http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-20

ฉ้อราษฎร์บังหลวงอีกที โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ฉ้อราษฎร์บังหลวงอีกที
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 30


นักข่าวทีวีช่องหนึ่ง เชิญผมให้สัมภาษณ์เรื่องโพล กี่สำนักๆ ล้วนบอกตรงกันว่า คนไทยไม่รังเกียจการคอร์รัปชั่น ขอแต่ให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ หรือร้ายไปกว่านั้นตัวเองได้ประโยชน์ก็แล้วกัน
ผมคิดแล้วจึงตอบปฏิเสธ เพราะธรรมชาติของสื่อทีวีไม่อนุญาตให้พูดอะไรที่ซับซ้อนได้ แต่เรื่องนี้มันซับซ้อนกว่าการตีความง่ายๆ อย่างที่นักวิชาการบางคนชวนให้สังคมตระหนก

ผมจึงขออนุญาตกลับมาคุยเรื่องคอร์รัปชั่นสาธารณะกันใหม่ที่นี่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่เพิ่งคุยไปไม่นานมานี้เอง



อันที่จริงคำตอบของคนไทยต่อสำนักโพลนั้นมีบริบท คือไม่ใช่ความเห็นลอยๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงบริบท
คนไทยบอกว่านักการเมืองขี้โกงก็รับได้ ขอให้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม (จะบอกว่าแก่ตนเองก็ได้ แต่ "ตน" ในที่นี้ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล แต่หมายถึงกลุ่ม เช่น แก่ชาวนา, แรงงานอุตสาหกรรม, เมืองที่ตนอยู่ ฯลฯ)

ความเห็นนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า นักการเมืองขี้โกงทั้งนั้นแหละ หรือว่าที่จริงผู้ปกครองก็ขี้โกงหรือเอารัดเอาเปรียบผู้ถูกปกครองทั้งนั้น ฉะนั้น ใครสักคนในบรรดาคนขี้โกงด้วยกัน ยังอุตส่าห์หันมาทำประโยชน์แก่ส่วนรวมบ้าง จึงน่าจะรับได้

ทัศนคติของคนไทยที่ว่านักการเมืองขี้โกงทั้งนั้น มิได้เกิดขึ้นด้วยการนึกฝันเองเอง แต่เกิดจากประสบการณ์ของคนไทยเอง แม้แต่นักการเมืองที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด หรืออย่างน้อยไม่เคยมีข่าวอื้อฉาวว่าโกง เช่น คุณชวน หลีกภัย หรือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็จำต้องปล่อยให้นักการเมืองที่สนับสนุนตัวโกงโดยหลับตาเสียข้างหนึ่ง ไม่อย่างนั้นก็ดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ได้ 

อันที่จริง ยังไม่มีนายกฯ ไทยสักคนที่เป็นประธานของ ครม. ซึ่งไม่โกงเลย แม้แต่นายกฯ ที่ทหารตั้งขึ้นมา ก็ต้องปล่อยให้ทหาร (ทั้งในและนอก ครม.) โกงตามสะดวกเป็นธรรมดา ... ทหารจะเสี่ยงชีวิตยึดอำนาจไปทำไมหรือครับ? 
ในบริบทอย่างนี้ คนไทยตอบว่าโกงแล้วรู้จัก "แบ่ง" บ้างก็ดีกว่าโกงแล้วไม่รู้จักทำอะไรให้บ้านเมืองเลย จะผิดตรงไหนหรือครับ



ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ผลของโพลไม่ได้บอกว่าศีลธรรมของคนไทยเสื่อมโทรม จนยอมรับการทุจริตฉ้อฉลของบุคคลสาธารณะอย่างหน้าชื่นตาบาน
แต่มีทัศนคติต่อนักการเมืองที่เลวมาก ใครที่แสวงหาตำแหน่งทางการเมือง ย่อมมีแรงจูงใจที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น

