http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-10

สมเด็จฯ พระนโรดม สีหนุ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

สมเด็จฯ พระนโรดม สีหนุ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 30


ในฐานะผู้นำประเทศเล็กๆ ที่อาจถูกละเมิดอธิปไตยทั้งทางดินแดนและทางด้านอื่นจากประเทศเพื่อนบ้านสองฝั่ง ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีกำลังมากกว่า
สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง เพราะท่านสามารถประคองกัมพูชาให้อยู่รอดมาได้ตลอดหลายสิบปีหลังได้รับเอกราช (หรือจะพูดว่าไม่มีมหาอำนาจคุ้มครองอีกแล้วก็ได้)

แต่ในทางตรงกันข้าม ในการกำกับควบคุมการเมืองภายในของกัมพูชาตลอดสมัยที่มีอำนาจ พระองค์กลับได้รับการตำหนิทั้งจากมิตรและศัตรูของพระองค์ไปทั่วโลก

แต่ที่จริงทั้งสองอย่าง-นโยบายต่างประเทศและนโยบายการเมืองภายใน-มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ 
และผมอยากคุยถึงสมเด็จฯ ในแง่นี้ ทั้งในฐานะรัฐบุรุษและในฐานะมนุษย์



อันที่จริง ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส สมเด็จฯ สีหนุเกือบจะตกเวทีไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะท่านคิดว่ากัมพูชาควรดำเนินแนวทางค่อยเป็นค่อยไป แต่ผู้นำกู้เอกราชอีกคนหนึ่งคือนายซอน ง็อก ทันห์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากประชาชนมากกว่าสมเด็จฯ และเป็นผู้นำกลุ่มที่เรียกว่า "เขมรอิสระ" เสนอนโยบายการเป็นเอกราชในทันที 
ปรากฏว่าประชาชนชาวกัมพูชาสนับสนุนแนวทางของ นายซอน ง็อก ทันห์ มากกว่า ชะตากรรมทางการเมืองของสมเด็จฯ เกือบจะถูกผู้นำเขมรอิสระบดบัง แต่พระองค์ก็ปรับแนวทางเสียใหม่ในทันที เพื่อรักษาสถานะนำของพระองค์เอาไว้

ซอน ง็อก ทันห์ เป็นชาว "แขมร์โกรม" (เขมรต่ำ) คือชาวเขมรที่เกิดในแถบปากน้ำโขง อันเป็นดินแดนที่ถูกเวียดนามผนวกไปแล้ว ซึ่งล้วนยังถือตัวว่าเป็นชาวเขมร เขามีบทบาทด้านเคลื่อนไหวชาตินิยมร่วมกับพระสงฆ์กัมพูชามาก่อน เมื่อญี่ปุ่นผลักให้สมเด็จฯ สีหนุประกาศเอกราชก่อนสิ้นสงคราม เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาที่เป็นเอกราชภายใต้การอุปถัมภ์ของกองทัพญี่ปุ่น
หลังสงคราม นายซอน ง็อกทันห์ จึงเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมที่สุดในกัมพูชา พรรคประชาธิปัตย์ของเขาได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น คือครองที่นั่งถึง 2 ใน 3

สมเด็จฯ สีหนุได้ปรับแนวทางมาสู่การเรียกร้องเอกราชในเวลาอันสั้นเช่นเดียวกัน และร่วมมือกับ นายซอน ง็อก ทันห์ ด้วยประสงค์จะได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์กัมพูชาซึ่งนายทันห์มีอิทธิพลอยู่มาก จนข้อตกลงเจนีวาใน พ.ศ.2497 รับรองเอกราชของประเทศอินโดจีนทั้งหมด
แต่สมเด็จฯ สีหนุไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างหนึ่งคือ จัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะทรงรู้ดีว่า ถึง นายซอน ง็อก ทันห์ ลี้ภัยทางการเมืองไปแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ของเขาก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอยู่ดี ดังนั้น จึงทรงสละราชสมบัติแล้วลงมาเป็นผู้นำทางการเมืองโดยตรง

