http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-11

โครงการอำนาจ (อนาคตจีน), อีกก้าวหนึ่งของพม่า โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

.

โครงการอำนาจ (ในอนาคต)
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ คอลัมน์ โลกทรรศน์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 หน้า 34


ดูเหมือนว่า ความโกรธแค้นและความรุนแรงจะแพร่กระจายไปทั่ว ในเอเชีย 
ไต้หวันเพิ่งเข้าร่วมวงราวีชาตินิยมต่อหมู่เกาะ เซนคากุ/เตียวยูไท (Senkaku/Diaoyutai) ร่วมกับจีนและญี่ปุ่น ซึ่งทั้งจีนและญี่ปุ่นเข้าไปแสดงพลังความโกรธแค้น เพื่อทวงความเป็นชาติและประวัติศาสตร์ของตนกลับมา 
ใน ซีเรีย อิหร่าน ปากีสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ความโกรธแค้นและความรุนแรงได้แพร่กระจายออกไป หลังจากที่มีภาพยนตร์หมิ่นพระศาสดาศาสนาอิสลาม

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ วันที่ 25 กันยายน 2012 ผู้นำจีนได้เข้าร่วมพิธีฉลองการปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่เมืองท่าตอนเหนือของจีน เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ ถูกปล่อยลงน้ำในช่วงสถานการณ์ตรึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในเรื่องเกาะ เซนคากุ/เตียวยูไท 
แต่ให้สังเกตว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ลงน้ำและออกปฏิบัติการทางทะเล ท่ามกลางความขัดแย้งอันสลับซับซ้อนและยุ่งยากระหว่างชาติต่างๆ ในหมู่เกาะสแปรีย์ ในทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งจีนอ้างว่า เป็นเจ้าของมานานครั้งประวัติศาสตร์ด้วย 
เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้บอกให้เราเห็นแนวยุทธศาสตร์ทางทหารและเศรษฐกิจของจีน มากกว่าเป็นเรื่องความรักชาติ และในช่วงปัจจุบัน


โครงการอำนาจ (ในอนาคต)

เป็นเรื่องบังเอิญเกินไปที่กองทัพเรือปลดปล่อยแห่งประชาชน (People"s Liberation Army Navy-PLAN) ของจีน ปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ในช่วงไฟแห่งความรักชาติ ในขณะที่สภาคองเกรสแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจัดประชุมในเดือนพฤศจิกายน 2012 
ความจริง เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ มีระวางขับน้ำเพียง 58,500 ตัน อีกทั้งจีนยังมีข้อจำกัดอีกมากในการฝึกเจ้าหน้าที่ประจำการ การบำรุงรักษาและการพัฒนาในอนาคต 
ผู้นำจีนไม่ใช่จะไม่รู้ว่า การปฏิบัติการของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ มีความยุ่งยากมาก ความสามารถทางการรบของเรือก็เพียงแค่สะกิดผิวของชาติศัตรูผู้รุกรานเท่านั้น หากมีการรบกันทางทะเลจริงๆ 
ถึงอย่างไรก็ตาม นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าล่วงหน้าไปถึง 30 ปี ที่กองทัพเรือปลดปล่อยแห่งประชาชนจะสามารถสร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน และใช้แสดงแสนยานุภาพทางทะเล เพราะจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียว ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 11 ลำ

แต่ทว่า มองให้ไกล นี่ไม่ใช่เพียงเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนที่มีความสามารถเป็นได้แค่หนังสติ๊กยิงไล่ผู้รุกรานต่างชาติ 
แน่นอน เรือลำนี้ไม่มีทางเทียบได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาที่เป็นรุ่น Nimitz-class supper อันมีขนาดใหญ่กว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนเป็น 2 เท่า ซึ่งคาดว่า สหรัฐอเมริกาจะใช้บริการเรือลำนี้ในปี 2015 จีนยังมีเพียงเครื่องเจ็ตรุ่น Shenyang J-15 ซึ่งเทียบไม่ได้กับเครื่องบินเจ็ตรุ่น Sukhoi S-33 ซึ่งจะออกปฏิบัติการในปี 2016 

ถ้าดูในแง่ภัยคุกคามทางทหารต่อสหรัฐอเมริกา เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ ไม่มีค่าที่ควรแก่การพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อสหรัฐอเมริกาเลย และนี่ยังคงเป็นความจริงอีกต่อไปอย่างน้อย 15 ปี 
ดังนั้น อะไรเป็นความกังวลใจของสหรัฐอเมริกาต่อการเล่นลงน้ำของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ ความกังวลของสหรัฐอเมริกาคือ ศักยภาพและความสามารถในการสร้างเรือดำน้ำและขีปนาวุธของจีน อันเป็นลำดับถัดมา