นี่คือเหตุผลที่ในสมัยซึ่งการซื้อสิทธิขายเสียงยังแพร่หลายกว่าทุกวันนี้ คนไทยพร้อมขายเสียง ก็เอาเงินจากคนโกงเสียก่อนที่มันจะเอาเข้ากระเป๋ามัน ไม่น่าจะผิดศีลธรรมนัก แต่ในขณะเดียวกัน หากมีใครที่ผู้เลือกตั้งในเขตนั้นเห็นว่าเป็นคนดีสุจริตจริง เขากลับยอมไม่ขายเสียง เพื่อเลือกคนคนนั้นให้ได้ 
การซื้อเสียงนั้นตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตนะครับ ผู้ซื้อต้องเชื่อว่าผู้ขายเสียง (ส่วนใหญ่) ซื่อสัตย์พอจะนำส่งสินค้าให้จริงในคูหาเลือกตั้ง ถ้าคนไทยไม่มีศีลธรรมและขี้โกงกันทั่วหน้า การซื้อเสียงก็หมดไปนานแล้ว 
(และมีพรรคการเมืองกับนักคิดจำนวนหนึ่งด้วยซ้ำ ที่อยากให้คนไทยขี้โกง เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการซื้อเสียง)


คอร์รัปชั่นสาธารณะนั้นโบราณเรียกว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง
ฉ้อราษฎร์คือเอาอำนาจจากตำแหน่งไปรีดนาทาเน้นราษฎรเพื่อเอาประโยชน์ใส่ตน ทำอย่างนี้คนไทยไม่ชอบแน่ และมีการร้องเรียนกันมาแต่โบราณแล้ว (ซึ่งมักไม่ค่อยได้ผล)
ส่วนบังหลวงหมายถึงการเม้มประโยชน์ของ "หลวง" ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ข้อนี้คนไทยไม่ค่อยรังเกียจนัก เพียงแต่ว่าสองอย่างนี้มันคาบเกี่ยวกัน เช่นเจ้าภาษีนายอากรจะเม้มส่วนเกินที่ต้องส่ง "หลวง" ให้ได้มาก ก็ต้องรีดจากราษฎรให้เต็มที่ จนอาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

นักคิดผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทยเคยบอกผมว่า ที่คนไทยไม่ใส่ใจกับการคอร์รัปชั่นก็เพราะเป็นการขโมยทรัพย์สินของ "หลวง" ซึ่งหมายถึงอะไรก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่ของคนไทยแน่ ดังนั้น จึงไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร
ข้อนี้ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย



ในภาคเหนือของไทย สิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะเขาเรียกว่า "ของหน้าหมู่" เช่น ป่า, ลำเหมือง, ที่ริมเขตป่าซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ, ฯลฯ อะไรที่เป็น "หน้าหมู่" นั้น ใครจะละเมิดเอาไปเป็นของตัวคนเดียวไม่ได้ เพราะคนอื่นจะประท้วงต่อต้านกันอย่างแข็งขัน 
แสดงว่าอย่างน้อยคนไทยในภาคเหนือมีแนวคิดเรื่องสมบัติสาธารณะ ซึ่งตัวมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับคนอื่น
ในภาคอีสาน ก็มีแนวคิดอย่างเดียวกันนี้ จะเรียกว่าอะไรผมก็ไม่ทราบ (บางคนบอกเรียกว่า "มูนมังสังขยา"-จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ) แต่มีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ละเอียดลออเกี่ยวกับการใช้สมบัติสาธารณะต่างๆ มาก เช่น ที่บุ่งที่ทาม, บ่อน้ำสาธารณะ, ดอนปู่ตา ฯลฯ แสดงว่าคนอีสานมีสำนึกเกี่ยวกับสมบัติสาธารณะ และมีวัฒนธรรมประเพณีของการดูแลรักษาให้เป็นสมบัติส่วนรวมสืบไปอย่างแน่นหนาด้วย
ผมเชื่อว่าในภาคกลางและภาคใต้ ก็มีแนวคิดอย่างเดียวกันนี้ แต่จะเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบได้ หากไม่ได้เรียกว่า "หลวง" แน่นอน เพราะ "หลวง" มีความหมายเฉพาะถึง "รัฐบาล" หรือพระมหากษัตริย์

สาธารณสมบัติอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดีของภาคกลางและใต้ก็คือวัด โดยเฉพาะวัดที่ราษฎรสร้างขึ้นในชุมชนของตนเอง ในนั้นมีสมบัติหลายอย่าง เช่น ถ้วยโถโอชาม, เสื่อสาด, เก้าอี้, กระโถน หรือแม้แต่กุฏิ ซึ่งชาวบ้านอาจยืมไปใช้ หรือเอาคนมาฝากให้อยู่วัดได้ "ของวัด" เหล่านี้ ชาวบ้านดูแลรักษาอย่างดีนะครับ รวมทั้งมีประเพณีความเชื่อคอยกำกับไว้อีกหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าการขโมยของวัดเป็นบาปมหันต์กว่าขโมยของชาวบ้าน เป็นต้น 
แต่ต่อมา "หลวง" ก็มายึดเอาสาธารณสมบัติเหล่านี้ไปเป็นของตนเองหมด เช่น วัดก็กลายเป็นสถาบันภายใต้การกำกับของคณะสงฆ์ซึ่งเป็นของ "หลวง" (อันไม่เคยมีมาก่อน) ดิน-น้ำ-ป่าซึ่งชาวบ้านเคยดูแลมาในฐานะที่เป็นสาธารณสมบัติก็มีกรมกองของ "หลวง" มายึดไปดูแลเอง 

จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านไทยจะมอง "หลวง" ว่าเท่ากับ "หน้าหมู่" อะไรที่เป็น "หลวง" ก็ของมึงหมด อะไรที่เป็นของกูเหลือแต่ลูกเมียและทรัพย์สินในบ้านเรือนเท่านั้น การ "บังหลวง" จึงไม่น่ารังเกียจแต่อย่างใด ในสมัยโบราณคือสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยใหม่คือของที่ขโมยไปแล้ว เพียงแต่มีคนไป "ขมาย" ของเหล่านั้นไปเป็นของตนเท่านั้น
ทั้งนี้ รวมถึงทรัพย์สมบัติใหม่ๆ ทั้งหลาย เช่น งบประมาณ, ตู้โทรศัพท์, คลื่นความถี่, ระบบราชการส่วนกลาง, ฯลฯ ล้วนเป็นของ "หลวง" ทั้งสิ้น ใครจะรู้สึกว่าเป็นของ "หน้าหมู่" ได้ล่ะครับ


การ "บังหลวง" ที่คนไทยในปัจจุบันยอมรับนั้น มันมีบริบทของมัน ไม่ใช่ปัญหาทางศีลธรรมล้วนๆ 
และด้วยเหตุดังนั้น ความพยายามจะแก้ไขปรับปรุง จึงทำไม่ได้เพียงแต่นั่งเทศน์อย่างเดียว (โดยวิธีสร้างหลักสูตรโตแล้วไม่โกง หรือเที่ยวเทศน์วิธีพรหมทัณฑ์ในค่ายทหารก็ตาม) แต่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมจะต้องทำไปพร้อมกันอีกหลายอย่าง
เช่น กระจายอำนาจ เพื่อคืนของ "หลวง" ให้กลายเป็นของ "หน้าหมู่" จริงในทางปฏิบัติ ประชาชนในท้องถิ่นต้องมีอำนาจจัดการดูแลและใช้ประโยชน์สาธารณสมบัติในท้องถิ่น โดยส่วนกลางอาจมีอำนาจในการถ่วงดุลได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ผู้ชี้ขาดแต่ผู้เดียว
การตรวจสอบก็อาจทำได้ง่ายขึ้น เพราะทำได้ในท้องถิ่นนั้นเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีช่องทางการตรวจสอบในส่วนกลาง เช่น ผ่านองค์กรอิสระทั้งหลายได้ด้วย รวมทั้งการเปิดเผยข่าวสารข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย ทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

