http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-27

ยุคข่าวสารกับระบบทุน โดย อนุช อาภาภิรม

.

ยุคข่าวสารกับระบบทุน
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1684 หน้า 38


เมื่อกล่าวถึงยุคข่าวสารแล้ว ก็มักนึกถึงดาวเทียมสื่อสาร อุปกรณ์มือถือ อินเตอร์เน็ต เว็บ 2.0 ที่กำลังพัฒนาสู่ เว็บ 3.0 สังคมออนไลน์ เป็นต้น
แต่นั่นเป็นแต่เพียงส่วนบนที่มองเห็นง่าย ยังมีส่วนที่เป็นฐานใหญ่ที่เห็นได้ยากอีก ได้แก่ ฐานทางด้านเศรษฐกิจหรือระบบทุน ที่เป็นพลังขับเคลื่อนยุคข่าวสารที่สำคัญ


ความสัมพันธ์ระหว่างยุคข่าวสารกับระบบทุนกล่าวอย่างสั้นก็คือ ระบบทุนสร้างยุคข่าวสารขึ้น และยุคข่าวสารได้พัฒนาและขับเคลื่อนระบบทุนไปอีกก้าวใหญ่
ระบบทุนที่ได้เริ่มก่อรูปขึ้นในยุโรปนั้น อุบัติขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมใหญ่และยาวนาหลายร้อยปีนับแต่ศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 17 ที่เรียกว่าการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) 
การฟื้นฟูนี้เป็นการปรับกระบวนทัศน์ สร้างโลกทัศน์ อุดมการณ์และรูปการจิตสำนึกใหม่ที่ฟูมฟักระบบทุนให้ขยายตัวทรงพลังขึ้น ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ยุโรปจากสมัยกลางสู่สมัยใหม่
ยุคฟื้นฟูฯ นี้ถือกันว่าเริ่มต้นที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี จากนั้นขยายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ได้แก่ เจนัวและเวนิส เป็นต้น จากนั้นแพร่ไปทั่วยุโรป 

เนื้อหาหลักของการฟื้นฟูฯ ได้แก่ แนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) คือการถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์ที่พ้นจากพันธะหรือโซ่ตรวนทั้งทางศาสนาและในทางโลก ในทางศาสนา 
เขามีเสรีที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ในทางโลกเขาพ้นจากโซ่ตรวนของระบบทาสติดที่ดิน มนุษย์มีสิทธิโดยธรรมชาติในชีวิตและทรัพย์สินของตน  
เป็นบุคคลที่เป็นศูนย์กลางแห่งการเปลี่ยนแปลง
มีเสรีในการซื้อขายสินค้าและแรงงาน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ได้ปลดเปลื้องจากพันธะ 
เขาย่อมได้รับการยอมรับนับถือ พ้นจากการเป็น "ฝุ่นเมือง" กลายเป็นพลเมือง (Citizen) ที่ความยินยอมของพวกเขาเหล่านั้นเป็นที่มาของความชอบธรรมในอำนาจรัฐ ที่เป็นเชิงโลกและพ้นจากอาณาจักรของศาสนา 

ทั้งหมดได้ก่อรูปเป็นอุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์รัฐชาติพร้อมกันไป



ในทางวิทยาการความรู้ ได้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ขึ้นในกลางศตวรรษที่ 16 ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลก วิถีโคจรของดวงดาวนั้นดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของมัน ที่มนุษย์สามารถคำนวณได้ มีกฎธรรมชาติที่ควบคุมปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกนี้ โดยอาศัยการสังเกต การทดสอบทดลอง 
มนุษย์สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์และปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และสร้างความรู้ใหม่ขึ้น 
กล่าวอย่างสั้นก็คือมนุษย์สามารถคำนวณรู้ความเป็นไปและอนาคตของการดำเนินชีวิตของตนได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคัมภีร์โบราณเหมือนแต่ก่อน


การพิมพ์แบบใหม่ที่ใช้ตัวพิมพ์โลหะที่ได้พัฒนาขึ้นในกลางศตวรรษที่ 15 ได้ช่วยแพร่กระจายโลกทัศน์และอุดมการณ์ใหม่เหล่านี้อย่างรวดเร็ว
ความก้าวหน้าทางการเดินเรือ การพัฒนาดินปืนและปืนไฟ แรงผลักดันของการหาเส้นทางการค้ากับตะวันออก เหล่านี้ก่อให้เกิดยุคการสำรวจตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 17 จนเกิดการค้นพบเส้นทางเดินเรือไปเอเซีย 
และที่สำคัญคือการค้นพบทวีปอเมริกา ไปจนถึงการเดินเรือรอบโลก 
โดยการค้นพบเหล่านี้ พ่อค้าชาวยุโรปได้ตั้งอาณานิคมไปทั่วโลก และเชื่อมโยงตลาดเหล่านี้เข้าด้วยกัน และนั่นก็ทำให้ทุนพาณิชย์เฟื่องฟูขึ้นเป็นอันมาก

