http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-20

เยอรมนีสีเขียวเห็นผล ส่งออกไฟฟ้าทำลายสถิติ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
บทความก่อนหน้า - คอนกรีตมหัศจรรย์ ซ่อมรอยร้าวด้วยตัวเอง โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เยอรมนีสีเขียวเห็นผล ส่งออกไฟฟ้าทำลายสถิติ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 100


หากจำกันได้หลังวิกฤตนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นอันเกิดจากสึนามิที่ถล่มเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ฟุคุชิมา ประเทศเยอรมนีก็ออกมาประกาศครึกโครมไปทั่วโลกว่า เยอรมนีจะยกเลิกการใช้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2022   เป้าหมายของการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์คือเรื่องความปลอดภัยและการปกปักรักษาโลกให้ยั่งยืน
นอกจากนั้น เยอรมนียังหวังด้วยว่าสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจทำนั้นจะเป็นแบบอย่างให้มหาอำนาจอุตสาหกรรมอื่นๆ เจริญรอยตาม

ตอนที่เยอรมนีประกาศแผนการใหญ่ออกมา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะทำให้เยอรมนีต้องหันไปพึ่งพาพลังงานจากแหล่งอื่นๆ ที่รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวปัญหาในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไม่ก็ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
ไม่อย่างนั้นไฟฟ้าก็จะขาดแคลน



อย่างไรก็ตาม ตามแผนของเยอรมนีนั้น เน้นการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ไม่หมดไป เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์
สัดส่วนพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เยอรมนีใช้อยู่นั้นประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงในช่วงสิบปีข้างหน้าก็ต้องสร้างแหล่งพลังงานทดแทนขึ้นมาให้ได้อย่างน้อยที่สุดคือเท่ากับที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยผลิตได้

ความจริงแล้วนโยบายการเลิกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นนโยบายเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี 2000 แต่ก็ไม่ค่อยหนักแน่นมั่นคง และเคยมีท่าทีจะยืดเวลาไปจากเดิมอีกถึงสิบกว่าปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ฟุคุชิมา รัฐบาลก็ปักหลักใหม่โดยคงเป้าหมายการยกเลิกไว้ที่ปี 2022 เหมือนเดิม
ในขณะเดียวกันก็เร่งสร้างแหล่งพลังงานทดแทนขึ้นมาเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้




แม้จะทยอยปลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทว่า ไฟฟ้าของเยอรมนีก็ไม่ได้ขาดแคลนตามที่มีคนเคยตั้งข้อสังเกต 
มิหนำซ้ำมันกลับล้นจนกลับกลายเป็นว่าปีนี้เป็นปีที่เยอรมนีส่งออกพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา ตามที่รายงานของสมาพันธ์อุตสาหกรรมพลังงานและน้ำระบุ 
นั่นคือไตรมาสแรกของปีนี้ส่งออกไฟฟ้า 12.3 เทราวัตต์ชั่วโมง เทียบกับ 8.8 เทราวัตต์ชั่วโมง ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว


และเดาได้ไม่ยากว่าส่วนที่เพิ่มนั้นมาจากพลังงานสีเขียวที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ อันได้แก่ พลังงานลมและแสงอาทิตย์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเยอรมนีเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าประเทศหนึ่งๆ สามารถจะอยู่ได้โดยลดละเลิกหรือไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้

ความมุ่งมั่นและการวางแผนที่ดีนั่นต่างหากคือสิ่งสำคัญ



+++ 

คอนกรีตมหัศจรรย์ ซ่อมรอยร้าวด้วยตัวเอง
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 100


เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักคอนกรีต เพราะเราเจอกับมันทุกวันไม่ว่าที่บ้านหรือที่ไหนๆ เนื่องจากมันเป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้กันอย่างกว้างมากที่สุดในโลก 
แต่โดยพื้นฐานแล้วคอนกรีตที่แข็งโป๊กเป๊กนั้นมันแตกง่าย เพราะฉะนั้น ที่เราเห็นๆ เขาจึงใช้เหล็กมาเสริมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กในการก่อสร้าง 

โดยปรกติแล้วคอนกรีตในกระบวนการแข็งตัวจะเกิดรอยแตกร้าวขนาดจิ๋วขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลโดยตรงให้คอนกรีตสูญเสียความแข็งแกร่ง โดยมาตรฐานอุตสาหกรรมคอนกรีตกำหนดไว้ว่ารอยแตกเหล่านั้นต้องไม่เกิน 0.22 มม.
แต่เมื่อเวลาผ่านไปๆ น้ำและสารเคมีในตัวคอนกรีตเองจะเข้าไปตามรอยร้าวเหล่านี้และทำปฏิกิริยากัดเซาะคอนกรีต ทำให้เกิดการแตกร้าวที่เราพบกันได้บ่อยๆ และคอนกรีตก็จะเสื่อมสภาพลง

