http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-07

36 ปี - 6 ตุลาฯ 2519 มหากาพย์ ‘ความรุนแรง’ (+ลิงค์ “พิชญ์: 6 ตุลากับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง”)

.

36 ปี - 6 ตุลาฯ 2519 มหากาพย์ ‘ความรุนแรง’
ใน มติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:20:16 น.


เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ? 
หลายคนอาจตั้งคำถามนี้ และอาจไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องมีการจัดงานรำลึกทุกปี? 
อาจเป็นเพราะเหตุการณ์นี้ ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการในแบบเรียนประวัติศาสตร์การเมือง สังคมศาสตร์ แทบจะไม่ลงลึกในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 
ทำให้คนรุ่นหลังที่โตมาพร้อมกับสื่อสมัยใหม่ เป็นผู้เสพสื่อแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่ค่อยรู้จักเหตุการณ์นี้ 
หรือบางคนอาจหลงลืมไปแล้ว อย่างที่รัฐไทยต้องการให้ "ลืม"

เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการสร้างสถานการณ์ป้ายสีนิสิตนักศึกษาที่เป็นหัวหอกเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม ในสมัยหลัง 14 ตุลา 2516 โดยอ้างเรื่องหมิ่นสถาบัน ใส่ร้ายเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเข้าล้อมสังหารอย่างโหดร้ายทารุณที่ธรรมศาสตร์ สนามหลวง และท่าพระจันทร์ เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ก่อนปิดท้ายด้วยการรัฐประหาร ปิดฉากยุคประชาธิปไตยในวันเดียวกัน 
นักศึกษาต้องหนีเข้าป่าจับปืนร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กว่าจะออกจากป่าก็อีกราว 4-5 ปีต่อมา 



ครบรอบ 36 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คณะกรรมการจัดงาน ได้จัด "สัปดาห์รำลึก 36 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน" 
ตั้งแต่เช้าตรู่วันเดียวกันนี้ ได้ทำพิธีสงฆ์เลี้ยงพระ 19 รูป ที่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ มี "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวเปิดงาน 
ก่อนจะตามด้วยคำกล่าวสดุดีไว้อาลัยของญาติๆ ผู้เสียชีวิต อาทิ "คุณพ่อจินดา ทองสินธุ์" พ่อของ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ถูกสังหารและลากศพไปตามสนามฟุตบอล แต่สุดท้ายกลับไม่พบศพของจารุพงษ์ จนกระทั่งบัดนี้ , "คุณแม่เล็ก" มารดา"มนู วิทยาพร" นักศึกษารามคำแหงที่เสียชีวิต 
นอกจากนี้ยังมี "จรัล ดิษฐาอภิชัย" อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, "นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช" ตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา, "วัฒน์ วรรลยางกูร" ตัวแทนเครือข่ายเดือนตุลา และประชาชนมาร่วมงานมากถึง 500 คน ซึ่งนับว่ามากกว่าทุกครั้ง


"พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในหัวข้อ "6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา" ตอนหนึ่งว่า การสร้างความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ยังสรุปชัดเจนไม่ได้ว่าจะไปในทางบวกหรือทางก้าวหน้า คำว่า "16 ตุลา" จึงเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจที่รวมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และ 6 ต.ค. 19 เอาไว้ในโครงเรื่องเดียวกัน ที่นักศึกษาลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหาร 
พิชญ์กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากรัฐ รวมถึงมีการปลุกระดมอย่างต่อเนื่องโดยสื่อมวลชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และการใช้ข้อกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคน "อื่น" ไม่ใช่คนไทย และไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ 
ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเดียวกัน เกิดขึ้นซ้ำซ้อนเหมือนเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์


พิชญ์กล่าวอีกว่า การที่มีผู้เห็นต่างทางความคิดทางการเมือง ภายใต้การบีบคั้นจากกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐก็ยังไม่มีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดหลากหลาย 
"โดยสรุปโจทก์ใหญ่ของวันที่ 6 ต.ค. 19 และ 6 ต.ค. 55 สำหรับผมยังคงอยู่ที่บรรยากาศของความรู้สึกไม่ว่าความรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น หรือถูกกล่าวหาว่าเห็นต่าง บ้านเมืองไม่มีอะไรที่จะป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้" พิชญ์ กล่าว 
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาความจริง ทำให้เรื่องราวที่คลางแคลงใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกดดันด้วยการนำหลักฐานมาเปิดเผยอย่างโปร่งใส ทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น มากกว่าที่จะมาอธิบายว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิดกันหมด


สำหรับบรรยากาศในช่วงบ่าย

ด้านหน้าของเวทีงานจัดเสวนามีการแต่งกายล้อเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ อาทิ คนถูกผูกคออยู่ใต้ต้นไม้ มีการขายหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา, ฉายวีดิทัศน์เหตุการณ์ ก่อนปิดงานด้วยการแสดงละคร "จันตุลา" ซึ่งเป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่หัวหน้าครอบครัวพยายามจะลืมว่าเคยมีลูกชายที่เสียชีวิต 
"วิภา ดาวมณี" กรรมการคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับคน 6 ต.ค.19 กว่าจะมีการรื้อฟื้นหาที่ยืนให้ก็ผ่านมาถึง 16 ปีแล้ว 
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเข่นฆ่าที่โหดร้ายทารุณ ทำให้คนส่วนหนึ่งมีบาดแผล และคิดอยากจะลืม มีรายชื่อผู้เสียชีวิต 33 คน แต่มีคนตายจริงๆถึง 41 คนและกลายเป็นว่าตัวเลขเป็นทางการสืบไม่ได้
"แต่ที่ญาติไม่ออกมาเรียกร้อง ส่วนหนึ่งเพราะผู้เสียชีวิต สูญหาย รวมถึงที่ต้องหลบหนีเข้าป่าถูกข้อหาร้ายแรง ไม่ว่าจะมีทั้งการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ กบฏ หรือแม้แต่ล้มล้างสถาบัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ญาติๆ วีรชนจะต้องให้ความสนใจ กล้าเรียกร้องในสิ่งเหล่านี้ ทำความจริงให้ปรากฏขึ้นมา
"

เป็น 36 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
เป็น 36 ปีที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น แต่เหมือนเราจะไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ และก็ทำให้มีการล้อมปราบ เข่นฆ่า มีความตายเกิดขึ้นอีกจนได้ในเหตุการณ์เดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553

เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย?


___________________________________________________________________________________________

ขอเชิญอ่าน - “6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา” ปาฐกถาในงานสัปดาห์รำลึก 36 ปี 6 ตุลา 2519  โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์   ที่มาจาก เว็ปประชาไท
ได้ที่
(ตอน1) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349515642&grpid=&catid=12&subcatid=1200

(ตอน2) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349516147&grpid=03&catid=no&subcatid=0000



.