http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-12

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ภาษามลายูถิ่นในประเทศไทย

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ภาษามลายูถิ่นในประเทศไทย
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:36:24 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 12  พ.ย. 2555 )


ผมเพิ่งกลับจากปัตตานี ได้มีโอกาสคุยกับบางท่านเกี่ยวกับภาษามลายูท้องถิ่น ได้ความรู้บางอย่างที่ทำให้ประหลาดใจเพราะไม่เคยทราบมาก่อน จึงต้องกลับมาหาอ่านเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ยิ่งอ่าน ยิ่งคิด ก็ยิ่งหาคำตอบที่ชัดเจนให้แก่ตนเองไม่ได้ ผมจึงขอแบ่งปันความงุนงงแก่ผู้อ่านไว้ในที่นี้ด้วย

หลายท่านคงทราบแล้ว แต่ผมคิดว่าควรกล่าวซ้ำอีกก็คือ ภาษามลายูท้องถิ่นกับภาษามาเลเซีย แม้เป็นภาษามลายูด้วยกัน แต่ไม่ใช่ภาษาถิ่นเดียวกัน ออกเสียงสระและพยัญชนะต่างกัน (แม้ว่าอาจเชื่อมโยงกันทางสัทศาสตร์) ซ้ำยังมีสระและพยัญชนะบางตัวในมลายูท้องถิ่นปัตตานี ที่ไม่มีในภาษามาเลเซียแล้วอีกด้วย
ผมตอบไม่ได้ถนัดนักว่า คนพูดมลายูถิ่นทั้งสองนี้สื่อสารกันได้หรือไม่ ผมมีเพื่อนชาวมาเลเซียที่บอกว่า ฟังภาษามลายูถิ่นปัตตานีไม่ค่อยออกนัก เพราะนึกไม่ทันว่าเสียงที่เพี้ยนไป (จากภาษามาเลเซีย) นี้คือคำไหน แต่เขาเชื่อว่าถ้าได้พูดคุยนานวันเขาก็จะคล่องขึ้นได้ไม่ช้านัก เพื่อนที่พูดภาษามลายูถิ่นปัตตานี (ชาวบ้านนะครับ ไม่ใช่นักวิชาการ) ก็พูดอย่างเดียวกัน คือคิดไม่ทันเหมือนกันเวลาฟังภาษามาเลเซีย แต่หากตั้งใจฟัง (หรือดูโทรทัศน์) ไปนานๆ ก็เชื่อว่าไม่น่าจะยากเกินไปสำหรับเขา

แต่ตรงกันข้ามนะครับ เพื่อนที่พูดมลายูถิ่นปัตตานีบางคนบอกว่า ฟังภาษามลายูไม่ออกหมด แต่เดาความได้ทันที ก็มีเหมือนกัน
ผมเดาเอาเองว่า ความห่างระหว่างสองภาษาถิ่นนี้ คงประมาณๆ ภาษาไทยกลางกับภาษาไทใหญ่กระมัง คือคนที่ใช้ภาษาไทยกลางฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ให้คนไทใหญ่พูดทีละคำและให้ความหมายไปทีละคำ คนที่เรียนมาทางอักษรศาสตร์อย่างผมก็พอเดาได้ว่า ตรงกับภาษาไทยกลางว่าอะไร บางคำเราอาจเลิกใช้ไปแล้ว หรือใช้เป็นสร้อยของคำซ้ำ แต่ยังปรากฏในวรรณคดีโบราณ

สรุปก็คือ ไม่จำเป็นก็ไม่ฝืนฟัง (วิทยุหรือโทรทัศน์ในภาษาถิ่นอีกภาษาหนึ่ง) ล่ะครับ


ภาษาถิ่นมลายูทั้งสอง เคยใช้อักษร "ยาวี" เป็นตัวเขียนภาษาของตัว

"ยาวี" เป็นชื่อตัวอักษร ไม่ใช่ชื่อภาษา ที่จริงก็คืออักษรอาหรับที่ปรับปรุงสำหรับใช้เขียนภาษาท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนอาหรับโบราณเรียกคนที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดว่า ชาว "ชวา" อักษรอาหรับที่คนเหล่านี้ใช้เขียนภาษาของตัวจึงถูกเรียกว่า "ยาวี" โดยพื้นฐานแล้ว อักขรวิธีอาหรับโบราณไม่มีรูปสระตายตัว ฉะนั้นเมื่อนำมาเขียนภาษามลายูถิ่นต่างๆ จึงไม่เป็นปัญหากับคนที่พูดมลายูถิ่นต่างๆ มากนัก เพราะอาจเติมสระลงไปเอง (ในใจ) ให้ตรงกับเสียงพูดของตนได้ มาในภายหลังจึงมีนักปราชญ์คิดรูปสระขึ้นเสริม (เป็นนักปราชญ์มุสลิมของปัตตานีเอง) เพื่อให้ชัดว่าหมายถึงคำอะไร 
เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เริ่มขยายเข้ามายังภูมิภาคนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภาษามาเลเซียเปลี่ยนจากการใช้อักษรยาวีมาเป็นอักษรโรมัน ซึ่งทำให้ตอบสนองต่อการพิมพ์สมัยใหม่ได้ดีกว่า แต่ภาษามลายูปัตตานียังใช้อักษรยาวีสืบมา และมีงานวรรณกรรมในภาษามลายูถิ่นปัตตานีได้ขึ้นสู่แท่นพิมพ์น้อยมาก เมื่อเทียบกับภาษามาเลเซีย


เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว คำถามที่ต้องวิเคราะห์หาคำตอบกันเป็นเบื้องแรกก็คือ หากจะใช้ภาษามลายูเป็นสื่อการสอนในโรงเรียน ควรเป็นมลายูถิ่นอะไร ถิ่นปัตตานี หรือภาษามาเลเซีย

เพื่อนที่ปัตตานีบอกผมว่า หลักสูตรมลายูที่สอนกันในโรงเรียนในภาคใต้เวลานี้คือภาษามาเลเซีย ซึ่งผมเห็นว่าก็มีเหตุผลอยู่เหมือนกัน

แต่หากต้องการใช้เป็นสื่อการสอนสำหรับเด็กประถม โดยมีสมมติฐานว่า เด็กเล็กยังไม่คล่องภาษาไทย การใช้ภาษามาเลเซียเพื่ออธิบายการคูณ หรือการบวก หรือระบบของป่าที่สมบูรณ์ จะช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจดีขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อเขาเองก็ไม่คล่องภาษามาเลเซียเหมือนกัน จะมีความแตกต่างตรงไหนระหว่างการใช้ภาษาไทยกับภาษามาเลเซีย

แต่หากใช้ภาษาถิ่นปัตตานีเป็นสื่อการสอน ในแง่การอธิบายด้วยคำพูดก็คงดี เพราะการเรียนของเด็กไม่มีปัญหาด้านภาษาอยู่เลย แต่สื่อการสอนหมายรวมถึงตำราด้วย หากใช้ตำราเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตานี จะใช้อักษรอะไร หากใช้อักษรโรมัน (เหมือนภาษามาเลเซีย) หรืออักษรไทย อย่างน้อยเรียนอักษรทั้งสองนี้ไป ก็ยังได้ประโยชน์ในการศึกษาของเด็ก แต่หากใช้อักษรยาวี เด็กก็ต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้อักษรยาวีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระบบ ซ้ำเป็นตัวอักษรที่ผมไม่ทราบว่าเป็นที่คุ้นตาเด็กในปัจจุบันมากน้อยเพียงไร


นักข่าวฝรั่งคนหนึ่ง เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ฝรั่งว่า ปัจจุบันนี้คนมลายูมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างสามารถอ่านภาษามลายูในอักษรยาวีได้ออกไม่น่าจะเกิน 40% ผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ หากจริง ก็แสดงว่าอักษรยาวีไม่ได้เป็นที่คุ้นตาของเด็กมากนัก

แต่คิดในอีกทางหนึ่ง เด็กจำนวนมากได้เข้าเรียนตาดีกา ซึ่งต้องเรียนอักษรยาวีอยู่แล้วเพื่ออ่านคัมภีร์ศาสนาออก ฉะนั้น หากยังถ่ายสื่อการสอนภาษามลายูถิ่นปัตตานีด้วยตัวอักษรยาวี ก็ถือว่าได้ประโยชน์เสริมกับการเรียนตาดีกา และไม่น่าเป็นปัญหาแก่เด็กแต่อย่างไร

เพื่อนที่ปัตตานีบอกว่า โรงเรียนที่สอนภาษามลายูในเวลานี้ (โรงเรียนของรัฐ) มักสอนภาษามาเลเซีย และใช้อักษรไทยซึ่งปรุงขึ้นสำหรับเขียนภาษามลายูโดยเฉพาะ แต่ก็มีผู้คัดค้านเพราะยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าอักษรไทยเป็นอักษรของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม

แต่ภาษามาเลเซียที่สอนในโรงเรียนนั้น ไม่ใช่สื่อการสอน เป็นภาษาหนึ่งที่เด็กอยากเรียนเท่านั้น ปัญหาก็คือหากใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นสื่อการสอน จะใช้อักษรไทยได้หรือไม่

