http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-10

10 พลังขวาในการเมืองไทย : แนวร่วมต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

10 พลังขวาในการเมืองไทย : แนวร่วมต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 36


"ถ้าเราผลักความอคติออกไปทางประตู
มันก็จะกลับเข้ามาอีกทางหน้าต่าง"
พระเจ้าเฟรดเดอริกมหาราช 
ค.ศ. 1712-1786



หลังจากรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 แล้ว เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการขับเคลื่อนของปีกขวาในการเมืองไทย
ว่าที่จริงก่อนที่รัฐประหารดังกล่าวจะประสบความสำเร็จนั้น กลุ่มการเมืองปีกขวาได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่อย่างเข้มแข็ง
หากเปรียบเทียบในช่วงระยะเวลาจากช่วง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ก็อาจจะต้องยอมรับว่า กลุ่มขวาในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อน และมีองค์ประกอบที่หลากหลายมากกว่า
จนต้องเรียกกลุ่มเช่นนี้ว่าเป็น "แนวร่วมต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ"


แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของกลุ่มขวาในการเมืองไทยนั้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างแนวร่วมของกลุ่มขวาในการเมืองชุดใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงอยู่กับพลังอำนาจของกลุ่มทหารในแบบเดิม
ดังจะเห็นได้ว่า หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของขบวนการทางการเมือง กลุ่มพันธมิตรฯ มีทั้งผู้นำที่มีความเป็นผู้นำสูง หรือใช้ในภาษาทั่วไปก็คือ "ผู้นำที่มีบารมี" (charismatic leader) ไม่ว่าจะเป็น นายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ตาม ซึ่งสามารถโน้มน้าวมวลชนเป็นจำนวนมากให้เข้าร่วมการต่อสู้ของพวกเขาได้จนกลายเป็นขบวนการเมืองขนาดใหญ่ในช่วงปี 2551

นอกจากปัจจัยของความเป็นผู้นำแล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญก็คือ การมีเครื่องมือสื่อสารของตัวเองและทำให้เกิดการ "ส่งสาร" ที่เป็นชุดความคิดทางการเมืองของปีกขวาออกไปสู่สังคมในวงกว้าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการโฆษณาทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน 
ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ว่าที่จริงก็คือ การอาศัยเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเป็นกลไกในการต่อสู้ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายเป้าหมายทางการเมืองที่พวกเขาไม่ต้องการ
เปรียบเทียบกับยุคก่อนปี 2519 กลุ่มปีกขวาอาศัยหนังสือพิมพ์ดาวสยามกับสถานีวิทยุยานเกราะเป็นเครื่องมือหลัก
แต่หากพิจารณากับกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว จะพบว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้การโฆษณาทางการเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น


อีกปัจจัยหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมต่างๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีฐานมวลชนกว้างมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับแนวร่วมปีกขวาในยุคก่อนปี 2519 
การจัดตั้งในยุคดังกล่าวอาศัยกลุ่มทหารเป็นหลัก และอาจจะมีการขยายตัวไปสู่กลุ่มอื่นๆ ด้วย แต่ก็เป็นการรวมศูนย์อยู่กับองค์กรทหาร และอาศัยศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทยเป็นแนวร่วมหลัก
นับจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนถึงองค์การพิทักษ์สยามปัจจุบัน ก็จะเห็นถึงกลุ่มขวาต่างๆ ที่เข้าไปร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างหลากหลาย ได้แก่

1. กลุ่มทหาร ผู้นำทหารส่วนใหญ่มีแนวคิดทางการเมืองในแบบอนุรักษนิยม ดังนั้น จึงเป็นการง่ายที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะสามารถสร้างแนวร่วมกับผู้นำทางทหารในขณะนั้นได้ ประกอบกับผู้นำเหล่านี้มีทัศนะทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกันที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
นอกจากนี้ การที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชูประเด็นเรื่องของความจงรักภักดีต่อสถาบันด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นถึงการจับมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นในระดับของผู้นำทั้งสองส่วนนี้ เพราะประเด็นดังกล่าวสามารถใช้โน้มน้าวความรู้สึกของกลุ่มทหารได้เป็นอย่างดี

2. กลุ่มชนชั้นสูง เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ประกอบกับกลุ่มนี้เองมักจะมีความเชื่อมโยงกับ "กลุ่มทุนเก่า" ที่ไม่พอใจการเติบโตของ "กลุ่มทุนใหม่" ที่ไม่มีความเชื่อมต่อกับระบบราชการหรือกับบรรดาชนชั้นสูงในสังคมเท่าใดนัก 
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่กลุ่มนี้พร้อมจะเป็นพันธมิตรอย่างรวดเร็วกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มปีกขวา 
ตัวอย่างของกลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มสุขุมวิทที่เปิดตัวอย่างชัดเจนในการเคลื่อนไหวในขณะนั้น