วิธีที่จะยืดอายุการใช้งาน ลดภาระการซ่อมแซมคอนกรีตน่าจะมีการคิดค้นกันมากมายหลายวิธี และก็น่าจะใช้การได้ดีพอสมควร เพราะเราก็จะไม่ค่อยพบเห็นโครงสร้างคอนกรีตพังลงมาง่ายๆ ยกเว้นส่วนที่ใช้งานหนักๆ 
หนึ่งในวิธีใหม่ที่คิดค้นกันขึ้นมาตามรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีก็คือ การทำให้คอนกรีตมีความสามารถซ่อมแซมรอยร้าวได้ด้วยตัวมันเอง
หรืออีกนัยหนึ่งคือทำให้มันคล้ายสิ่งมีชีวิต



การคิดค้นคอนกรีตแบบใหม่เพื่อเพิ่มความคงทนให้มันเป็นผลงานของนักจุลชีววิทยา เฮงก์ ยองเคอร์ และนักเทคโนโลยีคอนกรีต อีริก ชแลงเกิ้น ที่มหาวิทยาลัยเดลฟ์ต เทคนิคัล ในเนเธอร์แลนด์ 
ด้วยการใส่แบคทีเรียในตระกูลบาซิลลัสที่สามารถผลิตหินปูนได้เป็นส่วนผสมเข้าไปในคอนกรีต สปอร์ของแบคทีเรียที่ว่านี้ รวมทั้งสารอาหาร (แคลเซียม แลกเตต) ที่มันจำเป็นต้องใช้จะถูกเติมเป็นเม็ดๆ เข้าไปในส่วนผสมของคอนกรีต
น้ำฝนที่เข้าตามรอยแตกร้าวของคอนกรีตจะเป็นตัวกระตุ้นให้แบคทีเรียทำงานสร้างหินปูนซ่อมแซมรอยร้าวด้วยตัวเองได้

แน่นอนว่าในขั้นตอนการผสมคอนกรีตนั้นมีน้ำเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่อัจฉริยะทั้งสองคนต้องหาทางทำให้แบคทีเรียรอดไปนอนสงบรอการกระตุ้นด้วยน้ำในโอกาสต่อไปได้เพื่อซ่อมแซมรอยแตกร้าวเมื่อเกิดขึ้น 
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ท้าทาย เท่าที่ทำได้ในขณะนี้ค่าใช้จ่ายยังสูงมาก การปรับปรุงกระบวนการเคลือบระดับอนุภาคเพื่อลดต้นทุนลงมาจะใช้เวลาอีกราวหกเดือน 
หลังจากนั้น คอนกรีตมหัศจรรย์นี้ก็จะเริ่มเอาไปทดลองกันนอกห้องทดลองแล้วเพื่อดูผลของมันในโลกที่เป็นจริง โดยจะทดสอบกับโครงสร้างแบบต่างๆ และคอนกรีตชนิดต่างๆ 
ระยะของการทดสอบและติดตามผลจะใช้เวลาอย่างน้อยสองปี ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กระบวนการที่จะทำในเชิงการค้าด้วยการผลิตในปริมาณมากๆ ก็จะตามมา

ด้วยวิธีการนี้ต้นทุนของคอนกรีตเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน
ทว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงในระยะยาวจะลดลงมามาก




การทำให้คอนกรีตเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ซ่อมแซมตัวเองได้นี้จะว่าไปก็เหมือนเป็นสิ่งที่หลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ 
แต่ทุกวันนี้เราก็เห็นกันมาเยอะแล้วกับสิ่งที่สมัยก่อนไม่น่าจะเป็นได้ หรือสิ่งที่เป็นเหมือนฝันเฟื่องในนิยายในภาพยนตร์กลับกลายมาเป็นของที่แสนจะธรรมดา 
เมื่อหลายวันก่อนผมดูหนังเรื่องอเวนเจอร์ ที่มีซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ ตัว พอเห็น ไอร์ออน แมน มองเห็นผ่านหน้ากากปุ๊บ ก็นึกถึงกูเกิ้ล กลาส เลยทันที เพราะมันแทบไม่ต่างกัน 
เพียงแต่คอมพิวเตอร์ของ ไอร์ออน แมน นั่นล้ำยุคไปอีกหลายขั้นเพราะมันตอบโต้กับ ไอร์ออน แมน ได้แบบคน
ขณะที่กูเกิ้ล กลาส ยังอยู่แค่ระดับรับฟังคำสั่งด้วยเสียงเท่านั้น 

แต่อย่าได้คิดว่าสิ่งที่เห็นในหนังมันจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตเลยเชียวล่ะ



.