มิได้เป็นความพยายามเข้าไปแข่งขันทางด้านยุทธศาสตร์ทางทะเลของสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือปลดปล่อยแห่งประชาชนจีน กำลังแสวงหา โครงการอำนาจอย่างจำกัดมากกว่า โครงการอำนาจอย่างจำกัดนี้ มีเพื่อสนับสนุนทั้งผลประโยชน์ในการป้องกันภูมิภาคของจีน และการเพิ่มขึ้นของผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของแรงงานย้ายถิ่นจีน และบรรดาที่ปรึกษาทางวิชาการชาวจีนที่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ 
ประธานาธิบดี หู จิ่น เทา มักอ้างถึงเสมอมาต่อภารกิจทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกองทัพเรือปลดปล่อยแห่งประชาชนจีน อันรวมทั้งศักยภาพในการตอบสนองความมั่นคงใหม่ (Non-Traditional Security-NTS) เช่น การช่วยเหลือจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การต่อต้านโจรสลัด การทูตทางทหาร และการคุ้มครองเส้นทางเดินเรือ 
ซึ่งกลายเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจจีน


สรุป

แม้ว่า เพื่อนบ้านของจีนจะแสดงความไม่พอใจในโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน แต่พวกเขามองเห็นสัญญาณอีกอันหนึ่งในเป้าหมายทางทหารของจีนในการเป็นชาติมหาอำนาจทางทหาร ผสมกับ ความมุ่งมาดปรารถนาต่อการใช้เครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายอันนั้น เมื่อมันเป็นประโยชน์ที่จีนจะทำ รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน ลำนี้  
โครงการเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนนี้ อาจมีคำถามอยู่บ้าง ในด้านการใช้ประโยชน์ทางการทหาร อย่างน้อย ต่อการแสดงแสนยานุภาพทางทหารต่อสหรัฐอเมริกาในอนาคต
แต่อาจกล่าวได้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกนี้ บอกให้เรารู้ว่า จีนมองตัวเองอย่างไร และต้องการให้คนอื่นมองจีนอย่างไรมากกว่า
นี่คือ โครงการอำนาจ (ในอนาคต)



++

อีกก้าวหนึ่งของพม่า
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ คอลัมน์ โลกทรรศน์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 19


คงเป็นเรื่องเชยหากไม่มีใครรู้ว่า พม่ากำลังก้าวเข้าสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ การปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า อันดำเนินควบคู่กับการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิภาคและของโลก 
นี่เป็นกระบวนการการปฏิรูปซึ่งมีการปะทะประสานขัดแย้งกันตลอดเวลาทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษนิยมในพม่า 
ข้อน่าสังเกตคือ เส้นแบ่งระหว่าง ฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษนิยมในพม่าบางลงทุกที

ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันมักจะหมายถึง ข้าราชการและฝ่ายความมั่นคง เป็นหัวหอก ในการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในหลายที่ รวมถึงพม่าด้วย 
นี่เป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่งว่าด้วยการปฏิรูปในพม่า 
นั่นคือ การปรับคณะรัฐมนตรี


การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรก

เมื่อครั้งที่มีการประกาศ แผนการปรองดองแห่งชาติ 7 ขั้นตอน เมื่อมีการปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่าสู่อิสรภาพ มีการเลือกตั้งทั่วไป และมีรัฐสภาหลังจากทหารได้ยึดอำนาจปกครองพม่ามาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 แทบไม่มีใครเชื่อว่า เกิดการปฏิรูปในพม่าแล้ว
หลายคนยังสงสัย และไม่แน่ใจในพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมโดยเฉพาะผู้นำในกองทัพพม่าว่า พม่าจะยินยอมปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจโดยการเปิดประเทศ 
ส่วนมากเชื่อว่า ในไม่ช้า ฝ่ายผู้นำกองทัพพม่าจะอ้างเหตุผลต่างๆ นานา โดยเฉพาะปัญหาชนกลุ่มน้อยและความมั่นคงเข้ายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ผู้นำทางนโยบายจากชาติมหาอำนาจต่างเชื่อว่า ก็เพราะการควบคุมอย่างได้ผลของตัวแทนกองทัพในรัฐสภาพม่า จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของพม่า แม้แต่ปัญญาชนพม่าที่อยู่นอกประเทศก็มักจะบอกเช่นนั้น (ไม่รู้เขาหลอกคนอื่นให้เชื่อตามนั้นหรือไม่)
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การปรับคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ครั้งแรก 