ตอนนี้แหละที่ทรงแสดงให้เห็นถึงแนวทางการเมืองภายในของพระองค์ ทรงปราบปรามนักการเมืองฝ่ายประชาธิปัตย์อย่างรุนแรงทั่วไปหมด และในบางกรณีก็อย่างโหดเหี้ยมด้วย
นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกรุมซ้อม หรือจับกุมคุมขังและลอบสังหาร ทรงปิดหนังสือพิมพ์อิสระ และละเมิดสิทธิของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเต็มที่ แม้แต่หีบบัตรเลือกตั้งบางหน่วยก็ถูกนำมาทำลายก่อนนับคะแนน จนกระทั่งพรรคราษฎรสังคมนิยมของท่านชนะการเลือกตั้ง 

จากนั้นมา ก็ทรงเป็นผู้นำทางการเมืองแต่ผู้เดียวของกัมพูชาจนสิ้นอำนาจลงด้วยการรัฐประหารของนายพลลอน นอล แต่ก็เป็นการนำที่ใช้มาตรการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่เป็นประชาธิปไตยตลอด เช่น จับนักการเมืองฝ่ายที่ไม่ไว้วางพระทัยเข้าคุก ตลอดจนมีการลอบสังหารผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นอยู่เสมอ
จำนวนมากของนักการเมืองกัมพูชาต้องหลบภัยไปต่างประเทศ หรือเข้าร่วมกับพรรคปฏิวัติของกัมพูชา


ในระยะแรกสมเด็จฯ สีหนุ ยังไม่มีนโยบายวางตัวเป็นกลางในสงครามเย็น ที่ทำความวิตกกังวลให้มากที่สุดก็คือไม่ไว้ใจว่าจีนจะขยายอำนาจเข้ามาครอบงำอุษาคเนย์หรือไม่ แต่เพราะการประชุมประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่บันดุง ทำให้ได้ทรงพบกับ โจว เอิน ไหล ซึ่งให้ความมั่นใจว่าจีนจะถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกันก็ไม่ไว้วางพระทัยทั้งเวียดนามใต้และไทย ซึ่งเคยรุกรานกัมพูชามาในอดีตทั้งคู่ มีกองทหารเวียดนามใต้รุกล้ำเข้ามายึดหมู่บ้านกัมพูชาอยู่ช่วงหนึ่งทางฝั่งตะวันออก ส่วนที่เสียมเรียบอิทธิพลของเขมรอิสระภายใต้ซอนง็อกทันห์ก็มีสูง เขมรอิสระดึงกำลังพลจาก "แขมร์โกรม" ในสามเหลี่ยมปากน้ำโขงในเวียดนาม และจากจังหวัดสุรินทร์ในประเทศไทย มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายจากไทยรุกเข้าไปปฏิบัติการในกัมพูชาอยู่เสมอ 
ดังนั้น จึงทรงเห็นว่า นโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาที่สุด กล่าวคือหากยอมอยู่ในโอวาทสหรัฐมากเกินไป ก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากจีนซึ่งใกล้ชิดกับเวียดนามเหนือ หากยอมอยู่ฝ่ายจีนมากเกินไปก็จะได้รับอันตรายจากสหรัฐซึ่งเริ่มสั่งสมกำลังในเวียดนามใต้

สมเด็จฯ สีหนุรู้ดีว่า เฉพาะเวียดนามใต้และไทยนั้นไม่มีกำลังพอจะรุกรานกัมพูชาโดยลำพังได้ แต่ทั้งสองประเทศเป็นสมุนของสหรัฐ ฉะนั้น ในตอนแรก สมเด็จฯ จึงหวังว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ จะช่วยให้สหรัฐปรามไทยและเวียดนามหยุดการหนุนหลังเขมรอิสระได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะที่จริงแล้ว สหรัฐเองนั่นแหละที่เป็นผู้เลี้ยง ซอน ง็อก ทันห์ ไว้สำหรับเป็นเครื่องมือของตน



การประกาศตัวเป็นกลางทำให้สหรัฐไม่พอใจ และมีนโยบายที่จะโค่นล้มสมเด็จฯ สีหนุ หรือทำให้เปลี่ยนพระทัยเป็นอย่างน้อย แต่สหรัฐใช้การบ่อนทำลายเป็นเครื่องมือมากกว่าการกดดันอย่างออกหน้า กองกำลังเขมรอิสระเปลี่ยนมาเป็น "เขมรเสรี" ภายใต้การนำของ ซอน ง็อก ทันห์ เช่นเดิม แต่ได้รับการอุดหนุนจากสหรัฐอย่างมาก เช่น กลืนส่วนหนึ่งของกองกำลังเข้าไปในกองทัพเวียดนามใต้ และให้การฝึกอย่างจริงจัง รวมทั้งสหรัฐอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏของนายพลดาบชวน ผู้ว่าฯ เสียมเรียบ-พระตะบอง และผู้บัญชาการทหารที่นั่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

