http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-22

องค์การพิทักษ์สยาม ‘เพื่อเผด็จการ’แห่งชาติ โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : องค์การพิทักษ์สยาม ‘เพื่อเผด็จการ’ แห่งชาติ
ใน www.prachatai.com/journal/2012/11/43814 . . Thu, 2012-11-22 21:48 มีความคิดเห็นท้ายบท


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( เผยแพร่ครั้งแรกใน  “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2555 )



การเคลื่อนไหวระดมมวลชนเพื่อชุมนุมใหญ่ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “องค์การพิทักษ์สยาม” ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยกเลิกระบบการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แทนที่ด้วยระบอบการปกครองแบบแต่งตั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ที่เรียกว่า “แช่แข็งประเทศไทย”

สื่อมวลชนกระแสหลักก็ช่วยกันประโคมโหมข่าว ทำให้การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ดูเหมึอนยิ่งใหญ่ ทรงพลัง และน่าหวาดหวั่น ราวกระทั่งว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงจะเหลือเวลาอยู่รอดได้อีกเพียงไม่กี่วัน แม้แต่แกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ยังแสดงความวิตกอย่างเห็นได้ชัด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลังจากผ่านความขัดแย้งยาวนาน ทุกฝ่ายทุกคนต่าง “รู้เช่นเห็นชาติ” กันหมดแล้วว่า ความขัดแย้งอันยืดเยื้อในวันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างสองพลังหลักในสังคมไทยคือ เผด็จการจารีตนิยมกับพลังประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นการต่อสู้กันระหว่างสองระบอบการเมืองคือ ระบอบจารีตนิยมที่ครอบงำรัฐไทยมาตั้งแต่รัฐประหาร 2500 กับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง สิ่งที่เหลืออยู่ก็เพียงแต่ว่า ใครจะเลือกข้างฝ่ายไหน เท่านั้น


แต่ทว่า เนื้อในของกลุ่มคนที่เข้าร่วม “องค์การพิทักษ์สยาม” นั้นไม่มีอะไรใหม่เลย ก็คือบรรดากลุ่มคนที่อยู่เบี้องหลังรัฐประหาร 2549 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมาแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ “กลุ่มสี่เสา” กลุ่มประชาธิปัตย์ นักวิชาการและพวกคนเดือนตุลาที่หันไปรับใช้เผด็จการ กลุ่มผู้นำสหภาพแรงงานขวาจัด กลุ่มลัทธิสันติอโศก ไปจนถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 
การเคลื่อนไหวขององค์กรพิทักษ์สยามก็คือ การรุกใหญ่ครั้งใหม่ล่าสุดของคนพวกนี้ หลังจากที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2555 และหลังจากที่การรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้สะดุดกลางคันไปเสียก่อน

การรุกครั้งนี้ดูเหมือนซ้ำรอยกับการเคลื่อนไหวทุกครั้งในช่วงหกปีมานี้ การโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยปี 2549 และการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนปี 2551 คือการใช้ “สี่ขาหยั่ง” ประสานกันอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มต้นจากการใช้มวลชนจัดตั้งออกมาชุมนุมขับไล่ ให้กลุ่มอันธพาลการเมืองติดอาวุธก่อความรุนแรงบนท้องถนน ให้พรรคประชาธิปัตย์ขัดขวาง ก่อความวุ่นวายไร้ระเบียบในสภา ให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้กฎหมายทำร้ายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ท้ายสุดคือ ใช้ทหารเข้าแทรกแซงทั้งโดยวิธีแฝงเร้นหรือรัฐประหารอย่างเปิดเผย ตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นพียงหุ่นเชิดของพวกจารีตนิยม

คนพวกนี้เติบโต สั่งสมประสบการณ์ และครองอำนาจอยู่ในยุคเทคโนโลยีอนาล็อกที่มีโครงสร้างเครือข่ายลักษณะศูนย์เดี่ยวและเป็นเส้นตรง ทำให้รัฐสามารถรวมศูนย์ทรัพยากร ขุมกำลังการเมือง ทหาร เศรษฐกิจ และข้อมูลข่าวสาร แต่โลกในศตวรรษที่ 21 ได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีลักษณะตรงข้ามคึอเป็นเทคโนโลยีดิจิตอล ที่มีโครงสร้างเครือข่ายแบบหลายศูนย์และเป็นวงกลม พวกจารีตนิยมไม่สามารถรวมศูนย์ผูกขาดข่าวสารข้อมูลได้อีกต่อไป และไม่สามารถควบคุมความคิดของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ


ความพยายามขององค์การพิทักษ์สยามสะท้อน “ภาวะอับจนและร้อนรน” ของพวกจารีตนิยมอย่างชัดเจน ที่ไม่อาจปล่อยให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอยู่บริหารประเทศต่อไปได้ ด้วยตระหนักว่า ความเข้มแข็งและภาวะผู้นำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความนิยมทั้งในประเทศและในประชาคมโลก เกิดขึ้นพร้อมกับความเสื่อมในสถานะครอบงำทางการเมืองและอุดมการณ์ของพวกเขา ความอับจนดังกล่าวสะท้อนออกหลายด้าน

ประการแรก รัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรียังคงได้รับความนิยมอย่างสูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายต่อต้านไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ในการขับไล่รัฐบาล ทั้งแกนนำและมวลชนจึงมีแต่พวกปฏิกิริยาสุดขั้ว มีสถานะโดดเดี่ยว และไม่ได้รับการสนับสนุนแม้แต่จากคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทย

ประการที่สอง แกนนำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเปิดเผย “แก่นแกนที่แท้จริง” ของฝ่ายเผด็จการ คนกลุ่มนี้เคย “ซุ่มซ่อน” อยู่ข้างหลังขบวนการล้มรัฐบาลตลอดมา แต่วันนี้ ถึงคราวต้องแสดงตนในที่แจ้ง คือ นำโดย “กลุ่มสี่เสา” หนุนช่วยด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และตามด้วยมวลชนสามส่วนคือ มวลชนจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มลัทธิสันติอโศก และกลุ่มเสื้อเหลือง โดยมีกองกำลังติดอาวุธนอกระบบของกลุ่มเหล่านี้สนธิกำลังกัน

ประการที่สาม คนพวกนี้ยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ ที่เคยได้ผลเลิศทุกครั้ง ซึ่งก็คือ การสร้างสถานการณ์ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาวันนี้ วิธีการนี้กลับไร้ซึ่งพลานุภาพใด ๆ อีกแล้ว

ประการที่สี่ เป็นครั้งแรกที่คนพวกนี้ประกาศเป้าหมายทางการเมืองของตนออกมาอย่างเปิดเผย ไม่เป็น “อีแอบ” อีกต่อไปคือ ต้องการยกเลิกระบบรัฐสภาและการเมืองแบบเลือกตั้งทั้งหมด แทนที่ด้วยระบอบ “คุณธรรมแต่งตั้ง” ซึ่งก็คือระบอบเผด็จการที่ปกครองด้วย “คนดี” ที่แต่งตั้งมาจากพวกจารีตนิยมนั่นเอง

ประการที่ห้า พวกเขาปฏิเสธการเมืองแบบเลือกตั้งและมุ่งฟื้นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูป นี่เป็นการฝืนกระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสประชาธิปไตยในสากลโดยสิ้นเชิง ถึงวันนี้ ประชาคมโลกได้เรียนรู้แล้วว่า ต้นตอแห่งปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยคืออะไร ต้นเหตุอยู่ที่ไหน ใครคือผู้บงการที่แท้จริง ในปัจจุบัน คนพวกนี้จึงอยู่ในสถานะ “เปลือยล่อนจ้อน” ต่อหน้าสายตาชาวโลก พวกเขาจึงอยู่ในสถานะโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก


ทั้งหมดนี้ทำให้การพยายามโค่นล้มรัฐบาลในคราวนี้ เป็นการเคลื่อนไหวในเงื่อนไขแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยและไม่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อพวกจารีตนิยม การที่พวกเขาตัดสินใจฝืนกระแสประชาธิปไตยในประเทศและต่างประเทศ ดื้อดึงก่อการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงสะท้อนถึงสถานการณ์อับจนที่แท้จริงของพวกเขา

ขุมพลังของฝ่ายเผด็จการยังคงเข้มแข็ง พวกเขาอาจโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยลงได้สำเร็จ เหมือนสองครั้งที่ผ่านมา แต่ในครั้งนี้  พวกเขาจะเผชิญกับการต่อต้านที่รุนแรงและยืดเยื้อยาวนานยิ่งกว่า ทั้งจากพลังประชาธิปไตยในประเทศและจากประชาคมโลก เขาอาจได้รัฐบาลและอำนาจบริหารกลับคืนไป แต่ก็เพื่อที่จะ “สูญเสียทุกสิ่งที่อย่างที่เขามี” ในที่สุด

นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำสอง เหตุการณ์ครั้งแรกเป็นโศกนาฎกรรม แต่ครั้งที่สองเป็นละครน้ำเน่า”
ในแง่นี้ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เป็นโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง
แต่รัฐประหารครั้งที่สองปี 2555-56 จะเป็นละครน้ำเน่า ที่ผู้ชมเบื่อหน่าย สะอิดสะเอียน ที่จะนำไปสู่จุดจบของผู้สร้างและผู้เขียนเรื่องทั้งหมด



.