ท่านประธานาธิบดีได้ปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2012 หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2011 ความจริงแล้ว มีการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีมานานหลายเดือนแล้ว 
ความล่าช้าอันนี้บ่งชี้ถึง ความเข้มแข็ง ในตำแหน่งของท่านประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เพราะการปรับคณะรัฐมนตรีเท่ากับแสดงความถึงความแข็งแกร่งในอำนาจบริหารของประธานาธิบดีในช่วงเปลี่ยนผ่านอันสำคัญนี้  
ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้ดึงเอา รัฐมนตรีสำคัญ ที่ดูแลการปฏิรูปประเทศเข้ามาอยู่ในกระทรวงที่ท่านประธานาธิบดีรับผิดชอบเอง 
อาทิ ประธานด้านการลงทุนหรือ Investment Commission Chair ท่านประธานาธิบดีได้แต่งตั้ง ท่าน Soe Thein เป็นหัวหน้า

ท่านประธานาธิบดีได้แต่งตั้งรัฐมนตรีรถไฟ Aung Min ผู้ถูกคาดหมายว่าจะทำหน้าที่รับผิดชอบการเจรจาความตกลงสันติภาพกับชนกลุ่นน้อยหลายกลุ่ม รวมทั้ง Karen Nation Union มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและการพัฒนาประเทศ 
คณะรัฐมนตรีใหม่ของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ยังมีการเพิ่มความสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเมื่อชาติตะวันตกยกเลิกการแซงก์ชั่นทั้งหมดต่อพม่า การให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) เติบโตขึ้น สิ่งนี้สะท้อนมาจาก การดึงเอานักเศรษฐศาสตร์ผู้มากประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงานในคณะรัฐมนตรี 
เช่น การแต่งตั้ง Dr.Kan Zaw อดีตอธิการบดีสถาบันทางด้านเศรษฐศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

ในกระทรวงนี้ ยังมีการดึงอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจประธานาธิบดี เต็ง เส่ง Dr. Set Aung และศาสตราจารย์ Daw Khin San Yi ซึ่งเคยรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ เข้ามาร่วมงานด้วย 
ที่สำคัญ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้ย้ายรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร Kyaw Hsan ไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสหกรณ์แทน หลังจากที่ Kyan Hsan รัฐมนตรีอนุรักษนิยมเคยเข้าไปทำงานผิดๆ พลาดๆ ในคณะกรรมการสื่อของประเทศมาแล้ว

แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญของประธานาธิบดีคือ การดึงเอา 2 นายพลที่ได้รับอนุญาตให้เกษียณออกจากตำแหน่ง มาอยู่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งดำเนินภายใต้วงรอบการเกษียณอายุราชการเดือนตุลาคม 2012 ของฝ่ายอนุรักนิยม รองประธานาธิบดี Tin Aung Myint-Oo 
การดำเนินการเช่นนี้ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ยังต้องให้ความระมัดระวังต่อ ทัศนะ ของผู้นำทหารบกที่มีต่อนโยบายสำคัญของประเทศด้วย

รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารคนใหม่คือ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน Aung Kyi ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับ นางออง ซาน ซูจี ช่วงระหว่างปี 2010 ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมถูกสับเปลี่ยนให้เหมือนกับเป็น การหมุนเวียนการทำงาน 
แน่นอน สองรัฐมนตรีสำคัญด้านความมั่นคงก็ยังเก็บไว้ให้ผู้นำทหาร กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกิจการชายแดน ซึ่งได้ทำงานเกี่ยวข้องกับความรุนแรงภายในพม่าเมื่อเร็วนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน


มีรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์พม่าด้วย Dr. Myat Myat Ohn Khin ได้รับการเลื่อนขั้นจากรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม พร้อมด้วยอีก 4 รัฐมนตรีช่วยหญิงหน้าใหม่  
องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีใหม่นี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นคนหน้าใหม่ มีกลุ่มพลเรือนจำนวนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งด้วย



แนวโน้ม

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรก และได้รับการรับรองจากรัฐสภาแล้ว 
พอจะมองได้ว่า หากพูดถึงคนแล้ว คณะรัฐมนตรีใหม่นี้ อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า more of the same หรือ ยิ่งกว่าเหมือนเดิม 
แต่นี่อาจเป็นโอกาสจริงครั้งแรกสำหรับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่จะเดินหน้าปฏิรูปพม่า โดยไม่หันกลับไปในแนวทางเดิมอีกแล้ว

ขอให้เดินหน้าต่อไป เพื่อประชาชนพม่า



.