การแทรกแซงของสหรัฐยิ่งทำให้สมเด็จฯ ต้องหันไปสนิทและพึ่งพาจีนมากขึ้น อย่างน้อยการสนับสนุนของจีนก็ทำให้กัมพูชาน่าจะปลอดภัยจากการครอบงำของฮานอย และทำให้เวียดนามใต้และไทยต้องคิดให้มากขึ้นหากจะรังแกกัมพูชา
ดูภายนอก สหรัฐให้ความช่วยเหลือกัมพูชาภายใต้สมเด็จฯ สีหนุ โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านทหาร สิ่งที่สมเด็จฯ ทรงทำผิดพลาดอย่างยิ่งในด้านความช่วยเหลือของสหรัฐก็คือ ยอมให้สหรัฐจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพเสริมแก่ทหาร เพราะกัมพูชามีงบประมาณน้อย เงินเดือนที่จ่ายให้ทหารในกองทัพมีจำกัด เงินช่วยเหลือเสริมของสหรัฐจึงเป็นรายได้ส่วนสำคัญของทหาร ดังนั้นเมื่อสมเด็จฯ ทรงตัดความสัมพันธ์และความช่วยเหลือของสหรัฐใน พ.ศ.2508 จึงทำให้ทหารรู้สึกเดือดร้อนและไม่พอใจสมเด็จฯ อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม นโยบายบางด้านของสมเด็จฯ ก็ช่วยทำให้พระองค์สามารถรักษาความภักดีของชาวนาไว้ได้ เช่น นโยบายค้าข้าวอันเป็นสินค้าออกที่สำคัญสุด ซึ่งทรงกำหนดขึ้นนั้นช่วยเอื้อต่อชาวนาอยู่บ้าง


จนถึงเมื่อสมเด็จฯถูก ลอน นอล ทำรัฐประหาร อาจกล่าวได้ว่า กองกำลังของเขมรแดงไม่เคยมีเกิน 7,000-8,000 คน แม้แต่กองบัญชาการก็ยังต้องตั้งอยู่ในเวียดนามเหนือ ส่วนใหญ่ของระดับนำล้วนเป็นผู้มีการศึกษาที่หลบหนีการปราบปรามของสมเด็จฯ ออกสู่ชนบท และตราบเท่าที่ชาวนาในชนบทยังไม่ให้การสนับสนุน ก็ยากที่เขมรแดงจะยึดอำนาจในกัมพูชาได้ 
จริงอยู่ เมื่อสงครามในเวียดนามมีความเข้มข้นขึ้น กองกำลังของเวียดกงและฮานอยได้ใช้พื้นที่ชายเขตแดนกัมพูชาในการปฏิบัติการทางทหารและการส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์อยู่ด้วย ซึ่งทำความหนักใจให้สมเด็จฯ สีหนุอย่างมาก เพราะไม่ประสงค์จะให้กัมพูชาถูกดึงเข้าไปในสงครามเวียดนามด้วย แต่กัมพูชาก็อ่อนแอเกินกว่าจะจัดการอะไรได้
ทั้งเวียดนามใต้และสหรัฐได้เข้ามาปฏิบัติการทางทหารอย่างลับๆ ในเขตแดนกัมพูชาเป็นครั้งคราวอยู่แล้ว

กองทัพสหรัฐในเวียดนามเชื่อว่า การขจัดแหล่งซ่องสุมของเวียดกงและเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่อยู่ในกัมพูชา เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ชนะศึกในเวียดนามได้ จึงเพิ่มปฏิบัติการในกัมพูชาหนักมือขึ้น จนถึงที่สุดก็แอบทิ้งระเบิดในกัมพูชา (คำนวณกันว่าเมื่อสิ้นสงคราม สหรัฐ "แอบ" ทิ้งระเบิดในกัมพูชาไปก่อนที่จะประกาศอย่างเปิดเผยถึงกว่า 100,000 ตัน รวมกับทิ้งระเบิดโดยเปิดเผยเป็น 500,000 ตัน มากกว่าที่ทิ้งในญี่ปุ่นระหว่างสงครามถึง 3 เท่าตัว)
ในภายหลังสหรัฐมาเปิดเผยว่า สมเด็จฯ สีหนุทรงยินยอมให้สหรัฐทิ้งระเบิดในกัมพูชาด้วย นี่เป็นการบิดเบือนความจริงอย่างหนึ่ง สมเด็จฯ ทรงยินยอมให้สหรัฐ "ติดตามศัตรูในการรบฉับพลัน" ได้ (hot pursuit) โดยปรกติความหมายที่เข้าใจกันคือการรบภาคพื้นดินเฉพาะหน้า ไม่ใช่การทิ้งระเบิดปูพรมอย่างแน่นอน