เมื่อถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ระบบทุนก็ได้เป็นผู้ใหญ่ และพร้อมที่จะขึ้นเป็นผู้ปกครอง โดยมีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมก้าวขึ้นมีบทความสำคัญขึ้นมาก 
อุตสาหกรรมที่สำคัญในขณะนั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมทอผ้า ด้วยการสะสมเพิ่มพูนทุนมากขึ้นทุกที ส่งผลให้ทุนการเงินเข้มแข็งขึ้น ซึ่งหลังสงครามกลางเมืองในสหรัฐ (ค.ศ.1861-1865) แล้ว ก็ได้ขึ้นแสดงบทบาทนำในระบบเศรษฐกิจ จนได้ผลักดันให้เกิดโลกาภิวัตน์ครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 
กล่าวได้ว่าโลกาภิวัตน์ครั้งนี้ตั้งอยู่บนฐานการขนส่งสื่อสารสำคัญคือ รถไฟ เรือกลไฟ เรือเดินสมุทร และโทรเลข

โลกาภิวัตน์ครั้งที่สอง ปรากฏตัวชัดในทศวรรษที่ 1980 พร้อมกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ และโลกก็ได้ก้าวสู่ยุคดิจิตอล ที่ตลาดโลกยิ่งสัมพันธ์พึ่งพากันอย่างแยกไม่ออก เกิดการหลอมรวมและความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เช่น ผู้ผลิตกับผู้บริโภคเป็นคนเดียวกันโดยเฉพาะในการสื่อสาร 
ข่าวสารกลายเป็นสินค้า และเงินและทุนกลายเป็นข่าวสาร


การสื่อสารของทุนและวงจรทุน

ทุน ได้แก่ เงินที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อหากำไร ส่วนเงินนั้นเป็นสิ่งที่ใช้เทียบมูลค่าของสิ่งทั้งหลายที่เราใช้ซื้อของกินของใช้เป็นต้นในชีวิตประจำวัน การใช้ทุนเพื่อการผลิตให้เกิดกำไรนั้นก่อให้เกิดวงจรของทุนซึ่งมีอยู่ 3 ช่วงด้วยกัน
กล่าวคือ
ช่วงแรกเป็นการใช้ทุนเพื่อการซื้อวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบ ซึ่งโดยทั่วไปแปรรูปมาจากทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งรวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ ได้แก่ การจัดหาพลังงาน เพื่อที่จะได้สามารถเดินเครื่องจักรได้

ช่วงที่ 2 เป็นขั้นตอนของการผลิต ซึ่งเป็นหัวใจวงจร โดยการสร้างกำไรเกิดขึ้นในช่วงนี้

และขั้นสุดท้าย ได้แก่ การกระจายสินค้า ให้เกิดการซื้อและบริโภคสินค้านั้นๆ ทำให้กำไรเกิดเป็นจริงขึ้น ถือว่าครบรอบของวงจรของทุน จากนี้ก็มีการผลิตซ้ำเพื่อให้เกิดกำไรใหม่

อาจกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า ชีวิตก็คือการผลิตและการผลิตซ้ำทางวัตถุ ไม่เช่นนั้นก็จะขาดปัจจัย 4 สำหรับดำรงชีพ การผลิตในระบบทุนมีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ทุน แรงงาน และธรรมชาติ (รวมที่ดินและพลังงานไว้ด้วย) 
การสื่อสารของทุนก็คือการพยายามหากำไรให้มากขึ้น ซึ่งทางเป็นไปได้ก็คือ การเร่งการหมุนรอบของการผลิตให้เร็วขึ้น การหมุนรอบการผลิตให้เร็วขึ้นนั้นสามารถทำได้สะดวกที่สุดที่การพัฒนาแรงงานงาน เพราะว่าการเพิ่มทุนนั้นแม้ว่าทำได้ง่าย เช่น พิมพ์ธนบัตร หรือการเพิ่มปริมาณเงินในตัวเลขทางบัญชีได้เรื่อย แต่ก็มีความจำกัดต้องระวังไม่มากเกินไปจนเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเป็นต้น ในด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น ก็มีความเปราะบางและปรากฏความจำกัดมากขึ้นทุกที จากมลพิษและการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