3. กลุ่มชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางในสังคมไทยเติบใหญ่ขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมหลังจากปี 2500 น่าสนใจว่าทัศนะทางการเมืองของชนกลุ่มนี้อาจจะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ตลอดเวลา โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองบางประการ
เช่น เมื่อชนชั้นกลางไม่พอใจกับการขยายบทบาทของทหารอย่างมากในการเมืองไทย พวกเขาก็พร้อมที่จะเป็นแนวร่วมกับขบวนนักศึกษาในการต่อต้านทหาร ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535
แต่หากพวกเขาหวาดเกรงต่อการขยายบทบาทของนักศึกษาในทางการเมืองแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าร่วมกับทหารในการปราบปรามนักศึกษา เช่น กรณี 6 ตุลาคม 2519

และเช่นกันเมื่อพวกเขามองว่าการขยายบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่าง ซึ่งกระทำผ่านขบวนของคนเสื้อแดงแล้ว พวกเขาก็พร้อมจะให้การสนับสนุนต่อการล้อมปราบของทหาร เช่น กรณีการปราบปรามในปี 2552 และ 2553 เป็นต้น
ในสถานการณ์ของต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นกลางซึ่งถูกโฆษณาชวนเชื่ออย่างมากได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนถึงการเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร 2549 ความเชื่อในทางทฤษฎีว่าชนชั้นกลางเป็นตัวแบบของกลุ่มเสรีนิยมในสังคมไทยกลายเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งก็เห็นชัดในเวลาต่อมาถึงการที่ชนชั้นกลางในเมืองเป็น "เสาหลัก" ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มขวา

4. กลุ่มปัญญาชน ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะรวบเอากลุ่มเอ็นจีโอ (หรือกลุ่มนักพัฒนาฯ) เข้าไปไว้เป็นส่วนเดียวกัน 
พวกเขามีอุดมการณ์แบบ "ต่อต้านการเมือง" (anti-politics) ที่ไม่ชอบการเมืองแบบเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของการโกง ไม่ชอบนักการเมืองเพราะมองเห็นแต่เรื่องของการทุจริต และซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และมักจะชอบผู้บริหารประเทศที่เป็นแบบ "คนกลาง" โดยมองว่าคนกลางเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะไม่ใช่ตัวแทนจากพรรคการเมือง 

และประเด็นสำคัญจนกลายเป็นความสุดโต่งก็คือ พวกเขาพร้อมที่จะไม่เอาระบบการเมืองแบบการเลือกตั้ง และหันไปสนับสนุนการรัฐประหาร ด้วยความเชื่อง่ายๆ ว่า ต้องล้มรัฐบาลของนักการเมือง และจัดตั้งรัฐบาลที่มี "คุณธรรม" แทน
ดูเหมือนพวกเขาแทบจะไม่ถกในเรื่องของปัญหาคุณธรรมกับการรัฐประหารแต่อย่างใด
ทัศนะแบบสุดโต่งที่มองเห็นแต่ด้านร้ายของประชาธิปไตยแบบผู้แทนยังถูกผนวกด้วยการโฆษณาทางการเมืองในเรื่องของสถาบัน ก็ยิ่งทำให้บรรดาปัญญาชนและผู้นำเอ็นจีโอไทยเปลี่ยนจุดยืนจาก "นักเสรีนิยม" ไปเป็น "นักอนุรักษนิยม" ที่พร้อมสนับสนุนการเมืองนอกระบบได้ไม่ยากนัก

5. กลุ่มข้าราชการ กลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะในระดับสูงมักจะมีทัศนะการเมืองแบบอนุรักษนิยม และมีท่าทีต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีความขัดแย้งโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาในช่วงที่ผ่านๆ มาจึงเห็นได้ชัดว่าได้รับความสนับสนุนอย่างมากจากคนในกลุ่มนี้ 
ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มข้าราชการสายตุลาการที่มีท่าทีอนุรักษนิยมอย่างมากในทางการเมือง และยังเป็นผลโดยตรงจากการโฆษณาทางการเมืองของกลุ่มขวา
จนกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" กลายเป็นกลไกหลักที่สำคัญประการหนึ่งของการต่อสู้ของกลุ่มขวาในการเมืองไทยปัจจุบัน

6. กลุ่มนักธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าใดนักที่กลุ่มนักธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นส่วนสนับสนุนหลักในทางการเงินให้แก่การเคลื่อนไหวของกลุ่มปีกขวาในการชุมนุม 
นักธุรกิจเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่พอใจต่อการขยายตัวของ "ทุนทักษิณ" ที่คุกคามต่อผลประโยชน์โดยตรงของพวกเขา 
และรวมถึงความไม่พอใจอันเกิดจากการโฆษณาและปลุกระดมทางการเมือง
นักธุรกิจเหล่านี้เชื่ออย่างมากว่า ต้องล้มทุนทักษิณ เพื่อสร้างการเมืองใหม่ที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบของพรรคการเมือง นักธุรกิจเหล่านี้คล้ายคลึงกับชนชั้นกลางที่ชอบสนับสนุนคนกลาง ไม่ชอบนักการเมือง

7. กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กลุ่มอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือบรรดา "สหายเก่า" เป็นองค์ประกอบอย่างสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวของการเมืองปีกขวา 
กลุ่มนี้รวมถึงบรรดาอดีตฝ่ายซ้ายหลายๆ คนที่วันนี้เปลี่ยนจุดยืนมาเป็นฝ่ายขวา และสนับสนุนรัฐประหารเพื่อต้องการโค่นล้ม "ระบบทุนนิยม"
และน่าสนใจอย่างมากถึงการเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองของ "ฝ่ายซ้ายไทย" ซึ่งส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้วันนี้กลายเป็นฝ่ายขวาไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ

8. กลุ่มศาสนา การเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาไทยอาศัยพลังสนับสนุนอย่างมากอีกส่วนหนึ่งจากกลุ่มศาสนา เช่น กลุ่มสันติอโศก ซึ่งจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดถึงมวลชนจากกลุ่มนี้ที่เข้ามาเป็นกำลังหลักในงานด้านต่างๆ 
และที่สำคัญกลุ่มปีกขวาเองก็อาศัยการโฆษณาของกลุ่มศาสนานี้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมและสร้างความชอบธรรมอีกด้วย

9. กลุ่มวุฒิสมาชิก หลังจากการรัฐประหารและมีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง หรือที่เรียกกันว่า "กลุ่ม 40 ส.ว." เป็นตัวแบบของพลังอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน  
ท่าทีของกลุ่มนี้มีลักษณะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก และในขณะเดียวกันก็มีท่าทีต่อต้านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไม่แตกต่างกัน
ส.ว.กลุ่มนี้จึงมักแสดงบทบาทในลักษณะอนุรักษนิยมอยู่บ่อยครั้ง จนถือเป็นฐานของพลังขวาไทยทั้งในและนอกสภา

10. พรรคการเมือง พลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองปีกขวาจะขยายฐานมวลชนไม่ได้หากปราศจากการสนับสนุนของพรรคการเมืองปีกขวา เพราะคงต้องยอมรับความจริงว่าพรรคการเมืองไทยมีพัฒนาการมากขึ้น และมีฐานมวลชนเป็นของตัวเอง
ดังนั้น หากสามารถเชื่อมต่อระหว่างพรรคปีกขวากับกลุ่มการเมืองปีกขวาได้ ก็จะทำให้กลุ่มปีกขวาดังกล่าวมีมวลชนเข้าร่วมมากขึ้น
ดังจะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ในอดีตนั้น มีมวลชนของพรรคการเมืองปีกขวาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

และแม้จะปฏิเสธว่าพรรคการเมืองปีกขวาไม่ได้เข้าร่วมโดยตรง แต่ก็เป็นที่รับรู้กันภายในว่า พรรคดังกล่าวได้อาศัยการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาเป็นเครื่องมือในการล้มรัฐบาล เพราะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง พรรคนี้ไม่สามารถแข่งขันทางการเมืองจนสามารถนำมาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งได้แต่อย่างใด 
ดังนั้น การสนับสนุนการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยการอาศัยการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวานอกรัฐสภาจึงเป็นผลประโยชน์ร่วมระหว่างกลุ่มทั้งสอง



ในสถานการณ์ปัจจุบัน การขับเคลื่อนของ "องค์การพิทักษ์สยาม" จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการล้มรัฐบาลสมัคร-สมชายในช่วงก่อน 
ซึ่งหากพิจารณาจากแนวร่วมของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ต้องถือว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะมีองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีการประกาศตัวเป็น "ภาคีเครือข่าย" กล่าวกันว่ามีประมาณถึง 30 องค์กร 
องค์กรเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการรวมบรรดาปีกขวาซึ่งมีทั้งกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักชาตินิยม กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มวุฒิสมาชิก กลุ่มทหาร-ตำรวจนอกราชการ กลุ่มอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นต้น
และมีความหวังเช่นเดียวกับการล้มรัฐบาลครั้งก่อนว่า การปลุกระดมมวลชนเช่นนี้จะเกิดอาการ "จุดติด" และสามารถขยายฐานมวลชนในการเข้าร่วมต่อต้านรัฐบาล จนในที่สุดก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้

แต่ในความเป็นจริงก็คงไม่ง่ายนักที่สถานการณ์จะหวนกลับคืน เช่น ในยุครัฐบาลสมัคร-สมชาย ความฝันของกลุ่มปีกขวาที่จะล้มรัฐบาลปัจจุบันจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อผู้นำทหารสั่งเคลื่อนกำลัง 
ที่ก็คงไม่ง่ายอีกเช่นกัน เพราะคงไม่มีผู้นำทหารคนใดที่อยากเป็นผู้ตัดสินใจสั่งเคลื่อนรถถังในสภาพการณ์ที่คดี 98 ศพยังคงอยู่ในศาล


เว้นเสียแต่ชนชั้นนำที่กุมอำนาจ ตัดสินใจแตกหักทางการเมืองในลักษณะของ "สงครามครั้งสุดท้าย"!



.