http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-21

THE MASTER “ลัทธิเกิดใหม่” โดย นพมาส แววหงส์

.

THE MASTER “ลัทธิเกิดใหม่”
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 87


กำกับการแสดง Paul Thomas Anderson
นำแสดง Joaquin Pheonix 
Philip Seymour Hoffman 
Amy Adams
Laura Dern



จากผลงานเรื่องเยี่ยมๆ นับแต่ Boogie Night, Magnolia จนมาถึง There Will Be Blood ที่สร้างบทบาทของเจ้าพ่อขุดเจาะน้ำมันสำหรับ แดเนียล เดย์-ลูวิส เป็นที่ประทับตาประทับใจจนครองรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมหลายรางวัลไปแล้ว ผู้กำกับฯ ที่เขียนบทหนังของตัวเอง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ตามต่อมาด้วยหนังฟอร์มที่ใครๆ ล้วนตั้งตารอคอยกันเรื่อง The Master 
โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่าบุคคลที่เป็นที่มาของชื่อเรื่องนี้คือ แอล. รอน ฮับบาร์ด นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลัทธิที่เรียกว่า Scientology ที่ปัจจุบันได้ยกสถานะขึ้นเป็น "ศาสนา" หนึ่งในสหรัฐอเมริกา 
บุคคลสำคัญที่เป็นสาวกของ Scientology มีคนดังอย่างเช่น ทอม ครูส, จอห์น ทราโวลตา, ลิซา มารี เพรสลีย์ เป็นต้น

ลัทธินี้เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในเวลาที่ผู้คนรู้สึกในความผันผวนไม่แน่นอนของชีวิต และกำลังแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ให้แก่จิตวิญญาณ 
อย่างไรก็ตาม The Master ก็ไม่ใช่เรื่องของบุคคลที่เป็นเจ้าลัทธิเอง แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง เฟรดดี เควล (ฮัวคิน ฟีนิกซ์) กับ แลงคาสเตอร์ ดอดด์ (ฟิลิป เซมอร์ ฮอฟแมน) ผู้นำลัทธิที่เรียกว่า The Cause


เฟรดดีเป็นทหารเรือที่เพิ่งกลับจากสงครามโลกครั้งที่สอง และพบว่าชีวิตยังล่องลอยอยู่ในทะเลชีวิตอย่างหาแก่นสารไม่ได้ เฟรดดีติดเหล้าและหมกมุ่นอยู่ในเรื่องเพศ เขาไม่สามารถทำงานทำการอะไรได้นาน แรกทีเดียวก็เป็นตากล้องของร้านถ่ายรูปในห้างสรรพสินค้า
แต่ก็เกิดปัญหาทะเลาะกับลูกค้า จนไปทำงานในไร่ ก็เกิดเรื่องจนถูกขับไล่ออกไปอีก
เขาลงเอยด้วยการไปนอนหมดสติอยู่ในเรือยอชต์ที่กำลังมีงานแต่งงานของลูกสาวของ แลงคาสเตอร์ ดอดด์ ผู้ยอมให้เขาโดยสารไปด้วย เนื่องจากติดใจในเหล้าสูตรพิเศษที่เฟรดดีผสมให้ดื่ม 
นอกจากนั้น ดอดด์ยังมองเห็นเฟรดดีเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการทดลองที่เขากำลังทำอยู่

ดอดด์แนะนำตัวว่าเป็นนักเขียน หมอ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ และนักปรัชญาเชิงทฤษฎี แต่ "เหนืออื่นใด ผมก็เป็นคน เหมือนอย่างคุณนั่นแหละ"
เขาเห็นว่าคนไม่ใช่สัตว์ และสามารถวิวัฒนาการไปสู่สภาพที่ดีขึ้นได้ 
ดอดด์มีสาวกและผู้ศรัทธากลุ่มหนึ่ง รวมทั้งภรรยาผู้มุ่งมั่นและแข็งแกร่งที่อยู่เบื้องหลังเขา ชื่อ เพ็กกี ดอดด์ (เอมี อดัมส์) 