ที่เรียกว่าแรงงานนั้น หมายรวมเอาด้านที่เป็นพลังการผลิต ได้แก่ พลังทางกายภาพและประสบการณ์ความรู้ของลูกจ้างคนงาน รวมทั้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นต้น  
การพัฒนาแรงงานในระบบทุนนั้น ด้านหนึ่ง ได้แก่ การฝึกอบรมลูกจ้างคนงานให้มีทักษะในการผลิตสมัยใหม่ เช่น เปลี่ยนการใช้เวลาตามธรรมชาติ เช่น ตะวันขึ้น ตะวันตกที่ใช้ในไร่นา มาเป็นเวลาตามเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงาน และยกระดับความรับรู้ของคนงานขึ้น จนกระทั่งเกิดคนงานความรู้ (Knowledge Worker) ขึ้น 
ในอีกด้านหนึ่งได้พัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ปรับปรุงเครื่องจักรโดยตลอด จนเกิดมีเครื่องจักรที่ซับซ้อนอย่างเช่นคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ เป็นต้น



การเอาชนะอุปสรรค
ด้านสถานที่และเวลา


การจะเร่งรอบการผลิตในเร็วขึ้นนั้น จำต้องเอาชนะอุปสรรคทางด้านสถานที่หรือระยะห่าง (Space) และเวลาให้ได้ ทั้งนี้ เพราะว่าการผลิตแบบอุตสาหกรรมนั้นต้องรวบรวมแรงงาน เครื่องจักร ทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบ เป็นต้น ไว้ที่โรงงานเพื่อการผลิตปริมาณมาก จากนั้นยังต้องกระจายไปให้ถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งจะต้องทำการขนส่งเป็นระยะยาวไกลและกินเวลามาก เช่น บะหมี่ซอง ราคาซองละราว 5-6 บาท นั้น ต้องเดินทางเป็นพันๆ กิโลเมตรจากไร่นา บ่อน้ำมันและเหมืองแร่ จนถึงปากผู้บริโภค 
การผลิตระบบทุนจึงดำรงอยู่ได้และพัฒนาไปก็โดยอาศัยการขนส่งและการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้ระยะห่างหดแคบ 

ความพยายามนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกเล็กลงจนเป็นเหมือนหมู่บ้านหนึ่งโดยการสื่อสารในระบบอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์หรือไซเบอร์สเปซ

ระบบการสื่อสารขนส่งเหล่านี้ได้ก่อรูปเป็นระบบโลจิสติกส์ที่เป็นยุทธศาสตร์การผลิตสำคัญตั้งแต่ขั้นการจัดคลังวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงคลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์นี้ยังได้ขยายเป็นโซ่อุปทาน และโซ่มูลค่า (Value Chain) และสร้างเป็นเครือข่ายโลจิสติกส์โลก 
หากปราศจากระบบดังกล่าวโลกาภิวัตน์ปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้ 
ที่มากไปกว่านั้นก็คือต้องอากาศัยกองทหารที่ทันสมัยเพื่อรักษาระบบโลจิสติกส์นี้ รวมถึงความมั่นคงของตลาดโลก และกองทัพในประเทศต่างๆ ก็พัฒนาระบบโลจิสติกส์ของตนเพื่อความมั่นคงของชาติ  

ในปัจจุบันมีข่าวว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐได้เพิ่มความสำคัญของความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้น ซึ่งต่างกันมากกับยุทธการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 
การลดระยะห่างและเวลาก่อให้เกิดผลบางประการที่ควรกล่าวถึง ได้แก่
ก. การต้องทำลายพรมแดนรัฐเพื่อไม่ให้เป็นสิ่งกีดขวางการเคลื่อนย้ายทุนและสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง 
ข. เงินกลายเป็นข่าวสาร เกิดเงินพลาสติก และความคิดสร้างสังคมไร้เงินสด ทุนก็เป็นทำนองเดียวกัน สามารถไหลเวียนไปทั่วโลกในพริบตาเพียงปลายนิ้วสัมผัส 
ค. การไหลเวียนนี้มีแนวโน้มทำให้สั้นลง เช่น การส่งข่าวสารทางวิทยุหรือเคเบิลใยแสง (Optical Cabel) ที่เร็วที่สุดจากนิวเจอร์ซีถึงชิคาโกในสหรัฐใช้เวลา 16 มิลลิวินาที (มิลลิวินาทีเท่ากับ 1 ในพันวินาที) ซึ่งนับว่าสั้นมากแล้ว แต่ยังไม่พอ มีผู้คิดใช้อนุภาคนิวตริโนที่เดินทางด้วยความเร็วเท่าแสงเพื่อความได้เปรียบในธุรกรรมทางการเงิน 
การซื้อขยายหลักทรัพย์ถ้าทำให้เร็วขึ้น 1 มิลลิวินาทีก็อาจทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี


การเอาชนะอุปสรรค
ทางด้านการบริโภคและการชำระหนี้


เพื่อให้การหมุนรอบทางการผลิตเร็วขึ้น ยังจำต้องผ่านอุปสรรคสำคัญอีกคู่หนึ่ง ได้แก่ การบริโภคซึ่งเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม และการชำระหนี้ซึ่งเป็นเรื่องของการให้สินเชื่อ การแก้อุปสรรคด้านการบริโภคนี้กระทำได้โดยการโฆษณาและการตลาด ซึ่งกระทำเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทั่วไปและเป็นการเฉพาะ ได้แก่ 
1. การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมว่าได้มาตรฐาน ปลอดภัย หรือถูกสุขลักษณะ จนกระทั่งในปัจจุบันเกิดความไม่มั่นใจในสินค้าที่ผลิตในครัวเรือน จนต้องมีตราประทับว่าได้มาตรฐานต่างๆ 
2. การสร้างมาตรฐานสินค้าให้เป็นแบบเดียวกันทั่วโลก เพื่อสนองการผลิตปริมาณมาก เช่น อาหารรสเหมือนกันทั่วโลกเป็นสิ่งดี ไม่ใช่สะท้อนความซ้ำซาก 
3. การสร้างแบรนด์ต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ เกิดความภักดีในแบรนด์ 
4. การกระตุ้นการบริโภค โดยอาศัยการจูงใจทางความรู้และทางวัฒนธรรม เป็นต้น

สำหรับอุปสรรคด้านการชำระหนี้นั้น แก้ได้ด้วยการขยายสินเชื่อ อันเป็นการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม การขยายสินเชื่อนี้ปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามียุคสมัยใดที่มีกลไกการปล่อยสินเชื่อได้สะดวกรวดเร็วเท่ากับยุคข่าวสาร ที่มีบัตรเครดิตอิเล็กทรอนิกส์ใช้กันทั่ว 
การแก้อุปสรรคทั้ง 2 ประการนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่าขึ้นกับการขยายตัวและความก้าวหน้าของการสื่อสารในระบบดิจิตอลเป็นอันมาก 
(ดูบทความของ Vincent R. Manzerolle กับเพื่อน ชื่อ The Communication of Capital : Digital Media and the Logic Of Acceleration ใน triplec.at สิงหาคม 2012 )



จากที่กล่าวนี้ย่อมเห็นได้ว่ายุคข่าวสารไม่ใช้สิ่งที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั่นนิด นี่หน่อย แต่ดูเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อระบบทุนพัฒนาไป

เป็นที่สังเกตว่าในรอบหลายร้อยปีมานี้ ผู้คนทั้งหลายได้ติดตามการพัฒนาระบบทุนไป จนกระทั่งระบบนี้ตั้งมั่นไปทั่วโลก เพราะว่ามันได้ให้ของกินของใช้ที่มากมาย ให้อิสระเสรีความเป็นบุคคลที่มีตัวตน ปลดเปลื้องจากการทำงานหนักแบบ "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" ให้ความสะดวกสบาย ให้โอกาสและความรู้ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตข่าวสารความรู้ เก็บรักษา และเผยแพร่ได้ด้วยตนเองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 
แต่เป็นโชคร้ายที่ว่าระบบทุนได้เผชิญวิกฤติหนักหน่วงขึ้นทุกที จนเริ่มมีผู้คิดเห็นกันมากขึ้นว่าวิกฤติเหล่านี้จะเกิดจากความบกพร่องในโครงสร้างของระบบเอง ซึ่งทำให้แก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นเพียงใดก็ตาม

ถึงกระนั้นก็คาดหมายว่าระบบทุนยังคงขับเคลื่อนต่อไป เนื่องจากยังไม่สามารถหาระบบอื่นมาแทนได้ ท่ามกลางการต่อต้านและวิกฤติที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น



.