ข้อมูลที่ผมมีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ค่อยชัดเจนนัก นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ลงไปช่วยสร้างระบบอักขรวิธีจากอักษรไทยบอกว่า ได้รับการยอมรับดี ผู้ปกครองนักเรียนพอใจที่มีการสอนภาษามาเลเซีย จะด้วยอักษรอะไรก็ได้ ผู้สื่อข่าวฝรั่งคนที่ผมอ้างถึงก็พูดทำนองเดียวกัน และบอกว่าเฉพาะชาวมลายูมุสลิมที่มีการศึกษาจำนวนน้อยเท่านั้น ที่ไม่พอใจให้ใช้ตัวอักษรไทยในการเขียนภาษามาเลเซีย (หรือมลายูถิ่นปัตตานี) จำนวนของโรงเรียนหลวงที่สอนมาเลเซียก็เพิ่มขึ้น และรับนักเรียนมลายูมุสลิมเพิ่มขึ้นได้ด้วย 
แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า ทั้งหมดนี้คือการสอนภาษามาเลเซียเหมือนเป็นภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่งในหลักสูตร ไม่ใช่การใช้ภาษามลายูเป็นสื่อการสอน หากจะใช้ภาษามลายูเป็นสื่อการสอน ปัญหาที่ผมยกมากล่าวข้างต้นก็อาจแหลมคมขึ้นกว่านี้ได้มาก

อีกข้อหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ด้วยก็คือ ภาษาไทยแพร่หลายมากขึ้นในภาคใต้ตอนล่าง คนพูดภาษาไทยได้หรือพอได้เกือบทั่วไป มีคนดูทีวีภาษาไทยมากขึ้น ป้ายโฆษณา, ป้ายบอกทาง ฯลฯ ที่เป็นภาษาไทยก็มีผู้อ่านออกเป็นส่วนใหญ่ (จึงสามารถบอกได้ว่าภาษาไทยออกเสียงผิดอย่างไร) ผู้ปกครองนักเรียนบ่นโรงเรียนว่า ลูกไปเรียนจนจะจบประถมอยู่แล้ว ยังเขียนชื่อตัวเองในภาษาไทยไม่เป็น

ข้อนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจอันใด เมื่อนึกถึงการขยายตัวของรัฐซึ่งอยู่เบื้องหลังการขยายตัวของตลาดด้วย


หันกลับมาดูคุณค่าทางวัฒนธรรมของภาษามลายูถิ่นปัตตานีกับภาษามาเลเซีย

มลายูถิ่นปัตตานีเป็นอัตลักษณ์ของผู้คน ไม่เฉพาะแต่เพียงแตกต่างจากไทยเท่านั้น แต่แสดงตัวตนที่แตกต่างจากชาวมาเลเซียด้วย จึงควรอนุรักษ์ไว้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีภูมิปัญญาดั้งเดิมอีกมากที่ถูกเก็บอยู่ในเอกสารเก่าภาษามลายูถิ่นปัตตานี (ซึ่งยังไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบเมื่อเทียบกับทางอีสานหรือภาคเหนือ) แต่ในขณะเดียวกัน ความรู้เท่าที่ผมมีอย่างจำกัดบอกให้รู้ว่า คงจะสายเกินไปแล้วที่ภาษามลายูถิ่นปัตตานีจะถูกพัฒนาขึ้นเป็นสื่อแก่ความรู้และความคิดสมัยใหม่ (เช่นเดียวกับ "คำเมือง" หรือ "ภาษาใต้" - รวมทั้ง "ตัวเมือง", "อักษรธรรม" ของอีสาน และอักษรขอมไทยของภาคใต้) ฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นภาระแก่ชาวมลายูมุสลิมทุกคนที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย ต้องรู้ตัวอักษรยาวี แม้ควรจะพูดภาษาถิ่นของตนเองต่อไปได้เป็นปกติ แต่ควรมีผู้รู้ที่ช่วยกันในการเก็บรวบรวมเอกสารเก่า และปริวรรตออกเป็นภาษาไทย หรือภาษามาเลเซีย เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และการศึกษาแก่คนทั่วไป

ผมรู้สึกว่า จะคล้ายกับคนทางเหนือและอีสาน ซึ่งยังใช้คำเมืองและคำลาวในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีใครอ่านเอกสารโบราณได้สักกี่คน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร วันหนึ่งภาษามลายูถิ่นปัตตานีคงตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

ตรงกันข้าม ภาษามาเลเซียซึ่งไม่ใช่ภาษาที่คนใช้กันทั่วไป แต่ก็มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมสูง เพราะเป็นภาษาที่สื่อความรู้ความคิดของโลกสมัยใหม่ต่อไปข้างหน้าอีกมาก (ไม่นับภูมิปัญญาดั้งเดิมในภาษานั้น) ยิ่งถ้ารวมภาษาอินโดนีเซียไว้ด้วยแล้ว ก็จะเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่เด็กๆ ในภาคใต้ (หรือในภาคอื่น) ควรเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อีกมาก

ดูเหมือนปัญหากลายมาอยู่ที่อดีตและอนาคต จะเลือกอะไร แต่เราไม่จำเป็นต้องแยกสองอย่างนี้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพราะสองอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ของไทยจะเดินเข้าสู่โลกกว้างข้างหน้า โดยเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไรต่างหาก



.