ลัทธิ "เดอะคอส" ในหนัง มีความคล้ายคลึงกับลัทธิไซน์โทโลยีอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการ "ตรวจสอบ" ของสาวกที่ตกอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ด้วยการสัมภาษณ์ให้หวนระลึกย้อนกลับไปในอดีต เพื่อหาสาเหตุที่มาของปัญหา จะได้ปัดเป่าออกไปให้หมด 
เหมือนกับที่ไซน์โทโลยีใช้วิธีที่เรียกว่า "ไดอาเนติกส์" ตรวจสอบสภาพจิตใจของสาวก


ความสัมพันธ์ระหว่างเฟรดดีกับดอดด์มีขึ้นและลง ดีและร้าย ผันแปรไปตลอด เพ็กกีและกลุ่มผู้ศรัทธาในเดอะคอส ต่างเกรงว่าเฟรดดีจะเป็นคนมาทำลายล้างลัทธินี้ แต่ดอดด์ก็ยังไม่ยอมถอดใจจากเฟรดดี 
เฟรดดีแสดงแนวโน้มของความรุนแรงที่เกินจะควบคุมไว้ได้มากขึ้นทุกที สัญชาตญาณสัตว์ของเขาแสดงออกเมื่อเกิดความไม่พอใจกับสภาพการณ์ความเป็นไปต่างๆ ถึงขั้นทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง และทำลายสิ่งของแบบไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ


ไม่ต้องสงสัยว่าแอนเดอร์สันเป็นคนทำหนังประเภท auteur (คือผู้กำกับฯ ที่สร้างเรื่องขึ้นเอง) ที่มีฝีมือมาก และนักแสดงที่รับบทบาทนำก็ล้วนเป็นยอดฝีมือ ถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์บทบาทที่ตราตรึงอย่างยิ่ง ทั้ง ฮัวคิน ฟีนิกซ์ ฟิลิป เซย์มอร์ ฮอฟมัน และ เอมี อดัมส์

แต่น่าเสียดายสำหรับหนังเรื่องนี้ว่า เมื่อดูจบแล้ว ขณะเสียงเพลงโกลเดน โอลดี (We were waltzing together?) อันตราตรึงยังดังคลออย่างได้อารมณ์ไปกับเครดิตตอนจบ แต่ผู้เขียนก็ยังจับทางไม่ได้ว่าผู้กำกับฯ จะเอายังไงกันแน่เมื่อถึงที่สุดของที่สุดแล้ว

ไม่เหมือนตอนจบอันตราตรึงแต่ชวนพิศวงของ There Will Be Blood ที่ แดเนียล เดย์-ลูวิส นั่งอยู่หลังจากฆ่าคู่อริตายในเลนโบว์ลิงในคฤหาสน์ของตัวเอง และมีคนเดินเข้ามาถามว่าเขาเป็นอะไรหรือเปล่า เขาตอบว่า I am finished. ซึ่งอาจตีความได้หลายอย่าง จบอย่างนั้นมันดูลงตัวสำหรับเนื้อเรื่องที่เล่ามาที่สุด 
แต่ The Master นั้นผู้เขียนก็อยากจะชอบอยู่หรอกค่ะ องค์ประกอบดีๆ มีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด เสียอยู่ที่ว่าไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นหนังดีมาก เพราะไม่รู้จะทำใจอย่างไรดีกับตอนจบของตัวละครเหล่านี้



ข่าวว่าสาวกไซน์โทโลยีเตรียมประท้วงและต่อต้านหนังเรื่องนี้กันยกใหญ่ 
แต่เอาเข้าจริงแล้ว หนังก็ไม่ได้พูดถึงตัวเจ้าลัทธิอย่างที่ชื่อหนังบ่งบอก 
แต่เรื่อง The Master กลับกลายเป็นเรื่องของสาวกที่หลงทางวนเวียนติดข้องอยู่ในโลกอันหาทางออกไม่ได้

ให้ยังไงๆ ก็ยังหาทางออกไม่เจอ...



.