ต้องมีกระบวนการหลากหลายชนิด ที่จะทำให้การกำหนด และดำเนินการนโยบายสาธารณะทุกระดับ ต้องทำโดยประชาชนมีส่วนร่วมมาแต่ต้น
ในการบริหารสาธารณสมบัติทุกชนิด ไม่มีของ "หลวง" มีแต่ของ "หน้าหมู่" แม้แต่การบริหารอะไรบางอย่างที่ต้องการความรู้เฉพาะด้าน กระบวนการบริหารก็เป็นลักษณะที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของ "จ้าง" ให้ผู้เชี่ยวชาญมาบริหาร แต่อำนาจในการตรวจสอบหรือตัดสินใจที่สำคัญยังเป็นของประชาชนอยู่ต่อไป 
ไม่ปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจแทน




นักวิชาการท่านหนึ่งเคยพูดว่า ฝรั่งเสียภาษีให้รัฐบาลอย่างเต็มใจ เพราะแน่ใจว่ารัฐบาลจะเอาเงินของตัวมาใช้เพื่อประโยชน์ของตัว เช่น ดูแลรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย อุปถัมภ์ค้ำจุนเมื่อตัวแก่ชราลง ปราบปรามโจรผู้ร้ายเพื่อให้ตัวอยู่สบาย ให้การศึกษาแก่ตนเองและลูกหลาน ฯลฯ
ผมไม่ค่อยเชื่อหรอกว่าฝรั่งเสียภาษีอย่าง "เต็มใจ" ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้ยินเรื่องการหลบภาษีของฝรั่งเป็นประจำอย่างนี้หรอก แต่ที่สำคัญกว่าเต็มใจหรือไม่ก็คือ ฝรั่งแน่ใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลจะนำเงินของตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองด้วย คำตอบก็คือ เพราะเขาแน่ใจว่าเขามีอำนาจควบคุมรัฐบาลของเขาได้ล่ะสิครับ

คนไทยหลบภาษี (เหมือนฝรั่ง) แต่ไม่มีความแน่ใจแต่อย่างไรว่ารัฐบาลจะดูแลเขาไปจนตาย เพราะเราคุมรัฐบาลของเราไม่ได้จริง ความมั่นคงในชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสร้างให้ตัวเอง ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่แล้ว ความมั่นคงในชีวิตนั้น เกิดขึ้นจากความไว้วางใจที่มีต่อสังคมต่างหาก (เช่น มีลูกหลานเยอะแยะในหมู่บ้าน อย่างไรเสียเขาคงไม่ทิ้งเราไปในตอนแก่ชรา)
แต่ในโลกสมัยใหม่ซึ่งสังคมเปลี่ยนไปแล้ว รัฐต้องเข้ามารับผิดชอบกับความมั่นคงในชีวิตของทุกคนแทนระบบและสถาบันตามประเพณี และในทางเศรษฐศาสตร์ ก็ถูกกว่าที่จะอำนวยความมั่นคงแบบรวมหมู่มากกว่าทำกันเป็นรายๆ ไป เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใช้เงินของสังคมน้อยกว่าปล่อยให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวเอง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตย (ซึ่งนอกจากต้องมีการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีการบริหารที่เปิดช่องให้ทุกคนมีส่วนร่วม) นั่นแหละที่มีอำนาจในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

อยากสู้กับคอร์รัปชั่นจึงต้องผลักดันประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงนั่งเทศนาศีลธรรม เพราะศีลธรรมก็มีเงื่อนไขอย่างเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในโลก ในเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ศีลธรรมย่อมเสื่อมโทรม ในเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่ง ศีลธรรมกลับเข้มแข็งขึ้นได้ง่าย



____________________________________________________________________________________________

อย่าลืม ความเกี่ยวเนื่องของประเด็นนี้ จากบทความ พ.ค.2554
เอกชนเอือม"คอร์รัปชั่น"ฯ และ ดัชนีทุจริต คอร์รัปชั่นไทยฯ
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/06/blog-post_06.html



.