสามารถในการสร้างข่าวสารและการสื่อสารดูประหนึ่งว่าไม่มีขีดจำกัด แต่แท้จริงมีความจำกัดบางประการในตัวมันเอง


3. เป็นที่สังเกตว่าภาวะข่าวสารล้นเกินนั้นมักจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง และเลื่อนไหลลงสู่นักวิชาการปัญญาชน (Technocrat) เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ต้องประมวลผลข้อมูลและข่าวสาร ส่วนชาวรากหญ้าทั้งหลายดูจะไม่ได้บ่นว่าอะไรมากนัก คงเลือกรับข่าวสารตามที่ถนัดหรือสนใจ

ตัวอย่างเสียงบ่นของชนชั้นสูง เช่น เซเนกา (4 BC.- AD 65) นักปรัชญาและรัฐบุรุษโรมันกล่าวในช่วงต้นคริสต์ศักราชว่า "หนังสือมากเกินไปก่อให้เกิดความไขว้เขว" 
ในสมัยกลาง มีผู้รู้คนสำคัญชาวฝรั่งเศส คือวินเซนต์แห่งโบไวส์ (Vincent of Beauvais 1190-1264) ผู้ เขียนงานสำคัญชื่อ "กระจกเงาบานใหญ่" เป็นสารานุกรมประมวลความรู้สมัยกลางของยุโรป มีหลายภาค ภาคที่ใหญ่ชื่อ "กระจกเงาแห่งธรรมชาติ" ประกอบด้วยหนังสือรวม 32 เล่ม หนาเกือบ 4 พันหน้า ท่านผู้นี้ได้บรรยายภาวะข่าวสารล้นเกินไว้อย่างสละสลวย ว่ามันประกอบด้วย "กองหนังสือมากมายหลากหลาย เวลาที่สั้น และความทรงจำที่ลื่นหลุดง่าย" ซึ่งยังเป็นจริงในปัจจุบัน 
เมื่อเกิดการพิมพ์และการผลิตหนังสือ หนังสือพิมพ์มากมายหลังการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ ภาวะข่าวสารล้นเกินได้ลงมาสู่ผู้คนระดับกลาง เช่น ซื้อหนังสือมาแล้วไม่ได้อ่านที่เป็นจริงจนถึงทุกวัน จนเกิดการย่อความหรือปริทัศน์หนังสือ  
ในศตวรรษที่ 17 มีวารสารรายคาบเกี่ยวกับบทย่อและบทรีวิวของหนังสือ ไลบ์นิซ (Gottfried Leibniz 1646-1716) นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวเยอรมันได้เขียนจดหมายบ่นในปี 1680 ถึง "มวลหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างน่าสยดสยอง"
ภาวะข่าวสารล้นเกินในปัจจุบันได้ลามเข้าสู่หน่วยงานและสำนักงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ก่อปัญหาในการบริหารจัดการเป็นอันมาก 
เช่น ต้องตั้งหน่วยจัดการข่าวสาร พยายามให้เกิดการไหลเวียนของข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ให้ข่าวสารที่มากเกินไปทำให้พนักงานลูกจ้างเกิดความ "ไขว้เขว" เช่น เข้าสู่สังคมออนไลน์  
มองจากแง่มุมนี้ปัญหาข่าวสารล้นเกินนั้นดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชนชั้นนำที่มีแนวโน้มจะเห็นว่า ชาวรากหญ้าจะมีข่าวสารมากเกินไป จนเกิดความไขว้เขว ตั้งแต่โบราณมีหลายรัฐสั่งเผาทำลายหนังสือและห้องสมุด ในปัจจุบันคอยตามปิดเว็บไซต์ เป็นต้น 

อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่นักวิชาการปัญญาที่รู้สึกว่าถูกทับถมด้วยข่าวสารความรู้มหาศาล แต่ก็หาทางแก้ไขได้โดยการสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ละเอียดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อสาธารณชนใน 2 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งคือสาธารณชนที่ไม่สามารถกลั่นกรองความรู้อันลึกซึ้งของตนได้ ก็จะอ่านบทปริทัศน์บ้าง หรือบทย่อบ้าง ทำให้มีความรู้อย่างผิวเผิน เป็นคนตื้นเขิน 
อีกด้านหนึ่งกังวลว่าสาธารณชนที่ไม่ได้มีการศึกษามาเฉพาะทาง แต่มีความสามารถในการตัดปะข่าวสารความรู้ได้ดี ก็สามารถเขียนบทความหรือเรื่องราวได้คล้ายกับผู้เชี่ยวชาญได้ ซึ่งอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้

และท้ายสุด ได้แก่ ผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆ ในการทำให้พนักงานมีสมาธิอยู่แต่ในเนื้องานและข่าวสารที่สำคัญจำเป็นขององค์กรเท่านั้น เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ



4. ภาวะข่าวสารล้นเกินยังเกิดจากนวัตกรรมและการก้าวหน้าในศาสตร์ว่าด้วยการโฆษณาจูงใจบุคคล ซึ่งได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามการเติบโตของความรู้ทางด้านจิตวิทยาและความต้องการของภาครัฐและธุรกิจเอกชน และกลายเป็นวิชาการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ปฏิบัติการจิตวิทยาและปฏิบัติการข่าวสารขึ้น
ข่าวสารความรู้จำนวนมากในปัจจุบันผลิตขึ้นในกลุ่มนี้ ที่มักก่อให้เกิดความไขว้เขวมากกว่า

การสื่อสารที่จริง มีอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่งานวิจัยที่กำหนดผลไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ให้ทุน มีบรรษัทต่างๆ เป็นต้น ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และการโฆษณาชวนเชื่อทางการค้าและการตลาด
รวมทั้งรายการโทรทัศน์จำนวนมากที่นำพาสาธารณชนให้ติดในประเด็นเล็กประเด็นน้อย ไม่สนใจต่อประเด็นใหญ่ของสังคม ได้แก่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น


ภาวะข่าวสารล้นเกินในมิตินี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับสาธารณชนและชาวรากหญ้า ต้องหาทางแก้ไขกันเอาเอง

เพื่อมิให้ไปสำคัญว่าโลกของมายาเป็นโลกแห่งความเป็นจริง



.