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ กระบวนการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์และเสบียงอาหารให้แก่เวียดกงนั้น ทหารเช่น ลอน นอล เข้ามาทำกำไรอย่างมาก แม้แต่อาวุธและเสบียงที่ส่งจากจีนมายังท่าเรือสีหนุวิลล์ รถทหารในกองทัพกัมพูชาเองนั่นแหละที่ลักลอบขนส่งไปถึงมือเวียดกงในตอนกลางคืน
ทั้งหมดนี้สมเด็จฯ เองรู้แล้วแกล้งหลับเนตรลงข้างหนึ่งหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่ทรงไว้วางพระทัย นายพลลอน นอล อย่างยิ่งว่า มีความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างไม่เสื่อมคลาย


ระบอบสีหนุเป็นระบอบปกครองเหมือนเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์โบราณ คุณสมบัติสำคัญที่สุดในการคัดคนเข้าทำงานหลวงก็คือความจงรักภักดี ไม่ใช่ฝีไม้ลายมือหรือความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่  
ความผิดพลาดอย่างที่สองของสมเด็จฯ อาจเป็นความไว้วางพระทัยในความจงรักภักดีของ ลอน นอล นี่แหละ เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ความนิยมของพระองค์กำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง

ลอน นอล กดราคาข้าว และบังคับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาถูก เพื่อส่งออก เพราะงบประมาณของประเทศลดลง 25% เมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ จึงจำเป็นต้องหาเงินจากสินค้าส่งออกหลักอย่างเต็มที่ ชาวนาซี่งเคยเป็นฐานความนิยมต่อสมเด็จฯ เริ่มเปลี่ยนความภักดีไปสู่กลุ่มอื่น 
ปัญญาชนในเมืองตกงานเพิ่มมากขึ้น และความไม่พอใจระบอบสีหนุขยายไปยังคนกลุ่มต่างๆ โดยทั่ว

แต่การพังพินาศของระบอบสีหนุเกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐในกัมพูชา ซึ่งทำให้ประชาชนทางฝั่งตะวันออกต้องอพยพหลบภัยจากที่นาสู่เขตเมือง ภายในไม่กี่ปีพนมเป็ญมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า (ทำให้เขมรแดงต้องอพยพคนออกหมด เมื่อยึดพนมเปญได้) อีกส่วนหนึ่งหนีไปเข้าร่วมกับเขมรแดงซึ่งกลายเป็นพรรคปฏิวัติที่มีกองกำลังมหึมา

ยิ่งเมื่อสหรัฐจัดการให้เกิดรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จฯ และสถาปนาระบอบ ลอน นอล ขึ้นในกัมพูชาใน พ.ศ.2513 ก็เท่ากับผลักดันให้กัมพูชาตกอยู่ใต้เขมรแดงเร็วขึ้น 
หลังจากนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอะไร สมเด็จฯ สีหนุ ไม่เคยมีศักยภาพเพียงพอที่จะกำกับการเมืองในกัมพูชาอีกเลย จนเสด็จสวรรคตลง



นี่เป็นเรื่องของผู้นำประเทศเล็กๆ ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น

ประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ที่ประคองให้ประเทศรอดพ้นจากภัยพิบัติของสงครามมาได้นานหลายปี แต่ไม่สำเร็จตลอดไป เพราะความเข้มข้นของการปะทะกันระหว่างศัตรูสองฝ่ายในสงครามเย็น และเพราะความอ่อนแอส่วนพระองค์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย

เหมือนมนุษย์ทั่วไป ที่สถานะและความสำเร็จยกบุคคลขึ้นไปอยู่สูงเสียจนไม่สัมผัสกับความเป็นจริง จึงมักจะยึดติดกับความสำเร็จนั้น โดยไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้น และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไม่รู้เท่าทัน

นำตนเองและผู้อื่นอีกมากไปสู่ความหายนะ 



.